Kashmir แคชเมียร์
Kashmir แคชเมียร์
โดย : กมลทิพย์ ภาสวร
หากการไปเยือนอินเดียของคุณในครั้งแรก ทำให้คุณไม่ประทับใจ เราท้าให้คุณไป แคชเมียร์ (Kashmir)...ถ้าคุณกล้าพอ
มันไม่ใช่คำโฆษณาเชื้อเชิญ จากการท่องเที่ยวของแคว้นแคชเมียร์หรอก แค่กระตุ้นให้คุณอยากไปเห็นวิถีชีวิต บ้านเรือน ของชาวแคชเมียร์ ที่สำคัญ...ความงดงามของธรรมชาติ (ที่สร้างความประทับใจให้กับฉันมาแล้ว)... ก็เท่านั้นเอง
มุ่งหน้าสู่เดลลี ใช้เวลาบนเครื่องราว 4 ชั่วโมง ก็มาถึงสนามบินนานาชาติ อินทิราคานธี พักที่เดลลีหนึ่งคืน รุ่งขึ้นจับเครื่องบินในประเทศไป ศรีนาคาร์ เมืองหลวงของแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาแคชเมียร์ที่ระดับความสูง 1,730 เมตร ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง
แคชเมียร์ เป็นแคว้นที่อยู่ตอนเหนือสุดของอินเดีย มีอาณาเขตติดกับประเทศปากีสถานตะวันตก ปัญหาการแย่งชิงแคว้นแคชเมียร์เริ่ม มีมาตั้งแต่หลังการได้รับอิสรภาพจากประเทศอังกฤษ ชาวแคชเมียร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เหมือนชาวปากีสถานต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศปากีสถาน แต่มหาราชซึ่งเป็นผู้ปกครองแคว้นแคชเมีย เป็นชาวฮินดู จึงตัดสินใจยอมผนวกเข้ากับอินเดีย ปัญหามันก็ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้แหละพี่น้อง ดังนั้น เราจึงพบทหารหนวดเฟิ้มกระจายตัวอยู่ทุกที่ที่เราไป
Kashmir แคชเมียร์
จำได้ว่ามองลงมาจากเครื่องบิน ก็เห็นว่าสนามบินและถนนหนทางปกคลุมไปด้วยหิมะ ขาวโพลนเต็มไปหมด กระดูกเริ่มสั่นแกร๊ก แกร๊กอยู่ข้างใน ต้องรอเจ้าหน้าที่กวาดหิมะที่ปกคลุมถนนก่อนถึงจะออกจากเครื่องได้
หลังออกจากสนามบินขึ้น รถซูโม่ (คล้ายรถจิ๊บบ้านเรา) คันละ 3-4 คน เพื่อไปยังที่พักซึ่งเรียกว่า House Boat (เรือที่ดัดแปลงมาทำเป็นบ้าน) ริมทะเลสาบ ดาล (Dal) ที่มีชื่อเสียง มีฝรั่งคนหนึ่งเขียนในหนังสือถึง 50 สิ่งที่ควรทำก่อนตาย หนึ่งในนั้นคือการมาพักที่ House Boat ที่แคชเมียร์ด้วย
แต่ฉันว่าการมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนเรืออย่างปู่เย็นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
Kashmir แคชเมียร์
มาทำความรู้จักกับ House Boat กัน...
ในสมัยที่ชาวอังกฤษเป็นเจ้าของอาณานิคมอยู่นั้น พวกเขาไม่มีสิทธิ์ถือครองที่ดิน พวกเขาจึงได้สร้างเรือเอาไว้พักผ่อน (ช่างสมกับการเป็นผู้ดีอังกฤษจริงๆ) ซึ่งเรือนั้นสามารถแล่นไปในทะเลสาบได้จริงๆ ด้วย (แต่ขนาดเรือเล็กกว่าที่เห็นในปัจจุบันนะ) ต่อมาเมื่อประเทศอินเดียได้อิสรภาพแล้ว ชาวเมืองก็ยังคงนำเรือที่ถูกทิ้งไว้มาใช้เป็นเรือโรงแรม ซึ่งก็มีหลายราคา เลือกได้ตามงบประมาณและความพึงพอใจ
ทันทีที่เรามาถึงที่พัก เจ้าของบ้านเชื้อเชิญให้พวกเรามาดื่ม น้ำชาแคชเมียร์ ซึ่งเขาจะใส่ซินนาม่อน (อบเชย) ดอกแซฟฟรอน (หญ้าฝรั่น) เพิ่มความหอมให้กับน้ำชาด้วย กับขนมที่เรียกว่า แคชเมียร์ ฮันนี่ เค้ก (ภาษาแคชเมียร์ เรียกว่า มักกาโล้ป) รสชาติหวาน ตัวแป้งกรอบนอกนุ่มใน คล้ายขนมกุฎีจีนบ้านเรา
ไม่ทันที่ความร้อนจากน้ำชาจะช่วยคลายความหนาวในร่างกายให้หหายไป ไกด์ก็รีบให้พวกเราไปนั่งเรือ ที่เรียกว่า ซิคารา (Shikara) หรือ \'เรือแท็กซี่\' ชมความงามของทะเลสาบ แต่เนื่องจากเวลานั้นเป็นเวลาเย็น และหน้าหนาวด้วย สภาพอากาศตลอดทริปจึงค่อนข้างทึมๆ เราจึงเห็นเพียงแต่หมอกที่หนาจัด เห็นภูเขาอยู่ไกลๆ ได้แต่คิดว่าก่อนกลับเราคงเห็นภาพท้องฟ้าสีเข้มกับน้ำใสสมใจ
เมื่อขึ้นจากเรือปุ๊ป เราต่างรีบหนีความหนาวเข้า House Boat ภายในบ้านประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้อง ห้องรับประทานอาหาร 1 ห้อง ห้องนั่งเล่น 1 ห้อง และชานนั่งเล่นด้านนอกตัวเรือ เฟอร์นิเจอร์ต่างทำด้วยไม้เนื้อแข็งซึ่งแกะสลักไว้อย่างสวยงาม ผ้าม่านและชุดโซฟาทำด้วยผ้าสีขาวปักด้ายสีสันสดใสเป็นรูปดอกไม้อย่างน่า เอ็นดู
แวะเข้ามาดูภายในห้องนอนกันบ้าง มีเตียงไม้ 2 เตียง โต๊ะเครื่องแป้ง 1 ชุด ห้องน้ำพร้อมเครื่องทำน้ำร้อน (รุ่นใช้คนมาใส่ฟืนเพื่อทำน้ำร้อน) และเครื่องทำความร้อน (เรียกซะหรู จริงๆ ก็เป็นถังทรงสูงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 นิ้ว สูง 80 เซนติเมตรโดยประมาณ ทำจากสังกะสีมีฝาครอบ และมีที่ระบายความร้อนออกมา บริกรประจำเรือมาคอยเติมฟืนให้จนถึง 5 ทุ่ม และจะมาอีกทีตอนตีห้า)
เรือแต่ละลำมีบริกร 1 คน มาคอยบริการพวกเราตลอดเวลาที่เราพักอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะช่วยถือถุงชอปปิง เติมเชื้อไฟ เอ๊ย...เชื้อฟืนในเตา เสิร์ฟอาหาร เตรียมถุงน้ำร้อนให้กอดตอนนอน (ใช้ต่างแทนหมอนข้างได้สุขีจริงๆ) รวมถึงทำความสะอาดห้อง
Kashmir แคชเมียร์
สำรวจเรือจนทั่ว ท้องก็เริ่มร้องเวลาทุ่มตรง บริกรก็จะตามทุกคนในเรือให้ออกมารับประทานอาหารมื้อค่ำที่จัดเตรียมไว้ที่ห้องอาหาร ซุปสีเขียวใสๆ รสเผ็ดร้อนแรงจากขิงและพริกยกมาเสิร์ฟเพื่อไล่ความหนาวเย็นในร่างกายเป็น อย่างแรก ตามมาด้วยอาหารแขกอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นไก่ย่าง แกงแพะ ผัดถั่ว ตบท้ายด้วยของหวานที่เสิร์ฟเท่าไหร่ก็ไม่พอนั่นคือ กล้วยหอมทอด ที่ไม่ใช่กล้วยแขก เพราะที่นี่จะนิ่ม ไม่กรอบเหมือนบ้านเรา ยิ่งได้จิ้มนมข้นหวานด้วยแล้ว ก็ลืมเลยว่ากำลังไดเอทอยู่
เช้าวันต่อมา หลังรับประทานอาหารมื้อเช้า ซึ่งประกอบไปด้วย ขนมปังปิ้งทาเนย และข้าวต้มใสๆ กับไข่เจียวเผ็ดๆ (กลัวคนไทยกินไม่ได้ เลยพยายามทำให้คนไทยกินได้สุดฤทธิ์) เรามีโปรแกรมไป พาฮาแกม (Pahalgam) หรือหุบเขาแกะ อยู่ทางตะวันออกของศรีนาคาร์ ไป 95 กิโลเมตร อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,130 เมตร
พาฮาแกมนั้นเป็นเส้นทางไปสู่ ถ้ำ Amarnath ซึ่งเป็น ถ้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู หากมาในช่วงหน้าร้อน ก็จะพบกับทุ่งดอกแซฟฟรอน ซึ่งเป็นดอกไม้นำมาชงดื่มเหมือนน้ำชา มีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเส้นเลือด บานเต็มสองข้างทาง
Kashmir แคชเมียร์
ไฮไลต์ของการมาเที่ยวที่นี่คือการขี่ม้าชมสวน เอ๊ะไม่ใช่ เป็นการขี่ม้าชมป่าสน ไม้ไพน์ และไม้ซีดาร์ แต่วันนั้นที่เราเห็น ป่าสนทั้งป่าถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ ทิวทัศน์ตามไหล่เขาเป็นบ้านคน สลับกับป่าสนสุดแสนจะโรแมนติก อยากจะทำตัวเป็นเจ้าหญิงควบม้าหนีออกจากวังด้วยความเร็วสูงก็ทำได้ยาก เพราะมีคนจูงม้าคอยเดินตาม แถมพื้นก็ลื่น ที่ทำได้วันนั้นก็แค่ทรงตัวไม่ให้หล่นจากม้าก็พอ
ฉันลงจากหลังม้าด้วยความอาลัย เพราะยังนั่งไม่คุ้มค่าเงิน เอ๊ย...ไม่ใช่ แต่เพราะยังไม่เต็มอิ่มกับบรรยากาศสักเท่าไหร่ แต่ไกด์บอกว่าพรุ่งนี้ที่จะไปก็สนุกไม่แพ้กัน ฉันจึงยอมลงจากม้าแต่โดยดี
(โปรดติดตามอ่านต่อวันอาทิตย์หน้า)
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก