+++++++++++++++++++
ก่อนอื่นต้องขอกล่าวคำว่า "สวัสดีและขอบคุณสำหรับกำลังใจที่ล้นหลามจากเพื่อนสมาชิกทุกท่าน" หลังจากที่ผมไปเที่ยวมาหลายที่ แต่ไม่เคยคิดทำรีวิวแบบจริง ๆ จัง ๆ กับเขาสักที จนวันหนึ่งได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น แล้วเห็นว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปกันเยอะ เลยทำรีวิวออกมาเพื่อส่งต่อข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ภายใต้กระทู้รีวิวชื่อ "ใคร ๆ ก็ไปญี่ปุ่นได้ด้วยตัวเอง (คู่มือและรีวิวการไปเที่ยวญี่ปุ่นฉบับสมบูรณ์)" ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี หลายคนได้ใช้ประโยชน์จากมัน ซึ่งจุดนี้มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ให้ผมได้ทำกระทู้อื่น ๆ ในเวลาต่อ ๆ มา ไม่ว่าจะเป็น "ใคร ๆ ก็ไปเที่ยวรัสเซียและตุรกีได้ด้วยตัวเอง (คู่มือและรีวิวการท่องเที่ยวรัสเซียและตุรกีฉบับสมบูรณ์) ตอนรัสเซีย" และ "ตุรกี ดินแดนมหัศจรรย์ (คู่มือและรีวิวการท่องเที่ยวรัสเซียและตุรกีฉบับสมบูรณ์) ตอนตุรกี"
รวมถึงกระทู้นี้ด้วย...ทุกเสียงที่ชื่นชม ทุกกำลังใจที่ให้ มันเหมือนเป็นมาตรฐานที่ค้ำคอและเตือนผมอยู่เสมอว่า "ถ้าคิดจะทำรีวิวต้องทำให้ดีเท่าหรือมากกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งถ้าขี้เกียจแล้วมาทำส่ง ๆ ก็อยู่เฉย ๆ ดีกว่า อย่ามาทำให้คนอื่นเสียเวลาอ่านเลย"
หากถามว่าเหนื่อยไหม ? บอกเลยครับเหนื่อย....แต่ที่ยังทำอยู่ เพราะยังมีแรง ยังทำได้ และสำคัญอยากสร้างบรรทัดฐานการทำรีวิวใน Pantip ให้ไปในทางเดียวกัน คือ ทำ....ทำไปเพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ให้เราได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ต้องถามกับตัวเองว่าทำแล้วได้อะไร มีสปอนเซอร์ไหม เขาจะจดจำใบหน้าของเราได้ไหม คนจะมาตามเราเพิ่มมากขึ้นไหม เราจะมีงานมากขึ้นหรือเปล่า หรือเราต้องมีสโลแกนให้คนจดจำ ต้องมีขบวนการนักรีวิวสินค้าที่คอยป้อนลูกค้าให้กัน ต้องโปรโมทเว็บไซต์ตัวเอง ไม่ต้อง...สำหรับผมต้องการสิ่งเดียว คือ ให้คนเข้ามาอ่านแล้วได้ใช้ประโยชน์จากมันมากที่สุดเป็นพอ อ่านแล้วมีความสุขเป็นใช้ได้ คุณไม่ต้องมาจดจำชื่อผมให้รกสมอง คุณไม่ต้องมาตามเว็บไซต์หรือเพจผมให้เหนื่อย คุณไม่ต้องมารับรู้ว่าผมเป็นใคร หรือมีอาชีพอะไร ทำงานอะไร ขอแค่คุณอ่าน.....แล้วเอาข้อมูลที่ผมให้ไป...ไปใช้ ไปแชร์ต่อ ไปบอกต่อ ไปเล่าต่อ และกลับมาทำรีวิวต่อในวันที่คุณไปไหนต่อไหนมา เพื่อส่งต่อข้อมูลให้คนอื่น แค่นี้ผมก็ดีใจมากแล้ว
กระทู้นี้ของผมมันจึงเหมือนเป็นการ "ส่งต่อความสุขของการท่องเที่ยว ด้วยการไปท่องเที่ยวแล้วกลับมาทำรีวิว เพื่อให้คนอื่นได้ไปต่อ เสมือนการส่งความสุขไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีจุดสิ้นสุด" ดังนั้นใครอ่านแล้วชอบ ใครอ่านแล้วเห็นว่าเกิดประโยชน์ คราวหน้าคราวหลังไปเที่ยวไหนมา ก็กลับมาทำรีวิวให้คนอื่นได้อ่าน ได้ใช้ประโยชน์กันต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ
**** ฝากบอกนิดหนึ่งว่า
- อยากให้คนเข้ามาอ่านเยอะ ๆ อ่านและได้ใช้ประโยชน์จากมันมาก ๆ อ่านแล้วสนุกกับมันได้ความรู้จากมัน เปรียบให้มันเป็นเหมือนเพื่อนร่วมเดินทางอันน้อย ๆ ซึ่งผมขอสัญญาว่า ตราบใดที่ทุกคนยังมีความสุขที่จะอ่าน ผมก็พร้อมและมีความสุขที่จะทำมันออกมาให้ทุกคนได้อ่านแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
- รีวิวนี้ไม่ใช่ข้อมูลการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศที่กล่าวมา แต่มันเป็นเพียงบางส่วน บางเมืองของประเทศดังกล่าวเท่านั้น
- รีวิวนี้ผมจะใช้สมมติฐานว่าทุกคนที่เข้ามาอ่านไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน ดังนั้นผมจะใช้วิธีอธิบายแบบละเอียด เพื่อเป็นประโยชน์ของเพื่อนสมาชิกที่สนใจได้อ่านและเข้าใจง่ายที่สุด หากท่านใดทราบข้อมูลส่วนไหนอยู่แล้ว อย่าเพิ่งรำคาญหรือคิดว่าไร้สาระ เพราะคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนรู้มาก บางคนรู้น้อย บางคนไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นคนที่รู้อยู่แล้วก็ถือว่าให้คนที่ยังไม่รู้ ได้รู้แล้วกันนะครับ
- จริง ๆ แล้วผมอยากนำเนื้อหาทั้งหมดเอามาลงในกระทู้เดียว เพราะถ้าทำหลายกระทู้เกรงว่ามันจะกลายเป็นกระทู้ขยะหรือกระทู้ไม่น่าสนใจ แต่ซึ่งด้วยความยาวของเนื้อหา มันเยอะมาก ๆ เยอะเกินกว่า ที่จะนำมาลงได้ในกระทู้เดียวได้หมด ดังนั้นเพื่อความสะดวกต่อคนทำและคนอ่าน ผมจึงขอแยกเนื้อหาเป็น สองกระทู้ สองภาค สองตอน นะครับ (เช็กกับฮังการีและออสเตรียกับเยอรมนี)
- ผมไม่ใช่กูรู ไม่ใช่คนเก่ง ดังนั้นถ้ามีข้อมูลส่วนใดที่ผมให้ผิดไปขออภัยไว้ด้วย หรือใครจะแก้ไขและให้ส่วนไหนเพิ่มเติมก็ยินดีครับ ผมรับฟังทุกคนและอยากให้ผู้อ่านทุกคนได้ความรู้จากกระทู้นี้มาก ๆ ที่สุด
- ผมบอกทุกครั้งและจะบอกเสมอว่าบางครั้งการไปเที่ยวให้สนุกไม่ใช่ดูโดยที่ไม่รู้อะไรเลย ประวัติศาสตร์และความเป็นมามันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวสนุกขึ้น ซึ่งผมเองแม้ไม่ได้จบประวัติศาสตร์มาโดยตรง แต่คณะที่ผมเรียนมามันก็พอมีเกี่ยวข้องและต้องเรียนพวกประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย ดังนั้นบางครั้งบางทีผมพล่ามมากไปหน่อยก็อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ เพราะที่พล่ามไปอยากให้ทุกคนได้ความรู้และได้จำติดตัว เมื่อถึงเวลาไปเที่ยวจริง ๆ จะได้สนุกกับมัน
- และสุดท้ายขอขอบคุณ คุณ PKL สำหรับข้อมูลรถไฟออสเตรีย ลุง500 สำหรับแรงบันดาลใจที่หาจากที่ไหนไม่ได้ เพื่อนที่เยอรมนีสำหรับมิตรภาพที่ไม่เคยเปลี่ยนแม้เวลาจะผ่านมานานแค่ไหน เพื่อนร่วมทริปที่ร่วมเดินทางกัน และเพื่อน ๆ ทุกคนใน Pantip ที่เป็นมิตรคอยแชร์และแบ่งปันข้อมูลดี ๆ ให้กันเสมอ
ถ้าพร้อมแล้วก็มาฟังผมเล่ากันเลย ค่อย ๆ อ่านค่อย ๆ ร่วมเดินทางกันไปแบบช้า ๆ เรื่อย ๆ ตั้งแต่วันที่ออกเดินทางจากสุวรรณภูมิ จนถึงวันที่กลับมาเหยียบแผ่นดินไทย
Budapest
"ดานูบ" นั้นไหลมา จากผืนป่า อันแสนไกล
ผ่านแดน ศิวิไลซ์ ทั้งพงไพร ธารารินเป็นเหมือน สายเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงใน ธรณิณ
ภูมิน แห่งกระสินธ์ นครินทร์ มัสยา
กำเนิด ที่ป่าดำ ผ่านผืนถ้ำ และภูผา
เปรียบดั่ง ดวงชีวา มิต, อาชา, ปักษา, มีน
........... มหานี แห่งทศภพ
Ramsau
หิมะ โปรยปราย ดั่งสาย น้ำตา
พร่างพรม พลิ้วมา เหมือนว่า ขาดใจ
หยุดก่อน เถิดหนา ก้าวขา ไม่ไหว
เรี่ยวแรง หัวใจ หมดไป ไม่มี
พร่างพรม พลิ้วมา เหมือนว่า ขาดใจ
หยุดก่อน เถิดหนา ก้าวขา ไม่ไหว
เรี่ยวแรง หัวใจ หมดไป ไม่มี
Prague
จงจำ ไว้เสมอ แค่มีเธอ อยู่ข้างฉัน
แค่เรา อยู่ข้างกัน ทุก ๆ วัน ก็สุขใจ
แค่เรา อยู่ข้างกัน ทุก ๆ วัน ก็สุขใจ
Prague
"เข็มนาฬิกา" เมืองปราก ไม่ได้เดินช้ากว่าที่อื่น
แต่ "กาลเวลา" ของปรากต่างหาก ที่เดินช้ากว่า เข็มนาฬิกา
Prague
สิ่งที่เอาทองไปแลกไม่ได้ คือ ความสุข
สิ่งที่เอาเงินไปซื้อไม่ได้ คือ เวลา
สิ่งที่มหาลัยไม่เคยสอน คือ ประสบการณ์
สิ่งที่บ้านไม่เคยมี คือ ความท้าทาย
สิ่งที่เราเรียนรู้จากโรงเรียน คือ โลกนี้มันกว้างใหญ่
สิ่งที่เราเรียนรู้จากความเป็นจริง คือ โลกนี้มันไม่ได้กว้างใหญ่เกินกว่าที่ตัวเราจะไปถึง......
สิ่งที่เอาเงินไปซื้อไม่ได้ คือ เวลา
สิ่งที่มหาลัยไม่เคยสอน คือ ประสบการณ์
สิ่งที่บ้านไม่เคยมี คือ ความท้าทาย
สิ่งที่เราเรียนรู้จากโรงเรียน คือ โลกนี้มันกว้างใหญ่
สิ่งที่เราเรียนรู้จากความเป็นจริง คือ โลกนี้มันไม่ได้กว้างใหญ่เกินกว่าที่ตัวเราจะไปถึง......
Hallstatt
ปลายทาง แห่งความเหงา ยังว่างเปล่า และสับสน
ไม่เห็น ใครสักคน ที่อยู่บน หนทางไกล
ไม่เห็น ใครสักคน ที่อยู่บน หนทางไกล
Prague
ตอนนี้ อยากกลับไป เพื่อบอกใคร สักคนหนึ่ง
บอกว่า "ฉันคิดถึง" คน ๆ หนึ่ง สุดหัวใจ
...............บางทีอยู่ไกล ๆ ก็คิดถึงใครบางคน
บอกว่า "ฉันคิดถึง" คน ๆ หนึ่ง สุดหัวใจ
...............บางทีอยู่ไกล ๆ ก็คิดถึงใครบางคน
Prague
สะพานชาร์ล อาจไม่ใช่สะพานที่ "สวย" ที่สุดในมุมของคนทั้งหมาย
แต่...... สะพานชาร์ล คือสะพานที่ "โรแมนติก" ที่สุดในใจของใครหลายคน
แต่...... สะพานชาร์ล คือสะพานที่ "โรแมนติก" ที่สุดในใจของใครหลายคน
เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านผมขอแยกเป็นหัวข้อดังนี้ครับ
** ก่อนไปเช็กและฮังการี มารู้จักสองประเทศนี้กันหน่อย **
** เตรียมตัวก่อนออกเดินทาง **
1. หนังสือเดินทาง (Passport)
2. ทำโปรแกรม
3. การตรวจลงตรา (Visa)
4. หาและจองตั๋วเครื่องบิน
5. หาและจองที่พัก
6. จองและหาวิธีการเดินทาง
7. เตรียมอุปกรณ์การเดินทางและเครื่องใช้ส่วนตัว
7.1 กระเป๋า
7.2 เครื่องแต่งกายและภูมิอากาศ
7.3 โทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสาร
7.4 คาดคะเนค่าใช้จ่าย
7.5 แลกเงิน
** คำถามที่หลายคนอาจสงสัยเกี่ยวกับทริปนี้ **
** โปรแกรมการเดินทาง **
วันที่ 1 กรุงเทพฯ >> ปราก
วันที่ 2 ปราก
วันที่ 3 เชสกีกรุมลอฟ
วันที่ 4 ปราก >> บูดาเปสต์
วันที่ 5 บูดาเปสต์
วันที่ 6 บูดาเปสต์ >> เวียนนา
วันที่ 7 เวียนนา >> ฮัลล์สตัทท์
วันที่ 8 ฮัลล์สตัทท์ >> ซาลซ์บูร์ก
วันที่ 9 แรมเซา + เบิร์กเทสกาเดน + โคนิกส์เซ่
วันที่ 10 ซาลซ์บูร์ก
วันที่ 11 ซาลซ์บูร์ก >> มิวนิก
วันที่ 12 ฟุสเซ่น + ชวานเกา
วันที่ 13 ฟุสเซ่น >> โรเธนเบิร์ก ออบ เดียร์ เทาเบอร์
วันที่ 14 โรเธนเบิร์ก ออบ เดียร์ เทาเบอร์ >> เวือร์ซบูร์ก
วันที่ 15 เวือร์ซบูร์ก >> เนือร์นแบร์ก >> ปราก
วันที่ 16 ปราก >> กรุงเทพฯ
ก่อนไปเช็กและฮังการี มารู้จักสองประเทศนี้กันหน่อย
มาเริ่มต้นด้วยประเทศแรกที่เราจะไปก่อนเลยครับ "Czech Republic" สาธารณรัฐเช็ก หรือที่คนไทยเราเรียกสั้น ๆ ว่า "เช็ก" ประเทศเช็ก เป็นประเทศหนึ่งในอีกหลาย ๆ ประเทศของยุโรปตะวันออกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยพรมแดนทั้งสี่ทิศติดกับประเทศโปแลนด์ทางด้านเหนือ เยอรมนีทางด้านตะวันตก ออสเตรียทางด้านใต้ และสโลวาเกียทางตะวันออก แม้ประเทศนี้มีสถานะเป็นประเทศเกิดใหม่สด ๆ ร้อน ๆ เพราะ ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ที่เรารู้จักกันแบบเป็นทางการเพิ่งก่อตัวและเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายใต้การปฏิวัติเวลเวต (Velvet Revolution) ในปี พ.ศ. 2536 .....ใช่ครับ คุณดูไม่ผิด พ.ศ. 2536 >> หรือพูดง่าย ๆ ประเทศ สาธารณรัฐเช็ก เกิดหลังเกิดกรุงรัตนโกสินทร์ของเรากว่า 200 ปี และมีสถานะความเป็นรัฐที่เรียกว่าสาธารณรัฐเช็กอย่างทุกวันนี้ ให้หลังประเทศน้องใหม่อย่างประเทศอเมริกาจะถูกก่อตั้งกว่า 200 ปี เช่นกัน
หลายคนอาจสงสัยว่า ไหนหลายคนที่ไปประเทศนี้มาแล้วบอกว่าประเทศเช็กเป็นเมืองเก่า เมืองปรากเป็นเมืองที่คงความโบราณมีกลิ่นอายของยุโรปยุคกลางได้แบบลงตัวไร้ที่ติ ? สรุปมันเก่าหรือมันใหม่กันแน่...งง ?
