x close

ไม่เสียค่าปรับ ไม่โดนจับติดคุก หากรู้กฎระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ

ระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ

           เที่ยวอุทยานแห่งชาติ แนะนำข้อควรรู้ ข้อปฏิบัติ สิ่งที่ห้ามทำในเขตอุทยานแห่งชาติ การไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติมีกฎระเบียบ หรือข้อห้ามอะไรที่นักท่องเที่ยวต้องพึงระวัง และมีบทลงโทษอย่างไร มาทำความเข้าใจกัน


           ช่วงนี้มีข่าวนักท่องเที่ยวจับปลาหรือปะการังในท้องทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ห้ามกระทำในเขตอุทยานแห่งชาติ (และไม่ควรกระทำไม่ว่าที่ไหนก็ตาม) ค่อนข้างบ่อย ด้วยบางคนก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางสิ่งที่ดูว่าเป็นการกระทำเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการนำเปลือกหอย หรือก้อนหินติดมือกลับบ้าน จะส่งผลต่อระบบนิเวศในธรรมชาติและผิดกฎหมายได้ วันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อบังคับและกฎระเบียบของการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

ระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ประกาศว่า เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วย อุทยานแห่งชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ซึ่งตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มีข้อปฏิบัติดังนี้

           หมวด 3 : การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ

           ตามมาตรา 16 ได้กำหนดไว้ว่า ภายในเขตอุทยานแหงชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด

           (1) ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า

           (2) เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งยางไม้ น้ำมันยาง น้ำมันสน แร่ หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น

           (3) นำสัตว์ออกไป หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์

           (4) ทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย

           (5) เปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย บึง ท่วมท้นหรือเหือดแห้ง

           (6) ปิดหรือทำให้กีดขวางแก่ทางน้ำหรือทางบก

           (7) เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งกล้วยไม้ น้ำผึ้ง ครั่ง ถ่านไม้ เปลือกไม้ หรือมูลค้างคาว

           (8) เก็บหรือทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่ดอกไม้ ใบไม้ หรือผลไม้

           (9) นำยานพาหนะเข้าออก หรือขับขี่ยานพาหนะในทางที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

           (10) นำอากาศยานขึ้นลงในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

           (11) นำหรือปล่อยปศุสัตว์เข้าไป

           (12) นำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไป เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี

           (13) เข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

           (14) ปิดประกาศ โฆษณา หรือขีดเขียนในที่ต่าง ๆ

           (15) นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตนั้นกำหนดไว้

           (16) ยิงปืน ทำให้เกิดระเบิดซึ่งวัตถุระเบิด หรือจุดดอกไม้เพลิง

           (17) ส่งเสียงอื้อฉาวหรือกระทำการอื่นอันเป็นการรบกวน หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่คนหรือสัตว์

           (18) ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสิ่งต่าง ๆ ในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น

           (19) ทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงซึ่งอาจทำให้เกิดเพลิง

ระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ

           มาตรา 17
ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำให้หลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่น ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีตามพระราชบัญญัตินี้ เคลื่อนที่ ลบเลือน เสียหาย หรือไร้ประโยชน์

           มาตรา 18 บุคคลซึ่งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบ ที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติของรัฐมนตรี

ระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ

           มาตรา 19 บทบัญญัติในมาตรา 16 และมาตรา 17 มิให้ใช้บังคับแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ หรือการศึกษา หรือวิจัยทางวิชาการ หรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการทัศนาจรหรือการพักอาศัย หรือเพื่ออำนวยความปลอดภัยหรือให้ความรู้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยอนุมัติของรัฐมนตรี

           มาตรา 20 การจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

           มาตรา 21
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 16 ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ

           มาตรา 22 ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติ ผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้น ๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณีถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่ จะกระทำดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น

ระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ

           หมวด 5 : บทกำหนดโทษ

           มาตรา 24 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           มาตรา 25 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (6) (7) (9) (10) (11) มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

           มาตรา 26 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (2) (3) (4) หรือ (7) ถ้าปรากฏว่าสัตว์หรือทรัพย์สินที่เก็บหาหรือนำออกมีราคาเพียงเล็กน้อย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียงเล็กน้อย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

           มาตรา 27 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 (8) (12) (13) (14) (15) (16) (17) (18) หรือ (19) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

           มาตรา 28 บรรดาความผิดตามมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเปรียบเทียบได้

           มาตรา 29 บรรดาอาวุธเครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 16 (1) ฐานแผ้วถางหรือเผาป่า หรือมาตรา 16 (2) ฐานทำให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ หรือตามมาตรา 16 (3) ฐานทำให้เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือตามมาตรา 16 (4) ฐานทำให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่

ระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ

           บทเฉพาะกาล

           มาตรา 30 สัมปทานและใบอนุญาตทำไม้หรือเก็บหาของป่า ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ใบอนุญาตให้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ ในที่ป่าคุ้มครองหรือป่าสงวนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและสงวนป่า อาชญาบัตร ประทานบัตรและใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย การทำเหมืองแร่และสัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งได้ออกให้แก่บุคคลใดไว้แล้วก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามมาตรา 6 ใช้บังคับให้คงใช้ได้ต่อไป เพียงเท่ากำหนดอายุของสัมปทาน อาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้น

           ทั้งนี้แต่ละอุทยานแห่งชาติก็มีทรัพยากรที่แตกต่างกันออกไป จึงมีกฎระเบียบเพิ่มเติมแยกย่อยออกไปอีก อาทิ พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ห้ามให้อาหารลิง และสัตว์ป่าทุกชนิด, ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และให้ระวังสัตว์ป่าข้ามถนน เป็นต้น

           เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น พันธุ์ไม้ และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขาให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่รัฐและประชาชน

           สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ dnp.go.th หรือสอบถามโดยตรงกับทางอุทยานแห่งชาติที่นักท่องเที่ยวกำลังวางแผนเข้าไปเที่ยวชม

           หากเรายังต้องการเห็นท้องทะเลไทยเป็นสีฟ้าใส หาดทรายขาวสะอาด มีปะการังหลากสีสันและสัตว์ทะเลสุดน่ารักมากมาย หรืออยากเห็นป่าสีเขียว มีดอกไม้ป่าหลากสีสันให้ได้ชื่นชม พร้อมทั้งอากาศในบ้านเราเย็นสบายบริสุทธิ์ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้กันด้วยนะคะ เที่ยวอย่างมีจิตสำนึก เพื่อตัวเราและลูกหลานค่ะ :)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, , mkh.in.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่เสียค่าปรับ ไม่โดนจับติดคุก หากรู้กฎระเบียบการเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ อัปเดตล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2559 เวลา 11:54:44 6,109 อ่าน
TOP