x close

9 จุดเช็กอิน เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 7 ของไทย

           เมืองโบราณศรีเทพ ตะลอนทัวร์อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีเรื่องราวน่าสนใจ พร้อมปักหมุดสถานที่ที่ไม่ควรพลาด
          เพชรบูรณ์ จังหวัดที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เจ้าของคำขวัญ “เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง” ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสถานที่สำคัญของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ล่าสุดกับอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ คือ เมืองโบราณศรีเทพ ถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกเพิ่มเป็น 7 แห่ง วันนี้เราเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปดูจุดเช็กอินไม่ควรพลาดเมื่อไปเยือนเมืองโบราณศรีเทพกัน

เมืองโบราณศรีเทพ
มรดกโลกทางวัฒนธรรม

ถนนโบราณ ณ ปรางค์สองพี่น้อง

เขาคลังใน

ทำความรู้จักเมืองโบราณศรีเทพ

          เมืองโบราณศรีเทพ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ (Si Thep Historical Park) ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมสมัยทวารวดี มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ยังคงไว้ซึ่งซากปรักหักพังและสิ่งปลูกสร้างที่สมบูรณ์

          เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองที่มีการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบเมือง เรียกเมืองที่มีลักษณะนี้ว่าเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ยุคทวารวดีคือยุคประมาณ 1,000-1,400 ปีมาแล้ว เป็นยุคแรกเริ่มที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย เริ่มรับเอาศาสนาจากอินเดียเข้ามา โดยแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตเมืองใน เขตเมืองนอก และเขตนอกเมือง พื้นที่เมืองในจะมีโบราณสถาน (วัดหรือเทวลัย) กระจัดกระจายอยู่ 48 แห่ง รวมถึงขุดพบเจอเศษหม้อ ไห กระดูกสัตว์ ลูกปัด หรือข้าวของเครื่องใช้ของคนโบราณจำนวนมาก ทั้งยังเจอยุคสมัยต่าง ๆ ที่อยู่ทับซ้อนกัน ในขณะที่พื้นที่เมืองนอกถึงจะมีบริเวณกว้างกว่า แต่ไม่ค่อยเจอหลักฐานทางโบราณคดีหรือข้าวของเครื่องใช้ของคนในสมัยก่อน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ทำเกษตรกรรม

ปรางค์ศรีเทพ

          ผลการศึกษาทางโบราณคดีทำให้สามารถแบ่งยุคสมัยเมืองโบราณศรีเทพออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ 

     1. ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่เป็นเพียงแค่หมู่บ้านขนาดเล็ก อายุราว 1,700-2,000 ปี นับถือผี โดยพบโบราณวัตถุที่สำคัญคือโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกสุนัข ที่ฝังร่วมกัน เป็นต้น 

     2. ยุคสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราว 1,400-1,500 กว่าปี เป็นยุคสังคมเมือง มีการนับถือศาสนาจากอินเดีย ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ที่เด่น ๆ เลยคือลัทธิไวษณพนิกาย (นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด) ทำให้เมืองโบราณศรีเทพเจอเทวรูปพระวิษณุเป็นจำนวนมาก โบราณสถานในยุคนี้จะมีถ้ำเขาถมอรัตน์ เขาคลังนอก และเขาคลังใน รวมถึงศิลปะสกุลช่างศรีเทพที่มีความงดงาม 

     3. ยุคสมัยวัฒนธรรมเขมรโบราณในประเทศไทย มีการสร้างปราสาทขึ้น เช่น ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์ฤาษี และยังพบประติมากรรมที่สำคัญ เช่น ศิวลึงค์ โคนนทิ และทับหลังแกะสลักเป็นรูปอุมามเหศวร แสดงให้เห็นว่ายุคนี้มีการนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด) ก่อนจะค่อย ๆ ล่มสลายลงหลังจากอาณาจักรสุโขทัยเกิดขึ้น ด้วยศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายไปบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ทางตอนเหนือ สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีภายในเมืองศรีเทพที่พบว่า ชั้นดินที่มีการใช้งานชั้นสุดท้ายอยู่ในสมัยวัฒนธรรมเขมร รวมถึงไม่พบศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย - สมัยรัตนโกสินทร์ ในเมืองศรีเทพ  แสดงถึงการที่เมืองถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18

เขาคลังนอก

           เมื่อปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ และทรงค้นพบเมืองโบราณที่น่าจะเป็น เมืองศรีเทพ ตามที่ปรากฎในเอกสารสมุดไทยดำ สมัยรัชกาลที่ 2 ว่าเป็นเมืองเก่า ตั้งอยู่ระหว่างเมืองชัยบาดาลกับเพชรบูรณ์ ปี พ.ศ. 2527 กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการเพื่อจัดตั้งเมืองโบราณศรีเทพขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ดังในปัจุบัน
 

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่เที่ยวเพชรบูรณ์ เมืองโบราณแหล่งอารยธรรมสำคัญ

นักท่องเที่ยวชมปรางค์สองพี่น้อง

นั่งรถรางชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ที่เที่ยวเมืองโบราณศรีเทพ

1. ศูนย์ข้อมูลและอาคารจัดแสดง

            จุดเช็กอินแรกที่ไม่อยากให้พลาด กับ ศูนย์ข้อมูลและอาคารจัดแสดง เพราะก่อนที่เราจะไปชมความงามของโบราณสถานต่าง ๆ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ควรแวะไปทำความรู้จักกันสักนิด เวลาไปเที่ยวชมจะได้สนุกมากขึ้น ที่นี่เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโบราณศรีเทพ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ความเป็นมา พัฒนาการทางวัฒนธรรม และเทวรูปจำลองต่าง ๆ เรียกได้ว่าอัดแน่นไปด้วยความรู้มาก ๆ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แผนที่

เทวรูปจำลอง

เทวรูปจำลอง

2. ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ

           สถานที่ประดิษฐาน เจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวศรีเทพและบริเวณใกล้เคียง โดยเชื่อกันว่าท่านคอยปกปักคุ้มครอง ตัวศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทย 2 หลัง องค์เจ้าพ่อนั้นเดิมได้ใช้ประติมากรรมรูปเคารพที่ได้จากเมืองโบราณศรีเทพมาประดิษฐานเป็นองค์สมมติ ต่อมาถูกโจรกรรมไป ประชาชนที่เคารพนับถือจึงได้แกะสลักองค์เจ้าพ่อขึ้นใหม่ ตามจินตนาการและความเชื่อ เพื่อใช้เป็นรูปเคารพประจำศาลเจ้าพ่อศรีเทพสืบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง ในระหว่างวันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3 (ปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์) จะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวงขึ้นทุกปี
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ

คาถาบูชาเจ้าพ่อศรีเทพ

     ตั้งนะโม 3 จบ

     อังกุ อังกะ นะถะ ปุริ สะธุ (3 จบ)

3. ปรางค์สองพี่น้อง

           ศาสนสถานในศาสนาฮินดู ที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรโบราณในประเทศไทย หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียว ประกอบด้วยปรางค์ (ปราสาท) 2 องค์ ได้แก่ ปรางค์ประธานองค์ใหญ่ และองค์เล็ก ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงฐานเดียวกัน แต่ทั้ง 2 องค์ไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกัน องค์เล็กสร้างขึ้นภายหลัง เนื่องจากพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วของปรางค์ประธาน
ปรางค์สองพี่น้อง

           หลักฐานที่สำคัญของปรางค์สองพี่น้อง คือ ทับหลังรูปอุมามเหศวร (พระอิศวรอุ้มนางปารวตี) ซึ่งเป็นทับหลังศิลปะเขมรสมัยบาปวน-นครวัด ปัจจุบันจัดแสดงติดที่เหนือประตูทางเข้าปรางค์องค์เล็ก
ทับหลังรูปอุมามเหศวร

ทับหลังรูปอุมามเหศวร ปรางค์สองพี่น้อง

ปรางค์สองพี่น้อง

           ทั้งนี้ บริเวณทางเดินรูปกากบาทด้านหน้าปรางค์สองพี่น้องที่ต่อเชื่อมกับทางเดินโบราณ มีการค้นพบเทวรูปพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ ผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความอบอุ่น สลักจากศิลาทราย 6 องค์ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เคารพนับถือสุริยเทพ อันจะมีพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีมหาสงกรานต์ ที่มีการพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
พระสุริยะ (จำลอง)

4. ปรางค์ศรีเทพ

           ศาสนสถานในศาสนาฮินดูที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรโบราณในประเทศไทย สามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตั้งอยู่ในแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ฐานปราสาทแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยศิลาแลง ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ มีความสูงประมาณ 13 เมตร การขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย
ปรางค์ศรีเทพ

ปรางค์ศรีเทพ

บ่อน้ำโบราณ ปรางค์ศรีเทพ

5. เขาคลังใน

          ศาสนสถานที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก มีมุขด้านหน้าและบันไดสำหรับขึ้นไปยังด้านบน เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า เขาคลัง แต่แท้จริงแล้วคือสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อาจเป็นวิหารหรือสถูปขนาดใหญ่ ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
บรรยากาศเขาคลังใน

เขาคลังใน

เขาคลังใน

           บริเวณฐานเขาคลังในมีงานศิลปกรรมชิ้นสำคัญ คือ ปูนปั้นรูปคนแคระแบก ประดับอยู่ อันเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากที่พบในแหล่งอื่นในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นความเชื่อมาจากทางอินเดีย หมายถึง กำลังแบกสิ่งที่สูงส่ง แบกสวรรค์ แบกจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ โดยไม่ได้มีเฉพาะเศียรคนเพียงอย่างเดียว ยังมีเศียรเป็นรูปสัตว์ ได้แก่ สิงโต วัว ควาย ลิง และช้าง (สัตว์ชนิดเดียวที่เป็นแบบเต็มตัว) สีหน้าก็จะไม่เหมือนกัน ตามอารมณ์ศิลปินที่ปั้นสื่อออกมา
ปูนปั้นรูปคนแคระแบก

           อีกทั้งด้านหน้าเขาคลังในยังมี ธรรมจักร สัญลักษณ์ของการเผยแผ่และยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ประดิษฐานอยู่
ธรรมจักร เขาคลังใน

6. อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

           อาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกช้าง และสิ่งของเครื่องใช้ ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพ ส่วนโครงกระดูกช้างเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถาน เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด
โครงกระดูกโบราณ

           นอกจากนี้ ไม่ไกลกันยังมีหลุมโครงกระดูกชุมชนของเมืองศรีเทพ อายุราว 1,700-2,000 ปี และโครงกระดูกสุนัข (ฝังร่วมกัน) ให้ได้ชมอีกด้วย
หลุมโครงกระดูกคนโบราณกับสุนัข

หลุมขุดค้นทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์

7. เขาคลังนอก

          โบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร ขุดสำรวจในปี พ.ศ. 2551 และบูรณะเสร็จในปี พ.ศ. 2555 มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 64x64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดประมาณ 20 เมตร ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ถือได้ว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยทวารวดี ล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวารทั้ง 4 ทิศ ซึ่งแผนผังลักษณะนี้เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อด้านมณฑลจักรวาล หรือแนวคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้และชวากลาง นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ยังขุดพบพระพุทธรูปยืนปางวิตรรกะมุทรา (ปางแสดงธรรม) ปัจจุบันองค์จริงแสดงโชว์อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี
เขาคลังนอก

เขาคลังนอก

บรรยากาศเขาคลังนอก

8. ปรางค์ฤาษี

           โบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณในประเทศไทย ประกอบด้วยปราสาท 2 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วกั้นระหว่างกัน พบหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้แก่ ศิวลึงค์ ชิ้นส่วนโคนนทิ และทับหลัง ซึ่งปรากฏจารึกตัวอักษรขอมโบราณ

9. เขาถมอรัตน์

           อีกหนึ่งหมุดหมายที่น่าสนใจ คือ เขาถมอรัตน์ และ ถ้ำถมอรัตน์ หากมองเห็นเขาลูกโดดรูปทรงสามเหลี่ยมเมื่อไร รู้ไว้เลยว่าเข้าใกล้เมืองโบราณศรีเทพแล้ว โดยตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศตะวันตกของเมืองโบราณศรีเทพ ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ ด้านบนเป็นที่ตั้งของ ถ้ำถมอรัตน์ มีขนาดพื้นที่กว่า 4.60 เมตร ความสูง 13 เมตร ความลึก 20 เมตร ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำหินปูนธรรมชาติ
เขาถมอรัตน์

          ภายในถ้ำพบประติมากรรมสลักนูนต่ำที่ผนังถ้ำ ได้แก่ ภาพพระพุทธรูปประทับยืนบนฐานดอกบัว ปางแสดงธรรม พระโพธิสัตว์ สถูป และธรรมจักร เป็นต้น คาดว่าสร้างตามคติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 และถ้ำเขาถมอรัตน์แห่งนี้เป็นศาสนสถานประเภทถ้ำเพียงแห่งเดียวในสมัยทราวรดี ที่แสดงถึงความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน

          อ้อ อย่าลืมลิ้มลอง ไอศกรีมโบราณศรีเทพ แรร์ไอเทมที่มีขายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นไอศกรีมโบราณ 3 มิติ ออกแบบเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับลวดลายของโบราณสถานเมืองศรีเทพ น่ารักมาก มีให้ชิมทั้งรสชาไทย รสไมโล รสสตรอว์เบอร์รี รสนมชมพู รสมันหวาน รสมะพร้าวอ่อน รสมะขาม รสช็อกโกแลต รสน้ำผึ้งมะนาว และรสมินต์ช็อก ชอบแบบไหนเลือกกันได้เลย

ไอศกรีมโบราณศรีเทพ

ภาพจาก IG : kronkaew.c

          นี่เป็นเพียงบางส่วนของที่เที่ยวภายใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เท่านั้น ยังมีโบราณสถานหรือสถานที่ที่น่าสนใจอีกมาก เอาเป็นว่าหากมีโอกาสก็ปักหมุดแล้วไปเที่ยวกันดูนะ สามารถสอบถารมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

  • ที่อยู่ : 208 หมู่ 13 ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
  • เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
  • โทรศัพท์ : 0-5692-1322 
  • เฟซบุ๊ก : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
บรรยากาศอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
  • ประชาชนชาวไทย คนละ 20 บาท
  • ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท

          ทั้งนี้ จะยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่พระภิกษุ สามเณร ในพระพุทธศาสนา หรือนักบวชในศาสนาอื่น, นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ในเครื่องแบบนักเรียน, นิสิตและนักศึกษารวมทั้งครูอาจารย์ผู้ควบคุมในกรณีขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยประสานงานล่วงหน้า และแขกผู้มีเกียรติที่กรมศิลปากรหรืออุทยานประวัติศาสตร์เชิญหรือต้อนรับ
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ, เฟซบุ๊ก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, thai.tourismthailand.org, virtualhistoricalpark.finearts.go.th, finearts.go.th, phetchabun.go.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 จุดเช็กอิน เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 7 ของไทย อัปเดตล่าสุด 19 ธันวาคม 2566 เวลา 11:45:28 14,063 อ่าน
TOP