อย่าเพิ่งงงครับ หลายคนอาจจะรู้ประวัติและคำตอบดีอยู่แล้ว แต่ถ้าใครยังไม่รู้ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง ตามที่พูดไปแล้วว่า แม้ประเทศสาธารณรัฐเช็กเป็นประเทศเกิดใหม่ เมื่อประมาณ 20 ปี นี้ แต่.....หากจะว่าและนับกันจริง ๆ แล้วนั้นเรื่องราวของประเทศนี้ต้องนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปเป็นพันปีเลยทีเดียว ณ จุด ๆ นี้ที่เรียกว่าประเทศเช็กในปัจจุบัน มีกลุ่มคนกลุ่มแรกที่เรียกว่า ชาวสลาโวนิกหรือพวกสลาฟจอมบุกเบิก ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ซึ่งเรียกว่า "โบฮีเมีย"
ชาวสลาฟอยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ปกครองตนเองมีผู้นำของตนเอง จนถึงศตวรรษที่ 13 เผ่าเยอรมนีก็เข้ามายึดดินแดนในปัจจุบันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมของจักรวรรดิ (ดังนั้นศิลปะในปรากที่เราเห็น ๆ กันส่วนมากจะมีอยู่ 2 แบบ คือ 1. ศิลปะลูกผสมเยอรมัน-สลาโวนิก และ 2. ศิลปะแบบโรมาเนสก์ หรือศิลปะนอร์มัน คาบเกี่ยวกอธิค)
*** หากใครงงหรือยังแยกไม่ออกว่าอะไรคือศิลปะแบบโรมาเนสก์ กอธิค เรอเนซองส์ บาโรก ลองเข้าไปอ่านดูกระทู้นี้ครับ http://pantip.com/topic/31281285 "รู้จักศิลปะแต่ละยุคก่อนไปเที่ยวสักนิด จะทำให้การท่องเที่ยวมีสีสันขึ้นเยอะ" เป็นกระทู้ที่ผมทำขึ้นไว้นานแล้ว ลองเข้าไปอ่านดูครับ โดยเฉพาะคนที่ชอบไปเที่ยวแถวยุโรป ถือว่าเป็นกระทู้ที่มีประโยชน์มาก ๆ มันจะทำให้เราเข้าใจถึงงานและสถานที่ที่เราชมได้ดีกว่าเดิมขึ้นมาก เหมือนผมจะพูดเสมอกับคนใกล้ตัวว่า "สถานที่ที่เราว่าสวย มันจะสวยกว่าหลายเท่าถ้าเรารู้ความเป็นมา สถานที่ที่เราว่าธรรมดา มันจะน่าสนใจถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์ สถานที่ที่เหลือแค่ซากอิฐซากปูน มันจะไม่มีคุณค่าอะไรเลย ถ้าเราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้ว่ามันมีอะไร"
** และผมขอฝากเกร็ดความรู้ไว้นิดหนึ่งว่า ถ้าเราอยากรู้ว่านี้มันคือศิลปะแบบใด
1. ให้ดูสไตล์ของงานศิลปะหรือสถาปัตยกรรมนั้น เช่น ดูแหลม ๆ สูง ๆ ให้เดาไว้ก่อนว่ากอธิค ถ้าดูเว่อร์ ๆ เยอะ ๆ ให้เดาไว้ก่อนว่าบาโรกหรือโรโคโค
2. แต่สไตล์ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดแนวศิลปะได้เสมอไป เพราะจะให้แน่นอนมันต้องดูประวัติศิลปะและความเป็นมาของสถานที่นั้น เมืองนั้นด้วย เช่น สถานที่ ก. สร้างแบบเว่อร์ ๆ ให้เดาไปก่อนว่าบาโรก >> และให้ดูต่อว่าสร้างที่ไหนปีอะไร เช่น งาน ก. สร้างเมื่อ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ดังนั้นจึงสรุปได้เลยว่างานนี้คือศิลปะแบบบาโรก
มาต่อกันครับ หากใครไม่สนใจก็ข้ามมันไปก็ได้นะครับ 555 (ไม่ใช่เรื่องสำคัญของชีวิต เอาไว้พอประดับความรู้และสร้างอรรถรสในการท่องเที่ยว)
สุดท้ายผืนดินโบฮีเมียของชาวสลาฟ ก็ได้ตกกลายเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของชาวเยอรมัน ภายใต้ชื่อ "จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์" หรือที่บางคนเรียกว่า จักรวรรดิโรมัน-เยอรมัน *** คนที่จะไปเที่ยวทริปสี่ประเทศนี้ จำชื่อนี้ไว้ให้ดีนะครับ คุณจะเจอมันทุกที่จนเกือบทั้งทริป เพราะประเทศที่เราจะไปแผ่นดินที่เราจะเหยียบ เกือบทุกที่เคยตกเป็นดินแดนภายใต้จักรวรรดินี้แทบทั้งสิ้น และสำคัญอย่าจำสับสนระหว่าง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ กับจักรวรรดิโรมัน (โรม) เพราะสองจักรวรรดินี้ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย และสำคัญทั้งสองจักรวรรดินี้อยู่ต่างยุคต่างสมัยกันด้วย
^^ ดูรูปแผนที่ครับ นี้คือดินแดนภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน (โรม) จะเห็นว่ากินพื้นที่ของประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส สเปน แอฟริกาเหนือ และดินแดนบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนเกือบทั้งหมด แต่ไม่รวมถึงทางตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเยอรมนี
^^ ส่วนอันนี้ คือ ดินแดนภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จะเห็นได้ว่ากินพื้นที่ประเทศเยอรมนีเกือบทั้งประเทศ รวมไปถึงฮอลแลนด์ เบลเยียม และเช็กของเราด้วย แต่ไม่รวมถึงดินแดนพวกยุโรปใต้อย่างสเปน
*** ที่ต้องให้ทำความเข้าใจเพราะหลายคนยังเข้าใจผิดว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์คืออันเดียวกับ จักรวรรดิโรมัน (โรม)
แล้วสงสัยไหมครับว่าชื่อมีตั้งมากมายทำไมต้องตั้งชื่อให้เหมือนกัน ?
## มันมีที่มาครับ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) หรือชื่อเป็นทางการแบบยาว ๆ คือ "จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเยอรมนี” ปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิหรือจักรพรรดิพระองค์แรก ได้แก่ จักรพรรดิออตโตที่ 1 และองค์สุดท้าย ได้แก่ จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2
รูปนี้คือ จักรพรรดิออตโตที่ 1
รูปนี้คือ จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2
อายุจักรวรรดิไม่สั้นไม่ยาว ประมาณเกือบ 500 ปี ครอบคลุมดินแดนไปกว่าครึ่งยุโรป เปลี่ยนศูนย์กลางของอาณาจักรไปหลายเมือง (ซึ่งครั้งหนึ่งหวยเคยตกอยู่ที่เมืองปรากด้วย เดี๋ยวผมค่อยไปเล่าตอนพูดถึงประวัติเมืองปรากแล้วกันนะครับ) เปลี่ยนราชวงศ์ไปนิดหน่อย และสุดท้ายก็สิ้นสลายหายไปตามกาลเวลา
ซึ่งเหตุผลที่จักรวรรดินี้มีชื่อว่าจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะจะพยายามให้เหมือนหรือคล้ายและสืบทอดต่อความยิ่งใหญ่ต่อจากจักรวรรดิโรมัน (โรม) ที่ตอนนั้นกำลังถอยหลังเข้าคลองและกำลังล่มสลาย ทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดหรืออะไร ๆ ต่อเขาเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นต่อให้ชื่อเหมือนกันเพียงใด ในมุมของนักประวัติศาสตร์แล้ว จักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์จึงไม่ใช่มรดกตกทอดหรือโรมันแห่งใหม่แน่นอน
แต่รู้หรือไม่ หลังจากจักรวรรดิโรมันเริ่มถอยหลังเข้าคลอง มีผู้มาสืบทอดจักรวรรดิและเป็นทายาทรุ่นต่อไป จริง ๆ แต่ไม่ใช่โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับเป็นจักรวรรดิไบเซนไทน์ (ที่ชื่อไม่เหมือนหรือคล้ายของเก่าเลยแม้แต่น้อย) มีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล โดยต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเมืองอิสตันบูล ในประเทศตุรกีนั้นเอง
ลักษณะการปกครองของอายุจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ ในสมัยนั้นจะบอกว่าองค์จักรพรรดิมีอำนาจแบบเต็มตัวก็ไม่เชิง เพราะรูปแบบเมืองส่วนใหญ่ใช้การปกครองในลักษณะกระจายอำนาจ เมืองใครเมืองมัน ดูแลกันเองตามอัธยาศัย บางเมืองก็มีเจ้าเมือง บางเมืองก็มีบาทหลวงเป็นผู้ปกครองหรือเจ้านครรัฐ แล้วแต่ลักษณะของเมือง ๆ ไป แต่ทั้งหมดแต่ทั้งหมดมวลอำนาจสิทธิขาดก็ยังเป็นขององค์จักรพรรดิ แห่งจักรวรรดิ อยู่ดี (ถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงหนังเรื่องพระนเรศวรครับ ลักษณะการปกครองจะคล้าย ๆ กับกรุงหงสาและอโยธยา)
แม้จักรพรรดิออตโตที่ 1 จะเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิ แต่ถ้าจะว่าไปแล้วจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์จริง ๆ แล้ว ต้องเท้าความไปถึงยุคของพระเจ้าไฮนริชที่ 1 (พระบิดาของจักรพรรดิออตโตที่ 1) ผู้ปกครองอาณาจักรแฟรงค์ คิดจะรวมสองอาณาจักรที่ใหญ่ขนาดนั้นเข้าด้วยกัน เลยไปแต่งงานกับราชินีหญิงหม้ายของอาณาจักรอิตาลี และรวบสองอาณาจักรเป็น 1 เดียว จนเมื่อพระองค์สวรรคต พระโอรส คือ พระเจ้าออตโต้ ก็ได้สถาปนาราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ แล้วเรียกอาณาจักรดังกล่าวว่า อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเยอรมนี
ที่เล่ามาทั้งหมดมันเกี่ยวกับ เช็ก ตรงไหน ? เกี่ยวครับ เพราะตามที่บอกในระยะเวลากว่า 500 ปี แห่ง อาณาจักรโรมันอันอันศักดิ์สิทธิ์ มีช่วงหนึ่งที่เมืองปรากเคยเป็นเมืองหลวงหรือศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิ โดยสำคัญระยะเวลาเกินกว่าครึ่งของจักรวรรดินี้ มีเช็กและประเทศในทริปของเราเป็นเมืองภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่เกือบทุกประเทศ ทุกเมือง เข้าเรื่องของประเทศเช็กต่อครับ พอหมดยุคของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็เข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ ณ ตอนนั้น ทุกประเทศในภาคพื้นยุโรป ต้องมีความเกี่ยวพันหรือผลกระทบจากสงครามไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รวมถึงประเทศเช็กในขณะนั้นด้วย
"เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง ฝ่ายสัมพันธมิตรสนับสนุนให้เช็กกับสโลวาเกีย (สโลวาเกียเป็นส่วนหนึ่งของฮังการี) ที่มีภาษาใกล้เคียงกัน รวมเป็นประเทศเดียว คือ ประเทศเชโกสโลวาเกีย หรือที่คนไทยจะติดปากว่า เชคโก โดยมีเมืองหลวง คือ กรุงปราก"
^^ รูปแผนที่ประเทศเชโกสโลวาเกีย ซึ่งต่อมาภายหลังแยกออกมาเป็นประเทศสาธารณรัฐเช็กและประเทศสโลวาเกีย
** เป็นแบบนี้เรื่อยมาจนถึงยุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซี ภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้บุกเข้ายึดครองประเทศเชโกสโลวาเกียอยู่นานถึง 6 ปีด้วยกัน จนในที่สุดช่วงปลายสงครามกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตได้เข้ามาปลดปล่อยและปลูกฝังลัทธิมากซ์ เข้ากับการเมืองและการใช้ชีวิตของคนประเทศนี้ จนสุดท้ายแล้วภายใต้การสนับสนุนและสายสัมพันธ์อันดีเยี่ยมของสหภาพโซเวียต ประเทศเชโกสโลวาเกียก็ตกเป็นคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ
มาถึงวันหนึ่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวาเกียเริ่มเคลื่อนไหว โดยเรียกการเคลื่อนไหวนี้ว่า "การปฏิวัติเวลเวต” โดยมีผู้นำชื่อ "วาคลัฟ ฮาเวล" (ชื่อนี้คือชื่อเดียวกับสนามบินประจำชาติในกรุงปรากปัจจุบัน) เป็นแกนนำเพื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบอบคอมมิวนิสต์เพื่อเป็นประชาธิปไตยจนทำได้สำเร็จ เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งและก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศเชโกสโลวาเกีย ปี พ.ศ. 2532 จนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 รัฐบาลเชโกสโลวะเกียได้มีมติให้สลายประเทศเชโกสโลวาเกีย และแบ่งออกเป็นสาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวัก (สโลวาเกีย) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Velvet Divorce ต่อมา นายวาคลัฟ ฮาเวล ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเช็กในปี พ.ศ. 2536 และได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2541 จนกระทั่งหมดวาระ (วาระละ 5 ปี) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
^^ รูปนาย วาคลัฟ ฮาเวล อดีตประธานาธิบดี ผู้นำซึ่งเป็นฮีโร่ของประเทศเช็ก ที่เสียชีวิตลงด้วยวัย 75 ปี
จบแล้วครับ ...... เห็นไหมครับว่าจริง ๆ แล้วประเทศเช็กประเทศนี้ เป็นประเทศที่เกิดใหม่แต่ก็ไม่ได้หน้าใหม่แต่อย่างใด
สรุปหากใครไม่อยากอ่านให้ยาว เอาพอเข้าใจสั้น ๆ ถึงความเป็นมาของประเทศนี้ดังนี้
>>> กว่าพันปีที่แล้วชาวสลาโวนิกเข้ามาอยู่ในดินแดนแห่งนี้ที่เรียกว่าโบฮีเมีย
>>> ศ.13 ชาวเยอรมันภายใต้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เข้ายึดครอง
>>> หมดยุคจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ทำการรวมประเทศกับสโลวาเกียแล้วเกิดประเทศขึ้นใหม่ชื่อ เชโกสโลวาเกีย >>> สงครามโลกครั้งที่ 2 นาซียึดครอง
>>>ปลายสงครามโซเวียตมาปลดปล่อยและประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์
>>> ปี 2536 แยกประเทศออกจากสโลวาเกีย แล้วเกิดเป็นประเทศสาธารรัฐเช็กในปัจจุบัน
คราวนี้มาดูที่ประเทศที่ 2 ที่เราจะไปเยือนครับ
ประเทศฮังการี หรือ ม็อดยอรอสาก (แปลว่าดินแดนของชาวม็อดยอร์หรือแมกยาร์ ซึ่งเป็นประชากรพื้นถิ่น) ประเทศนี้เป็นประเทศยุโรปตะวันออกที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเหมือนประเทศเช็ก มีอาณาเขตติดกับประเทศสโลวาเกียทางทิศเหนือ โรมาเนียและประเทศยูเครนทางทิศตะวันออก เซอร์เบียและประเทศโครเอเชียทางใต้ สโลวีเนียตะวันตกเฉียงใต้และออสเตรียในทิศตะวันตก
^^ สีแดง ๆ ครับประเทศฮังการี ตามประวัติแล้วประเทศนี้มีที่มาคล้าย ๆ กับเช็ก คือ เมื่อกว่าพันปีที่แล้วมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า "พันโนเนีย" จนมาถึงช่วงศตวรรษที่ 9-10 ก็โดนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เข้ายึดครองและตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ จนมาถึงช่วงศตวรรษที่ 13-17 ประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย (จักรวรรดิใหม่ผู้สืบสายมาจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งขณะนั้นเป็นจักรวรรดิหนึ่งที่ทรงอำนาจและยิ่งใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดในบริเวณดังกล่าวยาวไปถึงแคว้นทรานซิลเวเนีย
อยู่ภายใต้จักรวรรดิมาจนถึงปี ค.ศ. 1848 มีชาวฮังการีผู้หนึ่งชื่อ "ลายอซ คอซุท" พยายามทำการปฏิวัติและปลดแอกให้ชาวตนได้เป็นอิสระ ซึ่งก็ไม่สำเร็จ แต่เหตุการณ์วันนั้นมันเป็นเหมือนการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ชาติและโลกไว้อีกบทหนึ่ง เพราะเรื่องนี้มันไม่จบลงง่าย ๆ แม้แกนนำขนาดนั้นจะโดนคนของจักรวรรดิออสเตรียปราบซะเรียบ แต่เรื่องนี้มันเหมือนเป็นแค่จุดเริ่มต้น และหัวเชื้อของมวลชนกลุ่มต่าง ๆ ที่คิดจะทำการปลดแอกชาติตน ผ่านไปเกือบ 19 ปี เรื่องไม่ได้เงียบลงแต่กลับระอุเพิ่มทุกวัน ร้อนใจไปถึง จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ พระองค์เลยต้องทำการประนีประนอมและตกลงให้ชาวฮังการีมีอิสระมากยิ่งขึ้น โดยทำข้อตกลง 2 ดินแดน 1 กษัตริย์ ให้ฮังการีมีอิสระเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ และเรียกรวมว่า "จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี"
หลักการปกครองก็เหมือนที่บอกครับ มีหน่วยงานกลางของจักรวรรดิผู้บริหารก็มาจากรัฐบริวารตามสัดส่วนเท่า ๆ กัน มีทหารของแต่ละประเทศ ส่วนเงินก็หาเองใช้เองและสมทบเข้าส่วนกลางเพื่อนำมาใช้เป็นค่าส่วนกลาง โดยมีกษัตริย์พระองค์เดียว อยู่กันได้แบบนี้ไม่นานหรอกครับ เพราะด้วยความที่มันเป็นคนละประเทศ คนละเชื้อชาติและที่มา ปัญหาก็เกิด เช่น เรื่องเงิน เรื่องทหาร ทรัพยากร "แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อรวมกันแล้วก็ใช่จะแยกกันง่าย ๆ" จนถึงยุคสงครามโลก ครั้งที่ 1 จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ สิ้นพระชนม์ จักรพรรดิคาร์ล ได้ขึ้นครองอำนาจต่อมา โดยที่พระองค์ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงรัฐธรรมนูญและรูปแบบความเป็นจักรวรรดิให้ยั่งยืนที่สุด ซึ่งมันก็เป็นแค่ความคิดและความปรารถนาของพระองค์เท่านั้น ในที่สุดก็ต้านกระแสทางการเมืองของฝ่ายฝ่ายสัมพันธมิตร (ผู้ชนะสงคราม) ที่ต้องการให้แต่ละชนเผ่า แต่ละชาติพันธุ์ปกครองตัวเองมิได้ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีอันยิ่งใหญ่เลยจำต้องแตกแยกออกจากกันเป็นประเทศ ออสเตรียและฮังการีในปัจจุบัน
เตรียมตัวก่อนออกเดินทาง
1. ทำหนังสือเดินทาง (Passport)
หนังสือเดินทาง (Passport) คือ การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น ผู้เดินทางจะต้องมีเอกสารที่ใช้ยืนยันการเป็นประชากรของประเทศบ้านเกิด ซึ่งก็คือ Passport หรือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับบัตรประจำตัวประชาชนในขณะที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ (ดังนั้นจึงมีความสำคัญสุด ๆ เวลาเดินทางไปต่างประเทศ)
ขั้นตอนการขอหนังสือเดินทาง
1. รับบัตรคิว
2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก (หากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดง) พร้อมเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อตรวจสอบข้อมูล
3. ในการทำหนังสือเดินทางจะมีการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ คือ มีการวัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้ายและนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์และถ่ายรูปใบหน้า
4. แจ้งความประสงค์ว่าจะมารับหนังสือเดินทางด้วยตัวเอง หรือต้องการขอรับเล่มทางไปรษณีย์
5. ชำระค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง 1,000 บาท หากต้องการให้จัดส่งทางไปรษณีย์จะต้องชำระค่าส่งไปรษณีย์ เพิ่มเติมอีก 40 บาท จากนั้นรับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม
เอกสารที่ต้องใช้ในการทำหนังสือเดินทาง (Passport)
การขอทำหนังสือเดินทางสำหรับประชาชนทั่วไปที่อายุเกิน 20 ปีแล้ว จะต้องเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอทำหนังสือเดินทาง ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งานหรือ บัตรข้าราชการ หรือ บัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับจริง (ในกรณีที่เป็นบัตรข้าราชการให้นำสำเนาทะเบียนบ้านมาด้วย)
2. หากมีรายการแก้ไขชื่อสกุลหรือวัน เดือน ปีเกิด ฯลฯ ซึ่งไม่ตรงกับบัตรประชาชนให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ
3. การทำหนังสือเดินทางใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
กรณีที่ผู้ยื่นขอเป็นผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี ก็จะมีรายละเอียดเอกสารที่ต่างออกไป ดังนี้
1. สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นฉบับสำเนาก็ต้องได้รับการรับรองจากเขตหรืออำเภอ
2. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งานหรือ บัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ของบิดา มารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง และหากชื่อ-นามสกุล บิดา มารดา ในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย
3. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ และบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดา มารดา ในกรณีที่บิดา/มารดาหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาแสดงตัวได้
4. เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตร หรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา เป็นต้น
5. การทำหนังสือเดินทางใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
6. ส่วนในกรณีต่าง ๆ เช่น กรณี บิดา มารดา ของผู้เยาว์เสียชีวิต, กรณีที่บิดา มารดา ของผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติที่มิได้จดทะเบียนสมรส, กรณีที่ไม่สามารถตามหา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้, กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตร อยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดงด้วย
ผู้เยาว์ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถขอทำหนังสือเดินทางด้วยตัวเองได้โดยใช้เอกสาร ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือบัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทย
2. หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
3. เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรมใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา เป็นต้น
4. เสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
2. ทำแผนที่การเดินทาง
ผมย้ำเสมอและจะย้ำทุก ๆ ครั้งที่มาทำรีวิวว่าเวลาคิดไปเที่ยวต่างประเทศ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด จะรอดหรือจะไม่รอดก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้ คำว่าทำแผนการเดินทาง ก็คือ การทำโปรแกรมการท่องเที่ยวนั้นแหละ เราต้องทำว่าวันไหนจะไปไหน ไปอย่างไร (ทำให้ละเอียด) ไปกี่วัน จากที่หนึ่งไปที่หนึ่งไปยังไง และสำคัญคือทำแผนสำรองไว้ด้วย เพราะการเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเองไม่เป็นไปตามแผนเสมอหรอกครับ เช่น วันนี้ทำโปรแกรมว่าจะไปสถานที่ a อยู่ที่ a ทั้งวัน แต่เอาเข้าจริงวันนั้นสถานที่ a เข้าไม่ได้เนื่องจากปิดทำการ ถ้าไม่มีแผนสำรองวันนั้นได้นั่งกินมาม่าที่โรงแรมไม่ต้องไปไหนแน่นอนครับ
ซึ่งการทำโปรแกรมที่ดีควรต้องทำให้เยอะ (เขียนโปรแกรมและสถานที่ท่องเที่ยวไปให้เยอะ ๆ ให้ละเอียด ส่วนเมื่อไปถึงจริง จะไปหรือไม่ไปก็ค่อยว่ากันอีกที เพราะถ้าทำแบบนี้หากเกิดเหตุสุดวิสัยไปสถานที่ที่กำหนดไม่ได้ก็ยังไปที่อื่นในโปรแกรมได้) และเผื่อเวลาให้มาก ๆ (สำคัญมากครับ การเผื่อเวลา เช่น ไปถึงเมือง ก 10.00 น. ต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไปที่เมือง ก ผมแนะนำให้กะเวลาเปลี่ยนรถไฟให้นานๆ นานเท่าไรได้ยิ่งดี เช่น ถึงเมือง ก10.00 น. เวลาที่ควรขึ้นรถไฟไปต่อ คือ 10.20 น. หรือมากกว่านั้น เพราะถ้าเวลาน้อยเกิน เช่น มีเวลาเปลี่ยนรถไฟแค่ 5 นาที หากรถไฟคันแรกมันมาช้าไปหกนาที หรือมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เรามาไม่ทันการเปลี่ยนรถไฟ มันจะทำให้เราเกิดปัญหาได้)
ขั้นตอนและวิธีการวางโปรแกรมการเดินทาง
1. เอาสถานที่ที่เราอยากจะไปมาหลาย ๆ ที่ เมื่อได้แล้วเอามาหาสถานที่ตั้งใน Map ดูแบบคร่าว ๆ ถึงความใกล้และไกลของสถานที่นั้นๆ อะไรใกล้กัน ไปในทางเดียวกันก็จัดอยู่ในโปรแกรมวันเดียวกัน อะไรไกลเกินก็ตัดทิ้งไป
2. เมื่อได้สถานที่แล้วก็หาวิธีการเดินทางและระยะเวลาการเดินทางจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง (ซึ่งเราหาข้อมูลการเดินทางได้จากในอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือท่องเที่ยว)
3. เมื่อเรามีเป้าหมายตามข้อ 1 และวิธีเดินทางตามข้อ 2 คราวนี้เราก็จัดโปรแกรมได้ไม่ยาก โดยเราคำนวณเวลาและที่ตั้งของสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็เขียนคร่าว ๆ ลงในกระดาษ ว่าวันไหนเราจะไปไหนบ้างและไปยังไง
4. เมื่อทุกอย่างลงตัวเราก็แค่พิมพ์ใส่กระดาษแล้วนำติดตัวเดินทางไปด้วย และเมื่อไปถึงก็เที่ยว ก็เดินทางตามโปรแกรม
3. การตรวจลงตราหรือวีซ่า
คือเอกสารที่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ออกให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ภายใต้การพิจารณาตามเงื่อนไขของประเทศนั้น ๆ เพื่อเป็นการแสดงว่าได้อนุญาตให้บุคคลนั้นสามารถเดินทางเข้าประเทศนั้นได้ (แต่จงจำไว้ การได้มาซึ่งวีซ่าไม่ได้หมายถึงการที่คุณจะมีสิทธิเข้าเมืองเขาแบบ 100% เพราะวีซ่าหรือตรวจลงตรา เป็นเพียงเอกสารถือสิทธิการเข้าเมืองเท่านั้น แต่คนพิจารณาคุณสมบัติว่าจะให้เข้าเมืองหรือไม่ให้เข้าเมืองนั้น ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของแต่ละประเทศ ๆ แต่อย่าเพิ่งกังวลครับ ที่ผมบอกแค่ให้รู้ถึงหลักเกณฑ์ เพราะตามความเป็นจริงแล้วส่วนมากถ้าคุณถือวีซ่าและหนังสือเดินทางของคุณไม่มีปัญหา โอกาสที่คุณไม่ผ่านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเป็นไปได้ยากจริง ๆ
เห็นภาพยังครับว่าถ้าเราคิดจะไปต่างประเทศ นอกจากต้องมีหนังสือเดินทางแล้วต้องมีวีซ่าด้วย (กรณีประเทศที่ต้องมีวีซ่า)
** มาเข้าเรื่องสำคัญของเราต่อ ประเทศอื่นผมขอไม่พูดถึงในกระทู้นี้นะครับ ผมขอพูดแค่ประเทศที่เราจะไป เช็ก ฮังการี ออสเตรีย เยอรมนี ซึ่งประเทศทั้ง 4 ประเทศนี้ คือ ประเทศในกลุ่ม "ความตกลงเชงเกน" อ้าว !!!!! มันคืออะไร ใครตกลงกับใครแล้วมาเกี่ยวอะไรกับเรา
ความตกลงเชงเกน คือ ข้อตกลงระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปอันให้สัตยาบันกันว่า ให้สมาชิกในกลุ่ม (หมายถึงคนในประเทศภาคี) สามารถเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง และที่สำคัญ คือ อนุญาตเป็นการชั่วคราวให้กับผู้ถือใบอนุญาตเชงเกน (Schengen Visa) มีสิทธิในการเดินทางได้ในประเทศสมาชิกโดยถือใบอนุญาตเชงเกนเพียงใบเดียว
สรุปง่าย ๆ สั้น ๆ คือ ถ้าคุณคิดจะไปเที่ยวประเทศหนึ่งประเทศใดต่อไปนี้ ซึ่งเป็นประเทศในภาคีสนธิสัญญา ได้แก่
ประเทศเบลเยียม
ประเทศฝรั่งเศส
ประเทศอิตาลี
ประเทศลักเซมเบิร์ก
ประเทศเนเธอร์แลนด์
ประเทศเดนมาร์ก
ประเทศกรีซ
ประเทศโปรตุเกส
ประเทศสเปน
* ประเทศเยอรมนี
* ประเทศออสเตรีย
ประเทศฟินแลนด์
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ประเทศสวีเดน
ประเทศนอร์เวย์
ประเทศไอซ์แลนด์
ประเทศมอลตา
* สาธารณรัฐเช็ก
ประเทศเอสโตเนีย
* ประเทศฮังการี
ประเทศโปแลนด์
ประเทศสโลวาเกีย
ประเทศสโลวีเนีย
ประเทศลัตเวีย
ประเทศลิทัวเนีย
ประเทศโมนาโก
แค่คุณไปขอวีซ่าประเทศใดประเทศหนึ่งจนได้มา คุณสามารถถือวีซ่าประเทศนั้นเข้าได้หมดทุกประเทศที่กล่าวมา
ข้อสังเกต
- อังกฤษ แม้เป็นหนึ่งประเทศในกลุ่ม EU แต่อังกฤษก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสนธิสัญญาเชงเกน ดังนั้นวีซ่าเชงเกน จึงเข้าอังกฤษไม่ได้
- บางประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสนธิสัญญาแต่มีข้อตกลงเฉพาะกิจ หรืออนุญาตตามเงื่อนไขบางกรณีให้บุคคลผู้ถือวีซ่าเชงเกนเข้าประเทศตนได้เป็นกรณี ๆ ไปก็มี
คราวนี้พอรู้จักคำว่าความตกลงเชงเกนและเชงเกนวีซ่าแล้วก็เตรียมตัวเดินทางต่อ ตามที่บอก "แค่คุณไปขอวีซ่าประเทศใดประเทศหนึ่งตามรายชื่อด้านบนจนได้มา คุณก็สามารถถือวีซ่าประเทศนั้นเข้าได้หมดทุกประเทศที่กล่าวมา" นั้นแสดงว่า >> ภายในรายชื่อประเทศทั้งหมดเราจะไปขอที่ไหนก็ได้ใช่ไหม/แบบว่าจะไปเที่ยวเช็ก ฮังการี ออสเตรีย เยอรมนี แต่อยากไปขอวีซ่าของอิตาลีได้หรือไม่ ? ตอบ ไม่ได้ครับ เพราะวีซ่าของแต่ละประเทศในกลุ่มเชงเกนนั้นมีเงื่อนไขในการขอที่เหมือน ๆ กัน (แต่หลักการพิจารณาแตกต่างกันออกไป) คือ
1. ต้องเดินทางไปยังประเทศนั้นเท่านั้น เช่น ถ้าอยากไปประเทศเช็กก็ต้องไปขอวีซ่าเช็ก ไปขอของอิตาลีไม่ได้ หรือถ้าอยากไปออสเตรียก็ต้องไปขอวีซ่าออสเตรียจะไปขอของสเปนไม่ได้ >> ส่วนถ้าไปขอจนได้มาแล้วจะเข้าประเทศไหนนั้นก็อีกเรื่อง แต่ก่อนไปขอเงื่อนไขเขาระบุไว้ชัดเจน
2. ถ้าไปประเทศเดียวตามข้อหนึ่งไม่มีปัญหาในการพิจารณา เพราะไปประเทศไหนก็ขอประเทศนั้นเลย แต่จะมีปัญหาตรงที่ไปพร้อมกันทีละหลายประเทศ แบบทริปนี้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วแบบนี้จะไปขอวีซ่าประเทศไหน เงื่อนไขเขาก็มีระบุไว้ว่า หากท่านต้องการเดินทางไปยังประเทศสมาชิกเชงเกนมากกว่า 1 ประเทศ แล้วมีประเทศ A เป็นจุดหมายปลายทางหลัก โดยพิจารณาจากระยะเวลาหรือจุดประสงค์ของการเดินทาง กล่าวคือท่านจะต้องพักอยู่ในประเทศ A เป็นระยะเวลานานที่สุด หรือจุดประสงค์หลักของการเดินทางในครั้งนี้ของท่านอยู่ที่ประเทศ A
** พูดง่าย ๆ ข้อนี้หมายถึงว่า ในกรณีไปหลายประเทศ คุณต้องดูว่าประเทศไหนคุณอยู่นานที่สุด (ให้ดูจำนวนคืนที่คุณพักเป็นหลัก) หรือประเทศไหนคือวัตถุประสงค์หลักในการไป ยกตัวอย่างคุณมีงานต้องไปทำที่ประเทศ A เป็นจำนวน 5 วัน และพอเสร็จจากงานก็ไปเที่ยวต่อยังประเทศ B เป็นจำนวน 6 วัน ตามตัวอย่างนี้ คุณจะไปขอวีซ่าประเทศ B ก็ได้ (ตามเงื่อนไขระยะเวลา) หรือจะไปขอประเทศ A ก็ได้ (ตามเงือนไขวัตถุประสงค์หลัก)
หมายเหตุ : เรื่องเงื่อนไขวัตถุประสงค์หลักอาจจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของวีซ่าประเทศต่าง ๆ
3. หากไม่สามารถระบุจุดหมายปลายทางหลักของการเดินทางได้ (เช่น ในกรณีที่จำนวนที่อยู่ในแต่ละประเทศเท่ากัน) ท่านจะต้องไปขอประเทศที่เข้าประเทศแรก
** สรุปง่าย ๆ ดังนี้นะครับ **
เข้าประเทศไหนขอประเทศนั้น >> ถ้าเข้าหลายประเทศให้ขอ (ประเทศอยู่นานสุด/ประเทศที่มีวัตถุประสงค์หลัก) >> ถ้าอยู่เท่า ๆ กัน (ขอประเทศที่เข้าประเทศแรก)
- โดยเงื่อนไขดังกล่าวต้องพิจารณาไปที่ละขอนะครับ จากข้อ 1-3 ไม่ใช่มาถึงจะไปใช้ข้อ 3 เลย แบบว่าเข้าที่ไหนก่อนขอที่นั้นโดยไม่คำนึงว่าจะอยู่ประเทศไหนนานที่สุด และการไปขอวีซ่าของประเทศใดนั้น ก็สามารถไปขอได้ที่สถานทูตประเทศนั้น ตามหลักการพิจารณาและกฎของแต่ละสถานทูตไป
พอรู้แล้วว่าต้องขอวีซ่าประเทศไหนคราวนี้ก็มีดูในทริปของเราต่อครับ ทริปนี้ที่ผมไปด้วยกันมีทั้งหมด 4 ประเทศ เช็ก ฮังการี ออสเตรีย และเยอรมนี โดยตามเงื่อนไขด้านบนผมต้องไปขอ วีซ่าของเยอรมนี (เพราะก่อนไปมีโปรแกรมอยู่เยอรมนีนานที่สุด แต่พอใกล้วันไปผมมาเปลี่ยนโปรแกรม) เมื่อทุกอย่างพร้อมก็เริ่มไปทำเรื่องขอวีซ่าได้เลยครับ ซึ่งมีวิธีการดังนี้ (วีซ่าแต่ละประเภท ของแต่ละประเทศ ในช่วงเวลาที่ต่างกันก็มีหลักการพิจารณาที่ต่างกัน กระทู้นี้ผมขอพูดถึงวีซ่าประเภทท่องเที่ยวของประเทศเยอรมนีอย่างเดียวแล้วกันนะครับ)
1. ทำการนัดยื่นคำร้อง เมื่อเราคิดว่าเราจะยื่นวีซ่าประเทศเยอรมนีแล้วอันดับแรก คือ ต้องนัดยื่นคำร้องร้องครับ และวิธีการทีจะนัดยื่นคำร้องได้นั้นมี 2 วิธี ได้แก่
1.1 นัดทางโทรศัพท์ โดยวิธีการ คือ ให้โทรไปที่หมายเลข 1900 222 343 (ค่าบริการนาทีละ 9 บาท) วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. (เบอร์ของ True ใช้บริการไม่ได้) โดยเมื่อโทรไปแล้วก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าเราจะมาขอนัดยื่นคำร้องเพื่อขอวีซ่า
- เขาจะถามว่าต้องการเป็นวันไหน ?
- กี่คน ?
- ชื่อและหมายเลขหนังสือเดินทาง เบอร์โทรติดต่อคือเบอร์อะไร ?
เมื่อเสร็จแล้วเขาจะให้เลขรหัสเรามา หนึ่งคนต่อหนึ่งชุด (ให้เราจดไว้) และก็แจ้งวันเวลานัดกับเรา ให้เรามาสถานทูตตามวันเวลาที่กำหนด และจะถามต่อว่าจะให้ส่ง sms รายละเอียดไปไหม
1.2 นัดด้วยตัวเอง โดยวิธีการ คือ เราสามารถไปนัดหมายวันยื่นคำร้องได้โดยตรงกับแผนกวีซ่าได้เลย (เสียค่าใช้จ่าย) โดยนำหนังสือเดินทางมาติดต่อด้วยตนเอง ซึ่งวิธีนี้จะติดปัญหาอยู่เรื่องเดียว คือ ทำการนัดด้วยวิธีนี้ได้แค่เฉพาะวันอังคาร เวลา 14.00-15.00 น. ที่เคาน์เตอร์ 11 แผนกวีซ่า (ไปทำการนัดได้แค่วันอังคาร แต่เมื่อไปนัดแล้วจะไปยื่นวันไหนก็ได้ ไม่ต่างจากวิธีการนัดทางโทรศัพท์)
ข้อควรรู้ : การยื่นวีซ่าท่องเที่ยวประเทศเยอรมนีนั้น สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือนก่อนกำหนดเดินทาง
2. เตรียมเอกสาร เมื่อนัดแล้ว รู้วันยื่นแล้ว คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมเอกสารครับ ซึ่งเอกสารที่ต้องใช้ไปทำการยื่น ดังนี้
2.1 หนังสือเดินทางฉบับจริง
- ที่มีหน้าว่างอย่างน้อย 2 หน้า
- และยังมีอายุใช้ได้อย่างน้อยอีก 3 เดือน นับจากวันเดินทางออกนอกประเทศสมาชิกเชงเกน
2.2 รูปถ่ายแบบไบโอเมตริก 2 ใบ คือ รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 4.5 X 3.5 เซนติเมตร พื้นหลังขาว โดยให้ความยาวใบหน้านับจากปลายคางถึงปลายผม ต้องอยู่ระหว่าง 3.2-3.6 เซนติเมตร ขอแนะนำครับถ้าให้ดีไปถ่ายที่สถานทูตเลยครับ ไปก่อนเวลานิดหน่อย (ค่าบริการ 180 บาท แพงกว่าข้างนอกนิดหน่อยแต่สบายใจได้ว่าถูกต้องตามเงื่อนไขสถานทูตแน่นอน)
^^ ตัวอย่างรูปที่ถูกต้อง
2.3 แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าเชงเกนที่กรอกข้อความครบถ้วน 1 ฉบับ
เข้าไปตามนี้เลยครับ >> https://videx.diplo.de/videx/;jsessionid=GlOT3iOlwn1Mx5aO6Z9ztkno.undefined?0
** วิธีการคือให้กรอกข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ตรงไหนกรอกได้ขึ้นเป็นสีขาว ๆ ก็กรอกไปเลย ตรงไหนเป็นสีเทา ๆ กรอกไม่ได้ก็ไม่ต้องไปกรอก ต้องกรอกให้ครบและให้ข้อมูลตามความจริง (แต่ไม่ต้องไปซีเรียสมากจนเกินไปนะครับ ผมพวกภาษาอังกฤษงู ๆ ปลา ๆ ก็ตอบตามที่เราเข้าใจ และสำคัญมันก็เป็นคำถามทั่วไป ชื่ออะไร ทำอาชีพอะไร เคยได้เชงเกนวีซ่ามาก่อนไหม)
*** แต่หากใครยังไม่แน่ใจ ลองดูคำแปลตรงนี้ครับ อาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมดแต่พอเป็นแนวทางได้ (เครดิตภาพจาก www.newtampo.wordpress.com)
หมายเหตุ : ถ้าใครไม่อยากกรอกเองที่สถานทูตมีบริการรับจ้างกรอก ฉบับละ 150 บาท
2.4 หลักฐานยืนยันการจองที่พัก/เที่ยวบิน ข้อนี้ก็ไม่ยากครับแค่เอาใบจองโรงแรมที่เราจะไปพัก ซึ่งสามารถจองผ่านเว็บไซต์นายหน้าได้ เช่น booking.com หรือ agoda.com ไม่จำต้องจองผ่านโรงแรมโดยตรง หรือ ไม่คำนึงว่าได้จ่ายเงินค่าเข้าพักแล้วหรือไม่ ส่วนใบจองเที่ยวบินก็เหมือนกัน จะจองแบบยกเลิกได้ภายหลัง หรือจะจองแบบจ่ายเงินเลยก็ไม่ใช่ปัญหา
** หากใครยังไม่เข้าใจในวิธีการจอง โปรดไปดูในหัวข้อ "การจองที่พักและตั๋วเครื่องบิน"
2.5 หลักฐานการประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ ข้อนี้เป็นกฎข้อบังคับเลยครับว่าใครจะไปขอวีซ่าเยอรมนีหรือประเทศอื่น ๆ ในกลุ่งเชงเกนต้องทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุไว้ด้วย โดยมีข้อแม้ว่าประกันดังกล่าวต้องคุ้มครองระหว่างการเดินทางตลอดระยะเวลาที่ขอวีซ่าไป ซึ่งวงเงินความคุ้มครองต้องไม่ต่ำกว่า 30,000 ยูโร และต้องรวมบริการนำตัวกลับประเทศในกรณีเจ็บป่วยด้วย
*** ซึ่งเราสามารถซื้อได้ด้วยการซื้อแบบออนไลน์หรือซื้อผ่านตัวแทนนายหน้าทั่วไป แล้วก็พริ้นท์เอกสารออกมา (แต่ละเจ้าก็มีราคาและเงื่อนไขการคุ้มครองที่ต่างกัน โปรดดูหลาย ๆ ที่)
*** และหลักฐานการประกันนั้นต้องมาจากบริษัทประกันที่เป็นที่ยอมรับของสถานทูตด้วยนะครับ เช่น บริษัทอลิอันซ์, บูรพา, กรุงเทพประกันภัย, นวกิจ, แอลเอ็มจี เป็นต้น
2.6 สำหรับพนักงาน/ลูกจ้าง : หนังสือรับรองการทำงานปัจจุบันและหนังสืออนุญาตให้ลาพักร้อนเป็นภาษาอังกฤษ (ที่ระบุตำแหน่ง จำนวนปีการทำงาน และเงินเดือน)
ตัวอย่างลองเข้าไปดูตามเว็บไซต์ต่อไปนี้
- http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=lovergirl&month=18-10-2005&group=11&gblog=18
- http://www.holidaythai.com/board/topic/39
2.7 สำหรับผู้ที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง : หนังสือใบจดทะเบียนการค้า ใบจดทะเบียนบริษัท หรือเอกสารสำคัญอื่นใดที่แสดงถึงสถานะความเป็นเจ้าของในกิจการกดังกล่าว (โดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษแต่อย่างใด)
*** ใครทำธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนอะไรเลย ก็ถ่ายรูปหรือหาหลักฐานอะไรมาก็ได้ ให้เขารู้ถึงความเป็นอยู่และแหล่งที่มาของธุรกิจและเงินของเรา
2.8 หลักฐานการเงิน ได้แก่ หนังสือรับรองจากธนาคาร และสมุดบัญชีเงินฝากที่แสดงการเคลื่อนไหวทางด้านการเงินย้อนหลัง 3 เดือนสุดท้าย (โดยเขาไม่ได้ระบุไว้ว่าขั้นต่ำต้องมีเท่าไร ดังนั้นจำนวนเงินมากน้อยจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอเพียงให้มีจำนวนที่เพียงพอต่อการเดินทางและท่องเที่ยวในระยะเวลาที่ขอวีซ่าได้ก็เพียงพอแล้ว)
** เรื่องเงินในบัญชีไม่ต้องกลัว เท่าที่เคยคุยกับหลาย ๆ คนมาไม่ถึงแสนก็มีคนผ่านมากมาย ขอแค่คุณแสดงหลักฐานที่มาของเงินให้ได้ก็เพียงพอแล้ว
2.9 หลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงถึงความพร้อมที่จะเดินทางกลับประเทศ และแสดงถึงภาระผูกพันหรือ ความสัมพันธ์ของท่านในประเทศไทย หรือเอกสารอื่น ๆ ที่แสดงถึงวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยว ข้อนี้ความหมายค่อนข้างกว้างครับ เพราะคำว่าเอกสารอื่น ๆ ตามที่บอกจะเป็นอะไรก็ได้ที่แสดงว่า ฉันไปแล้วจะกลับมาเมืองไทยแน่นอนเพราะ..... หรือเอกสารใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าฉันไปเที่ยวจริง ๆ นะจ๊ะ ซึ่ง "เจตนามันอยู่ที่ใจ ใครหยั่งรู้" ดังนั้นการที่เขาจะรู้ได้ว่าเรามีเจตนาที่ดีทีบริสุทธิ์ก็มีแค่เอกสารเท่านั้นที่เขาเห็น ดังนั้นมีเท่าไร มีอะไร ที่คิดว่าให้เขารู้ได้ เอาไปให้เขาดูครับ ถ้ามันไม่จำเป็นหรือไม่รู้ว่าจะรับไว้ทำไมเขาจะส่งคืนเรามาเอง (แต่จริง ๆ แล้วแค่บัญชีเล่มเดียว โฉนดฉบับเดียว เอกสารการงานอีก 1 ฉบับ ก็เพียงพอแล้ว) ตัวอย่างเอกสารที่ควรยื่น
- โปรแกรมการเดินทาง (ภาษาอังกฤษ) ทำไม่ยากครับ เขียนไปเลยวันนี้เราไปไหน นอนโรงแรมชื่ออะไร พรุ่งนี้ไปไหน เดินทางอย่างไร
- เอกสารแนะนำตัว (ภาษาอังกฤษ) อันนี้ก็ไม่ยาก เหมือนเขียนรายงานส่งอาจารย์ตอนมัธยม ให้คิดว่าสถานทูต คือ "อาจารย์" เรา คือ "นักเรียน" เขียนพอให้อาจารย์จับใจความได้ ไม่ต้องเขียนเป็นทางการมากจนเกินไป เพราะผมเป็นพวกแค่อ่านออกเขียนได้นิดหน่อย ก็เขียนไปแบบงู ๆ ปลา ๆ ตามที่เราเข้าใจเอง แล้วก็คิดว่าเขาก็น่าจะเข้าใจเรา ซึ่งทุกครั้งที่ยื่นวีซ่าแต่ละประเทศผมก็ใช้วิธีนี้ก็ไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด เลยมาเล่าให้ฟังครับว่าไม่ต้องซีเรียสจนเกินไป ไม่ใช่จะเขียนจดหมายหาสถานทูตแล้วเกร็ง ต้องให้ดูเป็นวิชาการศัพท์ชั้นสูง บอกเลยไม่จำเป็น (แต่ถ้าใครเก่งภาษาจะทำให้เป็นทางการถูกตามหลักภาษาได้ก็จะดีเข้าไปใหญ่ ข้อนี้ก็แล้วแต่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของแต่ละคน) ส่วนจะแนะนำตัวแบบไหน ก็แนะนำไปเลย "ว่าเราคือใคร ชื่ออะไร ทำอาชีพอะไร จะไปไหนบ้าง พ่อชื่ออะไร แม่ชื่ออะไร มีแฟนมาแล้วกี่คน ขับรถยี่ห้ออะไร กินข้าวร้านไหนเป็นประจำ”
- ตั๋วรถไฟ ตัวรถบัส ที่เราซื้อไว้แล้ว (ถ้ามี)
- โฉนดที่ดินที่มีชื่อผู้ขอวีซ่าเป็นเจ้าของ (ชื่อคนอื่นเป็นเจ้าของไม่ต้องเอามานะครับเขาไม่รับ)
- ทะเบียนสมรส กรณีมีคู่สมรสแล้ว
- ทะเบียนบ้าน
- *** และถ้าเป็นบุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปี ในวันที่ยื่นคำร้องขอทำวีซ่า โดยปัจจุบันยังมีทั้งพ่อและแม่ พ่อและแม่ต้องมาปรากฏตัวพร้อมกันในวันนั้นด้วย ข้อย้ำว่าต้องทั้งพ่อและแม่มาพร้อมกันไม่ใช่คนหนึ่งคนใดมาก็ได้ (ซึ่งประเด็นนี้คนในกลุ่มของผมเงิบมาแล้ว เพราะมาแต่แม่ พ่อไม่ได้มา เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้ ถ้าเด็กยังมีพ่ออยู่ต้องพาพ่อมาด้วย) <<< แต่ถ้าเป็นกรณีนี้ให้โทรถามสถานทูตอีกทีก็ได้ เผื่อไม่ต้องนำไป
หมายเหตุ : เอกสารราชการทั้งหมด ยกเว้นหนังสือเดินทาง ไม่จำต้องยื่นฉบับจริง (แต่ถ้าจะนำติดตัวไปด้วยก็ไม่เสียหายเผื่อเขาขอดู อิอิ)
3. เดินทางไปสถานทูตตามวันนัด
เมื่อถึงวันและเวลาที่นัดก็เดินทางไปสถานทูตกัน เผื่อเวลาไว้นิดหนึ่งนะครับ เอาไว้เป็นเวลาจัดเรียงเอกสาร เข้าห้องน้ำ ถ่ายรูป....
วิธีไปสถานทูตเยอรมนี
ที่อยู่ของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ เลขที่ 9 ถนนสาทรใต้ (ดูแผนที่ด้านล่างประกอบ)
ซึ่งถ้าขับรถไปเองก็ไปจอดได้ที่อาคาร Q-House Sathorn (เสียค่าบริการ) แล้วเดินไปสถานทูตหรือจะนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีลุมพินี ออกทางออกหมายเลข 2 แล้วก็เดินไปสถานทูต ระยะทางประมาณ 200 เมตร
** สถานทูตจะเปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-11.30 น.
*** เมื่อมาถึงสถานทูต ***
>> จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจอาวุธและของต้องห้าม โดยจะให้เราทำการปิดโทรศัพท์มือถือแล้วฝากไว้ด้านหน้
>> เข้าไปด้านในให้เดินไปหาเจ้าหน้าที่ที่ยืนเฝ้าหน้าประตูที่เป็นห้องแอร์เลยครับ (ด้านในไม่ใหญ่) เอารหัสที่เราได้มาในวันที่เราทำการนัดให้เขา และบอกเวลานัดเขาไป เขาก็จะให้บัตรคิวเรามา (รอจนถึงคิวเรา)
>> ระหว่างรอคิวให้เราเรียงเอกสารให้ถูกต้องตามที่เขากำหนด (ต้องตามที่เขากำหนดนะครับ ไม่ใช่คิดจะเอาอะไรขึ้นก่อนขึ้นหลัง...ไม่ได้) ซึ่งให้เรียงตามที่ผมบอกไปแล้วในข้อ 2. ตั้งแต่เอกสารชุดที่ 2.1-2.9 แต่ยังไงเมื่อไปถึงสถานทูตให้ไปดูอีกทีนะครับว่า ณ ปัจจุบันเขามีขั้นตอนการเรียงเอกสารที่เปลี่ยนไปหรือไม่
>> เมื่อเรียงเอกสารครบก็ไปถ่ายรูป
>> ตรวจดูเอกสารอีกครั้ง (เอกสารทุกฉบับไม่ต้องเย็บแม็กซ์เพราะเจ้าหน้าที่เขาจะแม็กซ์ตามลำดับเอกสารของเขาเอง)
>> เมื่อถึงคิวเราก็เดินเข้าไปด้านใน เจ้าหน้าที่หน้าประตูจะแจ้งอีกทีให้ไปช่องไหน
4. ถึงคิวสัมภาษณ์และยื่นเอกสาร
เมื่อเดินเข้าไปแล้วก็รอหน้าช่องที่เขาบอกให้เรามารอ พอถึงคิวเราก็เดินเข้าไป จะมีเจ้าหน้าที่ (คนไทย) คอยรับเอกสารและสัมภาษณ์ ซึ่งของผมไปกันหลายคน และนัดคิวสัมภาษณ์ไป 2 วัน (เพราะวันว่างไม่ตรงกัน) กลุ่มแรกไม่มีใครรู้โปรแกรมการเดินทางเลยว่าไปไหนบ้าง ไปยังไง ผมเลยขอเข้าสัมภาษณ์เป็นคนแรก โดยบอกเจ้าหน้าที่ว่าแต่ละคนไม่มีใครรู้โปรแกรมเพราะผมเป็นคนทำโปรแกรมเองทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ในกลุ่มจะเป็นเพื่อน ๆ ญาติ ๆ กันทั้งหมด เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะผมถือว่าพูดตามความจริง ดีกว่าให้แต่ละคนท่องจำไปแล้ว ตอบผิด ๆ ถูก ๆ ซึ่งทั้งหมดคือบทสัมภาษณ์ที่ผมพอจะจำได้
เจ้าหน้าที่ : ไปไหนบ้าง ?
ผม : ....... บอกทุกเมืองบอกทุกวัน (เจ้าหน้าที่ก็จดและดูใบจองโรงแรมของเราประกอบไปด้วย เหมือนดูว่าโปรแกรมของเราอยู่เยอรมนีนานสุดจริง ๆ ไหม)
ไปกันกี่คน ?
