w
หาดใหญ่-สงขลา เดินสวนทาง กลางสวนใหญ่ (อสท)
จริยา ชูช่วย...เรื่อง
นภดล กันบัว, กฤช วัฒนพฤกษ์...ภาพ
"มาแต่สวนเหอ?"
"หมัน มาอยู่แต่สวนวันสองวันก่อน เดี๋ยวทีมงานตามมา เห็นว่าแก่นี้ยังสวนสวย ๆ ลุย หาดใหญ่กะมีสวนสาธารณะน่าเที่ยว สงขลาเขากะมีสวนน้ำใหม่ ว่าอีไปแลสักหิด"
...................................
ในวันที่หลายโรงเรียนทางภาคใต้มีกฎห้ามพูดภาษาถิ่น และสนับสนุนให้นักเรียนพูดภาษากลาง ตลอดจนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ฯลฯ เพื่อต้อนรับการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า จะด้วยเจตนาดีของผู้สอนที่ต้องการให้ลูกศิษย์กลมกลืนกับคนภาคอื่น ๆ และดูไม่เป็นตัวตลก หากต้องอยู่ในบรรดาเพื่อนฝูงเมื่อยามไปร่ำเรียนและทำงานในต่างถิ่น หรือจะเหตุผลอื่นใดที่สุดแล้วแต่ หากแต่กฎนี้กำลังกลายเป็นเป็นปัจจัยสำคัญที่ค่อย ๆ เลือนวัฒนธรรมทางภาษา และหลอมทุกอย่างเข้าเป็นหนึ่งเดียวจนขาดเสน่ห์ในที่สุด
ครั้นเมื่อฉันยังได้ยินเสียงคำถามเชิงทักทายเช่นนี้ลอยอบอวลอยู่ในหาดใหญ่ สงขลา ปะปนกันไปท่ามกลางหลากวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม ก็ทำให้ใจขึ้นว่าเรายังคงเดินทางอยู่ในปลายด้านขวาน ถิ่นเดิมที่ยอมรับความแตกต่างของกันและกันได้อย่างน่าหลงใหล หากแต่ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเห็นมันไปอีกนานแค่ไหน
"มาคนเดียวหรือ?"
"ใช่ มาคนเดียววันสองวัน เดี๋ยวทีมงานจะตามมา เห็นว่าที่นี่มีสวนสวย ๆ หลายสวนที่หาดใหญ่ก็มีสวนสาธารณะน่าเที่ยว ที่สงขลาก็มีสวนน้ำแห่งใหม่ ว่าจะไปดูสักหน่อย"
ตกลงว่าครั้งนี้ ฉันมาสงขลา-หาดใหญ่ "แต่สวน" แต่ไม่ได้ไปแต่สวน ฉันไปหลายที่...จากเคยเดินสวนไปมาหันมามองหน้ากันมากขึ้น
ฉันตัดสินใจมุ่งหน้าสู่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลังเหตุการณ์ระเบิดห้างดังไม่กี่วัน ภารกิจไม่ได้ยิ่งใหญ่ คือมาดูความเป็นไปของผู้คนและแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นที่รัก ตลาดกิมหยง ซึ่งเป็นที่เที่ยวหาดใหญ่ ที่นายซีกิมหยง 1 ใน 4 ผู้นำ ที่วางรากฐานความเจริญของเมืองหาดใหญ่สร้างไว้
บนถนนศุภสารรังสรรค์ คือตลาดเก่าแก่ของเมืองหาดใหญ่ ศูนย์รวมผลไม้ต่างแดนจำพวกเกาลัด แอปเปิล ลูกไหน ลูกแพร อาหารแห้ง ขนมนำเข้าจากมาเลเซีย เรื่อยไปถึงถึงเสื้อผ้า ผ้าถุง ผ้าปาเต๊ะลายสวย ฯลฯ ก่อนเคยคึกคักด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา จนเคยอดสงสัยไม่ได้ว่า ไม้พายในกระทะคั่นเกาลัดของตลาดแห่งนี้ จะมีวันได้หยุดพักหมุนกับเขาบ้างไหมหนอ เพิ่งมาเห็นไม้พายนิ่งไปถนัดตาก็ครั้งนี้ ผู้คนก็ดูบางตา เห็นจะมีแต่ขาประจำในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงจับจ่ายใช้สอยตามปกติ
"ช่วงนี้ก๊ะขายไม่ค่อยดี แต่ของก๊ะหรอยเหมือนเดิม ไม่เชื่อลองชิมต่ะ พิตาซิโอ อัลมอนด์ เม็ดมะม่วง แมกคาเดเมียก็มี หมึกแห้ง อันทผาลัม ก็หรอยนะน้อง" แม่ค้ามุสลิมหน้าหวานในตลาดร้องเรียกลูกค้า แล้วยื่นเม็ดถั่วพิตาซิโอให้ชิม
ฉันปล่อยเวลาช่วงระหว่างกลางวันต่อกลางคืน บนถนนสายสำคัญใจกลางเมืองหาดใหญ่ ที่พอจะเดินไปเดินมาตามแนวเหนือใต้กันได้เพลิน ๆ โดยไม่อ่อนกำลังมากนัก คือถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 และ 3 รวมถึงถนนเสน่หานุสรณ์ ผู้คนตามเส้นทางดูมีปฏิกิริยาต่อคนรอบข้างมากขึ้น สายตาพิจารณาคนแปลกหน้ามากขึ้น หากแต่ไม่ได้สื่อถึงความไม่เป็นมิตรแต่อย่างใด ออกไปทางใส่ใจรายละเอียด และอยากถามไถ่เพื่อลบความคลางแคลงใจกันมากกว่า
ขณะที่ยกกล้องขึ้นถ่ายภาพตึกแถวทรงชิโน-โปรตุกีส ที่เหลือเด่นอยู่เพียง 8 คูหา บนถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 หลายสายตาต่างมองอย่างสงสัยว่าฉันยกกล้องขึ้นถ่ายอะไร เหนือกว่านั้นอาจมีคำถามในใจต่อว่าถ่ายไปทำไม หากเป็นช่วงเวลาปกติที่ผู้คนคึกคัก การกระทำเช่นนี้อาจไม่ได้อยู่ในสายตาของใครเลย การกระทำแบบเดิม ๆ มักถูกนำมาตีความใหม่ หลังเกิดสถานการณ์ไม่คุ้นชินในสถานที่ที่คุ้นเคยเสมอ แต่จะแปลกอะไรเพราะบ่อยครั้งที่บทสนทนาอันออกรส เริ่มต้นจากคำถามแคลงใจว่า "หนูมาทำอะไรตอนนี้"
ตึกเก่า 8 คูหา ท้าแดดลมมาแต่ปี พ.ศ. 2460 สร้างโดย นายจองถ่ำ แซ่จอง ชาวจีนจากปีนัง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาคนแรกของเมืองหาดใหญ่ ตัวตึกแถวตกแต่งด้วยเถาลวดลายดอกไม้และอาร์กตามประตูงามแปลกตา สีดั้งเดิมจากขาวหม่นเทา ถูกแปลงโฉมสะดุดตาแต่ไกล ทั้งส้ม ฟ้า เหลืองจัดจ้า ชนิดที่เรียกว่าถ้าหาไม่เจอก็แย่แล้ว
ส่วนตลาดดังฝั่งถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 คือ ตลาดสันติสุข และ ตลาดยงดี แหล่งขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องเสียง โทรศัพท์ นาฬิกา ไฟฉาย น้ำหอม รองเท้า เสื้อผ้า มีทั้งของจริง และของเลียนแบบ ต้องใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลตรวจสอบกันเอาเอง บรรยากาศไม่ต่างจากตลาดกิมหยงเท่าไรนัก คือเดินได้เพลินขึ้น และมีเวลาพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขายนานกว่าปกติ โดยไม่มีใครแสดงสีหน้าเบื่อหน่าย
ตกดึกเดินเรื่อยมายืนประจันหน้ากับห้างใหญ่ใจกลางเมือง คือ ห้างเซ็นทรัล พลาซ่า หาดใหญ่ และห้างลี การ์เดนส์ พลาซ่า บนถนนเสน่หานุสรณ์ ตัดกับแยกถนนประชาธิปัตย์ ยังมีโรงแรมเดอะ รีเจนซี หาดใหญ่ ซึ่งย่านนี้คือแหล่งธุรกิจที่ครึกครื้นที่สุดยามค่ำคืน
เงยหน้ามองห้างลี การ์เดนส์ พลาซ่า ตึกสูงกว่า 33 ชั้น ที่ยังปิดซ่อมแซมจากเหตุการณ์ระเบิด หากจะบอกว่าบรรยากาศหลังระเบิดกลับมาคึกคักตามปกติ ก็ดูจะสวนทางกับความจริงมากเกินไป ที่นี่ยังคงเงียบเหงากว่าปกติ แต่ก็ไม่มากจนดูวังเวงเท่าที่คิดไว้ ส่วนร้านรวงและโรงแรมอื่น ๆ เปิดให้บริการตามปกติ ฉันได้แต่ภาวนาให้สภาวะที่เงียบเหงาเช่นนี้ เป็นเพียงเพราะวันนี้ไม่ใช่วันหยุดสุดสัปดาห์ที่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียหลั่งไหลเข้ามา แต่จะดีที่สุดหากความเงียบเหงานี้ก่อตัวจากการลองย่ำราตรี "แต่สวน" ของฉันเอง
มาหาดใหญ่ ทำไมต้องไปสวนสารธารณะ (1)
สวนสาธารณะหลายแห่งเปรียบได้ดังปอดใหญ่ของคนเมือง สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่เอง นัยหนึ่งก็คงเป็นเช่นนั้น แต่นัยอื่นฉันรู้สึกว่าสวนสาธารณะแห่งนี้ "ครบ" ทั้งเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวหาดใหญ่ เป็นแหล่งกำเนิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ ของประเทศ เป็นศูนย์กลางจัดเทศกาลใหญ่ ๆ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นแหล่งการเรียนรู้ และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมือง สมกับเป็น สวนแห่งความสุข (Hatyai Park : Park of Happiness) ตามความตั้งใจของ ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่
สวนแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนกาญจนวนิชย์ ไม่ไกลจากโรงพยาบาลสงขลาครินทร์ อยู่บนที่ราบเชิงเขาคอหงส์ ปกคลุมด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ฉันตัดสินใจสองเดินทางชมสวนหลายรูปแบบ ทั้งรถยนต์ รถราง และมอเตอร์ไซค์ เพื่อหาการเดินทางที่ลงตัวกับตัวเองมากที่สุด
แรกนั่งรถยนต์ชมรอบสวนก็เห็นความงามในความรู้สึกปลอดภัย แต่ยังไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ส่วนการนั่งรถรางที่เป็นบริการของทางสวนสาธารณะ ซึ่งคิดค่าบริการรอบละ 50 บาทต่อคนนั้น ให้ความรู้สึกเหมือนย้อนเวลาไปทัศนศึกษาวัยเยาว์ สะดวกสบาย ปลอดภัย แต่ยังไม่รู้สึกเหมาะกับตัวเอง เพราะต้องบริหารเวลาการเข้าชมแต่ละที่ที่น่าสนใจในเวลาอันจำกัด และจำเป็นต้องกลับลงสู่พื้นล่างก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นเวลาที่สวยที่สุดของการชมนครหาดใหญ่จากมุมสูง ครั้นจะจับจักรยามซึ่งน่าจะเป็นพาหนะที่เหมาะกับสวนสาธารณะ ปั่นขึ้นไปก็ค้นพบว่าฉันสบประมาทความสูงสามร้อยกว่าเมตรจากระดับทะเลปานกลาง ของสวนสาธารณะแห่งนี้เกินไป เพราะทางขึ้นเขาชันและสูงมากทีเดียว แต่มีเลนจักรยานให้สำหรับนักปั่นเมาเทนไบก์ได้ฝึกกำลังขาโดยเฉพาะ
สุดท้ายมาตกหลุมรักกับการขี่มอเตอร์ไซค์นี่แหละ ลองขี่มุ่งหน้าไปตั้งต้นชมสวนจากด้านบน ค่อย ๆ ไต่ระดับลงมาลงสู่ด้านล่าง เริ่มจาก Hatyai Cable Car กระเช้าลอยฟ้าแห่งแรกของไทย ซึ่งมีบริการอยู่ 2 สถานี คือ สถานีพระพุทธมงคลมหาราชและสถานีท้าวมหาพรหม บนยอดเขาชุมสัก ระยะทาง 535 เมตร ระหว่างสองสถานียืดโยงความต่อเนื่องของทิวทัศน์อันยิ่งใหญ่เหนือเมืองหาดใหญ่ เห็นไกลถึงคุ้งน้ำของทะเลสาบสงขลา ด้วยความเร็วของกระเช้าราว 5 เมตร ต่อวินาที ใช้เวลาประมาณ 2 นาทีครึ่ง
หากแต่ในฐานะนักท่องเที่ยวยังมีคำถามในใจอยู่บ้างว่า ฉันต้องขี่รถขึ้นมาถึงจุดเกือบสูงสุดเพื่อจะนั่งกระเช้าไป-กลับ แล้วก็ต้องขี่รถตัวเองกลับสู่ด้านล่าง นั่นเสมือนกระเช้าลอยฟ้าทำหน้าที่พาชมวิวเพียงอย่างเดียว แทนที่จะเป็นอีกช่องทางการเดินทางจากด้านล่างสู่ด้านบนสำหรับคนที่ไม่มีรถส่วนตัว ที่น่าจะได้ทั้งความงาม ความประทับใจ และลดความพลุกพล่านของพาหนะได้ดี ซึ่งก็แว่วมาว่าแผนนี้เป็นโครงการลำดับต่อไปของเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่จะสร้างกระเช้าลอยฟ้าจากสวนสาธารณะขึ้นมายังองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม และสามารถเชื่อมต่อมายังสถานีพระพุทธมงคลมหาราชได้
บริเวณสถานีเคเบิลคาร์มีร้านเครื่องดื่ม เบเกอรีน่านั่ง เหมาะชมวิวเมืองหาดใหญ่ในอ้อมกอดเขาคอหงส์ได้ดี ฝั่งตรงข้ามคือ พระพุทธมงคลมหาราช มีความหมายว่า "ความเป็นสิริมงคลอันยิ่งใหญ่" เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง สูง 19.90 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในภาคใต้ และเห็นเด่นชัดจากเบื้องล่าง ถือเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง
ใกล้ ๆ กันคือ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์นครหาดใหญ่ หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า "หอดูดาว" อาคารทรงโดมเพิ่งเปิดใหม่ไม่ถึงครึ่งปี แต่ฉันมาถึงตอนกลางวันแสก ๆ เลยไม่แน่ใจว่าจะได้อะไรจากหอดูดาวบ้าง
"เคยมองพระอาทิตย์แบบเต็ม ๆ ตาตอนเที่ยงวันไหมคะ" เจ้าหน้าที่หอดูดาวกล่าวเชิญฉันขึ้นชั้นบนของอาคาร ซึ่งเป็นส่วนของโดมดูดาวหลังคาสามารถเปิดได้รอบทิศทาง มีกล้องโทรทัศน์แบบนิวโทเนียนและแบบหักเหแสงราว 30 ตัวเอี่ยมอ่อง เจ้าหน้าที่เปิดหลังคาออกนิด เล็งตำแหน่งให้ตรงกับพระอาทิตย์ ขยับองศากล้องโทรศัพท์กำลังขยายสูงให้เงากล้องทับเงาดวงอาทิตย์พอดี โดยไม่ใช้สายตาเล็งพระอาทิตย์โดยตรงแล้วเรียกให้ฉันดูบางอย่าง วัตถุสีส้มกลมโตอยู่ใกล้ตามาก มีจุดดำ ๆ เล็ก ๆ บนพื้นผิว
"จุดนั่นเขาเรียกว่า Sun Spot หรือจุดดับของดวงอาทิตย์ ตรงนั้นอุณหภูมิต่ำกว่าโดยรอบ แต่มีสนามแม่เหล็กปั่นป่วนสูง" เสียงแว่วมาทันทีราวรู้ว่าฉันกำลังสงสัยในจุดนั้นอยู่ หากวันปกติหอดูดาวจะเปิดให้ชมถึงสองทุ่ม ยกเว้นเสียว่าฟ้าปิดหรือฝนตก แต่หากเป็นช่วงที่มีปรากฏการณ์สำคัญบนฟากฟ้า หอดูดาวแห่งนี้ก็จะเปิดให้ร่วมชมปรากฏการณ์ด้วยกันเป็นกรณีพิเศษ
หลังลองหัดใช้กล้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่คู่กับน้องชายชั้นประถมอีกคน ซึ่งดูแล้วเหมือนน้องจะเรียนรู้ได้เร็วกว่ามาก เจ้าหน้าที่แนะนำให้ไปชมห้องดาราศาสตร์ด้านล่างต่อ ปูพื้นความรู้เรื่องบนท้องฟ้าทั้งหมดทั้งมวลด้วยนิทรรศการเนื้อหาแน่น ปิดท้ายที่ห้องท้องฟ้า IT ห้องวีดิทัศน์จัดฉายเป็นรอบ ๆ ให้คนใต้ฟ้าอย่างเราเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปของจักรวาล กาแล็กซี และสรรพสิ่งบนฟ้ามากขึ้น จนต้องเริ่มย้อนถามตัวเองว่า "มองท้องฟ้าครั้งต่อไปคุณนึกถึงอะไร"
มาหาดใหญ่ ทำไมต้องไปสวนสาธารณะ (2)
ที่ฉันบอกว่าสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่เป็นสวนแห่งศรัทธา ก็เพราะว่าบนเขาแห่งนี้นอกจากมีพระพุทธมงคลมหาราชแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ เช่น ท้าวมหาพรหม พระโพธิสัตว์กวนอิม พระสังกัจจายน์ เง็กเซียนฮ่องเต้ เทพกวนอู พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รังกาลที่ 5) ซึ่งศรัทธานี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะชาวหาดใหญ่ หากแต่เลื่อมใส่ไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน ที่เหมารถมาสักการะกันไม่ขาดสาย
ในวันร้อนเปรี้ยง ฉันขี่มอเตอร์ไซค์ลงมาด้านล่างสุด ตั้งใจเข้าชมสถานที่เย็นยะเยือกที่สุดของเมืองไทยที่สัมผัสได้ในระยะประชิด นั่นคือ หาดใหญ่ไอซ์โดม (Hatyai Ice Dome) ความเย็นติดลบ 15 องศาเซลเซียส อาจไม่ใช่อุณหภูมิคุ้นเคยของคนไทยสวมเสื้อกันหนาวตัวหนา ถุงมือที่มีบริการให้พร้อม ฟังคำบรรยายแล้วเข้าสู่ห้องปรับอุณหภูมิ พร้อมแหวกม่านเดินทางไปสู่อีกโลกหนึ่ง ปรากฏภาพหงส์และมังกรแกะสลักเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นประติมากรรมขึ้นแรก
แล้วทึ่งต่อกับความงามของประติมากรรมน้ำแข็งท่ามกลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน พระบรมมหาราชวัง แม้แต่พระพุทธมงคลมหาราช พระโพธิสัตว์กวนอิม ที่เราขึ้นไปสักกระบนยอดเขาคอหงส์ ช่างก็นำมาแกะสลักจำลองได้อย่างน่าทึ่ง ยังมีสไลเดอร์น้ำแข็งและเขาวงกตที่ไม่เคยว่างเว้นจากเด็ก ๆ และเมื่อหลุดพ้นเขาวงกต ก็พบกับน้องสุขใจ เจ้าแมสคอตตัวกลมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ยืนยิ้มรับอยู่ปลายทาง
ก่อนจะต่อเนื่องไปยังโซนเอเชีย รวมประติมากรรมเด่นของประเทศต่าง ๆ เช่น ซุ้มประตูบาหลี เมอร์ไลออนของสิงคโปร์ มัสยิดสีชมพูเมืองปุตราของมาเลเซีย และโซนที่เด็ก ๆ หลงรัก อย่างโซนสัตว์โลกล้านปี มีเจ้าไดโนเสาร์ ช้างแมมมอธ กวางเรนเดียร์ หมีขั้วโลกยืนตัวแข็งรอทักทาย ปิดท้ายที่บาร์น้ำแข็งล้วน ๆ เพราะไม่มีทั้งคนขาย ไม่มีคนซื้อ มีไว้สำหรับโชว์
กลับสู่โลกความจริงหลังหลุดหลงอยู่ในโลกน้ำแข็งเนื้อที่ 1,700 ตารางเมตร ราวครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่กำลังเหมาะสมกับสภาพร่างกายของคนเขตร้อนปกติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงส่วนบุคคล หากใครที่ทนไม่ไหว สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ขอออกก่อนได้
หาดใหญ่ไอซ์โดมปีที่ 3 ครั้งนี้ เป็นฝีมือแกะสลักน้ำแข็งกว่า 10,000 ก้อน ของช่างชาวจีนจากเมืองฮาร์บิน 30 ชีวิต ในใจก็คิดอยากเห็นฝีมือคนไทยที่ไปกวาดรางวัลแกะสลักหิมะในเทศกาลหิมะซับโปโร ประเทศญี่ปุ่น มาแกะสลักน้ำแข็งโชว์ผลงานอันวิจิตรให้คนไทยได้ดูบ้าง
หลังพระอาทิตย์คล้อยลับ กลับผุดสีสันของโคมไฟหลากสีหลากแบบ ในค่ำคืนส่งท้าย เทศกาลโคมไฟสีสันเมืองใต้ ครั้งที่ 6 พื้นที่ด้านหน้าของสวนสาธารณะถูกเนรมิตกลายเป็นเมืองแห่งแสงสว่างหลากโคมไฟ ทั้งโคมไฟเฉลิมพระเกียรติ โคมไฟนานาชาติ โคมไฟเทพนิยายและการ์ตูน ฯลฯ แม้ปีนี้จะลิ้นแสงโคมที่ดับลงแล้ว แต่รับรองว่าความอลังการของเทศกาลโคมไฟปีหน้าจะเพิ่มดีกรีความงดงามขึ้นอีกหลายเท่า
สวนน้ำแห่งใหม่ ใกล้เมืองสงขลา
ฉันเลิกไปสวนสัตว์และสถานที่จำพวกสวนสนุกมาสักระยะ ด้วยว่าเกรงใจเด็ก ๆ รุ่นหลาน หากเก็บอาการสนุกสนานเกินเหตุไม่อยู่ จนปฏิเสธไม่ได้เมื่อต้องมาทำงานที่สงขลานี่แหละ
สวนน้ำขนาดมหึมากว่า 10 ไร่ ตั้งอยู่บนเขารูปช้าง จุดชมวิวที่ดีจุดหนึ่งของจังหวัดสงขลา อยู่ในบริเวณเดียวกับสวนสัตว์สงขลา ลองจินตนาการดูว่าจะมีความสุขแค่ไหน หากได้เล่นน้ำหรือนอนนวดตัวในอ่างน้ำวน แล้วทอดสายตาแบบพาโนรามาไปไกลถึงทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย เห็นสะพานติณสูลานนท์ทั้ง 2 ช่วง ทอดเชื่อมเกาะยอกับบ้านน้ำกระจาย ฝั่งสงขลาแผ่นดินใหญ่ และเกาะยอกับบ้านเขาเขียวในอำเภอสิงหนคร
หรือหากใครที่คิดจะมาศึกษาประวัติศาสตร์เมืองสงขลา เริ่มต้นจากมุมสวนน้ำนี้ก็ไม่เลวเหมือนกัน เห็นที่ตั้งถิ่นฐานและสภาพภูมิศาสตร์เมืองสงขลาโดยสังเขปได้รอบ
สไลเดอร์รางคู่นำเด็ก ๆ สู่สระกว้าง ลึก 90 เซนติเมตร ด้วยความสนุกสนาน ขณะพ่อแม่ก็นอนแช่อ่างน้ำวนเย็น ๆ ลึกกว่าหน่อย ประมาณ 120 เซนติเมตร ได้บรรยากาศทั้งซีวิวและซิตี้วิวในคราเดียว บริเวณใกล้ ๆ สวนน้ำยังมีร้านอาหารครัวม่านทะเล และรีสอร์ทที่พัก 20 ห้อง ที่กินวิวสวยงดงามไม่แพ้กัน เรียกได้ว่ามาสวนสัตว์สงขลาที่เดียวได้ทั้งชมสัตว์ โดยเฉพาะไฮไลท์คือการเรียนรู้วิถีสัตว์ และป้อนอาหารนกแก้วมาคอว์ ได้ทั้งความชุ่มฉ่ำ ได้อิ่มท้อง และพักผ่อนครบถ้วน
เที่ยวเมืองสงขลาให้คุ้มอย่างไรใน 1 ชั่วโมง
ความตั้งใจทีแรกกะว่าจะท่องสงขลาเฉพาะสวนน้ำ เพราะด้วยวันเวลาที่จำกัดของการทำงานครั้งนี้ แต่ก็แฉลบเข้าเมืองสงขลาจนได้ เมื่อ คุณกฤช วัฒนพฤกษ์ พนักงานการตลาด ททท.สำนักงานหาดใหญ่ บอกว่าเพิ่งมีเส้นทางนั่งรถรางรอบเมือง ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
1 ชั่วโมง กับการ "นั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องสงขลา" ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจะเป็นไปได้อย่างไร ถือเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสงขลาที่น่าสนใจมาก ที่สำคัญเทศบาลนครสงขลาเขาให้บริการนี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีแค่กล่องรับบริจาคตามความสมัครใจวางอยู่เท่านั้น
รถรางจะวิ่งทั้งหมด 6 รอบ ทุกวัน เริ่มรอบแรก 09.00 น. รอบละประมาณ 1 ชั่วโมง หยุดพักกลางวัน 1 ชั่วโมง หมดรอบสุดท้ายเวลา 15.00 น. หากไม่รีบเร่งมากนักอยากให้เผื่อเวลามาถึงก่อนรถรางออกสักชั่วโมงสองชั่วโมง เหตุเพราะกำแพงเมืองเก่า ซึ่งเป็นจุดจอดรถรางอยู่ใกล้กับ พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ สถานที่เกิดและเป็นแหล่งรวมความทรงจำครั้งยังเด็กของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เชื่อว่าผู้ไปเยือนจะสัมผัสได้ถึงความทรงจำแสนเรียบง่ายของท่าน รูปทรงเป็นบ้านเรือนไทยทรงปั้นหยาแบบภาคใต้ติดกัน 2 หลัง แบ่งสัดส่วนเป็นห้องครัว ห้องนอน ห้องรับแขก ของที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของจำลอง แต่บ่อน้ำซ้ายมือของตัวบ้านคือบ่อน้ำใช้แต่ดั้งเดิม มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลการท่องเที่ยวของเทศบาลนครสงขลาประจำอยู่ด้วย
ส่วนด้านตรงข้ามกับกำแพงเมือง ฝั่งถนนวิเชียรชม คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา อาคารรูปทรงจีนผสมยุโรปสะดุดตา สร้างโดยพระยาสุนทรารักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนสงขลาและใกล้เคียง หากได้มาทำความรู้จักเมืองสงขลาก่อนนั่งรถรางที่นี่ น่าจะทำให้เข้าใจเมืองสงขลามากขึ้น
