

ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม, โสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ

ณ รอยต่อจังหวัดสกลนครและมุกดาหาร มองออกไปในแนวเหนือใต้ ทั่วทุกพื้นที่ล้วนปูลาดด้วยสีเขียว ดูราวผืนพรมสีเขียวนุ่มหนา ปลายเดือนเมษายนเทือกเขาภูพานแห่งสกลนครยังเป็นสีน้ำตาล แดง น้ำตาลจากลักษณะภูหินทราย แดงจากใบเต็งรัง ซึ่งพร้อมกันผลัดใบเพื่อลดการใช้น้ำ
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน ที่นี่ถูกเรียกว่า “พื้นที่สีแดง” เขตเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในยุคที่นักศึกษาและประชาชนใช้ทิวเขารูปจันทร์เสี้ยวเป็น “สมรภูมิ” สู้รบตามอุดมการณ์ที่ตนเชื่อมั่น เมื่อม่านหม่นมัวทางความคิดค่อย ๆ จางหาย ภูพานจึงกลับคืนเป็นบ้านอันอบอุ่นอีกครั้ง และด้วยน้ำพระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนภูพาน ด้วยทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ราษฎรของพระองค์ มีพระราชดำริดำเนินโครงการหลากหลาย เพื่อให้ผู้คนภูพานมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าวันวาน
ในเวลาต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อพระองค์ประทับดำเนินงานต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผ่านสงครามทางอุดมการณ์และความลำบากยากเข็ญ ผู้คนรอบภูดำเนินชีวิตใหม่โดยมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเสมือนเข็มทิศชี้แนวทางให้พวกเขามีรายได้เลี้ยงครอบครัว มีอาหารปลอดสารพิษร้าย ตามหลักแห่งความพอเพียง ในวิถีแห่งความยั่งยืน

“...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสกลนคร เดิมเป็นป่าโปร่ง คนไปตัดไม้สำหรับทำฟืนและใช้พื้นที่สำหรับทำการเกษตรกรรม ป่าไม้ที่อยู่เหนือพื้นที่ถูกทำลายไปมาก จึงไม่มีน้ำในหน้าแล้ง น้ำไหลแรงในหน้าฝน ทำให้มีการชะล้าง (Erosion) หน้าดิน (Top Soil) บางลง และเกลือที่อยู่ข้างใต้จะขึ้นเป็นหย่อม ๆ”
ในปี พ.ศ. 2527 ศูนย์ฯ ภูพานก็ได้ก่อตั้งขึ้นที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร บนเนื้อที่ 11,300 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่สาธิตเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมจำนวน 2,300 ไร่ พื้นที่พัฒนาป่าไม้ 1,100 ไร่ โดยมีหมู่บ้าน 22 หมู่บ้านรายรอบ ผ่านเวลาร่วม 30 ปี ศูนย์ฯ ภูพานดูเขียวชอุ่มชุ่มชื้น เทือกเขาภูพานที่โอบล้อมเขียวสดด้วยไม้ใหญ่ซึ่งแตกผลิใบใหม่



“ตอนนี้ศูนย์ฯ ของเราขึ้นชื่อเรื่องสามดำค่ะ” ภรภัทร ดาวศรี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศูนย์ฯ บอกพลางยิ้มอารมณ์ดี สามดำที่ว่า คือ ไก่ดำภูพาน หมูดำภูพาน และโคทาจิมะภูพาน ไม่เพียงงานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์ ที่นี่ยังประสบความสำเร็จในการฟื้นฟู “ดินปนทราย” ให้สามารถปลูกพืชผลได้หลากหลายอย่างน่าชื่นใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอยู่ในแปลงผลไม้ สิริญญา สุนทรนันท์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อีกคนพาผมไปชมแปลงมังคุดซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งนาของหมู่บ้าน นอกจากจะได้ชิมมังคุดรสหวานหอม ทั้งลองกอง เงาะ ลิ้นจี่ ส้มโอ และทุเรียนก้านยาวก็กำลังติดลูกอยู่ดกดื่น ทั้งหมดนี้คือดอกผลจากความเพียรร่วม 20 ปีที่ผ่านมา

กล่าวถึงเรื่องดิน ศูนย์ฯ ภูพานเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี พวกเขาร่วมหาหนทางฟื้นฟูดินให้สมบูรณ์ แสวงหาพืชมาเพาะปลูกและเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรรายรอบ ตัวอย่างการงานนี้อยู่ที่บ้านสวนของ ลุงขวัญใจ แก้วหาวงศ์ เกษตรกรตัวอย่างของศูนย์ฯ ภูพาน ลุงขวัญใจก็คล้ายหลาย ๆ คนที่เคยยากไร้ ไม่มีแม้ผืนเดินเป็นของตนเอง ห้าปีที่แล้วแกสมัครเข้าอบรมในศูนย์ฯ คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงได้เปลี่ยนชีวิตครอบครัวไปโดยปริยาย จากที่เคยเช่าที่ทำนา วันนี้ลุงขวัญใจมีที่ดินกว่า 20 ไร่ รอบ ๆ บ้านอุดมด้วยนาข้าว อ้อยคั้นน้ำซึ่งสร้างรายได้ให้อย่างมาก พร้อมกับปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา เป็ด ไก่ ไว้เป็ดอาหาร ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนที่นี่ ทรงลงไถนาในแปลงนาของลุงขวัญใจด้วยพระองค์เอง
“ผมซาบซึ้งต่อท่านมาก ชีวิตนี้ผมให้ท่านได้เลยครับ” ชายชราเอ่ยน้ำเสียงดังชัด ใบหน้าระบายยิ้ม ยิ้มอิ่มเอมใจ



ความอุดมสมบูรณ์นี้ปรากฏเป็นสายหมอกชาวในยามเช้า และธารน้ำที่ไหลหลั่งเป็นน้ำตกน้อยใหญ่ หล่อเลี้ยงพืชพรรณ สัตว์ป่า และผู้คนแห่งขุนเขาตอนใต้ อุทยานแหงชาติภูผาผล คือ หน่วยงานหลักในการดูแลป่าผืนนี้ ด้วยภูมิประเทศเป็นแนวเทือกเขาจึงเป็นต้นกำเนิดน้ำตกมากสาย ซึ่งทอดลงเติมเต็มอ่างเก็บน้ำห้วยหวด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในแวดล้อมขุนเขา

ย้อนกลับไปในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด พระองค์มีพระราชดำริว่า “ควรอนุรักษ์สภาพธรรมชาติและป่าไม้ บริเวณใกล้กับหัวงานเขื่อนเก็บกักน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหวด ตลอดจนบริเวณข้างเคียงอ่างเก็บน้ำ...” 3 ปีต่อมา กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงเข้าสำรวจพื้นที่แล้วประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติห้วยหวดในขณะนั้น ครอบคลุมเนื้อที่ 517,850 ไร่ ในกิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ กิ่งอำเภอเต่างอย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร



นึกถึงเรื่องเล่าในวันวาร นานมาแล้ว ณ ปลายเทือกภูพานด้านทิศใต้ เขตอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ผืนป่านั้น “หนาทึบจนแดดไม่เคยส่องลงพื้นได้” อันเป็นที่มาของ “ดงหลวง” ป่าไพรอันกว้างใหญ่ มองไปทางใดก็ราวกับห่มคลุมด้วยความร่มครึ้มของหมู่ไม้ ในวันนี้มองจากหุบเขาออกไป ภาพที่ปรากฏ ณ เบื้องหน้าคือพืชพรรณน้อยใหญ่ ไม่ต่างจากผืนพรมสีเขียวสุดสายตา ราวกับเรื่องเล่าในอดีตนั้นหวนคืนกลับมา




ม่านหมอกเริ่มละลาย เดินลงจากองค์พระธาตุไปทางสระน้ำริมหน้าผา ในนั้นมีดอกบัวหลวงบานอยู่หลายดอก ตามหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระธาตุภูเพ็กมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 โดยสร้างห้องครรภคฤหะไว้ตรงกลาง มีปรางค์ประธาน กุฏิ หอพระ ศาลา และสระน้ำตามคติฮินดู ถัดจากสระน้ำไม่ไกลคือแนวหน้าผา รอเพียงครู่เมฆหมอกก็ถูกลมพัดกวาดหาย เผยให้เห็นทิวทัศน์ที่มองออกไปได้ไกลถึงหนองหารและตัวเมืองสกลนคร มองเห็นทิวเขารูปจันทร์เสี้ยวทอดยาวในแนวเหนือ-ใต้

ม่านฝนยังโปรยละออง น้ำใสไหลรี่ลงสู่น้ำตกคำหอม แหล่งท่องเที่ยวน่าชมในอุทยานแห่งชาติภูพาน น้ำตกนี้อยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เช่นเดียวกับถ้ำเสรีไทยและลานสาวแอ้ ซึ่งช่วงปลายฝนต้นหนาวจะผลิพราวด้วยดอกไม้ป่า


นึกย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน ช่วงเวลาที่ภูพานเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ พคท.ผ่านช่วงเวลาอันทุกข์ยาก ผู้คนแห่งขุนเขาดำเนินชีวิตใหม่ โดยมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเสมือนพี่เลี้ยงคอยชี้แนะแนวทาง นอกจากศูนย์ฯ ภูพานแล้วยังมีฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
“เรากินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น” วิเชียร ปงผาบ นักวิชาการเกษตร สำนักงานโครงการพระราชดำริสวนจิตรลดา อธิบายสั้น ๆ ทว่าจริงแท้ในความหมาย
ช่วง พ.ศ. 2540 หลังวิกฤตฟองสบู่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยผู้คนภาคแรงงานอย่างยิ่ง พระองค์ทรงคิดหาหนทางในการสร้างอาชีพ ให้ราษฎรของพระองค์มีอาหารที่สมบูรณ์และปลอดภัยไว้เป็นของตนเอง จึงเกิดฟาร์มตัวอย่างในภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้น วิเชียรคือหนึ่งในนักวิชาการที่รับหน้าที่ทดลองและศึกษาฟาร์มตัวอย่าง กว่าสิบปีที่ขลุกอยู่กับงาน เขาพบว่าผืนดินแต่ละแห่งล้วนแตกต่างกัน จะกางตำราทำเหมือน ๆ กันไมได้
“ภูพานถือว่าดินน้ำค่อนข้างสมบูรณ์นะครับ เพราะอ่าวตังเกี๋ยอยู่ไม่ไกล บางวันมีครบทั้งสามฤดู ทั้งร้อน ฝน หนาว” วิเชียรอธิบายแล้วก็หัวเราะอย่างคนอารมณ์ดี ด้วยลักษณะดังกล่าว เขาจึงลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เช่น ตำราสอนว่าให้ขุดหลุมกว้าง ลึก ยาว 1 เมตร เพื่อปลูกทุเรียน แต่ที่นี่เป็นดินเหนียวปนทรายแล้วฝนก็ตกมาก ลงทุเรียนไม่นานน้ำก็ขังตาย วิธีได้ผลคือวางต้นทุเรียนไว้ แล้วรากของมันจะแทงลงเนื้อดินเอง ดาวเรืองกับโหระพานั้นแมลงไม่ชอบกลิ่น ปลูกคั่นตามแปลงผักก็ไม่ต้องฉีดยาอีก ไม่เพียงเท่านั้น พืชผลที่ได้จะถูกแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ปลานิล แดดเดียว หมูจินหัวแดดเดียว ลาบเป็ดอี้เหลียง ผักสวนครัวก็แพ็กใส่ถุงอย่างดี ส่งขายทั้งตามหมู่บ้านและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในสกลนคร
เย็นวันนั้น แดดอุ่นโรยอ่อน เราเข้าไปเยือนหมู่บ้านใกล้ ๆ ฟาร์มแทบทุกหลังมีแปลงผักเล็ก ๆ ปลูกไว้ ผู้คนยิ้มแย้มทักทาย แลกผัก ไข่ ปลา ในรั้วบ้านโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อหา ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนั้น คงไม่มีใครคิดว่าภาพงดงามดังกล่าวจะเกิดขึ้น ณ ทิวเขารูปจันทร์เสี้ยว อดีตสมรภูมิที่ถูกระบายเป็นพื้นที่แดงดินแดนแห่งความยากเข็ญในวันวาร นึกถึงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในภาพนั้นปรากฏพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แนบพระพักตร์เคียงดอกไม้ป่าหลากสี รอบ ๆ พระองค์ก็ล้วนผลิพราวด้วยดุสิตาสร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน แลงดงามลานตา พระพักตร์ของพระองค์นั้นแย้มสรวล ดูผ่อนคลาย ราวกับทรงทราบล่วงหน้าว่า พระราชกรณียกิจอีก 40 ปีต่อมานั้นจะบรรลุล่วงตามที่พระองค์ทรงมุ่งหวัง ราวกับพระองค์จะทรงทราบว่าทิวเขารูปจันทร์เสี้ยวจะสมบูรณ์และงดงามถึงเพียงนี้...
ขอขอบคุณ





คู่มือนักเดินทาง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าชม ศึกษาเรียนรู้ และทดลองเป็น “เกษตรกร” ในงานศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง หรือปศุสัตว์ สอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 4274 7458-9 เช่นเดียวกับฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ที่นี่เหมาะจะเรียนรู้การเกษตรแบบ “พึ่งพาตนเอง” หรือจะแวะชิมผลผลิตแปรรูปที่ร้าน “ครัวศิลปาชีพ” ซึ่งเปิดบริการทุกวันที่หน้าฟาร์มสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 1260 8734
อุทยานแห่งชาติภูพาน มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย นอกจากน้ำตกห้วยใหญ่ ถ้ำเสรีไทย เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติลานสาวแอ้ พระธาตุภูเพ็กก็เป็นอีกที่ซึ่งน่าเยี่ยมชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติภูพาน ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสกลนคร 47000 โทรศัพท์ 08 6459 5600 เว็บไซต์ http://www.dnp.go.th/
อุทยานแห่งชาติภูผายล น่าเที่ยวชมอ่างเก็บน้ำห้วยหวดอยู่ไม่ไกลที่ทำการอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติซึ่งระหว่างทางน่าชมด้วยน้ำตกและดอกไม้ป่า รวมถึงน้ำตกแก่งโพธิ์-น้ำตกสวยเขตอำเภอมุกดาหาร อุทยานฯ มีบ้านพักรับรอง เต็นท์และลานกางเต็นท์ให้บริการ สอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 4272 6615
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสืออสท. ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 สิงหาคม 2556