x close

ทำบุญตรุษจีน ที่วัดเล่งเน่ยยี่ 2

 

ซุ้มประตูทางเข้าวัด



วิหารจตุโลกบาล



พระอุโบสถ

พระโพธิสัตว์กวนอิม พันกร
พระโพธิสัตว์ กวนอิม พันกร

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thaiweekender.com และ Oaddybeing


          เอ่ยชื่อ "วัด" คนสมัยนี้อาจเบือนหน้าหนี แต่หากใครได้ลองไป "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์" หรือ "วัดเล่งเน่ยยี่ 2" แล้ว อาจจะต้องลบภาพวัดสไตล์เดิม ๆ ในความคิดออกแทบไม่ทัน


          บนพื้นที่ 12 ไร่ ของตำบลโสนน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จากเดิมที่เป็นโรงเจขนาดเล็ก ปัจจุบันพื้นที่นี้ ได้กลายมาเป็นวัดขนาดใหญ่ ซึ่งคณะสงฆ์จีนนิกายได้สร้างเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสมหามงคลปีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี


          ใครที่เคยได้ยินชื่อของวัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) วัดชื่อดังของชาวจีน บริเวณถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช ก็ต้องบอกว่า "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์" นี้เป็นสาขาของวัดเล่งเน่ยยี่นั่นเอง โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้เสด็จเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชานุญาตให้สร้างวัด และพระราชทานนามว่า "วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์" ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 12 ปี ถึงแล้วเสร็จ และเพิ่งมีพิธีสมโภชเปิดวัดในเดือนมีนาคม 2551 นี้เอง




วิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ


ทำไมต้องสร้างวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์


          1. เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทิตาถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระมหาบูรพกษัตริย์ไทย ที่คณะสงฆ์จีนนิกายได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร


          2. เพื่อตั้งเป็นพุทธสถานให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีกรรมพร้อมทั้งเป็นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจีนนิกาย


          3. เพื่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ไทย-จีน เป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร และสร้างศาสนทายาทของพระพุทธศาสนาสืบไป


บานหน้าต่างไม้สักแกะสลักลวดลายจีน
บานหน้าต่างไม้สักแกะสลักลวดลายจีน

เทียนบูชาองค์พุทธเจ้า
เทียนบูชาองค์พุทธเจ้า


จุดเด่นของวัด


          ไฮไลท์ที่สำคัญของวัดบรมราชาฯ นี้คือ สถาปัตยกรรม ใครที่มาชมแล้ว อาจนึกคล้าย ๆ ไปถึงพระราชวังปักกิ่งเลยทีเดียว ซึ่งที่นี่ก็ตั้งใจสร้างให้เป็นพุทธศิลป์ในราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิงเช่นเดียวกับพระราชวังปักกิ่งอันเลื่องชื่อ ดังนั้นศิลปะต่าง ๆ ในวัดนี้จะเป็นแบบจีนล้วนๆ มีการวางผังตามแบบวัดพุทธศาสนานิกายฌาน มีการจัดวางวิหารถือตามแบบวัดหลวง โดยมี "วิหารจตุโลกบาล" เป็นวิหารแรก ภายในวิหารเป็นที่ตั้งของพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง บริเวณสี่มุมของวิหารเป็นที่ตั้งของท้าวจตุโลกบาล


          ถัดมาเป็น "พระอุโบสถ" ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระประธาน 3 องค์ ได้แก่ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระอมิตตาภพุทธเจ้า และพระไภษ์คุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต มีภาพพระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าแกะสลักอยู่รอบพระอุโบสถ


พระอุโบสถ
พระอุโบสถ


          หลังพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของ "วิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ" หรือ "บ่วงฮุกโต่ย" ภายในวิหารแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระอมิตาภพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวร และพระมหาสถามปราบต์โพธิสัตว์ ถ้าเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธมหายานแล้ว วิหารหลังนี้ก็เหมาะจะมาสงบจิตสงบใจ บำเพ็ญภาวนาเพื่อเข้าสู่ดินแดนสุขาวดี เมื่อล่วงจากภพนี้ไปแล้ว

         
          ลองเดินสำรวจวิหารแต่ละหลัง จะประดับด้วยลวดลายภาพเขียนสีพุทธศิลป์แบบจีนที่มีความวิจิตรงดงาม การตกแต่งและลวดลายทั้งหมด นอกจากจะละเอียด สวยงาม ยังแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่โอฬารของศิลปะจีนอีกด้วย ทีนี้ใครที่ไม่ อยากเสียเงินบินลัดฟ้าไปชมศิลปะจีนถึงปักกิ่ง จะลองแวะมาวัดใกล้กรุงอย่างนี้ ก็ไม่เลว นอกจากจะได้มากราบพระเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังได้ชื่นชมกับงามที่แปลกตาไปจากวัดอื่น ๆ ด้วย


วันเวลา และ การเดินทาง


          ที่นี่เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 08.00 น. วันจันทร์ ถึง ศุกร์ ปิด 5 โมงเย็น ส่วนเสาร์-อาทิตย์ เปิดถึง 6 โมงเย็น หากใครถนัดนั่งรถเมล์ ก็สามารถนั่งรถเมล์สาย 127 มาลงที่สุดสายตรงโรงพักบางบัวทอง เดินไปอีกไม่ไกลก็ถึงแล้ว


          หรือถ้าใครอยากขับรถไป ก็เดินทางไปตามเส้นบางบัวทอง ขึ้นสะพานพระนั่งเกล้าฯ เข้าถนนรัตนาธิเบศร์ ขับไปเรื่อยๆ จนเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกาญจนาภิเษก ขับไปแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตรงไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะสังเกตเห็นป้ายบอกทางเข้าวัด ขับไปอีกนิดเดียวก็เจอทางเข้าวัดแล้ว


แผนที่ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์

แผนที่ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์


       แต่ถ้าใครไปไม่ถูก สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ วัดบรมราชาฯ โทร. 0-2571-1155




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- board.agalico.com
- pantown.com
- rpst-digital.org
- thaiweekender.com
- lengnoeiyi.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำบุญตรุษจีน ที่วัดเล่งเน่ยยี่ 2 อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15:03:51 33,945 อ่าน
TOP