x close

ชาวพิษณุโลกร่วมอนุรักษ์ ปราสาทเสาเดียว อายุกว่า 50 ปี


ปราสาทเสาเดียว พิษณุโลก


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

            ชาวบ้าน อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ร่วมกันอนุรักษ์ปราสาทเสาเดียว สถาปัตยกรรมเก่าแก่แห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีอายุกว่า 50 ปี เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชุมชนของคนท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวลาว

            วันนี้ (5 กันยายน 2556) ผู้สื่อข่าวรายงานถึง ปราสาทเสาเดียว ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่น อายุกว่า 50 ปี และมีแห่งเดียวในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ที่วัดโคกผักหวาน หมู่ 9 ต.ชาติตระการ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ ซ่อมแซม และบูรณะ เพื่อเก็บไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อน

            สำหรับลักษณะของปราสาทเสาเดียวหลังนี้ พบว่า เป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเสาปูนขนาดความกว้าง ประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 1 เมตร ในส่วนของแกนหลักใช้รับน้ำหนักศาลาไม้ 2 ชั้น โดยสถานที่แห่งนี้ ออกแบบและก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2502 ด้วยฝีมือของ นายไท้ สิงห์รัก ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว

ปราสาทเสาเดียว พิษณุโลก

            ทั้งนี้ นายสาย จันทคุณ เล่าว่า ในอดีตมีพระสงฆ์ 2 รูป ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นหอไตรปฏิบัติธรรม ก่อนมีการปล่อยร้าง เพราะไม่มีพระจำวัด จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันปรับปรุง ซ่อมแซม และบูรณะ เพื่อใช้เก็บรักษาสิ่งสำคัญทางศาสนาของชาวบ้านโคกผักหวาน

            ต่อมา นายลำไพ จันทคุณ ได้พาชมปราสาทเสาเดียว พร้อมเล่าว่า ภายในตัวปราสาทจะมีเสาไม้ขนาดใหญ่ 1 ต้น ถูกเจาะเป็นช่อง และสอดด้วยคานไม้เป็นตัวรับน้ำหนักพื้นของทั้ง 2 ชั้น โดยไม่ใช้ตะปูยึด เพื่อให้สามารถถ่ายเทรับน้ำหนักได้อย่างสมดุล มีหน้าต่างและช่องให้แสงลอดผ่านเข้ามาได้ โดยมีขนาดความสูงประมาณ 1 ศอก กว้างประมาณ 1 ไม้บรรทัด

            แม้จะผ่านการบูรณะ ซ่อมแซม อย่างต่อเนื่อง แต่ไม้ส่วนใหญ่ยังเป็นไม้เดิม มีเพียงหลังคาที่ต้องเปลี่ยนเป็นสังกะสี เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วลงมาจนทำให้ไม้ผุ และในการบูรณะครั้งล่าสุด ชาวบ้านได้นำแท่งเหล็กมาค้ำยันเพิ่มเติมเพื่อพยุงอาคารไม้ไม่ให้หักโค่นลงไปด้วย ส่วนสาเหตุที่ต้องสร้างเป็นอาคารเสาเดียว เชื่อว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒธรรมของชาวลาว ซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในพื้นที่ อ.ชาติตระการ จำนวนมาก

            นอกจากปราสาทเสาเดียวแล้ว ชาวบ้านยังเก็บรักษาโป่งไม้ที่ใช้ตีบอกเวลาช่วงเช้าและตอนเย็น หรือแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายในบ้านแทนระฆัง เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีนาฬิกา อีกทั้งทองเหลือง หรือเหล็กก็หายาก ส่วนการทำโป่งไม้ ช่างจะขุดแต่งโพรงข้างในโป่งให้เป็นทรงกรวย จนทะลุหัวเป็นรูเล็ก ๆ เรียกว่ารูแพ การแขวนโป่งนิยมแขวนห่างจากพื้นดิน ประมาณ 1-2 คืบ เวลาตีโป่งจะใช้ไม้ยาวประมาณ 1.5 เมตร กระทุ้งให้เกิดเสียง


ปราสาทเสาเดียว พิษณุโลก

ปราสาทเสาเดียว พิษณุโลก

ปราสาทเสาเดียว พิษณุโลก

ปราสาทเสาเดียว พิษณุโลก

ปราสาทเสาเดียว พิษณุโลก



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชาวพิษณุโลกร่วมอนุรักษ์ ปราสาทเสาเดียว อายุกว่า 50 ปี อัปเดตล่าสุด 5 กันยายน 2556 เวลา 16:02:19 2,273 อ่าน
TOP