x close

ประเพณีโล้ชิงช้ากับอาข่าผู้น่ารัก

ประเพณีโล้ชิงช้า

 



ประเพณีโล้ชิงช้ากับอาข่าผู้น่ารัก (อสท)

          ขับรถเที่ยว อภนันท์ บัวหภักดี...เรื่อง เชษฐา นุ้ยเล็ก...ภาพ

          เพิ่งรับโทรศัพท์จากสวนทิพย์วนารีสอร์ท แจ้งกำหนดการงานประเพณีโล้ชิงช้าของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ในเขตอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เอ้...คุ้น ๆ เหมือนแว้บ ๆ ที่ไหน ก็ให้บังเอิญเหลือบไปเห็นปฏิทินท่องเที่ยวของ ททท. เดือนนี้ มีงานประเพณีโล้ชิงช้าปรากฏอยู่พอดี ก็เลยถึงบางอ้อ

          ครับ ! ประเพณีปีใหม่ผู้หญิง หรือประเพณีโล้ชิงช้า ของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่าจะจัดขึ้นทุกปีในราวปลายเดือนสิงหาคม พอดีเมื่อช่วงต้นปีได้มีโอกาสไปทำงานแถบ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ก็เลยรู้มาว่า มีชุมชนชาวอาข่าอยู่ที่นั่นหลายหมู่บ้าน จึงรบกวนฝากให้สวนทิพย์วนรีสอร์ท เจ้าของพื้นที่ ช่วยส่งกำหนดการงานประเพณีโล้ชิงช้ามาให้ทราบด้วย

          และทั้งหมดนี้แหละจึงเป็นเหตุให้คอลัมน์ "ขับรถเที่ยว" เดือนนี้ ต้องขับขึ้นภูเขาไปท่องเที่ยวกันถึงหมู่บ้านชาวอาข่าบนยอดดอยสูงเสียดฟ้า มาลองขับรถขึ้นเขาสูง ๆ กันอีกทีครับ

          เราไปถึงสวนทิพย์วนารีสอร์ทก่อนวันงานประเพณี เพราะอยากไปดูงานตั้งแต่ต้น ๆ คืนนี้เราไม่ได้นอนในบ้านแบบอาข่า เพราะที่นี่ไม่มี มีแต่บ้านแบบปกากะญอ หรือบ้านกะเหรี่ยงนั่นแหละ บ้านหลังนี้สร้างขึ้นด้วยดินผสมฟางและไม้ มีซานด้านหน้าให้พักผ่อนในท่ามกลางอ้อมกอดของแมกไม้กลางขุนเขา

          กลางคืนพักสบาย ๆ แต่ตอนเช้าต้องออกจากรีสอร์ตขับรถขึ้นเขาไปประมาณ 38 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านแสนเจริญ (เก่า) หมู่บ้านชาวอาข่าที่มีประชากรมากที่สุด ถนนหนทางขึ้นเขาวันนี้ก็สะดวกสบายอย่างไม่น่าเชื่อ ภาพเส้นทางทุรกันดารบนภูเขาแต่ก่อนไม่รู้มันหายไปไหนหมด ถึงหมู่บ้านได้พบพ่อหลวง หรือผู้ใหญ่บ้านของที่นี่ ทางพ่อหลวงให้พี่สุพจน์ หนุ่มหล่อชาวอาข่ามาเป็นไกด์ให้

ประเพณีโล้ชิงช้า



          "อู่ดู่ถ่องมะ" พี่สุพจน์เอ่ยทักทายสวัสดีมาเป็นภาษอาข่า อิ อิ อิ เริ่มแรกก็ได้เรียนรู้ภาษาอาข่ากันก่อนเลย อย่างนี้ต้องขอให้พี่แกช่วยสอนให้เสียแล้ว เอาพอขอข้าวกินได้หรือไม่ก็เอาไว้จีบสาวอาข่าให้สำเร็จได้สักคนก็ท่าจะดี

          วันนี้เป็นวันงานประเพณีวันแรก เรียกว่า "จ่าแบ" ที่เริ่มต้นด้วยการไปตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ก็ไม่ใช่อะไร บ่อน้ำทุกบ่อของอาข่าก็ศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้นแหละ พี่สุพจน์บอกให้ผมรีบตามสาวอาข่าคนนั้นไป เข่ากำลังไปตักน้ำ การตักน้ำนี้จะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง และในวันนี้สาวๆ ก็จะแต่งชุดประจำเผ่ากันแบบเต็มยศ ผมเดินไปตามทางดินลงสู่ที่ลุ่มต่ำ เพราะชาวอาข่ามักจะปลูกบ้านอยู่บนที่สูงตามเชิงเขา เนื่องจากมีความเชื่อว่าอยู่ใกล้น้ำมักจะมีโรคภัยไข้เจ็บตามมา ถึงตรงนี้ผมก็ได้รู้ความหมายของคำว่า "อาข่า" พี่สุพจน์แยกคำให้ผมฟังว่า "อา" แปลว่าชื้น และ "ข่า" แปลว่าไกล รวมความคือไกลความชื้นนั่นแหละ หลังจากนั้น ผมก็เห็นสาวบ้างไม่สาวบ้างอีกหลายคนทยอยกันลงมาตักน้ำ

          กลับไปบนหมู่บ้าน หนุ่มอาข่าก็ชวนผมไปกินข้าว "ห่อจ่าจ่าเออ" แปลว่า กินข้าว คืออีกคำที่ได้เรียนรู้ เราไปกันที่บ้านของพ่อหลวง เขายกอาหารออกมาให้เป็นถาดเหมือนขันโตก อาหารมีทั้งลาบสุกและไม่สุก ต้มผักอีกหนึ่งชาม แถมด้วยชาร้อน ๆ ในกระบอกไม้ไผ่ และอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือเหล้าของชาวอาข่า เป็นเหล้าข้าวเปลือกดีกรีแรง อูยไม่ไหว เดี๋ยวได้น็อกกันแต่วัน ไม่ได้ถ่ายรูปเป็นแน่ อิ่มหนำเสร็จสรรพ ผมก็เอ่ย "กื่อหล่องหื่อมะเต" ขอบคุณครับกับพ่อหลวงตามที่หนุ่มอาข่าสอนมา แล้วก็ไปดูเขาตำข้าวปุ๊กก็คือข้าวเหนียวนึ่งสุกตำคลุกกับงา เป็นขนมประจำพิธีกรรม จบงานวันแรกแล้วครับ

          วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า วันนี้ผู้อาวุโสทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านของ "โจวหม่า" ผู้นำศาสนาแต่เช้า เพื่อจะปรึกษากันในการสร้างชิงช้า แล้วก็แยกย้ายกันไปตัดไม้ ผู้ที่จะตัดชิงช้าเก่าคนแรกต้องเป็นโจวหม่า ถึงจะรื้อลงได้ หลังจากที่สร้างชิงช้าเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดชิงช้า โดยโจวหม่าจะเป็นคนโล้ก่อน หลังจากนั้นทุกคนจึงจะโล้ได้ หนุ่มอาข่าชวนผมไปโล้ดูบ้าง แต่ผมส่ายหน้าลูกเดียว ก็เล่นสร้างชิงช้าไว้ติดกับหน้าผา ถ้าพลาด ผมคงต้องไปนอนอยู่ก้นเหวเป็นแน่

          พอพวกผู้อาวุโสเปิดชิงช้าเสร็จ ทุกคนก็มาร่วมกันเล่นชิงช้า ส่วนใหญ่มักจะเป็นสาว ๆ เพราะประเพณีนี้เขาถือว่าจัดเพื่อผู้หญิง แต่ก็มีบ้างที่หนุ่มชาวอาข่าออกมาโล้ ที่ไม่เป็นทั้งหนุ่มทั้งสาว หรือคนเดียวเป็นมันทั้งสองอย่าง หมู่บ้านนี้ก็มี ทั้งหมดก็ออกมาช่วยกันโล้ท่าทางน่าหวาดเสียวดีครับ โล้กันสูงๆ ทั้งนั้น แต่ไม่ต้องห่วงเด็กๆ ครับ เพราะแต่ละบ้านหัวหน้าครอบครัวก็จะทำชิงช้าเล็ก ๆ ไว้ให้เด็ก ๆ เล่นที่บ้านอยู่แล้ว

ประเพณีโล้ชิงช้า



          วันที่ 3 วัน "ล้อดา อ่าเผ่า" มีการเลี้ยงฉลองกันและการอวยพรให้ประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า วันที่ 4 "จ่าส่า" จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้า เพราะเป้ฯ วันสุดท้ายที่จะได้โล้ในปีนี้ เมื่อตะวันตกดิน หรือประมาณ 6 โมงเย็น ผู้นำศาสนาก็จะทากรเก็บเชือกของชิงช้า โดยการมัดติดกับเสาชิงช้า เก็บเครื่องเช่นไหว้ เป็นอันเสร็จพิธี

          ก่อนจากกัน เรากล่าว "หว่อมะเด" ขอบคุณหนุ่มอาข่าและฝากไปยังพ่อหลวงที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ได้รับรู้งานประเพณีที่สวยงาม ได้ถ่ายภาพสวย ๆ มาฝากท่านผู้อ่าน และได้เจอช้างเผือกสวย ๆ ตั้งหลายเชือก แต่เสียดายจริง ๆ ดันต้องเดินทางกลับกทม. กับช้างป่าเชือกเดิม ๆ เสียนี่


แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


หนังสืออสท ISSN 0125 7226 ปีที่ 50 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2552

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประเพณีโล้ชิงช้ากับอาข่าผู้น่ารัก อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:21:53 1,487 อ่าน
TOP