ตาก (ททท.)
คำขวัญ ... ธรรมชาติน่ายล ภูมิพลเขื่อนใหญ่ พระเจ้าตากเกรียงไกร เมืองไม้และป่างาม
ตาก เป็นจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง เดิมชื่อว่า "เมืองระแหง" เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงได้มีการย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้าย ณ บริเวณตำบลบ้านระแหงในปัจจุบัน
ด้วยประวัติความเป็นมาอันยาวนานทำให้ตากเต็มไปด้วยเรื่องราวและสถานที่ที่น่าสนใจ เช่น ในด้านของสถาปัตยกรรม มีเจดีย์และวัดศิลปะแบบมอญ ซึ่งจากหลักฐานงานศิลป์เหล่านี้ทำให้รู้ได้ว่า ตากเป็นเมืองที่มีชาวมอญอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีต นอกจากนี้ ก็มีวัดวาอารามศิลปะแบบไทยสมัยสุโขทัยและอยุธยา รวมถึงตึกรามบ้านช่องรูปทรงคลาสสิกสไตล์ยุโรป สมัยรัชกาลที่ 5
ในด้านของแหล่งธรรมชาติ ตากยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ โดยเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่อยู่ในเขตผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ และเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางธรรมชาติที่สำคัญระดับโลก ครอบคลุมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จัดเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ตากยังเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย ทั้งดอกไม้ ผลไม้ และพืชเมืองหนาวหลากหลายชนิด
สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดตาก
สะพานมิตรภาพไทย-พม่า
ตำบลท่าสายลวด เป็นสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำเมย ระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี สหภาพพม่า มีความยาว 420 เมตร กว้าง 13 เมตร สำหรับประชาชนชาวไทย และผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอแม่สอด สามารถเดินทาง หรือนำรถยนต์ข้ามไปได้ โดยทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวได้ที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด เสียค่าธรรมเนียมทั้งในฝั่งประเทศไทย และฝั่งประเทศพม่า และเสียค่าประกันภัยรถยนต์ตามที่กำหนด สอบถามข้อมูลก่อนเดินทางได้ที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด โทร. 0 5556 3002, 0 5556 3000
หมายเหตุ นักท่องเที่ยวชาวไทย ควรสอบถามรายละเอียดที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอดก่อนเดินทาง เนื่องจากระเบียบอาจมีการเปลี่ยนแปลง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางข้ามไปสหภาพพม่าต้องนำ หนังสือเดินทาง มาแสดงที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งไทยเพื่อประทับตราผ่านแดนโดยไม่เสียค่า ใช้จ่าย สำหรับฝั่งสหภาพพม่าเสียค่าธรรมเนียมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองพม่า คนละ 10 ดอลล่าร์ (อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้) เพื่อท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ ได้ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. และจากด่านตรวจคนเข้าเมืองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สามารถเดินทางเข้าไปได้ไม่เกิน 2 กิโลเมตร รายละเอียดติดต่อ ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด โทร. 0 5556 3000, 0 5556 3002
คอกช้างเผือก
(เพนียดช้าง) บ้านท่าอาจ ตำบลท่าสายลวด บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ก่อนถึงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ประมาณ 1 กิโลเมตร แยกขวามือผ่านหน้าวัดไทยวัฒนาราม ตามถนนลาดยางประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบป้ายโบราณสถานคอกช้างเผือกด้านซ้ายมือ คอกช้างเผือก หรือ พะเนียดช้าง ลักษณะทำเป็นกำแพงก่ออิฐมอญสูงประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 25 เมตร เป็นรูปสอบขนานกันยาวประมาณ 80 เมตร เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น.
