เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ tiwsu สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
วันนี้กระปุกท่องเที่ยวเอาใจนักเดินทางผู้หลงใหลกลิ่นอายของวันวาน ด้วยการพาไปเที่ยวย้อนอดีตกัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งนับว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่บอกเล่าเรื่องราวของชนชาติไทยต่าง ๆ เอาไว้มากมาย รวมถึงมีการจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุต่าง ๆ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยและชาติเพื่อนบ้านอีกด้วย อะ ๆ ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะเรายังหยิบเอาภาพถ่ายสวย ๆ ของ คุณ tiwsu สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ถ่ายทอด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในอีกมุมหนึ่งมาให้ชมกันด้วยค่ะ ^^
สำหรับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้น แต่เดิมเป็นวังหน้าของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง มีพระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม เรียกว่า "มิวเซียม" แล้วจึงย้ายมาไว้ที่วังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งบางส่วนกลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณข้างเคียงมีโรงเรียนช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงละครแห่งชาติอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยสิ่งที่น่าสนใจนอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมี "วัดบวรสถานสุทธาวาส" ตั้งอยู่ภายในบริเวณวังหน้า ใกล้กับโรงเรียนช่างศิลป์ วัดนี้เรียกกันว่า "วัดพระแก้ววังหน้า"
ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2402 แต่เดิมเป็น "พระราชวังบวรสถานมงคล" หรือ "วังหน้า" ซึ่งประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักอันนับเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ นับว่าเป็นบ่อเกิดของพิพิธภัณฑ์ในสมัยต่อมา
จากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "มิวเซียม" ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง และมีพิธีเปิดหอมิวเซียมหรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 กรมศิลปากร จึงถือเอาวันที่ทรงประกอบพิธีเปิดมิวเซียมเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป และใน พ.ศ. 2418 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำโบราณศิลปวัตถุออกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานตามหลักวิชาสากล มีการแบ่งโบราณวัตถุ เป็น 3 ประเภท และจัดแบ่งเป็นห้อง ๆ ไป ได้แก่ โบราณศิลปวัตถุของไทย 1 ห้อง เครื่องราชูปโภคและเครื่องต้น 1 ห้อง และศิลปวัตถุจากต่างประเทศอีก 1 ห้อง พิพิธภัณฑสถานนี้เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรก เป็นที่สนใจของประชาชนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงเป็นพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี
ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2430 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทิวงคต จึงได้มีประกาศยกเลิกตำแหน่งพระอุปราชแล้ว ทำให้สถานที่ในพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดีย ไปตั้งจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะด้านหน้า 3 องค์ โดยใช้พระที่ นั่งด้านหน้า คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า "พิพิธภัณฑ์วังหน้า"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด ให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และได้จัด พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ให้เป็นสถานที่จัดแสดง ศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณ เรียกว่า หอสมุดวชิรญาณ อีกทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และต่อมาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477
ประเภทการจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยา ปัจจุบันแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยสังเขป โดยจัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
2. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี เป็นการจัดแสดงวิวัฒนาการของศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย ลำดับตามยุคสมัย โดยจัดแสดงที่อาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
3. ประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างประณีต หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแต่โบราณ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก เครื่องประกอบการเล่นมหรสพต่าง ๆ เครื่องแต่งกายและผ้าโบราณ เครื่องถ้วย อาวุธโบราณ ราชยานคานหาม ราชรถและเครื่องประกอบการพระราชพิธีพระบรมศพ เป็นต้น โดยจัดแสดงที่อาคารหมู่พระวิมานและโรงราชรถ
4. อาคารโบราณสถาน จัดแสดงอาคารหมู่พระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม รวมทั้งอาคารที่เคลื่อนย้ายมาจากพระราชวังต่าง ๆ เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตำหนักแดง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย ศาลาลงสรง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย เช่น พระพุทธสิหิงค์, พระชัย, พระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร, พระพุทธรูปประทับรอยพระพุทธบาท, พระทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ, พระหลวงพ่อนาก, พระไภษัชยคุรุ, พระหายโศก, พระพุทธรูปห้ามสมุทร, พระคเณศ ตู้ลายรดน้ำ, ศิลาจารึกหลักที่ 1, เศียรพระโพธิสัตว์, พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์, บานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม, พระที่นั่งราเชนทรยาน และเวชยันราชรถ เป็นต้น
อีกทั้งยังมี "หอแก้วศาลพระภูมิพระราชวังบวรสถานมงคล" ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับพระราชวังบวรสถานมงคลหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย เนื่องจากสร้างขึ้นเป็นที่สถิตของพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินที่สร้างวัง ดังนั้น เมื่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว จึงต้องสร้างศาลสำหรับเทวดาเจ้าของที่เป็นการทดแทนด้วย ซึ่งได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้าผู้รักษาพระราชวังบวรสถานมงคล อันเป็นที่เคารพสักการะของชาววังหน้ามาแต่อดีตกาล ปัจจุบันนับถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งประจำกรมศิลปากร
ห้องจัดแสดง | โบราณวัตถุ | ห้องจัดแสดง | โบราณวัตถุ |
ประวัติศาสตร์ชาติไทย (ปิดปรับปรุง) | ห้องประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 4 ห้องประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 6 | พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย | พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย |
ก่อนประวัติศาสตร์ (ปิดปรับปรุง) | หม้อสามขา เครื่องประดับสำริด | ศาลาสำราญมุขมาตย์ | ศาลาสำราญมุขมาตย์ |
พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ | พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน พระที่นั่งพุทไสวรรย์ | ศาลาลงสรง | ศาลาลงสรง |
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย | พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งบุษบกมาลา | ตำหนักแดง | ตำหนักแดง ห้องพระบรรทม |
มหรรฆภัณฑ์ | พระพุทธรูปบุทอง พระพุทธรูปบุทองบุเงิน จารึกเจ้ารัตนโมลีศรีไตรโลกย์ แหวนทองประดับอัญมณี | หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช | หออนุสรณ์เจ้าพระยายมราช |
ราชยานคานหาม | พระที่นั่งพุดตาน พระที่นั่งราเชนทรยาน พระราชยาน วอ สัปคับงา | เก๋งจีนนุกิจราชบริหาร | บานเฟี้ยมไม้แกะสลักและเขียนสี รูปเครื่องแจกันจีน ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องห้องสิน |
มหรสพและการละเล่น | หุ่นหลวง หนังใหญ่ | ศิลปะเอเชีย | พระพุทธรูปปางประทานพร |
เครื่องถ้วย | เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ชุดชาจักรี เครื่องถ้วยสุโขทัย เครื่องถ้วยล้านนา ์เครื่องถ้วยลพบุรี | ศิลปะลพบุรี | ชิ้นส่วนทับหลัง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เปล่งรัศมี |
งาช้าง | พระพุทธรูปปางไสยาสน์ เทพพนม | เทวรูปโบราณ | พระนารายณ์ |
เครื่องมุก | ฉาก ลับแลตั้งโต๊ะ เจียดกลม หีบบุหรี่ ขันพร้อมพานรอง กล่องกลม ฝาบาตร | มรดกโลกบ้านเชียง (ปิดปรับปรุง) | มรดกโลกบ้านเชียง |
อาวุธโบราณ | ขอช้าง ขวานจีน และง้าวไทย หอกซัด หอกไทย และทวน ง้าวไทย ทวิวุธ และมีดแป๊ะกั๊ก ปืนคาบศิลา ปืนชนวน กริช กระบี่พร้อมฝัก หอกและทวน | ศิลปะทวารวดี | พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ห้องจัดแสดงศิลปะทวารวดี |
เครื่องทอง | ทองพระกรและพาหุรัด ธำมรงค์ พระพุทธรูปปางประทานอภัย หีบพร้อมตลับ ชุดหีบทองคำ | ศิลปะชวา | ทวารบาล นางอัปสร |
ศิลาจารึก | ศิลาจารึกช่องสระแจง ศิลาจารึกสมัยต่างๆ | ศิลปะศรีวิชัย | พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแปดกร |
ไม้จำหลัก | บานประตูปราสาทพระเทพบิดร เจว็ด ลับแล ธรรมาสน์ยอดทอง ธรรมาสน์สวด | ศิลปะรัตนโกสินทร์ | พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพุทธรูปปางมารวิชัย |
เครื่องแต่งกาย-ผ้า | ผ้ากรองทอง ผ้าเขียนทอง | ประณีตศิลป์ | โถกลีบบัว กาน้ำถมตะทอง |
เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา | เครื่องบริขารสงฆ์ เครื่องถมปัด เครื่องใช้ส่วนพระองค์สมเด็จพระ อริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระ สังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก พัดพระราชลัญจกรณ์ "ประจำรัชกาล" พัดพระราชลัญจกรณ์ นพรัตนราชวราภรณ์ | เงินตรา ธนบัตร แสตมป์ | เงินพดด้วงที่ระลึกการบำเพ็ญพระ ราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระเทพ ศิรินทรามาตย์พระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่ห้ว เมื่อ พ.ศ. 2423 เหรียญที่ระลึกในวโรกาสเฉลิมพระ ชนมพรรษาครบ 60 พรรษา พระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด พ.ศ. 2407 เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส ยุโรปครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2440) อัฐกระดาษ ธนบัตร ราคาหนึ่งบาท เหรียญกษาปณ์ตราดอกจัน เหรียญกษาปณ์สมัยรันโกสินทร์ |
เครื่องดนตรี | เครื่องดนตรีในพระที่นั่งบูรพาภิมุข ระนาดทุ้มเหล็ก | พระพุทธรูป | เศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เศียรพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย |
พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ | พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ห้องรับแขก ห้องแต่งพระองค์และห้องสรง ห้องพระบรรทม ห้องเสวยหรือห้องประดิษฐาน พระบรมอัฐิ | ศิลปะล้านนา | |
โรงราชรถ | พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย เวชยันตราชรถ รถโถง | ศิลปะสุโขทัย | พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปปางลีลา |
พระที่นั่งมังคลาภิเษก | พระที่นั่งมังคลาภิเษก | ศิลปะอยุธยา | พระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอู่ทอง |
ระเบียบปฏิบัติในการเข้าชม
ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องแต่งกายให้เป็นที่เรียบร้อยและต้องไม่ปฏิบัติดังต่อไปนี้
นำหีบห่อและสิ่งใด ๆ ที่อาจบรรจุปกคลุมปิดบังหรือซ่อนเร้นสิ่งของในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออกไป เข้าไปในห้องจัดตั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ
ก่อความรำคาญด้วยประการใด ๆ แก่เจ้าหน้าที่หรือผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
จับต้องหรือหยิบฉวยสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
สูบบุหรี่ในห้องที่จัดตั้งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
ขีด เขียน จารึก หรือทำความสกปรกแก่สิ่งของและอาคารสถานที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
บันทึกภาพหรือเขียนรูปสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมิได้อนุญาตจากผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
การบริการ
บริการนำชมเป็นหมู่คณะ โดยการนัดหมาย
บริการสื่อโสตทัศนศึกษา โดยการนัดหมาย
บริการให้ยืมนิทรรศการหมุนเวียน โดยการนัดหมาย
บริการให้ยืมภาพถ่าย โดยการนัดหมาย
บริการห้องสมุดทุกวันยกเว้นวันจันทร์-อังคาร (วันหยุดของพิพิธภัณฑ์)
บริการนำชมคนไทยทุกวันอาทิตย์ 2 รอบ ดังนี้ เวลา 10.00 น. และ 13.30 น. โดยอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
บริการนำชมภาษาต่างประเทศ โดยกลุ่มสตรีอาสาสมัคร
- วันพุธ เวลา 09.30 น. ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น
- วันพฤหัสบดี เวลา 09.30 น. ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 2224 1370, 0 2224 1333 หรือ www.finearts.go.th
แผนผังพิพิธภัณฑ์
|
|
การเดินทาง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ เฟซบุ๊กNational Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร