x close

ทับสะแก ผู้คนของริ้วคลื่นและผืนแผ่นดิน

ทับสะแก

ทับสะแก ผู้คนของริ้วคลื่นและผืนแผ่นดิน (อ.ส.ท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ


            มรสุมฤดูร้อนเคลื่อนผ่านแนวขอดแคบของประจวบคีรีขันธ์ มันสะกดให้โลกตรงหน้าหยุดนิ่ง ทะเลเปี่ยมลม และคลื่นลูกโตทยอยโบยตีชายหาดอย่างไม่ลดละ หลายวันที่นี่ผมมักมานั่งอยู่ตรงสะพานปลาชายทะเลทับสะแกทุกเช้า ฤดูปิดอ่าวซ่อนภาพคึกคักของพวกเขาไว้เพียงในจินตนาการ ที่เห็นตรงหน้าแทบทุกวันคือเรือใดหมึกลำเล็กไม่มาก นักทยอยกลับเข้าฝั่งหลังดวงอาทิตย์แตะแต้มตีนฟ้าหากเป็นยามเย็น แดดอ่อนทอนุ่มในบางวัน สะพานไม้คร่ำคร่าหลงเหลือเพียงผู้คนสายเลือดประมงข้างบนทอดแหลงบนผืนน้ำสีเขียวเข้ม หรือไม่ก็หย่อนเบ็ดทอดอารมณ์ หวังปลาเล็กเป็นอาหารสักมื้อ

            บางนาทีในสวนมะพร้าวโบราณอันเหยียดขยาย และหล่อหลอมคนทับสะแกให้มีตัวตนเด่นชัด โลกระหว่างแผ่นดินถิ่นเกิดและการเพาะปลูกของพวกเขาชัดเจนราวกับไม่ใส่ใจคลื่นความเปลี่ยนแปลงรายรอบ ระหว่างห้วงยามแห่งการหยุดนิ่ง ผ่อนพัก ผู้คนถูกตรึงแน่นด้วยพันธนาการจากธรรมชาติ ทั้งมวลมรสุมกลางทะเล ผืนภูเขาห่มฝนที่แนบชิดเคียงใกล้ ใครหลายคนในเมืองประมงเล็ก ๆ ริมอ่าวไทยแห่งหนึ่งบอกสอนกับผู้ที่ผ่านพาตัวเองมาทำความรู้จักบ้านของพวกเขาว่า คำว่า "ฤดูกาล" ล้วนศักดิ์สิทธิ์และเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่เราเองอาจต้องโอนอ่อนผ่อนตามอย่างแน่นแท้ มันคือครรลองของทะเลและผืนภูเขาที่หล่อหลอมชีวิตที่อยู่ตรงนั้นให้หยัดยืนคงทน

            ชายทะเลทับสะแก...เงียบสงบและชัดเจนความเป็นเมืองประมงอยู่ตั้งแต่รุ่งเช้า มันไร้การปรุงแต่งเรื่องการท่องเที่ยว หาดสีโกโก้อ่อนทอดยาวประดับประดาด้วยเรือไดหมึกก่ายเกย มันเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานตราบเท่าที่วิถีประมงยังคงเดินเคียงคู่คนที่นี่ และพวกเขาไม่เคยหันหลังให้ทะเลแม้ในฤดูใด หมู่บ้านชาวประมงริมทะเลอ่าวไทยเติบโต มั่นคงแข็งแรง เป็นหลักฐานให้ชีวิตเติบโตมาหลายรุ่น ไล่เลยไปตามที่ดินริมอ่าว เราจะเห็นงานซ่อมแซมอุปกรณ์หากินในทะเลแม้ในฤดูมรสุมมาเยือน

ทับสะแก

            "ช่วงปิดอ่าว ออกเรือเล็ก หาหมึก หาปลาไปตามเรื่องราว ซ่อมข่ายซ่อมลอบไปนั่นล่ะ" ประมงชราบอกกับผมหลังจากเห็นเรามายืนมองความว่างเปล่าของทะเลในหลายเช้า มีเพียงดวงตะวันสีส้มกลมโตโผล่พ้นเป็นภาพงดงามปลอบใจ

            สะพานซีเมนต์ยื่นลงไปในทะเลลึก ลานสาธารณะด้านบนคือสนามตะกร้อของเด็ก ๆ ลูกทะเลยามเพลาพักจากช่วยงานผู้ใหญ่ บ้านไม้ริมทะเลทับสะแกมั่นคงหยัดยืน บางหลังเหยียดยาวประตูไม้ถูกเพนท์ลายคล้ายเมืองประมงแถบอเมริกาใต้ และเมื่อดุ่มเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ เราจะพบว่า อดีตอันเรืองโรจน์จากงานประมง ได้ขัดเกลาให้ชีวิตที่เหลืออยู่เปี่ยมไปด้วยความมั่นคงและเรื่องเล่าจากทะเล

            "แต่ก่อนทับสะแกคึกคักกว่านี้มาก ราวสามสี่สิบปีที่นี่มีแต่เรือประมง แรงงานทั้งไทยและพม่า สะพานปลาของบ้านฉันไม่เคยเงียบ" คุณยายเจ้าของแพปลาเล่าผ่านอากาศหม่น บานประตูชราทาสีเทาอ่อนประดับลวดลายรูปปลาทู ด้านในคือโรงขึ้นปลาห่มแสงสลัว

            สะพานไม้หน้าบ้านทอดยาวลงในทะเลลึก มีผู้คนพร้อมเบ็ดทรอลลิงคอยเหวี่ยงมันลงเพื่อรอคอยปลาโชคร้าย เด็ก ๆ ตามมาช่วยผู้เป็นพ่อหย่อนปลาลงในลังพลาสติก ไม่ได้เพื่อขาย ทว่าเพียงพอต่อมื้อเย็นที่กำลังจะมาถึงทะเล

            ประจวบคีรีขันธ์คือบ้านของปลาทูและปลาอีกนานาชนิด ฤดูวางไข่ของพวกมันในช่วงต้นปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ส่งผลให้พื้นผิวทะเลไร้เรือประมงใหญ่ในน่านน้ำประจวบคีรีขันธ์ไล่เลยผ่านชุมพร ไปถึงสุราษฎร์ธานี สำหรับคนหลงรักภาพวิถีชีวิตริมทะเล ในห้วงยามเช่นนี้ดูเหมือนความว่างเปล่าร้างไร้จะปกคลุม ทว่ากับคนริมฝั่งบ้านของพวกเขากำลังได้รับการเยียวยาเพื่อวันข้างหน้า เพื่ออนาคตอันจีรังยั่งยืน

ทับสะแก

            ริมหาดทับสะแกหาใช่พื้นที่เล่นน้ำเริงร่า มีเพียงตรงหัวหาดทางที่เนินทรายและแนวสนไหวลม ร้านอาหารริมทะเลเล็ก ๆ แกล้มวิวกว้างไกล ระดับน้ำที่ค่อนข้างลึกส่งผลให้ความรุ่งเรืองทางการประมงได้บ่มเพาะ

            "ถ้าเป็นหน้าปลานะ เสียงโหวกเหวก เครื่องยนต์เรือ แรงงานลูกจ้างดังกันฟังแทบไม่ได้ศัพท์...แต่นี่มันเรื่องสิบกว่าปีก่อนนะ" เว้นวรรคสักพัก ยายก็กลบไปหาเพิงไม้ริมทะเล นั่งมองและเล่านี่โน่นซึ่งเราทำได้เพียงจินตนาการ โรงขึ้นปลาด้านหลังราวฉากภาพยนตร์ย้อนอดีต แกว่าราวกับความรุ่งโรจน์ไม่อยู่กับใครนาน

            "มันเป็นอย่างนี้ละ เมืองริมประมง มีเงียบ มีคึกคัก ทะเลก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สุดก็คนที่อยู่กับมันนั่นละ ปลา หอย กุ้ง อะไรนี่มันจะน้อยจะมากก็มาจากคน" คู่ชีวิตของคุณยาย อดีตไต๋ผู้เคี่ยวกรำช่ำชองปิดท้าย

            ระหว่างทะเลตรงหน้ามากลูกคลื่นและแรงลม ปลายสุดของชายทะเลทับสะแกฝั่งที่จะวกเข้าสู่ตัวตลาดนั้นงดงามลงตัว ทิวมะพร้าวไล่เรียงไปกับแนวหาด บ้านไม้สามสี่หลังใต้ร่มเงาหยัดยืนอยู่อย่างสมถะ เรือไดหมึกไม่ห่างหายเจ้าของผู้ดูแล ซ่อมอวน ซ่อมลอบ หรือไม่ก็ขันเรืออุดร่องรอยรั่วไหล ตามพื้นทรายคือมะพร้าวที่ผ่านการปอกเปลือกก่ายกอง วันทั้งวันของพวกเขาไม่เคยว่างเปล่าจากการงาน

            เลาะตามถนนที่วกวนไปมา เราก็เปิดวิวของอีกหาดที่ หาดแหลมกุ่ม ระดับน้ำลดลงยามเย็นตามปฏิทินข้างขึ้นข้างแรมที่คนทะเลเท่านั้นที่จดจำมันขึ้นใจ ตามแนวหินมีชาวบ้านสาละวนอยู่กับการคุ้ยแนวทรายหมาดน้ำเพื่อหาหอยแปลก ๆ หลายชนิด

ทับสะแก

            "นี่หอยเม็ดขนุน เอาไปผัดฉ่า ผัดพริกเผาอร่อยหวานนัก"
บางคนเรียกมันว่าหอยกาบคู่หรือหอยฝาคู่ ผมนั่งลงเคียงข้างกับลูกทะเลผิวกร้านแดด พูดคุยไปตามเรื่องตามราว สารทุกข์สุกดิบถ่ายเทตามการพบเจอกันแทบทุกวัน

            หาดแหลมกุ่มเองมีที่ทางและแนวหาดกว้างกว่าแถบแถวชายทะเลทับสะแก นอกจากชีวิตที่หากินตามแนวฝั่ง หมู่บ้านประมง ด้วยความเงียบสงบ รีสอร์ทเอกชนที่ส่วนใหญ่เจ้าของจะเป็นคนที่นี่เองจึงก่อเกิดขึ้นประปราย จะว่าไปมันก็ดูเหมาะสมและกลมกลืนกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย

            "ห่วงแต่โรงไฟฟ้าน่ะ ไม่รู้ถ้าเกิดแล้วคนรุ่นลูกหลานจะเป็นอย่างไร" อีกใบหน้าหนึ่ง ชายผู้หาหอยเม็ดขนุนตรงหน้าผมเลือกที่จะยืนอยู่ในตัวตนของคนผู้ไม่ยอมสูญเสียแผ่นดินถิ่นเกิด คล้ายกันกับหลายแผ่นผืนดินริมทะเลอ่าวไทย ที่การพัฒนาทางทรัพยากรพลังงานบีบคั้นให้ทางเลือกใหม่จำต้องก่อเกิด โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าหลากหลายพลังงานกำลังหยั่งรากปักหมุด

            "แหลมกุ่มเองแม้หาดไม่สวยนัก แต่มันก็เป็นแหล่งหากินของเรานะ คุณดูเอา ปลาเล็กปลาน้อย หมึก ในทะเล มะพร้าวตามสวนโบราณ หรือแม้แต่เดินหาหอย หาปูตามหาด มันคืออาหารทั้งนั้น ผลกระทบอื่นใดใครจะรู้ได้หากมีโรงไฟฟ้าสร้างขึ้น" แม้ไม่อาจเผยชื่อได้ แต่กับคำพูดหรือความคิดอันจริงจัง ผมว่าเขาก้าวข้าม "ปัจจุบัน" ไปไกลยิ่งนัก เป็นกระแสความคิดจากคนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ที่รู้จักและเข้าใจบ้านอันเก่าแก่และสิ่งที่เรียกว่า "อนาคต" ได้แสนเปี่ยมชัด

            พื้นที่ราว 4,000 ไร่ ที่หลุดมือออกไปจากชุมชนคนแหลมกุ่มยังคงรอการพิสูจน์จากหลายหน่วยงาน ว่ามันจะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในด้านใด ท่ามกลางการไร้ค่าตอบ ทว่าต่อหน้าทะเลในนาทีปัจจุบัน ยากจะปฏิเสธได้ว่าที่ตรงนี้คือความสงบงาม รอยยิ้มเอียงอายของเด็ก ๆ ลูกหลานชาวประมง กลิ่นหอมแปลก ๆ ของทะเลอ่าวไทยในยามเช้า หลอมรวมกับการงานของผู้คนประมงริมทะเลทับสะแก หรือแม้แต่มุมสงบของคนที่เลือกรีสอร์ทเล็ก ๆ ในทับสะแกเพื่อพักผ่อน เป็นภาพที่แม้จะพยายามผลักไสก็ไม่อาจหลุดไปจากความทรงจำโดยง่าย อย่างที่ใครคนนั้นซึ่งชักชวนให้ผมมาค้างแรมที่บ้านของเขาว่าไว้แดนดินแห่งนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อผู้มาเยือน ทว่าเกิดก่อขึ้นมาสำหรับผู้ที่พร้อมจะเรียกมันว่าบ้าน

            "ทรายที่นี่แม้ไม่ขาว ไม่ละเอียด แต่ประโยชน์ของมันนั้นมหัศจรรย์นะ" ใต้ร่มเงามะพร้าวยืนเสียดสูงที่ บ้านทุ่มประดู่ กลางอากาศชื่นยามเช้ามืด บุญลือ สำริต บอกกับผมหลังหลายวันที่เราเลือกทอฝันโฮมสเตย์เป็นที่ค้างแรมหลับฝัน พลิกผันตัวเองจากวิศวกรรถไฟสู่แรงคลื่นและลมทะเล บุญลือ คือ “ครูเล็ก” ของคนที่หลงรักการเล่นเรือแล่นใบ ที่เคยมีศูนย์เรียนอยู่ที่เกาะทะลุ หลังชีวิตกลางแจ้งรอนแรมในทะเล สายลมและเกลียวคลื่นพัดพาให้เขาพบเจอกับ ภรทิพย์ เทียมหมอก ลูกหลานทับสะแก และเมื่อถึงวันอันมั่นคง ทั้งคู่เลือกจะเปิดบ้านของเขารอรับคนมาเยือนในนามของความอบอุ่น

            "นอกจากเรือใบ เรามองกลับมาที่ทับสะแกค่ะ ว่าบ้านของเรามีอะไรบ้างที่โดดเด่น"
ภรทิพย์เปรยสำเนียงเรียบเย็น

            "ทะเลบ้านเราอาจไม่สวยแต่คนโบราณเชื่อกันมานานว่ามันรักษาร่างกายได้" เม็ดทรายที่ไม่ละเอียด มีเหลี่ยมมุมคล้ายคริสตัล จึงเป็นที่มาของ "สปาทราย" หรือ Earth Therapy กิจกรรมหลักของทอฝันโฮมสเตย์ที่พวกเขาเลือกให้ผู้มาเยือนได้ทดลอง นอกจากการทำความรู้จักวิถีประมงพื้นบ้าน ออกไปเที่ยวช่องสิงขรชายแดนไทย-พม่า หรือล่องทะเลออกไปสนอร์เกิลที่เกาะจาน เกาะแสนสวยตรงข้ามอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ทะเลยามเช้าตรงหัวหาดทับสะแกยามแรกแดดอุ่น ยังเยียวยาผู้ที่มาสัมผัสมันผ่านทางทอฝันฯ

            "เราเตรียมให้เขารู้จักการบำบัดจากทรายและน้ำทะเลค่ะ เตรียมร่างกายกับแต่เช้ามืด ฝังตัวลงในหลุมทราย แล้วให้ร่างกายได้รู้การบำบัดจากธรรมชาติ ทรายจะดูดจนเรารู้สึกตามเนื้อตัวเลยนะ" ภรทิพย์ว่าทรายของที่นี่มีเรื่องเล่าของบรรพบุรุษ ชาวประมงที่พลาดโดนกระเบนแทงกลางทะเล ปวดทนพิษแผลจนโซเซกลับสู่หาด เมื่อขุดหลุมทรายเพื่อกลบเลือนตัวเองด้วยเจ็บจนไม่รู้จะทำอย่างไร หลังฟื้นจากสลบอาการกลับดีขึ้นอย่างน่าประหลาด นั่นอาจเป็นศาสตร์ที่ซ่อนและเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนในแพทย์แผนตะวันออกที่ตกทอดอยู่ในเรื่องราวของคนทับสะแก และเมื่อใครสักคนเลือกมันมาปรับใช้เข้ากับทิศทางปัจจุบัน ความเชื่อ วิทยาศาสตร์ และผืนแผ่นดิน จึงค่อย ๆ ถูกผสานร่วมเข้าด้วยกัน

            "ต้องดูข้างขึ้นข้างแรม สนามแม่เหล็กโลกด้วยนะ พื้นที่สำหรับสปาทรายนี่น่ะ ระดับน้ำขึ้นลงแต่ละวันก็มีผล"
ครูเล็กหายไปนานในโรงเก็บเรือใบ ก่อนกลับมานั่งบนม้าหินกลางครึ้มร่มเงาไม้ อากาศเย็นสบายท่ามกลางสวนมะพร้าวโบราณ

            "การฝังทรายเพื่อบำบัดจะช่วยในเรื่องการหมุนเวียนโลหิต ปรับกระบวนการทำงานของร่างกาย ขับถ่ายของเสียออกมาทางเซลล์ผิวได้มากค่ะ"
หญิงลูกหลานทับสะแกแห่งทอฝันฯ บอกเช่นนั้น

            วันที่ผมยืนอยู่บนหัวหาดทับสะแก แนวแผงตากหมึก ตากปลาว่างเปล่า หมู่บ้านชาวประมงโบราณเงียบสงบ ณ ผืนทรายสีน้ำตาลนวลกลับทำให้ผมคิดถึงชาวชาวประมงที่บดเจ็บจากกระเบนตามคำบอกเล่า คิดถึงพลังแห่งท้องทะเลและผืนทรายที่ใครสักคนค้นพบและซึมซับมันมาจากผืนแผ่นดิน หากมองจากสายตาของนก บ้านทุ่มประดู่และทั่วทุกหมู่บ้านในเขตทับสะแกน่าจะเขียวครึ้มด้วยสวนมะพร้าว ตัวตนของคนที่ดำรงอยู่ภายใต้ร่มเงาของมันมาหลากหลายรุ่น ผูกพันกับดินทรายและต้นไม้มากประโยชน์นี้มาร่วมร้อยปี

            ว่ากันว่าหากคนเมืองเพชรเจนจัดเรื่องขนมหวาน และถามลึกกันไปในเคล็ดลับ มะพร้าวจากทับสะแกคือหนึ่งในความอร่อยอันเลอเลิศ

ทับสะแก

            "ซื้อขายกันมาเป็นร้อยปีแล้วล่ะ เมืองเพชรกับทับสะแกนี่ แต่ก่อนนะขนส่งกันในโบกี้รถไฟเป็นพันเป็นร้อยลูกขึ้นไปถึงกรุงเทพฯ โน่น" ภายใต้สวนมะพร้าวหนาแน่ บ้านไม้หลังสวยสะท้อนแสงบ่ายวามวาว ลุงน้อย ภู่ระย้า หรือ "ลุงโจ๊ะ" ของคนทับสะแกยิ้มเปิดเผย พร้อมลิงกังสี่ห้าตัวที่แกฝึกไว้ “ขึ้นพร้าว” ในสวนของตัวเองและรับจ้างขึ้นสวนเพื่อนบ้าน ยามมะพร้าวทั้งสวนติดลูก

            "ไอ้นี่ดุนะ เชื่อแต่ผมนั่นละ" ลุงโจ๊ะเล่าถึง ไอ้ธง กังแสนฉลาดที่แกฝึกมันมาร่วม 4 ปี จนกลายเป็นเพื่อนคู่ชีวิต หากินร่วมกันในสวนมะพร้าวมาเนิ่นนาน

            "คนเขาเลิกไปเยอะ ไปทำสวนยางบ้าง ทำอย่างอื่น โค่นสวนทิ้งเป็นไร่ แต่ฉันเลิกไม่ได้หรอก ส่งลูกหลานเรียนมาก็มะพร้าวนี่ละ" แม้ทุกวันนี้จะเหลือคนใช้ "กัง" เก็บมะพร้าวไม่ถึง 3 รายในทับสะแก แต่หนทางอันเคียงคู่ระหว่างเจ้าของสวนและมิตรอันสัตย์ซื่อของที่นี่ก็ดำเนินต่อยอด มีที่ทางแห่งลมหายใจ

            ลิงกังตัวหนึ่งหากฝึกจนช่ำชอง วัน ๆ สามารถขึ้นไปเก็บมะพร้าวให้คนทับสะแกราว 700-800 ลูก

ทับสะแก

            "มันเลือกได้นะว่าเราจะเอาลูกแก่หรือลูกอ่อน" แกว่ายามมีไอ้ตัวเล็กเกาะอยู่บนบ่า มันคุ้ยหาอะไรสักอย่างบนหัวลุงโจ๊ะ เรียกเสียงเฮฮารอบด้าน
           
            หลังยืนมองพี่สาวสักคนยืนปอกมะพร้าวนับร้อยลูกหน้า "เสียม" วาววาม คมกริบ โลกของมะพร้าวบนผืนดินทรายของคนทับสะแกพาผมมาพบกับ ป้าละเมียด แถมมี ในบ้านที่ไม่ไกลกันนักกับบ้านลุงโจ๊ะ เพื่อยืนยันกับตัวเองว่าพืชชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน

            "นอกจากปอกกินน้ำ ใช้เนื้อ ทางมะพร้าวนี่ก็เป็นการงานของคนแก่และผู้หญิงตามบ้านละหลาน" ป้าละเมียดนั่งอยู่หน้าบ้าน ค่อย ๆ ยกก้านมะพร้าวที่มากมายด้วยทาง ลิดใบจนก่ายกอง มืดในมือเหลาจนก้านย่อยในทางเหลือเป็นเส้นแข็ง ๆ รอวันที่จะส่งขายเพื่อไปทำไม้กวาด

            "ทำไว้เรื่อย ๆ น่ะ รอเขามารับทีเป็นมัด" แม้จะเล็กน้อยสำหรับทางมะพร้าวที่ซื้อขายกันเป็นกิโลกรัม

            "เดี๋ยวนี้โลละ 16 บาท ก็ขึ้นลงตามแต่เขาจะให้ ไอ้เราก็ทำมันไปตามเรี่ยวตามแรงละ ปล่อยไว้มันก็ร่วงเปล่า ๆ" น้ำเสียงนั้นหาใช่คนยอมจำนนกับชะตากรรม หากราวกับหญิงชราที่ผ่านพ้นการทำความเข้าใจชีวิต

            ทางมะพร้าวก่ายเกยเป็นมัด ๆ ที่หน้าประตูบ้านราวฉากในโปสเตอร์แสนสวย จริง ๆ แล้วป้าละเมียดแลกมันมาด้วยการนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่หน้าบ้านเป็นวัน ๆ กลางความเงียบเชียบของสวนมะพร้าวที่สะท้อนตัวตนของคนทับสะแก ตัวตนอันแสนเก่าแก่ มีรากเหง้าที่มา และพร้อมจะฝากฝังมันไว้สู่ลูกหลาน เท่าที่ใบหน้าแห่งกาลเวลาและความเป็นจริงจะยินยอม

            บ่ายอ่อนพาคนต่างถิ่นอย่างเราเข้ามาที่ย่านตลาด ความคึกคักเริ่มปรากฏประปราย หลังจากที่มันเงียบเหงามาแทบทั้งวัน บนถนนเทศบาลห้องแถวไม้สองชั้นเหยียดยาวได้อย่างน่าทึ่ง ถึงการคงอยู่ของมันมาเกิน 70 ปี ตั้งแต่ข้ามทางรถไฟ เราพาตัวเองเลาะไปตามหน้าทางเท้า ร้านรวงที่มีป้ายชื่อส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน หากไม่นับกิจการที่ปิดตัวลงไปหลังยุคก่อร่างสร้างตัว อดีตของตลาดทับสะแกมักซุกซ่อนอยู่ในแววตาและรอยยิ้มของผู้เฒ่าที่นั่งหย่อนอารมณ์อยู่หน้าแต่ละห้อง


            "คึกคักเทียวล่ะ สมัยฉันเด็ก ๆ ทับแกมีมีทั้งคนเรือ คนสวน และคนเหมือง" คนที่นี่มักเรียกบ้านของเขาว่า "ทับแก" ตามแบบฉบับการย่อคำที่พัดพาวัฒนธรรมการพูดมาจากสำเนียงภาษาถิ่นใต้ ว่ากันว่าความคึกคักที่หลายต่อหลายคนมักนึกถึงทับสะแกนั้น คือภาพของคนประมงและคนจากเขตภูเขาที่มาพบกันที่ย่านตลาด หากเรานับเริ่มจากข้ามรางรถไฟ แล้วเดินเป็นวงกลม ชุดห้องแถวไม้เปี่ยมเรื่องราวการค้าขายอันเรืองโรจน์จะโอบล้อม แม้ไม่ใหญ่โตฟู่ฟ่าเหมือนย่านเก่าของเมืองใหญ่อื่น ๆ แต่เรื่องราวเฉพาะตนเฉพาะด้านก็ห่มคลุมอย่างมีเสน่ห์

            แต่ก่อนห้องแถวนี้เป็นหลังคามุงจากกันทั้งนั้น ยายเพ็ญศรี ลือรุ่งโรจน์ นั่งอยู่หน้าโรงพิมพ์ทวีกิจ ซึ่งทุกวันนี้เหลือเพียงป้ายร้าน และภาพเหงา ๆ

            "แต่ก่อนฉันขายทุกอย่างล่ะ มะพร้าวคั่ว พริกแห้ง ส่งขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ โน่นเลย" ดูเหมือนทุกคนในอดีตมักผู้พันกับรถไฟการเดินทางที่สะดวกที่สุดในคืนวันอันล่วงเลย ยุคที่ป่าไม้ยังสมบูรณ์และสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกยังส่งผลให้ราคาสินแร่ชนิดนี้สูงลิบ กระแสตื่นเหมืองแผ่ขยายมาถึงเขตภูเขาของทับสะแก และในตลาดก็คือศูนย์รวมของการใช้จ่ายอันแสนมีชีวิตชีวา

            "คนมาดูหนัง ซื้อขายจับจ่ายกันเยอะ ของสด ของป่า เกลื่อนตลาด" ยายเพ็ญศรีว่าโรงหนังหลัก ๆ ที่คนทับสะแกรู้จักมีกันอยู่ 2 โรง คือ ทับสะแกรามา หรือชื่อเก่าในนามศาลาเฉลิมวัฒน์ ที่พวกเขามักเรียกกันว่าวิกใน เพราะอยู่ในตลาด ส่วนอีกโรง คือ รวมเกียรติรามา หรือวิกนอก ที่อยู่ถัดออกไปใกล้ถนนเพชรเกษม

            "วิกในนี่ฉายแต่หนังจีนกับหนังฝรั่ง มีเปิดแสดงวงดนตรีลูกทุ่มด้วยนะ แต่ก่อนฉันชอบไปดู เพลิน พรหมแดน กับ ผ่องศรี วรนุช" คุณป้าร้านข้าง ๆ โรงพิมพ์วีกิจเข้าร่วมวงสนทนาอีกคน โลกตรงนั้นราวย้อนไปสามสิบกว่าปีก่อน ทับสะแกฉายภาพอยู่ในคำพูดของคนทั้งสอง เฒ่าชราตามหน้าห้องแถวล้วนคือวัยรุ่นและเด็ก ๆ ของทับสะแกที่เติบโตเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับย่านตลาด ร้านรวงต่าง ๆ ที่เคยเป็นศูนย์รวมผู้คน ล้วนเดินทางไปอยู่ในที่ทางแห่งความทรงจำตามกาลเวลา

ทับสะแก

             "ใครมาตัดเสื้อผ้านะ ต้องร้านแมวดำ ส่วนเด็ก ๆ นี่ต้องตาลุกวาวกับเครื่องเขียนร้านปิยะมิตร เด็ก ๆ หนุ่มสาวแต่ก่อนจะไปเที่ยวแหลมกุ่ม ต้องเล็งขี่รถข้ามแผ่นไม้ข้ามคลอง ไม่มีสะพานสะดวกเหมือนเดี๋ยวนี้" เรื่องราวต่าง ๆ หลังไหลผ่านคนหลายวัยที่แวะเวียนมาทักทายยามเรานั่งนิ่งกันอยู่ในย่านตลาด ยามเย็นยิ่งงดงาม ร้านดารารัตน์ที่อยู่ไม่ไกลเริ่มตั้งขายโจ๊กและข้าวต้มรสเลิศ

            เราเดินเวียนอยู่ในตลาดเก่าหลายต่อหลายวัน ทักทายบ้านโน้มบ้านนี้ หรือไม่ก็รอคอยสัมผัสรอยยิ้มหน้าประตูห้องแถวไม้แสนสวย ราวกับโลกที่ผ่านพ้นไปในอดีตยังพร้อมจะโลดแล่นวิ่งเต้น ยามใครสักคนพยายามทำความรู้จักบ้านของพวกเขาหลายอย่างดำเนินผ่านและคลี่คลาย เยี่ยงเดียวกับห้องแถวไม้เหยียดยาว ท่าเรือขึ้นปลา หรือสะพานไม้คร่ำคร่าที่ผืนทะเล ยุครุ่งเรืองของทับสะแกเดินทางผ่านพ้น สิ่งหลงเหลือเป็นหลักฐานอาจคือห้องแถวโบราณ หรือไม่ก็เรื่องเล่าของประมงชรา

            ทว่านั่นก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่ง่ายดายต่อการสัมผัสสัมพันธ์ สำหรับผู้คนที่ผลักพาตัวเองมาตามคลื่นลมและเงื้อมเงาของภูเขาที่โอบล้อมอยู่อีกฟากด้าน มีเรื่องเล่าและทิศทางชีวิตเฉพาะตัว ฉายซ้ำกี่ครั้งก็ไร้การเปลี่ยนแปลง เพราะมันคือความทรงจำ หากแต่สิ่งที่อยู่ภายในอาจต้องใช้คืนวันและการรอคอยอีกยาวนาน สำหรับการค้นหาและพานพบ

 
ขอขอบคุณ

            คุณบุญลือ สำริต คุณภรทิพย์ เทียมหมอก และทุกคนที่ทอฝันโฮมสเตย์ สำหรับความเอื้อเฟื้อและการใส่ใจตลอดการจัดทำสารคดี

คู่มือนักเดินทาง


            ทับสะแก คือ อำเภอสงบงามของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครสักเท่าไร เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวขึ้นชื่อ และมีชายหาดสงบงามเหมาะแก่การพักผ่อน เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงชายฝั่งอ่าวไทย มีย่านเก่าที่ไม่ได้ปรุงแต่ง อาจไม่ได้ฟู่ฟ่าเป็นที่นิยม แต่ก็มากมายของอร่อยและเดินเที่ยวเล่นได้อย่างเพลิดเพลิน


การเดินทาง


            ทับสะแกอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 320 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง

            1. ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สู่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ผ่านอำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอทับสะแก

            2. ทางหลวงหมายเลข 35 (พระราม 2) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี สู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านอำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอทับสะแก

แรมคืน

            ทอฝันโฮมสเตย์ บ้านพักสะดวกสบายในบรรยากาศโฮมสเตย์ท่ามกลางสวนมะพร้าวโบราณ ที่บ้านทุ่งประดู่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กิจกรรมต่าง ๆ ของทอฝันฯ ล้วนทำให้คนมาเยือนทับสะแกเข้าใจวิถีชีวิตท้องถิ่นและความงดงามของธรรมชาติ เที่ยวทะเลเกาะจาน เกาะท้ายทรีย์ รู้จักชีวิตชาวประมง ขั้นตอนหลากหลายในสวนมะพร้าว หรือที่แสนพิเศษคือการทำสปาทรายเพื่อบำบัดตัวเองที่ชายหาดในยามเช้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม คุณบุญลือ สำริต โทรศัพท์ 08 7532 7548 เว็บไซต์ torfun-homestay.com

เที่ยวท่องรอบทับสะแก

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร


          ชายหาดอันลือชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ทอดตัวเป็นแนวยาวลงไปในทะเล บรรยากาศเงียบสงบ หาดทรายขาวสะอาด บนฝั่งมีทิวสนทะเลและสนประดิพัทธ์เป็นแนวขนานกับทะเล ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดราว 23,750 ไร่ หรือ 38 ตารางกิโลเมตร ในเขตตำบลห้วยทราย ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองฯ และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในพื้นที่ชายหาดและสังคมป่าไม้ มากมายแหล่งหย่อนใจให้คุณมารื่นรมย์ หาดวนกรทอดยาวเหมาะแก่การเล่นน้ำทะเล และพักผ่อนในบรรยากาศของครอบครัว เดินป่าศึกษาธรรมชาติ หรือท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น ขี่จักรยานเสือภูเขา ดูนก ฯลฯ ในอุทยานฯ หาดวนกร มีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ และร้านอาหารให้บริการ

เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์


           เกาะ 2 เกาะในเขตอุทยานฯ หาดวนกร ที่เชื่อมหากันด้วยแนวหินยามน้ำลด งดงามและตั้งอยู่ไม่ไกลชายฝั่ง มีแนวปะการังที่สมบูรณ์ เหมาะแก่การดำดูแบบสนอร์เกิล บนเกาะเป็นพื้นที่สัมปทานรังนก ไม่อนุญาตให้ขึ้นฝั่ง แต่การล่องเรือเที่ยวชมปะการัง และฝูงนกหายากในฤดูนกอพยพ ก็เป็นความเพลิดเพลินอันรื่นรมย์เพิ่มเติมสำหรับการมาเยือนทับสะแก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 3264 6290และ 0 3261 9030 เว็บไซต์ dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง

           มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอเมืองฯ อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพานใหญ่ มีพื้นที่ทั้งสิ้นราว 124,300 ไร่ สมบูรณ์ด้วยผืนป่าบนเทือกเขาตะนาวศรี ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกห้วยยาง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 7 ชั้น บริเวณอุทยานฯ ร่มรื่นน่าพักผ่อน นอกจากนี้ ยังมีน้ำตกขาอ่อนและน้ำตกห้วยหินดาษ ให้เดินป่าสำหรับผู้หลงรักโลกธรรมชาติ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 3264 6291 และ 08 4701 2795

ด่านสิงขร

            พรมแดนไทย-พม่ากลางเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เส้นทางคมนาคมข้ามผ่านแผ่นดินคาบสมุทร จากชายฝั่งทะเลด้านหนึ่งไปยังชายฝั่งทะเลไทยไปยังฝั่งพม่า เรียกว่า “เส้นทางข้ามคาบสมุทร” ทุกวันนี้ด่านสิงขรคือจุดผ่อนปรนทางการค้าระหว่างชายแดนไทยและพม่า และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจุดจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของชาวไทยและชาวพม่า สินค้าที่มีจำหน่าย ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และข้าวของเครื่องใช้ที่ท่าจากไม้แกะสลัก กล้วยไม้ป่า ต้นไม้ ป่าหายากต่าง ๆ รวมถึงเครื่องประดับที่ท่าจากหินสีและพลอยพม่าคุณภาพดีหลากชนิด นอกจากนั้น ในช่วงเช้าของวันเสาร์จะมีการเปิดด่านให้มีการค้าขายระหว่างเพื่อนบ้าน มีสินค้าพื้นบ้านต่าง ๆ จากชาวบ้านฝั่งพม่าเข้ามาค้าขาย หรือเดินชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันมีสีสัน ทั้งภาษาและการแต่งกาย

            ด่านสิงขรเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้าระหว่างชายแดนไทยและพม่าที่ตั้งอยู่ ณ จุดที่แคบที่สุดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วัดระยะทางได้ 10.96 กิโลเมตร ตามแนวจากสันปันน้ำของทิวเขาตะนาวศรีจนถึงฝั่งทะเล





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 9 เมษายน 2556



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทับสะแก ผู้คนของริ้วคลื่นและผืนแผ่นดิน อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2556 เวลา 11:34:03 10,784 อ่าน
TOP