ระวัง! เที่ยวป่ากางเต๊นท์นอนถูกไรอ่อนกัด (ไอเอ็นเอ็น)
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือน นักเที่ยวป่ากางเต็นท์นอนช่วงหน้าหนาว ให้ระวังตัว \'\'ไรอ่อน\'\' กัด ชี้ เป็นต้นเหตุโรค \'\'ไข้รากสาดใหญ่\'\' หรือ \'\'สครับไทฟัส\'\'
นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยเริ่มหนาวเย็นลง ประชาชนมักเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น จึงอยากเตือนให้ระมัดระวังตัวไรอ่อน (chigger) กัด ทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือสครับไทฟัส (Scrub typhus) ไรอ่อนนี้จะอาศัยอยู่ในสัตว์รังโรค คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต กระรอก เป็นต้น เมื่อกัดคนจะปล่อยเชื้อที่เรียกว่าริกเก็ตเซีย(Rickettsia) โรคไข้รากสาดใหญ่ มีระยะฟักตัวประมาณ 6-21 วัน แต่โดยทั่วไปประมาณ 10-12 วัน โดยไรอ่อนมักจะเข้าไปกัดบริเวณร่มผ้า เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และคอ
โรคนี้จะพบมากในช่วงฤดูฝน และต้นฤดูหนาว อาการที่สำคัญ ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผาก ตัวร้อนจัด มีไข้สูง 40-40.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีอาการไอแห้ง ๆ ไต ตับ ม้ามโต และผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (eschar) ตรงบริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด มีสีแดงคล้ำ เป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-50 อาจจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่การอักเสบที่ปอด สมอง ในรายที่อาการรุนแรงอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตต่ำ อาจถึงขั้นช็อก เสียชีวิตได้
นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า บริเวณที่มีตัวไรชุกชุม ได้แก่ บริเวณป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ พื้นที่ทุ่งหญ้าชายป่า หรือบริเวณมีต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่มียารักษาให้หายได้ จึงขอให้ประชาชนที่จะไปท่องเที่ยวตั้งแคมป์ไฟ กางเต็นท์นอนในป่า เก็บกวาดบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก ควรใส่รองเท้า ถุงเท้า ที่หุ้มปลายขากางเกงไว้ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ ใช้ยาทากันแมลงกัด ตามแขนขาแต่ไม่แนะนำให้ใช้ในรายที่ผิวหนัง มีรอยถลอกหรือมีแผล และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะเด็กอาจเผลอขยี้ตาหรือหยิบจับอาหารและสิ่งของใส่ปาก ทำให้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเป็นอันตรายได้ ดังนั้นหลังออกจากป่าให้อาบน้ำ ให้สะอาด พร้อมนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้
ด้าน นายแพทย์สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึง 18 พ.ย. 55 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส จำนวน 7,412 ราย เสียชีวิต 4 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตามขอแนะนำประชาชนหลังกลับออกจากเที่ยวป่าหรือกางเต๊นท์นอนตามพื้นหญ้าในช่วงฤดูหนาว หากป่วยมีไข้ขึ้นสูงมีอาการปวดศีรษะ ภายใน 2 สัปดาห์ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบทันทีด้วย เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพราะหากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เล็งเห็นถึงอันตรายในเรื่องดังกล่าว จึงได้พัฒนาชุดตรวจโรคสครับไทฟัส ด้วยวิธี Indirect Immunofluorescent Assay (IFA) หรือ วิธีการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคสครับไทฟัส ซึ่งเป็นชุดตรวจโรคอย่างง่าย สามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น ทำให้รักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีลดค่าใช้จ่ายได้มากยิ่งขึ้น และหน่วยงานสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถนำไปใช้ตรวจหาเชื้อ ก่อโรคสครับไทฟัสในพื้นที่ เพื่อใช้ ในการเฝ้าระวังโรคสครับไทฟัสในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ร้านผลิตภัณฑ์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0-2951-0000 ต่อ 98463 จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค