x close

สวัสดีปีขาล... กาลครั้งหนึ่ง ณ แพร่

แพร่

แพร่

แพร่

แพร่

สวัสดีปีขาล... กาลครั้งหนึ่ง ณ แพร่ (กรุงเทพธุรกิจ)

          แม่อุ๊ยคนนั้นถือกรวยใบตอง บรรจุดอกมะลิสีขาว แทรกกับดอกดาวกระจายสีเหลืองเข้ม ธูป เทียน ถูกจุดขึ้นพร้อมบูชาปากที่เหี่ยวย่นด้วยความชราขยับเล็กน้อย สิ้นคำสวด...แม่อุ๊ยก้มลงกราบช้า ๆ 3 ครั้ง แล้ววางทุกสิ่งอย่างลงตรงหน้าองค์พระธาตุสีทอง ... ภาพชินตาที่สามารถเห็นได้ทั่วไป เมื่อโมงยามแห่งเทศกาลไหว้พระธาตุประจำปีเวียนมาถึง อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะได้บูชาพระธาตุ แต่ถ้ามีโอกาสก็ไม่ควรพลาดเช่นกัน

          ต้อนรับปีขาลกับการเดินทางเยือน แพร่ เมืองเล็ก ๆ ในเขตแคว้นล้านนา ที่มีตราประจำจังหวัดเป็นรูปพระธาตุบนหลังม้า ซึ่งพระธาตุที่เห็นนั้นเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองแพร่ รวมถึงชาวไทยทั่วประเทศให้ความเคารพบูชา และดูเหมือนว่าปีนี้จะทวีความนิยมมากขึ้น เมื่อความเชื่อโบราณเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ ในวงของชาวล้านนาอีกต่อไป


แพร่

แพร่

แอ่วแพร่ ไหว้พระธาตุ (กรุงเทพธุรกิจ)

          ถ้าเป็นจริงตามข้อมูลที่ สมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยมีประชากรที่เกิดในปีขาลมากถึง 4 ล้านคน เชื่อแน่ว่าในปี 2553 นี้ พระธาตุช่อแฮ จะต้องเนืองแน่นไปด้วยบรรดาคนปีเสือ เพราะตามความเชื่อแต่โบราณถือว่า พระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีขาล นั่นเอง

          พระธาตุช่อแฮ  อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนช่อแฮประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแพร่ ใครมาถึงเมืองนี้แล้วไม่มีโอกาสแวะไปนมัสการพระธาตุ ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองแพร่ ไม่รู้กลัวโดนว่าหรือมีสิ่งอื่นดึงดูดใจ เราจึงมุ่งหน้าไปยังวัดพระธาตุช่อแฮก่อนใครเพื่อน

          อุณหภูมิลดลงราว 2 องศา ตรงตามคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาเป๊ะ เรายืนอยู่ในพระอารามหลวงชั้นตรีที่มีองค์พระธาตุสีทองตั้งเด่นเป็นศรี เมืองอยู่บนเนินเขาเตี้ย พื้นหินอ่อนที่เหยียบย่างคล้ายคลังเก็บความเย็น ก้าวต่อก้าวของเท้าที่เปลือยเปล่าคือความหนาวเหน็บที่ยากจะบรรยาย ทว่า พอเหลือบไปเห็นคลื่นพุทธศาสนิกชนที่รวมพลกันมาไหว้พระธาตุแล้ว เหงื่อผุดขึ้นมาทันที

          ตำนานการสร้างพระธาตุช่อแฮกล่าวไว้ว่า ขุนลัวะอ้ายก๊อม เป็นผู้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.1879-1881 ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาธิราช (ลิไท) ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองศิลปะเชียงแสน มีความสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองลงรักปิดทอง พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า ส่วนที่มาของชื่อ "ช่อแฮ" นั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนา และชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย

          เราเดินทักษิณาวรรตรอบพระธาตุช่อแฮครบ 3 รอบ ก่อนจะกราบ 3 ครั้ง พร้อมอธิษฐานขอพร เห็นหลายคนนำผ้าแพรสามสีมาถวาย เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองปกป้องศัตรูได้ บ้างก็นำตุ๊กตาเสือ รูปปั้นเสือ และสารพัดสิ่งที่เกี่ยวกับเสือมาถวาย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เพื่อความสบายใจเพียงอย่างเดียว

          แม้ไม่ได้เกิดร่วมกับคนปีขาล แต่การได้มีโอกาสเดินทางมาไหว้พระธาตุช่อแฮสักครั้ง ก็ถือเป็นมงคลของชีวิต ซึ่งนอกเหนือจากองค์พระธาตุช่อแฮที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดนี้ ยังมี หลวงพ่อช่อแฮ พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย อายุหลายร้อยปี แต่ที่ดูจะถูกอกถูกใจคนไทยคงไม่พ้น พระเจ้าทันใจ ที่ขออะไรก็ (เชื่อว่า) ได้ทันใจสมกับชื่อพระนั่นเอง ว่าแล้วก็ "นะโม นะมะ สะขัง โกธะมัง ใจจะคุ" ขออธิษฐานด้วยคน
 
แพร่เมืองไม้ ไม้เมืองแพร่

          แม้จะไม่สามารถลบภาพเมืองตัดไม้ทำลายป่าที่เคยเป็นมาแต่อดีตเพราะการสัมปทาน ป่าไม้ไปได้ แต่แพร่ก็พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงสถาปัตยกรรมโบราณที่เกิดจากการตัดไม้ และดูเหมือนว่า "ภาพใหม่" นี้จะไปได้ดี

          มีบ้านรูปทรงล้านนาหลายหลังที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ทั้ง บ้านประทับใจ (บ้านเสาร้อยต้น) ที่อยู่ทางไป อ.ลอง เป็นไม้สักทองทั้งหลัง สร้างเสร็จเมื่อปี 2519 แม้จะไม่เก่าแต่ "เสา" ที่นี่ก็น่าสนใจ เพราะเป็นเสาไม้สักท่อนใหญ่ที่มีมากถึง 130 ต้น แต่ละต้นอายุประมาณ 300 ปี คำนวณดี ๆ บ้านนี้เก่าของจริง ส่วน บ้านวงศ์บุรี ที่อยู่ใกล้กับวัดพงศ์สุนันท์ มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว เป็นบ้านไม้สัก 2 ชั้น แบบยุโรปประยุกต์ หลังคาสูงทรงปั้นหยา จุดเด่นอยู่ที่ลวดลายไม้แกะสลัก ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้โบราณ เป็นบ้านที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สวยงามจนเป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมถึงตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ เสมอมา


แพร่

แพร่


          ผละจากงานสถาปัตย์ เราฝ่าเปลวแดดฤดูหนาวนั่งรถยาวมาจนถึง วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีสามัคคีธรรม ที่อยู่เลยแยกเด่นชัยไปทางลำปางประมาณ 5 กิโลเมตร วัดนี้น่าสนใจตรงที่ศิลปกรรม เพราะผสมผสานหลายวัฒนธรรม ดูงดงามราวกับภาพวาดในจิตรกรรม ที่สำคัญไม่ใช่วัดเก่าแก่แต่เดิมมา เพราะสร้างขึ้นในปี 2527 โดยพระครูบามนตรีที่มีอายุไม่ถึง 30 ปี (ณ ปีที่สร้าง) เท่านั้น

          เนื้อที่ราว 25 ไร่ บนยอดม่อนโทนที่สูง 20 เมตร คือสถานที่ตั้งของศิลปกรรมชั้นเยี่ยม นอกจากจะเป็นศาสนสถานที่ชาวพุทธทั่วไปแวะเวียนมากราบไหว้บูชาแล้ว ภายในยังคล้ายกับแกลลอรีย่อย ๆ ที่รวมเอาผลงานการหล่อ การปั้น การวาด และการแกะสลัก ไว้อย่างครบเครื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากแนวคิดของ พระครูบามนตรี ธมฺมเมธี หรือ พระครูวิฑิตพิพัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาส ที่ได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมจากที่ต่าง ๆ มากมาย


แพร่

แพร่


          เด่น ๆ ที่พอเข้าไปเห็นแล้วต้องอึ้งก็คือ ซุ้มประตูด้านหน้าโบสถ์ ที่จำลองมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง, ซุ้มประตูด้านตะวันตก จำลองจากวัดพระธาตุหลวงเวียงจันทน์, ประตูและหน้าต่างลวดลายแกะสลัก จำลองจากวิหารลายคำวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่, นาค 7 เศียร แบบขอม นางอัปสรปูนปั้น จำลองจากวัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่, พระบรมธาตุ 30 ทัส ศิลปะเชียงแสน จำลองจากวัดพระธาตุนอ (หน่อ) ของพระชนกพระเจ้าเม็งรายมหาราช จากแคว้นสิบสองปันนา ฯลฯ ไม่เรียกว่าวิจิตรก็ไม่รู้จะใช้คำไหน

ตามหาภูมิปัญญาท้องถิ่น

          เพลิดเพลินอยู่กับการชม ศิลปกรรมนั้นเนิ่นนาน จนตะวันคล้อยต่ำจึงรีบนั่งรถเลี้ยวกลับมาทางเมืองแพร่ แวะไปดู "ปลาดุกกินอาหารบนบก" ที่ ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ที่ ต.แม่หล่าย อ.เมือง ศูนย์ฯ นี้เกิดจากความมุ่งมั่นของ มนูญ วงศ์อรินทร์ และธีรวรรณ วงศ์อรินทร์ ภรรยา ที่ช่วยกันค้นหาตัวตนในแบบฉบับของความพอเพียง จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ผลิตเกษตรชั้นดีได้ปีละหลายร้อยคน

          เกริ่นเรื่องปลาดุกกินอาหารบนบกไว้จนหลายคนสงสัยว่าคืออะไร ธีรวรรณ เจ้าของไอเดีย บอกว่า คือการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก แล้วให้อาหารบนชานบ่อ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสีย พอปลาดุกเห็นอาหารก็จะพากันตะกายตัวเองขึ้นมาจากบ่อเพื่อกินอาหารบนบก ถือเป็นกลวิธีในการเลี้ยงปลาที่น่ายกย่องจริง ๆ และนอกจากปลาดุก ที่ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแห่งนี้ ยังมีกิจกรรมทางการเกษตรที่น่าสนใจอีกมาก เห็นแล้วอยากกลับไปเป็นเกษตรกรนอนอยู่ต่างจังหวัดจริง ๆ

          ก่อนจะหมดแสงตะวัน เรากลับรถไปแวะชมผ้าพื้นเมืองกันที่ แก้ววรรณา แหล่งเรียนรู้เรื่องหม้อห้อมธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรือนไม้โบราณตั้งอยู่แถวบ้านเหล่าขนมเส้น บนทางหลวงหมายเลข 101 วุฒิไกร ผาทอง เจ้าของเรือนแก้ววรรณา และผู้บุกเบิกการย้อมผ้าหม้อห้อมแบบธรรมชาติ เล่าว่า "หม้อห้อม" เป็นกรรมวิธีการย้อมผ้าที่มีมาแต่โบราณ ได้มาจากต้นห้อม ที่เป็นพืชท้องถิ่น แต่ระยะหลังมีการใช้สีเคมีแทนเพราะต้นห้อมไม่ค่อยมี วุฒิไกร จึงพยายามผลักดันให้ชาวบ้านหันกลับมาปลูกขยายต้นห้อม และย้อมผ้าด้วยห้อมแบบวิธีโบราณ

          "หม้อห้อมของแท้ต้องสีตก" ความเดิมว่าไว้อย่างนั้น แต่วุฒิไกรก็พยายามค้นหาวิธีการย้อมห้อมจนในขณะนี้มี "หม้อห้อมของแท้ที่สีไม่ตก" เป็นรูปเป็นร่างออกมาแล้ว ซึ่งเข้ามาในเรือนแก้ววรรณา เราเพลิดเพลินกับการเลือกซื้อผ้าหม้อห้อม และสนุกสนานกับการพิมพ์ลายเสื้อด้วยสีของห้อม แทนที่จะย้อมจนฟ้าครามทั้งตัว เราก็เลือกที่จะพิมพ์ภาพแทน เก๋ไก๋ได้ด้วยฝีมือตัวเองภูมิใจสุด ๆ
 

แพร่


จากราม่าสู่เรือนผ้าโบราณ

          เช้าตรู่วันใหม่ เรานั่งรถต่อไปที่ อ.ลอง อำเภอเล็ก ๆ แต่จะบอกว่าเล็กพริกขี้หนูก็คงได้ เพราะในความเล็กของลองนั้น มีสิ่งสำคัญมากมายซ่อนอยู่ โดยเฉพาะขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของผ้าตีนจกลายโบราณ ซึ่ง ผ้าทอตีนจก เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของอำเภอลองที่สืบกันมาหลายร้อยปี เป็นการทอด้วยกี่ทอมือ เสน่ห์ของผ้าทอตีนจกของ อ.ลอง อยู่ที่การใส่ลวดลายสีสันที่ละเอียดอ่อน ทอด้วยผ้าไหม และผ้าฝ้าย โดยเน้นสีดำแดงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของผ้าไทยล้านนา

          พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน แหล่งเรียนรู้สู่ภูมิปัญญา คือสถานที่อนุรักษ์ผ้าไทยโบราณประเภทนี้ไว้มากมาย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากความรักและชื่นชมในศิลปะไทยของ ณรงค์ชัย ประเสริฐศักดิ์ ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งเดิมทีสถานที่แห่งนี้เคยเป็นโรงภาพยนตร์ประเสริฐศักดิ์ราม่า ที่ได้รับความนิยมมากมาก่อน ต่อเมื่อมารดาของณรงค์ชัยเสียไป เขาจึงได้ประยุกต์สถานบันเทิงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

          เมื่อเดินผ่านเข้าประตูไป ด้านซ้ายมือเป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลิตภัณฑ์พื้นบ้านหลาย ๆ ประเภทไว้ด้วยกัน ทั้งเครื่องมือเกษตรกรรม ที่เป็นอาชีพหลักของคนลอง มีไถ เผีย(คลาด) เคียว แป้นตีข้าว กระบุง ฯลฯ ถัดไปคือช่องจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ ที่ณรงค์ชัย เก็บไว้เป็นที่ระลึก ส่วนด้านหลังเป็นเรือนโบราณ มีของเก่า ของโบราณจัดแสดงไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องทองเหลือง เครื่องเงินโบราณ ชุดน้ำชา บาตรน้ำมนต์ ดาบ ถาด กระเป๋า แจกัน ชุดขันน้ำพานรอง ชุดเงินใส่เครื่องหมาก เครื่องพุทธบูชา สัตตภัณฑ์ ราวเทียน เครื่องฉายภาพยนตร์ 35 มม. 16 มม. ตะเกียงเจ้าพายุ เตารีดผ้า แสตมป์ แบงก์เก่า ฯลฯ

          แต่อะไรก็ไม่น่าสนใจเท่า ผ้าตีนจกโบราณอยู่จัดแสดงไว้ด้านในสุดของเรือน คนนำชมบอกว่า ผ้าจกโบราณสามารถดูได้จากเส้นด้ายที่อยู่ด้านหลัง จะไม่ยุ่งเหยิงเหมือนผ้าที่จกในยุคปัจจุบัน แต่ถ้านึกภาพตามไม่ออกก็ลองหาเวลาไปดูของจริงที่ อ.ลอง กันได้

          ปีวัวผ่านไป ปีเสือวิ่งเข้ามาแทนที่ หวังว่าทุกคนจะมีชีวิตที่ดีในปีเสือสุขปีนี้ สวัสดีปีขาล

การเดินทาง

          แพร่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 555 กิโลเมตร รถยนต์แนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ที่ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ผ่านพิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ถึง อ.เด่นชัยเลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 101 วิ่งไปถึง อ.เมือง จ.แพร่

          ส่วนรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟจากกรุงเทพฯ ไป อ.เด่นชัย ทุกวัน ให้ลงที่สถานีเด่นชัย แล้วต่อรถประจำทางเข้าตัวเมืองแพร่ ซึ่งอยู่ห่างจากเด่นชัยประมาณ 20 กม. สอบถาม โทร. 1690, 0-2220-4444 หรือ www.railway.co.th

          รถประจำทางบริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถประจำทางธรรมดาและปรับอากาศบริการทุกวัน สอบถามที่สถานีเดินรถสายเหนือ (หมอชิต 2) โทร. 1490 หรือ www.transport.co.th บริษัท ขนส่ง จำกัด จังหวัดแพร่ โทร. 0-5451-1276 บริษัทสมบัติทัวร์ โทร. 0-2936-2495-9 บริษัท เชิดชัยทัวร์ โทร. 0-2936-0199 และบริษัท แพร่ทัวร์ โทร. 0-2936-3720

ที่พัก

          ที่พักในตัวเมืองแพร่มีไม่มากนัก ที่รู้จักทั่วกันคือ โรงแรมแม่ยมพาเลส โทร. 0-5452-1029-35 ราคา 900-4,000 บาท โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์ โทร. 0-5452-1321 ราคา 700-2,500 บาท โรงแรมนครแพร่ โทร. 0-5451-1122 ราคา 300-700 บาท โรงแรมน้ำทอง โทร. 0-5453-4500 ราคา 550-750 บาท ภูมิไทย การ์เดน โทร. 0-5462-7359 ราคา 700-1,500 บาท www.phoomthaitravel.com

          ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน โทร. 08-6183-5329, แก้ววรรณา โทร. 0-5462-3575 วุฒิไกร  ผาทอง โทร.08-9631-2905, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อ.ลอง โทร. 0-5458-1250, 08-1952-0431 หรือสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมจาก ททท.สำนักงานแพร่ โทร. 0-5452-1118



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สวัสดีปีขาล... กาลครั้งหนึ่ง ณ แพร่ อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:45:27 2,539 อ่าน
TOP