วัดประจำรัชกาล ไปไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล



          วัดประจำรัชกาล ชวนไปไหว้พระรอบ ๆ กรุงเทพฯ กับวัดประรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง คนรัก และครอบครัว เป็นที่เที่ยวกรุงเทพฯ ที่น่าไปเที่ยวในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

         
วันนี้กระปุกดอทคอมจะชวนเพื่อน ๆ ไปไหว้พระในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิตรับสิ่งดี ๆ กันค่ะ โดยเราจะพาไปไหว้พระตาม "วัดประจำรัชกาล" แต่จะมีที่ไหนบ้างนั้น ไปดูกันเลย...

  รัชกาลที่ 1 : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม "วัดโพธิ์" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ "วัดโพธาราม" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงบูรณะและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาใน พ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์ แล้วพระราชทานนามว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" และทรงสร้าง "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกนิธาน" เพื่ออุทิศถวาย รัชกาลที่ 2 และทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน" จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาหาความรู้

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

          วัดโพธิ์มี "พระพุทธเทวปฏิมากร" ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ใต้ฐานชุกชีบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 มีพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด และองค์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนพื้นพระบาทประดับมุก เป็นภาพมงคล 108 ประการ นอกจากนั้นวัดโพธิ์ยังมีเจดีย์ทั้งสิ้น 99 องค์ ถือว่าเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และมีพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล คือรัชกาลที่ 1- 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในปัจจุบันวัดโพธิ์เปิดอบรมเผยแพร่วิชาการแพทย์แผนโบราณ โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากกระทรวงสาธารณสุข

          สถานที่ตั้ง : ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

รัชกาลที่ 2 : วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณ

          วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก เมื่อ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) เสด็จทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยามารุ่งเช้าที่หน้าวัดมะกอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดแจ้ง" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม"

          ทั้งนี้วัดอรุณฯ เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ว นอกจากนั้นยังมียักษ์ปูนปั้นขนาดใหญ่ 2 ตน ตั้งอยู่หน้าประตูซุ้มยอดพระมงกุฎ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "ยักษ์วัดแจ้ง"

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

          ภายในมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น พระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีปรางค์ทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ เทศน์พระธัมมจักร ตรัสรู้ นิพพาน การเดินเวียนทักษิณาวัดรอบพระปรางค์ 3 รอบ โดยเดินเวียนขวา (ตามเข็มนาฬิกา) เพื่อความเป็นสิริมงคล, มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระวิหารที่มีพระบรมสารีริกธาตุที่เกศพระพุทธชมภูนุชฯ มีพระอรุณหรือพระแจ้ง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

          สถานที่ตั้ง : ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

รัชกาลที่ 3 : วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร



          วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชโอรส พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) แห่งบรมราชวงศ์จักรี เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า "วัดจอมทอง" หรือ "วัดเจ้าทอง" หรือ "วัดกองทอง"

          เมื่อ พ.ศ. 2363 มีข่าวว่าพม่าเตรียมยกทัพเข้ามาตีสยาม รัชกาลที่ 2 จึงโปรดฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นแม่ทัพ คุมพลไปรบกับพม่า ทางเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองแห่งนี้ และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวารตามลักษณะพิชัยสงคราม อธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่เนื่องจากพม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงเสด็จกลับพระนคร และโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง อีกทั้งทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส"

          สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระอุโบสถ ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมผสมระหว่างไทยกับจีน หลังคาเป็นแบบจีนมุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ตกแต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน

          พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 1 วา 2 ศอก หรือประมาณ 3.10 เมตร สูงประมาณ 2 วา 1 ศอก หรือ ประมาณ 4.50 เมตร รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคารของรัชกาลที่ 3 มาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา และเมื่อ พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น)

          และพระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล รัชกาลที่ 3 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อทรงเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้าง จะทรงประทับที่พระแท่นใต้ต้นพิกุลใหญ่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถนี้เสมอ และเล่ากันว่าพระองค์เคยรับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้" ด้วยเหตุนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาพระอารามแห่งนี้ ก็จะทรงมาถวายสักการะพระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุลนี้เสมอ และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระราชกฐินหรือเจ้านายเสด็จในการทอดกฐินพระราชทาน เจ้าหน้าที่จะตั้งเครื่องมุกไว้ทรงสักการะ ณ พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุลนี้ด้วยทุกครั้ง

          สถานที่ตั้ง : ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

รัชกาลที่ 4 : วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร


 
          วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี และทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

          พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดนี้ขึ้น ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ เนื่องจากครั้งยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติ ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น รวมทั้งทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้นใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระองค์และข้าราชบริพาร ที่ต้องการทำบุญกับวัดธรรมยุติกนิกายไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุติ

          และเพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลีและภาษาไทย โดยเป็นบทพระราชนิพนธ์ รวม 10 หลัก ปรากฏในประกาศเมื่อ พ.ศ. 2411 เรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ให้ถูก อนึ่ง ในอดีตได้มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต บ้าง หรือ วัดทรงประดิษฐ์ บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า "วัดราชประดิษฐ์" หรือ "วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม" ถึงกับทรงออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม


ภาพจาก LEE SNIDER/shutterstock.com

          สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระวิหารหลวง ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที ทรวดทรงทั่วไปสวยงามมาก มีมุขหน้าและหลัง ทั้งหลังประดับด้วยหินอ่อนตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อน ๆ มีช่อฟ้า ใบระกา ประดับเสริมด้วยพระวิหารหลวง ทำให้เด่นประดุจตั้งตระหง่านอยู่บนฟากฟ้านภาลัย

          ทั้งนี้วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงที่ไม่มีพระอุโบสถ มีเฉพาะพระวิหารหลวงใช้ประกอบพิธีสังฆกรรม ดังนั้นพระวิหารหลวงจึงถือว่าเป็นพระอุโบสถของวัดด้วย ซึ่งพระประธานในพระวิหารหลวง มีพระนามว่า พระพุทธสิหังคปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีหน้าตักราว 1 ศอก 6 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายใต้บุษบก อนึ่งภายหลังรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตแล้ว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ บรรจุภายในพระพุทธอาสน์ของ "พระพุทธสิหังคปฏิมากร"

          พระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่คือปาสาณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งองค์ เป็นที่มาของคำว่า ปาสาณเจดีย์ ซึ่งหมายถึงเจดีย์หิน และด้านหน้าปาสาณเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน, ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระวิหารหลวง เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ขนาดเล็กของกรีกโบราณ เพดานประดับด้วยดวงตราประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 บริเวณนี้เป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรีหรือเขตสังฆาวาส อันเป็นบริเวณที่ห้ามสตรีผ่านเข้าออก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่ตั้งกุฏิสงฆ์ มีป้ายปิดที่ประตูว่าห้ามสตรีเพศผ่าน ด้วยเพราะธรรมยุติกนิกายนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก

          และศิลาจารึก ด้านหลังพระวิหารหลวงมีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน ศิลาจารึก ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นประกาศการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จารึกในปีพุทธศักราช 2407 และฉบับหลังเป็นประกาศเรื่องงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมาวัด จารึกในปีพุทธศักราช 2408 ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ ลงพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อความในศิลาจารึกทั้ง 2 ฉบับนั้นนับว่ามีความสำคัญ ซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่าที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกนิกาย

          สถานที่ตั้ง : ถนนสราญรมณ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 7 : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร



          วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระอารามประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยสร้างเลียนแบบ 2 วัด คือ วัดพระปฐมเจดีย์ กับ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4

          ทั้งนี้รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2412 เมื่อทรงเสวยราชสมบัติได้ 1 ปี เพื่อให้เป็นวัดประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทรงคำนึงถึงว่าวัดเป็นศาสนสถานที่ได้มีการสร้างขึ้นมามากแล้ว จึงทรงโปรดฯ ให้สร้างโรงเรียนวชิราวุธเป็นสถานศึกษาของกุลบุตรแทนการสร้างวัด ด้วยแนวทางพระราชดำรินี้ รัชกาลที่ 7 ก็มิได้ทรงสร้างวัด หากทรงรับพระราชทานภาระทะนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามนี้แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล

          สำหรับคำว่า "ราชบพิธ" หมายถึงพระราชาทรงสร้าง กล่าวคือรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสี พระราชเทวีและเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ ส่วนคำว่า "สถิตมหาสีมาราม" ก็คือเป็นวัดที่ประดิษฐานเสมาขนาดใหญ่ ซึ่งตามปกติแล้วเสมาของวัดโดยทั่วไปจะอยู่ตามมุมหรือติดอยู่กับตัวพระอุโบสถ แต่เสมาของวัดนี้ตั้งอยู่บนกำแพงรอบวัดถึง 8 ด้าน จึงเป็นการขยายเขตทำสังฆกรรมของสงฆ์ให้กว้างขึ้น

          บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวง บดินทร ไพศาลโสภณ ทั้งนี้วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2412-พ.ศ. 2413 (สมัยรัชกาลที่ 5) นิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษา พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ โดยภายในวัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

          สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระเจดีย์ ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อัดพิมพ์นูนทั้งองค์ ฐานทักษิณเจาะเป็นซุ้มคูหา 16 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ 14 ซุ้ม และพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช

          สุสานหลวง มีอนุสาวรีย์ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรางคารแห่งสายพระราชสกุลในพระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นแม่กองจัดทำและออกแบบก่อสร้าง ต่อมาพระบรมวงศ์ฯ สร้างขึ้นในชั้นหลังบ้างโดยตกแต่งเป็นงานศิลปกรรมหลากหลาย ล้วนมีคุณค่างานศิลปกรรมทั้งสิ้นอยู่นอกกำแพงด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันอนุสาวรีย์มีจำนวน 34 องค์ อนุสาวรีย์เหล่านี้เป็นสังเวชนียสถานเครื่องเตือนใจ ให้ได้มรณานุสติระลึกถึงความตายและความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารได้อย่างดียิ่ง

          พระประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานบนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี มีพระนามว่า "พระพุทธอังคีรส" แปลว่า มีรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย หล่อในสมัยรัชกาลที่ 4 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่ตกแต่งพระองค์รัชกาลที่ 5 แต่ยังทรงพระเยาว์ ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท รองรับเหนือองค์พระพุทธอังคีรส มีนพปฏลมหาเศวตฉัตรกั้น เดิมเป็นเศวตฉัตรกั้นเหนือพระโกศพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ภายใต้ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองบรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิ 6 พระองค์ คือรัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, สมเด็จพระศรีสุลาลัยพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 3 และพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ธิดาในรัชกาลที่ 3 (พระอภิบาลรัชกาลที่ 5 แต่ทรงพระเยาว์)

          พระอุโบสถ ภายนอกเป็นศิลปะประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ที่งามวิจิตร เป็นเอกลักษณ์พิเศษแห่งเดียวในประเทศไทย, ตำหนักอรุณ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของพระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสยุคที่ 1 เป็นอาคาร 3 ชั้น มีทางเชื่อมกับพระที่นั่งสีตลาภิรมย์, เกยและพลับพลาเปลื้องเครื่อง อยู่ที่กำแพงวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือ หน้าบันเป็นตราราชวัลลภ บานประตูหน้าต่างแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกสี ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนพยุหยาดตราทางสถลมารค โดยพระราชยานหาม (ทางบก) ใช้เป็นที่ทรงแต่งพระองค์ในพลับพลาเปลื้องเครื่องนั้น

          สถานที่ตั้ง : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

          **หมายเหตุ พระอุโบสถของวัดราชบพิธฯ จะเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนาและวันพระเท่านั้น

รัชกาลที่ 6 : วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

          ด้วยเหตุผลที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่มีพระบรมราชโองการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล แต่พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ บรรจุที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และฐานพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตามที่มีพระบรมราชโองการสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรม จึงมีผู้เห็นว่าควรเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 ไป

          สำหรับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชชวรวิหาร สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2367-2375 เดิมมีชื่อเรียกว่า "วัดใหม่" ได้รับพระราชทานชื่อใหม่เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จมาประทับเมื่อปี พ.ศ. 2375 นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่รัชกาลที่ 6, รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสีของธรรมยุติกนิกาย

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

          สิ่งสำคัญภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระประธานในพระอุโบสถและพระพุทธชินสีห์ วิหารพระศาสดา พระเจดีย์ใหญ่ และพระตำหนักปั้นหยา สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช

          สถานที่ตั้ง : ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

รัชกาลที่ 8 : วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร

          วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อ "วัดมหาสุทธาวาส" วันนี้เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2350 เสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. 2390 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดสุทัศนเทพวราราม"

          ที่พระวิหารมี "พระศรีศากยมุนี" เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยสำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา บานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงาม รอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ มีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระประธานปางมารวิชัย ใหญ่กว่าพระที่หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์องค์อื่น ๆ

          นอกจากนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก พระอุโบสถนี้นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย และยังมีศาลาการเปรียญที่มีพระพุทธเสรฏฐมุนี เป็นพระประธานที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อ พ.ศ. 2382 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน

          สถานที่ตั้ง : บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร

รัชกาลที่ 9 : วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

วัดพระราม 9
ภาพจาก ททท.

          วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยวิธีเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวัด เพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

          ลักษณะของวัดมีความเฉพาะแตกต่างจากวัดอื่น เนื่องจากเป็นวัดขนาดเล็ก ใช้งบประมาณที่ประหยัดและเรียบง่ายที่สุด ประกอบด้วยอุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ สระน้ำ กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิพระจำนวน 5 หลัง โรงครัว และอาคารประกอบที่จำเป็น อาคารทุกหลังจะใช้สีขาว ซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม ส่วนอุโบสถจะเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยโบราณผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นสำคัญ

          สิ่งสำคัญของวัด เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) พระประธานที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถ ได้รับการออกแบบจาก เรืออากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น ซึ่งเป็นสถาปนิกของกรมศิลปากร และได้ทำการออกแบบทั้งสิ้น 7 แบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อทอดพระเนตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) โดยได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง

          และคณะอนุกรรมการการก่อสร้างได้มอบให้ อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ปั้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยในครั้งนี้ โดยมีขนาดความสูงจากทับเสร็จ (หน้ากระดาน) ถึงปลายรัศมี 180 เซนติเมตร ขนาดหน้าพระเพลา 120 เซนติเมตร มีพุทธลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ ฐานชุกชีทำด้วยหินอ่อน ส่วนองค์พระพุทธรูปทำด้วยทองเหลืองผสมทอง ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอุดมคติและเหมือนจริง ด้วยการห่มจีวรแบบพระสงฆ์ที่เหมือนจริง แต่มีพระเกศาเป็นอุดมคติ ซึ่งมีลักษณะที่สวยงาม กลมกลืน และประณีตยิ่งนัก

          สถานที่ตั้ง : ถนนพระราม 9 ซอย 19 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

          และนี่คือรายชื่อวัดประจำรัชกาลที่เราหยิบมาฝากกันค่ะ ใครพอมีเวลาหรือสะดวกไปวัดไหนก็อย่าลืมแวะเวียนไปสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตกันนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ  , 9wat.net, watbowon.com, dhammathai.org, rama9temple.org และ เฟซบุ๊ก วัดสุทัศนเทพวราราม (Wat Suthattepwararam)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัดประจำรัชกาล ไปไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2559 เวลา 19:43:54 47,591 อ่าน
TOP
x close