ฝนหลวง หยาดฝน ฝากฟ้า มาห่มดิน (อ.ส.ท.)
Jungle Man…เรื่อง
หัสชัย บุญเนือง, พงษ์ระวี แสงแข, สุทธา สถาปิตานนท์ และ ยศวัฒน์ เกษมถิรกุล...ภาพ
อากาศยังคงแล้งร้อน ไม้ใหญ่ทิ้งใบจนเหลือเพียงกิ่งก้าน ใบไม้แห้งร่วงกรอบปลิวพร้อมลมร้อน ที่ไกลสุดสายตาไอร้อนเต้นเป็นตัวคล้ายมีชีวิต บนผืนฟ้าเมฆเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นมา แต่ยังมีความชื้นในอากาศไม่พอ ทำให้สลายไปอย่างรวดเร็ว
เรายืนมองไปไกลยังปลายฟ้า แม้สายตาจะมองไม่เห็น ทว่าเครื่องจับความชื้นในอากาศยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา เครื่องบินฝนหลวงสีขาวคาดเขียวยังคงจอดนิ่งอยู่บนลานจอด พร้อมจะทะยานขึ้นไปบนผืนฟ้า เพื่อช่วยให้หยาดฝนโปรยลงมายังผืนดิน
The Rainmaking Story
พุทธศักราช 2498 คราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเห็นความทุกข์ยากของราษฎร ฤดูฝนมาล่าช้าเกินไป และหมดเร็วเกินไป ซึ่งในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศยาน ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ พระองค์ทรงคิดว่าน่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อตัวจนเกิดเป็นฝนได้
"...มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารมภ์กับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้... "
หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสารด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
เมื่อพระองค์ทรงมั่นพระทัย จุดเริ่มต้นของโครงการพระราชดำริฝนหลวงก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจัง และได้พระราชทานแนวคิดนี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้
หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้รับพระราชทานแนวความคิดนี้มา ท่านก็ได้ศึกษาต่ออย่างจริงจัง และจากความมุ่งมั่นที่จะสนองพระราชประสงค์นี้ ท่านได้ไปฝึกขับเครื่องบินด้วยตนเอง ในขณะเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงตั้งสมมติฐานในการทำวิจัยและค้นคว้าทดลองปฏิบัติการ ทว่าในขณะนั้นยังไม่มีความพร้อมเรื่องเครื่องบิน
ล่วงเข้าสู่ปีพุทธศักราช 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืช กรมการข้าว ให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่ามีความพร้อมแล้ว ดังนั้นในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆที่สูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ทำให้กลุ่มเมฆทดลองรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผลภาคพื้นดินยืนยันว่าเกิดฝนตกลงมาจริง ๆ นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
นับจากวันนั้นการพัฒนาการทำฝนหลวงก็เกิดขึ้นเป็นลำดับมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งปัจจุบันนักวิจัยฝนหลวงและนักบินฝนหลวงต่างทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่คนไทยทั้งประเทศโดยไม่เลือกหมู่เหล่า...
ส่วนผสมจากน้ำพระราชหฤทัย
นับจากที่ได้ทดลองในคราวนั้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็ได้มีการพัฒนาวิธีการทำฝนหลวงอยู่เรื่อยมา จนในช่วงฤดูแล้งของปีพุทธศักราช 2542 ที่นับเป็นปีวิกฤตของสถานการณ์น้ำในประเทศไทย ได้มีปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง และสัมฤทธิผลอย่างยิ่ง จากปีนั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคควบคู่กันไปด้วย ซึ่งทรงสามารถพัฒนากรรมวิธีการทำฝนหลวงให้ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง คือเป็นปฏิบัติการฝนหลวง โดยการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน โดยเทคโนโลยีฝนหลวงจากทั้งเมฆอุ่นและเมฆเย็นพร้อมกัน (เดิมเป็นกิจกรรมทำฝนจากเมฆอุ่นเพียงอย่างเดียว)
ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นพร้อมกันในกลุ่มเมฆเดียวกัน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเทคนิคการโจมตีที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดว่า Super Sandwich Technic ทรงสรุปขั้นตอนกรรมวิธี โดยทรงประดิษฐ์ขึ้นเป็นแผนภาพการ์ตูนโดยคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง พระราชทานให้ใช้เป็น "ตำราฝนหลวง" เพื่อให้เป็นแบบอย่างใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงให้เป็นไปในทางเดียวกัน แผนภาพฝีพระหัตถ์ดังกล่าวประมวลความรู้ทางวิชาการ เทคนิค และกระบวนการขั้นตอนกรรมวิธีในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างครบถ้วนไว้ในหนึ่งหน้ากระดาษได้อย่างสมบูรณ์ ง่ายต่อความเข้าใจและการถือปฏิบัติ
นอกจากการเรียนรู้ทฤษฎีอย่างเข้มข้นสำหรับการทำฝนหลวงแล้ว ส่วนผสมของสารเคมีต่าง ๆ ที่จะช่วยเร่งปฏิกิริยาให้ฝนตกได้รวดเร็วและตรงเป้าหมาย ก็ยังเป็นเรื่องที่คณะทำงานพัฒนาอย่างมากมายอีกด้วย โดยแต่ละสูตรได้รับการคิดค้นและใช้งานมาจนมั่นใจ และในแต่ละครั้งที่ขึ้นไปโปรยสาร เชื่อได้ว่าฝนตกในเขตพื้นที่เป้าหมายแน่นอน ที่สำคัญนักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่จะวิเคราะห์อากาศทุกวัน เพื่อประเมินสถานการณ์ในการทำฝนหลวง และเลือกใช้สูตรไหนในการทำฝนหลวง...
สารฝนหลวงในการปฏิบัติการทำฝนในประเทศไทย
สารฝนหลวงที่ใช้ทำฝนหลวงในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 7 ชนิด บางชนิดมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้ดี (Hygroscopic Substances) บางชนิดมีคุณสมบัติเป็นแกนกลั่นตัว (CCN) ของความชื้นในบรรยากาศ บางชนิดสามารถคายความร้อนออกมา เพื่อกระตุ้นหรือเสริมการก่อตัวและเจริญเติบโตของเมฆ บางชนิดสามารถดูดดึงความร้อน ทำให้อุณหภูมิของอากาศหรือเมฆเย็นตัวลง เร่งการกลั่นตัวของไอน้ำและเสริมความหนาแน่นของเมฆจนเกิดเป็นฝน การเลือกใช้สารฝนหลวงแต่ละชนิดจึงพิจารณาคุณสมบัติที่กล่าวข้างต้น กับสภาวะของเมฆหรือบรรยากาศในแต่ละวันเป็นสำคัญ
สารฝนหลวงที่ใช้แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. สารฝนหลวงสูตรร้อน
มีคุณสมบัติเมื่อดูดซับความชื้นในอากาศหรือทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ใช้ในสภาพผงละเอียด สารฝนหลวงสูตรร้อนที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ
1. สูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ (Calcium Chloride)
2. สูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ (Calcium Oxide)
2. สารฝนหลวงสูตรเย็น
มีคุณสมบัติเมื่อดูดซับความชื้นในอากาศหรือทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้อุณหภูมิลดลงหรือเย็นลง สารฝนหลวงสูตรเย็นที่ใช้ในปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ
1. สูตร 4 ยูเรีย (Urea)
2. สูตร 19 แอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate)
3. สูตร 3 น้ำแข็งแห้ง (Dry Ice)
3. สารฝนหลวงสูตรสร้างแกนกลั่นตัวของอากาศ
มีคุณสมบัติเป็นแกนดูดซับความชื้นให้เข้ามาเกาะและกลั่นตัว กลายเป็นเม็ดน้ำจำนวนมาก สารฝนหลวงสูตรแกนกลั่นตัวที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ
1. สูตร 1 เกลือแป้ง (Sodium Chloride)
2. สารฝนหลวง สูตรฝนหลวง ท 1
สู่ผืนฟ้าและปุยเมฆ
ในช่วงเวลาราว 15.00 น. ของวันที่อากาศร้อนอบอ้าว เมฆลอยกระจายเต็มฟ้า แผนที่อากาศและทิศทางลมในจอมอนิเตอร์จากดาวเทียม แสดงให้เห็นถึงพื้นที่บริเวณจังหวัดจันทบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำฝนหลวง และมีหลายบริเวณที่ชาวบ้านได้แจ้งความจำนงขอให้ทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ไปช่วยเหลือให้ฝนตกลงมาในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้พืชผลทางการเกษตรที่กำลังแย่ได้รับน้ำไปหล่อเลี้ยงชีวิตต่อไป
เครื่องบินฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจอดนิ่งสงบบนสนามหญ้า และพร้อมที่จะเหินฟ้าในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า หลังจากกัปตันและช่างเครื่องตรวจความเรียบร้อยของเครื่องเสร็จ ผมได้รับการซักซ้อมอย่างดีในการถ่ายภาพ เพียงไม่นานเครื่องก็แท็กซี่ไปบนรันเวย์เพื่อเริ่มต้นภารกิจของวัน ไม่กี่นาทีต่อมาเราก็เหินฟ้าขึ้นไปอย่างนิ่มนวล มองผ่านกระจกเห็นทะเลกว้างไกล เรือลำเล็ก ๆ ล่องลอยในทะเล ก่อนที่นักบินจะเลี้ยงเข้าสู่แผ่นดินและมุ่งหน้าสู่ก้อนเมฆที่อยู่ไกลออกไป ใช้เวลาไม่นานนักเครื่องบินฝนหลวงก็เข้าสู่กลุ่มเมฆที่ก่อตัวล่องลอย ซึ่งหลายก้อนมีขนาดใหญ่และมียอดเป็นภูเขาขนาดยักษ์ในที่สุด
เครื่องบินทั้ง 3 ลำ ก็อยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน โดยอีก 2 ลำ อยู่ด้านซ้ายมือของเครื่องที่ผมอยู่ เพื่อจะได้ถ่ายภาพตอนปล่อยสารสร้างความควบแน่นของอากาศ ที่เห็นก้อนเมฆและสารออกจากเครื่องบินเป็นสายยาว โดยกัปตันของแต่ละลำจะผลัดกันให้ทีมช่างภาพในลำของตัวเองได้เก็บภาพในหลากหลายมุม ซึ่งนอกจากภาพจะได้ครบถ้วนแล้ว ภารกิจการทำฝนหลวงก็ลุล่วงไปได้ด้วยดีอีกด้วย
"ความสำเร็จของการทำฝนหลวงและความอิ่มเอมใจ คือเมื่อเราทำเสร็จ ฝนตก ชาวบ้านโทรศัพท์มาขอบคุณที่ช่วยให้ฝนตกในพื้นที่ซึ่งกำลังลำบากเพราะความแห้งแล้ง" หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจันทบุรีกล่าวเบา ๆ เมื่อเครื่องบินกำลังกลับไปยังจุดเริ่มอีกครั้ง
ขั้นตอนการทำฝนเทียม
● 1. ก่อกวน เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้มุ่งใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ (มีค่า Critical Relative Humidity ต่ำ) เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ (เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆด้วย) ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มก่อตัวและเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วม (Main Cloud Core) ในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป
● 2. เลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการ เพราะจะต้องเพิ่มพลังงานให้แก่ Updraft (ระบบชักไอน้ำหรือความชื้นขึ้นสู่เมฆ) ให้ยาวนานออกไป ต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์การทำฝนควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับความแรงของ Updraft มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย
● 3. โจมตี เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง เมฆหรือกลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีกและกระจังหน้าของเครื่องบิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องอาศัยประสบการณ์มาก เพราะจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงของ Updraft หรือทำให้อายุของ Updraft หมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็น คือเพื่อเพิ่มปริมาณฝนตกและเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน
หยาดรดหลั่งรินสู่พื้นพสุธา
ความชุ่มชื้นจากหยาดน้ำฟ้าที่หยาดรดลงมาบนแผ่นดินแล้ง ทำให้รอยยิ้มของผู้คนในประเทศได้เผยขึ้นอย่างเต็มหัวใจ ภาคเกษตรกรที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งในอดีตได้รับการเหลียวแลน้อยมาก ทั้งยังโดนกดขี่จากนายทุนอีกต่างหาก จนหลายคนน้อยใจในเรื่องนี้ ทว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เคยทอดทิ้งพสกนิกรของพระองค์ให้ต้องลำบากเลย พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในด้านเกษตรกรรมให้ก้าวหน้า ยกตัวอย่างโครงการหลวงหรือโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นความอยู่ดีกินดีทั้งสิ้น โดยทุกโครงการของพระองค์ต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดินนี้มากมายยิ่งนัก
นับตั้งแต่วันแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงศึกษา คิดค้น จนสามารถทำให้เกิดฝนตกได้ในพื้นที่เดือดร้อนของราษฎร นับจนถึงวันนี้กว่าครึ่งศตวรรษแล้ว จากความทุ่มเทพระวรกายและทรงเหนื่อยยากในช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ บางแหล่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทว่าด้วยทรงห่วงใยข้าแผ่นดิน ทำให้พระองค์ทรงงานอย่างเต็มที่จนพระเสโทไหลโชกชุ่ม ซึ่งหยาดเหงื่อของพระองค์ที่เราได้เห็นนั้น เปรียบเสมือนสายฝนที่ตกลงมาชโลมให้หัวใจของคนไทยทั้งประเทศได้ชุ่มเย็น เช่นเดียวกับฝนหลวงที่ทอดสายหยาดรินให้แผ่นดินและผู้คนได้เอิบอิ่ม...
ขอขอบคุณ
- กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่อำนวยความสะดวกในการจัดทำสารคดีชิ้นนี้
- บรรณานุกรม : สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2556 จากเว็บไซต์ Royalrian Story
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 54 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2556