เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ (อ.ส.ท.)

อภินันท์ บัวหภักดี...เรื่อง
อดุล ตัณฑโกศัย และ อภินันท์ บัวหภักดี...ภาพ

          ประเทศไทยเราเป็นเมืองพุทธ ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และเป็นเมืองอย่างที่ฝรั่งจำนวนมากเรียกกันว่าเป็น Homeland of Buddhism ไม่ใช่เพราะฝรั่งไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าของเราเป็นชาวอินเดียหรอก แต่เพราะที่อินเดียวันนี้ ศาสนาพุทธไม่รุ่ง หาอะไรก็แทบไม่เจอแล้ว และประเทศไทยเรานี่แหละที่ไปที่ไหนก็สัมผัสได้ถึงความเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา มีประชากรนับถือพุทธศาสนามากที่สุดในโลก มีแนวทางการศึกษาธรรมะ การพัฒนาพระศาสนา การปฏิบัติบูชาพระศาสนา สถานที่ปฏิบัติบูชา วัตถุมงคลสืบพระศาสนาต่าง ๆ ตลอดจนการที่พระศาสนาได้ซึมลึกลงจนกลายเป็นประเพณีวิถีปฏิบัติของผู้คน ประเทศไทยเรามีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่อย่างมากมายครบถ้วน

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

          กล่าวได้ว่า หากในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาสอนให้แบ่งคนออกเป็นสี่เหล่า เป็นบัวในตม บัวในน้ำ บัวเรี่ยน้ำ และบัวที่โผล่พ้นน้ำอย่างนี้แล้ว ประเทศไทยเราก็มีพุทธศาสนาสำหรับรองรับบัวทั้งสี่เหล่านี้อยู่อย่างครบครัน และแม้ถึงขนาดจะเป็นบัวเสียบัวเน่าส่งกลิ่นเหม็น พลอยทำให้บัวทั้งหลายอาจเสื่อมเสียติดเชื้อโรคร้าย ประเทศไทยเราก็ยังมีพุทธศาสนาสำหรับรองรับบัวเหล่านี้อยู่ และถึงแม้จะมีคนพูดกันว่า พุทธแบบที่ว่าจะไม่ใช่พุทธที่แท้ แต่ทุกภาคส่วนวันนี้ก็ยังอยู่กันอย่างครบครันถ้วนหน้า และยังคงช่วยกันสร้างสีสันจรรโลงพระพุทธศาสนาแบบไทย ๆ นี้กันต่อไปไม่สิ้นสุด

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


อีสาน ฐานที่มั่นแห่งผู้ปฏิบัติธรรม

          แต่หากจะกล่าวถึงเรื่องพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ที่ที่จะไม่เอ่ยอ้างถึงไม่ได้เลยก็คือ ภาคอีสาน เพราะภูมิภาคนี้เป็นอีกที่หนึ่งที่พระพุทธศาสนาได้ลงหลักปักฐานอย่างแน่นแฟ้น ทั้งยังมีชื่อเสียงว่าเป็นพื้นที่สำคัญของพระภิกษุสายปฏิบัติที่เคร่งครัด ตั้งแต่ "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต" วัดป่าสุทธาวาส, "พระอาจารย์ฝัน อาจาโร" วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร จากนั้นจึงค่อยแผ่ขยายออกไป โดยบรรดาเพื่อนธรรมและสานุศิษย์อย่าง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่ขาว อนาลโย และพระโพธิญาณเถร หลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นต้น

          บรรดาพระสงฆ์ผู้ใหญ่จำนวนหลากหลายนี้แหละ ที่ได้ช่วยกันทำให้ภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่สำคัญ ที่พระศาสนาจะลงรากปักฐานสร้างป้อมค่ายแห่งการเผยแผ่พุทธธรรม ฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ต่อไปในอนาคต

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

          และในโอกาสที่ประเทศไทยเราจะเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนหนึ่งเดียวในปี พ.ศ. 2558 ข้อกังวลหนึ่งสำหรับการนี้ก็คือ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีแต่ส่งออกนักท่องเที่ยวหรือไม่ เพราะแหล่งท่องเที่ยวในย่านนี้ไม่ว่าจะเป็นปราสาทหินขอม หรือธรรมชาติอันสวยงามของไทยก็ดูจะเป็นรองเพื่อนบ้านอยู่มิใช่น้อย ประเทศเราจะมีอะไรดีสำหรับให้นักท่องเที่ยวจากอาเซียนเข้ามาท่องเที่ยวได้บ้าง

          ทั้งหมดนี้จึงทำให้ อ.ส.ท. เรามองไปที่เมืองชายแดนอย่างอุดรธานีและหนองคาย อันเป็นเมืองประตูบ้านทางภาคอีสานของไทย ที่ซึ่งจะมีชาว สปป. ลาว เดินทางเข้ามาอยู่แล้ว เพื่อช้อปปิ้งแน่นไปทั้งห้างอัศวรรณที่หนองคาย และห้างเซ็นทรัล ห้างยูดีทาวน์ ที่อุดรธานีในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ที่ตรงนั้นพระพุทธศาสนาจะเป็นสิ่งที่นำพานักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาหนักแน่นไม่แพ้คนไทย ให้เดินทางต่อไปจาริกแสวงบุญหรือท่องเที่ยวทางธรรมต่อไปได้หรือไม่...เอาละครับ เรามาลองสำรวจแหล่งจาริกหรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมในย่านนี้กันเลยดีกว่า


เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

หลวงพ่อพระใส สุดยอดศรัทธาแห่งอีสานเหนือ

          หากไม่นับพระธาตุพนม พระธาตุสำคัญที่มีศรัทธาร่วมกันของสองชาติสองฝั่งแม่น้ำโขง ไทยและลาวแล้ว หลวงพ่อพระใส แห่งวัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ก็นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมพลังศรัทธาของชาวสองฝั่งโขงได้เช่นเดียวกัน

          หลวงพ่อพระใส ตามประวัติว่าจัดสร้างขึ้นโดยพระราชธิดาทั้งสามของมหาราชองค์ที่สองของอาณาจักรล้านช้าง คือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระองค์มีราชธิดาสามนาง คือ นางสุก นางเสริม และนางใส ทั้งสามนางได้พร้อมใจกันสร้างพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่งดงามมาก และได้ให้นามของพระพุทธรูปตามชื่อของตนเอง คือชื่อ พระเสริม พระใส และพระสุก ตามตำนานการก่อสร้างกล่าวไว้ว่า ในวันเททองหล่อองค์พระพุทธรูปแล้วเสร็จในวันเดียวด้วย

          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กองทัพสยามได้ชะลอนำพระใส พระเสริม พระสุก มายังฝั่งไทย แต่นำพามาไม่ได้ทั้งหมด แพที่บรรทุกพระสุกข้ามแม่น้ำโขงได้จมลงในบริเวณที่เรียกกันว่า เวินสุก ส่วนพระใสก็ไม่ไปไหน เกวียนที่เทียมวัวบรรทุกจะส่งต่อมายังกรุงเทพฯ ไม่ยอมเดิน จึงต้องอาราธนาพระใสประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัยนับแต่บัดนั้น ส่วนพระเสริมได้มาประดิษฐานอยู่ ณ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งความจริงในช่วงนั้นพระพุทธรูปที่ได้นำมากรุงเทพฯ ยังอาจจะมีอีกหลายองค์ด้วยกัน รวมทั้งพระพุทธรูปพระบางที่ได้นำพามาประดิษฐาน ณ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ด้วย

          หากแต่ในสมัยต่อมามีการโจษขานกันเมื่อมีทุพภิกขภัยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่าพระบางเป็นพระพุทธรูปกาลกิณีกับกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้คืนพระพุทธรูปพระบางกลับไปยังเมืองหลวงพระบางของลาวดังเดิม

          เทศกาลตรุษสงกรานต์อีสานหนองคาย ทุกวันที่ 13 - 17 เมษายนของทุกปี เมืองหนองคายจะจัดให้มีการสรงน้ำหลวงพ่อพระใส ซึ่งวันงานจะมีการนำองค์พระใสออกแห่แหนไปรอบเมือง ในวันนำหลวงพ่อพระใสออกเข้าขบวนแห่นั้น จะเป็นวันที่ชาวหนองคายทั้งมวลออกมาร่วมงานสรงน้ำหลวงพ่อพระใสกันอย่างมากมายยิ่งใหญ่เป็นพิเศษจริง ๆ

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ตระกูล ส. แห่งหนองคาย

          นอกจาก หลวงพ่อพระใส แล้ว เมืองหนองคายยังมีพระพุทธรูปสวยงามและศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพเลื่อมใสและชื่นชมของประชาชนเมืองหนองคายอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสำคัญตระกูล ส. ซึ่งทางจังหวัดหนองคายร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี ได้จัดกิจกรรมนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมมงคลชีวิต 9 ส. อันหมายรวมถึงหลวงพ่อพระใสด้วย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยพระพุทธรูปสำคัญ 9 ส. นอกเหนือจากหลวงพ่อพระใสก็ประกอบด้วย

          หลวงพ่อพระเสาร์ ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ หรือวัดหอก่อง หลวงพ่อพระเสาร์นี้ตามประวัติว่าสร้างโดยพญาสุนน เจ้านครศรีเชียงรุ้ง หลวงพ่อพระเสาร์ก็เป็นพระพุทธรูปที่ได้อัญเชิญมาครั้งสมัย ร.3 พร้อมกับหลวงพ่อพระใสด้วยเช่นกัน

          หลวงพ่อพระสุก ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง ประดิษฐาน ณ วัดศรีคุณเมือง เป็นพระพุทธรูปใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อแทนพระสุกที่ได้จมน้ำไป ในคราวเดียวกับพระใสข้ามแม่น้ำโขงครั้งกระโน้น โดยหลวงปู่สีทัตต์ สุวรรณมาโจ ที่เป็นผู้สร้างพระบาทโพนสันทางฝั่งลาว พระธาตุท่าอุเทน และพระพุทธบาทบัวบกแห่งบ้านผือ เป็นประธานในการจัดสร้าง

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

          หลวงพ่อพระสวย ประดิษฐาน ณ วัดยอดแก้ว อำเภอเมืองฯ จัดสร้างโดยราชครูเจ้าฟ้ามหาวัน เป็นพระพุทธรูปพระพักตร์ยิ้ม ศิลปะล้านช้างประจำวัดยอดแก้ว ซึ่งนับได้ว่าองค์พระมีลักษณะสวยงามมาก พระพุทธรูปองค์นี้ก็ได้อัญเชิญมาจากล้านช้าง เข้าใจว่าในคราวเดียวกับพระเสริม พระใส พระสุก องค์พระสวยนี้ต่อมาเมื่อมีผู้ให้ความเคารพบูชาได้รับโชคลาภเป็นอย่างดียิ่ง จึงผู้ต่อสร้อยคำให้แก่องค์พระสวยนี้ออกไปอีกหน่อยเป็นพระสวยรวยทรัพย์

          หลวงพระแสง หรือหลวงพ่อองค์แสน วัดศรีษะเกษ อำเภอเมืองฯ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยเงินและทองน้ำหนักหนึ่งแสนบาท พระพุทธรูปนี้จึงได้ชื่อว่าหลวงพ่อองค์แสนในเวลาต่อมา

          หลวงพ่อพระเสี่ยง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่กษัตริย์ล้านช้างสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระพุทธรูปเสี่ยงทายประจำเมือง อัญเชิญมาจากล้านช้างพร้อม ๆ กับพระใส พระเสริม พระสุก นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดมณีโคตร อำเภอโพนพิสัย ตั้งใจว่าจะขนต่อเข้ามากรุงเทพฯ แต่เมื่ออัญเชิญพระเสี่ยงขึ้นบนหลังช้างแล้วเกิดตกลงมา จึงมีผู้เชื่อว่าพระพุทธรูปแสดงปาฏิหาริย์ไม่ยอมไป จึงอัญเชิญพระเสี่ยงประดิษฐานไว้ที่วัดมณีโคตรตามเดิม ประเพณีฉลองพระเสี่ยงชาวโพนพิสัยถือเอาเทศกาลสงกรานต์เช่นเดียวกับหลวงพ่อพระใส

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

          พระพ่อสีบุญเฮือง เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง อัญเชิญมาจากล้านช้างสมัยพระสุนทรธรรมธาดามาเป็นเจ้าเมืองโพนพิสัย เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดหลวงพิสัยเจติยาราม อำเภอโพนพิสัย

          หลวงพ่อทองแสน เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ เก่าแก่กว่าพันปี มีประวัติว่าพระยาหลวงสุคันธวงศาราชเจ้า เป็นผู้สร้างและได้จารึกอักษรธรรมล้านช้างไว้ท่านพระพุทธรูปประมาณปี พ.ศ. 2438 ท้าวขัตติยะได้รับพระราชทานให้เป็นเจ้าเมืองท่าบ่อ และได้อัญเชิญหลวงพ่อทองแสนมาจากล้านช้าง และได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดท่าคกเรือนี้สืบมา

          หลวงพ่อแสนห้า เป็นพระพุทธรูปเก่แก่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสร้างขึ้นจากศรัทธาของพี่น้องธรรมดา ๆ คู่หนึ่ง คนพี่ชื่อแสน คนน้องชื่อห้า และสนับสนุนด้วยศรัทธาของชาวเมืองอีกเป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้ชื่อว่าหลวงพ่อแสนห้า

          และทั้งหมดนี้แหละ คือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตระกูล ส. ของจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวจังหวัดเป็นอย่างสูงยิ่งอยู่แล้ว และกำลังจะได้รับการแนะนำออกสู่ความรักรู้ของประชาชนไทยทั่วไปในอนาคตอีกต่อหนึ่งในเร็ววันนี้

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


ศาสนศึกษา วัดป่าบ้านค้อ

          ในเขตอำเภอบ้านผือ ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีออกไปเพียง 40 – 50 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดป่าบ้านค้อ แหล่งบุญอันไพบูลย์ของพุทธศาสนิกชนไทย ที่นี่พอเข้าเขตวัดผู้มาเยือนก็จะรู้สึกได้ถึงความใหญ่โตกว้างขวาง แต่ทุกอย่างจะดูเรียบง่ายธรรมดา ดูไปดูมาจะเหมือนกับที่นี่เป็นสถานศึกษาแห่งหนึ่งไม่ใช่วัด

          วัดป่าบ้านค้อ ก่อตั้งขึ้นโดย หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2518 จากเดิมเป็นที่ป่าช้าเก่า เนื้อที่ 410 ไร่ มีเสนาสนะและการสาธารณูปโภคต่าง ๆ พอเหมาะกับการอยู่อาศัยปฏิบัติธรรมสำหรับพระและฆราวาส มหาเถระสมาคมประกาศให้วัดป่าบ้านค้อเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุดรธานีแห่งหนึ่ง

          สิ่งที่น่าเข้าไปชมอย่างยิ่งที่นี่ก็คือ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทูล ที่นอกจากจะมีการแสดงอัตชีวประวัติและผลงานของหลวงพ่อแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ทางธรรมะต่าง ๆ ของวัดด้วยหลัก 3 อย่าง คือ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ที่จัดแสดงด้วยสื่อที่สวยงามทันสมัยไม่น่าเบื่อ และสิ่งที่จะได้เห็นเป็นประจำของการได้เข้ามาในวัดแห่งนี้ก็คือ การเข้ามาศึกษาธรรมของกลุ่มคนที่สนใจ ตลอดจนสถานศึกษาต่าง ๆ ที่ทางวัดจัดหลักสูตรการศึกษาไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการอบรมธรรมปัญญาสำหรับบุคคลทั่วไป เปิดรับทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์สุดท้ายของทุกเดือน, โครงการเผยผ่อนธรรมะสู่เยาวชน เปิดอบรมให้กับสถานศึกษาต่าง ๆ ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี และโครงการอบรมบุคคลทั่วไป ที่จัดการอบรมแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นประจำ

          ดังนั้น สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ สถานศึกษาที่สนใจในธรรมะ ก็สามารถติดต่อเข้ามารับการอบรมได้ เห็นการจัดการอบรมนักเรียนของที่นี่แล้วบางส่วน ก็พอจะบอกได้ว่าที่นี่ถึงจะเป็นวัด แต่การจัดการเรียนการสอนก็ดูทันสมัย ผู้สอนมีใจและเป็นมืออาชีพเลยทีเดียว และธรรมะที่ได้รับไปนั้นก็น่าจะเป็นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้ และเหมาะสมกับสถานะของผู้ศึกษาอย่างแท้จริง

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


ศาสนปฏิบัติที่ วัดนาหลวง อภิญญาเทสิตธรรม

          วัดนาหลวง อภิญญาเทสิตธรรม ชาวบ้านอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า วัดภูย่าอู่ เพราะตั้งอยู่บนภูเขาลูกย่อม ๆ ที่ชื่อว่าภูย่าอู่ ทว่าจริง ๆ แล้วบนภูแห่งนี้ก็มีวัดอยู่หลายวัด และมีวัดหนึ่งที่ชื่อว่าวัดภูย่าอู่จริง ๆ และมีป้ายบอกทางใหญ่ ๆ ขึ้นมาที่วัดชื่อภูย่าอู่นี้ จึงจะเห็นได้ว่าชื่อที่ชาวบ้านเรียกจึงอาจสร้างความสับสนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งใจจะมาวัดนี้ต้องชัดเจนไปเลยว่าไป วัดนาหลวง อภิญญาเทสิตธรรม ไม่ใช่วัดภูย่าอู่ เพราะทีมงาน อ.ส.ท. เราสับสนมาก่อนแล้ว

          วัดนาหลวงฯ เป็นวัดที่ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และวัดก็มีเสนาสนะและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการปฏิบัติ ที่นี่จึงมีพระภิกษุ แม่ชี ชีพราหมณ์ อุบาสก อุบาสิกา ผู้สนใจศึกษาธรรมะอย่างจริงจังเข้ามาประจำอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย อย่างพระภิกษุอย่างเดียว ที่นี่ก็มีประจำอยู่แล้วนับร้อยรูปเลยทีเดียว

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

          วัดนาหลวง อภิญญาเทสิตธรรม เป็นวัดแบบที่เรียกว่า วัดป่า แต่เป็นวัดป่าที่มีการจัดการอย่างตั้งใจ ดังนั้น ที่วัดนี้มองไปทางไหนจึงมีแต่สิ่งที่ดูสวยงามสะอาดตา สิ่งอำนวยความสะดวกภายในวัดมีมาก โดยเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่อุบาสกอุบาสิกาได้นำมาทำบุญไว้ในวัด เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เริ่มตั้งแต่กุฏิหญ้าฟางแฉะขึ้นปลวกมอดซอนไซ จนในปัจจุบันสภาพความเป็นอยู่ต่าง ๆ รูปเข้ารอยพระภิกษุสามเณรมีสภาพความเป็นอยู่ต่าง ๆ อย่างพอเหมาะพอควร

          วัดนาหลวงฯ มีเจตคติที่จะสร้างบุคลากรให้แก่วงการศาสนา คือ จะสร้างเสริมศาสนธรรมให้แก่พระภิกษุสามเณรให้มีอินทรีย์กล้าแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ตามวิถีแห่งพุทธ ดังนั้น นอกจากการวิปัสสนาธุระที่เคร่งครัด ในแต่ละปีพระที่นี่ก็จะมีการออกไปธุดงค์ร่วมกันปีละนาน ๆ เพื่อสร้างเสริมอินทรีย์ให้กล้าแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นพระภิกษุที่กล้าแข็งจากที่นี่ก็จะออกไปประจำตามวัดอื่น ๆ สร้างเครือข่ายและความเข้มแข็งของพระพุทธศาสนากันต่อ ๆ ไป

          เมื่อมาถึงที่นี่แล้วก็ต้องยอมรับครับว่าวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของพระภิกษุที่นี้เข้มข้นด้วยการศึกษาและปฏิบัติอย่างแท้จริง พระจะมีวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ตั้งแต่ตีสี่ตีห้า จากนั้นจึงจะไปนั่งวิปัสสนาทำสมาธิก่อนจะออกไปบิณฑบาตฉันอาหาร และจึงจะทำวัตรปฏิบัติทางการศึกษาธรรมะอื่น ๆ ต่อไป

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


สุดยอดศาสนวัตถุสถาน วัดป่าภูก้อน

          วัดป่าภูก้อน อำเภอนายูง คือวัดแห่งสุดยอดศาสนวัตถุสถานในย่านนี้และสิ่งที่เป็นสุดยอดในวันนี้ก็คือ พระพุทธรูปหินอ่อนขนาดยักษ์ปางปรินิพพาน ในพระนาม "พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี" พระพุทธรูปองค์นี้จัดสร้างขึ้นโดยการจำหลักหินจากหินอ่อนคุณภาพดีพิเศษ คือ สีขาวบริสุทธิ์ จากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งหินอ่อนคุณภาพดีที่สุดในโลก และในการไปนำหินอ่อนนี้มาจากประเทศอิตาลี คณะเดินทางก็ได้รับประสบการณ์มหัศจรรย์พิเศษหลาย ๆ อย่างด้วยกัน

          วัดป่าภูก้อนเป็นวัดป่าที่เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม วัดนี้เกิดขึ้นจากพุทธบริษัทสี่ คณะของ คุณโอฬาร และ คุณปิยวรรณ วีรวรรณ ได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขตป่านี้ตามคำแนะนำของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และเกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงตกลงใจที่จะสร้างวัดขึ้น โดยได้กราบอาราธนาพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม มาเป็นเจ้าอาวาส

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ

          วัดป่าภูก้อนสร้างขึ้นสำเร็จอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2542 ด้วยความเป็นคหบดีผู้กว้างขวางของตระกูลวีรวรรณ จึงทำให้วัดแห่งนี้สามารถรวบรวมพลังศรัทธาประกอบขึ้นเป็นเงินทุนก้อนใหญ่ ทำให้วัดนี้เป็นความลงตัวของความสงบงามอย่างวัดป่า และความงดงามทรงคุณค่าของศาสนวัตถุสถานต่าง ๆ อย่างในช่วงแรกของการสร้างวัดก็คือ องค์พระเจดีย์ปฐมรัตนะบูรพาจารย์มหาเจดีย์ ที่มีคณะศรัทธา อุบาสกอุบสิกา และนักท่องเที่ยวต่าง ๆ มาเยี่ยมเยือนไม่เคยขาด ซึ่งวัดนี้สามารถเดินทางมาได้ทั้งจากทางอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และจากอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย การที่มีวัดป่ามาตั้งอยู่ในเขตป่าเขาแถบนี้ทำให้ป่ายังคงมีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์อยู่ได้ นับเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ได้ในอีกช่องทางหนึ่ง

          และโครงการใหญ่ที่ใกล้จะแล้วเสร็จในวันนี้จึงเป็นองค์พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสตามหามุนี ที่ประดิษฐานอยู่ภายใต้พระวิหารขนาดใหญ่ยักษ์ สร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ กว้าง 39 เมตร และยาว 49 เมตร สวยงามอร่ามตายิ่ง และนอกจากองค์พระวิหาร และพระพุทธไสยาสน์แล้ว รายรอบพระวิหารตลอดจนภายในก็บรรจุไว้ด้วยศิลปวัตถุที่เกี่ยวพันกันอย่างเรื่องพุทธประวัติ เรื่องเทพยดาต่าง ๆ ผู้คุ้มครองจักรวาล และพระอรหันตสาวกต่าง ๆ ล้วนจัดสร้างขึ้นอย่างประณีตพิถีพิถันที่สุด

          และทั้งหมดนี้แหละ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมของอีสานเหนือจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย เมืองซึ่งเป็นปากประตูของประเทศไทยในการก้าวออกไปสู่ประชาคมอาเซียนอีกประตูหนึ่ง ประตูแห่งนี้...แน่นอนที่ว่ามีชาวไทยเดินทางผ่านออกไปเพื่อท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกันก็มีพี่น้องชาวลาวสมัยใหม่ที่จำนวนมากมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีเดินทางเข้ามาช้อปปิ้ง พักผ่อนวันหยุดอยู่แล้วในสถานที่บันเทิงต่าง ๆ มากมาย หากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้รับข้อมูลทางการท่องเที่ยวเพิ่มเติมว่ามีแหล่งจรรโลงใจทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ น่าสงสัยว่าด้วยความเป็นชาวพุทธเช่นเดียวกับชาวไทย พี่น้องชาวลาวเหล่านี้จะพากันออกไปท่องเที่ยวด้วยหรือเปล่า

เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ


สามวัดป่าสายปฏิบัติเปี่ยมศรัทธาแห่งอุดธานี

          วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ แหล่งศาสนศึกษาให้ความรู้เรื่องพุทธศาสนาแก่ประชาชนทั่วไปหมู่คณะและสถานศึกษา โทรศัพท์ 0-4225-1730-2 เว็บไซต์ www.watpabankoh.com

          วัดนาหลวง อภิญญาเทสิตธรรม อำเภอนายูง แหล่งศาสนธรรมปฏิบัติ เจริญศาสนธรรม และอินทรีย์ปฏิบัติ สำหรับพระสงฆ์และพุทธบริษัทสี่ โทรศัพท์ 0 4291 0960 เว็บไซต์ www.watraluang.com

          วัดป่าภูก้อน อำเภอนายูง แหล่งสุดยอดศาสนวัตถุสถาน โทรศัพท์ 0 2289 0213, 08 1184 3743 และ 08 1866 9952 เว็บไซต์ www.watpaphukon.org



 



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เที่ยวธรรมะกับพระอีสานเหนือ อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา 13:04:03 5,513 อ่าน
TOP
x close