ตามพงศาวดารกล่าวว่า เมือครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มะกะโท (คนเลี้ยงช้าง) ซึ่งเป็นหนุ่มชาวมอญได้เข้ารับราชการเป็นขุนวัง และมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับนางสร้อยดาว พระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงฯ ต่อมาเมื่อครั้งพ่อขุนรามคำแหงฯ ยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช มะกะโท จึงลักพาตัวพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงฯ หนีไปอยู่กรุงหงสาวดี และมีหนังสือแจ้งพ่อขุนรามคำแหงฯ ถึงเรื่องราวทั้งหมด ต่อมา มะกะโท ได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ และสร้างเมืองเมาะตะมะขึ้นเป็นราชธานี พ่อขุนรามคำแหงฯ จึงพระราชทานนามให้ว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว
เมืองตากในสมัยนั้นถือเป็นชานเมืองของกรุงสุโขทัย ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งออกอาละวาด พ่อขุนรามคำแหงฯทรงทราบ พระองค์จึงได้ประกอบพิธีเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่า หากช้างเผือกเชือกนี้เป็นช้างคู่บุญบารมีของกษัตริย์นครใด ก็ขอให้ช้างเผือกบ่ายหน้าไปในทิศทางนั้น เมื่อสิ้นคำอธิฐาน ช้างเผือกจึงชูงวงเป็นทักษิณาวรรต เปล่งเสียงร้อง 3 ครั้ง แล้วเดินบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกถึงชายแดนเมืองตาก พ่อขุนรามคำแหงฯ ทรงแน่พระทัยว่า ช้างเผือกนี้คงเป็นช้างเผือกคู่บารมีของพระเจ้าฟ้ารั่ว จึงแจ้งให้พระเจ้าฟ้ารั่วมารับช้างเผือก ครั้นเมื่อเดินมาถึงเชิงเขาแห่งนี้มีแม่น้ำขวางกั้น ทหารที่ติดตามมาจึงสร้างพะเนียดล้อมช้างเผือกไว้ พ่อขุนรามคำแหงมฯ จึงได้ทำพิธีมอบช้างเชือกให้กับพระเจ้าฟ้ารั่ว ณ ที่บริเวณนี้ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 88 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 หน้า 21
น้ำตกทีลอซู
เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น้ำตกดำ แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงเรียกน้ำตกนี้ว่า น้ำตกทีลอชู ที่แปลว่าน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตฯ 1.5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นน้ำตกเขาหินปูนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 900 เมตร เกิดจากลำน้ำห้วยกล้อท้อทั้งสายที่ไหลแผ่ปกคลุมพื้นที่หน้าผากว้างกว่า 500 เมตร ก่อนที่จะทะยานลงสู่หน้าผาสูงชันลดหลั่นเป็นชั้น ๆ สูงกว่า 300 เมตร เสียงดังกึกก้องบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่จนชาวกะเหรี่ยงให้สมญานามว่า น้ำตกทีลอชู (น้ำตกใหญ่) รายล้อมไปด้วยป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์เป็นน้ำตกที่มีความยิ่งใหญ่และสวยที่ สุดในเมืองไทย น้ำใสสะอาด ฤดูฝนเป็นช่วงที่น้ำตกสวยที่สุด การเดินเที่ยวชมน้ำตกแต่ละชั้นต้องเดินผ่านสายน้ำขึ้นไป จึงควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
การเดินทาง รถยนต์ จากอำเภออุ้มผาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 อุ้มผาง-แม่สอด ถึงหลักกิโลเมตรที่ 161 บ้านแม่กลองใหม่ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1288 บ้านแม่กลองใหม่-เบิ้งเคลิ้ง ถึงด่านตรวจเดลอ เลี้ยวซ้ายเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ถนนช่วงนี้เป็นเส้นทางลำลองที่นักท่องเที่ยวต้องใช้รถปิคอัพ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีสมรรถนะสูงเท่านั้น รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร
การเดินทางท่องเที่ยวในฤดูฝน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางปิดเส้นทางเดินรถยนต์ เนื่องจากการสัญจรลำบาก และยังเป็นการพักฟื้นผืนป่าให้สัตว์ออกหากินและขยายพันธุ์โดยไม่ถูกรบกวน หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปน้ำตกทีลอซูในช่วงนี้ ควรติดต่อบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่ เนื่องจากการเดินทางเข้าได้ 2 เส้นทาง คือ ล่องเรือยางจากท่าทราย อำเภออุ้มผาง ไปตามลำน้ำแม่กลองใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง และเดินเท้าต่อไปยังน้ำตกทีลอซู ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หรือ เดินเท้าตามเส้นทางรถจากหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยหนองหลวงถึงน้ำตกทีลอซู ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์เดินทางเข้าในช่วงเวลาดังกล่าวต้องได้รับ อนุญาตจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผางก่อนทุกครั้ง
การล่องแพ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อผ่านบริษัททัวร์ที่จัดล่องแพในอำเภออุ้มผางได้ โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท. สำนักงานตาก โทร. 0 5551 4341-3
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้กับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศาลนี้แต่เดิมอยู่ที่วัดดอยเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองตาก ต่อมาในพ.ศ. 2490 ชาวเมืองตากเห็นว่าศาลเดิมไม่สมพระเกียรติ จึงได้สร้างศาลขึ้นใหม่โดยให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า “พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2277 สวรรคต พ.ศ. 2325 รวม 48 พรรษา” เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปและเป็นศาลที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองไทย เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.30 น.
