เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ในปัจจุบันผู้คนได้หันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น แม้การเดินทางท่องที่ยวจะเป็นการพักผ่านหย่อนใจในตัวอยู่แล้ว แต่หากได้เสริมกิจกรรมเพื่อสุขภาพเข้าไปอีก นั่นก็ยิ่งจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวเป็นการพักผ่อนเพื่อให้อะไรกับชีวิตได้มากมายยิ่งขึ้น เมืองไทยเราเองก็มีกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพมากมายหลากหลาย ทั้งแหล่งธรรมชาติเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งธรรมชาติเพื่อสุขภาพ เช่นแหล่งน้ำแร่ร้อน ซึ่งมีมากมายกระจายอยู่ในหลายจังหวัด รวมทั้งกิจกรรมเพื่อสุขภาพที่เป็นภูมิปัญญาไทย เช่น การนวดแผนโบราณ การนวดฝ่าเท้า อาหารผลไม้เพื่อสุขภาพ และการอบสมุนไพร เป็นต้น เรียกได้ว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของไทยเรานั้นมากมายไม่แพ้ชาติอื่นใดหากได้จัดระบบบริการให้มีมาตรฐาน
เส้นทางสายหัตกรรมบ่อสร้าง-สันกำแพง
เริ่มกันที่ตัวเมืองเชียงใหม่ หากใครเอ่ยถึงเส้นทางสายเชียงใหม่-บ่อสร้าง-สันกำแพง หรือทางหลวงหมายเลข ๑๐๐๖ แล้ว หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เพียงราว ๙ กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ก็จะถึงตำบลสร้าง ซึ่งเป็นชุมชนทำร่มมาแต่โบราณ สมัยก่อนร่มจะเป็นของคู่ตัวสาว ๆ หรือแม่หญิงชาวเชียงใหม่ ไม่ว่าจะออกไปไหนก็จะติดร่มไปกางกันแดดไม่ให้ต้องผิวอันผุดผ่อง มีความเชี่ยวชาญชำนาญในการถือร่มถึงขนาดขี่จักรยานไปกางร่มไปด้วย ซึ่งในปัจจุบันเราอาจจะหาดูได้ในขบวนแห่สาธิต "ขบวนแม่หญิงขี่รถถีบกางจ้อง" ตามงานเทศกาลประเพณีต่าง ๆ ซึ่งจะมีสาว ๆ เชียงใหม่นุ่งซิ่นแต่งกายพื้นเมือง ขี่รถจักรยานไป มือหนึ่งกางร่มไปด้วย ซึ่งเป็นภาพที่งดงามและเป็นวิถีชีวิตในอดีตของสาวเชียงใหม่ แต่เดี๋ยวนี้ท้องถนนในเชียงใหม่เต็มไปด้วยรถรายวดยานรวดเร็วขวักไขว่ ขืนสาวใดมาขี่จักรยานกางร่มก็คงถูกรถเฉี่ยวไปอย่างแน่นอน
ร่มจากเชียงใหม่ดั้งเดิมที่มักเป็นร่มกระดาษดูงดงามคลาสสิค วันนี้ร่อมบ่อสร้างแต่สายการผลิตเป็นร่มผ้า (ร่มที่ทำจากผ้า) มีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าแพรสีสันสดใส มีการเขียนลวดลายมากมายตามความต้องการของตลาด ขนาดก็มีตั้งแต่เท่าร่มตุ๊กตาขึ้นไปจนถึงร่มขนาดใหญ่เท่า ๆ ร่มแม่ค้าในตลาดสดคุณค่าของร่มบ่อสร้างที่แต่เดิมทำขึ้นเพื่อใช้จริงในชีวิตประจำวันนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนไป ร่มบ่อสร้างในวันนี้มักเป็นร่มที่ระลึกใช้ประดับตกแต่งมากกว่าจะคุ้มแดดคุ้มฝน ฝีมืองานจึงอาจลดความประณีตบรรจงและความคงทนในการใช้งานลง นอกจากร่มแล้วยังมีพัด ซึ่งก็มักใช้เป็นของที่ระลึกและประดับตกแต่งกันมากกว่า เพราะบางอันขนาดพอ ๆ กับพัดลมติดเพดานทีเดียว แม้ร่มและพัดบ่อสร้างจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างไรแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือกระบวนการผลิตยังคงเป็นงานหัตถกรรมที่ชาวบ่อสร้างทำด้วยมือตลอดกระบวนการ แค่เพียงแวะเข้าไปเยี่ยมชมกรรมวิธีการขึ้นโครง ลงสี เขียนลาย ด้วยความว่องไวชำนิชำนาญ ก็คุ้มค่ากับการแวะชมและการเลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับมาแล้ว
