x close

14 ข้อน่ารู้พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ย้อนอดีตวันวานใจกลางกรุงเทพฯ


         ภาพจาก คุณสุนันทา หามนตรี 

          พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก รวมข้อมูลและข้อน่ารู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เขตบางรัก ที่เที่ยวกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจไม่ใช่เล่น แอบซ่อนอดีตที่งดงามของชาวกรุงเทพฯ ไว้เพียบ

          หลังจากมีข่าวว่าจะมีการปลูกสร้างตึกสูงติดกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก [ประกาศขอระดมทุน 10 ล้าน ช่วยพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ก่อนวันที่ 2 ก.ย.] ซึ่งอาจจะบดบังทัศนียภาพที่ดีของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมไปด้วย หลายคนจึงเกิดข้อสงสัยว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คืออะไร มีอะไรน่าสนใจบ้าง ตั้งอยู่ที่ไหน จะไปเที่ยวชมวันไหนและอย่างไรได้บ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมข้อมูลและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกมาให้ได้ชมกัน จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ไปอ่านพร้อม ๆ กันเลยค่ะ


          1. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก (Bangkok Folk Museum) หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้โบราณ จัดแสดงสิ่งต่าง ๆ เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตของผู้ที่มีฐานะปานกลางในช่วงยุคสมัยก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

          2. เดิมทีบ้านหลังนี้เป็นของ อาจารย์วราพร สุรวดี ซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาจากมารดา คือ นางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก) และภายหลังอาจารย์วราพรได้มอบให้เป็นพิพิธภัณฑ์


          3. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย แบ่งออกเป็น 4 อาคารด้วยกัน แต่ละอาคารมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป อย่างอาคารด้านหน้าสุดจะมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมแบบไทย ซึ่งมีความสวยงามควรค่าแก่การรักษาไว้อย่างยิ่ง


          4. อาคารหลังที่ 1 ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสมแบบไทย เป็นเรือนหลังเก่าที่อาจารย์วราพรเคยอาศัยในอดีต ซึ่งจะประกอบไปด้วยห้องรับแขก, ห้องอาหาร, ห้องหนังสือ, โถงชั้นล่าง, ห้องนอนคุณยายอิน, ห้องแต่งตัวแบบยุโรป และห้องนอนใหญ่


          5. อาคารหลังที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น เดิมปลูกอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ ซอยงามดูพลี โดยเปิดชั้นล่างให้เป็นคลินิกของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน หลังจากคุณหมอเสียชีวิตอาจารย์วราพรจึงได้รื้อบ้านเก่ามาสร้างไว้ที่นี่ โดยย่อส่วนลงเพื่อให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่จำกัด มีการจัดแสดงเครื่องมือแพทย์ของคุณหมอฟรานซิส ซึ่งยังคงมีสภาพดีมาก


วิธีการกันกระจกแตก ภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน จะใช้เหรียญมีรู 2 อัน ประกบกัน แล้วร้อยด้วยลวด
ภาพจาก คุณสุนันทา หามนตรี



          6. อาคารหลังที่ 3 ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน มีทั้งเครื่องครัว เครื่องเขียน เครื่องมือช่าง เครื่องมือเครื่องใช้ใน งานหัตถกรรม ฯลฯ ชั้นบน แสดงภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ส่วนอาคารหลังที่ 4 ดัดแปลงเป็นสำนักงานห้องสมุด อาจารย์วราพร


          7. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก อาจจะแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ทั่วไปตรงที่มีลักษณะเป็นเหมือนบ้าน การมาเที่ยวที่นี่ก็เหมือนการแวะมาเที่ยวบ้านเพื่อน บรรยากาศจะดูอบอุ่น เงียบสงบ โดยรอบบ้านเต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวขจี เป็นต้นไม้ที่ปลูกมาตั้งแต่ตอนสร้างบ้าน มีทั้งต้นมะม่วง มะเฟือง ชมพู่ ฯลฯ อากาศที่นี่จะเย็นสบาย น่ามาเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดกับครอบครัว

          8. ใครที่ชอบถ่ายภาพสไตล์ Portrait ที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ก็มีมุมให้ถ่ายรูปเก๋ ๆ หลากหลายมุมเลยทีเดียว


          ภาพจาก คุณสุนันทา หามนตรี

          9. ถ้าหากมีโอกาสไปเดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ก็อย่าลืมทักทายเจ้าดอกสร้อยและน้ำนวล (น้องหมาแสนรู้) ด้วยนะคะ  


          10. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เปิดทำการวันพุธ-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 10.00-16.00 น. สามารถเข้าชมได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

          11. การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้กำหนดเรื่องการแต่งกาย แต่ก็ควรแต่งกายให้เหมาะสม ให้เกียรติกับสถานที่


          12. เมื่อไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกควรรักษากฎระเบียบ อย่างเช่นบางอาคารให้ถอดรองเท้าในการเดินเที่ยวชม ห้ามวิ่งบนอาคาร เพราะอาจจะทำให้อาคารทรุด ชำรุด เป็นต้น

          13. พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ตั้งอยู่ที่ 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ หากมาจากทางถนนเจริญกรุง ให้เลี้ยวเข้าซอยเจริญกรุง 43 ไปประมาณ 300 เมตร จะเห็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ทางขวามือ

          14. นอกจากการขับรถมาเองแล้ว ก็สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อีกหลายเส้นทาง ใครสะดวกมาเรือด่วนเจ้าพระยา ให้ลงที่ท่าน้ำสี่พระยา เดินตรงออกจากซอยท่าน้ำมาเรื่อย ๆ เลี้ยวขวาย้อนศรลงไปจนถึงปากซอยเจริญกรุง 43 เดินข้ามถนนเข้าปากซอยไปประมาณ 300 เมตร จะเจอพิพิธภัณฑ์ หรือถ้าหากมารถไฟฟ้า BTS ให้ลงที่สถานีสะพานตากสิน เดินไปขึ้นรถโดยสารประจำทางสาย 1 หน้าโรบินสัน บางรัก ไปลงที่ป้ายรถเมล์หน้าไปรษณีย์กลางบางรัก ก็จะเห็นซอยเจริญกรุง 43 อยู่ฝั่งตรงข้าม

          ถ้าคุณต้องการหาสักสถานที่เพื่อให้เด็ก ๆ หรือคนในครอบครัวได้เดินเที่ยวอย่างสบายใจ พร้อมกับได้ความรู้ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว การเดินทางก็ง่าย ใช้เวลากับครอบครัวได้อย่างเต็มอิ่มทั้งวัน วันหยุดครั้งต่อไปก็จะไม่น่าเบื่ออีกแล้วล่ะ :)


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก, bangkok.go.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
14 ข้อน่ารู้พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ย้อนอดีตวันวานใจกลางกรุงเทพฯ อัปเดตล่าสุด 26 มกราคม 2560 เวลา 11:23:37 18,720 อ่าน
TOP