ประเพณีภาคอีสาน และวัฒนธรรมประเพณีภาคอีสาน

          ประเพณีภาคอีสาน และวัฒนธรรมประเพณีภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเรื่องอะไรน่าสนใจบ้าง วันนี้เรามีเรื่องราวและความเป็นมาต่าง ๆ มาให้อ่านกัน มีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

ประเพณีภาคอีสาน

          ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช มีแม่น้ำโขงกั้นเขตทางตอนเหนือ และตะวันออกของภาค โดยทางด้านใต้จรดชายแดนกัมพูชา ทางตะวันตกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นแยกจากภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเทือกเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูกระดึง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของชาวอีสาน เช่น ลำตะคอง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลอีสาน มีเนื้อที่ประมาณ 170,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ กว่า  20 จังหวัด ดังนี้

          - จังหวัดนครราชสีมา
          - จังหวัดกาฬสินธุ์
          - จังหวัดขอนแก่น
          - จังหวัดชัยภูมิ
          - จังหวัดนครพนม
          - จังหวัดบุรีรัมย์
          - จังหวัดบึงกาฬ
          - จังหวัดมหาสารคาม
          - จังหวัดมุกดาหาร
          - จังหวัดยโสธร
          - จังหวัดร้อยเอ็ด
          - จังหวัดเลย
          - จังหวัดสกลนคร
          - จังหวัดสุรินทร์
          - จังหวัดศรีสะเกษ
          - จังหวัดหนองคาย
          - จังหวัดหนองบัวลำภู
          - จังหวัดอุดรธานี
          - จังหวัดอุบลราชธานี
          - จังหวัดอำนาจเจริญ

          ทั้งนี้ในเรื่องของภาษาที่ใช้ในภาคอีสานนั้น อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อาทิ ภาษาหลักที่ใช้คือ ภาษาอีสาน ซึ่งถือว่า เป็นภาษาลาวสำเนียงหนึ่ง แต่ในตัวเมืองใหญ่ ๆ มักนิยมใช้ภาษากลาง ขณะที่บริเวณอีสานใต้นิยมใช้ภาษาเขมร และยังมีภาษาถิ่นอื่น ๆ เช่น ภาษาผูไท ภาษาโส้ ภาษาไทยโคราช เป็นต้น

          เนื่องภาคอีสาน เป็นภาคที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน ดนตรีพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน และศิลปะการฟ้อนรำ ดังนั้นทางกระปุกดอทคอม จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาคอีสานมาฝากค่ะ

เพลงพื้นบ้าน

          สำหรับเพลงพื้นบ้านของภาคอีสานนั้น จะมีท่วงทำนองแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้แก่ อีสานเหนือ และอีสานใต้ ซึ่งเพลงพื้นบ้านของภาคอีสาน มักสอดแทรกแง่คิด เกี่ยวกับวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน และสามารถแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้าน ได้ดังนี้

1. เพลงพิธีกรรม

          ตัวอย่างเพลงพิธีกรรมของกลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ การลำพระเวส หรือการเทศน์มหาชาติ การแหล่ต่าง ๆ การลำผีฟ้ารักษาคนป่วย การสวดสรภัญญะ และการบายศรีสู่ขวัญในโอกาสต่าง ๆ ฯลฯ

ประเพณีภาคอีสาน
ภาพจาก TEE1712 / Shutterstock.com

          ส่วนตัวอย่างเพลงพิธีกรรมของกลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ เรือมมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า "เรือมมม็วต" จะช่วยให้คนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการทุเลาลงได้ ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน แต่จะต้องมีหัวหน้าหรือครูมม็วตอาวุโสทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีต่าง ๆ และเป็นผู้รำดาบไล่ฟันผีหรือเสนียดจัญไรทั้งปวง

2. เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน

          กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ หมอลำ ซึ่งแบ่งได้ 5 ชนิด คือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน หมอลำผีฟ้า

          กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ กันตรึม เจรียง เพลงโคราช

เดินท่องแดน… วัฒนธรรมและประเพณีภาคอีสาน
ภาพจาก Satin / Shutterstock.com

          ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของภาคอีสานมักนิยมประดิษฐ์การฟ้อนรำขึ้นมาใหม่ ทำให้มีผู้แบ่งศิลปะการฟ้อนทั้งชุดเก่า และชุดใหม่ที่ปรากฏอยู่ในภาคอีสานออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะออกมาในรูปของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่

          1. การฟ้อนเลียนกิริยาอาการของสัตว์ เช่น กระโนบติงต๊อง แมงตับเต่า และกบกินเดือน ฯลฯ

          2. การฟ้อนชุดโบราณคดี เช่น ระบำบ้านเชียง รำศรีโคตรบูรณ์ ระบำพนมรุ้ง และระบำจัมปาศรี

          3. การฟ้อนประกอบทำนองลำนำ เช่น ฟ้อนคอนสวรรค์ รำตังหวาย เซิ้งสาละวัน และเซิ้งมหาชัย

          4. การฟ้อนชุดชุมนุมเผ่าภูไท 3 เผ่า คือ เผ่าไทภูพาน เผ่าไทยบุรีรัมย์ และเผ่าไทยโคราช

          5. การฟ้อนด้วยเรื่องราวจากวรรณกรรม เช่น มโนห์ราเล่นน้ำ

          6. การฟ้อนเซ่นสรวงบูชา เช่น ฟ้อนภูไท แสกเต้นสาก โส้ทั่งบั้ง เซิ้งผีหมอ ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทดำ เรือมปัลโจล ฟ้อนแถบลาน รำบายศรี เรือมมม็วต เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางด้ง รำดึงครกดึงสาก และเซิ้งเซียงข้อง ฯลฯ

          7. การฟ้อนศิลปาชีพ เช่น รำตำหูกผูกขิก ฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง เรือมกลอเตียล (ระบำเสื่อ) เซิ้งสาวย้อตำสาด รำปั้นหม้อ รำเข็นฝาย เซิ้งสาวไหม รำแพรวา เซิ้งข้าวปุ้น รำบ้านประโคก เซิ้งปลาจ่อม เซิ้งแหย่ไข่มดแดง และเรือมศรีผไทสมันต์ ฯลฯ

          8. การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เช่น เซิ้งแคน ฟ้อนชุดเล่นสาว เป่าแคน รำโปงลาง ฟ้อนกลองตุ้ม เซิ้งกะโป๋ เซิ้งทำนา เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง รำโก๋ยมือ รำกลองยาวอีสาน ระบำโคราชประยุกต์ เรือมอันเดร เรือมซันตรูจน์ เรือมตลอก (ระบำกะลา) และเรือมจับกรับ ฯลฯ

เครื่อนดนตรีพื้นบ้าน

          เนื่องจากภาคอีสาน เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ทั้งเพลงพื้นบ้าน และการฟ้อนรำ ดังนั้นชาวอีสานจึงให้ความสำคัญกับเครื่องดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงท่วงทำนองต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น เครื่องดนตรีของชาวอีสาน จึงมีครบทุกประเภท ทั้ง ดีด สี ตี เป่า อาทิ

ประเพณีภาคอีสาน
ภาพจาก Thammanoon Khamchalee / Shutterstock.com

          จะเข้กระบือ : เครื่องดนตรีสำคัญที่ใช้ในวงมโหรีเขมร เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดในแนวนอน มี 3 สาย 
          
          กระจับปี่ : เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด โดยใช้กระที่ทำจากเขาสัตว์ กล่องเสียงทำ ด้วยไม้ขนุนหรือไม้สัก
       
          พิณ : เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยการดีด มี 2-3 สาย แต่ขึ้นเป็นสองคู่ โดยขึ้นคู่ 5

          ซอกันตรึม : เป็นเครื่องสายใช้สี ทำด้วยไม้ กล่องเสียงขึงด้วยหนังงู มีช่องเสียงอยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ

          โปงลาง : เป็นเครื่องดนตรีประเภทที่บรรเลงทำนองด้วยการตี โดยใช้บรรเลงร่วมกันกับแคน 
  
          กลองกันตรึม : เป็นเครื่องหนังชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ขุดกลวง ขึงหน้าด้านหนึ่ง ด้วยหนังดึง ให้ตึงด้วยเชือก
           
          หืน : เป็นเครื่องดนตรีกึ่งดีดกึ่งเป่าอย่างหนึ่งมีทั้งที่ทำด้วยไม้ไผ่ และโลหะ โดยมีการเซาะร่องตรงกลางเป็นลิ้นในตัว

          แคน : เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของชาวภาคอีสานเหนือ

          โหวด : เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ไม่มีลิ้น เกิดจากกระแสลมที่เป่าผ่านไม้รวก  
     
          ปี่ไสล : ใช้บรรเลงในวงกันตรึม เป็นปี่ประเภทลิ้นคู่ เช่นเดียวกับปี่ในที่มีลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว และมีลิ้นในตัว

          กรับคู่ : เป็นกรับทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเหมือนกับกรับเสภาของภาคกลาง     

นิทานพื้นบ้าน

          นิทานพื้นบ้านของภาคอีสาน ต่างมีรูปแบบทั้งนิทานขนาดสั้น และนิทานขนาดยาว โดยบางเรื่องอาจหยิบยกเรื่องใกล้ตัวมาเล่า ขณะที่บ้างเรื่องเป็นนิทานที่สอดแทรกจินตนาการ โดยเฉพาะเรื่องอภินิหารต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ด้านความบันเทิงแล้ว นิทานพื้นบ้านของภาคอีสานมักสอดแทรกคติธรรม คำสอน เพื่อให้ผู้ฟังได้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตให้มากขึ้น 

          ทั้งนี้ นิทานพื้นบ้านของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อาทิ แก้วหน้าม้า อุทัยเทวี นางสิบสอง ปลาบู่ทอง กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นางผมหอม ผาแดงนางไอ่ ทุ่งกุลาร้องไห้ ขูลูนางอั้ว ฯลฯ

การละเล่นพื้นเมือง

          เนื่องจากภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้ง เพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก ดังนั้นจึงสามารถหาความบันเทิงได้ทุกโอกาส โดยจะมีทั้งการร้องเพลง  และฟ้อนรำ ทั้งนี้ การแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล และลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลา และจังหวะในการก้าวเท้า ที่มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวลกว่า และมักเดินด้วยปลายเท้า โดยจะสบัดเท้าไปข้างหลังสูง

          ซึ่งตัวอย่างเพลงพื้นเมือง ที่มักนิยมขับรองกัน ได้แก่ หมอลำ เพลงโคราช เจรียง กันตรึม เพลงล่องโขง เพลงแอ่วแคน ขณะที่ การฟ้อนรำ ได้แก่ แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งโปงลาง  เซิ้งตังหวาย  เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฟ้อนภูไท เป็นต้น

เดินท่องแดน… วัฒนธรรมและประเพณีภาคอีสาน

เดินท่องแดน… วัฒนธรรมและประเพณีภาคอีสาน

เครื่องแต่งกาย

          ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดูการทำนา หรือว่างจากงานประจำอื่น ๆ ดังนั้นใต้ถุนบ้านของชาวอีสานในอดีตจะมีการกางหูกทอผ้ากันไว้แทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงในวัยต่าง ๆ จะสืบทอดการทอผ้าตั้งแต่เด็ก โดยผ้าทอมือเหล่านี้ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย และผ้าไหม และจะถูกนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนของฝ่ายหญิง รวมถึงเป็นการผ้าที่ทอไว้สำหรับฝ่ายชายด้วย 

ผ้าทอของภาคอีสาน สามารถจำแนกออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

เดินท่องแดน… วัฒนธรรมและประเพณีภาคอีสาน

          1. ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยผ้าทอชนิดนี้จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสี

          2. ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่าง ๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ดังนั้นผ้าทอจึงมักมีลวดลายสวยงาม และมีสีสันหลากหลาย

          ทั้งนี้ จะมีประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือการลงข่วง โดยบรรดาสาว ๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่าง พิณ แคน โหวต มาบรรเลงจ่ายผญาโต้ตอบกัน

ประเพณีภาคอีสาน

          เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม เช่น กลุ่มอีสานใต้ คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีสีสันแตกต่างจากกลุ่มไทยลาว

          อย่างไรก็ตาม รูปแบบการแต่งกายของชาวอีสานทั่ว ๆ ไป คือ  ผู้ชาย มักนิยมสวมเสื้อ ม่อฮ่อม ซึ่งเป็นเสื้อแขนสั้นสีเข้ม ๆ  สวมกางเกงสีเดียวกับเสื้อจรดเข่า นิยมใช้ผ้าคาดเอวด้วยผ้าขาวม้า ขณะที่ ผู้หญิง มักสวมใส่ผ้าซิ่นแบบทอทั้งตัว สวมเสื้อคอกลม แขนยาว เล่นสีสัน แต่หากเป็นงานพิธีต่าง ๆ อาจมีการห่มผ้าสไบเฉียง สวมเครื่องประดับตามข้อมือ ข้อเท้า และคอ เพิ่มด้วย

เดินท่องแดน… วัฒนธรรมและประเพณีภาคอีสาน

เดินท่องแดน… วัฒนธรรมและประเพณีภาคอีสาน

อาหารประจำภาค

          ในปัจจุบัน อาหารจากภาคอีสาน ถือเป็นอาหารยอดนิยมที่แพร่หลายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งเมนูที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี ได้แก่ เมนูส้มตำ โดยเฉพาะส้มตำไทย ที่สามารถรับประทานได้ทุกที่ ทุกเวลา เนื่องจากส้มตำมีส่วนประกอบหลักคือผัก และสามารถรับประทานคู่กับ ข้าวเหนียว ข้าวสวย ขนมจีน ได้ตามที่ต้องการ

          นอกจากเมนูส้มตำแล้ว อาหารอีสานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้แก่ ลาบ ก้อย ข้าวเหนียวไก่ย่าง ปลาร้าหลน  ข้าวจี่  ผัดหมี่โคราช แกงอ่อม แกงผักหวานไข่มดแดง เป็นต้น

          จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้นำเสนอไปนี้ อาจเป็นเพียงการทำความรู้จักกับภาคอีสานในแบบภาพรวมเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ว ศิลปะ และวัฒนธรรมของภาคอีสานยังมีความสลับซับซ้อน และน่าค้นหาอีกมาก อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสก็อย่าลืมไปเยือนอีสานถิ่นไทย เพื่อลองไปเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายจากสถานที่จริงกันนะคะ

ประเพณีภาคอีสาน

ประเพณีภาคอีสาน



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
culture.go.th , isan.clubs.chula.ac.th , baanna.net , esanclick.com , ldd.go.th , nsru.ac.th



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประเพณีภาคอีสาน และวัฒนธรรมประเพณีภาคอีสาน อัปเดตล่าสุด 12 กันยายน 2562 เวลา 14:40:50 871,914 อ่าน
TOP
x close