x close

ภูทับเบิกวิกฤตหนัก นักลงทุนแห่ผุดรีสอร์ท-หน่วยงานราชการคุมไม่อยู่

ภูทับเบิก
ภาพจาก Em7 / shutterstock.com

             ภูทับเบิก วิกฤตหนัก เผยนักลงทุนแห่สร้างรีสอร์ทจำนวนมาก ผุดขึ้นคุมไม่อยู่ พบมีการสร้างรีสอร์ทในจุดเสี่ยงโคลนถล่ม นักท่องเที่ยวแห่มามากจนรับไม่ไหว ด้านหน่วยงานราชการไม่สามารถแก้ปัญหาได้

             หลังจากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพของแหล่งท่องเที่ยวใน จ.เพชรบูรณ์ อย่าง ภูทับเบิก ที่กำลังเปลี่ยนไปเพราะมีรีสอร์ทมาจับจองพื้นที่บนยอดเขาเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นกระแสถกเถียงกันในโลกออนไลน์ ตามที่ได้มีรายงานไปแล้วนั้น [อ่านข่าว ภูทับเบิก เปลี่ยนไป.. หลังพบรีสอร์ทผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ]

             ล่าสุด (2 ตุลาคม 2558) นางนิรารัตน์ ประพฤติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชาวเขา จ.เพชรบูรณ์ ได้กล่าวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ภูทับเบิกมีปัญหาเกิดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านพักในจุดที่เสี่ยงโคลนถล่มโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้าพักซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และเรื่องที่มีนายทุนจากภายนอกยอมเสี่ยงมาทำสัญญาซื้อและทำสัญญาเช่าที่ดินในภูทับเบิก 5-10 ปี เพื่อทำเป็นรีสอร์ท ทั้งที่รู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิ รวมทั้งการที่นักท่องเที่ยวแห่มาพักตลอดปีโดยเฉพาะเทศกาลวันหยุดยาวซึ่งมีจำนวนมากเกินกว่าจะรับได้ ซึ่งมาตรการการแก้ปัญหาดังกล่าวคงต้องหารือกับตัวแทนกรมป่าไม้ในพื้นที่ว่าจะมีวิธีใดหยุดการขยายพื้นที่สร้างรีสอร์ท

ภูทับเบิก

             นายชิต อินทรนก หัวหน้าศูนย์ประสานงานป่าไม้ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าได้มีการจับกุมและป้องกันไม่ให้มีการขยายสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในจุดเสี่ยงต่าง ๆ  แต่ชาวม้งเหล่านี้ไม่ฟังและไม่สนใจกฎหมาย เพราะหากถูกจับแล้วยอมรับสารภาพศาลจะสั่งปรับเงิน 2,500 บาทเท่านั้น แต่ภายหลังพบว่ามีการก่อสร้างหรือต่อเติมบ้านพักเพื่อแลกกับผลประโยชน์ รวมทั้งบางส่วนยังมีการทิ้งไร่กระปลีหันมาพัฒนาที่ดินเพื่อมาทำรีสอร์ทมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกัน

             ด้านนายใจ แซ่เถา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 บ้านทับเบิกร่วมใจ กล่าวว่า ในสมัยอดีตผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ คนหนึ่งที่ได้บุกเบิกการท่องเที่ยวนั้นได้มีการตกลงว่าจะพัฒนาไปทาที่รักษาพื้นที่มากที่สุกและให้ชาวม้งคงการปลูกกะหล่ำปลีไว้ เพราะภูทับเบิกขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุด แต่เมื่อการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นและนักท่องเที่ยวต้องการความสะดวกสบายจึงมีนักลงทุนหันมาจัดตั้งรีสอร์ทมากขึ้น โดยบางแห่งมีเงินทุนจำกัดทำให้จำเป็นต้องลดต้นทุน โดยสร้างบ้านพักแบบชั่วคราวกึ่งถาวรจึงไม่แข็งแรง และมีการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนหน่วยงานราชการคุมไม่อยู่ และการสร้างสิ่งก่อสร้างรุกพื้นที่ป่า ทำให้เริ่มมีปัญหากับชาวม้งในหมู่บ้าน ประกอบกับการที่ทรัพยากรถูกนำไปใช้กับธุรกิจรีสอร์ท รวมทั้งมีขยะจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจราจรติดขัดซึ่งเป็นที่ลำบากใจของทุกคนแต่ทุกคนก็พูดออกมาไม่ได้เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ก็เป็นญาติพี่น้องกัน และเคนขอให้หน่วยงานราชการเข้ามาจัดการแต่ก็ไม่สำเร็จ

ภูทับเบิก
ภาพจาก Em7 / shutterstock.com

             ทั้งนี้พบว่ามีนักลงทุนเข้ามาขอซื้อที่ดินจากชาวม้งอย่างต่อเนื่องเพราะการท่องเที่ยวบูมมาก ทำให้ราคาที่ดินที่มีทำเลดีทีราคาสูงถึงไร่ละ 1-3 ล้านบาท หากกรณีที่ชาวม้งไม่ขายก็จะทำสัญญาเช่าโดยเสนอราคาค่าเช่าที่ดินสูงให้ถึง 4-6 แสนบาทต่อปี บางรายไม่เพียงทำสัญญาเช่านานถึง 5-10 ปี แต่นายทุนยังเสนอยกสิ่งปลูกสร้างให้หลังหมดสัญญาเช่าแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ที่ดินถูกเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนครอบครอง

             อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ภูทับเบิกและดอยน้ำเพียงดิน ไม่ได้มีกฎหมายการก่อสร้างอาคารควบคุมรองรับ รวมทั้งทางอบต.ก็ไม่สามารถออกข้อบัญญัติควบคุมอาคาร จึงทำให้การก่อสร้างเกิดขึ้นแบบสเปะสะปะ ไม่มีการจัดระเบียบ และไม่มีแผนการท่องเที่ยวรองรับ เนื่องจากทางหน่วยราชการมีนโยบายให้ชาวม้งและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนควบคุมและดูแลกันเอง ส่งผลให้ภูทับเบิกไม่สามารถจัดระเบียบได้ 



 เกาะติดข่าว ภูทับเบิก ทั้งหมดคลิกเลย 


ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก ชมรมคนรักเขาค้อ-ภูทับเบิก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูทับเบิกวิกฤตหนัก นักลงทุนแห่ผุดรีสอร์ท-หน่วยงานราชการคุมไม่อยู่ อัปเดตล่าสุด 3 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10:36:17 15,953 อ่าน
TOP