x close

เมืองอู่ทอง ศูนย์กลางพุทธศาสนาเก่าที่สุดในประเทศไทย

อู่ทอง

 



เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ศูนย์กลางพุทธศาสนาเก่าที่สุดในประเทศไทย (มติชน)

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม

          เมืองอู่ทอง ในเอกสารชมพูทวีป (อินเดีย) กับลังกาทวีป (ลังกา) เรียก "สุวรรณภูมิ" ส่วนเอกสารจีนเรียก "จินหลิน" ล้วนมีความหมายเหมือนกันคือ ดินแดนทอง ตรงกับชื่อในตำนานว่า อู่ทอง

          ที่ตั้งเมืองอู่ทอง อยู่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน โดยมีเส้นทางน้ำเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน คือลำน้ำทวน กับ ลำน้ำจรเข้สามพัน

อู่ทอง

          (แถว บนสุด-จากซ้ายไปขวา) ภิกษุอุ้มบาตรทำด้วยดินเผา แสดงการรับอิทธิพลพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ พบที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (แถวล่าง-จากซ้ายไปขวา) บาตรดินเผาใส่เหรียญกษาปณ์รูปสังข์ พบที่คอกช้างดิน เมืองอู่ทอง

          (แถว 2 ?จากซ้ายไปขวา) คนชาติภาษาต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของกับภูมิภาคสุวรรณภูมิสืบเนื่องถึง สมัยหลังๆ มีหลักฐานปูนปั้นรูปหน้าคนชาติภาษา พบทั่วไปตั้งแต่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, เมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม, และที่เมืองคูบัว จ.ราชบุรี ฯลฯ

          (แถว 3) ตะเกียงโรมัน พบที่ ต.พงตึก จ.กาญจนบุรี บนเส้นทางเมืองอู่ทอง

          (แถว ล่างสุด-จากซ้ายไปขวา) เหรียญโรมัน พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี นักโบราณคดีกรมศิลปากรอธิบายว่า ด้านหน้ามีรูปพระพักตร์ด้านข้างของจักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส (กษัตริย์โรมัน ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.812-814) สวมมงกุฎยอดแหลมป็นแฉก มีตัวอักษรล้อมรอบอยู่ริมขอบของเหรียญ IMP C VICTORINUS PF AUG ซึ่งเป็นคำย่อของ Imperator Caesor Victorinus Pius Ferix Auguste แปลว่า จักรพรรดิซีซาร์ วิคโตรินุส ศรัทธา ความสุข เป็นสง่า ส่วนด้านหลังของเหรียญเป็นรูปของเทพีอาธีนา


          1. "อู่ทอง" ศูนย์กลางพุทธศาสนาเก่าที่สุดของรัฐทวารวดี

          อู่ทองเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีร่องรอยการติดต่อกับอินเดียมาตั้งแต่หลัง พ.ศ.200-400 (พุทธศตวรรษที่ 3-5)

อู่ทอง



          (ภาพ ขวา) นายบรรหาร ศิลปอาชา แนะนำแนวทาง "แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง" บริเวณคูน้ำคันดิน เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา

          ทีมข่าวประชาชื่น มีรายงานในมติชน (ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2552 หน้า 21) ว่า คูน้ำคันดินเมืองอู่ทอง อยู่ใกล้ๆ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ถนนมาลัยแมน ติดกับคลองชลประทาน เยื้องไปทางทิศเหนือ ลักษณะคูเมืองเป็นวงรี ซึ่งปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินและจอกแหนวัชพืชขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด

          คูเมืองที่จะมีการขุดคลอง และปรับปรุงภูมิทัศน์ในอนาคต แบ่งเป็น 2 โครงการ

          โครงการแรก เป็นการขุดลอกคูคลองระยะทาง 3 กิโลเมตร สร้างสะพานข้ามให้ชุมชนแทนสะพานไม้เดิม ให้มีทางเท้าสำหรับคนเดิน ติดไฟฟ้า พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ตกแต่งให้สวยงาม

