

โลกหลากใบในเบตง (อสท.)
ธเนศ งามสม...เรื่อง
นภดล กันบัว ธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ
1. ร่วมสัปดาห์แล้ว ที่เบตงปรากฏผ่านหน้าต่างชั้น 17 จากมุมมองดังกล่าว ผมเห็นเบตงได้เต็มตา อำเภอห่างไกลในจังหวัดยะลานี้คล้าย “ซ่อน” อยู่ในทิวเขาซับซ้อน แวดล้อมด้วยป่าดิบชายแดนรัฐเประและเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย
ในยามเช้า ขณะเสียงละหมาดกังวานแว่ว มองผ่านม่านหมอกลงไป มัสยิดกลางจะปรากฏราง ๆ ตรงเบื้องหน้า ถัดลงมาคือโบสถ์คริสต์ประดับไม้กางเขนใหญ่ ขณะวัดพุทธาธิวาสและศาลเจ้าแม่กวนอิมปรากฏอยู่บนไหล่เขาด้านขวา จากห้องพักชั้น 17 พูดได้ว่า เบตงเปลี่ยนไปในทุก ๆ โมงยาม ตัวเมืองซึ่งเบียดเสียดอยู่ในหุบเขามักห่มคลุมด้วยม่านหมอก หรือไม่ก็สายฝนที่โปรยปรายโดยไม่อาจคาดเดาเวลา โมงยามต่าง ๆ จึงคล้ายดั่งเฝ้ามองโลกหลากใบ โลกซึ่งโดดเดี่ยวห่างไกล ทว่ามากหลายอารมณ์และนิยาม
“ดูเหมือนจะแตกต่างนะครับ ทั้งไทยจีน ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคริสต์ แต่เราอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขมานานแล้ว” คุณมนูญ ข้าราชการกระทรวงศึกษาประจำเบตง เอ่ยขณะร่วมโต๊ะกาแฟในตลาดเช้า
“เรามาจากหลายจังหวัดค่ะ คุณตามาจากนครศรีธรรมราช ฉันมากชุมพร หลายคนมาจากเชียงราย” ป้าเล็ก ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ ๆ เอ่ยขึ้นมาบ้าง

ร้านกาแฟนี้อยู่ใกล้ตลาดสด จึงเป็นเหมือนแหล่งพบปะนัดหมาย ชายหนุ่มรอคอยหญิงสาว ชายชราสนทนากับมิตรร่วมวัย หญิงสาวคลุมฮิญาบแวะมาซื้ออาหาร สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) แวะมากินมื้อเช้า ก่อนออกไปตรวจตราความเรียบร้อยยังมุมเมืองต่าง ๆ
“ที่นี่แทบไม่มีเหตุร้ายแรงอะไรค่ะ มีแค่เรื่องจราจร มากสุดก็วิ่งราว” อส. หญิงในกลุ่มเล่า ชุดลายพรางดูอ่อนโยนเมื่อปรากฏยิ้มบนใบหน้า ในร้านกาแฟ ใครหลายคนแนะนำให้ลองหมี่ถังแตก ของกินพื้นเมืองเบตง หมี่ถังแตกทำจากข้าวเจ้า แบนเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว เมื่อนำไปผัดก็มีเส้นอื่น ๆ ให้เลือกอีก เช่น เส้นบะหมี่ เส้นหยก เส้นเล็ก เส้นมาม่า ผัดโดยไม่ใส่หมู ใส่แต่ผัก จึงเป็นมื้อเช้าที่นิยมแพร่หลาย ทั้งคนเบตงเชื้อสายจีน และพี่น้องมุสลิมซึ่งเคร่งครัดในศาสนา
ใครบางคนจึงเปรียบหมี่ถังแตกว่า เสมือน “ใบหน้า” ของคนเบตง ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย จะว่าไปก็คล้ายภาพเมืองในหุบเขา อาคารเบียดเสียดให้อารมณ์เมืองทันสมัย ขณะรอบ ๆ นั้นแวดล้อมด้วยป่าดิบและทิวเขาซับซ้อน ราวกับเบตงนั้นซ่อนโลกไว้อีกใบ
2. เหมือนเช่นทุกเช้า เสียงละหมาดแว่วกังวาน ม่านหมอกห่มคลุกทั้งมัสยิดและเมืองในหุบเขา ผมเดินฝ่าอากาศเย็นขึ้นไปที่ตลาด พระและเณรออกบิณฑบาต ผู้คนออกมาซื้อหาอาหาร ผลไม้และผักสด ๆ วางเรียงราย ดอกดาหลาสีสวยรอคนซื้อไปเป็นเครื่องเคียงขนมจีนและข้าวยำ อาหารพื้นถิ่นภาคใต้จากตลาด ผมแวะร้านกาแฟเจ้าเก่า กลิ่นหอมกาแฟล่องลอยในอากาศ ถัดไปไม่ไกลเป็น ร้านไต้ซีฮี้ ร้านติ่มซำขึ้นชื่อของเมืองนี้
“เราขายตั้งแต่ตี 4 คนเบตงเชื้อสายจีนนิยมมากินติ่มซำ ซาลาเปา กาแฟ ก่อนไปทำงานค่ะ” วไลรัตน์ แซ่จง ทายาทรุ่นที่ 3 บอกพลางยิ้มอารมณ์ดี ผู้คนที่มาอุดหนุนก็อารมณ์ดี ยิ้มแย้มทักทายอย่างคนรู้จักมักคุ้น ติ่มซำควันกรุ่น กาแฟเข้มหอม ซาลาเปา นุ่มหวาน เหล่านี้กระมังที่ทำให้ไต้ซีฮี้อยู่มานานกว่า 50 ปี
อิ่มเอมมื้อเช้า ผมแวะไปศาลเจ้าแม่กวนอิมบนไหล่เขา ในศาลเจ้าเก่าแก่ เปลวเทียนควันธูปล่องลอย อาบแสงซึ่งส่องลอดช่องหลังคาลงมาเป็นลำยาว เสียงประทัดดังแผดก้อง นักท่องเที่ยวชาวมาเลย์แวะมานมัสการไม่ขาดสาย เช้าวันนี้ผมเพิ่งพบนักท่องเที่ยวชาวยุโรปกลุ่มเล็ก ๆ และกลุ่มคนไทยที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ
“ตั้งแต่ปี 2547 นักท่องเที่ยวบ้านเราหายไป เพราะคิดว่าเบตงเหมือนเมืองอื่น ๆ ใน 3 จังหวัดภาคใต้” คุณวุฒิ มงคลประจักษ์ อดีตนายกเทศมนตรีนครเบตง ให้ความเห็นขณะหาเสียงเลือกตั้งวาระใหม่ กว่า 23 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งนายกเทศมนตรี เขาสร้างความแปลกใจแก่คนภายนอกด้วยโครงการใหญ่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอุโมงค์รถยนต์แห่งแรกในเมืองไทย ซึ่งเจาะทะลุภูเขา 268 เมตร ไปยังเขตเมืองใหม่ แต่นั่นก็ไม่น่าสนใจเท่าเขาดูแลเมืองอย่างไรให้สงบและปลอดภัย
“ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนเบตงทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา คืออาวุธสำคัญที่เราใช้ป้องกันตัวเอง” อดีตนายกเทศมนตรี 5 สมัย บอกคนต่างถิ่นแล้วก็ยิ้มภูมิใจ

ในช่วงบ่าย ผมไปเยือนมัสยิดกลางเบตง ศูนย์รวมศรัทธาของพี่น้องไทยมุสลิม ทอดตามองใกล้ ๆ อาคารสีครามนั้นดูตระหง่านงาม เย็นตาด้วยโดมสีฟ้าประดับจันทร์เสี้ยวและดวงดาว 13.30 น. ผมมีโอกาสเข้าร่วมในพิธีละหมาด วันศุกร์เช่นนี้ถือเป็นวันสำคัญ เพราะมีการละหมาดใหญ่ ผู้คนหลากวัยจึงเข้าร่วมเต็มมัสยิด ในยามเสียงสวดสอดประสาน กังวานนั้นไพเราะดุจเสียงฝนโปรยสาย นาฬิกาคล้ายหมุนเนิบช้า อามรณ์รับรู้มีทั้งสงบ งดงาม เย็นใจ...
“เราอยู่ร่วมกันด้วยใจ เราเป็นเพื่อนกันตั้งแต่ยังเล็ก งานแต่งไทยเชื้อสายจีนเราไปร่วม เรามีงานทางศาสนาเขาก็มา” อิสมะแอ หะยีมะนุส โต๊ะอิหม่ามแห่งมัสยิดกลาง กล่าวกับผมหลังเสร็จสิ้นพิธีละหมาด
เบตง มีประชากรอาศัยอยู่ราว 55,000 คน พี่น้องมุสลิมมีสัดส่วนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทว่านั่นกลับไม่ใช่เงื่อนไข หากคือน้ำใจที่มีแก่กันมาเนิ่นนาน ย้อนเวลากลับไป เบตงก่อร่างสร้างเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ยุคซึ่งเรือกลไฟเชื่อมจีนตอนใต้กับมลายูและสยาม ช่วงเวลานั้นชาวจีนที่อพยพมาจากเมืองกว่างซี คือกลุ่มคนแรก ๆ ที่เข้ามาก่อร่างสร้างตัวในเบตง พวกเขาได้รับมิตรไมตรีจากพี่น้องมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่มาก่อน จึงทยอยเดินทางเข้ามาอีกกลุ่มใหญ่ ด้วยผืนดินอันอุดม ยางพาราที่ลงแรงจึงให้ผลงอกงาม ไม่นานชุมชนก็ขยาย มีพ่อค้าชาวมาเลย์และยะลาเข้ามากันคึกคัก แม้การเดินทางในยุคนั้นจะยากลำบาก ต้องอาศัยเรือ ช้าง เกวียน และม้า...
เย็นวันนั้น ผมขึ้นไปนมัสการ พระมหาเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนไหล่เขาด้านทิศเหนือ องค์พระมหาเจดีย์อยู่ในวัดพุทธาธิวาส พุทธสถานคู่เมืองเบตงมากกว่า 80 ปี ขณะนมัสการพระบรมสาริริกธาตุ เสียงละหมาดเย็นก็กังวานแว่วมา ในโมงยามนั้นอารมณ์ต่าง ๆ คล้ายผสมกลมกลืนกัน ทั้งประหลาดใจ ลึกลับ เยือกเย็น คล้ายเข้าใกล้นิยามของคำว่า “ศรัทธา”
3. นอกจากภาพเมืองห่มหมอก เบตงยังซ่อนโลกไว้อีกหลายใบ จากเมืองในหุบเขา ผมฝ่าม่านหมอกออกไปเยือนพื้นที่เคลื่อนไหวเก่าของ พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (พคม.) ทางหลวงสายเบตง-ยะลา พาเราบ่ายหน้าขึ้นเหนือ สองข้างทางคือป่าดิบและทิวเขา ถึงกิโลเมตรที่ 4 เราแยกซ้ายผ่านชุมชนเก่าแก่ สวนยางพารา สวนผลไม้ ระหว่างทาง เราแวะชมบ่อน้ำพุร้อน ละลายไอขึ้นด้วยน้ำแร่อุ่นสบาย จากนั้นไปต่อไม่ไกลก็ถึง หมู่ปิยะมิตร 1 หนึ่งใน “กรม” ของ พคม.
ย้อนไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองโลกแบ่งออกเป็นสองขั้ว คือ ทุนนิยมกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เมื่อจีนประกาศตั้งสาธารณรัฐในระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2492 ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนจึงรวมตัวกันจัดตั้ง พคม.วาดหวังจะเปลี่ยนมาเลเชียให้เป็นประเทศสังคมนิยมเช่นกัน
ในยุคนั้น หนุ่มสาวชาวมาเลย์เชื้อสายจีนเคยร่วมขับไล่ญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ ก็ต่อสู้เรียกร้องเอกราชตลอดมา กระทั่งถูกปราบปรามอย่างหนัก พวกเขาจึงเลือกวิธีสู้รบแบบกองโจร จากเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ พวกเขาจัดหมวดหมู่เป็น 12 กรม แล้วถอยร่นมาเคลื่อนไหวในป่าเขาตะเข็บชายแดนไทย
ฝนโปรยละอองขณะเรามาถึงหมู่บ้านปิยะมิตร 1 หมอกขาวลอยเรี่ยทิวเขาหลังหมู่บ้าน ข้ามลำธารสายย่อม เดินตามทางซึ่งทอดเข้าไปในป่าสมบูรณ์ ผมก็พบตนเองอยู่ในแวดล้อมเก่าของ พคม.ลานกิจกรรมและสนามบาสเกตบอลแทรกซ่อนอยู่ใต้เรือนไม้ใหญ่ ป้อมยามซึ่งสร้างพรางอยู่ตามลาดเขา เสียงน้ำรินไหล แมลงกรีดปีกละลายบรรยากาศเงียบสงัด ร้างไร้ ข้าง ๆ โรงครัวเก่า และอาคารบัญชาการปรากฏ อุโมงค์ซอกซอนเข้าไปใต้ภูเขา

“เหมือนโลกอีกใบ” คือ คำนิยามระหว่างดุ่นเดินอยู่ภายในอุโมงค์ลึก 1 กิโลเมตร กว้าง 6 ฟุต นี้ขุดขึ้นช่วง พ.ศ. 2519 เพื่อใช้หลบภัย ด้วยการเคลื่อนไหวอันยาวนาน ภายในจึงมีทั้งห้องนอน ห้องถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียง รวมถึงห้องเก็บเสบียงอาหาร
“เราช่วยกันขุดร่วม 3 เดือนนะ ใช้หลบเครื่องบินทิ้งระเบิด ตอนนั้นเราสู้กับมาเลย์ เพราะมาเลย์ไม่มีประชาธิปไตย” อาเฉียง-ชายวัยล่วงชรา อดีตทหาร พคม. เล่าขณะพาชมเครื่องใช้เก่า ๆ บริเวณปากอุโมงค์
ก็เหมือนหนุ่มสาวในยุคนั้น สำหรับอาเฉียง คำว่า “ประชาธิปไตย” คือ นิยมของความเท่าเทียม ช่วงที่โลกเปลี่ยนจากสงครามบนสนามรบมาเป็นสงครามทางความคิด ความเชื่อ และศรัทธา
“ตอนเป็นหนุ่ม ผมก็คิดแบบนั้น หวังจะเปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมใหม่” ลุงหยาง อดีตทหาร พคม.แห่งหมู่บ้านปิยะมิตร 2 เล่าขณะเราไปเยือนในวันเดียวกัน กว่าสิบปีในป่าไพร เมื่อพบว่าโลกเปลี่ยน ชุดความคิดเดิมไม่อาจเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ ลุงหยางและสหายจึงวางอาวุธ ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

