เที่ยวลพบุรี ในมุมมองที่แตกต่าง เดินชมสตรีทอาร์ตในโครงการ ลพบุลุย...ลุยลพบุรี งานศิลปะเท่ ๆ บนกำแพงฝาผนังในเมืองลพบุรี นักท่องเที่ยวสายฮิปสเตอร์ต้องไปเซลฟี่และเช็กอิน
การพลิกโฉมเมืองแห่งประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบชิค ๆ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนรักศิลปะในเมืองลพบุรี โดยมี อาจารย์เสรี แก้ววิเชียร อาจารย์สอนวิชาศิลปะ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี เป็นแกนนำในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อหวังให้เป็นแลนมาร์กแห่งใหม่ และสถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดของจังหวัดลพบุรี ซึ่ง คุณ UncleJack ก็ได้ไปเก็บภาพสุดแนวของงานศิลปะเหล่านี้มาให้ชมกันเป็นน้ำจิ้ม ใครอยากรู้จักลพบุลุย...ลุยลพบุรีให้มากขึ้น เราไปทำความรู้จักกับโครงการนี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ
"เวลาไปเที่ยวหลาย ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นบ้านเราหรือต่างประเทศเห็นเค้ามีงานศิลปะ เลยรู้สึกว่าลพบุรีมีความเป็นมาที่ยาวนาน มีศิลปวัตถุยุคประวัติศาสตร์อยู่ในเมืองหลายแห่ง คิดว่าน่าจะมีงานยุคปัจจุบันแนว Street Art ให้คนผ่านไปผ่านมาแวะชม ถ่ายรูป ได้คุยกับ ต่อ-ณัฐวุฒิ สุวรรณ ตั้งแต่ครึ่งปีที่แล้ว โครงการจึงค่อยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา" เสรี แก้ววิเชียร หรืออาจารย์เส อาจารย์สอนวิชาศิลปะของเด็ก ๆ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี หัวเรี่ยวหัวแรงของกลุ่มลพบุลุย (LOPBURUI) เล่าถึงที่มาของโปรเจคค์ให้ฟัง
โชคดีที่เจ้าของพื้นที่ซึ่งหมายตาไว้ตั้งแต่แรกคือ "มาลัยรามา" ข้างพระปรางค์สามยอด ใกล้ศาลพระกาฬ อนุญาตให้ใช้ผนังริมทางรถไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงภาพยนตร์เก่า เป็นพื้นที่ทำงานอย่างที่ตั้งใจไว้
"เราเล็งโรงหนังมาลัยรามาไว้ตั้งแต่แรก เพราะเมื่อก่อนเคยเป็นแหล่งนัดพบ เป็นศูนย์กลางของคนลพบุรี ที่สำคัญคือใกล้พระปรางค์สามยอด แลนด์มาร์กของเมือง โชคดีที่เจ้าของพื้นที่เป็นผู้ปกครองของลูกศิษย์ผม เข้าใจและยินดีสนับสนุนแนวความคิดของเรา เพราะงานแบบนี้มันคาบเกี่ยวระหว่างศิลปะกับความสกปรก"
เป็นความชาญฉลาดที่เลือกหมุดหมายซึ่งเคยรุ่งเรือง แต่ถูกทิ้งร้างจนสกปรกเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยขยะจากการที่คนนำอาหารมาให้ลิง มีเด็กมือบอนมาพ่นข้อความเรียกร้องความสนใจ ให้กลับมีชีวิตอีกครั้ง
ความคิดของคนสองคน ถูกขยายต่อกันในหมู่คนรู้จัก ผ่านการแนะนำ ทักทายกันมาในเฟซบุ๊ก จนเริ่มมีแนวร่วมเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยุทธพงษ์ สืบภักดี ครูศิลปะโรงเรียนเทศบาล 4, ศราณุ ทองเกิด เจ้าของร้าน Cafe’in และอีกหลายคนซึ่งเป็นคนลพบุรีโดยกำเนิด เป็นอาจารย์ นักศึกษา เจ้าของกิจการ บางคนเป็นลูกเกิดที่อื่นแต่อยู่เมืองนี้มาหลายปี บางคนเรียนอยู่ที่นี่ มีการศึกษาที่ดี ไม่ใช่โก๋กุ๊ยข้างถนน
สิ่งแรกคือปรับภูมิทัศน์ทำความสะอาด ซึ่งถือเป็นงานหนักเพราะติดกับจุดให้อาหารลิง แถมพี่จ๋อยังยึดครองแถวนี้เป็นถิ่นอาศัยมานาน พี่แกก็ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ขับถ่ายอย่างอิสระ อาจารย์เสรีใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวบวกเงินที่ผู้ใหญ่บางท่านรวมถึงพี่ ๆ น้อง ๆ บางคนร่วมลงขันมาคนละร้อยสองร้อย เพียงพอต่อการซื้ออุปกรณ์ โดยใช้ "ลิง" เจ้าของถิ่นเป็นตัวละครเอก
ผนังอาคารริมทางรถไฟของโรงภาพยนตร์มาลัยรามา เป็นที่สร้างงานของกลุ่ม "ลพบุลุย"
แม้ทุนทรัพย์จะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ดำเนินไป แต่อุปสรรคใหญ่ระหว่างทางกลับเป็นลิงที่คอยมาก่อกวนไม่ว่างเว้น ทั้งขโมยแปรงทาสี พู่กัน แม้แต่กระป๋องสียังหยิบไปเทเล่นบนหลังคา"บางครั้งกำลังวาดรูปอย่างมีสมาธิ หันกลับไปอีกที กระป๋องสีกับแปรงไปอยู่โน่นแล้ว แต่จะทำยังไงได้ เพราะลิงก็คือลิง" ยุทธพงษ์ สืบภักดี หรือครูหมีอ้วน บอกให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
สิ่งที่อาจารย์เสกังวลอีกข้อคือกลัวจะทำไม่ไหว เพราะพื้นที่เยอะ คนวาดน้อย หลังเริ่มลงพู่กันแต้มฝันได้ไม่นาน ก็มีน้อง ๆ หลายคนเข้ามาขอร่วมสร้างงาน ผนังกำแพงแผ่นใหญ่ถึงตอนนี้เหมือนจะแคบลงไป จนต้องยอมสละพื้นที่บางส่วนของตัวเองให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ กลยุทธ์เชิญแขกแบบค่อย ๆ ทำ แต่ต้องจบภายในเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ ให้คนผ่านไปผ่านมาเห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่ เป็นวิธีที่ได้ผลเพราะมีคนแวะเวียนมาหยุดมองทุกวัน ตั้งแต่เริ่มจนชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ ผู้คนบนรถไฟดูตื่นตาตื่นใจ ชี้มือชี้ไม้ด้วยความสนใจ สิ่งที่หวังและตั้งใจ ดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่อยู่ในสายตาคนมากมาย แต่ละภาพผสมผสานระหว่างงานพ่นกับงานเพ้นท์ แฝงความหมายในเชิงสร้างสรรค์ บอกเล่าตัวตน ความคิด มุมมองของคนวาด เป็นลายเซ็นเฉพาะตัว
ปรัชญา มาตรดี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี
... อย่างภาพของ "เต้ย" นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เน้นลายเส้นบวกสีโทนหวาน นกพับเป็นตัวแทนของมิตรภาพ ปลาตะเพียนเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ เรือหมายถึงการเดินทางแลกเปลี่ยน ส่วนหมวกลิงที่ผู้หญิงสวม สื่อถึงตัวเค้าซึ่งเป็นคนสระบุรีแต่มาเรียนที่ลพบุรี ส่วนภาพลิงพ่นสีสเปรย์ที่ติดกันเป็นของป๊อด เจ้าของกิจการร้านอิงค์เจ็ท ...ศิรินภา ตาเรือน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 แผนกศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีภาพบนกำแพงที่ถ่ายทอดอารมณ์หลากหลายได้อย่างสนุกสนาน ผ่านผนังหม่นดำเกรอะกรังด้วยคราบสกปรก ถูกทำความสะอาด ร่างแบบ แต้มสี เติมจินตนาการด้วยเงินทุนส่วนตัว จนเกิดเป็นงาน Street Art เท่ ๆ ที่แฝงไปด้วยความหมายมากล้น ... เอาเป็นว่าไปติดตามภาพและเรื่องราวที่สื่อความหมายอีกมากมายผ่านผลงานของพวกเขาได้ที่ artoftraveler.com กันแบบเต็ม ๆ รับรองว่าคุณจะอยากเดินทางไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง ! สมาชิกกลุ่มลพบุลุย-Lopburui