20 สถานที่ท่องเที่ยวพังงา ดินแดนป่าเกาะที่น่าไปเยือน

เที่ยวพังงา

          “จังหวัดพังงา” หรือสมญานามที่ว่า “ดินแดนแห่งป่าเกาะ” คือ หนึ่งในจังหวัดหนึ่งของประเทศที่เต็มไปด้วย สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งธรรมชาติแบบท้องทะเล โดยเฉพาะกลุ่มเกาะสวยงามน้อยใหญ่ที่วางตัวเรียงรายอยู่อย่างสวยงามในทะเลอันดามัน รวมทั้งยังมีพื้นที่ป่าชายเลนหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยพังงา อีกทั้งยังเต็มไปด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความหลากหลายของผู้คน ทั้งไทย จีน มุสลิม และชาวเล เป็นต้น

          นอกจากเกาะน้อยใหญ่แล้ว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ โลกใต้น้ำกับดงปะการังหลากหลาย ปลาฝูงปลาน้อยใหญ่ ที่ล้วนเป็น ความล้ำค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นเหมือนจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเสมอ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงแวะไปรวบรวมเอา 20 สถานที่ท่องเที่ยวพังงา มาแนะนำกัน ส่วนจะมีที่ไหนน่าสนใจบ้างนั้น ไปดูกันเลยจ้า
1. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

พังงา

          อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ภายในตำบลเกาะพระทอง มีพื้นที่ 80,000 ไร่ และได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 ส่วนชื่อของ "เกาะสิมิลัน" สิมิลันเป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่าเก้า หรือ หมู่เกาะเก้า เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามันมีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่  เกาะหูยง, เกาะปายัง, เกาะปาหยัน, เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน), เกาะปายู, เกาะหัวกะโหลก (เกาะบอน), เกาะสิมิลัน และเกาะบางู เป็นต้น ส่วนบริเวณที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยง เพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด ส่วนเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด และเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนเป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรง เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ทางอุทยานฯ จะมีการประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี

2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

พังงา

          เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่  ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ, เกาะสุรินทร์ใต้, เกาะไข่ (เกาะตอรินลา), เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก) เป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงาม มีปลาสีสันต่าง ๆ มากมาย เป็นแหล่งเหมาะสำหรับชมปะการังน้ำตื้น โดยเฉพาะเกาะตอรินลาและเกาะปาจุมบา

          สำหรับบริเวณที่เหมาะจะดำน้ำลึก คือ กองหินริเชลิว อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  10 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล มีปลาหลายพันธุ์ ปะการังสีสวย และเป็นจุดที่มีโอกาสพบฉลามวาฬ ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลมาว่ายให้เห็นอยู่เสมอ ช่วงเวลาที่เหมาะจะเดินทางท่องเที่ยว คือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุม ฝนตกชุก คลื่นลมแรง

          สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่อยู่ติดกันโดยมีร่องน้ำคั่นกลาง มีอ่าวทั้งเล็กและใหญ่กระจายอยู่รอบเกาะ ทุกอ่าวมีความสวยงามของหาดทรายและน้ำทะเลแตกต่างกันไป เกาะสุรินทร์เหนือเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก ที่กางเต็นท์ และมีเรือหางยาวให้เช่าเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ, อ่าวช่องขาด อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นจุดสำหรับกางเต็นท์ หาดทรายขาวสะอาด เล่นน้ำได้  มีปะการังและฝูงปลา เช่น ปลานกแก้วสีสดใส และปลานกขุนทอง มาว่ายเวียนทักทายให้ดูอยู่เสมอ

          อ่าวแม่ยาย อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีคลื่นลมสงบ และมีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสุรินทร์ มีปะการังน้ำตื้น, อ่าวไทรเอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นอ่าวที่มีชาวเลหรือมอแกน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกินนอนอยู่ในเรืออาศัยอยู่, อ่าวลึก อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ มีปะการังน้ำตื้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ฝูงปลาการ์ตูน และฝูงปลาหลากชนิดสีสันสวยงาม, อ่าวจาก อยู่ทางทิศเหนือของเกาะสุรินทร์เหนือ มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีแนวปะการังที่สวยงามสมบูรณ์