“ผมเลือกที่จะอยู่แผ่นดินไทย มีความสุขเมื่อได้อยู่ที่นี่” ลุงหยาง เอ่ยสั้น ๆ ยิ้มระบายบนใบหน้า ทุกวันนี้หมู่บ้านปิยะมิตร 2 กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมที่นี่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 เมื่อทรงทราบว่าป่าเขาบริเวณนี้ปลูกยางพาราไม่ได้ผล เนื่องจากความสูงและอากาศที่เย็นขึ้นตลอดปี พระองค์จึงทรงแนะแนวทางในการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ผ่านเวลามาสิบปีหุบเขาซึ่งเคยเป็นพื้นที่สู้รบดารดาษด้วยไม้ดอกหลากสี
วันที่เราไปเยือน เบญจมาศหลายชนิดกำลังพร้อมตัดดอกขาย ทั้งมังกรคาบแก้ว ลิลี คาร์เนชั่น หน้าวัว กุหลาบ และกล้วยไม้ ก็กำลังอวดดอกหลากสีสัน คืนนั้นเราพักค้างในโครงการฯ เพื่อจะตื่นลืมตามาพบหมอกขาวโรยห่มสวนหมื่นบุปผา อากาศหนาวเย็นราวกับอยู่บนดอย เสียงนกเล็ก ๆ ร้องแว่ว ผีเสื้อโบยบินไปตามแปลงดอกไม้ หากเพียงหลับใหลแล้วตื่นลืมตา คงไม่เชื่อว่ากำลังยืนอยู่ ณ ปลายเส้นเขตแดนภาคใต้

4. ร่วมสัปดาห์แล้วที่เบตงปรากฏผ่านหน้าต่างชั้น 17 ภาพต่าง ๆ ที่พบเห็นนั้นเปลี่ยนกลายตลอดเวลา หลังฝนโปรยหนาหนัก เหนือหุบเขากลับปรากฎแดดจัดจ้า รุ้งงามวาดโค้ง แต่เพียงไม่นานก็เลือนหายไปในสายหมอกขาว กลางวันคล้ายหดสั้น ขณะแสงไฟหลากสีของเมืองยื้อยืดค่ำคืนให้ยาวนาน นักท่องเที่ยวชาวมาเลย์เดินกันขวักไขว่ บ้างเข้าออกสถานบันเทิง นั่งจิบกาแฟหย่อนใจ เดินทอดน่องท่องเมือง ตระเวนลองเมนูใหม่ ๆ ตามร้านอาหาร ความที่อีกฟากเส้นพรมแดนบรรยากาศเข้มงวด สถานเริงรมย์คือสิ่งผิดกฎหมาย ชาวมาเลย์จึงข้ามมาพักผ่อนในเบตงไม่ขาดสาย
ร่วมสัปดาห์ที่อยู่ที่นี่ ยามเย็น ผมมักออกไปเดินเล่นชมเมือง แวะกินโรตีเจ้าอร่อยตรงสี่แยกหอนาฬิกา แล้วยืนมองฝูงนกนางแอ่นบ้านนับพันนับหมื่นบินกลับมาเกาะนอนตามสายไฟ พวกเขาจะปรากฎหลังตะวันคล้อยลับ และบินจากไปก่อนแสงแรกจะส่องฉาย เป็นเช่นนี้ทุก ๆ วัน เนิ่นนานมาหลายสิบปี

ในวันสุดท้าย ผมแวะไปหอนาฬิกาเหมือนเช่นทุกเย็น ขณะยืนมองฝูงนกนางแอ่นบ้านบินร่อน จู่ ๆ ผมก็นึกถึงเบตงในอีกใบหน้า เบตงซึ่งจะปรากฏเพียงใต้แสงไฟ ในโลกซึ่งความมืดละลายหาย ความเงียบหลับใหล เป็นโลกซึ่งแทรกซ่อนอยู่ในโลกอีกใบ
คู่มือนักเดินทาง
เบตงเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวะยะลา ตัวเมืองอยู่ห่างจากพรมแดนรัฐเประและเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เพียง 7 กิโลเมตร พูดได้ว่าเบตงเป็นเมืองน่าไปเยือนใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ด้วยบรรยากาศสงบสุข ปลอดภัย มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจหลากหลาย เช่น โครงการไม้ดอกเมืองหนาว อุโมงค์ปิยะมิตร บ่อน้ำพุร้อน วัดพุทธาธิวาส ศาลเจ้าแม่กวนอิม และตัวเมืองซึ่งมากหลากสีสัน

การเดินทาง







สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติม ได้ที่ ททท. สำนักงานนราธิวาส โทรศัพท์ 0 7352 2411 หรือที่ Call Center 1672
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 52 ฉบับที่ 10 พฤษภาคม 2555