x close

สวนโมกข์ใน กทม. เปิด 1 สิงหาคม


หอจดหมายเหตุพุทธทาส
หอจดหมายเหตุพุทธทาส


สวนโมกข์ในกทม.เปิด1สิงหา. เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนธรรม (ไทยโพสต์)

          เตรียมจัดงานเปิดตัวหอจดหมายเหตุพุทธทาส วันที่ 1 ส.ค.นี้ หลังการก่อสร้างอาคารใกล้เสร็จสมบูรณ์ เหลือตกแต่งรายละเอียด เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมดื่มด่ำธรรมะจากสวนโมกข์แห่งกรุงเทพฯ พร้อมให้บริการห้องสมุดหนังสือธรรมะ ผลงานท่านพุทธทาสไว้ศึกษาค้นคว้า

          เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาส ว่า ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว เหลือเพียงการตกแต่งรายละเอียดเล็กน้อย เช่น ระบบไฟและการปรับปรุงภูมิทัศน์ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นเราจะเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ให้พร้อมเปิดให้บริการ โดยมีกำหนดการจัดพิธีทำบุญเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาสในวันที่ 1 สิงหาคม และเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการห้องสมุดและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ ส่วนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ในภายหลัง

          นพ.บัญชากล่าวว่า การก่อสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาส ณ สวนวชิรเบญจทัศน์ (สวนรถไฟ) เกิดความล่าช้าเล็กน้อย เพราะมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ จึงต้องเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการออกไปจากเดิมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

           สำหรับในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ จะมีพิธีเปิดตั้งแต่เช้า เริ่มเวลา 08.00 น. ตักบาตรสาธิตและถวายภัตตาหารแบบพุทธกาล บริเวณลานหินโค้งแห่งใหม่ จากนั้นเปิดห้องหนังสือและสื่อธรรม ลานนิทรรศการ เวทีกิจกรรมมหรสพทางปัญญา การแสดงธรรมกถาสมโภชพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด และภาพปูนปั้นพุทธประวัติจากสวนโมกขพลาราม โดยพระไพศาล วิสาโล

          ในช่วงบ่ายจะมีการนำปฏิบัติธรรม โดยพระอาจารย์โพธิ์ จันทสโร ต่อด้วยการเปิดนิทรรศการนิพพานชิมลอง ซึ่งเป็นการนำสื่อผสมมาจัดแสดงให้ผู้ใช้บริการได้ลิ้มรสสัมผัสภาวะนิพพานว่าเป็นอย่างไร การจัดแสดงภาพศิลปะบูชาพุทธทาสของบรรดาศิลปิน กิจกรรมมหรสพทางวิญญาณ เช่น ดนตรีจีวันแบนด์ ละครมะขามป้อม ดนตรีเพื่อปัญญา นำพาสุขสู่สังคม อ่านบทกวีโดยนายอังคาร กัลยาณพงศ์ และนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ

          "การสร้างหอจดหมายเหตุพุทธทาสตั้งอยู่บนแนวความคิดที่ว่า เป็นการนำสวนโมกข์เข้าหาสาธารณชน เป็นศูนย์กลางธรรมะในกรุงเทพฯ ที่สมบูรณ์แบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนธรรม และเป็นโรงมหรสพทางวิญญาณที่เป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าวิจัยผลงานท่านพุทธทาสทั้งหมด" นพ.บัญชา กล่าว

          สำหรับแนวคิดในการออกแบบตัวอาคารหอจดหมายเหตุพุทธทาส เน้นความเรียบง่ายตามแนวคิดท่านพุทธทาส โดยใช้สีที่เป็นธรรมชาติของวัสดุและไม่มีสิ่งแปลกปลอมกับอาคาร ชั้นล่างจะมองเห็นสวนรถไฟอยู่ด้านหน้า ส่วนชั้นสองออกแบบให้ลมพัดเข้าออกได้ตลอดทั้งวัน บรรยากาศสงบเงียบและเย็นสบาย เหมาะแก่การนั่งสมาธิ ทั้งนี้ สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของหอจดหมายเหตุพุทธทาสก็คือ สระนาฬิเกร์ ซึ่งเป็นปริศนาธรรมของท่านพุทธทาส โดยมีที่มาจากเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณ เป็นการสอนลูกหลานให้มุ่งสู่นิพพาน ส่วนสถาปัตยกรรมของหอจดหมายเหตุ ก็ยึดเอารูปแบบของโรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์มาสร้าง

          นพ.บัญชา กล่าวอีกว่า ตัวอาคารหอจดหมายเหตุพุทธทาสมี 3 ชั้น ชั้นล่างสุดมีลักษณะโล่งกว้าง สำหรับนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม มีลานหินโค้ง ภาพแกะสลักนูนต่ำ ส่วนหนึ่งยกจากสวนโมกข์มาติดตั้งที่นี่ ห้องสมุดหนังสือธรรมะให้บริการยืมและค้นคว้าทำสำเนาไปใช้ในงานศึกษาวิจัย หรือจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ชั้นกลางของหอจดหมายเหตุมีการนำเสนอภาพปริศนาธรรม ศูนย์ปฏิบัติธรรม อบรม สัมมนา และโรงมหรสพทางวิญญาณเพื่อนิพพานชิมลอง มีภาพยนตร์จอโค้งฉายหนังให้คนดูขบคิด เพื่อปฏิบัติมุ่งสู่นิพพาน ภาพยนตร์เรื่องแรกที่จะนำมาฉายสร้างโดยนายเป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง

          ชั้นที่สามถือเป็นหัวใจของหอจดหมายเหตุพุทธทาส เรียกว่าเป็นขุมปัญญาพุทธทาส เพราะเป็นห้องเก็บรวบรวมเอกสารต้นฉบับ ผลงานการศึกษาค้นคว้าและสื่อธรรมะของท่านพุทธทาสที่มีมากกว่า 20,000 รายการ โดยห้องนี้จะปรับอุณหภูมิไว้ไม่ให้หนังสือหรือเอกสารอื่นได้รับความเสียหาย

          "หอจดหมายเหตุแห่งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของการสร้างศาสนอาคาร โดยก้าวข้ามการสร้างโบสถ์ วิหาร และเจดีย์เหมือนอดีต แต่จะเป็นต้นแบบให้วัดอื่น ๆ ได้นำรูปแบบไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเผยแพร่ทางธรรมต่อไป" เลขานุการคณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ  กล่าวสรุป


แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สวนโมกข์ใน กทม. เปิด 1 สิงหาคม อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:58:19 2,715 อ่าน
TOP