x close

เลาะชายฝั่งทะเลอันดามัน เที่ยวหมู่เกาะระนอง

เกาะพยาม

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง

          ด้วยการมองการณ์ไกลและชาญฉลาดของ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ที่ได้ให้ ป๋าโฮ้ย ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิม ไปก่อตั้งหมู่บ้านที่ เกาะพยาม เพื่อป้องกันการบุกรุกของอังกฤษซึ่งครอบครองพม่าอยู่ในสมัยนั้น (ปัจจุบันมีหลักฐานปรากฏอยู่ที่แหลมฝรั่งบริเวณอ่าวใหญ่ที่เกาะพยาม) ทำให้ หมู่เกาะระนอง ปรากฎว่าเป็นกรรมสิทธิ์อยู่ในแผ่นที่ประเทศไทย

หมู่เกาะระนอง

          และด้วยทรัพยากรทั้งทางบนบก ชายฝั่งทะเล และในท้องทะเล ซึ่งมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวหลายรูปแบบ เช่น การพายเรือดูนก ล่องเรือชมป่าชายเลน ว่ายน้ำ อาบแดด ดำน้ำชมปะการัง การถ่ายภาพทางธรรมชาติและการพักผ่อนในบรรยากาศที่สงบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชื่อของ หมู่เกาะระนอง จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับที่ใคร ๆ ก็อยากลองไปสัมผัส และวันนี้เราก็จะพาเพื่อน ๆ ไปสำรวจความงดงามของ หมู่เกาะระนอง กัน...

หมู่เกาะระนอง

          หมู่เกาะระนอง หรือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นกลุ่มเกาะที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่ น้อยเรียงรายทอดยาวตลอดแนวชายฝั่งเหนือ -ใต้ ของทะเลอันดามัน ติดต่อกับชายแดนสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า เปลี่ยนชื่อมาจาก 2553 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 119 ของประเทศไทย

          อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง สามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกได้เป็น 3 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่ลาดลงมาจากทิศตะวันออกของจังหวัดระนอง มีหาดยื่นออกไปในทะเล และปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำโครงการร่วมกับประเทศสมาชิกยูเนสโก้ประกาศพื้นที่ชาย ฝั่งบริเวณนี้เป็น เขตสงวนชีวมลฑลโลก (International Coastal and Marine Biosphere Reserve) ซึ่งเป็นแห่งที่ 4 ของประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นที่สงวนความหลากหลายทางธรรมชาติ

หมู่เกาะระนอง

          พื้นที่ใกล้ชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ เกาะสน ประกอบด้วยป่าชายเลนทางทิศตะวันออก และหาดทรายทางฝั่งตะวันตก ส่วนพื้นที่บนเกาะปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบ และพื้นที่ห่างจากชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเกาะช้าง เกาะพยาม เกาะทะลุ เกาะตาครุฑ เกาะหม้อ เกาะปริง เกาะไร่ และเกาะไฟไหม้ ฯลฯ โดยกลุ่มเกาะดังกล่าวขนานกับชายฝั่ง พื้นที่บนเกาะปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบและรอบเกาะมีปะการังกระจายอยู่โดยรอบ

          สภาพภูมิอากาศของ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อยู่ในเขตลมมรสุม ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เป็นช่วงฝนชุกมาก ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่อากาศไม่หนาวจัดเพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควร

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่...

เกาะช้าง ระนอง

          เกาะช้าง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด บริเวณเกาะช้างนี้จะพบแนวหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูน มีคนเคยพบพะยูน และโลมาบริเวณนี้ มีหาดทรายขาวที่สวยงามเป็นแนวทอดยาวตามชายฝั่ง สามารถดำน้ำดูปะการังได้ทางทิศตะวันตกของเกาะ ชมรอยพระพุทธบาททางด้านทิศตะวันออกของเกาะ ท่าเรืออยู่ที่อ่าวใหญ่ซึ่งมีชายหาดทอดตัวยาว มีบังกะโลบริการหลายแห่ง ดูนกแก๊กบริเวณหน้าสำนักสงฆ์ ถ้าต้องการสัมผัสชายหาดที่เงียบสงบควรไปที่อ่าวไข่ เพราะเป็นเวิ้งอ่าวเล็ก ๆ เหมาะสำหรับพักผ่อนและเล่นน้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่บนเกาะช้างเป็นภูเขาสูงที่ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์

          เกาะพยาม เป็นเกาะขนาดใหญ่ประกอบด้วยภูเขาสูง ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น บนเกาะมีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ บริเวณรอบ ๆ เกาะมีปะการังที่สวยงามนานาชนิด สามารถดำน้ำดูปะการังได้ทางทิศตะวันตกของเกาะ เกาะ ดูนกแก๊ก ซึ่งอาศัยอยู่รอบเกาะ นกแก๊ก เป็นนกย้ายถิ่นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน–มีนาคม พักแรมบริเวณชายหาดรอบ ๆ เกาะ ซึ่งมีบังกะโลให้บริการที่อ่าวเขาควายและอ่าวใหญ่ ทางด้านตะวันตกของเกาะ ทั้งสองอ่าวมีหาดทรายยาวเหยียดให้เล่นน้ำ หาดที่ค่อนข้างสงบเงียบและสวยงาม คือ หาดขาม อยู่ทางด้านใต้ของเกาะ ตรงข้ามกับเกาะขาม มีหาดทรายขาวสะอาดตัดกับทะเลสีคราม การเดินทางไปเกาะพยามสามารถไปลงเรือได้ที่ท่าเทียบเรือสะพานปลา ปากน้ำระนองซึ่งอยู่ห่างจากเกาะ 33 กิโลเมตร

เกาะเหลา

          เกาะเหลา ชมวิถีชีวิตของชาวบ้านในการทำกะปิ อีกด้านหนึ่งของเกาะเหลาจะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเลซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเร่ ร่อน มีภาษาพูดเป็นของตนเอง (ภาษายาวี) ใช้ชีวิตอย่างสงบและเรียบง่าย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่หาดูได้ยากในสังคมปัจจุบัน ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ส่องกล้องดูนกกาน้ำเล็ก ซึ่งเป็นนกย้ายถิ่นที่จะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว พฤศจิกายน-มีนาคม

 พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณใกล้แนวชายฝั่ง

          พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณใกล้แนวชายฝั่ง เป็นพื้นที่กว้างใหญ่คงสภาพป่าที่สมบูรณ์มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งเหมาะแก่กิจกรรมการล่องเรือศึกษาธรรมชาติ นิเวศป่าชายเลน ดูนกและสัตว์ป่า รวมถึงการศึกษาวิจัย (คลองหงาว การนั่งเรือในช่วงพระอาทิตย์ตกจะเห็นถึงสภาพธรรมชาติอันสวยงามของป่าชายเลน ในบางครั้งจะพบโลมาบริเวณนี้) ต้นโกงกางยักษ์ ในป่าชายเลนบ้านหาดทรายขาว (อยู่ในเขตสงวนชีวมณฑลโลก) มีอายุประมาณ 200 ปี มีความสูงประมาณ 30 เมตร มีขนาดความโตวัดโดยรอบที่ขนาดความสูงเพียงอกประมาณ 2 เมตร

สะพานหินธรรมชาติ

          สะพานหินธรรมชาติ บนเกาะทะลุ สะพานหินธรรมชาติ บนเกาะทะลุประติมากรรมทางธรรมชาติ โขดหินที่วางตัวสลับซับซ้อนและหาดทรายที่ขาวสะอาด บริเวณใต้ท้องทะเลรอบๆ เกาะเต็มไปด้วยหมู่ปะการังหลากสี ดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นทางทิศตะวันตกของเกาะ

          หมู่เกาะตาครุฑ มีเกาะบริวาร ได้แก่ เกาะหม้อ เกาะปริง เกาะไร่ และเกาะหลาม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของพื้นที่ มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า

หาดทรายดำ

          หาดทรายดำ อยู่บนเกาะทรายดำ เกาะขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่ง บนเกาะมีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ใกล้หมู่บ้านมีหาดทรายสีดำ ซึ่งเกิดจากเศษผงของเนื้อไม้ที่ถูกพัดพามาทับถมเป็นเวลานาน ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ บริเวณทิศใต้ของเกาะทรายดำมี อ่าวปอ ลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวที่เงียบสงบมีทิวทัศน์ของชายหาดและป่าชายเลนที่สวยงาม

          นอกจากนี้ เกาะทรายดำยังเป็นเกาะที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม เหมาะแก่การประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวหลายด้าน เช่น การเดินป่า ชมวิถีชีวิตของชาวประมงในการทำกะปิของชาวบ้าน ซึ่งทำจากกุ้งเคย (Krill) เดินป่าศึกษาธรรมชาติของป่าดิบชื้น ระยะทาง 4 กิโลเมตร

หาดทรายแดง

          หาดทรายแดง อยู่บนเกาะตาวัวดำ เป็นหาดทรายที่มีสีออกแดงคล้ายอิฐ เกิดจากการทับถมของเปลือกหอยนานาชนิดที่ถูกกระแสคลื่นพัดพามาทับถมไว้เป็นเวลานาน ประกอบกับทิวทัศน์ของโขดหินและป่าเขาที่สวยงาม ยามน้ำลดจะเห็นหาดทรายสีแดงกว้างขวางแปลกตาน่าชมกว่าที่อื่น

หาดหินงาม

          หาดหินงาม บริเวณรอบเกาะไฟไหม้ พบเพียงแห่งเดียวในหลาย ๆ เกาะ ในอุทยานแห่งชาติเกิดจากการทับถมของหินกลมมนหลายหลากสี ขนาดเล็กจำนวนมากเป็นเวลานาน เกิดแสงสะท้อนวาววับเมื่อยามกระแสคลื่นสาดซัด

          สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก คือ มีบริการท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีบังกะโลให้บริการที่อ่าวเขาควายและอ่าวใหญ่ ทางด้านตะวันตกของเกาะพยาม และที่เกาะช้าง ส่วนลานกางเต็นท์อยู่ที่บริเวณ อ่าวไข่เต่า บนเกาะช้าง มีสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการ สามารถรองรับได้ประมาณ 100 คน สามารถทำกิจกรรมเดินป่า ดำน้ำตื้นดูปะการรัง การขอใช้บริการต้องติดต่อกับอุทยานแห่งชาติก่อนล่วงหน้า เพื่อจะได้จัดเตรียมอาหารให้เพียงพอ
               
          ทั้งนี้ ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสมได้แก่ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ของทุกปี และการดำน้ำดูปะการังที่เหมาะสมคือ ขึ้น 8 ค่ำ - 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ - 15 ค่ำ และการล่องเรือชมป่าชายเลนสามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง 192 หมู่ที่ 4 ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง 85000 โทรศัพท์ 0 7781 3840 โทรสาร 0 7781 3841 อีเมล reserve@dnp.go.th



การเดินทาง

          รถยนต์ : จากจังหวัดระนองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ระนอง-ตะกั่วป่า) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงตำบลหงาว เลี้ยวขวาเข้าเทศบาลหงาว เดินทางต่อไปตามทางสายบ้านล่าง-หัวถนน อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

          เรือ : การเดินทางสู่จุดท่องเที่ยวในปัจจุบันมี 2 เส้นทาง ได้แก่...

          • เดินทางจากท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-3.5 ชั่วโมง จะมีเรือเมล์ไว้บริการ

          • ท่าเทียบเรืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีเรือเช่าเหมาลำให้บริการ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลาะชายฝั่งทะเลอันดามัน เที่ยวหมู่เกาะระนอง อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:58:00 12,631 อ่าน
TOP