รถรางเริ่มสตาร์ท คนคับคั่งเต็มรถ โดยเฉพาะคนพื้นถิ่นที่อยากนั่งชมรอบบ้านตัวเองดูสักที เลาะผ่านหน้าตลาดทรัพย์สิน เพื่อเข้าสู่เมืองเก่าที่ผสมผสานหลากสถาปัตยกรรมทั้งแบบจีนและแบบชิโน-โปรตุกีส ในย่านถนนนครนอก นครใน จนสุดถนนผ่านประตูเมืองสงขลา เข้าสู่ชุมชนบ้านบน แหล่งรวม 3 วัฒนธรรมมุสลิม พุทธ และจีน นั่งรับลมเข้าถนนนางงาม ผ่านร้านอาหารขึ้นชื่อมากมาย เช่น ก๋วยเตี๋ยวเสี่ยงโชค ไอศกรีมผิว ร้านขนมบอก ร้านเกาะไทย บ้านหนมค้างคาว บ้านขนมไทยสอง-แสน ไอติมโอ่ง ก๋วยเตี๋ยวโรงงิ้ว ร้านข้าวสตู ก่อนจะเลาะผ่านหน้าโรงเรียนอนุบาลสงขลา เลี้ยวขวาไปชม "หาดชลาทัศน์" เห็นเกาะหนู เกาะแมวอยู่ไม่ไกล แล้วฟังตำนานการเกิดเกาะกันแบบเคลิ้ม ๆ
วนวงเวียนประติมากรรมคนอ่านหนังสือ สื่อให้เห็นว่าคนสงขลาให้ความสำคัญกับการอ่าน เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และชมประติมากรรมริมหาดอีกหลายชิ้น โดยเฉพาะประติมากรรมพญานาค เส้นผ่าศูนย์กลางลำตัว 1 เมตร 20 เซนติเมตร ที่แบ่งพญานาคเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัวที่พ่นน้ำอยู่บริเวณสวนสองทะเล ส่วนสะดืออยู่บริเวณสี่แยกสระบัว และส่วนหางอยู่บริเวณใกล้ ๆ ประติมากรรมคนอ่านหนังสือคล้ายให้จินตนาการว่าพญานาคเคลื่อนที่อยู่ตลอดแนวชายหาดแห่งนี้
ไปต่อตามเส้นทางผ่าน แหลมสมิหลา สวนสองทะเล แหลมสนอ่อน ผ่านทางขึ้น เขาตังกวน เขาน้อย แล้วกลับมายังกำแพงเมืองเก่าที่เดิม นับว่าเป็นการเที่ยวสงขลารวบรัดตัดตอนแบบ 1 ชั่วโมงที่คุ้มค่า และได้รู้จักเมืองสงขลาในภาพรวมคร่าว ๆ ดีทีเดียว ส่วนอย่างอื่นที่ได้ระหว่างทางนั่งรถราง เช่น รอยยิ้มพ่อค้าแม่ขาย เสียงทักทายหลายสำเนียง เรื่องราวบอกเล่าจากคนท้องถิ่นที่ผลัดเปลี่ยนขึ้นลง นั่นล้วนแล้วแต่คือกำไร
หากวันแรกคุณเดินทางมาสงขลา-หาดใหญ่ "แต่สวน" ด้วยความเหงาท่ามกลางเหตุการณ์ไม่ปกติ เชื่อว่าเมื่อถึงสิ้นการเดินทางวันสุดท้าย ความทรงจำจะเปล่าความเหงา แล้วรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นปกติ จนอยากเดินสวนทางอยู่กลางสงขลา-หาดใหญ่เช่นนี้ แม้ชีวิตจริงจะกำลังเดินทางกลับ "แต่สวน" ก็ตามที
คู่มือนักเดินทาง
อำเภอเมืองฯ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ เดินทางได้สะดวกหลายรูปแบบ มีที่พักให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ริมทะเลสบาย ๆ ไปจนถึงที่พักใจกลางเมืองย่านการค้า อาหารการกินคือจุดเด่นอีกอย่างของจังหวัดสงขลา เลือกได้ตั้งแต่รสชาติแบบปักษ์ได้ รสชาติแบบจีน และมุสลิม ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวถือว่ามีหลากหลายมาก เหมาะกับคนทุกเพศวัยและทุกกลุ่ม
การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรงไปทางอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่จังหวัดพัทลุง ตรงไปข้ามทางหลวงหมายเลข 43 อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ตรงไปเรื่อย ๆ จนถึงสี่แยกควนลัง เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 4 ขับไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงหาดใหญ่
หากจะไปยังอำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลาสามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ สายเก่า (ถนนกาญจนวนิชย์) และสายใหม่ (ถนนลพบุรีราเมศวร์) ประมาณ 26 กิโลเมตร
รถโดยสาร
จากสถานีขนส่งสายใต้ (ถนนบรมราชชนนี) มีรถออกไปอำเภอหาดใหญ่และอำเภอเมืองฯ สงขลาทุกวัน ในเวลาเช้าและเย็น แต่ช่วงเย็นจะมีจำนวนรอบมากกว่า สอบถามเพิ่มเติมที่บริษัทขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 เว็บไซต์ www.transport.co.th, บริษัทปิยะรุ่งเรืองทัวร์ (ปิยะทัวร์) โทรศัพท์ 0 2894 6330 – 2 และบริษัทสยามเดินรถ โทรศัพท์ 0 2894 6160 – 2
รถไฟ
มีรถไฟ 2 ขบวน คือ รถด่วนพิเศษ ขบวนกรุงเทพฯ-บัตเตอร์เวิร์ธ ลงที่ชุมทางรถไฟหาดใหญ่ ออกจากหัวลำโพงเวลา 14.45 น. และรถเร็ว ขบวนกรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลกลงที่ชุมทางรถไฟหาดใหญ่ ออกจากหัวลำโพง เวลา 15.10 น. ตรวจสอบก่อนเดินทางที่เว็บไซต์ www.railway.co.th
เครื่องบิน
มีเที่ยวบินไปหาดใหญ่ทุกวัน ตรวจสอบเที่ยวบินและข้อมูลเพิ่มเติมที่การบินไทย โทรศัพท์ 1566 เว็บไซต์ www.thaiairways.com, นกแอร์ โทรศัพท์ 1318 เว็บไซต์ www.nokair.com, แอร์เอเชีย โทรศัพท์ 0 2515 9999 เว็บไซต์ www.airasia.com
แผนที่นั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องสงขลา
สอบถามเพิ่มเติม
ททท.สำนักงานหาดใหญ่ โทรศัพท์ 0 7424 3747, 0 7423 1055 และ 0 7423 8518
สอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ โทรศัพท์ 0 7420 0000 หรือ เฟซบุ๊ก HatyaiPark
หาดใหญ่ไอซ์โดม เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 21.00 น. ราคาบัตร ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก (สูงไม่เกิน 150 เซนติเมตร) 100 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 150 บาท ส่วนผู้พิการ ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และเด็กสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร ชมฟรี โทรศัพท์ 0 7421 9333
Hatyai Cable Car เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 20.00 น. ราคาบัตร ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก (สูงไม่เกิน 150 เซนติเมตร) 50 บาท เด็กสวมเครื่องแบบนักเรียน/นักศึกษา และผู้ใหญ่สวมเครื่องแบบราชการ 50 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท โทรศัพท์ 0 7459 8555
สวนสัตว์สงขลาและสวนน้ำ ราคาบัตร ผู้ใหญ่ 70 บาท เด็กประถมศึกษาถึง ปวช. 20 บาท เด็ก ปวส.ถึงมหาวิทยาลัย ครู ทหาร ตำรวจ ในเครื่องแบบ 50 บาท ผู้สูงอายุ ภิกษุ สามเณร ชมฟรี มีค่ายานพาหนะต่างหาก โทรศัพท์ 0 7459 8838, 0 7459 8555 เว็บไซต์ www.songkhlazoo.com
สอบถามเรื่องรถรางชมเมืองสงขลา โทรศัพท์ 0 7431 1015 ต่อ 106
พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น.
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สงขลา เปิดบริการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ค่าเข้าชมคนละ 30 บาท ภิกษุ สามเณร นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ และผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ชมฟรี โทรศัพท์ 0 7431 1881
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 52 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2555