          โครงการที่สอง เป็นการ สร้างสถานีสูบน้ำสำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย เผื่อเวลาน้ำท่วมจะได้สูบออก หรือน้ำแห้งก็สูบน้ำเข้าจากคลองจรเข้สามพัน

          เพื่อให้คูเมืองเดิมของอู่ทอง มีความงดงามและรักษาไว้เป็นโบราณสถาน ที่แสดงความเป็น "เมืองอู่ทองของสุพรรณบุรี" ที่มีมาแต่โบราณ

          ต่อมาอู่ทองเป็นเมืองท่าสำคัญของรัฐทวารวดี และเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของทวารวดี พุทธศาสนาที่ว่าคงจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากอินเดียใต้และลังกา

          "อู่ทอง" มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "สุวรรณภูมิ" ดินแดนที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีปที่มีอายุอยู่ในช่วงราว พ.ศ.200-300 ได้ส่งพระสมณทูต อุตตรเถระ และโสณเถระ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท แต่ไม่เคยพบหลักฐานอยู่ในจารึกของพระเจ้าอโศกเลย ผิดจากการส่งสมณทูตไปยังดินแดนอื่นๆ มีจารึกของพระองค์ระบุไว้อย่างชัดเจน

          หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการที่พระองค์ส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิ ระบุอยู่ในมหาวงศ์พงศาวดารลังกา ที่มีอายุอ่อนลงมาอีกมาก ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวในอุษาคเนย์จึงมีรากฐานที่สำคัญมาจากการติดต่อ สัมพันธ์กับลังกาเสียมากกว่า ซึ่งหมายถึงทั้งเครือข่ายของพระพุทธศาสนาเถรวาทและการค้า

          ดังนั้น การที่เมืองอู่ทองมีหลักฐานต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนา จนถึงสมัยที่รับวัฒนธรรมศาสนาแล้ว ซ้ำยังดูเหมือนว่ามีลักษณะเชิงช่างที่เก่าแก่กว่าเมืองอื่นๆ ในวัฒนธรรมทวารวดี

          จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เมืองอู่ทองเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท ที่เก่าแก่ที่สุดในวัฒนธรรมทวารวดีได้ แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวพันกับเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกที่มี อายุเก่ากว่าหลักฐานเนื่องในพุทธศาสนาในเมืองอู่ทองราว 700 ปีเลยก็ตาม

          2. พระเจ้าอู่ทอง ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง 

          ไม่มีหลักฐานยืนยันได้เลยว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองอู่ทอง

          เมื่อพิจารณารากศัพท์แล้ว ชื่อ "อู่ทอง" คงจะสัมพันธ์กับคำว่า จินหลิน และสุวรรณภูมิ ในบันทึกของจีน และอินเดีย ตามข้อคิดเห็นของ มานิต วัลลิโภดม มากกว่า

          พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง รายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี และ นิทานโบราณคดี เป็นหลักฐานชิ้นเก่าแก่ที่สุดที่พยายามอธิบายถึงพัฒนาการของเมืองอู่ ทองอย่างจริงจัง เนื้อความตอนหนึ่งทรงสันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา น่าจะเคยครองราชย์ที่เมืองอู่ทองมาก่อน

          แต่เมืองอู่ทอง จึงไม่ได้ร้างไปในช่วงหลัง พ.ศ.1700 แต่มีร่องรอยพัฒนาการทางงานช่างที่ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงสมัยกรุง ศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ เมื่อพิจารณาจากเครือข่ายปริมณฑลของอู่ทอง โดยสัมพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมขอมเสียมาก

          ร่องรอยของวัฒนธรรมขอมที่ว่า เป็นอย่างที่พบอยู่ทั้งใน ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี กลุ่มวัฒนธรรมเหล่านี้ค่อยตกผลึกกลายเป็นกรุงศรีอยุธยาในช่วงแรกเริ่ม อู่ทองในฐานะเครือข่ายของวัฒนธรรมขอมลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ.1700-1900 จึงชวนให้คิดไปได้ว่า เมืองอู่ทองสัมพันธ์กับเครือข่ายของพระเจ้าอู่ทองในตำนาน

อู่ทอง



          แผนที่แสดงแนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยและแม่น้ำที่สำคัญสมัยโบราณ เมื่อระหว่าง 6,000-3,000 ปีมาแล้ว (ดัดแปลงจาก Somboon Jarupongsakul, 1990, Geomorphology of the Chao Phraya Delta, Thailand, P. 63)

          3. "อู่ทอง"ไม่เคยร้างมีชุมชนต่อเนื่องถึงอยุธยา

          เมืองอู่ทองมีประชากรอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธ-พราหมณ์ (จากชมพูทวีป) ต่อเนื่องมาถึงสมัยที่ร่วมอยู่ในวัฒนธรรมแบบทวารวดีเมื่อราวหลัง พ.ศ.1100 เรื่อยมาจนถึงช่วงหลัง พ.ศ.1600 ยังพบร่องรอยของกลุ่มงานช่างที่สามารถเปรียบเทียบรูปแบบได้ว่าน่าจะสร้าง ขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.1600-1900

          หมายความว่า เมืองอู่ทองไม่ได้ร้าง หากแต่มีคงอยู่สืบเนื่อง

          ร่องรอยการอยู่อาศัยภายในเขตเมืองโบราณอู่ทองไม่ได้ขาดหายไปในช่วงเวลาหลัง พ.ศ.1500 อย่างที่มักจะเข้าใจกันมาแต่เดิม

          อาจจะกล่าวได้ว่า เมืองอู่ทองไม่ได้มีขนาดเล็กลงกลายเป็นเพียงชุมชนขนาดย่อม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางการค้า อย่างที่มีข้อสันนิษฐานอยู่ในงานวิจัยบางชิ้น หากแต่เมืองอู่ทองมีปริมณฑลที่ขยายออกไปนอกเมือง

          ร่องรอยของวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับหริภุญชัย หรือกลุ่มงานช่างแบบที่นิยมอยู่ในฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงระหว่าง พ.ศ.1600-1800 และงานช่างแบบขอมถูกพบกระจายตัวอยู่โดยทั่วไปตลอดลำน้ำทวน ลำน้ำจรเข้สามพัน แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อน พ.ศ.1500 ต่างหาก

          มานิต วัลลิโภดม เป็นท่านแรกที่อธิบายว่า เมืองอู่ทองร้างไปก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา

          บทความเรื่อง สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน (ในวารสารเมืองโบราณ) อ้างว่าเมืองอู่ทองร้างไปก่อน พ.ศ.1700 อาจเกิดจากการที่แม่น้ำท่าจีนเปลี่ยนเส้นทางน้ำ ทำให้ลำน้ำจรเข้สามพันตื้นเขินลง ตลอดทั้งเส้นลำน้ำเก่าที่ว่า พบโบราณวัตถุและลูกปัดจำนวนมาก ซึ่งท่านลงความเห็นว่าเก่ากว่าที่นครปฐม ท่านยังสรุปไว้ด้วยว่า อู่ทอง ก็คือจินหลิน และสุวรรณภูมิ ในบันทึกของจีนและอินเดียตามลำดับ

          บทความชิ้นดังกล่าว ดูจะเป็นจุดตั้งต้นให้นักวิชาการรุ่นถัดมาใช้ในการอธิบายความว่าเมืองอู่ทองร้างไปเมื่อ พ.ศ.1700 ถือเป็นการล้มล้างความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าพระเจ้าอู่ทอง มาจากเมืองอู่ทอง มาโดยตลอด

          งานวิจัยเรื่องการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สืบแสง พรหมบุญ และคณะ ได้อธิบายว่าเมืองอู่ทองไม่ได้ร้างไปเสียทีเดียว แต่ลดฐานะลงเป็นหมู่บ้าน มีผู้คนอาศัยสืบทอดวัฒนธรรมต่อกันมา เห็นได้จากคำบอกเล่าประวัติชุมชนในหมู่บ้านในรูปตำนาน หรือนิทานพื้นบ้าน

         
4. ข้อเสนอแนะด้านการจัดการเมืองอู่ทอง เพื่อประโยชน์ต่อสังคมสมัยปัจจุบัน

          โบราณวัตถุ โบราณสถาน และร่องรอยกิจกรรมต่างๆ ของคนสมัยโบราณที่พบที่เมืองอู่ทอง ชี้ให้เห็นว่าประชากรของชุมชนโบราณแห่งนี้มีวิถีชีวิตใกล้ชิดแม่น้ำ และพึ่งพิงแม่น้ำ ทั้งเพื่อในการดำรงและการพัฒนาสังคม-วัฒนธรรม จนชุมชนได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่ง ของภูมิภาค
"สุวรรณภูมิ"

          เมืองอู่ทองควรอนุรักษ์ไว้เพื่อศึกษาเพิ่ม เติมอย่างละเอียดให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของคนสมัยโบราณที่ชุมชนนี้ แล้วนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาใช้และประยุกต์ใช้สำหรับแก้ไข ปรับปรุง หลีกเลี่ยง หรือลดทอนปัญหาประเภทเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตที่กำลังเกิดอีกในปัจจุบัน และกำลังจะเกิดอีกในอนาคต

          การนำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวมาใช้ น่าจะส่งผลให้สังคมวัฒนธรรมปัจจุบันไม่เพียงสามารถอยู่รอด แต่ยังสามารถดำรงอย่างยั่งยืน

         
การดำเนินการเช่นนี้คือความหมายที่ถูกต้องของการอนุรักษ์เพื่อพัฒนา

          การอนุรักษ์เพื่อพัฒนาเมืองอู่ทองควรดำเนินการทั้งในองค์ประกอบทางกายภาพทั้ง หมดทุกประเภทที่อยู่ในทุกทำเลของเมืองและปริมณฑลของเมือง และในองค์ประกอบทางวัฒนธรรมทั้งหมดของเมืองในทุกกาลเวลา จึงควรมีการดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองอู่ทอง ดังนี้

          1. ดำเนินการฟื้นฟูระบบลำน้ำที่สามารถหล่อเลี้ยงทั้งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติของพื้นที่ และชีวิตผู้คนในชุมชนนี้ได้ การขุดลอกและซ่อมแซมคูเมือง อู่ทองทั้งหมดพร้อมกันไปกับการขุดลอกลำน้ำจรเข้สามพันและลำน้ำทวนโดยเร่ง ด่วน

          2. จัดตั้งองค์กรที่มีภารกิจด้านอนุรักษ์เพื่อพัฒนาเมืองอู่ทอง โดยเฉพาะ น่าจะทำให้การดำเนินการอนุรักษ์เพื่อพัฒนาเประสบความสำเร็จ ชื่อที่เหมาะสมขององค์กรนี้อาจตั้งว่า "สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา"

          3. ควรมีการขุดค้นที่บริเวณเขารักษ์ หมู่ 1 บ้านดอนแสลบ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เพราะมีหลักฐานถึงพัฒนาที่ต่อเนื่องของเมืองอู่ทอง ซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบให้ทราบว่าเมืองอู่ทองมีพัฒนาการต่อเนื่องในช่วงหลัง พ.ศ.1800 จนถึงสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ หรือไม่ โดยควรมีการขุดค้นที่บริเวณฐานพระปรางค์บนยอดเขารักษ์ และที่บริเวณร่องรอยอาคาร และเจดีย์เก่าที่เชิงเขาด้วย


แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมืองอู่ทอง ศูนย์กลางพุทธศาสนาเก่าที่สุดในประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:07:16 1,484 อ่าน
TOP