จังหวัดลำพูนและจังหวัดตาก เป็นจังหวัดที่ใครหลายคนมักจะมองผ่าน เพราะเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างทางที่จะไปเชียงใหม่ แต่ 2 จังหวัดนี้กลับมีสิ่งสวยงาม ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย
ในครั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พาเราไปเยือนเมืองลำพูน ไหว้พระทำบุญและเรียนรู้วิถีชุมชนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในอำเภอลี้ พร้อมกับเดินทางไปยัง...กู่ช้าง กู่ม้า หนึ่งในเส้นทางเขาเล่าว่า... แคมเปญดี ๆ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และก่อนจะกลับกรุงเทพฯ ก็แวะเยี่ยมชมเมืองตากกันสักนิด แม้ว่าเราจะไปตะลุยทั้ง 2 จังหวัดเพียงไม่กี่วัน แต่ก็ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศอันน่ารัก และสิ่งดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ในทั้ง 2 จังหวัดมากมาย ลำพูนและตากจะมีอะไรน่าเที่ยวบ้าง ตามเราไปชมกันเลยค่ะ
จังหวัดลำพูน ถือได้ว่าเป็นน้องคนสุดท้องของภาคเหนือ ด้วยครอบคลุมพื้นที่น้อยที่สุดในภูมิภาคนี้ เมืองลำพูนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เดิมนั้นชื่อว่า "นครหริภุญชัย" มีความรุ่งเรืองมากในช่วงที่ปกครองโดยพระนางจามเทวี สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของลำพูนก็คือวัฒนธรรมล้านนา ปัจจุบันมีบ้านเรือนและวัดวาอารามที่สะท้อนความเป็นล้านนามากมายให้เราได้ชื่นชม มีงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ ตลอดจนเป็นแหล่งปลูกลำไย และกระเทียมที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย
ทำบุญไหว้พระขอพรที่พระบรมธาตุหริภุญชัย
มาถึงลำพูนแล้วก็ต้องไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของที่นี่ นั่นก็คือ "พระบรมธาตุหริภุญชัย" ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน เมื่อเข้าไปยังบริเวณวัดสิ่งแรกที่ทำเราสะดุดตาก็คือซุ้มประตูแบบสมัยศรีวิชัย มีการประดับลวดลายอย่างงดงาม ด้านข้างทั้งสองฝั่งของซุ้มประตูมีรูปปั้นสิงห์ตั้งอยู่อย่างสง่างาม เมื่อเดินผ่านเข้ามาก็จะพบกับพระอุโบสถ เรียกว่า "วิหารหลวง" ภายในประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ ก่ออิฐถือปูนอย่างงดาม
อิ่มอร่อยกับเมนูอาหารพื้นเมือง
เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชาวยอง
เดินออกมาจากร้านข้าวซอยบ้านยองเพียงไม่กี่ก้าว เราก็จะเจอกับพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชาวยอง ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดต้นแก้ว ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน โดยภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของชาวยอง บางชิ้นมีอายุมากกว่า 100 ปี มีลวดลายที่สวยงาม ประณีต ส่วนใหญ่เป็นผ้าซิ่นยกดอก แสดงให้เห็นว่าชาวยองในสมัยก่อนนั้นมีฝีมือการทอผ้าและมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น
สักการะกู่ช้าง กู่ม้า ตามตำนานเขาเล่าว่า...
จากนั้นเรามุ่งตรงไปที่โบราณสถานกู่ช้าง กู่ม้า ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนไปประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อเข้าไปถึงยังบริเวณโบราณสถานเราจะพบกับเจดีย์อิฐ 2 เจดีย์ เจดีย์ด้านหน้านั้นเรียกว่า "กู่ช้าง" ตามตำนานเล่าว่าที่นี่เป็นที่บรรจุงาของปู่ก่ำงาเขียว ช้างทรงของพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นช้างศึกที่มีฤทธานุภาพและมีความเก่งกาจอย่างมาก หากงาของปู่ก่ำงาเขียวชี้ไปทางใดก็จะทำให้ผู้นั้นตาย เมื่อปู่ก่ำงาเขียวเสียชีวิตลง จึงต้องสร้างเจดีย์ทรงสูงเพื่อครอบไม่ให้งาของท่านนั้นชี้ขึ้นฟ้า
ทางด้านหลังของกู่ช้างเป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ เรียกว่า "กู่ม้า" มีความเชื่อว่าเจดีย์แห่งนี้เป็นที่เก็บอัฐิม้าทรงของพระนางจามเทวี มีรูปทรงสถาปัตยกรรมที่ถอดแบบมาจากลังกา คือเป็นเจดีย์ทรงกลม มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมเตี้ย ๆ เพื่อรองรับฐานเขียงกลมที่ซ้อนกัน 2 ชั้น และมีฐานบัวคว่ำรองรับฐานบัวถลา 3 ชั้น และองค์ระฆังกลม
ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมากราบไหว้ขอพรเพื่อให้เดินทางปลอดภัย ปราศจากโรคภัยต่าง ๆ และขอเกี่ยวกับการมีบุตร ถือได้ว่าที่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนอีกหนึ่งแห่งเลยทีเดียว
เที่ยวชมวัดจามเทวี
ก่อนจะออกจากอำเภอเมือง เราได้มีโอกาสไปที่วัดจามเทวี ซึ่งเป็นวัดที่สถาปนาโดยพระนางจามเทวี ครั้นเมื่อพระองค์สละราชสมบัติ พระองค์ก็ได้มาออกผนวชบำเพ็ญพรตอยู่ที่นี่ และเมื่อพระองค์ได้สวรรคต เจ้าชายมหันตยศ พระราชโอรสก็ได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ และได้สร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมอย่างงดงาม บรรจุอัฐิของพระองค์ไว้ภายใน นอกจากนี้วัดจามเทวียังมีวิหาร พิพิธภัณฑ์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้ได้เที่ยวชมอีกด้วย
เยือนลี้ อำเภอที่ไม่ลี้ลับ
ห่างจากอำเภอเมืองลำพูนไปประมาณ 100 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของอำเภอลี้ ที่นี่เป็นเพียงทางผ่านเพื่อไปยังเชียงใหม่ หรือเดินทางกลับกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ถ้าหากได้ลองแวะเที่ยวชม รับรองได้เลยว่าคุณจะต้องตกหลุมรัก
ชมสายรุ้งเต็มขอบฟ้าที่วัดบ้านปาง
ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่มีทั้งคนเมืองและชาวเขา คนท้องถิ่นให้ความเคารพแก่พระครูบาเจ้าศรีวิชัยมาก ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ทำให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและคนท้องถิ่นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นที่แรกที่เราจะพลาดไม่ได้เลยก็คือ "วัดบ้านปาง" ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ บริเวณวัดตั้งอยู่บนเนินเขา การขึ้นไปมี 2 วิธี คือเดินขึ้นบันไดและขับรถขึ้นไป หากขับรถขึ้นไปเราจะพบกับอาคารพิพิธภัณฑ์บริขารพระครูบาศรีวิชัย ภายนอกตกแต่งอย่างสวยงาม ภายในเก็บข้าวของเครื่องใช้ของพระครูบาศรีวิชัยไว้อย่างครบถ้วน เมื่อเดินเข้าไปภายในวัดจะพบกับพระบรมธาตุสีเหลืองทอง พร้อมทั้งพระอุโบสถหลังเก่า ทางด้านหน้าพระอุโบสถเป็นบันไดทางเดินจากทางหมู่บ้าน
ทางด้านขวาของพระอุโบสถเป็นรูปปั้นขนาดใหญ่ของครูบาศรีวิชัย ซึ่งด้านหน้าเป็นระเบียงกว้างให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิวทิวทัศน์ของภูเขาสูงใหญ่เบื้องหน้า พร้อมบ้านหลังเล็กหลังน้อยของชาวบ้านที่อยู่ด้านล่าง โชคดีว่าในช่วงที่เรามาเป็นช่วงที่ฝนหยุดตกแดดออกพอดี เราจึงได้เห็นสายรุ้งสีสันสวยงาม โค้งพาดผ่านอยู่หน้าแนวเขา ลมพัดมาเย็น ๆ ทำให้ร่างกายผ่อนคลายขึ้นเยอะเลยทีเดียว
ใส่บาตรผัก...ตามวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ
เสียงนกร้องในตอนเช้า
ปลุกเราให้ลุกขึ้นมาจากเตียง เพื่อชมความงดงามของสายหมอกจากระเบียงห้องพัก
เช้านี้เรามีนัดกับชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ คนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เพื่อไปประกอบพิธีทำบุญตักบาตรตามวิถีของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
ช่วงเวลาประมาณ 8 โมงเช้า
ชาวบ้านในชุดพื้นเมืองเริ่มทยอยเดินจูงมือลูกหลานมายังศาลาใส่บาตร
มือข้างหนึ่งหอบหิ้วผัก ผลไม้ และดอกไม้มาเต็มมือ
เสียงพระสวดมนต์ดังกึกก้องมาจากอาคารด้านใน ชาวบ้านค่อย ๆ
นำผักใส่ภาชนะที่วางเรียงราย และบรรจงใส่ดอกไม้ลงพาน
พร้อมทั้งใส่ปัจจัยในการทำบุญตามกำลังศรัทธาอย่างเงียบสงบและเป็นระเบียบ
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีศาลาที่เก็บสรีระของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา พระบรมธาตุพระบาทห้วยต้ม บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ รอยพระพุทธบาท ให้เที่ยวชมอีกด้วย
ความศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา ณ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
ห่างออกไปไม่ไกลจากวัดพระบาทห้วยต้ม เป็นที่ตั้งของพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อันเป็นพุทธสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของคนอำเภอลี้ และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่แห่งนี้ก่อสร้างโดยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มีลักษณะเจดีย์แบบล้านนา สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ มีฐานกว้าง 40 x 40 เมตร มีความสูง 64.39 เมตร มีพระเจดีย์องค์เล็กล้อมรอบอีก 48 องค์ มีสีเหลืองทองอร่าม ซึ่งเชื่อกันว่าพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย หากคนปีมะเมียได้มากราบไหว้ก็จะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป บรรยากาศโดยรอบนั้นเงียบสงบ สามารถทำบุญได้อย่างสบายใจเลยทีเดียว
ในบริเวณโดยรอบของหมู่บ้านห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้เที่ยวชมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม, หมู่บ้านโบราณไม่มีไฟฟ้าน้ำประปาใช้, ศาลาใจบ้าน, ศูนย์วิจัยงานหัตถกรรมบ้านห้วยต้ม, ศูนย์ทำเครื่องเงิน เป็นต้น
เยือนเมืองตาก หลงใหลในบ้านเก่าและธรรมชาติ
ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ เราได้มีโอกาสแวะเที่ยวที่ตัวเมืองจังหวัดตาก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเมืองที่หลายคนมองข้าม แต่ที่นี่มีความสวยงามไม่แพ้เมืองอื่น ๆ ของภาคเหนือแน่นอน ในช่วงยุคหนึ่งเมืองตากแห่งนี้รุ่งเรืองด้วยการค้าขายและมีชาวจีนย้ายมาอยู่อาศัยและทำมาหากินมากมาย สิ่งที่หลงเหลือไว้ให้เราได้เห็นก็คือ "ตรอกบ้านจีน" ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่มากกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำปิง ภายในชุมชนแห่งนี้ยังคงมีบ้านเรือนเก่าแก่ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมผสานกับจีนให้เราได้ชื่นชม อาทิ บ้านหลวงบริรักษ์ประชากร (จีนทองอยู่), บ้านโสภโณดร, บ้านขุนวัชรพุกก์ศึกษาการ, ร้านขายยาจันทรประสิทธิ์โอสถ เป็นต้น และเมื่อเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะพบกับวัดสีตลารามหรือวัดน้ำหัก เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองตาก สิ่งที่โดดเด่นที่สุดก็คือพระอุโบสถ ที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สีขาวสวยงาม แตกต่างจากอุโบสถในวัดไทยทั่ว ๆ ไป ภายในวัดยังร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ให้ความรู้สึกสงบร่มเย็นที่สุด
ด้วยความที่ตัวเมืองตากตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ที่นี่จึงมีทัศนียภาพที่งดงาม โดยเฉพาะบริเวณสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งเป็นสะพานแขวนด้วยลวดสลิงข้ามแม่น้ำปิง มีความยาวประมาณ 400 เมตร จากทางฝั่งเมืองจะมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังของสะพาน และเมื่อเดินไปที่จุดกึ่งกลางสะพานก็จะเห็นความสวยงามของภูเขาที่โอบล้อมเมืองตากแห่งนี้ไว้
แสงสีทองของดวงอาทิตย์ในช่วงบ่ายแก่ ๆ กำลังจะหมดไป สายลมพัดจากภูเขาและสายน้ำเบื้องล่างมากระทบผิวกายเบา ๆ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้มาก ถือว่าเป็นการจบทริปที่งดงามมาก ๆ เลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก