x close

เชียงคาน จะอีก 100 ปี ก็ยังคงเป็น เชียงคาน เช่นวันวาน

เชียงคาน

เชียงคาน


เชียงคาน จะอีก 100 ปี ก็ยังคงเป็น เชียงคาน เช่นวันวาน (ไทยรัฐ)

          ลมหนาว...พัดมาเยือนคนเหนือ (กรุงเทพฯ) อีกรอบปีแล้ว หากจะเรียกฤดูหนาวเป็นฤดูแห่งการพักร้อน ของคนทำงานคงไม่ผิดเพี้ยนนัก เพราะการวนมาของฤดูเหมันต์ ประจวบกับมีวันหยุดช่วงท้ายปีติดต่อกันหลายวัน คนมีโอกาสก็ถือว่าเป็นการพักกาย พักใจไปในตัว

          หนาวนี้...คงมีหลายคนวางแผน โปรแกรมเที่ยวกับเพื่อนที่รู้ใจ จะไปโน่น มานี่ ขึ้นเหนือ เที่ยวอีสาน ไปสัมผัสไอหมอก สายลมหนาว ก็คงต้องวางแผนและ ติดต่อสถานที่เพื่อหาที่พักกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะคิดจะจองด่วนคงต้องเตือนว่า ให้เผื่อใจไว้กินแห้วด้วย!!!

          หากจะพูดถึงที่ท่องเที่ยวรับลมหนาวแล้ว...คงมีอยู่ 2-3 แห่งที่สามารถตอบได้ทันที 1. ภูเขา 2. บ้านบนดอย 3. สายน้ำ.... ซึ่งที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คงเป็นคำตอบหนึ่งที่อยู่ในใจใครหลาย ๆ คน เพราะ อ.ปาย ขณะนี้ติดชื่อหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวรับลมหนาวของนานาชาติไปเสียแล้ว ... ลองไปดูสิ ปาย ตอนนี้ไม่ต่างอะไรจากถนนข้าวสาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ฝรั่งเต็ม บาร์เบียร์ตรึม หากใครคิดจะไปสัมผัสไอหนาว พร้อมกับวิถีชีวิตบ้าน ๆ คงมีให้สัมผัสได้แค่ อากาศที่หนาวจับใจ


เชียงคาน

เชียงคาน


          แต่ยังมีอีกที่หนึ่งที่บรรยากาศคล้าย ๆ กับเมือง ปาย แต่ยังคงมีกลิ่นอายวัฒนธรรม ขนบประเพณีดั้งเดิม และวิถีชาวบ้านดั้งเดิม...ที่นั่นก็คือ "ชุมชนชายโขง ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย"

          "ทุก ๆ วัน พ่อเฒ่า-แม่เฒ่าชุมชนชายโขง จะตื่นตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพื่อมานึ่งข้าวเหนียว เตรียมใส่บาตรพระตอนประมาณ 6 โมงเช้า จะนึ่งมาก นึ่งน้อย ก็แล้วแต่จำนวนสมาชิกที่ร่วมศรัทธาตื่นมาใส่บาตรด้วย" ยายศรีพรรณ อ้นมา เจ้าของศรีพรรณ โฮมสเตย์บ้านไม้โบราณอายุกว่า 90 ปี เล่าให้ฟังระหว่างที่เรากำลังล้างหน้า แปรงฟัน เพื่อออกไปชมทะเลหมอกที่ "ภูทอก"

          "ตักบาตรเรียกแขกหรือเปล่า...ยาย" เราแกล้งแหย่

          "โอ๊ย... ไม่หรอก เขาทำกันมานานนมแล้วหนู แต่หลายคนอาจจะมองเป็นอย่างงั้นนะ ป้าไม่รู้ ป้าทำของป้าเป็นประจำ จะมีแขกมาพักหรือไม่มี ก็ต้องตื่นมานึ่งข้าว เหนียวรอพระมาบิณฑบาต" แม่เฒ่าวัย 73 ปีตอบด้วยแววตาที่ศรัทธาล้นเปี่ยม

          ชุมชนชายโขง...ตั้งอยู่บนถนนชาย โขงของ อ.เชียงคาน สองฝั่งถนน เป็นบ้านไม้สองชั้นมีอายุไม่ต่ำกว่าครึ่งค่อนอายุคน ลักษณะประตูบ้านเปิดกว้างเพื่อเตรียมรับแขก หรือเพื่อนบ้านเวลาที่เหงาปากอยากหาใครนั่งคุยด้วย ซึ่งนับจากที่ "เชียงคาน" มีชื่อด้านท่องเที่ยวแล้ว ประตูบ้านที่เปิดกว้างมีม้านั่งของคนเหงาปาก ก็กลายมาเป็นที่วางของที่ระลึกเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นโปสต์การ์ด เสื้อสกรีนข้อความ "เชียงคาน" เพื่อบ่งบอกว่าซื้อมาจาก อ.เชียงคาน นะ หรือเพื่อแสดงเป็นสัญญะว่า (ตู) ไปเชียงคาน มาแล้ว (เว้ย) ให้คนที่ไม่มีโอกาสไปอิจฉาเล่น


เชียงคาน

เชียงคาน


          นอกจากชุมชนบ้านไม้เก่าที่ยังคงเปิดประตูต้อนรับแขกทั้งแปลกหน้า ต่างถิ่นแล้ว ในตัว อ.เชียงคาน ยังมีแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้มาจากต่างถิ่นได้ชมอย่างเพลิดเพลิน ...ไม่ว่าจะเป็น แก่งคุดคู้ ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำแห่ง จ.เลย มีแม่น้ำโขงคั่นเป็นเขตแดนประเทศไทยและประเทศลาว


เชียงคาน

เชียงคาน



          คนคุดคู้เล่าให้ฟังว่า ภูเขาสูงที่ตั้งตระหง่านอยู่ฝั่งลาวท้ายแก่ง เชื่อกันว่าเป็นเหมืองทอง เพราะทุกวันนี้จะเห็นนายทุนคนญี่ปุ่นเอารถ เอาอุปกรณ์มาขุดดินแถบนั้นไปเข้าโรงงาน ร่อนหาทอง และช่วงหน้าร้อนจะเห็นคนลาวเอาดินมาร่อนหาแร่ในแม่น้ำโขงเสมอ ๆ ผมเข้าใจว่านายทุนญี่ปุ่นแลกทองกับการทำระบบไฟฟ้าและระบบน้ำให้กับคนลาวแถบนั้นได้ใช้ เนี่ยผมยังอยากไปขุดทองกะเขาบ้าง แต่คนฝั่งโน้นไม่ให้ใครเข้านอกจากคนของตัวเอง


เชียงคาน

เชียงคาน


          ระยะทางจากแก่งคุดคู้ ไม่ถึง 10 กิโลเมตร จะพบภูเขาของเชียงคาน ซึ่งคนแถบนั้นเรียกว่า "ภูทอก" ซึ่ง "ภูทอก" เป็นจุดชมวิวเมือง วิวทะเลหมอกที่สวยที่สุดในเชียงคาน (เข้าใจว่ามีภูเดียวในย่านนั้น) การเดินทางไปได้ทั้งรถใหญ่ รถเล็ก (แต่มอเตอร์ไซค์แรงม้าสูงจะดีกว่า เพราะทางแคบและชันมาก) จังหวะเวลาที่ขึ้นชมความงามก็ต้องใช้สัญชาตญาณของตัวเองเป็นหลัก (เพราะเคยเชื่อชาวบ้านแถบนั้น เกือบพลาดชมทะเลหมอกมาแล้ว) ด้วยความสูงของภู และเส้นทางแคบต้องอาศัยการมีสติ และความกล้าเข้าไว้ หากใครใจไม่ถึงก็อาจจะจอดเก็บภาพความงามตรงครึ่งทาง (อย่างเราเป็นต้น ฮ่า ๆๆ)

          วัดศรีคุณเมือง วัดที่เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมลูกครึ่ง 2 ชน คือ ไทย (ล้านนา) และลาว (ล้านช้าง) สร้างมานานเกือบ 70 ปี ซึ่งวัดนี้ตำนานไม่ปรากฏ แต่พอจะเดาได้ว่าระหว่างไทยกับลาว ถือว่าเป็นเมืองพี่เมืองน้องที่เอื้อเฟื้อต่อกันมาอย่างยาวนาน...

          แม้จะได้ชื่อว่าเข้าสู่ฤดูเหมันต์ แต่ที่ เชียงคาน แล้ว ช่วงสาย-บ่าย อากาศยังร้อนระอุ ไม่แปลกนักที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นเด็กริมโขงโดดน้ำเล่นอย่างสนุกสนาน บางคนนึกสนุกอยากเล่นด้วย แต่ว่ายน้ำไม่เป็นคงได้แต่ยืนมองและกดชัตเตอร์กล้อง เพื่อเก็บความสดใสของเด็กริมโขงไว้เพียงเท่านั้น พอพระอาทิตย์ลับขอบเขาถึงเวลาเก็บบ้าน เข้านอนพัก ชาวเชียงคานชายโขงทอดเวลาปิดประตูบ้านให้ช้าลง เพราะเขารู้ว่าจะมีคนต่างถิ่นเข้ามา ถามไถ่เรื่องราว ตั้งแต่ที่พัก การใช้ชีวิต รวมถึงการขอเก็บภาพของมิตรใหม่ต่างวัย
 

เชียงคาน

เชียงคาน


          ที่ "เชียงคาน" ถูกขึ้นชื่อไว้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งวิถีชีวิตแห่งหนึ่งแล้ว ภาพที่เห็นในวันนี้ บ้านไม้เก่า ๆ ถูกดัดแปลงให้เป็นร้านขายของ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ บ้านพักโฮมสเตย์ไปแล้วส่วนหนึ่ง ธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ทริปทัวร์ก็เกิดขึ้นที่เชียงคาน ความสงบที่เคยมีนับวันยิ่งจางหาย

          "พี่ประสิทธิ์ ทองสุก ลูกเขยยายศรีพรรณ" เดิมเป็นพ่อครัวในโรงแรมหรูกลางเมือง ยอมรับว่าเชียงคานเปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็ตามเข้ามาด้วย อย่างบ้านข้าง ๆ คนอยู่เดิมเขาก็ปล่อยให้คนต่างถิ่นมาเช่าเพื่อสร้างเป็นที่พัก บ้านหลายหลังก็กลายเป็นบ้านเช่าให้คนนอกเข้ามาเปิดกิจการที่สอดรับกับการท่องเที่ยว แต่ยังน้อยนักหากเทียบกับเมืองปายที่เป็นอยู่ปัจจุบัน


เชียงคาน

เชียงคาน


          "คนเชียงคานรักเมืองนี้ จะไม่ยอมให้ชุมชนดั้งเดิมกลืนหายไปกับความนิยมของสังคมที่ถาโถมเข้ามา แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเชียงคานมีชีวิตได้เพราะนักท่องเที่ยว ไม่มีเขาเราก็ขาดรายได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเชียงคานเปลี่ยนไป ไม่มีวิถีบ้าน ๆ ไม่มีวัฒนธรรมดั้งเดิม ใครเขาจะอยากมา เราก็ตายเช่นกัน"

          การเปลี่ยนบ้าน แปลงเมือง ยอมรับว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่จะให้ข้อเสีย กลายเป็นความเกินความพอดีที่กลืนกินข้อดี...คนที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่นั้นน่าจะเป็นผู้ที่รู้คำตอบได้ดีที่สุด อย่าให้คนนอกเขามาตัดสิน เลยว่า "มันไม่เหมือนเดิม" "ต้องเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น มีเงิน มีทอง มีชีวิต"...คนเชียงคานเท่านั้นที่รู้คำตอบ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน คงทำได้เพียงเป็นแขกที่ดี ที่คู่ควรกับการต้อนรับ ไม่ใช่เอาแต่ใจตัว เฮฮา ครื้นเครง เสียงดัง จนเจ้าถิ่นเอือมระอา...เอาเป็นว่าใครอยากไปสัมผัส "เชียงคาน" วันที่ 4-6 ธันวาคมนี้ คนเชียงคานพร้อมใจต้อนรับในงานรำลึกเชียงคาน 100 ปี

          หนาวแล้ว....หนีลมร้อน...ไปเยือนลมหนาวที่ไหนดี





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เชียงคาน จะอีก 100 ปี ก็ยังคงเป็น เชียงคาน เช่นวันวาน อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:26:26 2,984 อ่าน
TOP