"เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง"
... นี่คือคำขวัญของ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง แวดล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าเขาเขียวขจี ภูมิประเทศมีทัศนียภาพสวยงาม อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย รวมไปถึงอาหารขึ้นชื่ออย่าง ไก่ย่างวิเชียรบุรี ขนมจีนหล่มเก่า และผลไม้ยอดนิยมของจังหวัด คือ มะขามหวานเมืองเพชร และลูกเสาวรส แต่ใช่ว่าจังหวัดเพชรบูรณ์จะมีของดีเพียงเท่านี้ เพราะจริง ๆ แล้ว เมืองมะขามหวานแห่งนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวดี ๆ ให้ไปเปิดตา เปิดใจอีกเพียบ ถ้าอยากรู้ว่าจะน่าไปท่องเที่ยวแค่ไหน ก็เปิดประตูตามเราเข้าไปสำรวจ "จังหวัดเพชรบูรณ์" กันเลย
เมืองเพชรบูรณ์นี้สันนิษฐานว่า สร้างมา 2 ยุค ยุคแรกสมัยสุโขทัยหรือพิษณุโลกเป็นเมืองหลวงสังเกตตามแนวกำแพงเมือง ซึ่งเอาลำน้ำไว้กลางเมือง และยุคสองสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีป้อมและกำแพงก่อด้วยอิฐปนศิลา สัณฐานคล้ายเมืองนครราชสีมาแต่เล็กและเตี้ยกว่า เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนกัน เมืองเพชรบูรณ์ที่สร้างทั้งสองยุคนี้สำหรับป้องกันข้าศึกซึ่งจะยกทัพมาจาก ฝ่ายเหนือ เพชรบูรณ์เดิมมีชื่อว่า "เพชรบุร" หรือ "พืชปุระ" อันหมายถึงเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร
ตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 346 กิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 114 เมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มแบบท้องกะทะ พื้นที่ของจังหวัดมีลักษณะลาดชันจากทิศเหนือไปใต้ ตอนเหนือเป็นทิวเขาสูง ตอนกลางเป็นที่ราบ ขนาบด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านคือ แม่น้ำป่าสัก
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
เขาค้อ
เป็นชื่อเรียกรวมทิวเขาน้อยใหญ่ของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอเขาค้อ เหตุที่เรียกกันว่า "เขาค้อ" เพราะป่าบริเวณนี้เดิมมีต้นค้อซึ่งเป็นไม้ตระกูลปาล์มขึ้นอยู่มาก ภูมิอากาศบนเขาค้อเย็นสบายตลอดปีแม้ในฤดูร้อน และค่อนข้างเย็นจัดในฤดูหนาว รวมทั้งมีทัศนียภาพสวยงาม จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์
เขาค้อ ประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ยอดเขาค้อมีความสูงประมาณ 1,174 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เขาย่าสูง 1,290 เมตรและเขาใหญ่ สูง 865 เมตร นอกจากนั้นยังมีเขาตะเคียนโง๊ะ เขาหินตั้งบาตร เขาห้วยทรายและเขาอุ้มแพ ลักษณะป่าไม้ในแถบนี้เป็นป่าเต็งรังหรือป่าไม้สลัดใบ ป่าสน และป่าดิบ ที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่ออกผลเป็นทะลายคล้ายหมาก แม้ปัจจุบันป่าจะถูกถางไปมากก็ตาม แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบริเวณเขาค้อมีหลายแห่งโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์การสู้รบกับคอมมิวนิสต์ ได้แก่ อนุสาวรีย์จีนฮ่อ พิพิธภัณฑ์อาวุธ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ นอกจากนี้ยังมีพระบรมธาตุเจดีย์ ตำหนักเขาค้อ น้ำตก และรีสอร์ทที่สวยงามน่าพักมากมาย
การเดินทาง ที่สะดวกมี 2 เส้นทาง คือ...
เส้นทางที่ 1. จากเพชรบูรณ์ไปเขาค้อใช้ทางหลวงหมายเลข 21 เส้นเพชรบูรณ์-หล่มสัก ถึงสามแยกนางั่ว ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2258 อีก 30 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 จากทางหลวงหมายเลข 12 เส้นพิษณุโลก-หล่มสัก บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 100 บ้านแคมป์สน เลี้ยวเข้าเขาค้อตามทางหลวงหมายเลข 2196 อีกประมาณ 33 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะผ่านที่พักรีสอร์ทหลายแห่ง
หมายเหตุ : พาหนะที่จะขึ้นเขาค้อ ไม่ควรใช้รถบัสขนาดใหญ่ เพราะมีทางโค้งมาก ถนนค่อนข้างแคบและลาดชัน ควรใช้รถปิคอัพหรือรถตู้สภาพดี และควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถติดต่อรถสองแถวขึ้น เขาค้อได้ที่ บริษัท เขาค้อเดินรถ จำกัด โทร. 08 1886 1811 ราคาเช่าเหมาประมาณ 1,000-1,500 บาท โดยมีคิวรถอยู่ที่บริเวณแค้มป์สน กม.100 และที่บ้านนางั่ว
พระตำหนักเขาค้อ
ตั้งอยู่บนเขาย่า สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานโครงการในพระราชดำริและทรงตรวจ เยี่ยมราษฎรอำเภอเขาค้อและอำเภอใกล้เคียง เป็นอาคารคอนกรีตครึ่งวงกลมมีทั้งหมด 15 ห้อง รูปทรงแปลกตาไปจากพระตำหนักอื่น สามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าชมบริเวณโดยรอบพระตำหนักได้ บริเวณใกล้กันมีบ้านพักทหารม้าซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวพักค้างแรมได้ มีร้านค้าสวัสดิการตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินขึ้นยอดเขาย่าซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์เขา ค้อโดยรอบได้สวยงาม
การเดินทาง จากสี่แยกสะเดาพงษ์ ใช้เส้นทางหมายเลข 2258 ทางไปหนองแม่นา ตรงไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เส้นทางชันมาก ควรขับรถอย่างระมัดระวัง
วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่บนถนนนิกรบำรุง ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์ มีพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย สูงประมาณ 3 วา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่องาม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร
วัดวิเชียรบำรุง
วัดวิเชียรบำรุง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าโรง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 และมีทางแยกเข้าตัวอำเภออีก 7 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายข้างที่ว่าการอำเภอไปอีก 200 เมตร ภายในบริเวณวัดมองเห็นพระนอนสีทององค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง นามว่า พระพุทธไสยาสน์วิเชียรบุรีศรีรัตนมิ่งมงคล มีความยาวประมาณ 50เมตร สูง 5 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก องค์พระหล่อด้วยปูนทาสีทอง ภายในองค์พระเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ด้านหลังองค์พระมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระเอกาทศรถ นอกจากนี้ยังมีเรือมาด (เรือขุดที่มีประทุน) ที่ขุดแต่งจากไม้ตะเคียนทั้งต้น อายุในราวสมัยอยุธยา ที่พบในแม่น้ำป่าสัก อำเภอวิเชียรบุรีตั้งแสดงอยู่ที่วัดนี้
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าโรง ห่างจากแยกทางหลวงหมายเลข 21 ตามเส้นทางเข้าตัวอำเภอวิเชียรบุรีเป็นระยะทางประมาณ 8กิโลเมตร เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งชาวอำเภอ วิเชียรบุรีร่วมใจกันก่อสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งที่เสด็จยกกองทัพ ไปตีทัพเขมรที่เมืองวิเชียรบุรีแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จมาทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2518 ทางอำเภอจัดงานเฉลิมฉลองศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นในวันกองทัพไทย ราวเดือนมกราคมของทุกปี
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง (หนองแม่นา)
ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ด้านจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 6 กิโลเมตร จุดท่องเที่ยวหลักของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงด้านจังหวัดเพชรบูรณ์ คือ ป่าสนธรรมชาติ และทุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งมีทิวทัศน์และพรรณไม้ดอกที่งดงามโดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาว เหมาะแก่กิจกรรมเดินป่า กางเต็นท์พักแรม และปั่นจักรยานเสือภูเขา
สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่ ...
ทุ่งแสลงหลวง เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา และทุ่งหญ้าสลับกับป่าสนสองใบ ด้านหน้าที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มองเห็นเป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ เนื้อที่ประมาณ ตารางกิโลเมตร ตามเส้นทางจะตัดผ่านป่าเบญจพรรณจะพบสัตว์ป่าออกมาหากินตามข้างทาง และมีพันธุ์ไม้ดอกมากมาย
ทุ่งนางพญา อยู่ ทางทิศใต้ของที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หนองแม่นา ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้าที่แวดล้อมด้วยป่าสนสองใบสลับกับป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง ตามกิ่งสนจะพบกล้วยไม้ป่าที่สวยงาม เช่น เอื้องชะนีและเอื้องคำปากไก่ ซึ่งออกดอกในฤดูร้อน บริเวณป่าสนมีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์พักแรม ในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีสายหมอกลอยอ้อยอิ่งปกคลุมไปทั่วบริเวณ
แก่งวังน้ำเย็น ห่าง จากที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หนองแม่นาประมาณ 7 กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับทุ่งโนนสน และแยกเข้าไปอีก 500 เมตร ระหว่างเส้นทาง เดินสภาพป่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากทุ่งหญ้าสู่ป่าเต็งรังสลับด้วยป่าสนและป่าเบญจพรรณ แก่งวังน้ำเย็นเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ยาวหลายร้อยเมตร ในระหว่างแก่งแต่ละแก่งเป็นวังน้ำลึกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืด และมีผีเสื้อให้ชม เช่น ผีเสื้อถุงทองป่าสูง ผีเสื้อหนอนคืบสไบแดง นอกจากนี้ บริเวณป่าริมลำธารมีโอกาสพบนกมากมายหลายชนิด
ทุ่งโนนสน เป็น ทุ่งหญ้าแบบสะวันนาสลับกับป่าสนเขา ตั้งอยู่ใจกลางอุทยานฯ บนยอดเขาโคกสน ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีดอกไม้หลายชนิดผลัดใบ เช่น ดอกดุสิตา เอื้องม้าวิ่ง กระดุมเงิน ยี่โถปีนัง หม้อข้าวหม้อแกงลิง ทุ่งโนนสนห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ หนองแม่นาประมาณ 32 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถท้องถิ่นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร เหมาะแก่การเดินป่ากางเต็นท์พักแรม ใช้เวลาท่องเที่ยวรวม 3 วัน 2 คืน
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท
สถานที่พัก บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยาน สล.8 (หนองแม่นา) มีบริการบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 7 หลัง ราคา 2,000 – 5,000 บาท เต็นท์ให้เช่า ราคา 200-600 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ตู้ ปณ. 64 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65200 โทร. 0 5526 8019 หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร.0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th
การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 ไป ทางอำเภอหล่มสัก ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงบ้านนางั่วแล้วเลี้ยวซ้าย ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2258 ขึ้นเขาค้อผ่านสี่แยกบ้านสะเดาพงษ์ผ่านพระตำหนักเขาค้อ ตรงไปจนถึงบ้านทานตะวันเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตรจะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยาน สล.8 (หนองแม่นา) เส้นที่สองจากจังหวัดพิษณุโลกใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 เส้นพิษณุโลก-หล่มสัก ประมาณ กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่เขาค้อผ่านหน้าอำเภอเขาค้อ ถึงสี่แยกบ้านสะเดาพงษ์แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2258 ผ่านพระตำหนักเขาค้อตรงไปบ้านทานตะวัน เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยาน สล. 8 (หนองแม่นา)
ส่วนการเดินทางโดยรถประจำทาง สามารถโดยสารรถประจำทางมาลงที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และต่อรถสองแถวรับจ้างมายังหน่วยพิทักษ์อุทยาน สล. 8 (หนองแม่นา) ค่าเหมารถประมาณ 700 บาท ในช่วงหน้าหนาวซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวทุ่งแสลงหลวง สามารถแจ้งให้ทางอุทยานฯติดต่อรถท้องถิ่นและลูกหาบได้
แก่งบางระจัน
ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านหนองแม่นา เป็นแหล่งท่องเที่ยวท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีกิจกรรมพายเรือท่องป่า ตามหาแมงกะพรุนน้ำจืด ในช่วงหน้าแล้ง ราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมทุกปี โดยมีกลุ่มชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการกิจกรรมท่องเที่ยวในบริเวณนี้
กิจกรรมการท่องเที่ยว มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบค้างแรมในป่า 2 วัน 1 คืน หรือแบบเช้าไปเย็นกลับ นอกจากนี้ ยังสามารถทำกิจกรรมระยะสั้น โดยนั่งเรือเรือแจวจากแก่งบางระจันไปยังแก่งสอง ไปกลับใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสความสวยงามเงียบสงบของป่าต้นน้ำเข็ก ซึ่งอยู่ระหว่างพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ โดยการนั่งเรือแจวหรือเรืออีโปงของชาวบ้านที่ใช้สัญจรหรือทำมาหากินในอดีต ถึงปัจจุบัน เริ่มจากแก่งบางระจันเป็นจุดแรกล่องเรือไปตามลำน้ำเข็กที่ไหลเย็นแต่ไม่ เชี่ยวกราก ซึ่งถือเป็นแม่น้ำบนภูเขาที่ไหลนิ่งและมีน้ำอยู่ในระดับสม่ำเสมอตลอดปี โดยจะมีน้ำมากและไหลแรงในช่วงฤดูฝนเท่านั้น
ระหว่างทางมีจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้คือ การชมแมงกะพรุนน้ำจืด (Freshwater Jellyfish) ที่พบในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ของโลก หลังจากที่พบที่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ และญี่ปุ่น สายพันธุ์ที่พบคือ Crasapedacusta Sowerbyi แมงกะพรุนจะปรากฏตัวให้เห็นในช่วงกลางวันแดดจัดตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. นอกจากนี้ บริเวณแก่งสองยังมีผีเสื้อพันธุ์หายากหลายพันธุ์ อาทิ ไกเซอร์ดำ ผีเสือจันทรา เหลืองหนานแฟ้นฉาน ถุงทองป่าสูง จรกา หนอนกะหล่ำ เหลืองหนามใหญ่โคนปีกดำ สะพายฟ้า หางติ่งปารีส หางดาบ หางพลิ้ว แผนที่ หนอนจำปี ฯลฯ ซึ่งผีเสื้อมักจะออกมาให้เห็นในช่วงที่มีแดดจัด เวลา 09.00-14.00 น.
นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มชุมชนคนรักป่าหนองแม่นา-ทานตะวัน คุณสมพงษ์ ตุ้มคำ โทร. 08 1046 2166 คุณอดิศักดิ์ ฟ้อนประเสริฐ โทร. 08 4813 7638 คุณมานะ มีสุข โทร. 08 7198 6488
วัดช้างเผือก
ตั้งอยู่ที่ตำบลวังชมภู ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 24 กิโลเมตร บริเวณปากทางเข้าวัดจะเห็นรูปปั้นช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ ภายในวัดเก็บรักษาสรีระที่ไม่เน่าเปื่อยของพระครูพัชราจารย์ หรือหลวงพ่อทบ บรรจุศพอยู่ในโลงแก้ว เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์และผู้ที่เดินทางผ่านไปมา ตามประวัติเล่าว่า หลวงพ่อทบได้ศึกษาวิชาอาคมมาจากเขมร จนเป็นที่เลื่องลือทางด้านเครื่องรางของขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงในด้านแคล้วคลาดจากภยันตราย อยู่ยงคงกะพัน ในเดือนมีนาคมจะมีการจัดงานประจำปีครบรอบวันมรณภาพของหลวงพ่อทบเป็นประจำทุก ปี นอกจากนี้ บริเวณลานกลางแจ้งยังมีรูปปั้นหลวงพ่อทบให้สักการะบูชา และซากโบสถ์เก่าแก่สมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี
การเดินทาง จากตัวเมืองเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ลงมาทางทิศใต้ ถึงสามแยกวังชมพูเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางอำเภอหนองไผ่ อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 118 ก่อนถึงสามแยกบ้านนายม ซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าวัดไปอีกประมาณ 700 เมตร
หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์
ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์ หอวัฒนธรรมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อเป็นอนุสรณ์ "นครบาลเพชรบูรณ์" เนื่องจากในระหว่าง พ.ศ.2486-2488 จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ออกพระราชกำหนดเพื่อย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ เพชรบูรณ์ โดยใช้ ชื่อว่า "นครบาลเพชรบูรณ์" ด้านนอกอาคารจะมีรูปปั้นฝักมะขามยักษ์สีทองโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ ภายในตัวอาคารเป็นหอประชุมขนาดใหญ่ และมีการจัดแสดงภาพถ่ายและโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับความเป็นมา ประวัติศาสตร์ ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบูรณ์
อุทยานแห่งชาติตาดหมอก
ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปทางตะวันออก 37 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 290 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยผืนป่าอุดมสมบูรณ์บนเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำป่าสักและลำน้ำชีและเป็นพื้นที่ป่ากันชน ให้กับผืนป่าสามแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2541 จัดเป็นอุทยานฯ ลำดับที่ 87 ของประเทศ ภายในบริเวณมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ …
จุดชมวิว บริเวณกิโลเมตร 3 มองเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองเพชรบูรณ์เบื้องล่าง และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก
น้ำตกตาดหมอก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 7 กิโลเมตร ตามทางรถยนต์และเดินเท้าอีก 1,800 เมตร ตามทางเดินเลียบธารลำธาร ช่วงสุดท้ายของทางเดินเป็นทางขึ้นเขาชัน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียวไหลลงมาจากหน้าผาสูงเด่น มีความสูง 750 เมตร สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าสมบูรณ์เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่นานาชนิด สายน้ำที่ไหลจากตาด (หน้าผา) สูง กระทบสู่พื้นล่างกลายเป็นละอองน้ำ เป็นที่มาของ ชื่อ "น้ำตกตาดหมอก" ระหว่างทางเดินพบพรรณไม้ที่น่าสนใจ
น้ำตกสองนาง อยู่ห่างจากลานจอดรถตามเส้นทางเดินเท้าทางเดียวกับน้ำตกตาดหมอก เป็นระยะทาง 2,000 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง มีความสูงทั้งหมด 12 ชั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมน้ำตกได้ทุกชั้นภายในหนึ่งวัน แต่ละชั้นมีความสูงระหว่าง 5–100 เมตร
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาทสถานที่พัก และบริการอื่น ๆ อุทยานฯ มีบริการบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักหลังละได้ 5 คน ราคาหลังละ 1,000 บาท และมีเต็นท์ให้เช่าพักแรม พักได้ 2-6 คน ราคา 200–600 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติตาดหมอก ตู้ ป.ณ.4 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ 67000 โทร. 08 9703 8855 หรือที่ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯโทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th
การเดินทาง จากศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2271 ถึงบ้านเฉลียงลับระยะทาง 12 กิโลเมตร ถึงสามแยกเลี้ยวขวาไปทางบ้านน้ำร้อน ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2275 ประมาณ 200 เมตร เลี้ยวซ้ายขึ้นอุทยานแห่งชาติตาดหมอก ตามเส้นทาง รพช. (บ้านเฉลียงลับ- ตาดหมอก) ระยะทาง 12 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เดินทางต่ออีก 7 กิโลเมตร ถึงลานจอดรถ ทางลาดยางตลอดสาย บางช่วงขึ้นเขาสูงชัน จากนั้นเดินเท้าตามทางเลียบลำห้วยอีก 2 กิโลเมตร เพื่อชมความงามน้ำตกตาดหมอก และน้ำตกสองนาง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
เป็นโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจศึกษาหาความรู้มากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้รับรางวัล Thailand Tourism Award ประจำปี 2543 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยม อุทยานฯมีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า "เมืองอภัยสาลี" สร้างขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจ มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เมืองโบราณศรีเทพมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองส่วนใน มีพื้นที่ 1,300 ไร่ มีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องทางเข้าออก 6 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำ หนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป พบซากโบราณสถานกว่า 70 แห่ง บางแห่งได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้ว และ เมืองส่วนนอก มีพื้นที่ 1,589 ไร่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน ขนาดเป็น 2 เท่าของเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก 6 ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และพบโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกัน
โบราณสถานและสถานที่สำคัญในอุทยานฯ
สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยว และการศึกษาภายในเขตอุทยานฯ ได้เรียงลำดับให้ง่ายต่อการเดินชม ดังนี้….
ศูนย์บริการข้อมูล เป็นอาคารจัดแสดงโบราณสถาน และนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองโบราณศรีเทพ ภายในประกอบด้วยห้องประชุม หรือบรรยายสรุปก่อนการเข้าชมนิทรรศการ
อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. 2531
ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือ โคอศุภราช ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ โดยอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และมีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับบนกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น
ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมรหันหน้าไปทางทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟักแบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่วไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยสันนิษฐานจากการค้นพบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย ระหว่างปรางค์สองพี่น้องและปรางค์ศรีเทพมีกำแพงล้อมรอบและมีอาคารปะรำพิธี ขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังในรูปของศาสนสถานศิลปะเขมรแบบเดียวกับที่พบ ในภาคอีสานของประเทศไทย
โบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังเมืองและศิลปะการก่อสร้างมีลักษณะคล้ายเมืองทวารวดีอื่น ๆ ได้แก่ นครปฐม และเมืองโบราณคูบัว มีการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติจึงเรียกว่า "เขาคลัง"
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ อยู่บริเวณด้านในประตูแสนงอน (ประตูด้านทิศตะวันตก) ศาลเจ้าพ่อศรีเทพเป็นศาลที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ วันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3
นอกจากโบราณสถานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทิศใต้ของเขาคลังในพบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง มีการพบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา แสดงให้เห็นว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดี และมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ นอกจากนี้ ยังพบสระน้ำโบราณ เรียกว่า สระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทางทิศเหนือ และยังมี สระขวัญ อยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก ทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี เชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีการนำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
เวลาเปิด-ปิด : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00–16.30 น. อัตราค่าเข้าชมได้แก่ ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท เด็กเข้าชมฟรี รถยนต์นำเข้าอุทยาน คันละ 50 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการติดต่อวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทร. 0 5692 1322, 0 5692 1317
การเดินทาง เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 21 เส้นสระบุรี-หล่มสัก ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งหมอชิต กรุงเทพฯ มาลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ (บ้านกลาง) แล้วต่อรถรับจ้างเข้าสู่อุทยานฯ
ตั้งอยู่ที่บ้านทับเบิก ตำบลวังบาล ห่างจากอำเภอหล่มเก่า 40 กิโลเมตร ตามเส้นทางจากหล่มเก่าไปภูหินร่องกล้า หรือห่างจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 90 กิโลเมตร ภูทับเบิกมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดของเพชรบูรณ์ มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามด้วยธรรมชาติแบบทะเลภูเขา มีอากาศบริสุทธิ์ สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากร่องลมเย็นจากเทือกเขาหิมาลัยและอยู่บนที่สูง จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยช่วงเช้าจะมองเห็นกลุ่มเมฆ และทะเลหมอกตัดกับยอดเทือกเขาเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ ภูทับเบิกยังเป็นสถานที่ที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ คือเป็นจุดรองรับน้ำฟ้ากลางหาว (เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542) เพื่อนำไปรวมเป็นน้ำเพชรน้อมเกล้าถวายเป็นน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542
ปัจจุบันภูทับเบิกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งได้อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 โดยอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยอาชีพทำการเกษตรแบบขั้นบันไดตามเชิงเขา ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพบเห็นไร่กะหล่ำปลีอยู่สองข้างถนนสู่ทับเบิกสวยงาม ในราวเดือนธันวาคม-มกราคม จะมีดอกซากุระหรือนางพญาเสือโครงสีชมพูบานสะพรั่งไปทั้งภูเขา
สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดโดยการนอนเต็นท์ ที่ภูทับเบิกก็มีลานกางเต็นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่บริเวณอาคารหอดู ดาวและที่วัดอุณหภูมิ จุดชมวิวภูทับเบิก ซึ่งเป็นการบริการของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก ค่าบำรุงรักษาสถานที่หลังละ 50 บาท ไม่เสียค่าจอดรถ ถ้าไม่มีเต็นท์ส่วนตัวทางวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิกก็มีบริการให้ เช่าเต็นท์ โดยจะได้รับเต็นท์ 1 หลัง พักได้ 4 ท่าน พร้อมหมอน ผ้าห่ม และเสื่อ ราคาหลังละ 700 บาท มีห้องน้ำหยอดเหรียญครั้งละ 5 บาท เปิดให้บริการอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่กางเต็นท์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก โทร. 08 5733 9737
การเดินทาง สู่ภูทับเบิกจากเพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 ประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสี่แยกหล่มสัก ตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 203 อีก 13 กิโลเมตร พบป้ายบอกทางไปอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตามทางหลวง 2011 และทางหลวงหมายเลข 2331 อีก 40 กิโลเมตร ถึงด่านเก็บค่าธรรมเนียมของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จากตรงนี้มีทางแยกขวาเข้าหมู่บ้านทับเบิกไปอีก 6 กิโลเมตร เส้นทางจากหล่มเก่ามาภูทับเบิกจะสูงชันและคดเคี้ยวมาก รถบัสไม่สามารถขึ้นได้ ผู้ที่ใช้รถยนต์หรือรถตู้ ควรขับรถด้วยความระมัดระวังอีกเส้นทางหนึ่งใช้เส้นทางด้านอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ผ่านอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เลยที่ทำการอุทยานฯมาประมาณ 24 กิโลเมตร จะถึงภูทับเบิก หากขับรถต่อไปจะมาบรรจบกับเส้นทางที่จะลงไปยังอำเภอหล่มเก่า
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติแปลกตาและสวยงาม ทั้งยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
ภูหินร่องกล้ามีลักษณะภูมิอากาศคล้ายกับภูเขาสูงของจังหวัดเลย เช่น ภูกระดึงและภูเรือ เนื่องจากมีความสูงในระดับไล่เลี่ยกัน อากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิจะต่ำประมาณ 4 องศาเซลเซียส แม้ในฤดูร้อนอากาศก็ยังเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ มีทั้งด้านประวัติศาสตร์และด้านธรรมชาติ ดังนี้ ...
พิพิธภัณฑ์การสู้รบ เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสู้รบในอดีต มีสภาพแผนภูมิข้อมูล อุปกรณ์การแพทย์ อาวุธ เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาภูหินร่องกล้า นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุมสำหรับบรรยายสรุปหรือประชุมสัมมนา
โรงเรียนการเมืองการทหาร ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 เป็นหมู่อาคารไม้ภายใต้ร่มเงาของป่ารกครึ้ม เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการเขต 3 จังหวัด คือ จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ.2513 และต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนซึ่งให้การศึกษาตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์
กังหันน้ำ อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร เป็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานความคิดก้าวหน้าทางวิชาการกับการนำประโยชน์จาก ธรรมชาติมาใช้งาน โดยนักศึกษาวิศวะที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ดำเนินการด้านปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิดหรือละเมิดต่อกฎลัทธิ มีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้า และโรงซ่อมเครื่องจักรกลหลงเหลืออยู่
โรงพยาบาลรัฐ อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กิโลเมตร เคยเป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลครบครัน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น และห้องผ่าตัด โรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 สามารถทำการรักษาพยาบาลและผ่าตัดอวัยวะได้ทุกส่วน ยกเว้นหัวใจ มีหมอและพยาบาลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเร่งรัดจากประเทศจีน ในปี พ.ศ.2522 ได้เพิ่มแผนกทำฟัน และวิจัยยา เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากในเมือง มีการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มและใช้สมุนไพรด้วย
ลานอเนกประสงค์ เป็นบริเวณลานหินกว้างใหญ่ อยู่ก่อนถึงสำนักอำนาจรัฐ ใช้เป็นที่พักผ่อนและสังสรรค์ในหมู่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ
สุสาน ทปท. เป็น สถานที่ฝังศพของนักรบทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้บริเวณลานอเนกประสงค์
ที่หลบภัยทางอากาศ เป็น สถานที่หลบซ่อนตัวจากการทิ้งระเบิดทางอากาศของทหารฝ่ายรัฐบาล ลักษณะพื้นที่เป็นหลืบหินหรือโพรงถ้ำใต้แนวต้นไม้ใหญ่ ทำให้ยากต่อการตรวจการณ์ทางอากาศ สถานที่หลบภัยมีอยู่หลายแห่งแต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ 2 แห่ง คือ บริเวณห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารราว 200 เมตร ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ มีซอกหลืบสลับซับซ้อน จุคนได้ถึง 500 คน และอีกแห่งหนึ่งบริเวณทางเข้าสำนักอำนาจรัฐ เป็นหลืบขนาดใหญ่สามารถจุคนได้ประมาณ 200 คน
หมู่บ้านมวลชน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชนแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมถนนที่ตัดมาจากอำเภอหล่มเก่า ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยไม้กระดานแผ่นบาง ๆ กันน้ำฝนได้อย่างดี และมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย
ด้านธรรมชาติ ได้แก่ ...
ลานหินแตก อยู่ ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินที่มีอาณาบริเวณประมาณ 40 ไร่ ลานหินมีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่สามารถจะกระโดดข้ามไปถึง สำหรับความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัว หรือเคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกออกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณลานหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผา ลักษณะเป็นลานหินซึ่งมีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่ม เป็นปม ขนาดไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นคนไข้ของโรงพยาบาล เนื่องจากอยู่บนหน้าผา มีลมพัดเย็นสบาย
ผาชูธง อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล จะสวยงามมากในยามพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่ง ผกค. ขึ้นไปชูธงแดงรูปค้อนเคียวทุกครั้งที่รบชนะฝ่ายรัฐบาล
น้ำตกร่มเกล้า-น้ำตกภราดร ห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารและกังหันน้ำประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตกร่มเกล้า ประมาณ 400 เมตร หากเดินลงไปอีก 200 เมตร จะเป็นน้ำตกภราดรซึ่งมีลักษณะคล้ายกันและอยู่บนลำธารเดียวกัน น้ำตกภราดรมีความสูงน้อยกว่าแต่กระแสน้ำแรงกว่า
น้ำตกศรีพัชรินทร์ ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกศรีพัชรินทร์มีความสูงประมาณ 20 เมตร บริเวณน้ำตกมีแอ่งขนาดใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้
น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตกที่มีความสูง 32 ชั้นในห้วยน้ำหมันซึ่งมีน้ำตลอดปี ต้นน้ำเกิดจากยอดเขาภูหมัน น้ำตกแต่ละชั้นตั้งชื่อคล้องจองกันตามสภาพลักษณะที่สวยงามแปลกตา ห้อมล้อมด้วยป่าดงดิบอันสมบูรณ์ การเดินทาง จากที่ทำการอุทยานฯ ใช้เส้นทางสายภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า ถึงหลักกิโลเมตรที่ 18 มีทางแยกซ้ายเป็นทางเดินเท้าเข้าสู่น้ำตก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เส้นทางผ่านป่าร่มครึ้มมีกล้วยไม้ป่า ต้นเมเปิ้ล และทุ่งหญ้า
น้ำตกผาลาด ตั้งอยู่ด้านล่างของหน่วยพิทักษ์ห้วยน้ำไซ ทางเข้าจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ เข้าสู่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน จากทางแยกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายมือ เดินลงไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก เป็นน้ำตกซึ่งไม่สูงนักแต่มีน้ำตลอดปี
น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่สูงมาก ทางเข้ายังไม่สะดวกนักต้องเดินทางไปตามถนนลูกรังประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นจึงไปตามทางเดินในป่าอีกประมาณ 300 เมตร ถึงด้านบนของน้ำตก และต้องไต่ลงไปตามทางเดินเล็ก ๆ จึงจะมองเห็นความสวยงามของน้ำตกตาดฟ้าหรือเรียกชื่อพื้นเมืองว่า “น้ำตกด่าน-กอซาง” ซึ่งหมายถึงด่านตรวจของ ผกค.ที่มีกอไม้ไผ่ซาง
ธารพายุ เป็นจุดชมวิวบริเวณกิโลเมตรที่ 32 เส้นทางภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของภูเขาและทะเลหมอกได้อย่างสวยงาม มีสวนรัชมังคลาภิเษกสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ ราคา 40 บาท เด็ก ราคา 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ราคา 400 บาท เด็ก ราคา 200 บาท
สถานที่พักทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ประมาณ 23 หลัง ราคา 800-2,400 บาท ค่ายพักแรมพักได้ 15 คน ราคา 1,500 บาท และมีเต็นท์ให้เช่า ราคา 200-600 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทร.0 5523 3527 หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th
การเดินทาง ไปยังอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีสองเส้นทาง คือ
1. จากพิษณุโลกใช้ทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก ถึงสามแยกบ้านแยง แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 มีป้ายบอกทางแยกขวาไปอำเภอนครไทย ก่อนถึงตัวอำเภอนครไทย มีทางแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2331 ผ่านบ้านห้วยตีนตั่ง-บ้านห้วยน้ำไซ-ฐานพัชรินทร์ สู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สภาพเส้นทางสูงชัน คดเคี้ยวเป็นบางช่วง รวมระยะทางจากพิษณุโลก 120 กิโลเมตร
2. จากเพชรบูรณ์ตามทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า บ้านวังบาล บ้านเหมืองแบ่ง บ้านแม้วทับเบิก ถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง ค่อนข้างสูงชันกว่าเส้นทางแรกและคดเคี้ยวมาก ควรใช้รถสภาพดีมีกำลังสูงและใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีรถสองแถวบริการขึ้นภูหินร่องกล้า รถจะจอดอยู่บริเวณตลาดสมใจ มีรถขึ้นภูหินร่องกล้าเวลา 08.00 น., 10.00 น. และ 14.00 น. ค่าเช่าเหมาไป-กลับ (ค้างคืน) 1,300 บาท ค่าเช่าเหมาไป-กลับ (ไม่ค้างคืน ) 800-900 บาท
เนินมหัศจรรย์
เนินมหัศจรรย์อยู่ที่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 ถนนสายนางั่ว-สะเดาพงษ์ ทางหมายเลข 2258 เมื่อขับรถมาถึงตรงนี้ และดับเครื่องรถจะถอยหลังขึ้นเนินได้เอง ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดจากภาพลวงตา เพราะในความเป็นจริงเมื่อวัดระดับความสูงของพื้นที่สองจุดแล้ว ความสูงของเนินจะมีระดับต่ำกว่าช่วงที่เป็นทางขึ้นเนิน
น้ำตกศรีดิษฐ์
เป็นน้ำตกหินชั้นขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เคยเป็นที่อยู่ของ ผกค. มาก่อน สิ่งที่น่าสนใจคือ ครกตำข้าวพลังงานน้ำตกที่ ผกค.สร้างไว้ การเดินทาง ใช้เส้นทางหมายเลข 2196 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 17 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2325 อีกประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าน้ำตก
วัดไตรภูมิ
ตั้งอยู่บนถนนเพชรรัตน์ ในตัวเมือง เป็นวัดเก่าแก่ ประดิษฐาน "พระพุทธมหาธรรมราชา" พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปสมัยลพบุรี ชาวบ้านพบบริเวณหน้าวัดในแม่น้ำป่าสัก จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไปและมีผู้พบอยู่ในแม่น้ำบริเวณที่พบครั้งแรก จึงถือกันเป็นประเพณีของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า เมื่อถึงเทศกาลสารทไทย จะมีการแห่ทำพิธีอุ้มพระดำน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องนำไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นประจำทุกปีในช่วง เทศการสารทไทย เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร สมดังชื่อจังหวัดที่ว่า "เพชรบูรณ์" ซึ่งมาจากคำว่า "พืชปุระ" หรือเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยพระพุทธมหาธรรมราชา จะมีชื่อแสียงทางด้านการขอพรเพื่อรักษาโรคภัย และความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร
บทสวดบูชา พุทธมะหาธัมมะราชา วะชิระปูระณะมะหิทธิกา สัพเพ เต อะนุรักขันตุ อะโรคะเยนะ สุเขนะ จะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทาฯ
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์
อยู่ที่ถนนหลักเมือง ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เสาหลักเมืองเป็นเสาหินที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาจากเมืองศรี เทพ เมื่อปี พ.ศ.2447 เมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณแบบทวารวดีและขอม คาดว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11–12 ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17–18 จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุเขาค้อ
ตั้งอยู่บนเขาค้อ ติดกับหอสมุดนานาชาติเขาค้อ บ้านกองเนียม หมู่ที่ 4 ตำบลเขาค้อ ที่ยอดเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เป็นเจดีย์ที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เจดีย์แห่งนี้ชาวเพชรบูรณ์สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์ 50 ปี และเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ในวันสำคัญทางศาสนาจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียน
อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง
ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพ่อขุนผาเมือง (จุดตัดของทางหลวงหมายเลข 21 กับทางหลวงหมายเลข 12) บริเวณบ้านน้ำชุน ห่างจากที่ว่าการอำเภอหล่มสักประมาณ 3 กิโลเมตร พระรูปทำด้วยโลหะในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักลงดิน พระหัตถ์ซ้ายชี้ลงพื้น พ่อขุนผาเมือง (เจ้าเมืองราด) ผู้ทรงร่วมสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 1800 ได้ทรงร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยางพระสหายนำไพร่พลทำสงครามขจัดอำนาจการปกครองของขอมให้พ้นจาก ดินแดนสุโขทัย และได้ทรงสถาปนาพ่อขุนบางกลางหาว ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ถวายพระนามว่า "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่สักการะของชาวเพชรบูรณ์และผู้เดินทางผ่านไปมาบน เส้นทางนี้
หอสมุดนานาชาติเขาค้อ
หอสมุดนานาชาติเขาค้อ ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 บนเขาค้อ ที่บ้านกองเนียม ตำบลเขาค้อ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ออกแบบเป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ภายในเก็บรักษาหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน "วันนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ" โดยเชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด หอสมุดฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ค่าธรรมเนียมเข้าชมหอสมุดนานาชาติเขาค้อ 10 บาท/คน
การเดินทาง จากสี่แยกสะเดาพงษ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2196 ประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นทางเข้าหอสมุด ให้เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 500 เมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได่ที่ : ป้าแจ่มจันทร์ โทร 08 9048 5412, 08 10452384
ภูเขาหินปะการัง
ภูเขาหินปะการัง หรือชาวบ้านเรียกกันว่า เขาหน่อ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 8 บ้านเขาเพิ่มพัฒนา ตำบลซับพุทรา อำเภอชนแดน อยู่ในเทือกเขาชนแดน เป็นภูเขาหินสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,200 เมตร มี ความลาดชันราว 45 องศาฯ ลักษณะแปลกตา แตกต่างจากภูเขาที่อยู่ข้างเคียง เต็มไปด้วยหินแหลมคมสีเทาโผล่ขึ้นมาทั่วบริเวณ มองดูคล้ายปะการัง หินบางลูกเมื่อใช้วัตถุเป็นไม้ หรือเหล็กเคาะจะมีเสียงดังก้องกังวานคล้ายเสียงระฆังพบอยู่โดยรอบครอบคลุม ภูเขาทั้งลูก มีต้นไม้ขึ้นสลับหลายชนิด โดยเฉพาะต้นจันทน์ผาที่เป็นไม้มงคลหายาก ขึ้นอยู่ท่ามกลางป่าเบญจพรรณ บนยอดเขาสามารถชมทิวทัศน์ได้ ติดต่อ องค์การบริหารส่วนตำบลซับพุทรา โทร. 0 5681 1003
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ไปจนถึงแยกนาเฉลียง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตำบลซับพุทธา ประมาณ 16 กิโลเมตร จนถึงสามแยกแล้วเลี้ยวขวาไปทางอำเภอชนแดน ประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปเขาหินปะการัง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ
ภูเขาหินปะการัง หรือชาวบ้านเรียกกันว่า เขาหน่อ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ 8 บ้านเขาเพิ่มพัฒนา ตำบลซับพุทรา อำเภอชนแดน อยู่ในเทือกเขาชนแดน เป็นภูเขาหินสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,200 เมตร มี ความลาดชันราว 45 องศาฯ ลักษณะแปลกตา แตกต่างจากภูเขาที่อยู่ข้างเคียง เต็มไปด้วยหินแหลมคมสีเทาโผล่ขึ้นมาทั่วบริเวณ มองดูคล้ายปะการัง หินบางลูกเมื่อใช้วัตถุเป็นไม้ หรือเหล็กเคาะจะมีเสียงดังก้องกังวานคล้ายเสียงระฆังพบอยู่โดยรอบครอบคลุม ภูเขาทั้งลูก มีต้นไม้ขึ้นสลับหลายชนิด โดยเฉพาะต้นจันทน์ผาที่เป็นไม้มงคลหายาก ขึ้นอยู่ท่ามกลางป่าเบญจพรรณ บนยอดเขาสามารถชมทิวทัศน์ได้ ติดต่อ องค์การบริหารส่วนตำบลซับพุทรา โทร. 0 5681 1003
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ไปจนถึงแยกนาเฉลียง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตำบลซับพุทธา ประมาณ 16 กิโลเมตร จนถึงสามแยกแล้วเลี้ยวขวาไปทางอำเภอชนแดน ประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปเขาหินปะการัง ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ)
ฐานอิทธิ (พิพิธภัณฑ์อาวุธ) ตั้งอยู่บนเขาค้อ อยู่เลยกิโลเมตรที่ 28 ทางหลวงหมายเลข 2196 ไปเล็กน้อย แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2323 ไปประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นจุดหนึ่งที่เห็นทิวทัศน์สวยงามและเคยเป็นฐานสำคัญทางยุทธศาสตร์ในอดีต ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธ จัดแสดงปืนใหญ่ ซากรถถังและอาวุธที่ใช้สู้รบกันบนเขาค้อ มีห้องบรรยายสรุปแก่ผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท
อนุสรณ์จีนฮ่อ
ตั้งอยู่บนเขาค้อ อยู่เลยกิโลเมตรที่ 23 ของทางหลวงหมายเลข 2196 ไปเล็กน้อย เป็นอนุสาวรีย์ทหารอาสาจากหน่วยรบกองพลที่ 93 ซึ่งมาช่วยรบในพื้นที่เขาค้อ และเสียชีวิตในการสู้รบ
สวนสาธารณะเทศบาลตำบลพุเตย
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพุเตย ริมทางหลวงหมายเลข 21 ระหว่างทางจากอำเภอศรีเทพไปวิเชียรบุรี เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก ภายในมีบ่อน้ำแร่ ตกแต่งบริเวณสวนสวยงาม ที่สำคัญคือ มี "พุเตยสปา" ซึ่งเป็นสปาที่ดำเนินการโดยเทศบาลตำบลพุเตย มีห้องแบ่งเป็นสัดส่วนแยกชายหญิง มีบริการนวดตัว นวดหน้า นวดเท้า และแช่น้ำแร่ร้อนในอ่างจากุซซี่ ที่สะอาดและทันสมัย สอบถามรายละเอียดติดต่อ โทร 0 5679 7650, 0 5679 7837
พุทธธรรมสถานพระธาตุผาซ่อนแก้ว
เป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามรอบด้าน มองเห็นผาซ่อนแก้วและทิวเขาสลับซับซ้อน มีศาลาปฎิบัติธรรมประดิษฐานพระพุทธรูปหยกงดงามภายในตกแต่งด้วยภาพวาดศิลปะ สวยงามแปลกตา
สวนภูพนา
ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำหนาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่น่าสนใจของอำเภอน้ำหนาว อยู่เลยที่ว่าอำเภอน้ำหนาวทางไปอำเภอหล่มเก่าประมาณ 3 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือ ด้านหน้าสวนมีร้านกาแฟสดในสวนไม้ดอกร่มรื่น ภายในสวนมีแปลงปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่เด่นที่สุดคือ ดอกหน้าวัว ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พลายชุมพล (ดอกสีแดง) และทองคำ (ดอกสีส้ม) โดยเฉพาะดอกหน้าวัวพันธุ์พลายชุมพลจากสวนภูพนาแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดไม้ดอกไม้ประดับ ในงานมหกรรมพืชสวนโลกที่ จังหวัดเชียงใหม่ จึงนับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกแห่งหนึ่งที่น่าศึกษาค้นคว้า เปิดให้เข้าชมระหว่าง เวลา 08.00-18.00 น. ไม่เก็บค่าเข้าชม ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.0 5677 9128
ศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.น้ำหนาว
ตั้งอยู่ในอำเภอน้ำหนาวมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสการท่องเที่ยวในรูปแบบเชิงเกษตร ในอำเภอน้ำหนาวแห่งนี้ มีสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตรมากมาย อาทิ เช่น ไร่ธนลาภ ปลูกผักเมืองหนาว สวนภูน้ำหนาว แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการเกษตรเชิงอนุรักษ์ สวนภูพนา ปลูกดอกหน้าวัว ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สวนน้ำหนาว ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบเงิน เบญจมาศ ว่านสี่ทิศ สวนเนินไผ่ ปลูกผักเมืองหนาว เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำหนาว โทร 0 5677 9028
หมู่บ้านท่องเที่ยวชาวดอย (ม้ง) เล่าลือ
หมู่บ้านชาวดอย (ชาวม้ง) บ้านเล่าลือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของเขาค้อ ซึ่งมีชาวม้งอาศัยอยู่มาก ในอดีตชาวม้งนิยมปลูกฝิ่นกันมาก แต่ทางการได้เข้ามารณรงค์ให้เลิกปลูกฝิ่น และหาอาชีพเกษตรอื่น ๆ มาทดแทน ปัจจจุบันชาวเขาเผ่าม้ง ประกอบอาชีพปลูก ข้าวโพด ข้าวไร่ แปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ ซึ่งทำให้ชาวเขาเผ่าม้งมีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ เมื่อเข้ามาในหมู่บ้านจะได้พบเห็นบ้านเรือนและวิถีชีวิตชาวม้ง ยังพบเห็นชาวเขาที่แต่งกายด้วยผ้าที่ทอขึ้นเอง มีครกไม้ตำข้าว และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ในบริเวณหมู่บ้าน การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกศรีดิษฐ์ ทางหลวงหมายเลข 2325 โดยบ้านเล่าลืออยู่บริเวณกิโลเมตร 16 นักท่องเที่ยวสามารถขับรถเที่ยวในบริเวณหมู่บ้านได้
หมู่บ้านวัฒนธรรมชาวเขาบ้านเข็กน้อย
ตั้งอยู่ที่ ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เดินทางจากพิษณุโลกมาตามเส้นทางหมายเลข 12 เลี้ยวซ้ายระหว่างกิโลเมตรที่ 92 - 93 เป็นหมู่บ้านม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีกิจกรรมท่องเที่ยวซึ่งหาดู ได้ยาก อาทิ เช่น ชมการจำลองวิถีชีวิตชาวม้ง ชมการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ วิถีชีวิต 12 เดือนของม้ง รำแคน ระบำกระดัง ระบำขลุ่ย เดินแบบชุดม้ง และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวม้ง อาทิ ผ้าปักลาย พืชผักการเกษตร เปิดทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง เช่น ภูทับเบิก เขาค้อ ทุ่งแสลงหลวง เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : อบต.เข็กน้อย โทร 0 7839 2880
บึงสามพัน
ตั้งอยู่ที่ตำบลซับสมอทอด ห่างจากที่ว่าการอำเภอบึงสามพันประมาณ 5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 323 ไร่ มีลักษณะเป็นลำคลองยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีน้ำใสตลอดทั้งปี เป็นบึงที่ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม แหล่งเพาะพันธุ์ปลา ที่บริเวณริมบึงมีร้านอาหารไว้บริการด้วย และในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีทางอำเภอบึงสามพันจัดให้มีการแข่งขันเรือยาว ประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้ทางหมายหลวงเลข 21 ผ่านบ้านวังชมภู ผ่านอำเภอหนองไผ่ สู่อำเภอบึงสามพันตรงสี่แยกไฟแดง บริเวณกิโลเมตรที่ 340-341 มีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายเข้าบึงสามพันไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร
ทุ่งทานตะวันที่บึงสามพัน
ทุ่งทานตะวันที่บึงสามพัน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ที่บ้านเขาหลวง บ้านป่ายาง ตำบลสระแก้ว มีการปลูกทานตะวันบนภูเขาหลวง ครอบคลุมพื้นที่กว่าหมื่นไร่ เมื่อดอกทานตะวันบานในตอนเช้า ภูเขาบริเวณนี้จะกลายเป็นทุ่งทานตะวันมีสีเหลืองอร่ามสวยงาม ในช่วงเดือนธันวาคมทางอำเภอบึงสามพันได้จัดงาน "ตะวันบานบนภูที่บึงสามพัน" ภายในงานมีการจัดประกวดดอกทานตะวันที่ใหญ่ที่สุด การประกวดธิดาตะวัน การแปรรูปเมล็ดทานตะวัน และการจำหน่าย ผลผลิตทางการเกษตร
การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21ผ่านอำเภอหนองไผ่ ไปจนถึงสี่แยกราหุลให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 225ไปทางจังหวัดชัยภูมิอีก 18 กิโลเมตร ถึงสี่แยกซับบอนให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 14 กิโลเมตร ถึงบริเวณบ้านป่ายางซึ่งทำไร่ทานตะวัน
สวนรุกขชาติซับชมภู
ตั้งอยู่ที่บ้านซับชมภู หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านโภชน์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีพื้นที่ 180 ไร่ เป็นแหล่งความรู้ทางพฤกษศาสตร์มีทั้งป่าไม้เบญจพรรณ สมุนไพรนานาชนิด ภายในสวนรุกขชาติตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม มีน้ำตก 3แห่ง ได้แก่ น้ำตกหินงาม น้ำตกไทรงาม และน้ำตกธารงาม การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านบ้านวังชมภูทางไปอำเภอหนองไผ่ ประมาณกิโลเมตรที่ 156 แล้วแยกขวาเข้าทางสายบ้านโภชน์-วังปลาไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป่าไม้จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร.0 5671 1446
ดงรอยเท้าไดโนเสาร์
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว พบรอยเท้าไดโนเสาร์บนหน้าผาหินทราย บริเวณเชิงเขาในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขตรอยต่อกับป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว หมู่ที่ 5 บ้านนาสอพอง ต.น้ำหนาว พบรอยเท้าประมาณ 300 รอย มึความลึกประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีระยะระหว่างก้าวเดิน 70 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80 เซนติเมตร แสดงให้เห็นว่ามีไดโนเสาร์ไม่น้อยกว่า 2 ตัว วัดขนาดรอยเท้ายาวประมาณ 12 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว เป็นรอบที่มี 3 นิ้ว ในขณะที่ส่วนปลายมีร่องรอยของเล็บที่แหลมคม ซึ่งเป็นลักษณะของไดโนเสาร์กินเนื้อ เดินด้วยสองขาหลังเป็นหลัก
การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2216 ห้วยสนามทราย-น้ำหนาว-กกกะทอน ถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 19-20 จะมีทางแยกข้างหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.5 (นาพอสอง) เป็นถนนลูกรังซึ่งเป็นเส้นทางเข้าน้ำตกตาดพรานบา เข้าไปราว 3 กิโลเมตร จะมีถนนแยกด้านซ้ายระยะทางราว 2 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าลัดเลาะไปตามสันไหล่เขาเข้าไปอีกราว 1 กิโลเมตรจึงจะถึงแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ รถยนตร์ควรเป็นชนิดขับเคลื่อนสี่ล้อ และหลีกเลี่ยงเดินทางเข้าไปหากมีฝนตก เพราะเส้นทางขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและบุกเบิก อาจเกิดอันตรายได้
วัดศรีมงคล (วัดนาทราย)
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านนาทราย ตำบลวังบาล บนเส้นทางสี่แยกวังบาล-โจะโหวะ เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ความน่าสนใจของวัดนี้อยู่ที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ ซึ่งมีภาพเขียนสวยงามตามแบบโบราณ เกี่ยวกับประวัติพระเจ้าสิบชาติ ภาพนรก-สวรรค์ และภาพที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของสังคมท้องถิ่นในอดีต เช่น การประกอบอาชีพ การค้าขายทางเรือ การเดินทาง ใช้ทางหลวงสายหล่มเก่า-วังบาล ระยะทางจากอำเภอหล่มเก่าประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าหมู่บ้านนาทรายอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
หลักเมืองหล่มเก่า
ตั้งอยู่ที่สี่แยกบุ่งน้ำเต้า ตำบลบุ่งน้ำเต้า หลักเมืองนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2487 เป็นหลักเมืองที่ทำด้วยซีเมนต์ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นประธานทำพิธีฝังหลักเมืองเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2487 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปถ้ำฤาษีสมบัติแต่อยู่ทางแยกขวามือปากทางเข้าสนาม บินเพชรบูรณ์
ถ้ำฤาษีสมบัติ
ถ้ำฤาษีสมบัติ ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำสมบัติ ตำบลบุ่งน้ำเต้า อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 36 กิโลเมตร เมื่อครั้งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 และได้ตั้งกระทรวงการคลังขึ้นที่ถ้ำฤาษีสมบัติซึ่งใช้เป็นที่เก็บสมบัติของ แผ่นดินในสมัยนั้น ในปัจจุบันสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารไม่ปรากฏ นอกจากถ้ำซึ่งมองเห็นเป็นร่องรอยการก่อสร้าง การเดินทาง จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ระหว่างกิโลเมตรที่ 251-252 จะมีป้ายบอกทางเข้าถ้ำฤาษีสมบัติตรงทางแยกซ้ายมือตรงข้ามกับทางเข้าสนามบิน เพชรบูรณ์ เข้าไปประมาณ 6.5 กิโลเมตร
อ่างเก็บน้ำรัตนัย
อ่างเก็บน้ำรัตนัย หรืออ่างเก็บน้ำบ้านรัตนัย 1 อยู่บนทางหลวงหมายเลข 2325 เลยกิโลเมตรที่ 5 ไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นทางเข้าอ่างเก็บน้ำทางด้านซ้ายมือ เข้าไปตามทางเดินอีกประมาณ 400 เมตร อ่างเก็บน้ำรัตนัยเป็นอ่างเก็บน้ำความจุ 2,020,000 ลูกบาศก์เมตร บนเนื้อที่ 1,600 ไร่ มีอาคารระบายน้ำล้น กว้าง 15 เมตร พร้อมทำนบดิน สูง 15 เมตร ยาว 250 เมตร ในบริเวณอ่างเก็บน้ำมีลักษณะคล้ายทะเลสาบ ในตอนเย็นจะมีลมพัดเย็นสบายเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน
สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ
ตั้งอยู่ที่ 51 หมู่ 3 ตำบลสะเดาพงษ์ เป็นสถานที่ทดลองปลูกไม้เมืองหนาวจากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ภายในสถานีได้ปลูกไม้เมืองหนาวนานาชนิด เช่น พลับฝาด พลับเนคตาซีน แมคคาเดเมียนัท กาแฟ มะกอกน้ำ นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะเข้าชมภายในสถานีทดลองการเกษตรที่สูงเขา ค้อจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนล่วงหน้า 1 สัปดาห์ และสามารถจองเต็นท์ได้ในราคา 250 บาท พักได้ 4 คน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0 5672 3056
ศูนย์กลางวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งตนเอง (ศวต.) หรือ เขาค้อทะเลภู
ศูนย์กลางวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งตนเอง (ศวต.) หรือ เขาค้อทะเลภู สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อเพชรบูรณ์มีบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 3 หลัง พักได้หลังละ 10 คน หากผู้ที่เข้าชมเป็นหมู่คณะต้องการเจ้าหน้าที่บรรยายและนำชมให้ความรู้ เกี่ยวกับสัตว์ป่า ต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67270 โทร.08 6887 7373 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บางเขน กรุงเทพ โทร.0 25614292ต่อ 713, 0 2579 9630 การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกศรีดิษฐ์ เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 7 แยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อเพชรบูรณ์ (สวนสัตว์เปิดเขาค้อ)
ดำเนินโครงการโดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงเสด็จมา
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยป่าแดง
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยป่าแดง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตก ตามทางหลวงหมายเลข 2006 ประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นแหล่งพักผ่อนริมน้ำที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นห้วยป่าแดงในเขตตำบลป่าเล่า อ่างเก็บน้ำนี้แวดล้อมด้วยทัศนียภาพของขุนเขาและสายน้ำที่งดงามโดยเฉพาะใน ยามเช้าตรู่และยามเย็น ช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น-ลง ประชาชนนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ นั่งรับประทานอาหาร สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ในบริเวณมีร้านขายอาหารบริการ อาหารที่ขึ้นชื่อคืออาหารจำพวกปลาน้ำจืด เช่น ปลาเผา ปลาทอด
สวนรุกขชาติหนองนารี
สวนรุกขชาติหนองนารี ตั้งอยู่ริมถนนนารีพัฒนา หมู่ที่5 ตำบลสะเดียง ข้างสนามกีฬาเทศบาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2กิโลเมตร บริเวณสวนเป็นบึงบัวขนาดใหญ่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ สามารถขับรถเที่ยวรอบบึง บรรยากาศร่มรื่น มีร้านอาหารบริการ
เขารัง
เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล อยู่บนเส้นทางสายเพชรบูรณ์-ตะพานหิน ถนนสายนี้สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปิดสู่เมืองเพชรบูรณ์ การก่อสร้างถนนเต็มไปด้วยความยากลำบาก ผู้คนที่สร้างทางจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย
วัดพระแก้ว
ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง เดิมมีสามวัดตั้งอยู่เรียงกันคือวัดพระสิงห์อยู่ทางทิศเหนือ วัดพระแก้วอยู่ตรงกลาง และวัดพระเสืออยู่ทางทิศใต้ โบราณสถานสำคัญที่น่าชมคือ พระเจดีย์ในวัดพระสิงห์ และพระปรางค์กลีบมะเฟืองที่วัดพระแก้ว มีการขุดพบพระพุทธรูปที่กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าสร้างมานานกว่าเจ็ดร้อยปี นอกจากนี้ยังพบกรุ โอ่ง พระพุทธรูปและของสำคัญต่าง ๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปทองคำเนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเงิน แผ่นทองคำ และพระผงดินเผา แบบสุโขทัย
จุดชมวิวพระอาทิตย์ตก (ถ้ำผาหงษ์)
เป็นสถานที่ชมวิวพระอาทิตย์ตก บนหลังถ้ำเป็นผาหินสลับซับซ้อนกันอยู่ดูแล้วคล้ายประติมากรรมทางธรรมชาติ
ถ้ำใหญ่น้ำหนาว (ภูน้ำริน)
ถ้ำใหญ่น้ำหนาวหรือ ภูน้ำริน มีความสูงประมาณ 955 เมตร ภายในมีลักษณะเป็นถ้ำ ที่มีความวิจิตรสวยงามตามธรรมชาติด้วยหินงอกหินย้อย
วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ (ปิดชั่วคราว)
มีพื้นที่อยู่ในท้องที่ตำบลบุ่งน้ำเต้า ตำบลบุ่งคล้า ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาโปลกหล่นและป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาป่าก่อ -วังชมภู เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำป่าสัก
การเดินทาง
รถยนต์์
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรีเลยไปจนถึงสวนพฤกษศาสตร์พุแค ตรงกิโลเมตรที่ 125 แยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านอำเภอชัยบาดาล อำเภอศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี ต่อไปอีกประมาณ 221 กิโลเมตร ถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมระยะทางประมาณ 346 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง
เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงอำเภอวังน้อยแล้วแยกเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 117 ตรงเข้าจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นใช้ทางหมายเลข 12เส้นพิษณุโลก-หล่มสัก ผ่านเขาค้อ-หล่มสัก เข้าจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมระยะทาง 547 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถปรับอากาศชั้น 2 และรถธรรมดากรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์-หล่มสัก ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0 2936 2852–66 สาขาเพชรบูรณ์ โทร.0 5672 1581 นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนบริการเดินรถปรับอากาศชั้น 1 ในเส้นทางเดียวกัน ได้แก่ เพชรทัวร์ โทร.0 2936 3230 สาขาเพชรบูรณ์ โทร.0 5672 2818 และถิ่นสยามทัวร์ โทร.0 2936 0500, 0 2513 9077 (จากกรุงเทพฯ มีรถประมาณ 8 เที่ยวตั้งแต่เวลา 09.30 น. - 23.30 น.) สาขาเพชรบูรณ์ โทร.0 5672 1913 สาขาหล่มสัก โทร.0 5670 1613 (จากหล่มสักมีรถประมาณ 7 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 08.30 น. - 24.00 น.)
ถ้าคิดจะพักกาย พักใจ ก็อย่าลืมคิดถึง "จังหวัดเพชรบูรณ์" นะคะ...
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
, phetchabun.go.th, kangtangblog.com และ khaoko.com