ผม : ...... บอกจำนวนที่ไป และบอกว่าที่เหลือไม่ว่างวันนี้จะมาขอในภายหลัง
เจ้าหน้าที่ : คุณเป็นคนทำโปรแกรมเหรอ/เคยโดนปฏิเสธวีซ่าที่ไหนไหม/มีคนรู้จักอยู่เยอรมนีไหม (ขอนี้ขอสารภาพครับว่าผมโกหกเขาไปโดยบอกว่าไม่มี ซึ่งจริง ๆ ผมมีเพื่อนอยู่เยอรมนีโดยนัดมาเจอกัน เพราะเดี๋ยวถ้าบอกมีจะโดนถามต่อเป็นใคร รู้จักที่ไหน ตัดปัญหาคือบอกไม่มี)/ทำงานอะไร/ทำมานานแค่ไหน ...... ประมาณนี้ครับ
## ส่วนคนอื่นก็โดนถามทั่วไปว่าทำงานอะไร เรียนอะไร ปีไหน (แต่ไม่ถามเกี่ยวกับโปรแกรมการท่องเที่ยวเลย เพราะรู้ว่าถามไปก็ตอบไม่ถูก)
## และอีกกลุ่มหนึ่ง << ซึ่งผมก็บอกไว้แล้วว่า อีกกลุ่มที่จะมายื่น เขาก็ตอบไม่ถูกนะว่าไปไหนบ้าง ซึ่งเขา(เจ้าหน้าที่) คงไม่สนใจหรอกเพราะวันหนึ่งมีคนมาทำตั้งกี่คน และมีเจ้าหน้าคอยสัมภาษณ์ตั้งกี่คนก็ไม่รู้ คำถามที่เขาถามเพื่อนผม คือ ไปไหนบ้าง ? ซึ่งเพื่อนผมก็ตอบไม่ค่อยถูกหรอก แต่เพื่อนผมมีกระดาษจดไว้ และก็ท่องด้านหน้าห้องสัมภาษณ์นั่นแหละครับ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ยิงคำถามนี้มามันก็บอกเลยว่า ดิฉันเพิ่งท่องเมื่อกี้นะ ตอบถูกบ้างผิดบ้างขออภัย เพราะดิฉันไม่ได้ทำโปรแกรม คนทำโปรแกรมเขามาขอเมื่อสองสามวันที่แล้ว ยังไงลองดูในโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ทำมาให้ประกอบนะจ๊ะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ว่าอะไร แล้วก็ถามเรื่องทั่วไป ทำงานอะไร...เมื่อเจ้าหน้าที่ดูและถามจนพอใจเขาก็บอกให้ไปชำระเงิน
5. ชำระค่าธรรมเนียมและรับเล่มหนังสือเดินทาง
เมื่อสัมภาษณ์และยื่นเอกสารเสร็จก็เดินไปจ่ายเงินที่ช่องการเงิน ค่าธรรมเนียม 60 ยูโร ต้องชำระเป็นเงินสดสกุลบาทเท่านั้น ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวัน โดยเวลาในการพิจารณาวีซ่าไม่เกิน 5 วัน (แต่โดยปกติ 3 วัน ก็ได้) วิธีจะรับเล่มหนังสือเดินทางมี 2 วิธี คือ
- มารับเล่มด้วยตัวเอง (วิธีนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มารับได้แค่วันอังคารกับพฤหัสบดี เวลา 10.00-12.00 น. เท่านั้น)
- รอรับทางไปรษณีย์ โดยต้องแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ โดยเสียค่าบริการจัดส่ง 130 บาท
- เมื่อได้หนังสือเดินทางมาก็เปิดด้านในครับ ถ้าผ่านก็จะมีหน้าวีซ่าติดอยู่ ถ้าไม่มีอะไรเพิ่มเข้ามาในเล่มหนังสือเดินทางของเราก็แปลว่าไม่ผ่านครับ
ถ้ามีแบบนี้มาในเล่มแสดงว่าผ่าน
4. จองตั๋วเครื่องบิน
"วิธีการจองตั๋วเครื่องบินมี 3 วิธี\'"
1. ซื้อผ่านสำนักงานสายการบินโดยตรง (ซื้อตั๋ววิธีนี้อาจต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าวิธีอื่น เพราะต้องซื้อตั๋วในราคาเต็ม)
2. ซื้อผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่ายโดยวิธีซื้อผ่านหน้าร้าน
3. ซื้อผ่านระบบออนไลน์ มี 2 ประเภท ได้แก่
## ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายตัวของหลายสายการบิน ขอแนะนำสักสี่เว็บไซต์นะครับ
>>> http://www.cheaptickets.co.th
>>> http://www.expedia.co.th
>>> http://www.skyscanner.co.th
>>> http://www.kayak.com/
##การจองแบบออนไลน์ผ่านเว็บสายการบินโดยตรง ได้แก่
>>> www.airasia.com
>>> www.thaiairways.co.th
ส่วนวิธีการจองก็เหมือนกันทุกเว็บไซต์ครับ คือ ระบุเมืองต้นทางและปลายทาง วันที่เดินทาง จำนวนคนเดินทาง แล้วเมื่อได้ตามที่ต้องการก็กดตกลงแล้วจ่ายเงิน
ถ้าใครยังจองไม่เป็นลองดูและหัดทำครับ ทุกเว็บทุกสายการบินส่วนใหญ่ใช้วิธีจองคล้ายกันหมด
>>> http://www.youtube.com/watch?v=bEV1QbiBWnk
ส่วนถ้าใครจองเป็นอยู่แล้วแต่อยากได้เทคนิคการจองแบบถูก ๆ ลองดูครับ
>>> http://pantip.com/topic/30743501 (ของคุณสมาชิกหมายเลข 903595)
>>> http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2011/09/E11088423/E11088423.html (ของคุณ BK_BanK)
หมายเหตุ : ในกรณีที่ต้องใช้ใบจองตั๋วเครื่องบินไปทำวีซ่า แต่เรายังไม่กล้าจ่ายเงิน เพราะกลัวซื้อไปแล้ววีซ่าไม่ผ่าน ผมแนะนำแบบนี้ครับ ให้ทำตามวิธีที่ 1 ซื้อผ่านสำนักงานสายการบินโดยตรง หรือ 2 ซื้อผ่านบริษัทตัวแทนจำหน่ายโดยวิธีซื้อผ่านหน้าร้าน ให้เราจองไปก่อนแล้วบอกเขาตรง ๆ ว่าจะเอาไปทำวีซ่า ถ้าไม่ผ่านเราจะมาบอกยกเลิก แต่ถ้าผ่านแล้วไม่เจอตั๋วที่ดีกว่านี้เราจะมาจ่ายเงิน >> ซึ่งตั๋วดังกล่าวมี 2 ประเภท
ประเภทแรก คือ มีระยะเวลาการต้องชำระเงินไม่นาน แค่ 1-3 วัน ถ้าเกินกว่านี้ตั๋วจะตัดไป (แบบนี้เราไม่ต้องบอกยกเลิกครับ เพราะถ้าเราไม่จ่ายเงินตามเวลาที่กำหนด มันก็คือการบอกยกเลิกตั๋วไปแล้วโดยปริยาย)
ประเภทสอง คือ ตั๋วโปรฯ ของสายการบินบางแห่ง แบบนี้ก็คล้าย ๆ แบบแรก คือ มีให้จองก่อน (เอาไม่เอาเขาไม่ว่า อันนี้คนขายบอกเอง) ตังค์จ่ายทีหลัง แต่จะแตกต่างกับแบบแรก คือ แบบนี้มีระยะเวลาการให้ชำระเงินค่อนข้างนาน บางที่เป็นเดือน (ซึ่งเราจะเจอตั๋วประเภทนี้บ่อยตามงานท่องเที่ยวต่าง ๆ หรืองานออกบูธของสายการบิน) ที่สำคัญแค่จองตังยังไม่ได้จ่าย แถมโอกาสที่จะมาจ่ายแค่ 10% เขายังให้ของแถมเรามาอีกมากมาย เช่น กระเป๋า เสื้อ ดินสอ ปากกา มากมายจนเกรงใจ ทั้ง ๆ ที่เราบอกแล้วว่าเอาไปแค่ทำวีซ่านะ ซึ่งทุกที่จะบอกคล้าย ๆ กันเลยว่า "จองไว้ก่อนไม่เอาไม่เป็นไร เพราะถ้าไม่มาจ่ายตังค์ตามเวลาที่กำหนดตั๋วก็ตัด แต่สำคัญซึ่งถ้าให้ดีในกรณีที่คุณรู้แน่นอนแล้วว่าจะยกเลิก อย่ารอให้ถึงวันที่ตั๋วตัดเลย โทรมาแจ้งเราสักนิดก็ยังดี เพื่อเราจะได้เอาตั๋วไปขายคนอื่น ดังนั้นถ้ามันเป็นกรณีแบบนี้ คือ แบบมีระยะเวลากำหนดชำระเงินนาน ๆ ช่วยโทรไปยกเลิกตั๋วหน่อยนะครับ”
- ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้สนับสนุนหรือบอกว่าเวลาไปทำวีซ่าให้จองตั๋วแบบส่ง ๆ นะครับ เพราะสำหรับตัวผมเอง ก่อนที่ผมจะหาตั๋วเครื่องบินไปทำวีซ่าผมจะต้องเช็กกับสายการบินหรือตัวแทนมาพอสมควรแล้ว ว่าที่ไหนถูกและดีที่สุดก็จองที่นั้น และเมื่อวีซ่าผ่านแต่ถ้ามีของถูกและดีกว่าก็ยกเลิกของเก่า แต่ถ้าไม่มีหรือหาที่ดีกว่านี้ไม่ได้ก็จ่ายเงิน (ซึ่งบางทีถ้าเจอในราคาที่ถูกใจก็ซื้อเลย)
ขอเล่าเรื่องตั๋วเครื่องบินในทริปนี้ >> คนในกลุ่มให้ผมทำหน้าที่เป็นคนจัดหา โดยมีโจทย์ว่าไม่ต้องบินตรง (ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่มีสายการบินไหนบินตรงไปปรากอยู่แล้ว) ขอราคาไม่แรง ครั้งแรกที่ผมหาผมเจอของ Aeroflot แบบโคตรถูก ราคาประมาณ 20,000-21,000 บาท ไป-กลับปราก ผมมาถามทุกคนบอกเอาไหม ราคาถูกแต่เปลี่ยนเครื่องที่มอสโกนานหน่อยนะ ประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้น แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะที่สนามบินมอสโกมีห้องนอนแบบเช่าเป็นรายชั่วโมง คนแก่และผู้หญิงก็เช่านอน เด็กกับผู้ชายถ้าไม่อยากเสียตังค์ก็นอนในสนามบิน ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหามันติดที่ตอนนั้นระยะเวลาการทำวีซ่ายังมาไม่ถึง และบางคนกลัววีซ่าไม่ผ่าน คิดอยู่ 2 วัน ผมเลยพูดให้ทุกคนมั่นใจว่า เท่าที่ผมดูผมมั่นใจว่าทุกคนต้องผ่านวีซ่า เพราะ คนในกลุ่มทั้งหมด มีแค่เด็ก 2 คน ที่ไม่เคยไปเมืองนอก แต่เด็ก 2 คนนี้ก็ไปกับแม่ซึ่งมีธุรกิจที่ใหญ่และเปิดมานานพอสมควร ที่สำคัญทั้ง 2 คน ก็กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่รู้จักกันดี จึงไม่น่ามีปัญหา ส่วนคนอื่นก็เคยไปเมืองนอกมาแล้วบ้างและสำคัญคือมีธุรกิจดี เงินในบัญชีดี ประวัติไม่เสีย มองมุมไหน ๆ มันก็ผ่าน พอผมพูดแบบนี้ทุกคนก็มั่นใจและตัดสินใจว่าเอาเลย แต่เหมือนโชคจะเล่นตลกไม่ให้ผมได้ของถูก เพราะไปดูอีกทีราคานี้หายไปแล้ว ไม่เป็นไรได้แต่ทำใจ และบอกทุกคนว่าเสียใจด้วยนะของถูกและดีจะมีไม่นานบนโลก 5555
ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาหาต่อครับ หาไปเรื่อย ๆ เอาวิธีโน้นบ้าง วิธีนี้บ้าง เปลี่ยนต้นทางบ้าง ปลายทางบ้าง จนสุดท้ายเจอที่ราคา 24,000-25,000 บาท โดยประมาณ เลยโทรถามทุกคนว่าเอาไหม ? และทุกคนก็ถามผมกลับมาว่า "แล้วราคานี้ถือว่าถูกไหม ?" ผมบอกว่าถือว่ากลาง ๆ ครับ ไม่ถูก ไม่แพง แต่ถ้าจะซื้อก็ซื้อได้ (ตอนนั้นพูดตรง ๆ ปากบอกว่า "ไม่ถูก ไม่แพง" แต่ใจจริง ๆ อยากได้นะ เพราะเห็นราคานี้เรารับได้ วันได้ เวลาเปลี่ยนเครื่องกำลังสวย และผมถือคติว่าหาตั๋วเครื่องบินราคาถูกหาไม่ยาก แต่หาตั๋วเครื่องบินราคาถูกในวันที่เราต้องการเดินทางนี้สิไม่ง่าย พูดเหมือนให้กำลังใจตัวเองหลังพลาดตั๋วเครื่องบินราคาถูกกว่ามาแล้ว 555) สุดท้ายผมก็ซื้อโดยซื้อผ่านเว็บ "cheaptickets" ด้วยราคา 24,000 บาทกว่า ๆ โดยประมาณ เป็นตั๋วของสายการบิน finnair กรุงเทพฯ-ปราก
เหมือนที่บอกมาทุกครั้งว่าการหาที่พักในต่างประเทศก็เหมือนบ้านเราแหละครับ มีสองวิธี
(หนึ่ง) แบบ walk-in หรือแปลตามตัวคือเดินเข้าไปหา ไม่ต้องจองแต่ไปหาเอาดาบหน้า แบบนี้ไม่แนะนำอย่างยิ่งครับ จะมีปัญหา โดยเฉพาะลองคิดดูนะครับหากเดินเข้าไปแล้วไม่มีโรงแรม ทุกโรงแรมเต็มทุกที แบบนี้ไม่ตายเหรอ ไม่ควรทำในต่างประเทศอย่างยิ่ง
(สอง) แบบจองไปก่อน มีสามวิธีคล้ายการจองตั๋วเครื่องบินครับ
- จองผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยจองผ่านหน้าร้าน
- จองออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมโดยตรง
- จองออนไลน์ผ่านตัวแทนรับจองโรงแรม ผมขอแนะนำสองเว็บไซต์นะครับ
www.booking.com >>> วิธีการจองไม่ยากครับ พิมพ์ชื่อเมืองและวันที่จะเข้าไปพัก หลังจากนั้นก็มีโรงแรมขึ้นมาให้เลือกมากมาย ส่วนวิธีชำระเงินก็แสนง่าย เพียงแค่เอาบัตรเครดิตไปค้ำประกัน (จะตัดยอดเงินต่อเมื่อคุณไม่เข้าพักในวัน เวลาที่จองไว้) แต่ถ้าคุณไปในวันที่คุณจองไว้ ทางเว็บไซต์ก็จะไม่ตัดยอดเงินของคุณ แต่ให้คุณเอาเงินไปชำระในวันที่เข้าพักจริง
www.agoda.com >>> เหมือนเว็บไซต์แรกทุกอย่างต่างกันแค่เพียงวิธีชำระเงิน คือเว็บนี้เมื่อคุณกรอกข้อมูลบัตรเครดิตไปและยืนยันการสั่งจอง เว็บไซต์จะตัดยอดบัตรเครดิตของคุณทันที
หมายเหตุ : การที่เราจะเอาหลักฐานการจองที่พักไปขอวีซ่า ก็สามารถจองผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว แล้วก็พริ้นท์ใบแสดงการจองเป็นภาษาอังกฤษไปให้สถานทูตดูได้เลย โดยเขาไม่สนใจว่าคุณจะจ่ายเงินแล้วหรือไม่ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มเชงเกนก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่ไม่นานมานี้ เหมือนผมได้ยินมาผ่าน ๆ ว่ามีบางประเทศในกลุ่มเชงเกนที่เวลาไปขอวีซ่าไม่ต้องใช้ใบจองโรงแรงไปโชว์เพื่อประกอบการพิจารณาอีกแล้ว เช่น ประเทศฝรั่งเศส (อันนี้ไม่แน่ใจนะครับข้อมูลยังไม่แน่นอน)
** และที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่ง เวลาจองโรงแรมถ้าไปหลายคนให้ใส่ชื่อไปทุกคนได้ยิ่งดี (ใส่ในช่องชื่อผู้พัก) แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร...หรือเปล่าไม่แน่ใจ อย่างไรให้ดีและไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ใส่ ๆ ไปครับ
6. จองและหาวิธีการเดินทาง
เป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดหัวข้อหนึ่งเลยครับ เคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง" ไหมครับ? ถ้าเคยได้ยินจงรู้ไว้นะครับ ว่านั่นมันเป็นแค่คำเปรียบเปรย เราเป็นคนครับไม่ใช่หนอน !!!!! ทัพเราต้องเดินด้วยทีน และถ้าไม่ไหวก็ต้องเดินด้วยรถ ดังนั้นนอกจากสองเท้าน้อย ๆ และใจสู้ ๆ รถจึงเป็นปัจจัยหลักที่นำทัพเราไปถึงจุดหมายในทริปนี้
ตามที่บอกผมขอแบ่งพูดไปทีละ 2 ประเทศ นะครับ กระทู้นี้ขอพูดในส่วนของเช็กกับฮังการีก่อน แล้วเดี๋ยวกระทู้หน้าจะมาพูดเกี่ยวกับการเดินทางของออสเตรียและเยอรมนีให้ฟัง ถ้าว่ากันเรื่องการเดินทางแล้ว ผมขอแบ่งเป็น 2 หมวด ได้แก่
- การเดินทางระหว่างเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง
- การเดินทางในเมือง (ปราก, บูดาเปสต์) เริ่มจาก
** 6.1 การเดินทางระหว่างเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง
ในทริปนี้ (เช็ก/ฮังการี) เราต้องเดินทางข้ามเมืองทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่
- ปราก >> เชสกีกรุมลอฟ
- เชสกีกรุมลอฟ >> ปราก
- ปราก >> บูดาเปสต์
- บูดาเปสต์ >> เวียนนา
ซึ่งทั้ง 4 เส้นทางนี้ต้องซื้อและต้องจองไปก่อน เพราะถ้าไม่ซื้อไปก่อนโอกาสที่มันจะเต็มมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะไปกันหลาย ๆ คน และถ้าไม่เชื่อในคำเตือนลองเข้าไปดูเลยครับว่าที่นั่งวันนี้มันเหลือกี่ที่ 55555 ไม่ได้ขู่นะ แต่แค่สั่งให้ทำตาม ยกเว้นบางเส้นทางที่น่าจะไม่ต้องจองไปก่อนก็อาจจะได้ เช่น ปราก >> บูดาเปสต์, บูดาเปสต์ >> เวียนนา แต่ทั้งหมดนี้ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็จอง ๆ ไปครับ
ซึ่งวิธีการจองและซื้อก็ไม่ได้ยากอะไรเลย แต่ถ้าทำไม่เป็นทำตามนี้นะครับ
ปราก >> เชสกีกรุมลอฟ /// เชสกีกรุมลอฟ >> ปราก
1. http://www.studentagency.eu/ << เข้าเว็บนี้เลยครับ
2. มองหาคำว่า "Online coach and train ticket reservation" แล้วตรงคำว่า from ให้ใส่ว่า "Prague Na Knizeci" คำว่า to ให้ใส่ "cesky krumlov AN หรือ cesky krumlov Spicak" สองที่นี้คือชื่อป้ายรถบัสที่เราจะเลือกลง จะลงป้ายไหนก็ได้ ขาไปจะลงที่หนึ่ง ขากลับอาจขึ้นอีกป้ายหนึ่งก็ไม่มีปัญหา มันต่างกันตรงนี้ครับ นึกภาพตามนะครับ
** เขตเมืองเก่าของเชสกีกรุมลอฟ (ที่ที่เราจะเข้าไปเที่ยว) จะอยู่ตรงกลาง และป้าย Spicak จะอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเก่า (ป้ายแรกที่รถไปถึง) เมื่อลงจากป้ายนี้แล้วต้องเดินเข้าไปในเมืองเก่า โดยผ่านแม่น้ำ และปราสาทก่อนแล้วถึงเข้าไปในเมือง ข้อดีของการลงป้ายนี้ คือ เดินไปปราสาทเชสกีกรุมลอฟไม่ไกล แต่ถ้าเป็นป้าย AN (ป้ายที่สอง) จะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเก่า ข้อดีของป้ายนี้ คือ เมื่อลงจากรถแล้วเดินเข้าเขตเมืองเก่าได้เลย ถ้าจะไปเที่ยวตัวปราสาทมันจะไกลกว่าเดินไปจากป้าย Spicak
*** ผมสรุปให้ง่าย ๆ แบบนี้นะครับ +++ ใครที่มีโปรแกรมที่ต้องไปนอนในเมืองนี้ให้ลงป้าย AN///ถ้าใครคิดจะไปเที่ยวแล้วไม่อยากเดินไกลก็ให้ลงที่ Spicak///แต่ถ้าใครอยากไปเที่ยวแล้วให้ครบและไม่อยากเดินย้อนไปย้อนมาก็ลง AN แต่กลับ Spicak
^^ ดูตามรูปจุดแดง ๆ คือ Spicak ตรงกลางที่แม่น้ำโอบเป็นรูปตัวยูคือเมืองเก่า
^^ ดูตามรูปจุดแดง ๆ คือ AN ตรงกลางที่แม่น้ำโอบเป็นรูปตัวยูคือเมืองเก่า
3. คราวนี้ก็มาเลือกวันที่เราจะเดินทางตรงช่อง "Departure" และตรงคำว่า "Passengers" ให้เราเลือกอายุและประเภทผู้โดยสาร หลายคนอาจสงสัยว่าเรามันคือประเภทไหน เพราะบางคนอายุแก๊แก่ แต่หน้าเด๊กเด็ก หรือบางคนอายุนิดเดียวแต่หน้าไปไกลแล้ว ก็ดูตรงหลังประเภทผู้โดยสารเขาจะบอกไว้เลยว่า คำว่าเด็กคืออายุเท่าไร คนแก่คืออายุเท่าไร ผู้ใหญ่คืออายุเท่าไร ให้ถือเอาตามอายุที่เขาระบุมา หนังหน้าไม่เกี่ยว !!!!! อิอิ เมื่อกรอกทุกอย่างเรียบร้อยให้กดคำว่า "SEARCH”
4. เมื่อกดแล้วก็จะเข้ามาสู่หน้าต่างแบบนี้ครับ
Dep คือ เวลารถออก
Arr คือ เวลารถถึง
Free คือ จำนวนที่นั่งที่เหลือ
ต้องการรอบไหนก็กดรอบนั้น (กดตรงรูปรถเข็นสีฟ้า) เมื่อกดแล้วจะมีรอบที่เราต้องการขึ้นมาอยู่ด้านบน (ดูรูปด้านล่างประกอบ)
ให้ตรวจดูว่าใช่วันที่เราจองไหม ราคาอยู่ที่ 7.40 ยูโร สำหรับผู้ใหญ่ ถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนอะไรก็กดคำว่า "Purchase"
5. เมื่อเข้ามาแล้วจะเป็นรูปรถและที่นั่ง แดง ๆ หมายถึงมีคนจองแล้ว ส่วนเขียว ๆ หมายถึงว่าง
อยากได้ที่นั่งไหนก็จองเลยครับ เมื่อกดไปแล้วที่นั่งที่เราเลือกก็จะขึ้นเป็นสีเหลือง >> แล้วก็ให้กดคำว่า "Create reservatio"
จะขึ้นหน้าต่างให้เราตรวจรายละเอียดอีกครั้ง ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็กดคำว่า "Pay"
6. คราวนี้ก็จะขึ้นจำนวนเงินที่เราต้องจ่าย >> ถ้าคิดว่าพร้อมจะเสียเงินแล้ว >> ให้เราดูด้านล่างตรงคำว่า "Electronic Payment" ให้เราเลือกประเภทของบัตรเครดิตเราครับ
7. เมื่อเลือกแล้วเขาก็จะให้ใส่ Email ที่ใช้ยืนยันการจองและจ่ายเงิน (สำคัญนะครับ ต้องใส่ Email ที่ใช้ได้จริง เพราะพอซื้อเสร็จแล้วเราต้องไปพริ้นท์ E Ticket จากอีเมลนี้) เมื่อกรอกเสร็จก็ไปต่อโดยกดคำว่า "Continue"
8. มาถึงหน้าต่างการกรอกข้อมูลบัตรเครดิต ให้เรากรอกเลขบัตร/วันหมดอายุ/รหัสหลังบัตร >> แล้วก็กด "PAY NOW"
9. เข้าสู่หน้าต่างที่ต้องกรอก รหัส OTP ให้เรากรอก หลังจากนั้นก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
10. รอการยืนยันใน Email เมื่อได้รับ Email แล้ว ก็ให้เราพริ้นท์ใบนี้ไปแสดงเป็นตั๋วตอนขึ้นรถ _ _ _ หมดแล้วครับ ยากไหมครับ ส่วนวิธีจองจากเชสกีกรุมลอฟไปปรากก็ใช้วิธีเดียวกัน
หมายเหตุ : รถของ Student Agency มีฟรี Wi-fi และที่นั่งก็สบายครับ ส่วนใครมีกระเป๋าใบใหญ่ก็นำไปได้ไม่เสียเงินเพิ่ม
คราวนี้มาดูต่อในเส้นทางปราก >> บูดาเปสต์ และบูดาเปสต์ >> เวียนนา กันครับ เดิมที่เราจองไปเชสกีกรุมลอฟ เราใช้บริการของ Student Agency แต่ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนมาใช้บริการของ Orangeways แทน ซึ่งมีวิธีการจองที่คล้าย ๆ กัน แต่มีจุดต่างกันนิดหน่อย ลองดูครับว่าจองยังไง
(เส้นทางไปบูดาเปสต์ของ Student Agency ก็มี แต่จะมีแค่รอบเช้า 07.00 น., 12.00 น., 15.00 น. ถ้าใครสนใจลองเข้าไปดูได้ครับ studentagencybus.com/en)
ปราก >> บูดาเปสต์ และบูดาเปสต์ >> เวียนนา
1. ให้เข้าเว็บ >> http://orangeways.com เมื่อเข้ามาแล้วอย่างแรกให้เปลี่ยนภาษา (มุมบนขวา) จากภาษาฮังการี (Magyar) เป็นภาษาอังกฤษ (English)
2. ให้มองที่กรอบสีม่วง ๆ ด้านซ้าย ให้ทำตามนี้ครับ >> กดคำว่า one-way//from (Prague)//to where (Budapest)//departure date (วันเดินทาง)//Number of passengers (คือจำนวนผู้โดยสาร) >> เมื่อกรอกหมดกดคำว่า "Search"
3. จะขึ้นหน้าต่างรอบรถขึ้นมาให้ดู (เส้นทางปราก-บูดาเปสต์ วันหนึ่งจะมีสองรอบ คือ รอบ 15.30 น. กับ 17.00 น.) ซึ่งมันจะระบุไว้ชัดเจน
Route >> รอบ
Departure >> วัน เวลา ที่เดินทาง
Station (อันแรก) >> สถานีต้นทาง
Arrival >> วันเวลาที่จะไปถึง
Station (อันหลัง) >> สถานีปลายทาง
Price >> ราคา (15.30 น. จะถูกกว่ารอบ 17.00 น. รอบ 17.00 น. อยู่ที่ราคา 21 ยูโร)
** ฝากข้อสังเกตไว้นิดหนึ่ง (ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตามใจ หรือใครทำแล้วไม่ประสบผลสำเร็จก็ถือว่าไม่มีโชค) เวลาจองรถของที่นี้ลองจองเป็นเป็นคนแรก ๆ ของคันดูสิครับ คุณจะพบว่าราคาของคุณจะถูกกว่าคนอื่น ๆ
ชอบรอบไหน ต้องการรอบไหน ก็กดเลือกแล้วให้กดคำว่า "Choose and Continue" (ด้านล่างขวา)
4. จะขึ้นหน้าต่างให้เรากรอก ชื่อ วันเดือนปี ประเทศ ที่อยู่ เบอร์โทร (กรอกไปให้หมดที่เขาให้กรอก) และก็จะมีรูปรถคล้าย ๆ ของ Student Agency ขึ้นมาให้เราเลือก แล้วก็เลือกที่นั่ง แต่ไม่ต้องคิดมากนะครับว่านั่งตรงไหนดี เพราะต่อให้คุณเลือกที่นั่งไปแล้วพอขึ้นรถจริง ๆ เลขที่นั่งก็ไม่มีความหมาย เพราะคนขับเขาจะบอกเลยว่า "ใครอยากนั่งไหนก็นั่ง ไม่จำต้องดูเลขที่จองมา" เมื่อเสร็จแล้วก็กดคำว่า "Choose and Continue"
5. จะเข้ามาอีกหน้าต่างหนึ่ง ให้ติ๊กตรงคำว่า Online card payment (หมายถึงว่าเราจะจ่ายเงินโดยใช้บัตรเครดิต) แล้วกดคำว่า "Save and continue" แต่ก่อนกดช่วยดูรายละเอียดทางขวาหน่อยนะครับว่ามันถูกต้องไหม
6. ขั้นตอนการจ่ายเงิน ให้เรากรอกเลขบัตรเครดิต/วันหมดอายุ/เลขหลังบัตร เมื่อกรอกเสร็จก็ให้กดคำว่า "Forward"
7. เข้าสู่หน้าต่างที่ต้องกรอก รหัส OTP ให้เรากรอก หลังจากนั้นก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
8. รอการยืนยันใน Email เมื่อได้รับ Email แล้ว ก็ให้เราพริ้นท์ใบนี้ไปแสดงเป็นตั๋วตอนขึ้นรถ
เสร็จแล้วครับการซื้อตั๋วจากปรากไปบูดาเปสต์ ส่วนวิธีการซื้อตั๋วจากบูดาเปสต์ไปเวียนนาก็สามารถซื้อจาก Orangeways ได้เลยใช้วิธีเดียวกัน
** 6.2 การเดินทางในเมือง
ปราก
ขอเริ่มที่ปรากก่อนเลยครับ ปรากถือเป็นเมืองหนึ่งที่ระบบคมนาคมไปถึงทุกที่ในเมือง แม้อาจดูงง ๆ หน่อย เพราะมีทั้งรถใต้ดิน (Metro) รถบัส (ฺBus) และรถราง (Tram) การขึ้นและใช้บริการก็ดูจะไม่ค่อยง่ายสำหรับมือใหม่ เพราะที่นี่ใช้ระบบคิดค่าบริการเป็นนาที แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะศึกษาและทำความเข้าใจ (ตอนนี้ถือว่าดีกว่าสมัยก่อนมาก เพราะเมื่อก่อนมีตั๋วหลายประเภทยิ่งกว่าในปัจจุบัน ดู ๆ ไปงงยิ่งกว่าตอนนี้เยอะ) คราวนี้มาเริ่มกันเลยครับ
ถ้าไม่นับ Taxi ปรากมีระบบขนส่งมวลชนหลัก ๆ อยู่ 3 ประเภท ได้แก่ รถใต้ดิน (Metro) รถบัส (ฺBus) และ รถราง (Tram)
รถใต้ดิน (Metro)
รถใต้ดินในปรากใช้งานไม่ยากและดูแล้วไม่งงครับ เพราะทั้งเมืองมีเพียงแค่ 3 สายแค่นั้น แผนที่ก็ดูไม่ซับซ้อนหรือมีจุดตัดมากมายเหมือนเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ซึ่ง 3 สาย ได้แก่
Line A (สายสีเขียว) เริ่มจาก Skalka-Dejvick
Line B (สายสีเหลือง) เริ่มจาก Cerny most-Zlicin
Line C (สายสีแดง) เริ่มจาก Nadrazi Holesovice-Haje
แผนที่รถใต้ดิน (ส่วนจุดท่องเที่ยวไหนอยู่สถานีไหนเดี๋ยวผมค่อยไปบอกในรีวิวนะครับ ตอนนี้ขอดูให้เป็น และรู้วิธีขึ้นก่อน)
รถใต้ดินที่ปรากจะให้บริการตั้งแต่ตีห้า-เที่ยงคืน โดยรถจะเข้ามายังสถานีทุก 4-8 นาที (ในชั่วโมงเร่งด่วนจะวิ่งทุก ๆ 2-3 นาที)
รถราง (Tram)
อันนี้แหละครับตัวงง ระบบรถรางขออธิบายง่าย ๆ สำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เคยขึ้นก่อนนะครับ ระบบรถรางก็คล้าย ๆ รถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน ผสมกับรถเมล์บ้านเรา ที่บอกว่าเหมือนรถเมล์เพราะมันมีสาย เช่น สาย 4, 8, 527, 123 และสำคัญเราต้องจำว่าสายไหนไปไหน แต่ผมเชื่อว่าคุณจำได้ไม่หมดหรอกครับ เพราะที่นาคือปรากนะครับ ขณะสายรถเมล์ใน กทม. บ้านเรายังจำไม่หมดเลย แล้วจะไปนับประสาอะไรกับปราก ทางแก้คือให้คุณเอาใบนี้ไปด้วย (รูปด้านล่าง)
>> เห็นเส้นสีเขียว เหลือง แดงอ่อน ๆ ไหมครับ นั่นคือ รถใต้ดิน และเห็นสีแดงเลือดหมูที่เป็นเส้นดูมั่ว ๆ ไหมครับ นั่นแหละรถราง
>> บนเส้นดังกล่าวจะมีจุด ๆ เต็มไปหมด นั่นคือชื่อป้าย
>> วิธีใช้บริการรถราง คือ เราต้องรู้ก่อนว่าสถานที่ที่เราจะไปอยู่ป้ายไหน แล้วป้ายดังกล่าวมีรถรางสายไหนผ่าน (เดี๋ยวผมค่อยบอกตอนรีวิวนะครับว่าสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ต้องขึ้นสายไหนแล้วลงป้ายไหน)
>> โดยถ้าเราอยากรู้ว่าสายไหนวิ่งผ่านทางไหนบ้างให้ดูแบบนี้นะครับ (ดูภาพด้านล่างประกอบ)
^^ ดูเลขครับ ถ้าเลขไหนไปถึงไหนก็แสดงว่าสายนั้นไปถึงจุดนั้น
ถ้ายังงงดูใหม่ครับ ให้ดูเลข 22 หมายถึงรถรางสาย 22 >> ดูเส้นทางวิ่งครับ (เส้นสีเขียวที่ผมทำไว้)
ยังงงไหมครับ ? ถ้ายังงงอ่านใหม่หลาย ๆ รอบ ทำความเข้าใจอีกนิดหนึ่ง อ่านช้า ๆ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่ต้องไปรู้มันแล้วว่าสายไหนไปไหน ให้เลื่อนลงไปดูรีวิวผม แล้วก็ขึ้นตามที่ผมบอก แต่ถ้ายังไม่เข้าใจอีกก็ซื้อทัวร์ไปจ้า
เห็นไหมครับผมบอกแล้วว่ามันเหมือนรถเมล์ แต่ที่เขาไม่เรียกว่ารถเมล์เพราะมันวิ่งบนรางเหมือนรถไฟ
คุณรู้หรือไม่ว่าไอ้เจ้า Tram หรือรถรางแบบนี้ เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วยุโรป เพราะมันดีต่อคนใช้บริการ เนื่องจากเมื่อถึงป้ายก็ลงได้เลยเดินไม่ไกลเหมือนรถไฟฟ้าหรือใต้ดิน และดีต่อผู้ให้บริการเพราะใช้งบในการก่อสร้างค่อนข้างถูกกว่า แล้วคุณเชื่อหรือไม่ว่าเมืองไทยบ้านเราเคยมี Tram แบบนี้ใช้มาก่อน ที่ BTS หรือ MRT จะคิดโครงการขึ้นมาอีก
*** มาต่อกันที่ปรากครับ รถรางในปรากเปิดบริการตั้งแต่เวลาตีสี่ครึ่งถึงเที่ยงคืน โดยมีรถวิ่งทุก 8-10 นาที (แล้วแต่สาย) ในวันธรรมดา และ 8-15 นาที (แล้วแต่สาย) ในวันหยุด เว้นแต่รถสาย 51-58 จะวิ่งตั้งแต่ เที่ยงคืนครึ่งถึงตีสี่ครึ่งของทุกวัน โดยจะมีวิ่งทุก ๆ 40 นาที
รถบัสหรือรถเมล์ (Bus)
คล้ายรถรางครับ คือมีเป็นสาย ๆ เปิดบริการตั้งแต่ตีสี่ครึ่งจนถึงเที่ยงคืน แต่ถ้าคุณแค่ไปปรากเพื่อเที่ยวไม่ได้ไปทำงานหรือเรียน ก็ไม่ต้องไปจำหรอกครับว่าสายไหนไปไหนบ้าง เพราะส่วนใหญ่รถรางและใต้ดินก็ครอบคลุมทั่วทั้งเมืองแล้ว เว้นแต่มี 2 สาย ที่คุณต้องจำให้ขึ้นใจเลย คือ สาย 119 กับ 100 เพราะสองสายนี้ มันจะนำคุณจากสนามบินเข้าสู่ในเมือง (รถรางหรือใต้ดินไม่มีไปถึงสนามบิน)
- สาย 119 จะวิ่งระหว่างสนามบินกับสถานี Dejvická (เมโทรสายสีเขียว)
- สาย 100 จะวิ่งระหว่างสนามบินกับสถานี Zličín (เมโทรสายสีเหลือง)
เมื่อรู้แล้วว่าระบบขนส่งมวลชนในปรากมีอะไรบ้าง ก็มาดูต่อครับว่าเขาคิดค่าบริการยังไง
ค่าบริการ
ในปรากคิดค่าบริการการใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นนาที โดยจะอยู่ในรูปแบบตั๋ว ซึ่งตั๋วแต่ละชนิดมีราคา ดังนี้
1. Single-trip ticket (30 minutes) คือ ตั๋วที่คุณสามารถใช้บริการอะไรก็ได้ (รถราง ใต้ดิน รถเมล์) นับตั้งแต่เริ่มใช้บริการเป็นเวลา 30 นาที
ราคา : ผู้ใหญ่ราคา 24 Kč เด็ก 6-15 ปีราคา 12 Kč ถ้าอายุไม่ถึง 6 ปี สามารถขึ้นรถทุกชนิดได้ฟรี
2. Single-trip ticket (90 minutes) คือ ตั๋วที่คุณสามารถใช้บริการอะไรก็ได้ (รถราง ใต้ดิน รถเมล์) นับตั้งแต่เริ่มใช้บริการเป็นเวลา 90 นาที
ราคา : ผู้ใหญ่ราคา 32 Kč เด็ก 6-15 ปีราคา 16 Kč
3. Short-term
- 24 hour pass ราคา 110 Kč (ตั๋วใช้ได้ 24 ชั่วโมง)
- 3 day pass ราคา 310 Kč ( ตั๋วใช้ได้ 72 ชั่วโมง)
- 5 day pass ราคา 500 Kč ( ตั๋วใช้ได้ 120 ชั่วโมง)
4. Long-term
- ตั๋ว 30 วัน ราคา 550 Kč
- ตั๋ว 90 วัน ราคา 1,480 Kč
- ตั๋ว 1 ปี ราคา 4,750 Kč
หมายเหตุ : 1 โครูนาเช็ก (CZK / Kč) เท่ากับ 1.35-1.7 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน)
*** ตั๋วแต่ละประเภทหาซื้อ ดังนี้
- ตั๋วแบบ Single-trip ticket และ Short-term สามารถซื้อตั๋วได้จากตู้อัตโนมัติ (รับเฉพาะเหรียญ) จุดบริการสถานีรถไฟใต้ดิน ร้านบุหรี่ แผงขายหนังสือพิมพ์ ร้านขายของทั่วไป หรือ tourist information
- ตั๋วแบบ Long-term มีขายเฉพาะที่สถานีรถไฟใต้ดินเท่านั้น
***** และ ๆๆๆๆ ข้อสำคัญคือ >>>> ก่อนใช้คุณต้องทำการตอกตั๋วเพื่อลงวันที่และเวลาที่เริ่มใช้ก่อนทุกครั้ง (ตอกแค่ครั้งแรกที่เริ่มใช้) โดย
- ถ้าเป็นรถบัสหรือรถราง เครื่องตอกตั๋วจะอยู่บนรถ ขึ้นไปแล้วค่อยตอก
-----> โดยวิธีตอก ให้เอาด้านที่เป็นหัวลูกศรแหลม ๆ จิ้มเข้าไปในเครื่อง
บูดาเปสต์
ถ้าเข้าใจระบบในปรากแล้ว บูดาเปสต์ก็ไม่ยาก เพราะระบบของปรากและบูดาเปสต์ มันถอดแบบกันมาเลย ทั้งรถราง ใต้ดิน และรถเมล์ การดูสายรถราง การตอกตั๋ว วิธีการคิดค่าบริการ ถ้าจะมีจุดต่างก็ดังนี้
1.เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋ว ถ้าเป็นที่ปราก >> จะใช้วิธีสุ่มตรวจ /// ถ้าเป็นที่บูดาเปสต์ >> เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วจะยืนตรวจอยู่หน้าสถานีรถใต้ดินเลย
2. ราคาที่บูดาเปสต์มีราคาแบบนี้
- Short section metro ticket ขึ้นรถใต้ดินไม่เกิน 3 ป้าย ภายใน 30 นาที $$$ ราคา 260 HUF
- Single ticket ขึ้นรถไฟใต้ดิน รถราง หรือรถเมล์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ห้ามต่อข้ามสายหรือข้ามระบบพาหนะ ยกเว้นรถไฟใต้ดิน สามารถนั่งข้ามสายได้และไม่จำกัดจำนวนป้ายภายในระยะเวลา 60 นาที $$$ ราคา 320 HUF
- Transfer ticket ขึ้นข้ามสายหรือข้ามระบบพาหนะได้ 1 ครั้ง โดยต้องทำการตอกตั๋ว 2 ครั้ง (ครั้งแรกและ 2) ยกเว้นรถใต้ดินให้ตอกแค่ครั้งเดียวและสามารถนั่งข้ามสายกี่ครั้งก็ได้ ภายในระยะเวลา 90 นาที $$$ ราคา 490 HUF
- 24-hour ขึ้นอะไรก็ได้ เปลี่ยนสายกี่ครั้งก็ไม่ผิด แต่ต้องใช้ภายใน 24 ชั่วโมง $$$ ราคา 1650 HUF
- 72-hour $$$ ราคา 3850HUF
** ราคาและเงื่อนไขไม่แน่นอน 100% อาจเปลี่ยนไปตามระยะเวลา ณ ตอนนั้น
*** 7-8 HUF (ฟอรินต์) = 1 บาท
คุณรู้หรือไม่บนแผ่นดินนี้ (ไม่นับเกาะ) รถไฟใต้ดินในบูดาเปสต์ถือเป็นรถไฟใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และสายที่เก่าแก่ที่สุด คือ สาย M1 (สีเหลือง) ถ้าคุณมีโอกาสได้ใช้บริการ คุณจะรู้เลยว่าสถานีรถไฟใต้ดินสมัยก่อนไม่ได้ใหญ่โตและมีทางออกมากมายเหมือนสมัยนี้ แต่ถ้าคุณไปบูดาเปสต์แล้วไม่มีโอกาสได้ใช้บริการก็ถือว่าน่าเสียดายแทนจริง ๆ
^^ แผนที่รถรางในบูดาเปสต์
^^ แผนที่รถใต้ดินในบูดาเปสต์
7. เตรียมอุปกรณ์การเดินทางและเครื่องใช้ส่วนตัว
7.1 กระเป๋า
ก็เหมือนทุก ๆ รอบที่ผมเดินทางครับ ไปประมาณ 10 กว่าวัน 2 คน ก็ใช้กระเป๋าเป้ใบใหญ่ ขนาด 55+10 L 1 ใบ และกระเป๋าเป้ใบเล็กอีก 1 ใบ ก็เพียงพอ แต่คำว่าพอของผมไม่ใช่เอาไปเป็น 10 ชุดนะครับ เอาไปพอได้เปลี่ยน เช่น กางเกง 3 เสื้อ 3 เสื้อโค้ท 1 และของทั่วไปอีกนิดหน่อย
^^ รูปเก่าในทริปก่อน
พอพูดถึงกระเป๋าเป้ ขอเม้าท์หน่อย คนที่ชอบและอยากได้กระเป๋าเป้เดินทางดี ๆ ไว้ใช้สักใบ ลองไปดูที่เยอรมนีได้นะครับ ราคามีตั้งแต่แบบพอ ๆ กับเมืองไทย จนถึงถูกกว่าเมืองไทยเกือบครึ่ง ของอย่างนี้ต้องค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ หา แต่ถ้าเป็นคนชอบเดินทางแล้วยังไม่มีไว้ในครอบครอง น่าซื้อเก็บไว้จริง ๆ ครับ ถ้าใครสนใจถามพิกัดมาได้นะครับเดี๋ยวบอกให้ แต่ถ้ามีใช้อยู่แล้วก็ไม่ต้องไปไขว่คว้าหรอกครับ เดี๋ยวนี้เงินทองหายาก >> หลัง ๆ ผมท่องคำนี้ไว้ตลอด "ถ้าของสิ่งไหนที่เรามีแล้วและยังใช้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ ต่อให้ของนั้นถูกเพียงใด จงตัดใจ ๆๆๆๆ" ซึ่งมันก็ได้ผลจริง ๆ เหมือนพวกกระเป๋าเป้ที่บอก คือจะบอกว่าถูกนะ แต่คิดไปคิดมาของเดิมก็มีอยู่และใช้ได้ เลยไม่เอาดีกว่า (แต่พอกลับมาถึงเมืองไทยเข้าไปเดินในห้าง เห็นราคาเมืองไทยแล้วแอบเสียดาย 5555)
7.2 เครื่องแต่งกายและภูมิอากาศ
กรุงปรากเป็นเมืองที่ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แทบจะไม่เคยมีสภาพอากาศที่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ประเทศสาธารณรัฐเช็ก (กรุงปราก) ตั้งอยู่ในเขตอบอุ่นมี 4 ฤดู ซึ่งแต่ละฤดูจะมีระยะเวลาเท่า ๆ กัน โดยปกติแล้วอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวประมาณ 0 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อนจะประมาณ 25 องศาเซลเซียส ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายนจะเป็นช่วงที่อากาศกำลังสบายและน่าเที่ยวที่สุด
กรุงปรากมีภูมิอากาศแบบภาคพื้นทวีป คือ มีอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน และอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศของกรุงปรากได้รับอิทธิพลทั้งจากทางทิศตะวันออก ได้แก่ ไซบีเรียและทางตะวันตก ซึ่งได้แก่ มหาสมุทรแอตแลนติก ช่วงฤดูร้อนอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 35 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูหนาวอุณหภูมิอาจลดต่ำลงถึง -15 (หรือถึง -25) องศาเซลเซียสได้ อุณหภูมิสูงสุดช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน คือ 22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 12 องศาเซลเซียส มีแสงแดดเฉลี่ยประมาณ 7 ชั่วโมง ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนเป็นช่วงเดือนที่มีแสงแดดจัดมากที่สุด ส่วนช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมและสิงหาคมเป็นช่วงที่มีฝนตกมากที่สุด ไม่ค่อยมีหิมะตกในกรุงปรากในฤดูหนาว ระดับน้ำฝนค่อนข้างสูงตลอดปี อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง
ส่วนช่วงฤดูร้อนอาจมีพายุฝนฟ้าคะนองได้ ถ้าวางแผนจะท่องเที่ยวกรุงปรากในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวคุณต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเจอกับร้านอาหาร โรงแรม และตัวเมืองที่มีนักท่องเที่ยวแน่นขนัด แต่จริง ๆ แล้วกรุงปรากสวยงามตลอดทุกฤดู ไม่ว่าอากาศจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้โปรดจำไว้เสมอว่าในช่วงฤดูร้อนคุณภาพอากาศในกรุงปรากอาจแย่ลงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัญหามลพิษ ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับผู้ทีมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แม้ว่าอากาศช่วงปีใหม่หนาวจัด แต่กรุงปรากก็ยังคงเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับเทศกาลปีใหม่และเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
*** เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เตรียมตัวอย่างไรให้เหมาะกับกรุงปราก
เสื้อผ้าแบบลำลองจะเหมาะกับแทบทุกโอกาส ในฤดูร้อนควรเป็นเสื้อผ้าเนื้อบางเบา แต่อย่าลืมเตรียมตัวเผื่อสายฝนที่อาจโปรยปราย รวมทั้งนำเสื้อผ้าอุ่น ๆ ติดตัวมาด้วย เผื่อไว้สำหรับอากาศเย็น ๆ ในช่วงค่ำ ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงควรเตรียมเสื้อโค้ทหรือแจ็คเก็ตหนา ๆ ส่วนฤดูหนาวจำเป็นต้องใช้เสื้อโค้ท หมวกและถุงมือ
หมายเหตุ : ลักษณะภูมิอากาศของบูดาเปสต์ก็มีความใกล้เคียงกับปราก (ภาพและเนื้อหาเรื่องสภาพภูมิอากาศนำมาจากเว็บ www.prague.fm)
7.3 โทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสาร
มีหลายวิธีดังต่อไปนี้ครับ
1. เปิดบริการโรมมิ่ง
โรมมิ่ง (International Roaming) ซึ่งเป็นการให้บริการจากเครือข่ายมือถือในประเทศที่คุณใช้อยู่ เพื่อให้คุณสามารถใช้เบอร์เดิมได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
2. ซื้อซิมในท้องที่โทรกลับเมืองไทย
เป็นอะไรที่หาได้ไม่ยากครับ ตามร้านค้าทั่วไป สนามบิน สถานีรถไฟ มีขายกันอยู่มากมาย และสำคัญค่าบริการก็ถูกกว่า วิธีที่ 1 กับ 3 แต่ข้อเสียของวิธีนี้ คือ คุณไม่สามารถใช้เบอร์เดิมที่คุณใช้อยู่ในเมืองไทยได้
3. บริการเช่าหรือซื้อซิมจากบริษัทในเมืองไทย
** ซึ่งผมเลือกใช้วิธีที่ 3 เพราะอะไรถึงไม่ใช้วิธีที่ 1 บอกเลยว่าแพง และทำไมถึงไม่ใช่วิธีที่ 2 บอกเลยว่าถูกจริง แต่ผมต้องการใช้เบอร์เดิมและต้องการความสะดวกในการเติมเงิน หรือโทรติดต่อทางบ้านได้ในเวลาต่อเครื่อง ดังนั้นทางเลือกในข้อสามจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
และเหมือนทุกครั้งที่ผมเดินทาง คือ ผมซื้อซิมยี่ห้อหนึ่งไปจากเมืองไทย (ไม่ขอเอ่ยชื่อนะครับเดี๋ยวจะหาว่าผมเป็นม้า และอาจเป็นการผิดกฎเว็บ)
** ขอเม้าท์หน่อย นานมาแล้วมีคนมาตั้งกระทู้เรื่องซิมท่องเที่ยวในพันทิป แบบกระทู้แนวโฆษณาสินค้า ซึ่งมันผิดกฎของเว็บ ผลคือโดนลบภายในไม่กี่นาที แต่ไม่รู้โชคดีหรือด้วยความที่ตาผมเร็ว ผมจดเบอร์ทันและโทรติดต่อถามบริษัทในเวลาต่อมา ถามไปถามมาผมรู้สึกว่าราคาค่าโทรมันโหดอยู่นะ (แต่ก็ถูกกว่าเปิดบริการโรมมิ่ง) ประเด็นสำคัญ คือ ซิมตัวนี้มันตรงสเปคผม คือ " ซื้อซิมครั้งเดียวใช้เบอร์เดิมตลอด ไม่มีคำว่าค่าโทรรั่วไหลเพราะใช้ระบบเติมเงิน ที่ชอบมาก ๆ คือไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนในโลก ถ้าค่าโทรใกล้หมด สามารถเติมเงินโดยการหักยอดบัตรเครดิตได้ทันที และถ้าใช้ไม่หมดก็เก็บไว้ใช้ได้ต่อ" ผมเลยลองตัดสินใจซื้อซิมดู ค่าซิมถ้าจำไม่ผิดประมาณ 500 บาท (ซื้อครั้งเดียวใช้ได้ตลอด) ซึ่งเมื่อใช้บอกตรง ๆ ครับ ถูกใจมาก สัญญาณดี ไม่มีปัญหา โดยรวม ๆ ถือว่าโอเคเลย แต่ถ้าใครอยากได้ค่าโทรที่ถูกลงมาหน่อยและไม่ซีเรียสว่าต้องใช้เบอร์เดิม ๆ ก็แนะนำว่าไม่จำต้องใช้แบบผมหรอกครับ ให้ซื้อซิมท้องถิ่นหรือติดต่อทางด้วยอินเทอร์เน็ตดีกว่าไม่แพง
ป.ล. ใครเดินทางบ่อย ๆ แล้วมีซิมตัวไหนดี แนะนำกันมาได้นะครับ ถือเป็นการแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน
7.4 คาดคะเนค่าใช้จ่าย
เป็นคำถามที่พบบ่อยมากจากเพื่อน ๆ หรือจากใครหลาย ๆ คน และเมื่อก่อนก็เป็นคำถามที่ถามตัวเองบ่อย ๆ ว่าถ้าอยากไปทริปนี้ต้องใช้เงินเท่าไร เก็บเงินมาได้ก้อนหนึ่งไม่วายก่อนไปยังมาคิดอีก ต้องแลกเงินไปเท่าไรถึงจะพอ
โอ้ว !!! ซาร่าคำถามเหล่านี้จะหมดไปแค่คุณใช้วิธีนี้
- อันดับแรกให้คิดไว้เลยว่าค่ากินมื้อละประมาณเท่าไร
- ค่าที่พักคืนละเท่าไร
- ค่าเดินทางเท่าไร
- ค่ากินขนม เข้าห้องน้ำ ...... เมื่อได้จำนวนเงินดังกว่ามาแล้วให้ใช้สูตรนี้
ค่ากินต่อมื้อ x จำนวนมื้อ = a
ค่าที่พัก (ที่ยังไม่ได้จ่ายผ่านบัตรเครดิต) x จำนวนคืนเข้าพัก = b
ค่าเดินทาง x จำนวนครั้ง = c
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงค่าช้อปปิ้ง = d
"A + B +C +D = เงินขั้นต่ำที่ต้องเตรียมไป" ซึ่งอาจมีคนบอกว่าที่ยากไม่ได้ยากเวลาคิดแต่มันยากตรง
1. ไม่รู้ราคาที่แน่นอนกันแน่ว่าแต่ละอย่างเท่าไร
2. พอรู้แล้วไม่รู้ว่าจะเอาตังค์ที่ไหนไป
ข้อ 1 ไม่ยากครับ ค่าที่พัก ค่ากิน ค่าเดินทาง ก็เข้าไปหาข้อมูลดูของคนอื่นเขาว่าเขากินกันมื้อละเท่าไร แล้วลองมาคิดดูสิว่าถ้าเป็นเรากินของถูกกว่าเขาไหวไหม อยู่ได้ไหม เข้าไปดูว่าคนส่วนใหญ่พักคืนละเท่าไร ถ้าให้แน่นอนกว่านั้นก็เข้าไปดูในเว็บพวกที่เปิดให้จองโรงแรมดู จะทำให้เรารู้ราคาที่พัก รู้ว่าเมืองนี้ค่าที่พักแพงจัง เมืองนี้ถูกจัง แล้วลองคิดเล่น ๆ ส่วนค่าใช้จ่ายทั่วไปผมแนะนำว่าถ้าอยากรู้ให้นำเงินที่เคยใช้อยู่ในเมืองไทยคูณด้วยสาม (จริง ๆ ไม่ถึงหรอกแต่ตีเผื่อ ๆ)
ข้อ 2 หลายคนบอกนี้แหละปัญหา คือ รู้นะ คาดคะเนค่าใช้จ่ายได้แต่ไม่มีตังค์ไป ข้อนี้ผมแนะนำให้ไปดูกระทู้กระทู้หนึ่งของน้าคนหนึ่ง ซึ่งน้าแกมีแนวความคิดที่ดีนะ ผมชอบ น้าแกบอกว่าจะเก็บตังค์ไปรัสเซีย และค่อย ๆ เก็บค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ ผ่านไปสักระยะหนึ่งน้าแกก็มาบอกความเคลื่อนไหวว่าตอนนี้เก็บได้เท่าไรแล้ว โดยถ้าจำไม่ผิดผมว่าอีกหลายปีเหมือนกันที่เงินจะครบตามจำนวนที่กำหนด และผมเชื่อเลยว่าถ้าน้าแกจะไปวันนี้พรุ่งนี้ก็ไปได้ เงินไม่น่าใช่ปัญหาของน้าแก แต่เหมือนน้าแกบอกว่าแบบนี้แหละคือความภูมิใจ เพราะถ้าเก็บครบจนไปรัสเซียได้มันเหมือนการได้ชนะใจตัวเอง
บอกตรง ๆ ใจน้าแกโคตรหล่อเลย ที่ผมเอามาเล่าเพราะอยากให้ทุกคนดูเป็นตัวอย่าง ผมเชื่อว่าเกิน 80% ของคนที่เข้ามาเล่นห้องบลูชอบเที่ยว ดังนั้นพยายามทำความฝันให้เป็นจริงครับ อะไรที่ไม่จำเป็นจะต้องซื้อก็ไม่ต้องซื้อ อะไรที่ไม่จำเป็นต้องกินก็ไม่ต้องกิน อะไรไม่จำเป็นต้องเสียก็ไม่ต้องเสีย ผมเป็นอีกคนหนึ่งชอบเที่ยวและเมื่อก่อนชอบดื่ม ซึ่งผมคิดว่าดื่มไปมันก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ผมเลยเลิกดื่มแบบเด็ดขาด เงินมันก็เหลือจากส่วนนี้ ผมเป็นคนชอบสูบบุหรี่ ผมคิดว่าสูบไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ ผมก็เลิกสูบแบบเด็ดขาด เงินก็เหลือ และสำคัญผมเป็นคนชอบเล่นการพนัน ซึ่งผลที่ออกมามันจะโดนกินมากกว่าได้ วันนี้ผมก็เลิก ผมชอบกินร้านอาหารดี ๆ เป็นประจำ หลัง ๆ ผมเห็นว่ามันก็ไม่จำเป็นที่เราต้องไปกินบ่อย ๆ และอะไรอีกมากมายที่ผมเห็นว่ามันลดค่าใช้จ่ายได้ ผมก็ลด มันไม่ใช่แค่การได้ไปเที่ยว แต่มันหมายถึงการได้มีเงินเก็บไปในตัว และผมเชื่อว่าทุกคนต้องมีรายจ่ายที่ไม่จำต้องจ่าย ยังไงลองหันกลับไปดูตัวเองตามที่ผมบอกนะครับ แล้วค่อย ๆ ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ค่อย ๆ เก็บ ค่อย ๆ ออม มันไม่ยากถ้าเราคิดจะทำจริง ๆ ส่วนถ้าใครมีตังเหลือ ๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน
ป.ล. ถ้าใครมีกระทู้น้าคนที่เก็บเงินไปรัสเซียช่วยเอามาแชร์หน่อยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้ใครหลาย ๆ คนที่กำลังเก็บเงินไปเที่ยว
7.5 แลกเงิน
ผมบอกเลยแม้ค่าเงินยูโรที่อ่อนอยู่แบบในปัจจุบันนี้จะเป็นปัญหาของใครต่อใครมากมาย แต่ถือเป็นโชคนิดหน่อยสำหรับคนที่กำลังจะไปเที่ยวยุโรป เมื่อก่อนการที่เราจะได้สัก 1 ยูโร เราต้องถือเงินบาทไปถึง 45 บาท แต่ ณ ปัจจุบันเราถือไปแค่ 37-38 บาท ก็ได้มาแล้ว 1 ยูโร แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะมีหลายคนในพันทิปบอกว่า "ถ้าค่าเงินเขาอ่อน ราคาค่าสินค้าและบริการเขาก็จะปรับเพิ่มขึ้น" อันนี้ผมก็ไม่รู้นะว่าจริงไหม เพราะผมไม่ได้สัมผัสในเชิงลึก หรือไปใช้ชีวิตอยู่แบบนาน ๆ ดังนั้นจึงตอบไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ในคำพูดนี้ รู้เพียงแต่ว่าค่ารถ ค่าโรงแรม ก่อนผมไป (40.95 บาท ต่อ 1 ยูโร) กับตอนนี้ที่ผมกลับมาแล้ว (37-38 บาท ต่อ 1 ยูโร) ราคาก็เท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด ซึ่งถ้ามีส่วนไหนปรับเพิ่มขึ้นเพราะค่าเงินที่อ่อนตัวลงก็ขออภัยด้วยนะครับ เพราะผมมองแบบผ่าน ๆ
แต่ช่างมันเถอะ ยังไงเราก็เป็นแค่นักท่องเที่ยว จะกี่บาท แลกได้กี่ ยูโรก็ช่าง มาเข้าเรื่องเราต่อดีกว่า เช็กและ ฮังการีแม้เป็น 1 ในประเทศในกลุ่ม EU แต่ไม่ได้ใช้เงินสกุลยูโรนะครับ และสำคัญบอกเลยว่าทั้งสองประเทศนี้บางที่ก็รับเงินยูโร บางที่ก็ไม่รับ เช่น
ร้านอาหาร >> รับบางร้าน
ร้านขายของทั่วไป >> รับบางร้าน
ร้านกาแฟ >> ไม่ค่อยรับ
โรงแรม >> รับเกือบทุกที่
ที่ขายบัตรโดยสารในบูดาเปสต์ >> ไม่รับเลย
KFC >> ทุกร้านที่ผมไปเจอมาไม่รับ
ที่ขายตั๋วอาคารรัฐสภาฮังการี >> ไม่รับ
เห็นไหมครับว่ามักจะไม่รับมากกว่ารับ ดังนั้นเวลาอยู่ในเช็กก็ต้องใช้เงินสกุลเช็ก อยู่ในฮังการีก็ใช้เงินสกุลฮังการีดีที่สุด ซึ่งเงินทั้งสองสกุลนี้ในเมืองไทยไม่มีให้แลก ถึงมีก็หายาก ถึงหาได้ก็ราคาไม่ดี สรุปเลย >>> ให้เราใช้เงินบาทแลกเป็นยูโรไปแล้วเอาเงินยูโรไปแลกเงินเช็กและฮังการีเอา
เช็ก : ประเทศเช็กใช้เงินสกุลที่มีชื่อว่า "โครูนาเช็ก" แต่ถ้าใครเคยดูละครเรื่องกลรักลวงใจ ที่พี่เคนแสดง จะสังเกตได้ว่าตัวละครในเรื่องมักจะไม่เรียกสกุลเงินของประเทศนี้ว่าโครูนาเช็กหรือโครูนา แต่กลับไปเรียกว่า "Czech Crown (เช็กคราวน์)" ซึ่งจริง ๆ แล้วจะเรียกแบบไหนก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะแม้แต่คนเช็กเองยังมีเรียก 2 แบบเลย ทั้ง Czech Crown, koruna หรือ Ceska koruna แต่คนอังกฤษส่วนใหญ่จะเรียกว่าเช็กคราวน์ซะมากกว่า ผิดกับคนไทยที่นิยมจะใช้คำว่าโครูนาเช็ก แต่ไม่ต้องไปใส่ใจครับเป็นอันว่ารู้กัน ไม่ว่าผมจะเรียกแบบไหน จาก 1 ใน 3 คำดังกล่าว ก็ให้หมายถึงเงินเช็กแล้วกันนะครับ
ลักษณะเงิน โครูนา มีดังนี้ครับ
โครูนา มีหน่วยย่อย คือ ฮาเลรู (haleru) โดย 100 ฮาเลรู = 1 โครูนา (ซึ่งเหรียญฮาเลรูที่พบกันบ่อย คือ 50 ฮาเลรู)
^^ เหรียญ 50 ฮาเลรู อย่าเข้าใจผิดเป็น 50 โครูนา นะ
^^ อันนี้หน้าตาเหรียญ โครูนา
ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าตัวย่อของโครูนา คือ Kč
^^ ส่วนนี้รูปแบงก์ครับ
ทำตามที่ผมบอกให้เราถือเงินยูโรไปแล้วค่อยไปแลกที่เช็ก ซึ่งในปรากเองก็มีร้านแลกเงินเป็นจำนวนมาก ตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น
- แถวจัตุรัสเมืองเก่ามีหลายร้านมาก
- สะพานชาร์ล อยู่ตีนสะพานก็หลายร้าน
- ตามถนนเส้นใหญ่ ๆ ก็จะมีให้เห็นอยู่ทั่วไป **ที่สำคัญอย่าแลกเงินกับคนที่เดินมาหาเราเด็ดขาด จำข้อนี้ไว้ให้ดี ต่อให้ราคาจะดีแค่ไหนก็ตาม
- ในสถานีรสบัส
- สนามบินและโรงแรม สองที่นี้มักจะคิดเรทที่แพงกว่าปกติ
อัตราแลกเปลี่ยน (โดยประมาณ)
1 ยูโร = 27-28 โครูนา
1 โครูนา = 1.3-1.6 บาท
ฮังการี : ประเทศฮังการีมีสกุลเงิน คือ โฟรินต์ หรือ ฟอรินต์ (Forint) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ ดังนี้
1 ยูโร = 303-309 โฟรินต์
1 บาท = 7.5-8.5 โฟรินต์
โดยอักษรย่อของเงินโฟรินต์ คือ (HUF)
หน้าตาของเงินเป็นแบบนี้
ส่วนสถานที่แลกจะบอกว่าในบูดาเปสต์ อาจหาแลกยากกว่าในปรากหน่อย แต่ก็ไม่ถึงขณะที่หาแลกไม่ได้เลย จุดที่สามารถหาแลก คือ
- ใกล้ ๆ แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ
- ในสถานีรสบัส (ปิดประมาณ 6 โมงเช้า)
- โรงแรมแต่อาจจะคิดเรทที่แพงกว่าปกติ
- แต่ถ้าใครแลกในจำนวนไม่มากและไม่อยากเสียเวลาไปเดินหาก็แลกไปจากปรากเลยก็ได้
คำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับทริปนี้
1. เดินทางมาทั้งหมด 10 กว่าวันในทริปนี้ ชอบเมืองไหนหรืออยากบอกเพื่อน ๆ ว่าเมืองไหนต้องห้ามพลาดเป็นเด็ดขาด ?
ตอบ : ปราก ข้อนี้ตอบไม่ยากเลยครับ เพราะต่อให้ต้องมาถามผมอีกกี่หนต่อกี่หน ผมก็บอกเลยว่าผมชอบปรากที่สุด สำหรับผมนะ ขอย้ำว่านี้คือความคิดและความเห็นส่วนตัวของผมล้วน ๆ แม้ปรากอาจจะไม่ใช่เมืองที่สวยที่สุดเท่าที่ผมเคยไปมา หรือเมืองที่สวยที่สุดในทริปนี้ ถ้าว่ากันจริง ๆ แล้วเอาแค่ความสวยหรืออลังการของสถาปัตยกรรม ปรากอาจสู้บูดาเปสต์ไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าปรากมีแต่เมืองอื่นขาดไป คือ "ความโรแมนติกที่ลงตัว โรแมนติกแบบไม่ได้เติมแต่ง" หลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไรคำว่าโรแมนติกแบบไม่ได้เติมแต่ง ผมก็ไม่รู้จะอธิบายแบบไหนให้มันเข้าใจง่าย ๆ เหมือนกันนะ ขอยกตัวอย่างให้เห็นแล้วกัน เช่น คุณเดินเข้าไปในสวนน้ำแห่งหนึ่ง คุณคิดว่าที่นี้มันโรแมนติกจังเลย แต่พอออกมาหรือนึกได้ว่านี้มันคือสิ่งที่คนสร้างขึ้น ความโรแมนติกมันก็จะลดน้อยลงไป แบบบูดาเปสต์สำหรับผมผมว่าสวยนะ งานแต่ละอย่างที่เขาสร้างมันสวยอลังการ แต่พออยู่ไปสักพักเริ่มรู้สึกว่าเหมือนเขาพยายามสร้างให้มันดูสวย ดูอลังการ ดูยิ่งใหญ่ แต่สำหรับปรากมันไม่ใช่
"เมืองอื่น ๆ ที่มีสถาปัตยกรรมสวย ๆ เด่น ๆ เมืองจะกลายเป็นองค์ประกอบทำให้สถาปัตยกรรมนั้นสวยยิ่งขึ้น แต่ปรากเป็นเมืองที่มีความสวยอยู่ในตัวตัว สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ของเมืองเป็นเพียงแค่องค์ประกอบ ผลักให้เมืองที่โรแมนติกอยู่แล้วโรแมนติกมากยิ่งขึ้น"
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเข้าไปอีกนิดหนึ่ง >>> คุณเชื่อหรือไม่ก่อนที่จะไปผมมองปรากว่าเป็นเมืองธรรมดา ๆ เมืองหนึ่งด้วยซ้ำ ไม่ได้พิศวาสอะไรมากมาย กลับเป็นบูดาเปตส์ โรเธนเบิร์ก ฮัลล์สตัทท์ ซาลซ์บูร์ก หรือแม้แต่เชสกีกรุมลอฟซะอีกที่ผมอยากไป เพราะมองมุมไหนมันก็ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ สะพานชาร์ลก็มองว่าเป็นสะพานธรรมดา ๆ เมืองเก่าปรากก็คิดว่าคงเหมือนเมืองเก่าอื่น ๆ ในยุโรป หรือแม้แต่ปราสาทปราก ก็คิดว่าคงไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร แต่พอได้ไปผมบอกตรง ๆ สิ่งที่ผมคิดผิดหมดทุกข้อ เพราะสะพานชาร์ลมันไม่ใช่สะพานธรรมดาเหมือนที่ผมคิด แต่มันเป็นสะพานที่โคตรโรแมนติก ไม่ต้องอะไรมากแค่คุณได้เดินข้ามสะพานแห่งนี้แบบช้า ๆ ในเวลาตอนกลางคืน คุณจะรู้เลยว่าในโลกนี้มันจะมีสะพานแห่งไหนที่โรแมนติกกว่านี้อีก หรือแม้แต่จุดชมวิวที่มองเห็นโค้งแม่น้ำ Vltava ถ้าคุณได้ไปยืน ณ จุดนั้นในเวลาเย็น ๆ หรือกลางคืน ผมบอกเลยคุณไม่อาจลืมมันลงได้แน่
"ในความคิดผมปรากไม่มีอะไรหรือสถานที่ไหนจะดูโดดเด่นเกินกว่าบรรยากาศภายในเมืองอีกแล้วจริง ๆ ดังนั้นจงไปดู ไปเที่ยวเถอะครับ เพราะไอ้คำว่าบรรยากาศมันไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่ถ่ายรูปออกมาให้เห็นกันได้ เชื่อผมไปแล้วคุณจะหลงรักปราก เหมือนที่ผมหลงรักและประทับใจ"
2. แล้วจริงไหมที่มีคนเคยเล่าว่า ที่ปรากมีพวกแอบอ้างเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบแล้วคอยมาขอตรวจตั๋วรีดไถนักท่องเที่ยว ?
ตอบ : อาจจะเป็นคราวโชคดีของผมก็ได้ครับที่ไม่เจอแบบนั้น เพราะว่ากันจริง ๆ แล้วผมอยู่ปรากประมาณ 4 วัน ได้เจอที่เขามาขอตรวจตั๋วรถใต้ดินแค่วันเดียว และที่เจอก็มาในเครื่องแบบและพูดจาสุภาพด้วย แต่ก็ต้องระวังตัวกันหน่อยนะครับ เพราะเรื่องนี้มันดังจริง ๆ จนหลายต่อหลายคนที่ไปปรากมาแล้วต้องออกมาเตือนกันเป็นประจำ ลองดูกระทูนี้ครับ >>> พนักงานตรวจตั๋วรถไฟใต้ดินปลอมที่ปราก ? http://pantip.com/topic/32633624 ยังไงก็ต้องระวังตัวกันไว้บ้างนะครับ
เหมือนที่หลาย ๆ คนบอก ถ้าเจอแบบนี้จงคิดไว้ก่อนเลยว่าตำรวจปลอม เพราะเท่าที่ผมสังเกต (หลาย ๆ เมือง) คนตรวจตั๋วจริง ๆ ต้องมีลักษณะ ดังนี้
- อาจจะมาในลักษณะในเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบก็ได้ แต่ถ้ามาในลักษณะนอกเครื่องแบบเขาต้องแสดงอะไรให้เรารู้ว่าเขาคือคนตรวจตั๋วจริง ๆ เช่น บัตรห้อยคอ ตรา เครื่องแบบ
- คนตรวจตั๋วจริง ๆ เวลาจะขอตรวจตั๋วใครจะแสดงตัวอย่างเปิดเผย เช่น พอขึ้นไปบนรถก็แสดงตัวแล้วบอกดัง ๆ เลยว่า "ผมขอตรวจตั๋วหน่อย" ไม่ใช่ไปหลบมุมแล้วแอบตรวจ
- คนตรวจตั๋วจริง ๆ มักจะไม่เลือกตรวจเฉพาะบางคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง แต่จะตรวจทุกคน เช่น เราเดิน ๆ อยู่ถ้ามีคนเดินมาหาเราแล้วขอตรวจตั๋วเราคนเดียว แบบนี้ให้คิดในแง่ร้ายไว้ก่อนว่าของปลอม
- คนตรวจตั๋วจริง ๆ มักจะไม่ขอดูหนังสือเดินทางหรือขอหนังสือเดินทางไว้เป็นประกัน
- และสำคัญที่ผมเจอจะคล้าย ๆ กันทุกเมือง คือ คนตรวจตั๋วจริง ๆ มักจะไม่ถามอะไรมากมายถ้าเรามีตั๋วและตอกตั๋วแบบถูกต้อง ไม่คอยจับผิดหรือคอยจะเอาตังค์เราเพิ่ม
- ของจริงมักเป็นแบบในภาพด้านล่าง
3. ในทริปนี้ความปลอดภัยมีมากแค่ไหน ?
ตอบ : ต้องบอกก่อนว่าสมัยนี้ไม่ว่าที่ไหนเมืองไหน ในยุโรปหรือเมืองไหน ๆ ในโลกก็น่ากลัวหมดแหละครับ ดังนั้นเราจงระวังตัวเราที่ตัวเราเองจะดีที่สุด ทริปนี้ก็เหมือนกัน นอกจากต้องระวังกระเป๋าเราจากพวกวิ่งราวแล้ว แต่ละเมืองก็มีความน่ากลัวที่แตกต่างกันไป หรือบางเมืองเวลาเดินแล้วรู้สึกปลอดภัยกว่าเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองที่รู้สึกว่าน่ากลัวที่สุดในทริปขอยกให้บูดาเปสต์เลยครับ มันน่าสะพรึงตั้งแต่ลงจากรถแล้ว เพราะเมื่อลงจากรถมาได้ในตัวสถานีรถบัสรู้สึกว่าคนจรจัดนอนกันให้เต็มสถานีเลย ที่สำคัญแค่นอนไม่เท่าไร บางคนก็เดินมาใกล้ ๆ เราแล้วมองเราแปลก ๆ บางคนก็อยู่ในห้องน้ำมันทำให้รู้สึกว่า ถ้าเราเป็นผู้หญิงมาคนเดียวคงหลอน แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่ไปทำอะไรเขา เขาก็ไม่มายุ่งกับเรา หรือบางเมืองในเยอรมัน คนจรจัดไม่มี แต่เจอปัญหาคนเมาเยอะ เป็นแบบประมาณเมาแล้วพูดจากันเสียงดัง คือ บอกตรง ๆ ผมนี่เดินตัวรีบเลย ไม่กล้าส่งเสียกลัวโดนทีน 555
4. ค่าครองชีพแต่ละเมืองแพงไหม ?
ตอบ : ไม่รู้ใครมองยังไงนะ ว่าใช้อะไรจุดไหนมาวัดค่าครองชีพ แต่สำหรับผมผมใช้ค่าที่พัก อาหาร และค่าเข้าห้องน้ำมาเป็นตัววัด ดังนั้นสำหรับผมแล้วปรากกับบูดาเปสต์ถ้าเทียบกับเมืองในยุโรปอื่น ๆ ถือว่าไม่แพง ค่าห้องก็ถูก อาหารก็ถูก เข้าห้องน้ำก็ถูก ส่วนที่แพง คือ เยอรมนีกับออสเตรีย ยกตัวอย่างการเข้าห้องน้ำสาธารณะที่สองประเทศนี้ (เยอรมัน-ออสเตรีย) ต้องมีอย่างน้อยก็ต้อง 20-40 บาท ค่ารถเมล์รอบเดียวก็เกือบร้อย ค่าอาหาร ค่าที่พัก ทุกอย่างแพงหมด
5. อะไรคืออุปสรรคของทริปนี้ ?
ตอบ : หิมะและฝน ขอฝากสำหรับคนที่เลือกวันและเวลาไปเที่ยวได้ โปรดอย่างเลือกไปช่วงเดือนมกราคมเหมือนผมเลย เพราะคุณจะเจอหิมะตกมาตลอดวันตลอดคืน หยุดก็หยุดไม่นาน มันอาจจะทำให้การเที่ยวของคุณเสียอรรถรสได้ แต่ถ้าคุณคิดว่าหิมะไม่ใช่ปัญหาก็เชิญได้เลยครับ แต่ยังไงก็ต้องเตรียมแผนสำรองไว้บ้างเพราะ หิมะที่ตกหนัก ๆ อาจทำพิษจนทำให้รถที่คุณจองไว้เดินทางไม่ได้
6. รถไฟเยอรมนีสไตรค์ (หยุดงานประท้วง) กันบ่อยจริงไหม ?
ตอบ : อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องโชคดีของผม เพราะไปรอบนี้ไม่เจอแจ็คพอตวันที่เขาสไตรค์ การเดินทางราบรื่น แต่ผมได้คุยกับเพื่อนที่อยู่เยอรมนีมันบอกเลยว่ารถไฟเยอรมนีสไตรค์บ่อยจริง ๆ เหมือนกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว มันเล่าว่าก่อนที่จะสไตรค์เหมือนเขาจะมีความรับผิดชอบนิดหนึ่งตรงที่เขาจะประกาศมาก่อนว่าฉันจะนัดหยุดงานนะ ดังนั้นคนจะไปเยอรมนีก็ต้องคอยฟังข่าวดี ๆ นะครับ คุณอาจจะเจอแจ็คพอตก็ได้ และเรื่องราวสำหรับประเทศนี้ถือว่ามีอะไร ๆ หลาย ๆ อย่างน่าสนใจทีเดียว ยังไงเดี๋ยวผมค่อยนำมาเล่าให้ฟังในตอนที่ทำรีวิวเยอรมนีแล้วกันนะครับ
7. สุดท้ายอยากฝากอะไรหน่อยไหม ?
ตอบ : จริง ๆ หลายสิ่งหลายอย่างเดี๋ยวผมค่อยไปบอกไปเล่าในตอนทำรีวิวดีกว่า แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมอาจไม่ได้แนะนำไว้ในตอนทำรีวิว คือ ถ้าใครไปบูดาเปสต์แล้วไม่ค่อยอยากเดินไกล ๆ ลองศึกษาข้อมูลของ Hop on Hop off Bus ดูครับ Hop on Hop off Bus มันคือรถที่คอยบริการนักท่องเที่ยวอย่างเดียว มันจะจอดยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ พอถึงเวลาก็วนมารับเป็นรอบ ๆ ซึ่งราคาบัตรก็อยู่ประมาณ 5,000 HUF ราคานี้รวมกับค่าเรือล่องแม่น้ำดานูบด้วยถือว่าคุ้มเหมือนกัน สำหรับคนที่ไม่อยากเดินไกล ๆ ซึ่งเท่าที่อ่านรีวิวจากที่ต่าง ๆ มาก็มี 3 บริษัท ที่น่าสนใจ ได้แก่
- Big Bus Tour
- Budapeat Hop on Hop off
- Giraff Hop on Hop off
ถ้าจะใช้บริการจริง ๆ ก็ติดต่อที่ทางโรงแรมได้เลย
ออกเดินทาง : เมื่อเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้วก็ออกเดินทางกันได้เลยครับ
นั่นแน่ !!!! กำลังอ่านกันเพลิน ๆ ใช่ไหมคะ เอาเป็นว่าไปติดตามความสนุกสนานในการเดินทางเที่ยวยุโรปของ คุณมิลานน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้ที่นี่เลย >>> http://pantip.com/topic/33276426
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณมิลานน้อย สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม