ไปเมืองนนท์ท่องเที่ยวใกล้กรุง ตื่นตาจิตรกรรมสัมผัสชุมชนมอญ (ไทยโพสต์)
จะว่าไป "เมืองนนท์" เป็นจังหวัดที่อิงแอบแนบชิดกับกรุงเทพฯ ที่ดูเหมือนจะไม่แตกต่าง ทั้งผู้คน บ้านเรือน และถนนหนทาง ดังนั้นหากวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ไม่ต้องการไปไหนไกล ลองวางแผนโปรแกรมพาครอบครัวหรือคนรักไปเที่ยวเมืองราชาแห่งทุเรียนกัน แม้ฤดูนี้จะไม่มีผลไม้ชนิดนี้ก็ตาม
แต่ด้วยความใกล้ หลายคนอาจจะคิดว่าเมืองนนท์นั้นไม่มีอะไรเที่ยว พูดไปก็เหมือนเส้นผมบังภูเขา ทั้งที่สถานที่ท่องเที่ยวค่อนข้างมาก แต่ขอหยิบยกมาให้ทดลอง 2-3 แห่ง แค่นี้ก็สนุกจนหมดวันโดยไม่รู้ตัว
เคยได้ยินเกจิภาพจิตรกรรมไทยท่านหนึ่งบอกว่า มีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมที่สวยงามมากอยู่ที่วัดมอญ เมืองนนท์ และสถานที่แห่งนั้นก็คือ "วัดชมภูเวก" วัดมอญ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายระยะต้น ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ. 2225
เมื่อไปถึงจะเห็นสถาปัตยกรรมที่มีความเก่าแก่ถึง 350 ปีนี้ เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างไทย มอญ จีน พม่า และของชาวตะวันตก ที่สวยงาม กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี 2517 และถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณสถานของจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย
สำหรับโบราณสถานแรกที่ถือเป็นสัญลักษณ์คู่วัดชมภูเวกนี้คือ "พระมุเตา" หรือ "เจดีย์ทรงมอญ" สร้างราว พ.ศ. 2225 ถัดมาใน พ.ศ. 2460 ได้ทำการบูรณะสร้างพระมุเตาให้สูงใหญ่กว่าเดิม และสร้างเจดีย์รายที่มุมพระมุเตาทั้งสี่ของฐาน
นอกจากนั้นได้สร้างเจดีย์อีกสององค์ด้านหลังพระมุเตาเพื่อบรรจุอัฐิธาตุอดีตเจ้าอาวาส ส่วนพระมุเตาสันนิษฐานว่าสร้างเพื่อบรรจุพระบรมธาตุต่อมาใน พ.ศ. 2534 ก็ได้ทำการบูรณะอีกครั้ง โดยตีเข็มคอนกรีตรอบฐานพระธาตุ ผูกเหล็กเทคานคอนกรีตรัดรอบฐานล่างองค์พระธาตุ กะเทาะปูนฉาบออกทั้งหมด ใช้เหล็กเส้นสองหุนผูกเป็นตะแกรงหุ้มองค์พระธาตุแล้วฉาบปูนใหม่หมดทั้งองค์แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2539
องค์พระธาตุมุเตาสร้างอยู่บนฐานปูนขนาดใหญ่ โดยฐานองค์พระธาตุเป็น 8 เหลี่ยม สร้างลดหลั่นซ้อนกัน 4 ชั้น มีลวดลายจำพวกกลีบบัว ระฆังคว่ำ ดอกพุดตาน ยอดบนเป็นฉัตรหรือชฎา ทำด้วยทองเหลืองแผ่นฉลุลายเครือเถาดอกพุดตาน มีทั้งหมดสี่ชั้น เหนือฉัตรเป็นยอดพุ่ม เหนือขึ้นไปเป็นแกนเหล็กประดับใบไม้และธงชัย (หมายถึงพระเกตุ) ยอดสูงสุดเป็นดอกไม้เพชร ลักษณะเป็นโคมเปลวไฟ
ส่วนอุโบสถเก่าที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ก็มีอายุเก่าแก่ประมาณ 350 ปีเช่นกัน ลักษณะเด่นคือ ถูกออกแบบให้มีประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าด้านเดียวตามคติมอญ เรียกว่า "โบสถ์มหาอุด" หรือฝรั่งเรียกว่า "แบบวิลันดา" ผนังด้านข้างทั้งสองสอบเข้าเพื่อใช้ผนังในการรับน้ำหนักทั้งหมดแทนเสา เชื่อกันว่าอุโบสถลักษณะมหาอุดนี้ปลุกเสกของขลังได้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
ประติมากรรมภายในอุโบสถเก่าส่วนใหญ่เป็นงานลายปูนปั้น ประเภทจำหลักนูนต่ำตกแต่งหลากหลายรูปแบบ โดยรับอิทธิพลจากงานจำหลักไม้ของจีน เป็นลายเครือเถาประดับด้วยเครื่องถ้วยชามลายเบญจรงค์สีต่าง ๆ หน้าบันเป็นลายพันธุ์พฤกษาดอกพุดตาน ประดับกลางดอกด้วยถ้วยลายครามและเบญจรงค์ มีก้านใบเป็นส่วนประกอบ ส่วนกรอบหน้าบันปั้นรูปลายบัวกลีบขนุนประดับแทนใบระกาและปั้นรูปเทพนมอยู่ในตำแหน่งช่อฟ้าและหางหงส์
ส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่เลื่องชื่อ เป็นฝีมือสกุลช่างนนทบุรีสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอรา เขียนตามคติอยุธยาตอนกลาง คือ ผนังด้านบนเหนือขอบหน้าต่างด้านบนขึ้นไปเขียนรูปอดีตพระพุทธเจ้าประทับบนบัลลังก์เรือนแก้ว มีซุ้มโพธิ์ เบื้องหลังมีผ้าทิพย์ห้อยลงระหว่างอดีตพระพุทธเจ้า มีพระสาวกนั่งถวายสักการะทั้งเบื้องขาวและเบื้องซ้าย
ผนังหุ้มกลองหน้าพระประธานเหนือประตูเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ใต้รูปพระพุทธเจ้าเป็นภาพเขียนรูป "แม่พระธรณีบีบมวยผม" ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งงามวิจิตรด้วยความคดเคี้ยวของเส้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะของศิลปะขั้นสูงฝีมือบรมครู ว่ากันว่าเป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเหนือธรรมชาติประดุจภาพทิพย์ที่เบาเสมือนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งศิลปินที่เป็นจิตรกรของกรมศิลปากรต่างยกย่องและรับรองว่าเป็นแบบอย่าง "ภาพเขียนแม่พระธรณีที่งดงามที่สุดในโลก" เลยทีเดียว
จากนั้นเราอาจแวะไปทานอาหารกลางวันที่ "ตลาดน้ำไทรน้อย" เป็นแหล่งรวมอาหารคาวหวาน ผัก ผลไม้นานาชนิด ที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายริมฝั่งคลอง มีทั้งแพเล็กแพใหญ่เป็นที่นั่งรับประทาน ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด ผัดไทยโบราณ หอยทอด หมูสะเต๊ะ จะสั่งหรือจะเดินเลือกซื้อแล้วนำมายังที่โต๊ะ นั่งเรียงบนเรือนแพรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย อิ่มแล้วจะเดินไปให้อาหารปลาเป็นการทำบุญก่อนไปลุยเที่ยวชุมชนมอญที่ "เกาะเกร็ด" แผ่นดินกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ทำให้ใครหลายคนได้ทราบว่า ภาคกลางของประเทศไทยก็มี "เกาะ" เหมือนกัน เกาะแห่งนี้ มีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และประเพณีวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านดั้งเดิม ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการจุดลูกหนู งานตักบาตรทางน้ำ
หลายปีให้หลังมานี่ การท่องเที่ยวเกาะเกร็ดดูเหมือนจะเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปกติถ้าไปเที่ยวในวันเสาร์-อาทิตย์ รวมถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ บนเกาะจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ร้านค้าร้านอาหารก็ดูจะคึกคักสุด ๆ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวบนเกาะเกร็ด ก็จะมีทั้งมาเดินเที่ยว ช้อปปิ้ง หาของอร่อย ๆ กิน บ้างก็เลือกนั่งเรือชมรอบเกาะ ทำเอาเพลิดเพลินใจไปอีกแบบ ทั้งนี้ เกาะเกร็ดจะเปิดเวลาประมาณ 09.00-17.30 น.
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยว เริ่มกันที่ "วัดปรมัยยิกาวาส" (วัดปากอ่าว) ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดไปแล้ว มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอด ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาส ตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังทรงรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฎกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ
"พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาส และหอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา" จะจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง "เหม" ที่ พ.อ.ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้น จนนับว่าเป็นงานศิลป์ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว
"วัดเสาธงทอง" เป็นวัดเก่า เดิมชื่อ "วัดสวนหมาก" นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย
"วัดไผ่ล้อม" สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี้ยะโต้"
"วัดฉิมพลีสุทธาวาส" มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมาก และยังมีสภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา
"คลองขนมหวาน" และคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองจะทำขนมหวานจำพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหวานอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมสาธิตวิธีการทำให้นักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมซื้อกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แรงดึงดูดอย่างหนึ่งบนเกาะเกร็ดที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาที่นี่ คงหนีไม่พ้นเรื่องของอาหารการกิน ที่ดูจะหลากหลายมากมายกันจนลายตา ไม่ว่าจะเป็น "ข้าวแช่" อาหารของชาวมอญ ที่สืบทอดสูตรกันมายาวนาน รับประทานพร้อมเครื่องเคียงครบรสที่มีให้เลือกเพียบ คือ ลูกกะปิทอด หมูกับปลาเค็มปั้นทอด ไชโป๊หวาน ปลาหวาน พริกหยวกสอดไส้ หัวหอมทอดสอดไส้ และผักชนิดต่าง ๆ
ส่วนใครที่ไปเกาะเกร็ดแล้วไม่ได้รับประทาน "ทอดมันหน่อกะลา" ก็เหมือนไปไม่ถึง ถือเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่เลยก็ว่าได้ แถมยังมีให้เลือกซื้อเลือกชิมหลายร้าน ทั้งเจ้าเก่า เจ้าใหม่ เรื่องของรสชาตินั้นไม่ต้องพูดถึง เรียกได้ว่า อร่อยไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว
การมาเที่ยววันนี้ ทีมงาน "มองเมือง" ยอมรับเลยว่า เป็นการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่อนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและรักษาต่อไปให้ลูกหลานได้เห็น ทั้งโบราณสถานและวัตถุ รวมทั้งภูมิปัญญาในรูปแบบต่าง ๆ
เป็นไปตามแนวคิดของ 7 Greens ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมวิถีชีวิตของชุมชน ควบคู่รักษาโลกให้สีเขียว โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเป็นคนแรก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. 1672
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Watchmphuwek, เฟซบุ๊ก sainoi.floating.market