          อ่าวไม้งาม อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ ติดกับอ่าวที่ทำการฯ เป็นอ่าวใหญ่ ชายหาดยาวโค้ง มีแนวปะการังที่สวยงามและปลาหลากสีหลายพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่าวไม้งาม เดินผ่านป่าดงดิบเลียบชายหาด มีป้ายสื่อความหมาย ระยะทาง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง จะพบพืชพรรณนานาชนิด สัตว์ป่าต่าง ๆ, อ่าวบอน อยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นที่อยู่ของชาวมอแกนหรือชาวเลอีกกลุ่มหนึ่ง, อ่าวเต่า อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ มีเต่าทะเลอาศัยจำนวนมากบริเวณใกล้แนวปะการัง เป็นอ่าวที่เหมาะจะดำน้ำตื้น เพราะมีปะการังอ่อน และกัลปังหา

          อ่าวผักกาด อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นจุดดำน้ำตื้นที่มีแนวปะการังเขากวาง เป็นอ่าวที่ดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก, อ่าวสุเทพ อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีปะการังสมบูรณ์ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้น, เกาะปาจุมบา หรือเกาะกลาง อยู่ทางเหนือของเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวละเอียดสะอาด แนวปะการังสมบูรณ์ บริเวณนี้ยังพบปลากระเบนราหู ปลาหลากพันธุ์สีสวยงาม และกุ้งมังกรจำนวนมากซึ่งหาดูได้ยาก จนได้ชื่อว่า อ่าวมังกร และยังเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล และเกาะไข่ หรือเกาะตอริลลา อยู่ทางใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ด้านทิศตะวันออกของเกาะมีแนวปะการังยาวเหยียด ที่ยังคงความสวยงามสมบูรณ์เหมาะแก่การดำน้ำลึก

3. เกาะยาว

พังงา

          เกาะยาว มีพื้นที่ประมาณ 137.6 ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เกาะยาวประกอบด้วยเกาะ 2 เกาะ คือ เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ล้อมรอบด้วยเกาะเล็ก ๆ และอ่าวที่น่าสนใจ ได้แก่ หาดป่าหราย อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาว บนเกาะยาวน้อย ประมาณ 7 กิโลเมตร หาดทรายขาวสะอาด ทิวไม้ร่มรื่น สามารถลงเล่นน้ำได้, หาดท่าเขา อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะยาวน้อย 5 กิโลเมตร บนหาดทรายมีหินเล็ก ๆ หลากลวดลาย ห่างจากฝั่งออกไปเล็กน้อยมีเกาะเล็ก ๆ ยามน้ำแห้งสามารถเดินไปเที่ยวเกาะเหล่านี้ได้สะดวก บนเกาะมีไม้ป่าและกล้วยไม้ขึ้นอยู่ทั่วไป

          อ่าวตีกูด อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ เป็นอ่าวที่มีหาดทรายขาวสะอาด ทางทิศเหนือของอ่าวเป็นแหลมที่มีทิวทัศน์สวยงาม ชายฝั่งร่มรื่นด้วยทิวสน, อ่าวคลองสน อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ หาดทรายขาวสะอาดร่มรื่นด้วยทิวสน สามารถลงเล่นน้ำ และดำน้ำชมปะการังได้, อ่าวหินกอง อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดร่มรื่นด้วยไม้เคียม มีลูกปลากระเบนอาศัยอยู่จำนวนมาก ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำ ที่อ่าวนี้ยังมีชาวบ้านมุสลิมทำอาชีพหาปลาอาศัยอยู่, อ่าวล้าน อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดทรายสวยงาม สามารถลงเล่นน้ำได้ ทางทิศเหนือของแหลมเป็นหน้าผาชัน, อ่าวทราย อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดทรายขาวละเอียด สามารถลงเล่นน้ำได้

          เกาะโละปาแรด อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดทรายที่ร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าวหาดทรายขาวละเอียดเป็นแนวยาวเหยียด ทางเหนือของอ่าวมีแหลมที่มีโขดหินสวยงาม ลงเล่นน้ำทะเลได้, แหลมนกออก ตั้งอยู่ที่เกาะยาวใหญ่ มีหาดทรายที่มีโขดหิน และก้อนหินหลากสีสวยงาม สามารถลงเล่นน้ำได้ นอกจากนั้นบนเกาะยาวใหญ่และเกาะยาวน้อย ยังมีบ้านพักแบบโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน สอบถามข้อมูลได้ที่ ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกาะยาวน้อย ท่าเรือบางโรง โทรศัพท์ 0 7659 7244 หรือองค์การบริหารตำบลเกาะยาวน้อย โทรศัพท์ 07659 7122 หรือ kohyaohomestay.com

4. เกาะพระทอง

พังงา
ภาพจาก park.dnp.go.th

          เกาะพระทอง อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง มีเกาะบริการที่อยู่ติดทะเลอันดามัน และมีเกาะขนาดเล็กต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนอีกถึง 37 เกาะ เกาะแห่งนี้ได้รับการตั้งสมญานามว่า เป็นซาฟารีกลางอันดามัน ด้วยลักษณะของเกาะที่มีพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ มีชายหาดด้านทิศตะวันตก ป่าชายเลนด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก บนเกาะเป็นทุ่งหญ้า ป่าเสม็ด และป่าพรุ ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของซาฟารีที่ประเทศแอฟริกา มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่บนเกาะทำให้ที่นี่มีเสน่ห์เหนือใคร ซึ่งเกาะพระทองนั้นเหมาะสำหรับคนรักการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติสวยอย่างเป็นส่วนตัว ความงามทางธรรมชาติบนบกนั้นว่าน่าตื่นตาแล้ว ในขณะที่ใต้น้ำก็งดงามไม่แพ้กัน ชายหาดสวยน้ำทะเลใส ปะการังก็มีให้ชม แถมยังนั่งเรือข้ามไปเที่ยวเกาะระ ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะพระทองได้อีกหนึ่งต่อด้วย

5. ถ้ำพุงช้าง

          ถ้ำพุงช้าง เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักรักการผจญภัย เพราะต้องนั่งแพและเรือแคนู อีกทั้งยังต้องเดินลุยน้ำเข้าไปถึงจะได้พบกับความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ และตื่นตาตื่นใจไปกับหินงอกหินย้อยที่เป็นฝีมือธรรมชาติอันสวยงามวิจิตรพิสดาร ถ้ำพุงช้างอยู่ภายในบริเวณวัดประจิมเขต มีธารน้ำไหลตลอดปี ประกอบด้วยถ้ำเล็กถ้ำใหญ่มากมาย อีกทั้งยังเป็นถ้ำที่ พระบาทสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เคยเสด็จฯ มาเยือน และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้ทางด้านหน้าของถ้ำพุงช้างอีกด้วย

          การที่ภายในมีสายน้ำไหลผ่านกลางถ้ำแสดงให้เห็นถึงการไหลเวียนและการถ่ายเทของอากาศตลอดเวลา มีทั้งช่วงน้ำลึกและช่วงน้ำตื้น หยดน้ำที่หยดจากติ่งปลายของหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟฉายก่อให้เกิดประกายดั่งเพชร มีลักษณะรูปร่าง ๆ ต่าง ๆ กันไป เช่น รูปคนตกปลา รูปแป๊ะยิ้ม รูปปลา โดยเฉพาะช้างหลากรูปแบบที่แปลกตาไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ซึ่งการเดินเที่ยวถ้ำพุงช้างจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณหนึ่งชั่วโมง นอกจากความสวยงามแล้วถ้ำพุงช้างยังเป็นแหล่งที่สองของประเทศไทยที่มีการค้นพบค้างคาวคุณกิตติซึ่งเป็นค้างคาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก

6. เกาะปันหยี

พังงา

          เกาะเล็ก ๆ ที่นี่ถือเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพังงา เพราะเกาะปันหยีเป็นเกาะที่มีชุมชนชาวประมงโบราณอาศัยอยู่กว่า 200 ปีมาแล้ว ด้วยการตั้งหมู่บ้านบริเวณพื้นที่ราบริมชายฝั่งของเกาะเป็นที่หลบฝน มีการสร้างบ้านโดยการยกพื้นสูงเหนือน้ำ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ภายในบริเวณเกาะจึงได้มีการสร้างมัสยิดให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน รวมทั้งมีการสร้างแพสำหรับใช้เล่นฟุตบอลบนน้ำอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งเกาะที่เต็มไปด้วยผู้คนที่เป็นมิตร ความเงียบสงบของเกาะจึงเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวที่เกาะอีกด้วย

7. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

พังงา

          มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยว คือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง

          สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็ก ๆ มีที่ราบประมาณ 1 ไร่ มีบ้านเรือน 200 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ขายของที่ระลึก และขายอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว มีโรงเรียน และสถานีอนามัยอยู่บนเกาะ อีกทั้งยังมีสนามฟุตบอลลอยน้ำที่แรกและที่เดียวในเมืองไทย เป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก, เขาหมาจู อยู่ระหว่างทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี เขาหมาจู เป็นภูเขาหินมีลักษณะคล้ายรูปสุนัขแบ่งเป็นส่วนหัว ลำตัวและหางเป็นพู่, เกาะพนัก เป็นเกาะที่สวยงาม มีถ้ำหินงอก หินย้อย และมีแอ่งน้ำตกขนาดเล็กเป็นชั้น ๆ ลดหลั่นกันอยู่ในถ้ำด้วย

          เขาพิงกัน เป็นเกาะที่อยู่บนหาด เหตุที่ชื่อนี้เพราะภูเขาหินแตกออกจากกัน หินที่เล็กกว่าเลื่อนลงมา ฐานจมลงไปในดินแยกห่างจากกัน ส่วนด้านบนยังคงพิงกันอยู่ ด้านหลังของเขาพิงกันมีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองออกไปในทะเลจะเห็น “เขาตะปู” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เกาะเจมส์บอนด์” มีลักษณะเหมือนตะปู อยู่กลางน้ำ อุทยานฯ เก็บค่าขึ้นเขาพิงกัน ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท, เขาเขียน หรือภาพเขียนสี เป็นทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี บริเวณหน้าผาจะมีรูปเขียนเป็นภาพสัตว์ชนิดต่าง ๆ สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดโดยนักเดินเรือสมัยโบราณที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการ ศึกษาว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี

          ถ้ำลอด เป็นภูเขาลักษณะเกาะทะลุ ปากถ้ำกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตร เรือขนาดเล็กสามารถแล่นผ่านทะลุไปอีกด้านของถ้ำได้ บนเพดานถ้ำมีหินย้อยดูแปลกตา และเกาะห้อง เป็นภูเขาเล็กใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อแล่นเรือเข้าไประหว่างเกาะ มองโดยรอบเหมือนอยู่ในห้องโถงใหญ่ที่มีประตู 2 บาน และเป็นแหล่งปะการังที่สวยงาม

8. วัดนารายณิกายาราม

          วัดนารายณิกายาราม เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระลักษณ์ องค์จำลอง ซึ่งองค์จริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และเทวรูปพระแม่นางสีดา (นางสีดา) ซึ่งเป็นองค์จริง นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกอายุ 1,300-1,400 ปี ที่ขุดได้บริเวณยอดเขาเรียงกันอยู่ภายในวัด รูปสลักเหล่านี้มีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองกะโกลา (ชื่อเดิมของเมืองตะกั่วป่า) และการเผยแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียในภูมิภาคตอนนี้

9. อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

พังงา
ภาพจาก park.dnp.go.th

          อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อยู่ห่างจากอำเภอตะกั่วป่า 33 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอกะปง และอำเภอเมือง พื้นที่อุทยานฯ มีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ได้แก่ เขาหลัก, เขาแสงทอง, เขาไม้แก้ว และเขาปลายบางโต๊ะ โดยมียอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,077 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญในจังหวัดพังงา ได้แก่ แม่น้ำพังงา และแม่น้ำตะกั่วป่า สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น หาดเล็ก จุดท่องเที่ยวเป็นชายหาด สำหรับชมบรรยากาศและลงเล่นน้ำได้ นอกจากนี้ ภายในอุทยานฯ ยังมีบ้านพักและเต็นท์บริการนักท่องเที่ยว สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ หมู่ 7 ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โทรศัพท์ 0 7648 5414 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2562 0760 หรือ park.dnp.go.th

10. ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า

          เมืองที่เต็มไปด้วยร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเก่า ในสมัยยุคทองของเหมืองแร่ดีบุก เห็นได้จากอาคารบ้านเรือนร้านค้า ของจีนแบบชิโนโปรตุกีส บริเวณถนนอุดมธารา และบริเวณถนนศรีตะกั่วป่า (ตลาดใหญ่) ลักษณะเป็นตึกแถวสองชั้น ก่ออิฐถือปูน คล้ายกับตึกแถบเมืองในภูเก็ต โดยมีลวดลายบริเวณช่องลมและระเบียง จะมีซุ้มประตูโค้งตามทางเดินด้านหน้า แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจเหมืองแร่จะเลิกร้างไปนานแล้ว แต่ความเป็นตึกเก่าโบราณยังคงหลงเหลืออยู่มาก แม้ปัจจุบันธุรกิจที่นี่จะเพิ่มมากขึ้น แต่การเปิดให้ชมตึกแถวสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส และชิมอาหารพื้นบ้านในทุกวันอาทิตย์ช่วงฤดูท่องเที่ยว

11. บ่อน้ำพุร้อนบ้านบ่อดาล

          น้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน เป็นของเอกชน รอบบริเวณจัดเป็นสวนสวยงามร่มรื่น มีน้ำแร่อุ่น ๆ ไหลวนเวียนอยู่ในสระ เหมาะสำหรับการแช่เพื่อการพักผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวดข้อ กระดูก เหน็บชา ตลอดจนบำรุงผิวพรรณและเส้นผม เวลาเปิดทำการเวลา 08.00-22.00 น.

12. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

          อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529 มีพื้นที่ทั้งหมด 45,000 ไร่ แยกออกเป็นสองส่วน คือ เทือกเขาลำปี ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี อายุอยู่ในช่วง 60–140 ล้านปี สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มียอดเขาสูงสุด คือ ยอดเขาขนิม สูงประมาณ 622 เมตร และหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมทะเลฝั่งอันดามัน

          สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ ได้แก่ หาดท้ายเหมือง ชายหาดขนานไปกับทางหลวงแผ่นดิน มีความยาวกว่า 13 กิโลเมตร น้ำทะเลใส พร้อมด้วยกิจกรรมเดินดูเต่าไข่ในตอนกลางคืนเดือนหงาย และช่วงที่ไข่เต่าฟักเป็นตัวจะมีการปล่อยเต่าลงทะเล เรียกว่า ประเพณีปล่อยเต่า จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี, ทุ่งเสม็ด ทางตอนกลางของหาดท้ายเหมืองเป็นป่าเสม็ดขาวล้วน, น้ำตกโตนไพร เป็นน้ำตกที่มีความสูงใหญ่ เกิดจากเขาโตนย่านไทร สภาพป่าโดยรอบร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่และน้ำตกเขาลำปี เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น เป็นแหล่งชมปลาที่น่าสนใจเพราะมีปลาหายาก อย่างเช่น ปลาพลวงชมพู รวมทั้งปลาสร้อยนกเขาและปลาซิวน้อย-ใหญ่อีกหลายชนิด

13. วัดราษฎร์อุปถัมภ์

          เป็นวัดเก่าแก่ ชื่อเดิมคือ วัดบางเหรียง ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการของอำเภอทับปุด ประมาณ 11 กิโลเมตร บริเวณวัดล้อมรอบด้วยภูเขาที่สมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่ ในวัดมีถาวรวัตถุทางธรรมที่สำคัญ คือ พระธาตุเจดีย์เทพนิมิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุ เจดีย์พุทธธรรมบันลือ” ลักษณะของตัววัดตั้งอยู่บนเขาล้าน เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ โดยมีพระพุทธรูปล้อมรอบฐาน อีกทั้งยังเป็นวัดที่มีภูเขาล้อมรอบสวยงาม

14. น้ำตกรามัญ

          ตั้งอยู่ที่ บ้านหินสามก้อนตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง ชื่อของน้ำตกแห่งนี้เป็นภาษามอญ เนื่องจากเมื่อครั้งสงครามยังสีเกาะทัพ มีชาวมอญหนีพม่าเข้ามาตั้งชุมชนบริเวณเหนือน้ำตก จึงเรียกชื่อ น้ำตกรามัญ ซึ่งเป็นสายน้ำไหลเลาะลงชั้นหินลดหลั่นกันมากถึง 8 ชั้น มีขนาดแต่ละชั้นที่แตกต่างกันไม่มากนัก รวมทั้งมีแอ่งน้ำหลายแห่ง สามารถลงเล่นได้ เหนือน้ำตกไปเป็นลำธารน้ำใส ร่มรื่นด้วยพรรณไม้ นานาชนิดทั้งต้นไม้ใหญ่ และพืชจำพวกเฟิน อีกยังได้บรรยากาศของความร่มรื่นและความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

15. ศูนย์อนุรักษ์กลางโครงการอุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์

          ตั้งอยู่ที่ฐานทัพเรือทับละมุ เป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล รวมทั้งทางด้านชีววิทยาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของเต่าทะเลตามบนชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งอนุบาลลูกเต่าทะเล เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจที่นี่จะเปิดให้เข้าชมเวลา 08.30-16.30 น.

16. ชายทะเลท่านุ่น

          อยู่เชื่อมระหว่างสะพานสารสิน-สะพานเทพกษัตรี ระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต จากทางหลวงหมายเลข 4 ตรงเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนถึงเกาะภูเก็ตบริเวณช่องแคบปากพระ ซึ่งพื้นที่ชายหาดแห่งนี้จะเต็มไปด้วยหาดทรายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ซึ่งบริเวณชายหาดแห่งนี้จะมีเต่าขึ้นมาวางไข่อยู่ทุก ๆ ปี

17. อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813

พังงา

          อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านบางเนียง ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า ก่อนเกิดเหตุเรือลำนี้เป็นเรือในหน่วยงานกรมตำรวจ เป็นเรือตรวจการณ์ 813 หรือที่คนทั่วไปในนาม ต.813 จุดประสงค์หลักในการปฏิบัติหน้าที่ คือ ถวายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญทางน้ำ รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงของรัฐ สิ่งแวดล้อม สืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ค้นหาและช่วยเหลือเรืออากาศยาน และผู้ประสบภัยทางน้ำ ประสานงานหรือสนับสนุนปฏิบัติงานของหน่วยงาน กับองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเกินเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ให้เดินทางไปถวายการอารักขาทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ และครอบครัว ที่จังหวัดพังงา จึงออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2547

          ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ไปประจำการในเรือทั้งหมด 11 คน โดยมี ร.ต.อ.นิรัตน์ ช่วยจิตต์ เป็นหัวหน้าควบคุมเรือ เรือ ต.813 จอดอยู่ในทะเล บริเวณโรงแรมลาฟลอล่า ห่างจากฝั่งประมาณ 1 ไมล์ทะเล กระทั่งเกิดเหตุการณ์สึนามิ ซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน ความแรงของคลื่นซัดพาเรือ ต.813 จากชายฝั่งมาประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ตั้งใจจะกู้เรือ ต.813 กลับหน่วย แต่มีคำสั่งให้คงไว้อย่างนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์ เตือนความทรงจำว่าแรงปะทะของคลื่นสึนามินั้นแค่ไหน เรือ ต.813 หนักถึง 60 ตัน ตอนวิ่งชนคลื่นวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 20 น็อต ยังสู้แรงปะทะไม่ได้ แถมย้ายเรือห่างจากฝั่งกิโลเมตรเศษข้ามถนน ขึ้นไปอยู่บนเชิงเขาความสูงเท่ายอดมะพร้าว จึงไม่แปลกเลยที่มีผู้สูญเสียไปมากมาย และทำลายชุมชนขนาดย่อม ตึกโรงแรมให้หายไปชั่วไม่กี่นาที และเหตุการณ์ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบน เรือ ต.813 เสียชีวิต 1 ท่าน คือ จ่าสิบตำรวจยุทธกร หนูเลขา จากวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จนถึงทุกวันนี้เรือยังคงอยู่บริเวณเดิมไม่เคลื่อนย้าย และยังคงอยู่ลักษณะเดิม ๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานต่อไป

18.  แหลมปะการัง              

พังงา
ภาพจาก andamanecotourism.com

          ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางตะกั่วป่า-เขาหลัก ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นชายหาดกว้างที่มีซากปะการังชายหาดวางเกลื่อนกลาดไปด้วยซากปะการังชนิดต่าง ๆ ที่ถูกน้ำทะเลซัดขึ้นมาไว้บนพื้นทรายเป็นที่จอด เรือของชาวประมงท้องถิ่น มีแนวปะการังน้ำตื้นพ้นน้ำให้เห็นเป็นแนว จึงได้ชื่อว่าแหลมปะการัง สามารถลงเล่นน้ำได้ในบรรยากาศโรแมนติก ร่มรื่นด้วยแนวต้นสน ริมชายหาด ส่วนช่วงเย็นเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการนั่งชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม

19. หาดบางสัก

          หาดบางสัก อยู่ในตำบลบางม่วง ริมถนนสายเพชรเกษม สายท้ายเหมือง-ตะกั่วป่า กิโลเมตรที่ 76-77 มีทางแยกซ้ายมือเข้าไป 100 เมตร ชายหาดบางสักมีหาดทรายขาวสะอาดยาวขนานกับทิวสนร่มรื่น เล่นน้ำได้ ยามเย็นจะมีชาวบ้านนักท่องเที่ยวมานั่งชมรอพระอาทิตย์ตกอยู่เสมอ ชายหาดจะมีที่พัก และร้านอาหารบริการ

20. วนอุทยานสระนางมโนห์รา

พังงา

          ตั้งอยู่ที่ตำบลนบปริง อำเภอเมืองพังงา มีลักษณะเป็นป่าประเภทป่าดงดิบหรือป่าฝน วนอุทยานฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ มีลำธารไหลจากป่าต้นน้ำที่อยู่บนสันเขาผ่านหุบเขาทั้งพื้นที่ราบ และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกขนาดเล็ก มีไม้ทางเศรษฐกิจ สัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา ลิง ค่าง สถานที่น่าสนใจภายในเขตวนอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกสระนางมโนราห์ ถ้ำเปลือกหอย ถ้ำขี้ค้างคาว  ถ้ำแก้ว ภายในวนอุทยานฯ ไม่มีบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์บริการนักท่องเที่ยว เปิดบริการทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.

          เป็นอย่างไรกันบ้างกับ "สถานที่ท่องเที่ยวพังงา" ที่เรานำมาฝากกัน น่าจะเป็นหนึ่งในลิสต์ตัวเลือกของเพื่อน ๆ สำหรับวางแผนต้อนรับการท่องเที่ยวในช่วงหน้าร้อนนี้ได้ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, phangnga.go.th, andamanecotourism.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
20 สถานที่ท่องเที่ยวพังงา ดินแดนป่าเกาะที่น่าไปเยือน อัปเดตล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10:59:04 359,841 อ่าน
TOP
x close