เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
หลังจาก "เจดีย์พระประธาน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร" ได้สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ โดยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556 จากยูเนสโก วันนี้กระปุกท่องเที่ยวเลยขอมาให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวัดดังกล่าวให้มากขึ้นค่ะ
ความเป็นมา
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดรั้วเหล็ก เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 โดยชาวบ้านในบริเวณวัดเรียกกันว่า วัดรั้วเหล็ก เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สั่งรั้วเหล็กมาจากอังกฤษ เพื่อนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 ใช้เป็นกำแพงในพระบรมมหาราชวัง แต่ทรงไม่โปรด จึงขอรับพระราชทานมาใช้เป็นกำแพงวัดแทน จนกลายมาเป็นวัดที่ชาวบ้านให้ความเคารพ
ในปัจจุบันวัดแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าอาวาสรูปที่ 14 คือ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ปธ.9) โดยภายในวัดออกแบบพระอุโบสถด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนาคน้อย ซึ่งนัยว่าอัญเชิญมาจากสุโขทัย รวมทั้งมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น รั้วเหล็กรูปหอก ดาบ และขวาน, พระเจดีย์ใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิคนในตระกูลบุนนาค, ภูเขาจำลองหรือเขาเต่าก่อด้วยหินอยู่ข้างประตูทางเข้าวัด, มีโบสถ์และเจดีย์ขนาดเล็กบนยอด, สระน้ำเป็นที่อาศัยของเต่า, อนุสาวรีย์รูปปืนใหญ่ เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์คราวฉลองวัดเมื่อ พ.ศ. 2380 เป็นต้น
ศาสนสถานที่สำคัญภายในวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้แก่
1. พิพิธภัณฑ์พระประยูรภัณฑาคาร หรือพรินทรปริยัติธรรมศาลา
เริ่มต้นเมื่อ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้สร้างศาลาต่อมุขพระบรมธาตุมหาเจดีย์ขึ้น เพื่อเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร อุทิศแด่ "ท่านลูกอิน" ผู้มารดา และ "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์" ผู้บิดา เมื่อครั้งมารดามีอายุ 61 ปี พร้อมจารึกนามศาลานั้นว่า "พรินทรปริยัติธรรมศาลา" ซึ่งปัจจุบันยังมีจารึกอยู่ที่ประตูทางเข้าภายในศาลา ต่อมากระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ได้ใช้หอพรินทรปริยัติธรรมศาลาเป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนในวัด ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของโรงเรียนหนังสือไทย สำนักวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หอพรินทรปริยัติธรรมศาลาจึงเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้ให้เป็นศิลปโบราณสถานวัตถุของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 เจ้าอาวาส คือ ศาสตราจารย์ ดร. พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ต้องการนำพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เพื่อประดิษฐานไว้ส่วนบนของพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ทำให้พบกรุที่ 1 ซึ่งภายในกรุมีพระพุทธรูปโบราณถึง 270 องค์ อีกทั้งยังพบพระบรมสารีริกธาตุองค์ดั้งเดิมที่มีทองคำหุ้มอยู่ แล้วใส่ไว้ในภาชนะที่เรียกว่า "อูบ" โดยบริเวณใกล้กันนั้นมีกระดานชนวนเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับฤกษ์ยามและคำทำนายการค้นพบกรุนี้ และได้พบกรุที่ 2 ซึ่งบรรจุพระเครื่องเป็นจำนวนมาก โดยพระเครื่องจะอยู่ในบาตร และพบแผ่นทองขนาดเท่าฝ่ามือ 3 แผ่น ทุกแผ่นมีจารึกภาษาไทยข้อความเดียวกันว่า "วันพุธที่ 1 มีนาคม 2504" ที่ตรงกับวันมาฆบูชา เพ็ญกลางเดือน 4 ได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจดีย์นี้พร้อมด้วยพระเครื่องนับพันองค์
ภายหลังจากค้นพบพระบรมสารีริธาตุองค์เดิมและวัตถุโบราณ เจ้าอาวาสได้อัญเชิญลงมา แล้วเททองเป็นรูปเจดีย์ทองคำ น้ำหนักกิโลกับสองขีด แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุจากนั้นอัญเชิญประดิษฐานที่เดิม ส่วนพระบรมสารีริกธาตุของประเทศศรีลังกาได้ตั้งไว้ในห้องพิพิธภัณฑ์ พร้อมกับพระพุทธรูปและพระเครื่องในกรุที่ 1 และกรุที่ 2 รวมทั้งให้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ในห้องตรงฐานพระเจดีย์แล้วให้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์พระ ประยูรภัณฑาคาร" ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับให้ความรู้ด้านสิ่งของโบราณในสมัยก่อน
2. พระบรมธาตุมหาเจดีย์
พระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง 60.525 เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เมตร มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ 54 คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก 18 องค์ เรียงรายรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นผู้เริ่มสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้ขึ้น แต่หลังสร้างวัดแล้วพระเจดีย์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ผู้สร้างก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน ต่อมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ได้สร้างพระเจดีย์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เมื่อปี พ.ศ. 2414 พระเจดีย์องค์ใหญ่ถูกฟ้าผ่าจนยอดพระเจดีย์หักไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นเวลานานถึง 47 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2461 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในขณะนั้น ได้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งพระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เมื่อคราวที่ พระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) เจ้าอาวาสรูปที่ 10 บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เล็กรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ และซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์องค์ใหญ่ ในโอกาสเดียวกันนี้ พระสมุห์ปุ่น หรือ พระครูสาราณิยคุณ ก็ได้ให้จารึกข้อความลงในกระดานชนวน วางไว้ห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และเมื่อ พ.ศ.2549 พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุดและได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระ เจดีย์ใหญ่เมื่อวันที่ 5 และ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 พร้อมทั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนองค์พระ เจดีย์ใหญ่ในโอกาสสมโภช 180 ปี วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม พิจารณาคัดเลือก พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2553 ประเภท "ปูชนียสถานและวัดวาอาราม" ด้านการอนุรักษ์งานมรดกศิลปสถาปัตยกรรม โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และในปี พ.ศ. 2556 พระเจดีย์แห่งนี้ก็ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ คือ รางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2556 ชนะเลิศอันดับที่ 1 จาก 47 โครงการจากผู้เข้าร่วมกว่า 16 ประเทศทั่วโลก ด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา ที่สามารถสะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้างได้
นอกจากนี้ ภายในวัดวัดประยุรวงศาวาส ยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายอย่าง เช่น "เขามอ" ซึ่งเป็นภูเขาจำลองขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ก่อขึ้นจากหินเป็นจำนวนมากให้มียอดเขาลดหลั่นกันตามลำดับ มีชะง่อนผาอันสูงชันลักษณะคล้ายคลึงกับหยดน้ำตาเทียน ภายในบริเวณเขามอประดับต้นไม้ด้วยพันธุ์ ไม้หายาก เป็นที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์ พระวิหารหลวงจำลอง สังเวชนียสถานจำลอง และศาลารายน้อยใหญ่ จึงเป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์ที่พุทธบริษัทจากทั่วทุกสารทิศ ทั้งเจ้านายราชนิกุล ขุนนาง คหบดี และราษฎรทั่วไป นิยมพาบุตรหลานเข้ามาสัมผัสบรรยากาศแห่งธรรมชาติที่หาไม่ได้จากที่แห่งใดในพระนคร ทั้งยังมีโอกาสได้เข้าวัด ทำบุญ ประกอบกุศลกรรม และสดับพระธรรมเทศนา ช่วยจรรโลงพระศาสนาและสร้างความสงบสุขร่มเย็นเป็นสุขให้ชาวบ้าน เป็นต้นมา
รวมทั้ง "โรงเรียนส่งเสริมพระพุทธศาสนา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร" เพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณรและเยาวชนโดยทั่วไป โดยเปิดการเรียนการสอน ทั้งแผนกพระปริยัติธรรม และแผนกพระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์สำหรับบุคคลทั่วไป
ได้ทราบประวัติความเป็นมาของ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงไม่มีใครแปลกใจที่วัดแห่งนี้จะได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมาครอง เพราะด้วยประวัติความเป็นมาที่ยาวและยังเป็นศาสนสถานที่สำคัญซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย
ที่อยู่ : เชิงสะพานพุทธฯ ถ.ประชาธิปก เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 09.00-21.00 น.
โทรศัพท์ : 0 2465 5592,08 1371 4650
ว็บไซต์ : watprayoon.com และ เฟซบุ๊ก วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
watprayoon.com, เฟซบุ๊ก วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, dhammathai.org