หลงรัก...ลับแล เที่ยวไปตามท้องเรื่องเขาเล่าว่า...

 
ลับแล

          จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่บางคนอาจจะมองข้ามไป แต่อันที่จริงแล้วจังหวัดนี้มีสิ่งดี ๆ ซ่อนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่สวยงาม ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม วิถีชีวิตของชาวบ้านแบบเรียบง่าย อาหารพื้นเมือง ฯลฯ หนึ่งในอำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่คุณอาจจะหลงลืมไป ก็คือ "ลับแล" อำเภอเล็ก ๆ ที่อยู่ในหุบเขา ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตกันแบบเรียบง่าย เป็นเมืองที่เหมาะกับการขี่จักรยานมาก ๆ และเป็นโอกาสดีที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พากระปุกดอทคอมและสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมเมืองในตำนานแห่งนี้ เมืองลับแลจะน่ารักและมีเรื่องที่เขาเล่าว่า...มาอย่างไรบ้าง ตามเราไปเที่ยวเมืองนี้กันเลยค่ะ

          การเดินทางของเราเริ่มต้นขึ้นในช่วงเช้า ขับรถมาเรื่อย ๆ แวะพักเหนื่อย ทานข้าวกลางวันเรียบร้อย ก็มุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางตามแผนที่วางไว้ทันที ที่หมายแรกของเราเป็นสถานที่ไม่มีใครนึกถึงว่าจะมีในจังหวัดอุตรดิตถ์ นั่นก็คือ "ไร่องุ่นคานาอัน" ซึ่งเป็นไร่องุ่นแห่งแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่ 108 หมู่ที่ 6 ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          สิ่งที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของไร่องุ่นคานาอันก็คืออาคารสถาปัตยกรรมสไตล์ทัสคานีสีเหลืองส้มสดใส ซึ่งภายในเป็นร้านกาแฟและไอศกรีม มีน้ำองุ่นแท้รสชาติหวานอมเปรี้ยว และไอศกรีมรสองุ่นเป็นนางเอกของที่นี่ เมื่อแวะพักกันจนหายเหนื่อย ก็ขอเดินเล่นรอบ ๆ ไร่องุ่นสักหน่อย ไร่องุ่นคานาอันมีพื้นที่ทั้งหมด 20 กว่าไร่ เป็นส่วนองุ่น 10 ไร่ และที่เหลือเป็นบ่อน้ำ แปลงปลูกพืชผักอื่น ๆ และร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          ที่นี่จะมีองุ่นออกผลให้เห็นตลอดทั้งปี และเมื่อองุ่นโตเต็มที่ก็จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปตัดกันถึงที่ต้น รับประทานกันได้สด ๆ ร้านกาแฟและไร่องุ่นคานาอันเปิดให้เข้าเที่ยวชมตลอดทั้งปี โดยจะเปิดตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น.

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          ในพื้นที่ของตำบลน้ำพี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งนั่นก็คือ "บ่อเหล็กน้ำพี้" เป็นบ่อเหล็กกล้า 2 บ่อ คือ บ่อพระแสง ปากบ่อกว้างประมาณ 20 เมตร ลึก 10 เมตร เป็นบ่อเหล็กที่นายช่างสมัยโบราณนำเหล็กไปถลุงทำพระแสงดาบถวายพระมหากษัตริย์ และบ่อพระขรรค์ ปากบ่อกว้าง 12 เมตร ลึก 7 เมตร เชื่อกันว่าเหล็กในบ่อนี้นำไปถลุงทำพระขรรค์ให้แก่พระมหากษัตริย์ อาทิ พระยาพิชัยดาบหัก, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถตกเหล็กจากทั้ง 2 บ่อ เพื่อนำไปบูชาได้ และบริเวณใกล้เคียงยังมีศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้สักการะด้วย

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          เวลาบ่ายแก่ ๆ เราก็เดินทางมาถึงดินแดนที่ชื่อว่าลับแลพอดี แสงแดดกำลังอ่อนลง ซึ่งเหมาะมาก ๆ สำหรับการปั่นจักรยานเที่ยวรอบ ๆ เมือง เมื่อถึงศูนย์บริการการท่องเที่ยววิถีเมืองลับแล เราก็ได้จักรยานกันมาคนละคัน และเมื่อทุกคนพร้อม ทริปปั่นรอบเมืองลับแลก็เริ่มต้นขึ้น

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          จุดแรกที่เราจะเห็นก่อนเข้าสู่เมืองลับแลก็คือ "ประตูเมือง" และที่ด้านขวาของประตูเมืองก็คือรูปปั้นของหญิงสาวยืนอุ้มลูก โดยมีสามีนั่งก้มหน้าอยู่ข้าง ๆ ซึ่งนี่แหละคือตำนานของเมืองลับแล เพราะในตำนานเล่ากันมาว่า เมืองลับแลเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ วันหนึ่งมีชายหนุ่มต่างถิ่นผ่านมาที่เมืองนี้ แล้วได้พบกับหญิงสาวชาวลับแล เกิดชอบพอกัน ผู้หญิงจึงได้พาผู้ชายเข้าไปอยู่ในเมือง แต่เมืองนี้มีกฎอยู่ว่าห้ามพูดโกหก เมื่ออยู่กินกันไปจนมีลูก หญิงสาวได้ออกไปหากับข้าว ทิ้งสามีให้ดูแลลูก แต่ลูกร้องไห้ไม่หยุด สามีจึงได้โกหกว่าแม่กำลังกลับมาแล้ว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องของหญิงสาวไม่พอใจ หญิงสาวจึงต้องตัดใจให้สามีออกนอกเมือง แต่ได้ให้ถุงย่ามกับฝ่ายชายและกำชับว่าห้ามเปิดจนกว่าจะถึงบ้าน แต่ระหว่างทางที่ฝ่ายชายเดินทางกลับบ้านก็เกิดหิวข้าว จึงเปิดย่ามเพราะหวังว่าภรรยาจะใส่อาหารมาให้ แต่มันกลับกลายเป็นขมิ้น ฝ่ายชายจึงได้ทิ้งขมิ้นไปตลอดทาง จนเมื่อถึงบ้านได้เปิดในย่ามดูอีกครั้ง สิ่งที่เหลืออยู่ในนั้นกลับกลายเป็นทองคำ เขาจึงได้กลับไปตามทางที่ตัวเองมาอีกครั้งพร้อมกับญาติพี่น้อง แต่หาเท่าไรก็หาไม่เจอ เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า "ลับแล"

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          เมื่อรู้ถึงที่มาที่ไปของตำนานเมืองนี้ ก็ได้เวลาไปตะลุยเมืองเล็ก ๆ ที่น่ารักนี้กันแล้วค่ะ ปั่นไปเลย ! ... ตลอดเส้นทางเป็นบ้านเรือนไม้เก่าของชาวบ้านที่ยังอยู่อาศัย และเปิดค้าขายกันอย่างปกติ เราปั่นไปเรื่อย ๆ จนถึง "อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ" ก็ทำการไหว้สักการะพระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน) นายอำเภอเก่าแก่ของที่นี่ พร้อมกับเดินเที่ยวชมตลาดลับแลกันก่อน

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          จากนั้นถีบจักรยานเข้าไปในชุมชนตามเส้นทางเล็ก ๆ ลัดเลาะไปเรื่อย จนสุดปลายทาง บ้านไม้ทรงโบราณอายุกว่า 100 ปี ตั้งตระหง่านอย่างสง่างามอยู่ตรงหน้า หน้าบ้านมีป้ายไม้เขียนชื่อบ้านติดไว้ว่า "บ้านราษฎร์สุดใจ" แม้ว่าเวลาจะผันผ่านมามากกว่า 100 ปี แต่บ้านหลังนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามหลงเหลือให้เราชื่นชม สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นบ้านของคหบดีเก่าในสมัยก่อนได้อย่างดีเยี่ยม ตัวบ้านเป็นเรือนไม้ 2 หลังเชื่อมต่อกัน ด้านหน้าเป็นเรือนของเจ้านายผู้เป็นเจ้าของบ้านและเรือนด้านหลังเป็นเรือนของบ่าวไพร่ มีการแบ่งแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ภายในบ้านยังคงเก็บรักษาของเก่าไว้มากมาย เปิดให้เข้าชมในบางวันเท่านั้น เพราะเป็นบ้านพักส่วนตัว จึงต้องติดต่อล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ โทร. 0 5452 1127

ลับแล

ลับแล

          เมื่อเที่ยวชมบ้านราษฎร์สุดใจจนเต็มอิ่ม ไกด์ก็บอกว่าจะพาไปหาของอร่อย ๆ รับประทานกันที่ "ถนนคนกิน" จากที่เพลีย ๆ เรี่ยวแรงก็มาจากไหนไม่รู้ ปั่นจักรยานได้อย่างแข็งขัน รีบปั่นตามไกด์ไปทันที เวลาที่เรามาถึงถนนคนเดินนั้นเย็นมากแล้ว จึงมีเพียงแค่ไม่กี่ร้านที่ยังคงมีของกินอร่อย ๆ ไว้ให้เราได้กินกัน ปกติแล้วในช่วงกลางวันถนนเส้นนี้จะเต็มไปด้วยผู้คน ไม่มีที่ให้จอดรถ ร้านอาหารต่าง ๆ ต้องโทรมาสั่งอาหาร หรือจองโต๊ะกันล่วงหน้า ที่เมืองลับแลมีชื่อเสียงมากเรื่องอาหารพื้นเมืองที่อร่อยโดนใจ และยังมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองอีกด้วย

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          ร้านแรกที่เราได้ลิ้มลองของกินก็คือ ร้านเจ๊นีย์ของทอดลับแล ซึ่งเป็นการนำผักต่าง ๆ มาชุบแป้งทอด รวมทั้งเผือก ข้าวโพด เต้าหู้ ปอเปี๊ยะ เกี๊ยวทอด และกุ้งทอด แต่ที่เป็นนางเอกของที่นี่ก็คือหน่อไม้ทอด เมื่อทานกับน้ำจิ้มสูตรดั้งเดิมของทางร้าน จะรู้เลยว่ามันอร่อยมาก หยิบเข้าปากกันแบบไม่วางมือเลยทีเดียว

ลับแล

ลับแล

          จากนั้นขี่จักรยานเลยร้านของทอดเจ๊นีย์ไปอีกนิด ก็จะเจอกับร้านหมี่พันยายหว่าง หมี่พันก็คือการนำเส้นหมี่ที่เราผัดและปรุงรสตามที่เราชอบใจไปห่อด้วยข้าวแคบ ซึ่งเป็นแผ่นแป้งที่ทำขึ้นมาจากแป้งข้าวเจ้า จะเป็นแผ่นบาง ๆ เมื่อทานกับเส้นหมี่หลากรสที่เราปรุง อื้อหือ !!! อร่อยกว่านี้คงไม่มีอีกแล้ว นี่สินะที่เขาบอกว่าถ้ามาลับแลต้องไม่พลาดของกินพื้นเมืองที่นี่ นอกจากนี้ถนนเส้นนี้ก็ยังอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ผัดไทยโบราณ ก๋วยเตี๋ยว 10 บาท ข้าวมันไก่ กวยจั๊บ ไก่ย่าง ส้มตำ เป็นต้น

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          อิ่มท้องกันไปแล้วคราวนี้ได้เวลาไปดูของสวยงามและมีคุณค่ากันบ้าง สถานที่สุดท้ายของวันนี้ในเมืองลับแลก็คือ "พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล" ที่นี่ก่อตั้งโดย คุณจงจรูญ (โจ) มะโนคำ อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้สวยงาม ด้านบนจัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่าร้อยปี รวมทั้งผลงานของกลุ่มทอผ้าซิ่นตีนจกบ้านคุ้ม โดยผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มจะเป็นผ้าทอมือที่มีความประณีต มีลวดลายไม่เหมือนใคร โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ผ้าทุกผืนที่ทำขึ้นมานั้นมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ผ้าซิ่นตีนจกที่นี่จึงมีราคาสูง ชิ้นที่แพงที่สุดมีราคามากกว่าแสนบาท แต่เมื่อเทียบกับความละเอียด พิถีพิถันในการทำ อีกทั้งลวดลาย และสีสันที่ไม่ซ้ำใคร ก็ถือว่าคุ้มค่ากับราคา

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

ลับแล

          ยังเที่ยวเมืองลับแลไม่ทั่วฟ้าก็มืดลงเสียแล้ว อันที่จริงที่นี่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายให้ได้ไปค้นหา เป็นเส้นทางการปั่นจักรยานที่น่ารักสุด ๆ นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแล้ว ยังได้สัมผัสกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวเมืองลับแลและความเป็นมิตรของคนท้องถิ่น เที่ยวเมืองในตำนานครั้งนี้จึงรู้สึกอบอุ่นตลอดทั้งทริป แล้วแบบนี้จะไม่หลงรักลับแลได้ยังไง :)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลงรัก...ลับแล เที่ยวไปตามท้องเรื่องเขาเล่าว่า... อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2558 เวลา 17:42:53 6,132 อ่าน
TOP
x close