วัดพระบรมธาตุ
ตำบลเกาะตะเภา วัดพระบรมธาตุเป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง พระอุโบสถมีประตูไม้สักแกะสลักที่สวยงาม หน้าบันและจั่วเป็นไม้ หน้าต่างแกะสลักเรื่องราวพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค วิหารเก่ามีเพดานสูง 2 ชั้น มีช่องลมอยู่โดยรอบ ทำให้อากาศภายในวิหารเย็นสบาย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง และหลวงพ่อทันใจ นอกจากนี้ยังมีวิหารไม้เก่าแก่มีลวดลายแกะสลักได้อย่างสวยงาม นับเป็นวัดที่มีคุณค่าทางโบราณคดีมาก การเดินทาง จากอำเภอเมืองตากใช้ทางหลวงหมายเลข 1107 สายตาก-บ้านตาก ไปประมาณ 35 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1175 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ
พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่
หมู่ 4 บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด ตัวเจดีย์พระธาตุตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนชะง่อนผามีฐานคอดกิ่วเหมือนจะขาดออกจากกัน โดยมีเจดีย์ทรงมอญสร้างไว้มีขนาดพอดีกับความกว้างของก้อนหิน ชาวบ้านเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า “เจดีย์หินพระอินทร์แขวน” ภายในสถูปเจดีย์มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ เป็นที่เคารพของชาวจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียง ทุก ๆ ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุหินกิ่ว การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ตรงไปตลาดริมเมย แยกขวามือผ่านหมู่บ้านท่าอาจ และหมู่บ้านวังตะเคียน ถึงพระธาตุฯ ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
เจดีย์ยุทธหัตถี หรือ เจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงมหาราช
เจดีย์ยุทธหัตถี หรือ เจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เจดีย์ชนช้าง ตั้งอยู่บนดอยช้าง ตำบลเกาะตะเภา ดอยช้างเป็นเนินดินเล็ก ๆ อยู่ทางทิศเหนือของดอยพระธาตุไปเล็กน้อย เป็นเจดีย์โบราณ สร้างในสมัยสุโขทัยมีอายุราว 700 ปีเศษ องค์เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่เยื้องกับวัดพระบรมธาตุประมาณ 200 เมตร ลักษณะของเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นศิลปะแบบสุโขทัย ก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง 12 เมตร เรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขึ้นไป สูง 16 เมตร เหนือเรือนธาตุทำเป็นลำสี่เหลี่ยมย่อมุมตลอดถึงยอดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ บนยอดประดับฉัตร มีร่องรอยการซ่อมแซมตลอดมา แต่ไม่เสียรูปทรงเดิม ฐานพุ่มมีลายปูนปั้นเป็นรูปหน้าสิงห์สวยงาม หน้าสิงห์ด้านทิศเหนือยังสมบูรณ์ ส่วนด้านอื่น ๆ ชำรุด องค์เจดีย์ส่วนใหญ่มีคราบตะไคร่น้ำจับอยู่ทั่วไป จะมีการตกแต่ง และทำความสะอาดรอบเจดีย์ในช่วงก่อนถึงงานไหว้พระธาตุบ้านตาก
ดอยหัวหมด
อยู่ในเขตอุ้มผาง อยู่ห่างจาก อ.แม่สอด ลงไปทางใต้ บ้านอุ้มผาง เป็นเขาหินปูนที่ทอดแนวยาวติดต่อกันหลาย มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร กว้าง 2 กิโลเมตร บนภูเขานี้ไม่มีต้นใหญ่ขึ้นมีแต่ต้นหญ้าและไม้ดอกเตี้ย ๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป เช่น ปรง ดอกเทียน และดอกไม้ป่า โดยเฉพาะดอกเทียนจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงฤดูฝน สลับกับโขดหินเป็นระยะ ๆ หากมองขึ้นไปบนเขาจะเห็นภูเขาทั้งลูกเหมือนถูกปูด้วยพรมสีเขียว โดยมีโขดหิน ต้นปรง ดอกเที่ยนป่า และไม้ดอกนานาชนิดขึ้นแซมเพิ่มสีสันดูสวยงามยิ่งนัก หากขึ้นไปบนยอดเขาจะมองเห็นหมู่บ้านอุ้มผาง และทิวเขาสลับซับซ้อน ทัศนียภาพโดยรอบสวยงาม มีจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก และดูทะเลหมอกยามเช้า ช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีทะเลหมอกที่สวยงาม
การเดินทาง ใช้เส้นทางอุ้มผาง-บ้านปะละทะ ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงดอยหัวหมด จุดที่สามารถชมทิวทัศน์ได้สวยงามมี 2 จุด จุดแรก บริเวณกิโลเมตรที่ 9 โดยต้องเดินขึ้นภูเขาไปประมาณ 20 นาที จุดที่ 2 บริเวณกิโลเมตรที่ 10 มีทางแยกซ้ายจอดรถ และเดินเท้าไปอีก 5 นาที ควรไปถึงดอยหัวหมดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.00-06.00 น. อากาศบนดอยค่อนข้างเย็น มีลมพัดตลอดเวลา
อุทยานแห่งชาติลานสาง
บ้านลานสาง ตำบลแม่ท้อ ห่างจากตัวจังหวัดตากประมาณ 20 กิโลเมตร มีพื้นที่65,000 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2522 สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันเกือบตลอดพื้นที่ส่วนที่สูงที่สุดอยู่ด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ แล้วลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันออกมีลำธารไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำห้วยลานสาง ห้วยท่าเล่ย์ คลองห้วยทรายห้วยอุมยอม ป่าในเขตอุทยานฯ มีทั้งป่าดงดิบ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าเต็งรังป่าเบญจพรรณ สลับกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่หมูป่า เก้ง เต่าปูลู เลียงผา ชะมด นกปรอดเหลืองหัวจุก จิ้งก่าบิน เป็นต้น(อุทยานแห่งชาติลานสาง ไม่มีถังขยะให้นักท่องเที่ยวทิ้ง เนื่องจากอุทยานฯรณรงค์เรื่องการรักษาความสะอาดโดยเจ้าหน้าที่จะแจกถุงดำให้นักท่องเที่ยวทุกคณะที่เข้าไปท่องเที่ยวและขอความร่วมมือให้นำกลับไปให้เจ้าหน้าที่ที่ด่านเก็บเงิน เพื่ออุทยานฯจะได้รวบรวมนำไปทิ้ง)
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ได้ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก มีชาวมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมากทหารพม่าจึงติดตามเข้ามา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพไปขับไล่และพลัดหลงกับกองทัพ ประจวบกับเป็นเวลากลางคืนและสภาพพื้นที่เป็นป่าเขารกทึบยากแก่การติดตาม กองทัพไทยจึงหยุดพักขณะที่พักกันอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและได้ยินเสียงม้าศึกร้อง จึงรีบพากันไปยังจุดนั้นก็พบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าอยู่กลางลานหินมีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าหมอบอยู่โดยรอบขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี จึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ลานสาง"สถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้ายังคงมีอยู่ในปัจจุบัน คือบริเวณน้ำตกลานสางและที่บริเวณลานหินมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ด้วย