นอกจากร่มและพัด บนถนนสายบ่อสร้าง-สันกำแพง ยังเป็นถนนสายหัตถกรรมที่ผลิตงานฝีมืออีกมากมายหลายอย่าง เช่นผลิตภัณฑ์กระดาษสา หัตถกรรมการแกะสลักไม้ หัตถกรรมจากผลิตภัณฑ์เซรามิก และเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่าง ๆ การทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม เครื่องเงิน เรียกว่ามีงานหัตถกรรมให้ดูให้เลือกซื้อกันเพลินเลยทีเดียว
น้ำพุร้อนสันกำแพง
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมถนนสายหัตถกรรมบ่อสร้าง-สันกำแพงนั้น มักจะเดินทางไปสิ้นสุดที่จุดหมายปลายทางบริเวณน้ำพุร้อนสันกำแพง ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านสหกรณ์ กิ่งอำเภอแม่ออน ห่างจากตัวอำเภอสันกำแพงประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เส้นทางลาดยางกว้างขวางสะดวกสบาย น้ำพุร้อนสันกำแพงนั้นนับเป็นน้ำพุร้อนที่ผู้คนรู้จักกันมาเนิ่นนาน รอบบริเวณมีสภาพเป็นที่ราบเชิงเขา รายล้อมด้วยหมู่บ้านสหกรณ์ ก่อนถึงสี่แยกเข้าสู่น้ำพุร้อนสันกำแพงจะมีทางแยกเข้าไปยังวัดถ้ำเมืองออน ซึ่งเป็นถ้ำใหญ่อยู่บนเนินเขา ใครชอบเที่ยวถ้ำจะแวะเข้าไปเที่ยวชมก็สะดวกสบาย
บ่อน้ำร้อนที่สันกำแพงนั้นมีอุณหภูมิความร้อนสูงมากถึง ๑๐๐-๑๑๐ องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ชนิดที่ร้อนเหมือนน้ำที่ต้มจนเดือดพล่านบนเตา เนื่องจากเป็นน้ำพุร้อนที่เจาะลงไปในระดับความลึกลับนับร้อยเมตร แล้วต่อท่อตรงให้น้ำพุร้อนจัดที่มาแรงดังสูงพ่นน้ำที่เดือดพล่านให้พุ่งขึ้นมาบนพื้นดิน โดยหากเดินผ่านสวนย้อนทวนสายธารน้ำพุขึ้นไปยังบริเวณตัวน้ำพุใหญ่ ๓ บ่อ ก็จะตื่นตาตื่นใจกับภาพของสายน้ำร้อนที่เดือดพล่าน พ่นพุ่งจากพื้นดินขึ้นไปในอากาศเป็นลำสูงถึงกว่า ๒๐ เมตร ทั้งยังส่งเสียงอันพลุ่งพล่านให้เป็นที่น่าเกรงขามไปทั่วบริเวณ เมื่อสายน้ำร้อนที่พุ่งขึ้นไปในอากาศปะทะกับสายลมที่โชยผ่านมา ทำให้เกิดละอองไอขาวลอยฟุ้งไปทั่วบริเวณ และเมื่อกระทบกับแสงตะวันยามสายที่ฉายส่องมา ทำให้เกิดเป็นสายรุ้งโค้งพาดผ่าน งดงามแปลกตายิ่ง
ที่น่าปะหลาดใจอีกอย่างก็คือละออกน้ำพุร้อนที่พ่นผ่านอากาศล่องลอยมาปะทะผิวกายแทนที่จะเป็นน้ำร้อนกลับเป็นละอองเย็น เพราะลอยผ่านอากาศจนเย็น แต่ก็ขอเตือนว่าอย่าเผลอชะล่าใจเดินเข้าไปอาบน้ำพุที่พุ่งตกลงมาตรง ๆ นะ เพราะถ้าหิ้วตะกร้าไข่ไปด้วยก็อาจจะถึงกับไข่สุกได้เลยทีเดียว หากเมื่อเปรียบเทียบการแช่ไข่กับน้ำพุร้อนแห่งอื่น ๆ ซึ่งที่อื่นอาจจะต้องใช้เวลาแช่นานหลายนาทีกว่าจะสุก แต่ที่น้ำพุร้อนสันกำแพงแห่งนี้มีป้ายบอกเวลาแช่ไว้เสร็จสรรพว่าถ้าต้องการไข่ลวกแช่ ๓ นาที ถ้าต้องการไขต้มยางมะตูมแข่ ๕ นาที ถ้าต้องการไข่ต้มสุกแช่ ๘ นาที ซึ่งนั่นเป็นเวลาโดยประมาณของการต้มไข่ในครัวเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่าล้อเล่นกับน้ำพุที่นี่เป็นอันขาด
ผู้ที่สนใจจะลงแช่ในอ่างอาบน้ำแร่เพื่อสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าการแช่น้ำแร่ร้อนนั้นมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่างด้วยกัน เช่น รักษาโรคผิวหนัง ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมในร่างกายดีขึ้น แก้ปวดแก้เมื่อยได้ดี ที่นี่ก็มีห้องอาบจัดไว้บริการ มีทั้งแบบตักอาบ ห้องอาบแช่แบบส่วนตัวและเป็นหมู่คณะ และยังมีสระน้ำแร่เปิดโล่งขนาดใหญ่ให้ลงไปแหวกว่าย ลงไปแช่กันได้ตามอัธยาศัย สำหรับค่าบริการนั้นก็มีหลายระดับราคา ลดหลั่นกันไปตามรูปแบบของการบริการส่วนใครที่ต้องการพักค้างแรมคืน เพื่อพักผ่านและใช้เวลาอาบน้ำแร่เพื่อสุขภาพได้เต็มที่ ก็สามารถติดต่อบ้านพักของทางน้ำพุร้อนที่จัดไว้บริการในบรรยากาศอันร่มรื่นได้
ส่วนคนที่ชอบการขับรถพาครอบครัว หรือเพื่อนฝูงไปตั้งแคมป์พักค้างแรมคืน ที่น้ำพุร้อนสันกำแพงก็จัดพื้นที่สำหรับเป็นลากแคมป์ที่ดียิ่งอยู่ใกล้เคียงบริเวณน้ำพุ ร่มรื่นด้วยแมกไม้ มีห้องน้ำบริการ ทั้งสะดวกและปลอดภัย บรรยากาศยามเช้าเย็นที่แสงสีทองจับฉายควันไอน้ำพุกับความเงียบสงบหลังนักท่องเที่ยวในแต่ละวันกลับไปหมดแล้วบรรยากาศรอบบริเวณน้ำพุร้อนสันกำแพงสงบเงียบงดงามน่าพักผ่อนหย่อนใจ
แต่สิ่งที่อยากจะฝากไว้ตรงนี้ก็คือขอให้เราร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาความสะอาดในการใช้สถานที่ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นบริเวณที่ท่านนั่งพักนั่งล้อมวงกันตามสวนสนามหญ้า ขอให้ดูแลเรื่องขยะ นำมาทิ้งกันตามถังที่จัดไว้ให้ เพื่อให้รอบบริเวณน้ำพุร้อนของเราร่มรื่น สะอาดงดงามตลอดไป
บ้านเล็กในป่าใหญ่ที่บ้านแม่กำปอง
จากน้ำพุร้อนสันกำแพง ย้อนกลับมายังทางแยกน้ำพุร้อนบริเวณเส้นทางสันกำแพง-แม่ออนอีกครั้ง หากเลี้ยวซ้ายก็จะตรงขึ้นไปยังหมู่บ้านแม่กำปอง ซึ่งเส้นทางจะผ่านบ้านห้วยแก้ว บ้านธารทอง ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เส้นทางช่วงแรกเป็นถนนลาดยางกว้างขวาง กระทั่งเมื่อถึงบ้านห้วยแก้ว บริเวณทางจะเห็นสวนสนประดับที่งดงาม ซึ่งชาวบ้านปลูกชำไว้ส่งขาย และที่บ้านห้วยแก้วนี้จะมีทางแยกใหญ่ซ้ายมือตัดออกไปอำเภอดอยสะเก็ด ไปจังหวัดเชียงรายได้ส่วนขวามือจะไปยังบ้านแม่กำปอง เมื่อเลยจากทางแยกนี้มาเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นถนนคอนกรีต แต่จะแคบลงและเริ่มขึ้นเนินเขา สองข้างทางเป็นสวนลิ้นจี่ที่กำลังออกผลสุกแดงเต็มต้น เลยจากบ้านห้วยแก้วมาไม่ไกลนักก็จะถึงบ้านธารทองหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมทางตั้งอยู่บนเนินเขา มีธารน้ำไหลรินมาจากหุบดอยม่อนล้านตอนบน เกิดเป็นธารน้ำตกไหลรินผ่านหมู่บ้าน ในวันอากาศร้อน ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวใกล้เคียงมักจะมาพักผ่อนริมธารอันร่มรื่น ลงเล่นน้ำตกกันอย่างสบายอารมณ์
เลยบ้านธารทองเข้าสู่บ้านแม่กำปองถนนคอนกรีตแคบสายนั้นตัดผ่านความวกวนสูงชันไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ สองข้างทางขนาบด้วยสันดอย ผ่านจุดตรวจของอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้และสูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยตีนตก ซึ่งเป็นสถานีทดลองและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกชา กาแฟพันธุ์ดีมีคุณภาพ และการเพาะเห็ดหอม กระทั่งเข้าสู่หมู่บ้านแม่กำปอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ต้องอยู่กลางหุบดอย ด้านซ้ายเป็นเทือกดอยแม่ลาย ขวามือของถนนเป็นดอยแม่รวม สองเทือกดอยสูงชันขนาบหมู่บ้าน มีสายธารลำน้ำแม่กำปองไหลผ่านกลางหหุบดอยและกลางหมู่บ้าน บ้านเรือนปลูกกันเป็นกลุ่มไล่ระดับลดหลั่นตามความสูงของสันดอย ลักษณะเป็นบ้านไม้ทาสีน้ำตาล หลังคากระเบื้องสีเทาดำ ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ บ้านแต่ละหลังใหญ่โตกว้างขวางและดูมั่นคง บ่งบอกถึงความอยู่ดีกินดีของชาวแม่กำปองได้เป็นอย่างดี ด้วยทำเลที่ตั้ง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีความสูงเฉลี่ยราว ๑,๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปีและค่อนข้างจะหนาวจัดในฤดูหนาว ชาวบ้านแม่กำปองจึงมีอาชีพที่เหมาะสมในการทำสวนเมี่ยงและไร่ชา กาแฟ ซึ่งได้ผลดียิ่ง
จากบ้านแม่กำปองเดินทางต่อไปตามเส้นทางสายเดิม สภาพเส้นทางจะเปลี่ยนจากถนนคอนกรีตเป็นทางดินบนภูเขาที่แคบ คดเคี้ยว และสูงชัน รถที่ใช้ต้องเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่มีสมรรถนะสูง และคนขับมีความชำนาญในการขับบนเส้นทางวิบาก ราวกิโลเมตรเศษจากบ้านแม่กำปองจะถึงน้ำตกแม่กำปอง ซึ่งอยู่ริมทาง นับเป็นแหล่งพักผ่อนที่สำคัญของหมู่บ้าน เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีสายน้ำไหลรินไม่ขาดสายตลอดทั้งปี มีด้วยกันทั้งหมด ๗ ชั้น ชาวบ้านใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ รอบบริเวณร่มรื่น สามารถลงเล่นน้ำได้เป็นช่วง ๆ
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาเที่ยวบ้านแม่กำปองมักสิ้นสุดการเดินทางแค่น้ำตก เพราะเส้นทางต่อจากนี้จะยิ่งวิบาก แคบ คดเคี้ยว และสูงชัน แต่สำหรับนักขับที่ชอบเส้นทางวิบากอาจชื่นชอบ ระยะทางจากบ้านแม่กำปอง ผ่านน้ำตก ขึ้นไปถึงยอดดอยม่อนล้านนั้น เป็นเส้นทางขึ้นชันตลอดจนถึงยอดดอย ต้องใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างเดียวเท่านั้นและในช่วงหน้าฝนคงเลิดพูดถึงได้ บนจุดสูงสุดของเส้นทางสายนี้บริเวณยอดดอยม่อนล้านเป็นที่ตั้งของเหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ลาย-แม่ออน ดูแลปลูกป่าบนพื้นที่โล่งเตียนบริเวณยอดดอยที่สูงสุดในเทือกดอยแถบนี้
ย้อนหลังไปเมื่อราว ๓๐ ปีก่อน ยอดดอยม่อนล้านได้ถูกชาวม้งจากจังหวัดลำปางอพยพเข้ามาถากถางพื้นที่ทำไร่ฝิ่น จนชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่ากิ่วฝิ่น เมื่อพื้นที่เริ่มถูกถากถางขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านแม่กำปองก็กลัวว่าแหล่งต้นน้ำลำธารของพวกเขาบนดอยม่อนล้าน ซึ่งเป็นป่าที่ก่อกำเนิดลำธารหลายสาย เช่น ลำน้ำแม่กำปอง น้ำแม่ลาย น้ำแม่มอญ สายธารน้ำตกตาดเหมยจะถูกทำลายลงไป ชาวบ้านจึงรวมตัวกันแจ้งเจ้าหนัาที่ป่าไม้ ทางอำเภอจึงให้ทำการอพยพชาวม้งออกจากพื้นที่ และให้หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ลาย-แม่ออนเข้ามาดูแลปลูกป่าฟื้นฟูธรรมชาติ แม้นในปัจจุบันสนภูเขาที่ปลูกไว้จะเติบโตสูงใหญ่ แต่พื้นที่บางส่วนคงเห็นร่องรอยของการถากถางทำลายอยู่
บริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ลาย-แม่ออนนับเป็นจุดที่เหมาะกับการตั้งแคมป์ ด้วยน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่นด้วยทิวสน อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ของแนวสันดอยอันสลับซับซ้อนเบื้องล่างได้กว้างไกล ช่วงฤดูหนาวอากาศบนนี้จะเยือกเย็นจัด ในยามเช้ามักมีทะเลหมอกกล่องลอยอยู่เบื้องล่างดงซากุระที่ปลูกไว้เป็นทิวจะผลิดอกบานเต็มต้น นับเป็นภาพที่งดงามยิ่ง
จากบริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ลาย-แม่ออนนี้หากใช้เส้นทางสายเดิมถนนบนภูเขาสายนี้จะต่อลงไปยังเขตจังหวัดลำปาง ซึ่งยอดดอยม่อนล้านนี้จะเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด เส้นทางลงดอยตลอด แต่ค่อนข้างคดเคี้ยวและมีร่องน้ำลึก ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวัง ราว ๖ กิโลเมตรก็จะถึงบ้านป่าเมี่ยง และจากบ้านป่าเมี่ยงอีกราว ๓ กิโลเมตรก็จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนที่ ๖ หรือหน่วยฯ แม่ปาน ซึ่งสองข้างทางหากเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นยามที่เสี้ยวป่าออกดอกสีขาวอมชมพูบานเต็มต้นเป็นบริเวณกว้างบนเนินเขา นอกจากนี้บริเวณหน่วยฯ แม่ปานยังมีน้ำตกงาม ๓ แห่งด้วยกัน คือ น้ำตกผาลาด น้ำตกผาน้อย และน้ำตกตาดเอื้อ และหากจะสัมผัสกับธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนให้จุใจ ก็ต้องเดินทางต่อไปยังบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ซึ่งอยู่ห่างจากหน่วยฯ แม่ปานราว ๙ กิโลเมตร เส้นทางช่วงสุดท้ายนี้จะเป็นทางเดินสลับลาดยางเป็นช่วง ๆ กระทั่งถึงที่ทำการอุทยานฯ จากที่ทำการอุทยานฯ กลับเข้าลำปาง-เชืยงใหม่นั้น เส้นทางแสนสะดวกสบาย
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนมีพื้นที่ราว ๔๘๐,๐๐๐ ไร่ กินพื้นที่อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง นับเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีธรรมชาติผืนป่าอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกงามขนาดใหญ่ถึง ๓ แห่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ คือ น้ำตกแจ้ซ้อน น้ำตกแม่มอน น้ำตกแม่ขุน และยังมีน้ำพุร้อนธรรมชาติที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินบริเวณเดียวกันถึง ๙ บ่อ กินบริเวณเนื้อที่เป็นลานกว้างถึงราว ๒,๔๐๐ ตารางเมตร ซึ่งเป็นบ่อน้ำพุร้อนที่มาจากใต้ดินตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการเจาะต่อท่อลึกลงไปใต้ดินให้น้ำพุ่งขึ้นมาแบบปุด ๆ ไม่พุ่งสูงเสียดฟ้า แต่ก็เด่นที่เป็นบริเวณกว้าง ไอควันขาวลอยกรุ่นไปทั่วบริเวณ ในขณะที่อุณหภูมิของน้ำก็ร้อนเพียงราว ๗๓-๘๒ องศาเซลเซียส ไม่ร้อนจัดเหมือนน้ำพุร้อนสันกำแพง ใครที่ต้มไข่ในน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนก็ต้องใจเย็นรอถึงราว ๒๓ นาทีจึงจะสุก ในขณะที่สันกำแพงลงแช่แค่ ๕-๘ นาทีก็สุก
เส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อนจากสันกำแพงสิ้นสุดลงที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน คงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวแนะนำกันพอเป็นตัวอย่าง เพราะไม่ว่าจะแนะนำกันอย่างไรก็คงไม่เท่าการได้มีโอกาสได้เดินทางไปสัมผัสจริง ไม่เชื่อก็ต้องลองแวะไปพิสูจน์ดูกันเอง
แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก