x close

บางโรง-เกาะนาคาใหญ่ มีป่าเป็นโต๊ะทำงาน มีบ้านเป็นทะเล

ภูเก็ต

บางโรง-เกาะนาคาใหญ่ มีป่าเป็นโต๊ะทำงาน มีบ้านเป็นทะเล (อสท.)

จริยา ชูช่วย...เรื่อง
นภดล กันบัว, ธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ

          ถ้าบ้านเรามีทุกอย่าง เราจะอยากไปไหนไหม...ประโยคง่าย ๆ ที่ทำให้ฉันอยากเล่าต่อถึงเรื่องราวการเดินทางครั้งนี้ อ่านจบเพียงตอบตัวเองได้ว่า เพราะบ้านเราไม่มีสิ่งที่อยากมี เราจึงดั้นด้นไปที่อื่น หรือเราไม่เคยมองเห็นสิ่งที่มีอยู่ เราจึงออกนอกบ้าน...เท่านี้ก็บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้เขียนแล้ว ส่วนใครจะคิดไกลไปถึงทำอย่างไรให้คนอื่นมองเห็นเราอยู่ในบ้าน และอยากมาเยี่ยมบ้านเรานั้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าทะลุเป้า

          ลองอ่านเรื่องเล่าชวนเที่ยวของ ชุมชนบ้านบางโรง และ ชุมชนเกาะนาคาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ที่แต่ละวันชีวิตของพวกเขาผูกพันอย่างเหนียวแน่นอยู่ไม่กี่ที่ อย่าง ทะเล ศาสนา ป่า และการท่องเที่ยว แต่เชื่อไหมทั้งหมดอยู่ในที่ที่เดียว ที่ที่พวกเขาเรียกว่า...บ้าน

ภูเก็ต

          1. ปลายมกราคม อากาศขุ่นมัวทั้งที่เป็นฤดูกาลรื่นเริงของฟ้าสวยทะเลใสแห่งฟากอันดามัน เราตัดผ่านอำเภอเมืองภูเก็ต ซึ่ง คุณสุรจิต มรมาน ได้เล่าไปอย่างละเอียดในสารคดีก่อนหน้า เพื่อมุ่งหน้าสู่ บ้านบางโรง หมู่ที่ 3 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง ชุมชนปากอ่าวระหว่างภูผากับทะเล ปลายผืนดินเล็ก ๆ ของเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันออก ซึ่งได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุมชนดีเด่น ของการ่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประจำปี 2553

          ท้าย มัสยิดนูรุ้ลบัญณนะห์ บ้านบางโรง ริมทางหลวงหมายเลข 4027 คือสถานที่นัดหมายของเรากับ บังหมาด ประเสริฐ ฤทธิ์รักษา พี่ชายใจดีที่รับหน้าที่นำชมบ้านตัวเอง และทุกครั้งที่เกิดการนัดหมายระหว่างวัน บังหมาดจะตอบชัดว่า เจอกันที่มัสยิด ได้ยินบ่อยพอ ๆ กับทุกครั้งที่พูดถึงมัสยิด ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มัสยิดหลังใหญ่ราคาหลายสิบล้านนี้ เราสร้างจากศรัทธาและเงินตราที่ได้จากกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน ไม่ได้พึ่งงบประมาณจากหน่วยงานอื่นใด ยืดหลักอิสลามในการดำเนินงาน ใช้ระบบหุ้นส่วน การร่วมลงทุน การฝากรักษาทรัพย์ การขายสินค้าบวกกำไร จนกลายเป็นกลุ่มออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง มีชุมชนใกล้เคียงมาดูงานไม่ขาดสาย

          จากมัสยิดเดินทางย้อนกลับไปทางเมืองภูเก็ตไม่ไกล เลี้ยวขวาเข้าไปทางป้าย หน่วยพิทักษ์ป่าบางแป (เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว) "ผัวววววววววววว ผัวววววววว วี้ด ๆๆ" เสียงโหยหวนปะทะหูทันทีที่เปิดประตูรถ เรากำลังเข้าสู่พื้นที่โครงการคืนชะนีสู่ป่า ของมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย

          กรงขนาดใหญ่แบ่งแยกชะนีแต่ละตัวออกจากกัน มีอาสาสมัครชาวต่างชาติช่วยกันแบกขนอาหาร ทำความสะอาดพื้นที่ แล้วเหตุใดชะนีจึงมีชีวิตในกรง เพราะตลอดช่วงอายุประมาณ 30 ปีของชะนี บางช่วงดี บางทีก็ซวยเหมือนคน หลายตัวถูกจับมาครั้งยังเป็นลูกชะนีแบเบาะ โดนฝึกจนกลับเข้าป่าไม่เป็น หลายตัวโดนทำร้ายจนพิการ บ้างเพียงเปลี่ยนแปลงตามอายุก็ถูกทอดทิ้ง จากที่เคยเล็กน่ารักน่าชัง ใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน พาไปถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวได้ ครั้นพออายุ 6 – 7 ปี เข้าสู่วัยรุ่น มีนิสัยดุร้ายตามสัญชาตญาณ ก็หาว่าป่าเถื่อนดุร้าย ปล่อยทิ้งขว้าง ทางโครงการจึงรับหน้าที่ฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ฝึกการใช้ชีวิตในป่า และเปิดโอกาสให้ชะนีเจริญวัยหาคู่ โดยให้ปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยที่สุด ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ และติดตามความเคลื่อนไหวจนมั่นใจว่า ชะนีสามารถมีชีวิตรอดปลอดภัยในป่าได้เอง

น้ำตกบางแป

          เสียงโหยหวนยังไม่จาง ตามเส้นทางเลียบธารน้ำ พาเราเดินสู่ น้ำตกบางแป หนึ่งในสองน้ำตกใหญ่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว ซึ่งเป็นต้นน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงชาวอำเภอถลาง จากน้ำตกบางแปสามารถเดินศึกษาธรรมชาติไปสู่ น้ำตกโตนไทร อีกฟากของเขาพระแทวได้

          ระยะทางราว 4 กิโลเมตร ของป่าดงดิบชื้นผืนสุดท้ายแห่งภูเก็ต จะพานพบความหลากหลายของพืชพรรณ เช่น ต้นหลุมพอ ต้นไทรยักษ์ เฟิร์น ชายผ้าสีดา เถาวัลย์สะคร้าน ที่สำคัญคือ ปาล์มหลังขาว ไม้เด่นหายาก พระเอกของเขาพระแทว

          น้ำตกบางแป ยามนี้น้ำไม่มาก เผยร่องน้ำลึกเกือบ 17 เมตร ให้สายน้ำทิ้งตัวไหลเอื่อยแต่ไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติที่มาเรื่อย เบาบาง แต่ไม่เคยร้างคน

ภูเก็ต

          2. ใต้ฮิญาบผืนงาม บางเบา เหลือบเห็นใบหน้าอ่อนเยาว์ของสาวน้อย กะประมาณด้วยสายตาไม่น่าเกินวัยประถม กำลังเร่งตักข้าวหมกไก่เข้าปากอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะวิ่งข้ามถนนไปยังมัสยิดฝั่งตรงข้าม ทันเวลาเข้าแถว 08.30 น. แบบเฉียดฉิว

          ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เด็ก ๆ บ้านบางโรงต้องมาเรียนศาสนาที่มัสยิดกันตั้งแต่เช้าถึงคล้อยบ่าย พอละหมาดบ่าย (ซุฮฺร) เสร็จก็ปล่อยกลับบ้าน ส่วนวันธรรมดาพวกเด็ก ๆ ก็เข้าเรียนโรงเรียนราษฎร์ตามปกติ ระหว่างเข้าแถวเห็นใครบางคนยืนพร่ำสอนเด็ก ๆ เขาไม่ใช่ครูตามระบบราชการ เพราะฉะนั้น เรื่องยศ เรื่องซีไม่มีในสารบบ เรื่องเงินเดือนจากหลวงก็ไม่มีแน่ มีแต่เงินที่ชุมชนจัดสรรให้จำนวนไม่มาก แต่ถึงแม้ไม่มีค่าตอบแทนก็ต้องทำ เพราะเป็นหน้าที่ติดตัวไปตลอดชีวิต เขาตอบชัดอย่างนั้น

ภูเก็ต

          "เป็นครูต้องเป็นตลอดชีวิตและตลอดเวลา สอนโดยเป็นแบบอย่างเราสอนให้เด็กไม่สูบบุหรี่ เราต้องไม่สูบ สอนให้เด็กไม่เล่นการพนัน เราต้องไม่เล่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ที่สำคัญคือสอนอย่างไรให้เขารักบ้านเกิด รักธรรมชาติ แล้วอยากอยู่ตรงนี้ ไปแล้วอยากกลับมาพัฒนาตรงนี้ อาชีพนี้ยากนะ ผลลัพธ์ไม่ได้อยู่ที่เงิน ผลลัพธ์ที่ได้คือความสุขใจ นี่แหละงานจิตอาสาโดยแท้จริง" โต๊ะครูปราโมทย์ มุ่งกุ้ง เล่าให้คนแปลกหน้าต่างศาสนาฟัง พร้อมคุมเด็กที่ขาดเรียนเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเก็บขยะรอบมัสยิด

          หลังเด็ก ๆ เข้าชั้นเรียน เราข้ามถนนลัดเลาะสวนยางไปชม ฟาร์มแพะ จำได้ว่าเคยเห็นแพะที่เลี้ยงแบบปล่อยอยู่บ้าง บ้านละ 2 – 3 ตัว แต่ฟาร์มแพะ 70 กว่าตัว ที่ บังหมาด บอกว่ามาถึงบางโรงแล้วต้องดู ยังนึกหน้าตาไม่ออก

          เรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ตีคอกโล่ง 2 หลัง แยกคอกตัวผู้ ตัวเมีย มอง ๆ ไปไม่ต่างจากบ้านคน ไม่ใช่เพราะลักษณะตัวคอกที่คล้ายบ้านทางภาคใต้เพียงอย่างเดียว แต่เพราะฟาร์มแพะที่นี่ไร้กลิ่น ซึ่งปกติแพะเพียงตัวสองตัวก็ส่งกลิ่นฉุนแรงไปทั่วแล้ว แต่ด้วย บังหนุด อะนะฝรั่ง เลี้ยงโดยใช้น้ำชีวภาพผสมน้ำให้แพะดื่ม ทำให้ฟาร์มแพะที่นี่ไม่มีกลิ่นกวนใจ

ฟาร์มแพะ

          ความน่ารักของแพะพันธุ์ทอกเกนเบิร์ก ตัวใหญ่ ขนปุกปุย รวมอยู่กับแพะพันธุ์บอร์ สีขาวพาดน้ำตาล และแพะนมพันธุ์ซาแนน สีขาวนวล ขนสวยมันแปลบ แสนเชื่อง ชอบเล่นกล้อง ใครไม่ตกหลุมรักให้มันรู้ไป

          หากมาในช่วงเช้าจะเห็นกรรมวิธีรีดนมแพะสด ๆ ด้วยมือ ได้ปริมาณน้ำนมต่อแพะ 1 ตัว ประมาณ 1 ลิตร ต่อวัน รีดเสร็จปุ๊บใครท้องไส้ดีก็ชิมได้เลย หรือไม่ก็นำไปต้มก่อนดื่ม กลิ่นนมแพะหอม รสมัน คาว ชัดกว่านมวัว แถมมีประโยชน์เด่นช่วยลดอาการภูมิแพ้ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นเหมือนนมแม่ และเหมาะกับคนที่มีอาการแพ้นมวัว

แพะ

          รีดนมเสร็จ บังหนุด จะปล่อยให้แพะทั้งหมดเดินอย่างอิสระโดยรอบพื้นที่ นั่งมองแพะเล็มหญ้า มีเขาพระแทวเป็นฉากหลัง นับเป็นภาพแปลกตาที่งดงามไม่น้อย เมื่อกินหญิงอิ่มแล้ว คนเลี้ยงไม่ต้องออกแรงไล่ต้อนให้เหนื่อย เขาจะเดินกลับเข้าคอกใครคอกมันเอง คนเลี้ยงมีหน้าที่เพียงเดินไปปิดประตูคอกเท่านั้น ที่สำคัญแพะที่นี่กวาดรางวัลมาแล้วหลายเวที โดยเฉพาะรางวัลที่สะดุดหูฉันที่สุด คือ รางวัลเครางาม เพิ่งเข้าใจว่าเคราแพะที่งามมันเป็นเช่นไร คราวนี้จะไม่ไปเรียกใครที่มีเคราหยิกดำตรงคางว่าเคราแพะอีกแล้ว เพราะมันงามสู้แพะไม่ได้จริง ๆ

สวนยางพารา

          3. เที่ยงคืนถึงตีสอง หลังเอนนอนในโฮมสเตย์ แสนอุ่นได้ไม่นาน ใครอยากตามเจ้าบ้านไปกรีดยางพาราเตรียมตัวลุกได้เลย หากมีพื้นที่สวนยางพาราหลายไร่ ต้องตื่นไปกรีดยางกันตั้งแต่เที่ยงคืน หากไม่มากมายก็ลดหลั่นลงมา ส่วนใหญ่ออกทำงานกันราวตีสอง ด้วยปีนี้ยางพาราราคาดี จึงไม่มีใครอิดออดอยากนอนต่อ สังเกตดี ๆ ปีนี้จะเห็นรอยยิ้มเจ้าของสวน และคนรับจ้างกรีดยางกว้างขึ้น

          หากแหลงใต้แล้วคนกรีดยางฟังไม่รู้เรื่อง อย่าเพิ่งสงสัย เพราะตอนนี้คนที่ทำหน้าที่กรีดยางตามส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างถิ่น หรือไม่ก็เป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเสียส่วนใหญ่ ด้วยค่าแรงที่น่าพอใจในอัตรา 60 : 40 บ้าง 50 : 50 บ้าง ตามตกลง แรงงานจำนวนไม่น้อยจึงหนีงานกรรมกรแบกหามร้อน ๆ หลั่งไหลมากรีดยางแถวปักษ์ใต้สบายใจเฉิบ มีขนำ มีที่ทางปลูกผักสวนครัว รายได้เบ็ดเสร็จเข้าสู่กระเป๋าเต็ม ๆ เผลอ ๆ บางทีอาจมากกว่าเจ้าของสวนที่ต้องจ่ายค่าปุ๋ย ค่าบำรุงถากถางพื้นที่ด้วยซ้ำ

          ไฟฉายกระซับศีรษะ สวมชุดติดขี้ยางเขรอะกรังรองเท้าบูตยางพร้อม เริ่มหงายถ้วยรองน้ำยางที่คว่ำกันน้ำขังขึ้นทีละใบ บรรจงใช้มีดกรีดหน้ายางไม่ให้ตื้นจนน้ำยางไม่ไหล หรือลึกเกินไปจนหน้ายางเสีย แล้วรอน้ำยางไหลย้อยลงมาตามลิ้นสู่ถ้วยทีละหยด เปลี่ยนเป็นทำแบบเดิมกับต้นใหญ่ รอไปราว 3 ชั่วโมง น้ำยางถึงหยุดไหล หากมีพื้นที่หลายไร่ เมื่อกรีดต้นสุดท้ายเสร็จ ก็เดินมาเก็บน้ำยางต้นแรกใส่ถังได้เลย เก็บเรื่อยจนต้นสุดท้าย จนมีคนเปรยว่าชาวสวนยางพาราเป็นคนนอบน้อมที่สุด เพราะคำนับเก่งมาก วัน ๆ หนึ่งคำนับยางพาราต้นเดิมถึง 2 รอบ รอบแรกกรีด รอบสองเก็บ แล้วถ้ามีเป็นพัน ๆ ต้นล่ะ

สวนยางพารา

          ปัจจุบันนิยมขายน้ำยางมากกว่าทำแผ่น ซึ่งมีกรรมวิธีหลายขั้นตอน ที่บ้านบางโรงทำแผ่นโดยนำน้ำยางมากรองเศษต่าง ๆ ออก ผสมเข้ากับน้ำกรดฟอร์มิกและน้ำเปล่าตามอัตราส่วน คนให้เข้ากัน เทลงถาดอะลูมิเนียม รอให้เกาะตัวเป็นก้อนพอนิ่มราว 10 นาที นำมาเหยียบให้เป็นแผ่น ส่งต่อใส่เครื่องรีดเกลี้ยง 1 รอบ ปัจจุบันเปลี่ยนจากแรงคนมาใช้มอเตอร์ ทำให้รีดแผ่นยางได้เร็วขึ้น และสามารถทำคนเดียวได้ เมื่อรีดเรียบเสร็จ นำเข้าเครื่องรีดดอกอีก 1 รอบ แล้วพักให้สะเด็ดน้ำ 1 คืน ก่อนนำไปตากแดดอีก 1 วัน แล้วนำมาแขวนตากในที่ร่ม รอเจ้าของรวบรวมไปขาย แบ่งปันรายได้ตามตกลง

          อีกกิจกรรมอมยิ้มที่พบเห็นได้บ่อยในสวนยางพารา คือ การถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง ด้วยต้นยางสูงชะลูด เรียงแถวงาม แถมสีสันของใบยังผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาล เขียวชื่น แดงคล้ายใบเมเปิ้ล และน้ำตาลหล่นร่วงโรย ทำให้อารมณ์ภาพที่เจือกับความหวานของคู่บ่าวสาวโรแมนติกดีเชียว

ยางพารา

          จากยางพารา พืชเศรษฐกิจที่เด็กภูเก็ตยังพบเจอได้ง่าย สู่พืชสามัญที่กินทุกวัน แต่เด็กภูเก็ตลูกน้ำเค็มรุ่นหลังแทบไม่เคยเห็นต้น คือ ข้าว เนื่องจากพื้นที่นาของเกาะภูเก็ตในยุคหลัง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรม รีสอร์ต และสวนยางพาราเสียส่วนใหญ่ ด้วยแนวคิดว่า "โรงแรมยังมาอยู่ในนาเราได้ ทำไมข้าวจะไปอยู่ในโรงแรมบ้างไม่ได้ แต่ข้าวถ้ายังอยู่ในนาก็ไปอยู่ในโรงแรมเขาไม่ได้ แต่ข้าวนอกนาของโกไปอยู่ในโรงแรมได้" โกมัน ชะลอ การะเกด พลิกวิกฤตเป็นโอกาส คิดวิธีปลูกข้าวในกระถางบัว

          โดยเลือกใช้ผู้เขียนคิดว่าข้าวโกมันน่าจะเป็นข้าวที่แพงที่สุดเท่าที่เคยเห็น ขายให้โรงแรมนำไปประดับต้นละ 150 บาท ขายได้ตั้งแต่เป็นต้นกล้าจนกระทั่งออกรวงงาม มาช่วงหลังแถมเพิ่มให้กระถางละ 3 ต้น เป็น 4 ต้น 150 บาท แอบกระซิบว่าต้นเดียวมันแพงไป อนาคตมีแผนจะเพิ่มขึ้นที่ปลูกไว้กินเองได้ทั้งปี

ภูเก็ต

          4. ทรัพยากรมีค่า ป่าสมบูรณ์หลายที่มาจากความสูญเสีย ไม่ต่างจากป่าชายเลนบ้านบางโรงที่ ครั้งหนึ่งรัฐบาลเปิดให้สัมปทานไม้โกงกางเพื่อเผาถ่าน ทุกอย่างเรียบเป็นหน้ากลอง ราบไปจนถึงทะเล เมื่อไม่มีที่ฟูมฟักอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำทะเลกว้างก็ว้างชีวิต

          ฉันนึกภาพครั้งนั้นตามคำบอกเล่าไม่ใคร่ชัด เพราะป่าโกงกางอายุราว 10 ปี ที่เห็นตรงหน้าหนาแน่น เขียวครึ้ม ไล่ระดับกำลังงาม เมื่อป่ากลับมาบ้านที่มีชีวิตของพวกเขาก็กลับมา

          นั่งอยู่ริมป่าชายเลนเพลิน ๆ อาจโดนลิงแสมเพื่อนยากออกมาทักทาย ยามน้ำลงนั่งมองปูก้ามดาบตัวผู้โบกก้ามใหญ่ โชว์สีสวยบาดตาแสดงอาณาเขต เรียกร้องความสนใจจากเพศเมีย "น้ำกำลังลง ไปวางลอบดักปูดำกันหวา" เด็ก ๆ ออกปากชวน ขณะฉันนิ่งฟังเสียงกุ้งดีดขันดีดน้ำดังเปาะแปะ

          ปลาฉลามหนูหั่นชิ้น เกี่ยวห้อยโตงเตงเป็นเหยื่อล่อปูเตรียมพร้อมอยู่ในลอบ จากเรือนแพของร้านอาหารครัวชุมชนบ้านบางโรง พายเรือออกไปไม่ไกล เลียบ ๆ รากโกงกางเข้าไว้ แล้วจับลอบโยนลงน้ำ ผูกเชือกหย่อน ๆ ไว้กับต้นไม้ให้สูงหน่อยเพื่อสังเกตง่าย จะได้ไม่ลำบากลงไปงมลอบช่วงน้ำขึ้น พายชมป่าชายเลนไป ทิ้งลอบไปจนหมด 9 ลูก ที่เตรียมไว้ ผ่านไป 1 ชั่วโมง ลงเรือลำเดิมไปกู้ลอบ ช่วงดึงลอบพ้นน้ำช่างเป็นเวลาที่น่าตื่นเต้น

ภูเก็ต

          ลุ้นจนแทบหยุดหายใจ บวกกับเสียง "แท่ม ตะละแล่ม แท่ม แท่ม แท่ม แท่ม แท้มมมมมม..." จากเด็ก ๆ ท้ายเรือที่คอยให้กำลังใจแล้วยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ "โอ้ววว ตัวนี้ครึ่งโลชัวร์ ก้ามใหญ่หนีบลูกปูอีกตัวขาดสองท่อนเลย" เด็กคนหนึ่งร้องทัก อีกคนพูดขึ้น "บ้านเราสมบูรณ์จริง พอมีโกงกาง ก็มีอาหาร พอมีอาหารก็มีกิน ไม่ต้องไปไหนแล้วเรา อยู่นี่แหละ" ฉันไม่คิดว่าจะได้ยินคำพูดพวกนี้จากปากเด็กวัยรุ่นจริง ๆ เคยได้ยินจนชิน แต่จบแล้วจะไปเรียนต่อในเมือง จบแล้วจะไปทำงานกรุงเทพฯ

          วันนี้ได้ปูดำเกิน 10 ตัว คัดไซส์เล็กปล่อยกลับคืน เหลือตัวใหญ่ได้ขนาด 4 ตัว น้ำหนัก 2 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 400 บาท เทียบกับเวลารอ 1 ชั่วโมง หักค่าเหยื่อและค่าแรงพายเรือ ถือว่าเกินคุ้ม ขายต่อให้กับร้านอาหารครัวชุมชน ร้านอาหารขายอาหารได้ผลกำไร กลับมาเป็นสวัสดิการให้คนในชุมชน หมุนเวียนเกื้อกูลอยู่เช่นนั้น

          ช่วงเย็นหากยังพอมีเวลาลองแวะไป ท่าเรืออ่าวปอ มีเรือเอกชนให้เช่าเที่ยวหมู่เกาะต่าง ๆ ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต ระหว่างทางจะผ่านป้ายจารึกเมืองถลางบางโรง ระบุว่าที่แห่งนี้เคยมีกำแพงเมืองเก่า ครั้งถลางยังรุ่งเรืองในอดีต แต่ปัจจุบันกำแพงถูกรื้ออออก เหลือเพียงป้ายจารึกเป็นอนุสรณ์เท่านั้น

          ระหว่างทางเต็มไปด้วยภูมิทัศน์ของสวนยางพาราอายุน้อย ที่ปลูกสับปะรดภูเก็ตแซมบำรุงหน้าดิน สับปะรดภูเก็ตถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อ กรอบรสหวานพิเศษ เพราะเชื่อว่าดินภูเก็ตดี นำไปปลูกที่ไหนก็ไม่ได้รสชาติเหมือนมาชิมที่ภูเก็ต มีให้ชิมตลอดทั้งปี แต่มีมากช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

          ถ้าท่าเรืออ่าวปอช่วงสี่โมงเย็น คับคั่งด้วยนักท่องเที่ยวนับพันที่เสร็จสิ้นภารกิจเที่ยวหมู่เกาะพังงาแบบ One-day Trip หลังนักท่องเที่ยวคนสุดท้ายลับตา ร้านรวงหับประตูปิด ไฟสะพานเทียบเรือสว่างขึ้น เรือประมงที่จอดนิ่งกำลังโดนคลื่นซัด เริ่มขยับโยกโยน ส่งสัญญาณแห่งการเริ่มงานของลูกน้ำเค็ม

เกาะนาคาใหญ่

          5. จากภูผา ป่าเขา สู่พื้นราบ จดปากอ่าว และกำลังก้าวลงสู่ทะเล เป็นเช้าที่ท่าเรือยางโรงคับคั่งไปด้วยผู้คนที่สัญจรไปมาระหว่างฝั่งและเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เรามาใช้ท่าเรือเดียวกัน แต่เลือกมุ่งหน้าสู่ เกาะนาคาใหญ่ หมู่ที่ 5 ตำบลป่าคลอก ด้วยเหตุผลที่คนบางโรงบอกว่ามีพี่น้องชาวมุสลิมของเขาทำเรื่องท่องเที่ยวอยู่ที่นั่น

          ลมทะเลตีหน้าพอเคลิ้ม แต่ไม่ทันหลับ เพียง 25 นาที มาถึงท่าเรือเกาะนาคาใหญ่ แรกก้มหน้าลงมองจากสะพานเทียบเรือ เห็นสัตว์ทะเลน้อยใหญ่แหวกว่ายอยู่ตรงหน้า ราวอะควาเรียมไร้กระจกเสียแล้ว

          บังหนาบ มงคล ปราบทุกข์ และ บังเสือ สมัคร พันธุ์ทิพย์ ช่วยถือกระเป๋าเข้าที่พักโฮมสเตย์ แล้วชี้ชวนให้ดูปลิงทะเลหลากสี ทั้งดำ ทั้งขาว สักพักก็บอกว่าดูนั่น ที่เห็นหนวดยาว ๆ ใต้หิน คือ กุ้งมังกร ที่เห็นก้อน ๆ นั่น ปะการังทั้งนั้น แล้วไอ้ที่ฝูงใหญ่ ๆ โน้นเขาเรียกปลาข้างเหลือง เดินมาอีกหน่อยตรงเสาไฟ เอ้อ! ตอนกลางคืนถ้าไม่อยากออกเรือไปตกหมึก ตรงสะพานนี้เขาก็มาตกกัน สาบานได้ว่าสะพานนี้ยาวไม่ถึง 500 เมตร แต่เรากลับเห็นความหลากหลายมากมาย เพราะบริเวณหน้าอ่าวชาวบ้านช่วยอนุรักษ์ไว้ อนุญาตให้คนพื้นที่จับกินได้ ห้ามจับขาย

เกาะนาคาใหญ่

          เกาะนาคาใหญ่ฝั่งตะวันตก เป็นชุมชนมุสลิมเล็ก ๆ มีโรงเรียน มีมัสยิด มีสภากาแฟ ชาวบ้านส่วนใหญ่ถ้าไม่กรีดยางพารา ก็ทำงานในทะเลบ้านหลังใหญ่ที่สุดในโลก "ท่องเที่ยวที่นี่ไม่มีโปรแกรมเวลาแน่นอน หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ขึ้นอยู่กับความชอบของนักท่องเที่ยว ที่สำคัญคือขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะดำน้ำ เล่นน้ำ หาหอย ตกหมึก มันขึ้นกับช่วงเวลาของธรรมชาติหมด ต้องบอกเราว่าอยากทำอะไร แล้วเราจะตอบให้ว่าทำได้หรือไม่ได้" บังหนาบ อธิบายรูปแบบการท่องเที่ยวที่ไม่กำหนดเวลาตายตัวให้ฟัง

          บางคนพอใจแค่มานอนผูกเปลกับต้นไม้ใหญ่ริมหาด อ่านหนังสือเล่มโปรดเงียบ ๆ ทั้งอาทิตย์ บางคนก็หลงใหลชีวิตชาวประมง ออกทะเลเป็นว่าเล่น บางคนพอใจแค่เดินไปเดินมาดูผู้คน บังหนาบพาเราเดินเลียบหาดฝั่งตะวันตก แล้วบอกว่าให้จำบรรยากาศนี้ไว้นะ เดี๋ยวจะพาไปอีกโลกหนึ่ง

          เรานั่งเรือรอบเกาะ ผ่านรีสอร์ตระดับหลายดาวไปยังเกาะนาคาใหญ่ฝั่งตะวันออก ทรายละเอียดนุ่มเท้า ขาวบริสุทธิ์ ร่มชายหาดสีเจ็บกางยาวเหยียดนับกิโลฯ แต่ไม่ยักมีคนนั่ง ครั้นพอได้เวลาบ่ายสองตรง เสียงเพลงจากบาร์ริมหาดดังขึ้น เรือเล็กเรือใหญ่ค่อย ๆ หลั่งไหลมาจอดเทียบ ขนนักท่องเที่ยวนับพันที่เสร็จสิ้นจากเที่ยวอ่าวพังงา มาแวะเล่นน้ำทะเลใส ๆ อาบแดด และอาบน้ำจืดที่นี่ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ เหมือนเขตอุทยานแห่งชาติ ก่อนกลับขึ้นฝั่งที่ท่าเรืออ่าวปอ

เกาะนาคาใหญ่

          เชื่อแล้วว่าคนละโลกอย่างที่บังหนาบบอกจริง ๆ แถมเป็นโลกที่หมุนไวพิลึก เพียง 2 ชั่วโมง ทุกอย่างก็กลับสู่ความสงบเช่นเดิม ระหว่างนั่งเรือกลับมาฝั่งตะวันตก บังหนาบชี้ให้ดูฟื้นที่รอบเกาะ ส่วนใหญ่มีนายทุนซื้อไว้แล้ว รอแค่เวลาลงเสาเข็ม มีเพียงที่ทางของบังหนาบกับพี่น้องไม่กี่คนที่ตั้งใจไม่ขายผืนดินมรดกจากพ่อแม่ แม้ราคาจะเข้าหลักร้อยล้านก็ตาม ด้วยหวังว่าลูกหลานจะได้ทำกินต่อ เราต่อสู้เพื่อรักษาทะเลกันมาเยอะ รุ่นลูกก็รับรู้ ถ้าเขาโตขึ้นแล้วฉลาดพอ เขาก็จะไม่ขายที่แห่งนี้เช่นกัน เพราะชีวิตก็ไม่รู้จะต้องมีเงินมากมายขนาดนั้นไปทำไม ในเมื่อที่เป็นอยู่ทุกวันก็มีความสุขดี ตื่นมายังได้เห็นทะเลหน้าบ้านทุกวัน ตั้งแต่เกิดมาจนวันนี้ บังว่าทะเลสวยไม่เหมือนกันสักวัน

          ลืมบอกไปว่าบนเกาะแห่งนี้ ฉันมีเพื่อนต่างวัยชื่อ ฟาอิก เขาเป็นลูกชายบังหนาบ แม้เรียนอยู่ชั้นอนุบาลสอง แต่เก่งเรื่องทะเลกว่าเพื่อนอายุมากอย่างฉันหลายเท่า ฟาอิกว่ายน้ำ ดำน้ำ หาหอย ตกปลา ตกหมึก พายเรือได้คล่องแคล่ว จนบางทีดูเหมือนทุกอย่างเกิดโดยสัญชาตญาณมากกว่าฝึกฝน

เกาะนาคาใหญ่

          "ไปเล่นน้ำเค็มหม้าย...ไปตกหมึกหม้าย...ไปตกปลาหม้าย เดี๋ยวอิกพาไป" คำถามคล้ายเดิม สลับออกจากปากฟาอิกทุกวัน ฉันก็ตอบรับคำชวนฟาอิกทุกวัน จนวันสุดท้าย ฉันแกล้งถามคำถามฟาอิกกลับบ้าง "ฟาอิกไปขึ้นฝั่งภูเก็ต แล้วไปเที่ยวกรุงเทพฯ กันไหม" … "ไม่ไป" ฉันถามย้ำอีกที "ไปเที่ยวนะ มีสวนสนุกเยอะแยะเลย" … "ไม่ไป อิกเกิดในเล อิกชอบอยู่เล อิกเที่ยวในเลกะได้ มาเล่นน้ำเค็ม ตกหมึกกันหล่าวนะ"

          เดินทางมาถึงบรรทัดนี้ ฟาอิกตอบคำถามย่อหน้าแรกของฉันเสียแล้ว ฉันเองต่างหากที่แพ้หัวใจฟาอิก เพราะไม่แน่ใจว่าตอบคำถามที่ตั้งขึ้นเองได้หรือยัง...คุณล่ะ

เกาะนาคาใหญ่

คู่มือนักเดินทาง

          บ้านบางโรง และ เกาะนาคาใหญ่ อยู่ในอำเภอกลาง ห่างจากอำเภอเมืองภูเก็ตประมาณ 22 กิโลเมตร ท่องเที่ยวได้ทุกฤดู ในช่วงมรสุมสามารถเที่ยวชมเกาะนาคาใหญ่ได้ เนื่องจากเป็นเกาะที่ถูกล้อมรอบด้วยเกาะน้อยใหญ่อื่น ๆ จึงไม่มีคลื่นลมแรงมาปะทะ

          ทั้ง 2 ที่เป็นชุมชนชาวมุสลิม เพราะฉะนั้น การเข้าพักโฮมสเตย์หรือท่องเที่ยวควรให้เกียรติเจ้าของบ้าน เช่น ไม่นำสุราหรือของมึนเมาไปดื่มหรือรับประทานในบ้าน ไม่แต่งตัวล่อแหลมจนเกินไป ไม่พูดจาลบหลู่ความเชื่อที่แตกต่าง

การเดินทาง

          รถส่วนตัว : จากอำเภอเมืองภูเก็ต ใช้ทางหลวงหมายเลข 402 มาจนถึงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร วนเลี้ยงชวาไปยังบ้านป่าคลอก ทางหลวงหมายเลข 4027 ตรงไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงแยกบางโรงเลี้ยวขวาเข้าไปตามเส้นทางไปท่าเรือบางโรง ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรงอยู่ติดกับท่าเรือ

          รถโดยสาร : มีรถโพท้องเป็นรถโดยสารประจำทาง วิ่งจากภูเก็ต (ตลาดสดดาวน์ทาวน์) ถึงท่าเรือบางโรงราคาคนละ 40 บาท รถออกทุก 2 ชั่วโมง

          เครื่องบิน : มีให้เลือกเดินทางไปยังภูเก็ตหลายสายการบิน เช่น การบินไทย แอร์เอเชีย นกแอร์ โอเรียนท์ไทย จากนั้นใช้เวลาจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตถึงบ้านบางโรงประมาณ 20 นาที มีรถแท็กซี่ให้บริการ

          เรือ : จากท่าเรือบางโรงไปเกาะนาคาใหญ่ ไม่มีเรือโดยสารวิ่งประจำ ต้องเหมาเรือที่ท่าเรือบางโรง ราคาประมาณ 1,200 – 1,500 บาท นั่งได้ 8 – 10 คน

เกาะนาคาใหญ่

เที่ยวสนุก

          โปรแกรมท่องเที่ยวบ้านบางโรง ควรมีเวลาอย่างน้อย 5 - 6 ชั่วโมง เพื่อท่องเที่ยวได้ครบ ตั้งแต่ชมโครงการคืนชะนีสู่ป่า น้ำตกบางแป ฟาร์มแพะ การกรีดยางพารา ตกปูดำหรือปูม้า พายเรือคายัก ดูลิงแสม ชมวิถีเศรษฐกิจพอเพียง รวมค่าอาหารกลางวัน 1 มื้อ ผู้ใหญ่ ราคา 800 บาท ต่อคน เด็กราคา 500 บาท ต่อคน (ไม่รวมค่าเดินทางมายังบ้านบางโรง) ติดต่อล่วงหน้าที่ บังหมาด คุณประเสริฐฤทธิ์รักษา โทรศัพท์ 08 0383 0447, 08 4309 9131

          โปรแกรมท่องเที่ยวเกาะนาคาใหญ่ ควรมีเวลาอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน ไม่มีโปรแกรมกำหนดตายตัว แล้วแต่ความชอบและช่วงเวลาของธรรมชาติ กิจกรรมโดยทั่วไป ได้แก่ เล่นน้ำ ชมหาด ดำน้ำ ออกหาปลา ตกหมึกกับชาวบ้านช่วงกลางคืน รวมค่าที่พัก ค่าเรือ ค่าอาหาร 4 มื้อ ราคา 2,000 บาท ต่อคน ติดต่อล่วงหน้าที่ บังหนาบ มงคล ปราบทุกข์ โทรศัพท์ 08 7576 2075

นอนอุ่น

          ที่บ้านบางโรงส่วนมากนักท่องเที่ยวจะพักโฮมสเตย์ เพื่อได้เรียนรู้วิถีมุสลิม ราคา 200 บาท ต่อคน (ไม่รวมอาหาร) ส่วนบนเกาะนาคาใหญ่ ราคารวมอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยว มีทั้งพักแบบโฮมสเตย์กับชาวบ้าน นอนเต็นท์หรือผูกเปลริมหาดแล้วแต่ชอบ





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 52 ฉบับที่ 8 มีนาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บางโรง-เกาะนาคาใหญ่ มีป่าเป็นโต๊ะทำงาน มีบ้านเป็นทะเล อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2555 เวลา 10:45:22 8,679 อ่าน
TOP