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ น้ำตกผาลาด เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นเนินหิน ไหลลดหลั่นลงมาสลับซับซ้อนกันเป็นลานหินกว้างมีความลาดชันเล็กน้อย น้ำตกกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตรกระแสน้ำของลำห้วยลานสางที่ไหลบ่าไปตามแผ่นหินรวมตัวไหลลงสู่แอ่งเล็ก ๆ น้ำตกลานเลี้ยงม้า(ชั้นที่ 1) อยู่ตอนต้นของลำห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกผาลาด 200 เมตรมีลักษณะเป็นเนินหินเตี้ย ๆ ตรงกลางเว้าเป็นช่องว่าง กว้างประมาณ 6 เมตรกระแสน้ำที่ไหลมาตามลำห้วยลานสาง เมื่อไหลมาถึงเนินหินเตี้ย ๆน้ำจะไหลเข้ามาตามช่องหินสู่พื้นน้ำเบื้องล่างน้ำตกชั้นนี้มีความสูงประมาณ 5 เมตร
น้ำตกลานสาง(ชั้นที่ 2) อยู่ตอนต้นของห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกลานเลี้ยงม้าประมาณ2 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 200 เมตรเป็นน้ำตกชั้นที่มีผู้นิยมไปมากที่สุด มีความสูงประมาณ 40 เมตรน้ำตกจะไหลพุ่งออกมาจากซอกเขา แล้วไหลลดหลั่นลงมา 3 ชั้นรวมตัวลงสู่แอ่งน้ำ และไหลลงสู่น้ำตกลานเลี้ยงม้า น้ำตกผาผึ้ง(ชั้นที่ 3) อยู่สูงขึ้นไปตามซอกเขา ห่างจากน้ำตกลานสาง 750 เมตรเป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขา มีลักษณะเป็นหน้าผาเรียบมีความลาดชันประมาณ 70 องศา สูง 30 เมตรลำห้วยลานสางเมื่อไหลมาถึงหน้าผาน้ำจะไหลบ่าแผ่กระจายเป็นฝอยละอองลาดไปตามหน้าผาลดหลั่นลงมาตามชั้นหินเล็ก ๆเป็นบริเวณกว้างไหลลงสู่แอ่งน้ำเบื่องล่าง
น้ำตกผาเท อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วย ห่างจากน้ำตกผาผึ้ง 1.2 กิโลเมตรตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ผ่านลำห้วยลานสาง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณที่มีสภาพป่า และชนิดของพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกันน้ำตกผาเทเป็นน้ำตกชั้นเดียวที่มีลักษณะเป็นหน้าผามีความชัน สูง 25 เมตรเมื่อน้ำจากลำห้วยลานสางไหลลงมาตามซอกเขาด้วยความเร็วเมื่อถึงหน้าผาซึ่งเป็นท้องน้ำตกที่มีการลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็วน้ำจะพุ่งพ้นหน้าผาเป็นสายลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างด้วยความแรงจนน้ำกระจายเป็นฝอยทำให้เกิดเสียงดังครืน ๆ ได้ยินแต่ไกล
น้ำตกผาน้อย เป็นน้ำตกที่ไหลผ่านช่องเขาที่มีความแคบลัดเลาะไปตามซอกหินไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆลงสู่แอ่งน้ำที่กว้าง และมีความลึกมาก น้ำตกท่าเล่เป็นน้ำตกที่มีลักษณะลาดชันไหลลดหลั่นลงมาจากหน้าผา มีความสูง 50 เมตรท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จุดชมวิว อุทยานฯมีจุดชมวิวอยู่บนยอดเขาน้อยสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์และทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองตากได้โดยมีทางขึ้นบริเวณศาลเจ้าพ่อข้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 40 บาท ชาวต่างชาติเด็ก 200 บาท ผู้ใหญ่ 400 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ราคา 30 บาท (ไม่รวมคนขับ)
อุทยานแห่งชาติลานสาง ตู้ ปณ. 8 ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก 63000 โทร.08 4048 9977, หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.thบ้านพักจำนวน 10 หลัง ราคา 400-2,500 บาท ค่ายพักแรม 2 หลัง พักได้หลังละ32 คน ราคาหลังละ 4,000 บาท ค่าเช่าเต็นท์พัก 3 คน พร้อมเครื่องนอนราคา305 บาท/คืน ค่าเช่าเต็นท์พัก 6 คน พร้อมเครื่องนอนราคา 600 บาท/คืนค่าเช่าพื้นที่กางเต็นท์ราคา 30/คน/คืน
การเดินทาง จากตัวเมืองตากใช้ทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอดห่างจากตัวเมือง 19 กิโลเมตร ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 12-13 เลี้ยวซ้ายไป3 กิโลเมตร จะถึงบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือเดินทางโดยรถประจำทางสามารถนั่งรถสายกรุงเทพฯ-ตาก มาลงที่สถานีขนส่งในอำเภอเมืองตากแล้วต่อรถตู้สายตาก-แม่สอด ลงที่ปากทางเข้าอุทยานฯและเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯรวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 430 กิโลเมตร
ผาสามเงา
หรือ พระสามเงา ตำบลย่านรี บริเวณหน้าผาเจาะเป็นช่องลึกพร้อมพระพุทธรูป 3 องค์ เรียงกัน 3 ช่อง ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ฤาษีวาสุเทพ และฤาษีสุกกทันต์ ได้สร้างเมืองหริภุญไชย(ลำพูน) เสร็จแล้ว ได้แต่งตั้งทูตไปทูลขอพระนางจามเทวี ราชธิดาของพระเจ้านพรัตน์ กษัตริย์แห่งกรุงละโว้ (ลพบุรี) ให้ขึ้นไปครองนครหริภุญไชย เมื่อพระเจ้านพรัตน์ทรงอนุญาต พระนางจามเทวี จึงเสด็จทางชลมารค พร้อมเหล่าเสวกามาตย์และข้าทาสบริวารมาตามแม่น้ำปิง กระทั่งถึงบริเวณพระสามเงาในปัจจุบัน เกิดอาเพศขึ้นอย่างฉับพลัน พายุโหมกระหน่ำอย่างแรง จนขบวนเรือไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้
พระนางทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงยกพระหัตถ์ขึ้นเสี่ยงสัตยาธิษฐานว่า หากพระองค์มีบุญญาธิการที่จะได้ครองนครหริภุญไชยสม ตั้งมโนปณิธานแล้วขอให้เหตุอาเพศต่าง ๆ จงอันตรธานในบันดล สิ้นคำสัตยาธิษฐานก็พลันอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ดังสนั่น เหตุอาเพศทั้งปวงก็สงบอากาศค่อย ๆ สว่างขึ้น พร้อมปรากฏเงาพระพุทธรูปตรงหน้าผาแห่งจำนวน 3 เงา เมื่อพระนางได้ประจักดังนั้นจึงทรงโสมมัสปิติยินดียิ่งนัก จึงมีพระเสาวนีย์รับสั่งให้สร้างพระตามที่ได้ทอดพระเนตรศุภนิมิตมงคล ณ หน้าผาแห่งนี้ พร้อมทั้งทำการสมโภชเฉลิมฉลองสิ้นเพลา 3 ราตรี จึงเคลื่อนขบวนเสด็จมุ่งสู่นครหริภุญไชยต่อไป การเดินทาง จากตัวเมืองตากใช้ทางหลวงหมายเลข 1107 ถึงผาสามเงาระยะทาง 25 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 463 แยกซ้ายเข้าเขื่อนภูมิพลจากอำเภอสามเงาไปประมาณ 10 กิโลเมตร
ดอยสอยมาลัย
ตำบลทองฟ้า อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น สภาพเป็นป่าสนเมืองหนาว สูงจากระดับทะเลปานกลาง 1,600 เมตร มีจุดชมวิว และชมทะเลหมอกยามเช้าที่สวยงาม สิ่งที่น่าสนใจคือ สลาแมนเดอร์ หรือจิ้งจกน้ำ สัตว์น้ำดึกดำบรรพ์ที่หายาก ลักษณะเหมือนจิ้งจก ลำตัวสีชมพู นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักแรมได้บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าฯ การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1175 สายบ้านตาก-แม่ระมาด ระยะทาง 60 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท. สำนักงานตาก โทร. 0 5551 4341-3.
