พาทัวร์อยุธยากับ 9 ที่เที่ยวอยุธยาต้องไปให้ได้

วัดอยุธยา

          เที่ยวอยุธยา จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่ามีวัดวาอารามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย เป็นที่กราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล แถมยังได้ความสบายใจอีกด้วย

          วันหยุดสุดสัปดาห์นี้มีใครวางแผนไปไหนใกล้ ๆ บ้างหรือเปล่า ? ถ้ายังไม่มีก็ตามกระปุกดอทคอมไปทัวร์สถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ อย่าง "พระนครศรีอยุธยา" จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่ามีวัดวาอารามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แถมยังได้ความสบายใจและได้ความเป็นสิริมงคลกลับมาที่บ้านอีกด้วย

          โดยเราเริ่มต้นสถานที่ท่องเที่ยวที่แรกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากันที่ "เจดีย์ศรีสุริโยทัย" เจดีย์สีทองสูงเด่นองค์เดียวทางด้านทิศตะวันตกของเกาะกรุงศรีอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตกติดกับสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 ถนนอู่ทอง พระเจดีย์แห่งนี้เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรก คือ สมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งสิ้นพระชนม์ในการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปร และเป็นการยืนยันเกียรติแห่งสตรีไทยที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาล

วัดอยุธยา

          ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอันดับสองที่เราควรเดินทางเข้าไปไหว้สักการะคือ "ทุ่งหันตรา" หรือเรียกอีกหนึ่งชื่อว่าอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี เป็นสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2555 ตั้งอยู่ในตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี ด้วยการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ขนาดความสูง 9.84 เมตร โดยพระพุทธรูปนี้เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนที่ช่วยกันสร้างให้เสร็จภายในคืนเดียว

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

          ไปต่อกันที่อันดับสาม "พระราชวังบางปะอิน" อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน โดยมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเพิ่มเติมและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อีกดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นที่ประทับและออกว่าราชการในการเสด็จประพาสอยุธยา และใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะ จนถึงในรัชกาลปัจจุบันพระราชวังบางปะอินก็ยังใช้เป็นที่ประทับพระราชทานงานเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ เป็นครั้งคราว

          สำหรับพระราชวังบางปะอินแบ่งออกเป็นสองส่วน คือพระราชฐานชั้นนอก สำหรับพระเจ้าอยู่หัวออกมหาสมาคมและพระราชพิธีต่าง ๆ และพระราชฐานชั้นใน ใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยภายในเปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ เวลา 08.00-15.30 น. ซึ่งภายในพระราชวังมีอาคารและสถานที่น่าสนใจหลากหลายแห่ง ดังนี้

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

          ในบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ได้แก่

          + หอเหมมณเฑียรเทวราช เป็นปรางค์ศิลายอดทรงปราสาทแบบขอม สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระเจ้าปราสาททอง

          + สภาคารราชประยูร ตึกสองชั้นริมน้ำที่สร้างเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหน้าและข้าราชบริพาร ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารสำหรับจัดนิทรรศการของพระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระที่นั่งปราสาทโถงกลางน้ำ ที่จำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          + พระที่นั่งวโรภาษพิมาน สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปแบบคอรินเทียน ออร์เดอร์ ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการและจัดงานพระราชพิธีต่าง ๆ ปัจจุบันใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมด้านในได้

วัดอยุธยา

           ในเขตในบริเวณเขตพระราชฐานชั้นใน ได้แก่

          + พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เป็นพระที่นั่งเรือนไม้สองชั้น สถาปัตยกรรมตามแบบชาเลต์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายในประดับตกแต่งแบบยุโรปด้วยเครื่องเรือนไม้มะฮอกกานีจัดสลับลายทองทับที่สั่งจากยุโรป รวมทั้งของราชบรรณาการอีกมากมาย

          + พระที่นั่งวิฑูรทัศนา เป็นพระที่นั่งลักษณะเป็นหอคอยสูงยอดมน สูงกว่า 30 เมตร เป็นพระที่นั่ง 3 ชั้น ตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุหรือลายขนมปังขิง

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

          + พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ หรือพระที่นั่งเก๋งจีน สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน เป็นเก๋งสองชั้น ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมภายในได้บางส่วน

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

          + อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือเรียกเป็นสามัญว่าอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสด็จสวรรคตของพระมเหสีจากอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา

          + อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ หรืออนุสาวรีย์พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และเจ้าฟ้าสามพระองค์ รัชกาลที่ 5 ที่ทรงโศกเศร้าพระทัยเนื่องจากสูญเสียพระอัครชายาและลูก ๆ อีกสองคนในปีเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่ระลึกด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนไว้ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

         ต่อมาอันดับที่สี่คือ "วัดไชยวัฒนาราม" เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา ตั้งอยู่นอกเกาะกรุงศรีอยุธยาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ภายในอาณาบริเวณแผนผังรูปสี่เหลี่ยมของวัดไชยวัฒนารามมีสิ่งก่อสร้างหลายชนิด โดยศูนย์กลางอยู่ที่องค์ปรางค์ประธานขนาดใหญ่สูงถึง 35 เมตร ล้อมรอบด้วยปรางค์บริวาร 4 องค์ประจำทิศต่าง ๆ

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

         ข้ามฝั่งไปเที่ยวอีกหนึ่งวัด นั่นก็คือ "วัดพระศรีสรรเพชญ์" เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานคร หรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ที่ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับบริเวณนี้ ภายในบริเวณวัดมีเจดีย์สรรเพชญดาญาณ

          ในสมัยก่อนนั้นที่นี่เป็นที่ตั้งของพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์ องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา และองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา โดยได้สร้างพระพุทธรูปไว้ภายในวิหารขนาดใหญ่และตั้งชื่อว่า เจดีย์สรรเพชญดาญาณ ส่วนเจดีย์องค์ถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระราชโอรส ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเจดีย์สามองค์นี้เป็นสถาปัตยกรรมการออกแบบทรงลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ และได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่ดีขึ้นอย่างในปัจจุบัน

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

          วัดพระศรีสรรเพชญ์ เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท อีกทั้งบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน สอบถามรายละเอียดที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ 0 3524 2284, 0 3524 2286 (หมายเหตุ : ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน)

วัดอยุธยา

          จากนั้นมากันที่อันดับหก "วัดภูเขาทอง" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากพระราชวังหลวงไปประมาณ 2 กิโลเมตร โดยวัดนี้มีหลักฐานว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อคราวที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา และได้สร้างเจดีย์ภูเขาทองใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นที่ระลึกเมื่อคราวรบชนะไทยไว้ ซึ่งรูปแบบของฐานเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับแบบมอญและพม่า ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์แบบไทยไว้เหนือฐานเจดีย์ดังกล่าว ทำให้ตัวเจดีย์ในปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมสองแบบผสมกัน

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

          และอันดับเจ็ด ได้แก่ "วัดมหาธาตุ" ซึ่งถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยา ได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลงแต่ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่ โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะมีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งยังก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงาม

          ซึ่งภายหลังบริเวณนี้ได้มีกรมศิลปากรมาขุดแต่งพระปรางค์ จึงพบข้าวของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น รวมทั้งได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่าไว้ภายใน แต่ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้นำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ส่วนสิ่งที่น่าสนใจในวัดอีกอย่างคือ "เศียรพระพุทธรูปหินทราย" ซึ่งมีรากไม้ปกคลุม เข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุมมีความงดงามแปลกตาไปอีกแบบ

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

           สถานที่ท่องเที่ยวอันดับแปด "วัดโลกยสุธา" ตั้งอยู่ถัดจากเจดีย์ศรีสุริโยทัยเข้าไปทางด้านหลังประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในยังมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่ก่อด้วยอิฐถือปูนยาวประมาณ 42 เมตร มีซากพระวิหารเป็น 8 เหลี่ยม ขนาดใหญ่อยู่ชิดองค์พระเหลืออยู่หลายต้น ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็นซากพระอุโบสถ โดยนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถเดินทางเข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลได้

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

วัดอยุธยา

           และปิดท้ายทริปนี้ด้วย "วัดหน้าพระเมรุ" ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวทางทิศเหนือของคูเมือง ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง เดิมมีชื่อว่า "วัดพระเมรุราชิการาม" ที่ตั้งของที่นี่เป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้น โดยวัดนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          โดยพระอุโบสถมีขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตร เป็นแบบอยุธยาตอนต้นซึ่งมีเสาอยู่ภายใน หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาค และมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถว ๆ ละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อย เป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ไม่มีการนำชิ้นส่วนที่อื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น

วัดอยุธยา

           พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า "พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ" ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้ และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือพระคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ ข้างพระอุโบสถมีพระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนี้ นับเป็น 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้ ซึ่งที่นี่พระอุโบสถจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชมชาวต่างชาติ 20 บาท

วัดอยุธยา
 
          นี่เป็นเพียงทริปท่องเที่ยวเพื่อเสริมสิริมงคลแบบสั้น ๆ ที่เรานำมาแนะนำกัน แต่ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังมีสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงร้านอาหารต่าง ๆ มากมายไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสายเลย ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวก็อย่าลืมลองแวะเวียนไปเที่ยวกันดูด้วยนะ

          ทั้งนี้สอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ที่ สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ 0 3524 6076 ที่ตั้ง 157 สนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ 0 3524 6076-7 ที่ตั้ง 108/22 หมู่ 4 ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา หรือเว็บไซต์ thai.tourismthailand.org
 
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

, ayutthaya.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พาทัวร์อยุธยากับ 9 ที่เที่ยวอยุธยาต้องไปให้ได้ อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2559 เวลา 15:07:31 62,616 อ่าน
TOP
x close