เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก doitung.org และ คู่หูเดินทาง
ถ้าเอ่ยชื่อ "เชียงราย" หลายคนคงคิดถึง แม่สาย ภูชี้ฟ้า ดอยแม่สลอง ไร่แม่ฟ้าหลวง และสามเหลี่ยมทองคำ ฯลฯ แหม...ขึ้นชื่อว่า "เชียงราย" จังหวัดที่อยู่สูงที่สุดของประเทศไทย แถมอากาศยังเย็นสบายตลอดทั้งปี ก็ต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้ไปเยี่ยมชมและสัมผัส แต่วันนี้กระปุกท่องเที่ยวจะพาเพื่อน ๆ ไปดอมดมความงามของดอกไม้แสนสวย ที่ชูช่อบานสะพรั่งสดใสไปทั่วทั้งดอย พร้อม ๆ กับไหว้พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงราย ใช่แล้ว! เราจะพาไปเที่ยว "ดอยตุง" กัน
เชียงราย...อารยนครอายุกว่า 700 ปี มีมนต์เสน่ห์ล้ำลึกของวัฒนธรรมล้านนา กลมกลืนกันอยู่ในโอบล้อมของผืนป่า ที่เริ่มคืนความเขียวชอุ่ม อยู่เหนือจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 45 กิโลเมตร "ดอยตุง" ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ลักษณะเป็นเทือกเขาสูงทอดตัวยาวอยู่ทางด้านซ้ายของเส้นทางที่มุ่งไปอำเภอแม่สาย และภายหลังเกิด โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยพระบารมีของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ชาวเขา และชาวพื้นราบในบริเวณรายรอบดอยตุง ยอดสูงสุดของดอยนางนอน พรมแดนไทย-พม่า
แต่เดิม ดอยตุง เป็นเทือกเขาหัวโล้นที่ถูกชาวเขาตัดทำลายเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร จนกระทั่ง สมเด็จย่า ได้เสด็จมายัง "ดอยตุง" และทรงมีพระราชดำรัสว่า "ฉันจะปลูกป่าดอยตุง" หลังจากนั้นในปี 2530 รัฐบาลจึงได้เริ่มจัดทำ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้น โดยปลูกป่าคืนความสมบูรณ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ และดึงชาวเขาเข้ามาทำงานในโครงการปลูกป่าดอยตุง จนเปลี่ยนวิถีจากการปลูกและเสพฝิ่น ถางป่าตัดไม้ และทำไร่เลื่อนลอย หันมาทำเกษตร ปลูกพืชผักเมืองหนาว ทำไร่กาแฟ และแมคคาเดเมีย สร้างผลงานเย็บปักถักทอที่เชื่อมต่อวัตถุดิบพื้นถิ่น และหัตถศิลป์พื้นเมืองสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันแบบสากล ในขณะที่กลุ่มชน 30 ชาติพันธุ์ ยังคงอาศัยอยู่อย่างสงบตามไหล่เขาและบนดอยสูง แนบแน่นอยู่กับประเพณีดั้งเดิมของตน โดยไม่ถูกวัฒนธรรมเมืองกลืนกิน
อย่างไรก็ตาม แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยว "ดอยตุง" เป็นจำนวนมาก ส่วนแหล่งท่องเที่ยวบนดอยตุงที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปเยี่ยมชม ได้แก่...
พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 ของทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง
ทั้งนี้ พระธาตุดอยตุง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงในวันเพ็ญเดือน 3 จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี อีกทั้งพระธาตุดอยตุงยังถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน ที่นิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
คำไหว้บูชาพระบรมธาตุ
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรงมะหาคะมานะ มามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง บริเวณสันเขาของเทือกดอยนางนอน ระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ถือเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จย่า สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ที่เน้นความเรียบง่ายและการใช้ประโยชน์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนากับบ้านพื้นเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ สร้างบนไหล่เนิน มองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา
โดยเป็นพระตำหนักสองชั้น และชั้นลอย ชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน แต่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว และมีกาแล และไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหลที่อ่อนช้อยโดยรอบ สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างบ้านปีกไม้ ศิลปะล้านนา กับชาเลต์แบบ Swiss Chalet กลางห้องเป็นที่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์เพื่อผู้มาเยือนได้สักการะ เพดานดาวเป็นภาพระบบสุริยะและกลุ่มดวงดาวอยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่เคยปรากฏ ณ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 (วันพระราชสมภพ) รอบพระตำหนักประดับด้วยไม้ดอกนานาพันธุ์ สามารถชมห้องบรรทมและห้องทรงงานที่สะท้อนพระราชจริยวัตรอันงดงามเรียบง่าย และภายหลังการสวรรคตของสมเด็จย่า พระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ ไว้เป็นอย่างดี
สวนแม่ฟ้าหลวง หรือ สวนดอยตุง เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวบนพื้นที่ 25 ไร่ อยู่ในแอ่งที่ราบด้านทิศเหนือของพระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของหมู่บ้านอาข่าป่ากล้วย 62 ครอบครัว ในอดีตหมู่บ้านนี้เป็นเส้นทางผ่านที่สำคัญและเป็นที่พักของกองคาราวาน ที่ลำเลียงฝิ่น น้ำยาทำเฮโรอีน และอาวุธสงคราม ประกอบกับที่ตั้งมีลักษณะเป็นหุบลึกลงไป บ้านเรือนอยู่อย่างอัดแอ ไม่สามารถขยายและดูแลเรื่องความสะอาด ขยะ และน้ำเสียได้ ทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงขอให้หมู่บ้านย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ห่างจากที่เดิมราว 500 เมตร แต่ตั้งอยู่บนเนินเขา กว้างขวาง และสวยงาม เป็นที่พอใจของชาวบ้าน
สำหรับสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวสร้าง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 ตามพระราชดำริของสมเด็จย่า เพื่อให้คนไทยที่ไม่มีโอกาสไปต่างประเทศได้เห็นไม้ดอกเมืองหนาวที่สวนแห่งนี้ ซึ่งได้รับการดูแลให้สวยงามตลอดทุกวันทั้งปี โดยดอกไม้จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล ภายในสวนถูกตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกดอกตลอดปี กลางสวนมีประติมากรรมเด็กยืนต่อตัวของ มีเซียม ยิบอินซอย โดย สมเด็จย่า พระราชทานชื่อว่าความต่อเนื่อง (continuity) สื่อถึงการทำงานจะสำเร็จได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากแปลงไม้ประทับกลางแจ้งแล้วยังมีโรงเรือนไม้ในร่ม จุดเด่นคือกล้วยไม้จำพวกรองเท้านารีชนิดต่าง ๆ ที่มีดอกสวยงามมาก ความภาพความสวยงามของสวนแม่ฟ้าหลวง
นอกจากนี้ ภายในบริเวณดอยมีพระสถูปช้างมูป เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนกองหินขนาดใหญ่ มีลักษณะเหมือนช้างหมอบอยู่ เป็นสถูปโบราณไม่ทราบประวัติที่แน่นอน แต่น่าจะมีอายุกว่า 100 ปี และยังมีต้นสนและต้นไม้ขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี ซึ่งขนย้ายขึ้นมาปลูกไว้ เนื่องจากการสร้างถนนสายเชียงราย-แม่สาย ซึ่งใช้ปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและต้นน้ำอีกด้วย และเส้นทางในสวนรุกขชาติยังเดินตามไหล่เขาไปจนถึงระเบียงชมวิว มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลไปจนถึงชายแดนพม่าและลาว ไม่ไกลออกไปมีลำธารเล็ก ๆ มีน้ำไหลเย็นตลอดปี
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาดอยตุง เปิดดำเนินการทุกวัน ส่วนอัตราค่าเข้าชม (ชาวไทยและชาวต่างชาติคิดราคาเดียวกัน)
พระตำหนักดอยตุง 70 บาท/คน (เวลา 07.00 - 17.00 น.)
สวนแม่ฟ้าหลวง 80 บาท/คน (เวลา 07.00 - 18.00 น.)
หอพระราชประวัติ 30 บาท/คน (เวลา 08.00 - 17.00 น.)
*** บัตรรวม (ดูทั้ง 3 สถานที่) 150 บาท/คน ***
สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ 50 บาท/คน (เวลา 07.00 - 18.00 น.)
หมายเหตุ : เด็กที่มีส่วนสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร ไม่เสียค่าเข้าชม
ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ท่องเที่ยวและบริการ สำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุงฯ โทรศัพท์ 0 5376 7015-4 หรือเว็บไซต์ www.doitung.org
การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงรายวิ่งตามทางหลวงหมายเลข 110 ไป 45 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1149 ไปประมาณ 15 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางสามารถใช้บริการรถสองแถวสีม่วง บริเวณปากทาง รถออกตั้งแต่ 07.00 น. มีรถออกทุก 20 นาที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ doitung.org