วนอุทยานไม้กลายเป็น (ฟอสซิลไม้กลายเป็นหินใหญ่ที่สุดในเอเชีย)
ตั้งอยู่หมู่ 7 ตำบลตากออก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สลิด-โป่งแดง บริเวณหลักกิโลเมตร ที่ 443 ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน พบป้ายบอกทางด้านขาวมือตรงข้ามกับโรงพยาบาลบ้านตาก ห่างจากถนนพหลโยธิน ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ฟอสซิลไม้กลายเป็นหินที่พบ ยาวประมาณ 72.22 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร เป็นฟอสซิลไม้กลายเป็นหินที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการค้นพบในทวีปเอเชียและ ยาวที่สุดในโลก
ไม้กลายเป็นหินจัดเป็นฟอสซิล ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากซากต้นไม้ที่ถูกแทนที่ด้วยน้ำบาดาล ซึ่งมีสารละลายของซิลิกาและเกิดการตกตะกอนจนกลายสภาพเป็นหินอย่างช้า ๆ คือ แทนที่แบบโมเลกุล จนกระทั่งกลายเป็นหินทั้งหมด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้างอีก ไม้กลายเป็นหินมักฝังตัวอยู่ในชั้นกรวด คาดว่าจะเกิดสะสมตัวในยุคควอเตอร์นารีคอนตัน อายุประมาณ 2 ล้านปีจากการแพร่กระจายตัวของตะกอนตะพักที่ปรากฏน่าจะเกิดสะสมตัวบริเวณตะ พักคุ้งน้ำของแม่น้ำปิงโบราณ ปัจจุบันขุดพบเพิ่มขึ้นอีก 6 ต้น
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช
มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตป่าแม่ท้อ ตำบลแม่ท้อ ตำบลพะวอ อำเภอเมืองตาก และป่าแม่ละเมา อำเภอแม่สอด มีเนื้อที่ 165,250 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นอุทยานฯ ที่มีสภาพป่าหลากหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ สภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส ฝนตกชุกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ส่วนฤดูหนาวคือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม อุณหภูมิประมาณ 6 องศาเซลเซียส
พื้นที่ป่าแห่งนี้ในอดีตเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของไทย และพม่า ในพ.ศ. 2305 พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างยกทัพกลับทรงประชวร และสิ้นพระชนม์ในป่านี้
สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ต้นกระบากใหญ่ เป็นต้นไม้ที่ขึ้นในบริเวณหุบเขาของป่าดงดิบ เป็นพันธุ์ไม้เนื้ออ่อนมีลักษณะลำต้นตรงเปลา (คือ ลำต้นสูงชะลูดไม่มีกิ่งที่ลำต้น) เรือนยอดเป็นพุ่มกลมเปลือกสีน้ำตาลปนเทา มีอายุประมาณ 700 ปี มีขนาดวัดโดยรอบได้ 16.10 เมตร หรือราว 12 คนโอบ สูง 50 เมตร เป็นต้นกระบากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ค้นพบคือ นายสวาท ณ น่าน ช่างระดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก เส้นทางเดินเท้าไปชมต้นกระบากใหญ่ทางอุทยานฯ ได้จัดทำเป็น เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมระบบนิเวศของป่า ผู้ที่ประสงค์จะเดินลงไปชมต้นกระบากใหญ่ควรมีความพร้อมทางร่างกาย เพราะทางเดินค่อนข้างลาดชัน ต้นกระบากใหญ่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2.5 กิโลเมตร ต้องเดินลงเขาไปตามเส้นทางประมาณ 400 เมตร
สะพานหินธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่เชื่อมหน้าผาสองแห่งเข้าด้วยกัน มีความกว้าง และความสูงประมาณ 25 เมตร เบื้องล่างมีลำธารน้ำไหลผ่าน ถัดออกไปประมาณ 50 เมตร มีถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 35 แล้วแยกเข้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้ตาก และตรงไปประมาณ 6 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าต่อไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงสะพานหินธรรมชาติ น้ำตกปางอ้าน้อย เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี สูงประมาณ 20 เมตร อยู่ห่างจากต้นกระบากใหญ่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร
ถ้ำธารลอดผาขาว-ผาแดง อยู่ห่างจากที่ทำการ 35 กิโลเมตร มีน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยผาขาว-ผาแดง มีความสูง 30 เมตร มีถ้ำธารน้ำลอดเกิดจากลำห้วยผาแดง ซึ่งไหลลัดเลาะลงถ้ำด้านล่าง ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยสวยงาม น้ำตกแม่ย่าป้า เป็นน้ำตกขนาดกลางเกิดจากลำห้วยแม่ย่าป้า อยู่ในป่าทึบ มีน้ำไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นตามร่องห้วย แล้วไหลลงสู่ลำห้วยแม่ท้อ การเดินทาง ไปน้ำตกแม่ย่าป้านั้นยังไม่สะดวกนัก นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินป่าควรติดต่อขอคนนำทางกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก่อน น้ำตกสามหมื่นทุ่ง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำห้วยสามหมื่นหลวง มีความสูง 30 เมตร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวทย เด็ก ราคา 20 บาท ผู้ใหญ่ ราคา 40 บาท ชาวต่างชาติ เด็ก ราคา 200 บาท ผู้ใหญ่ ราคา 400 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ราคา 30 บาท (ไม่รวมคนขับ)
สถานที่พักอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว 8 หลัง ราคาหลังละ 500-1,500 บาท มีเรือนนอน พักได้ 60 คน ราคา 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่ายพักแรมที่เล่นแคมป์ไฟได้ และนักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์มาเอง เสียค่ากางเต็นท์ 100 บาท/คน/คืน และอุทยานฯ มีร้านอาหารบริการแต่ต้องติดต่อล่วงหน้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตู้ปณ. 10 อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก 63000 โทร. 0 5551 1429 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 สายตาก-แม่สอด ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 26 มีทางแยกขวามือเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร หรือนั่งรถตู้ประจำทางสายตาก-แม่สอด ลงที่ปากทางเข้าอุทยานฯ จากนั้นจะต้องเดินเท้าอีก 2 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
เขื่อนภูมิพล
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เขื่อนยันฮี เป็นเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย สร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ จัดอยู่ในอันดับ 8 ของโลก มีความสูงจากฐานถึงสันเขื่อน 154 เมตร กั้นแม่น้ำปิงที่เขาแก้ว อำเภอสามเงา เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า และชลประทาน ความยาวของแม่น้ำปิงจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 207 กิโลเมตร บริเวณโดยรอบเขื่อนภูมิพลเป็นแหล่งพักผ่อน และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด นอกจากนั้นยังมี เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ สองฝั่งลำน้ำปิงเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ตื่น เป็นเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติสภาพป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ความหลากหลายของเขาหิน ลำห้วย และน้ำตก ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
สถานที่น่าสนใจภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล การล่องแพและเรือ ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว การล่องแพโดยใช้เรือลากจูง หรือเดินทางด้วยเรือสำราญ เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติและภูมิประเทศป่าเขา ผ่านแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้แก่ พระพุทธบาทเขาหนาม เกาะวาเลนไทน์ ดอยเจ้าพ่อหลวง เขาพระพุทธบาท ถ้ำอาบนาง โบราณสถานแก่งสร้อย จนถึงดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ รวมระยะทาง 204 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท. สำนักงานตาก โทร. 0 5551 4341-3
น้ำตกแม่กาษา
ตำบลแม่กาษา เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีทางเดินเท้าขึ้นไปชมด้านบนของน้ำตกซึ่งเป็นหน้าผาสูง มีถ้ำ และธารน้ำกว้างประมาณ 5 เมตร ลักษณะเป็นน้ำตกเขาหินปูน การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 สายแม่สอด-แม่ระมาด กิโลเมตรที่ 13-14 จะพบป้ายบ้านแม่กื๊ดสามท่า จากปากทางเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะพบทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร
และนี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพียงไม่กี่แห่งที่เรานำมาบอกเล่าเก้าสิบกัน เพราะ ตาก ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามอีกมากมาย รอให้คุณเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเอง
ทิปส์
กิจกรรม การล่องแก่งในจังหวัดตากสามารถทำได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคมของทุกปี นักท่องเที่ยวควรติดต่อผ่านบริษัทนำเที่ยวที่มีความชำนาญกับสายน้ำ และมีใบอนุญาตถูกต้อง เพื่อการล่องแก่งอย่างสนุกและปลอดภัย
การเดินทาง
ตากอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 426 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดตากได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และเครื่องบิน
โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้ง ผ่านเข้ากำแพงเพชร และตรงไปจังหวัดตาก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง
โดยรถประจำทาง : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ตาก และกรุงเทพฯ-แม่สอด ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ทันจิตต์ทัวร์ โทร. 0 2936 3210-3 เชิดชัยทัวร์ โทร. 0 2936 0199
ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com
โดยเครื่องบิน : สายการบินพี บี แอร์ บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-แม่สอด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที สอบถามข้อมูลการเดินทาง ตารางเวลาเที่ยวบิน และสำรองที่นั่งได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 8000 หรือเว็บไซต์ www.pbair.com
การเดินทางภายในตาก ในตัวจังหวัดตากมีรถชนิดต่าง ๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคา วันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อ เครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ททท. และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช