ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ, ปณต คูณสมบัติ...ภาพ
เรากลับมาจากเมืองแห่งนั้น พร้อม ๆ กับข่าวคราวราคาผลไม้อันแสนมีค่าสำหรับพวกเขา พุ่งพรวดขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 300 บาท นึกถึงรอยยิ้มหลังการเคี่ยวกรำผ่านฤดูกาลและแรงงานหนัก นาทีเช่นนี้พี่น้องเกษตรกรชาวอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ น่าจะดื่มด่ำกับผลผลิต "หลงลับแล" ทุเรียนสายพันธุ์เลื่องชื่อของพวกเขากันอย่างชื่นมื่น ต้นฤดูฝนห่มคลุมเมืองสงบงามแห่งนี้ไว้ด้วยม่านน้ำและทิวเขาโอบล้อม
ในหลายวันที่ลืมตาขึ้นสัมผัสยามเช้าร่วมกับพวกเขา ห้องแถวไม้แถบต้นถนนเขาน้ำตกแง้มบานเฟี้ยมพร้อม ๆ กับตลาดเช้าเรียงรายไปด้วยพืชพรรณและของกินประดามี บนม่อนดอยที่ครึ้มแน่นด้วยสวนทุเรียน มองลงมาคือโลกอันสุขสงบกลางไอหมอกที่ซุกซ่อนชีวิตผสมผสานไว้ในกลุ่มบ้านไม้แสนอบอุ่น โมงยามที่ชีวิตในโอบล้อมแห่งขุนเขากำลังเคลื่อนไหวเปี่ยมสีสัน มันหล่อหลอมทุกอย่างเข้าด้วยกันทั้งเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม นับเนื่องไปถึงคุณค่าและความงดงามเท่าที่เมืองโบราณเล็ก ๆ แห่งหนึ่งจะพึงมี หากห้วงตอบแห่งดอกผลคือสิ่งที่พวกเขาเฝ้าเพียรทนรอผ่านคืนวัน บ่มเพาะมันด้วยขุนเขาที่รอบล้อม ใบหน้าแห่งความหอมหวานอาจเป็นเช่นนี้
เช้าอันเงียบเชียบหลังฝนพรำค่อย ๆ เริ่มเคลื่อนไหว หน้าตลาดศรีพนมมาศ รถโตโยเพ็ทมากอายุ ทว่าไม่เคยห่างการดูแล-แท็กซี่ประจำเมืองอุตรดิตถ์ที่หลงเหลือไม่ถึง 5 คันจอดนิ่งสงบ รอหญิงชราเหมากับข้าวกับปลาออกไปขายที่บ้านต่างตำบล ยามเช้าในเมืองเล็ก ๆ มักแสดงตัวตนของมิตรภาพและความเป็นญาติมิตร
ในตลาดดารดาษด้วยของกินและพืชผักนานา ใครสักคนหยิบข้าวต้มมัดโบราณให้เราลิ้มลอง ไส้หน่อไม้ ตังฉ่าย หมูสับ กระเทียมเจียว หอมหวานอยู่ในใบตองนวลมัน พืชผักท้องถิ่นอย่างผักขี้กาปะปนอยู่กับเมี่ยงหวาน รอยยิ้มโดดเด่นกว่าคำพูดทักทาย การมีอยู่ของทุเรียนหลงลับแลฉุดรั้งให้หลายคนเข้าไปเลือกซื้ออยู่นาน ต้นฤดูเช่นนี้ สำหรับดินแดนต้นกำเนิดของมัน ราคายังเป็นเรื่องจับต้องซื้อหากันได้
แดดสายสาดส่องห้องแถวไม้นอกตลาดที่ต้นถนนเขาน้ำตก อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศไม่ขาดคนสักการะ อดีตนายอำเภอผู้สร้างความรุ่งเรืองให้คนลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นศูนย์รวมทางใจเมื่อเวลาผ่านพ้นและส่งต่อความเป็นอยู่มารุ่นต่อรุ่น
"ทุเรียนหลงฯ กำลังออก หากินง่าย ลองดูหน่อยไหม" ป้าหน้าตลาดแบ่งทุเรียนขึ้นชื่อของเมืองลับแลมาให้ลองรสละมุน ออกมัน ไม่หวานโดด ผมรับมันมาลองทั้งไม่ได้คาดหวังอะไรกับเรื่องรสชาติ มิตรภาพง่าย ๆ กลางตลาดดูจะน่าใส่ใจมากกว่า หลังแท็กซี่โตโยเพ็ทสีน้ำตาลขรึมพาคุณยายสักคนมุ่งออกไปจากย่านตลาด เราเองกลับรู้สึกว่าพืชผลล้วนสะท้อนตัวตนและความหวังของคนที่นี่
เลาะตามถนนสายเขาน้ำตก ผ่านวัดวาอารามเก่าแก่ที่หลายคนว่าจะหาโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม อากาศรอบด้านสดชื่น แนวเขาครึ้มเขียวโอบล้อม เราเข้าสู่ตำบลแม่พูล ใครสักคนรอคอยอยู่ตรงนั้น กลางความชุลมุนอันชื่นมื่น
"ตอนนี้ใคร ๆ ก็อยู่แต่ในสวนละ" ปุณยนุช ทองชั้น หรือที่นาทีต่อ ๆ มาผมมักเรียกเธอว่า "พี่นิด" บอกว่าตอนนี้ตามหมู่บ้านนั้นเงียบเชียบ หากแต่เมื่อใครได้ขึ้นไปในสวนบนภูเขา เธอว่าราวกับที่นั่นไม่มีวันหลับใหล
"คนลับแลรุ่นหลัง ๆ นี่โตมาได้เพราะทุเรียนนะพี่ว่า ยังมีลางสาดและมังคุดอีก"
ผ่านคดโค้งตรงตลาดกลางผลไม้ของตำบลแม่พูล ทุเรียนหลงลับแลกำลังให้ผลผลิตดกดื่น ยังไม่รวมหมอนทองอีกนับพัน ที่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างทยอยนำมันลงมาจากป่าเขาตั้งแต่รุ่งสางจวบตะวันลับ ว่ากันว่าทุเรียนของคนลับแลที่แทรกผสมอยู่ในป่าเขานั้น คนที่นี่รู้จักผลไม้จากป่าเขตร้อนที่เดินทางไกลมาจากแดนมลายูตามตำนานของคนโบราณที่ว่า ทุเรียนรวมไปถึงลางสาดของลับแลผ่านการล่องเรือสวนขึ้นมาจากบางกอก ทวนสายแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านนครสวรรค์ เลาะลัดเข้าแม่น้ำน่าน ขึ้นมาถึงอุดรดิตถ์ และแยกย่อยเข้ามาถึงดินแดนกลางขุนเขาอย่างลับแลในสมัยหลวงพิบูล เจ้าเมืองลับแลเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว
และสวนทุเรียนกลางป่าเขาเติบโตมากในยุคของพระศรีพนมมาศ นายอำเภอคนแรกของเมืองลับแล ที่เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกไม้ ผลในพื้นที่ภูเขาอันสมบูรณ์ด้วยสภาพภูมิอากาศ ไม่นับแต่ทุเรียน หากแต่แดนดินม่อนดอยรายล้อมยังถูกหย่อนเมล็ดพันธุ์ของมังคุด มะไฟ หมาก แทรกแซมไปตามพื้นที่ว่างขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสวนผลไม้หนาแน่นในผืนภูเขา ตกทอดดูแลคนที่นี่มานับร้อยปี
"ปู่ย่าเขาเล่ากันมาว่าคนรุ่นก่อนเขาใช้คันสูนหรือหนังสติ๊กนั่นล่ะ ยิงเมล็ดผลไม้ขึ้นไปตามป่าเขาในช่วงฤดูเพาะปลูก" พี่นิดว่าเรื่องเล่าเช่นนี้มีอยู่จริง อย่างน้อยสวนผลไม้ที่ผ่านตาเราขณะนี้ก็ยืนยันความเก่าแก่นั้นได้
จากทุเรียนบ้านตกทอดเป็นพืชพรรณแห่งผืนแผ่นดิน การก่อเกิดขึ้นของหลงลับแลที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของคนที่นี่ มาจากความเข้าใจและทดลองของ นายลม กับ นางพลัน อุประ ชาวสวนทุเรียนตำบลแม่พูล ที่ได้ส่งทุเรียนบ้านของลับแลเข้าประกวดในปี พ.ศ. 2520 จนได้รางวัลยอดเยี่ยมจากกรมส่งเสริมการเกษตร จากต้นแรกที่ติดดอกออกผล ส่งรสชาติหอมมัน เนื้อละเอียด จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่หยั่งรากลงเป็นหลักในแทบทุกสวนกลางป่าเขา
ถนนมุ่งไปหาขุนเขา พี่นิดพาเราแยกซ้ายลัดเลาะไปตามทางแอสฟัลต์ที่ค่อย ๆ เล็กลงตามความห่างไกลและองศาสูงชัน ร่องรอยแลนด์สไลด์และน้ำท่วมหนักคราวปี พ.ศ. 2549 หลงเหลือเพียงเรื่องเล่า
"บ้านมหาราชนี่โคลนถล่มทั้งหมู่บ้าน ที่เห็นสร้างใหม่นี้โดนกันทั้งนั้น" เรือกสวนร่มรื่นจากตีนดอยไล่ไปตามไหล่เขา เราสวนความสูงและขบวนมอเตอร์ไซค์ประเภท "ดัดแปลง" ที่ติดตะแกรงเหล็กพ่วงท้าย พูนเพียบทุเรียนอยู่ด้านใน
"คนที่นี่รู้กันนะว่าถ้ารถขนทุเรียนต้องเป็นซูซูกิรุ่นอากีรา หน้ามันหนัก ไม่เชิด วิ่งขึ้นลงเขาตอนบรรทุกหนัก ๆ ได้ดี"
น่าทึ่งว่าพวกเขาใช้ถนนลำลองที่ตัดเวียนกลางความสูงชันได้ราวหลับตาขับ ทั้งผ่านเนินดิน ร่องลึก และองศาสูงชัน หนทางเริ่มกลายเป็นดินลูกรัง ซึ่งพร้อมจะลื่นชันและเป็นหล่มโคลนหากฝนกระหน่ำ บางคราวเราแอบรถคันเล็กลงริมหุบ ดูสายลวดสลิงที่โยงข้ามระหว่างภูเขา เข่งที่เต็มแน่นทุเรียนถูกชักรอกไปมา นำมาสู่การก่ายกองของทั้งหลงลับแลและหมอนทองที่ติดลูกส่งกลิ่นหอมไปทั้งราวป่า
"ทางมันยาก กว่าจะส่งข้ามเขาหลายลูก คนโบราณเขาคิดมาดี" ป้าคนหนึ่งว่าขึ้น เธอเอารถกระบะขึ้นมาขนทุเรียนที่ริมทาง ไม่นับมอเตอร์ไซค์ที่ฉวัดเฉวียนนำผลผลิตกลางหุบดอยมาก่ายกอง ลมเย็นโลมไล้หน้าตาพร้อมวิวกระจ่างเมื่อเราขึ้นมาถึง จุดชมวิวเขาห้วยเฮีย รอยต่อของสามจังหวัด คือ อุดรดิตถ์ แพร่ และสุโขทัย ผสานกลืนไปด้วยผืนสีเขียวของป่าและสวนผลไม้ มองเห็นแนวหมากผู้หมากเมียปลูกเป็นแนวยาวตรงกัน
"คนที่นี่เขาไม่ล้อมรั้วกั้นแบ่งสวน แต่จะปลูกไม้กั้นพอแบ่งแนวเขตบางเจ้าของปลูกไม้ดอกสีแดง อย่างชบา พู่ระหง เป็นหมายตา" พี่นิดว่าเรากำลังอยู่บนแนวสันปันน้ำ หากเดินลงไปนั่นคือเขตอำเภอศรีสัชนาลัยของสุโขทัย
ดอกผลของภูเขาส่งมอบออกมาทางรอยยิ้มและมิตรภาพน้ำใจ ไม่นับทุเรียนหลงลับแล ที่หากเป็นคนข้างล่างมันคือผลไม้หายาก มีน้อยราคาลิบลิ่ว หากแต่เมื่อใครสักคนทวนย้อนขึ้นมาสู่ต้นกำเนิดของพวกมัน ผู้คนของภูเขาผลไม้มักหยิบยื่นมันราวขนมเลี้ยงดูลูกหลานของเฒ่าชรา เราลิ้มลองความหวานมันของหลงลับแลหลังมื้อเที่ยงเหนือยอดเขา บ้านเรือนใต้ถุนสะอาดโล่ง กระจ่างตาเบื้องหน้าคือสวนผลไม้โบราณละทิวดอยสุดลูกหูลูกตา
ลงจากดอยเอาเกือบเย็น หลังไปเยือน น้ำตกแม่พูล ที่หลอมรวมสายน้ำป่าเขารอบลับแล ปรากฏเป็นธารน้ำฉ่ำชื่น ผสานกับการก่อเทปูนเพิ่มเชิงชั้น เด็ก ๆ และนักท่องเที่ยวผุดดำว่ายเล่น พ่อแม่นั่งมองด้วยดวงตาอ่อนละมุน เราขึ้นไปที่ ม่อนอารักษ์ สำนักสงฆ์เล็ก ๆ เงียบสงบร่มรื่น เบื้องล่างคือหมู่บ้านแถบบ้านฝายหลวงย้อมแดดเย็นของฤดูฝน ควันไฟครัวลอยนิ่งเป็นเส้นสาย ลับแลคล้ายเงียบสงบหลังมอเตอร์ไซค์คันท้าย ๆ ลงทุเรียนก่ายกองจนตะแกรงว่างเปล่า
หากโลกตรงหน้าคือภาพอุดมคติของภูเขาสักลูก ที่ชัดยิ่งอยู่ด้วยพืชพรรณ ผู้คน และการใช้ชีวิตอันเปี่ยมด้วยความหวัง คนของลับแลก็รู้จักโลกใบนี้มานับร้อยปี ถนนเล็ก ๆ ไม่กี่สายที่ขีดคั่นพื้นที่ราบเล็ก ๆ ราว 117 ตารางกิโลเมตร ของลับแลให้เป็นกลุ่มบ้านเรือนซุกซ่อนมิติทางความเป็นอยู่อันมีเอกลักษณ์ของคนที่นี่ไว้อย่างรื่นรมย์
จากหน้าองค์การบริการตำบลศรีพนมมาศ เราเลือกจักรยานสีเขียว-เหลือง อันสื่อถึงสีประจำอำเภอลับแล ออกแรงขาพาตัวเองออกไปเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา รายรอบคือรอยยิ้มและภาพผ่านทางอันแช่มช้า มีความหมาย บนถนนเขาน้ำตก เลาะเข้าไปแถบบ้านฝายหลวง ข้าวแคบคลี่แผ่นแป้งข้าวเจ้าบาง ๆ บนแนวแผงหญ้าคา จากรสเค็มโรยงาที่หากอยากลองต้องเข้าไปตามหมู่บ้าน สู่การเติบโตที่สองฟากถนน แผงขายข้าวแคบทั้งแบบรสเผ็ด ผสมสีสวย เรียงตั้งเป็นแนวให้คนนอกได้ทำความรู้จักอาหารที่ทั้งกินเล่นและกินจริงกับมื้อใหญ่ของพวกเขา
ลัดเลาะเข้าไปที่ วัดดอนสัก ใครสักคนเดินผ่านความสงบร่มรื่นไปที่วิหารเก่าแก่จากสมัยกรุงศรีอยุธยา บานประตูแกะสลักไม้งดงามละเอียดลออเชิงช่างโบราณแตกทอดเป็นลายกนกก้านขดไขว้ สลักลงร่องลึก ทั้งสองบานแตกต่างกันด้วยลวดลาย แต่เมื่อปิดสนิทแนบกลับลงตัวดูราวกับผืนเดียวกัน
กลับสู่ถนนสายหลัก เราแวะไป วัดเจดีย์คีรีวิหาร หรือชื่อเดิมคือ วัดป่าแก้ว องค์เจดีย์ทรงล้านนาที่นี่ถือเป็นเจดีย์องค์แรกของลับแล สืบไปถึงตำนานความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษของคนที่นี่ ที่เป็นชาวอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งรกราก และได้อัญเชิญเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารพระราชโอรสของพระเจ้าเรืองธิราชมาตั้งเมือง โดยสร้างคุ้มเจ้าหลวงขึ้นในบริเวณวัด รวมไปถึงสร้างองค์เจดีย์อันงดงามที่สะท้อนแดดสายอยู่เบื้องหน้า
ถนนสายสวยชวนเราขี่ไกลไถลเลยผ่านม่อนจำศีลและฝายหลวง ฝายแห่งแรกของเมืองไทย ไปถึงวัดท้องลับแล กลางแดดร้อนจัดจ้า เมื่อใครสักคนหับปิดบานประตูพระอุโบสถ ยามแสงลอดผ่านบานหน้าต่าง ภาพสะท้อนหัวกลับก็ฉายชัดขึ้นที่ผนัง ทั้งเงาขององค์เจดีย์แก้ว ไม่เพียงปรากฏการณ์การหักเหของแสงและเงา แต่ยามที่แม่เฒ่าหรือเด็ก ๆ สักคนยืนมองและยกมือไหว้พนมในความมืดมิด ภาพศรัทธากลับร้อยรัดให้สิ่งดีงามยังอยู่โดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจกฎเกณฑ์อะไร
เหมือนเส้นทางจะยาวไกล แต่ต้นฝนกลับทำให้การปั่นเวียนสัมผัสลับแลเป็นเรื่องเพลิดเพลิน จากบ้านฝายหลวงเราตีวนกลับสู่ถนนหลัก มาแยกเข้าถนนม่อนปรางค์ ลมทุ่งโชยพัดพลิ้วเป็นระยะ วัดม่อนปรางค์วางตัวอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ ที่ถนนตีโค้งแนบใกล้ "พระทองเหลือ" หรือพระพุทธรูปทองคำหล่อด้วยทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราช ประดิษฐานสงบอยู่ในพระอุโบสถ
ผ่านจุดแวะสักการะสถานีที่บรรจุอัฐิพระศรีพนมมาศ เจ้าถิ่นสักคนชวนแวะร้านก๋วยเตี๋ยวรักไอติม สั่งก๋วยเตี๋ยวหมูรสดั้งเดิมมารองท้อง พร้อมขนมหวานและไอศกรีมสารพันเครื่องเคียง ผู้คนลับแลปนเปยิ้มหัวไปกับคนแปลกถิ่นอย่างเรา เรียกรอยยิ้มและความห่วงใยในเมืองไกลบ้านอย่างรื่นรมย์ ข้ามลัดผ่านวัดบ้านป่ายาง ถนนเล็ก ๆ ฉีกเลียบพาเราไปเป็นส่วนหนึ่งของนาข้าวที่กำลังไถพรวน หลังการปลูกหอมอันเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างของคนที่ราบในลับแล ที่ปลูกกันปีละ 2 ครั้ง คือ "หอมแล้ง" ในเดือนมีนาคม-เมษายน และ “หอมฝน” ราวกันยายน-ตุลาคม นอกเหนือจากนั้นคือวันเวลาของข้าวเจ้าที่รอวันแตกรวง
เลาะคลองห้องน้อยไปตามคันนา นาทีเช่นนี้ยากจะปฏิเสธว่ามันงดงาม จุดแวะพักจักรยานน่านั่งทอดตามองโลกเกษตรกรรมของคนลับแล ป้ายบอกเส้นทางอันชัดเจนพาเราไปสู่สิ่งละอันพันละน้อยที่ประกอบขึ้นเป็น "บ้าน" ของพวกเขา
หลังเวียนกลับออกสู่ถนนอินใจมี ลอดซุ้มประตูเมืองที่มีประติมากรรมสะท้อนตำนานเมืองแม่ม่ายของลับแล เราแยกเข้าสู่ถนนราษฎร์อุทิศ อาหารของคนลับแลเรียงรายจนหลายคนเรียกถนนเล็ก ๆ สายนี้ว่าถนนกินได้ ข้าวพันผักร้านป้าตอ เนืองแน่นผู้คนทั้งท้องถิ่นและผู้ผ่านพาตัวเองมาทำความรู้จัก หน้าหม้อดินกรุ่นเตาไฟแรง ผ้าขาวบางรองรับเนื้อแป้งที่พร้อมจะห่อสารพัดผักไว้ข้างใน พลิกห่อเป็นก้อนเหลี่ยม หยิบยกมาให้ลิ้มลองภายใต้เรือนไม้โบราณ เมื่อมาถึงรุ่นลูกหลาน พวกเขาเชื้อเชิญให้ลูกค้าขีดเขียนถ้อยคำ รูปภาพ ลงเป็นที่ระลึกในทุกส่วนของบ้าน ติดปากคนที่นี่ว่าร้านอินดี้ ทว่ากับรสชาติที่ส่งผ่านราวรสชาติแบบ "ดั้งเดิม" ไม่เคยจางคลาย
เยื้องกันคือ หมี่พันป้าหว่าง ในบ้านไม้ร่มเย็นเรียงรายด้วยแป้งแผ่นข้าวแคบซ้อนตั้งและหมี่ผัดในถาด ที่ป้าว่าเคล็ดลับอยู่ที่การเลือกปรุงรสหมี่ให้กลมกล่อมและเข้ากันกับแป้งข้าวแคบที่ใช้ "ไม่ใช่ปรุงเท่ากันหมด ข้าวแคบแต่ละเจ้ารสต่างกัน เผ็ด เค็ม อ่อนแก่ เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน" ป้าหว่างพูดโผงผาง แต่เจือความเอ็นดูไว้ในเสียงหัวเราะร่วนดัง แม้กระทั่งโมงยามที่เราอิ่มหนำและปั่นจากมา
ข้ามตลาดไปสู่ถนนศรีพนมมาศ ผ่านวัดเสาหินทางซ้ายมือ เมื่อถึงบ้านหนอง ถนนสายเล็กเชื้อเชิญให้แยกขวา เมื่อผ่านพ้นและจอดตรงจุดพักจักรยาน เรือนไม้โบราณของพิพิธภัณฑ์ผ้าร้อยปีก็วางตัวอยู่อย่างอบอุ่น ชายร่างผอมบางเจือมาดคนทรงภูมิรู้ค่อย ๆ แง้มบานประตูสู่โลกอันเป็นสุขของเขา
"คนบ้านหนองและอีกหลายบ้านในลับแลมีเชื้อสายไทยยวน ผ้าคือสิ่งบ่งบอกที่ชัดรองจากภาษาพูด" อาจารย์สมชาย ปงศรีชัย พาเราเข้าสู่ห้องหับที่รายเรียงด้วยผ้าทอของคนไทยยวน มันประดับประดาง่าย ๆ แต่ที่ยากยิ่งและต้องการการทำความเข้าใจและจดจำ คือลวดลายอันวิจิตรของผ้าตีจก
"แต่เดิมหญิงไทยยวนในลับแลทอผ้าเป็นทุกคนละ ผ้าทอปะปนอยู่ในชีวิต ทั้งงานพิธี ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น ทั้งงานบุญหรือในชีวิตกระจำวัน" อาจารย์สมชายยกผ้าโบราณอายุร้อยกว่าปีให้สัมผัส พื้นผิวและเส้นไหมส่วนของตีนจกกระด้างตามกาลเวลา แต่คุณค่าเหมือนไม่ตกหล่นเลือนหาย
"ผืนนี้มีลายหลักคือเกดถะหวา ลายประกอบเป็นนกคุ้มและสร้อยดอกหมาก" เราเดินไปในเรื่องราวของผ้าทอ แสงบ่ายไล้ลอดตกกระทบ บางผืนอาจารย์ว่ามันสื่อถึงการต่ออายุ จึงมีการต่อผืนซิ่น ลวดลายต่าง ๆ ล้วนมีที่มาลายนกคุ้ม ลายนกกินน้ำร่วมต้น คือความเชื่อเรื่องความสมบูรณ์ ทุกอย่างล้วนสะท้อนสภาพแวดล้อมรายรอบจากอดีต ส่งต่อถึงคนปัจจุบันผ่านผ้าผืนสวย ทุกอย่างชัดเจนและสมบูรณ์เมื่อแวะนอกเส้นทางออกมาถึงบ้านน้ำใส เรานั่งดู ยายเพียร ศิริทิพย์ ใช้วันเวลาปั้นปลายอยู่หน้ากี่ทอผ้าที่สลักหัวเสาเป็นรูปนกคุ้ม ยายว่าผ้าทอไม่มีวันแยกจากหญิงชาวไทยยวน
"ฉันเชื่อของฉันอย่างนี้ละ อย่างน้อยก็สอนก็บอกลูกหลานไปทุกวัน มันต้องมีคนทำต่อบ้าง" หากลับแลคือเมืองอันตกสะท้อนและต่อยอดอยู่ด้วยผู้คนและสิ่งเก่าแก่ คำพูดง่าย ๆ ของยายเพียรบางทีมันก็อธิบายถึงรากเหง้าและการคงอยู่ของเมืองเล็ก ๆ อันแสนรุ่มรวยวัฒนธรรมได้อย่างตรงไปตรงมา
เส้นทางสายจักรยานกลางที่ราบของลับแลยังคงพาเราไปรู้จักตัวตนตามเหลี่ยมมุมของพวกเขา ผ่านบ้านหนองและผู้คนที่ดำรงชีพด้วยการดองผักอันเก่าแก่กว่า 40 ปี กลิ่นหอมผ่านการหมักเกลือและน้ำตาลแตะต้องจมูก ตุ่มเรียงรายหน้าบ้านพร้อมกับผักกาดเขียวจากอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพิ่งเดินทางมาถึง ใครสักคนเชื้อเชิญชิมความกรอบหวานอมเปรี้ยว รสชาติของมันเจืออยู่ด้วยแรงงานและทิศทางของการดำรงชีพ
ยามเย็นส่งมอบการสิ้นสุดเส้นทางจักรยานที่ด้านหลังองค์การบริหารตำบลศรีพนมมาศ หรือที่คนโบราณรู้กันว่ามันคือวัดป่ายางเดิม เรียกกันว่า "วัดป่ายางใน" ด้วยคูคลองกีดกั้น วัดป่ายางได้ย้ายออกไปด้านนอก ทว่าบ้านร้อยปีคุณมงคล เรือนไม้โบราณเลขที่ 405 กลับหยัดยืนและเล่าต่อความงามของเรือนไม้ฟื้นถิ่นลับแลอยู่อย่างสงบเงียบ
"มันตกทอดมาจากรุ่นปู่ผมที่เป็นนายสรรพากร" ทุกวันนี้ มงคล ราษฎร์สุดใจ ยังคงตื่นเช้าขึ้นมาในบ้านอันเก่าแก่นับร้อยปีของก๋ง หน้าบันใบตาลคลี่อันเป็นเอกลักษณ์ยังคงสมบูรณ์ภายใต้หลังคาสูงโปร่ง หลังเดินตามเขาขึ้นไปบนเรือน ราวโลกของคหบดีที่มากด้วยบริวารจะโลดแล่นอยู่บนนั้น ยุ้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวแบ่งแยกเป็นสัดส่วน ห้องนอนโถง นอกชาน ครัว กางกั้นด้วยเฟี้ยมบานพับสีสวย ที่เมื่อเปิดออกทุกส่วนก็กลับราวอาณาจักรเล็ก ๆ ที่หล่อหลอมครอบครัว
"ด้านหลังเป็นเรือนแม่บ้านครับ ไม่ค่อยได้เปิดมันแล้ว" มงคลว่าทุกวันการอยู่บ้านคนเดียวมันเป็นเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง เรายืนกันตรงชานข้างบ้าน มี "ฮ้านน้ำ" ตามแบบฉบับเรือนล้านนาวางอยู่เหงา ๆ ร่วมมองลงไปในนาทีปัจจุบันของบ้านใหญ่โตที่เคียงคู่เมืองลับแล
"บางทีผมก็เปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นโฮมสเตย์บ้าง ตามโอกาส จากการติดต่อของหน่วยงาน หรือบางทีก็ตามความเหงา" เขาพูดเบา ๆ อบอุ่น ไม่ได้แฝงแง่มุมโหยหาอะไรให้ใครต้องมานั่งอาวรณ์
หลายวันที่ลับแล ผมคล้ายพบเจอห้วงยามแห่งความอบอุ่นที่ไหลเวียนอยู่อย่างไม่ต้องตีโพยตีพายเรียกร้อง ในตลาดเช้าผู้คนซื้อขายกันเงียบ ๆ สะอาดสะอ้าน ปะปนด้วยพืชพรรณและน้ำใจผ่านการยิ้มทัก ไร้พิธีรีตอง บางนาทีที่ลัดเลาะขึ้นไปในสวนผลไม้โบราณเหนือภูเขาชรา โมงยามแห่งการปลิดเก็บขนถ่ายผลผลิต คล้ายงานรื่นเริงกลางหุบเขา มีตัวตน ความหวัง และสืบทอดการดำรงชีวิตอันแสนมีเอกลักษณ์ ในบ้านโบราณที่เรียงรายด้วยผ้าทอผืนสวย หรือแม้กระทั่งความเงียบของใครสักคนที่นั่งรำลึกถึงอดีตอันเรืองโรจน์ของคนรุ่นปู่ย่า เต็มไปด้วยเรื่องราวอันหวานหอมที่ผ่านพ้น ทั้งหมดผสานรวมอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล กลางขุนเขาที่ห่อหุ้มพวกเขาไว้ และส่งผลให้ทิศทางชีวิตกลางคืนวันนั้นหอมหวาน เท่าที่ความเป็นจริงจะยินยอม
ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ สำหรับการประสานงานเบื้องต้น
องค์การบริการส่วนตำบลแม่พูล และองค์การบริหารส่วนตำบลศรีพนมมาศ สำหรับการต้อนรับและการอำนวยความสะดวก
คุณปุณยนุช ทองชั้น สำหรับมิตรภาพ น้ำใจ และความเอื้อเฟื้อ ตลอดการทำงาน
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงประตูน้ำพระอินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ผ่านวังน้อย พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ผ่านพิจิตร พิษณุโลก ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 11 ถึงอุดรดิตถ์ จากอำเภอเมืองอุดรดิตถ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1041 สู่อำเภอลับแล ระยะทางประมาณ 510 กิโลเมตร
กินอร่อย
ที่ตลาดศรีพนมมาศ มีกาแฟสด อิ่วจาโก้ยร้อน ๆ รวมถึงอาหารพื้นบ้านรสชาติดีจำหน่ายในราคาไม่แพง เดินเล่นกินเพลิน ๆ เป็นมื้อเช้า
ที่ถนนราษฎร์อุทิศ (ย่านถนนคนกิน) มีร้านอาหารพื้นบ้านของคนลับแลให้ลิ้มลองในตอนกลางวัน ทั้งข้าวพันผักร้านป้าตอ (อินดี้) หรือหมี่พันเจ้าอร่อยที่ร้านป้าหว่าง แถบต้นถนนเขาน้ำตกมีเพิงขายข้าวแคบรสชาติเป็นเอกลักษณ์ให้เลือกซื้อชิม
นอนสบาย
ณ ลับแล รีสอร์ท ที่พักเล็ก ๆ น่ารัก นอนสบาย บนถนนอินโจมี ไม่ไกลจากตลาดศรีพนมมาศ โทรศัพท์ 0 5543 1177 และ 08 2661 0881
นอนกับชาวบ้านที่กลุ่มโฮมสเตย์บนเขา ติดต่อคุณพีระพล เหมืองหม้อ โทรศัพท์ 08 1533 5278
เลือกซื้อของฝาก
สนใจสินค้าน่ารักฝีมือคนลับแลหลากหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งกระเป๋า พวงกุญแจเสื้อยืด ถุงย่าม และของพื้นเมือง ติดต่อคุณปุณยนุช ทองชั้น โทรศัพท์ 08 7532 2432, 08 3412 3591 และ เฟซบุ๊ก ตะวันฉาย ของฝากเมืองลับแล
ฤดูกาลผลไม้ลับแล
เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปลูกหอม
เดือนมิถุนายน ทุเรียนหลง-หลินลับแล และทุเรียนหมอนทอง
เดือนมิถุนายน-สิงหาคม มังคุด
เดือนสิงหาคม-ตุลาคม ลางสาด ลองกอง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 1127 และ 0 5452 1118
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2556