พาหนีเที่ยวที่ "ลำปาง" จังหวัดในภาคเหนือที่เป็นแหล่งอารยธรรมล้านนาที่น่าสนใจ ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี วัดวาอาราม ที่สะท้อนถึงสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีรถม้าที่ไม่เหมือนใคร อาหารการกินอร่อย ผู้คนอัธยาศัยดีเป็นกันเอง เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ลำปางไม่ใช่เป็นแค่เมืองผ่านอีกต่อไป เหมือนกับที่ คุณ ajizen69 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้ไปรับรู้ถึงบรรยากาศเหล่านั้นด้วยตัวเองมาแล้ว และเก็บภาพความประทับใจมาให้ชมกัน จะจริงมากน้อยแค่ไหน เพื่อน ๆ ต้องลองไปพิสูจน์กันเองแล้วค่ะ
เริ่มต้นด้วย "วัดศรีชุม" ได้กล่าวว่าเป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
วัดศรีชุม เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด สร้างใน พ.ศ. 2433 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญโดยสร้างวัดศรีชุมขึ้นในตำบลสวนดอก จุดเด่นของวัดนี้เดิมอยู่ที่พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้มีศิลปะการตกแต่งแบบล้านนาและพม่า หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหารทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 คงเหลือเพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น เป็นลวดลายพรรณพฤกษาฉลุโปร่ง ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่และยังมีชิ้นส่วนเครื่องประดับอาคารที่ถูกไฟไหม้ไปจัดแสดงไว้ด้านหลังวิหาร วัดศรีชุมได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2524
ที่มาข้อมูล : thai.tourismthailand.org
สถานีรถไฟนครลำปาง
"สะพานดำ" เป็นสะพานเหล็กที่อยู่ระหว่างสถานีรถไฟนครลำปาง มุ่งหน้าสู่สถานีรถไฟบ่อแฮ้ว จะอยู่บริเวณของถนนตลาดรัตน์ ตัดกับถนนนาก่วม ข้ามไปจนถึงศรีบุญเรือง ซึ่งบริเวณจุดเริ่มต้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนครลำปางนัก เลยเดินจากสถานีรถไฟไปที่สะพานดำ ถามทางชาวบ้านแถวนั้นได้ความว่า "น้องต้องขึ้นตรงป่าปู้นหน้า" เอ้า ป่าก็ป่าวะ เดินไปเรื่อย ๆ จนเจอสะพานดำ คล้าย ๆ กับสะพานข้ามแม่น้ำแควเลยค่ะ
"วัดศรีรองเมือง"
วัดศรีรองเมือง เป็นวัดพม่าอีกวัดหนึ่งในจังหวัดลำปางที่มีความงดงามมาก ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคราวน้อย ตำบลสบตุ๋ย ในเขตอำเภอเมืองลำปาง ตามประวัติความเป็นมาของวัดศรีรองเมืองนั้น กล่าวกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 โดยคหบดีชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปาง ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 7 ปี ภายในวัดนี้มีทั้งวิหารใหญ่และวิหารน้อย สำหรับวิหารน้อยนั้นมีอยู่ถึง 9 หลัง แต่ปัจจุบันวิหารน้อยเหล่านั้นปรักหักพังไปจนหมดสิ้น จึงเหลืออยู่เพียงวิหารใหญ่ ซึ่งเป็นวิหารประธานของวัดเพียงหลังเดียว สำหรับวิหารศรีรองเมืองนี้เป็นอาคาร 2 ชั้น มีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ส่วนที่เป็นชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนบนทำด้วยไม้พระพุทธรูปประธานประดิษฐานอยู่ที่เรือนยอด ซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของอาคาร
ที่มาข้อมูล : www.lampang.go.th
วัดเชียงราย
ที่พักของทริปนี้คือ "อาลัมภางค์" จ้า รู้สึกประทับใจนะคะ เจ้าของน่ารักมาก อาหารอร่อยด้วยค่ะ บรรยากาศดีเว่อร์
ถนนคนเดินกาดกองต้า เดิมเป็นย่านชุมชนทางเศรษฐกิจที่มีอายุกว่า 100 ปี เริ่มจากชัยภูมิที่เป็นที่ริมแม่น้ำวัง และต่อมาได้พัฒนาไปเป็นศูนย์กลางการค้าขายและส่งผ่านสินค้าสำคัญของเมืองลำปาง รูปแบบของสถาปัตยกรรมมีความหลากหลายทั้งศิลปะตะวันตก พม่า-ไทใหญ่ และจีน หลัง พ.ศ. 2459 ศูนย์กลางการค้าแห่งนี้ถูกลดบทบาทลงเนื่องจากการตัดผ่านเส้นทางรถไฟสายเหนือที่มาถึงลำปาง ผู้คนในจังหวัดจึงขยายถิ่นฐานไปตั้งอยู่รอบ ๆ สถานีรถไฟ จนเกิดกลายเป็นชุมชนใหม่ที่เรียกว่า "ชุมชนเก๊าจาว"
ในปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้กลับมาเป็นย่านการค้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง และคงไว้ซึ่งรูปแบบที่งดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม กาดกองต้าจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้าทำมือ อาหารพื้นบ้าน สินค้าที่ระลึก ลานกิจกรรม เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น.
ที่มาข้อมูล : thai.tourismthailand.org
ปิดท้ายลาไปด้วยภาพนี้นะคะ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำปาง ขอบคุณทุก ๆ ท่านที่เข้าชมภาพ และยินดีสำหรับคำติ-ชมของทุก ๆ ท่านนะคะ ^_^
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ ajizen69 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม