ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ ปณต คูณสมบัติ...ภาพ
เป็นไปได้ว่าโลกมักไม่เหลือที่ทางให้เราเดินกลับหลัง นาทีที่นั่งมองภาพตรงหน้าอยู่ที่ชายแดนแห่งดอยไกลแห่งหนึ่งระหว่างเชียงใหม่และสหภาพพม่า กลางลมหนาวโบกโบยกรีดผิว ถ้อยคำภาษาอันยากสื่อสาร ภาพผ่านของสงครามแห่งเชื้อชาติ หรืออะไรก็ตามแต่ ความรู้สึกประเภทที่ว่าเราต่างกำลังก้าวเดินไปอย่างเดียวดาย มักเกิดขึ้นเสมอยามที่กำลังเหยียบยืนอยู่ในแถบถิ่นที่เป็นขอบเขตชายแดน
ผมมาถึง เปียงหลวง หมู่บ้านของชาวจีนยูนนานที่อยู่ร่วมกับผู้คนชาวไทยใหญ่ แห่งอำเภอเวียงแหง ผ่านพ้นการหมุนเหวี่ยงไปมานับร้อยครั้งของถนนบนภูเขา ภาพตรงหน้าคือความงดงามของบ้านเรือน ที่ราบทางการเกษตรหลังฤดูเก็บเกี่ยว และสุ้มเสียงหลากหลายที่ไม่ได้มีเฉพาะความคิดและถ้อยคำที่เป็นของตัวเรา
เบื้องหลังความงดงาม ยังมากมายคำถามที่สองฝากฝั่งของคำว่า "ชายแดน" ใครเลยจะรู้ว่า ท่ามกลางชีวิตที่เป็นเหมือนฝุ่นอันรองอยู่ใต้รอยล้อการเคลื่อนหมุนของโลก และเราต่างไม่มีสิทธิกำหนดทิศทางหรือจังหวะของมันแม้แต่น้อย สิ่งใดกันแน่คอยหล่อหลอมให้โลกตรงหน้ายังคงอยู่ในที่ทางของมันอย่างคงทน
อยู่ที่นี่หลายวัน บางอย่างกลางหุบเขาและเรื่องราวของอดีต ใช่หรือไม่ว่าการหยัดยืนของพวกเขาคล้ายมีเส้นทางเดินพิเศษเป็นเรื่องเฉพาะอย่าง เฉพาะตัว บางแง่มุมไร้ความต้องการการรับรู้หรือตีความ และมีจุดหมายปลายทางอยู่ในตัวของมันเอง เหตุผลอาจไม่ได้มากไปกว่า...นั่นคือวิถีทางของมัน ภูเขาไม่เคยจางคลายความสูงชัน แม้หนทางจะปรับเปลี่ยนพื้นผิวของมันไปสักเท่าไหร่ก็ตาม
จากแยกเมืองงาย เลยเชียงดาวมาไม่มาก ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1322 พาผู้คนที่พร้อมจะร่วมก้าวไปข้างหน้ากับมันขึ้นสู่ความสูงไม่ต่ำกว่าพันเมตร จากระดับทะเลปานกลาง สนสามใบไล่เรียงผ่านแสงบ่ายมีมิติ บางตอนโอบอยู่ด้วยต้นท้อออกดอกสีขาวโพลน รอบด้านงดงามและถนนก็ดูอ่อนโยน น่าหลงใหล ระยะทาง 72 กิโลเมตร ที่รอคอยบนเขาสูงยังคงเงียบงันและยาวไกล
ขึ้นลงเปิดวิวกระจ่างตาเป็นช่วง ๆ บางครั้งก็ดิ่งลงสู่หุบ บังคับให้การใช้เกียร์สโลว์เป็นเรื่องต้องเคารพสำหรับรถคันเล็ก ๆ ของเราเมื่อมาถึง บ้านเลาวู หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอเรียงรายไล่ไปตามระดับเขา นางพญาเสือโคร่งติดดอกชมพูพราว ความหนาวเย็นแม้เป็นยามบ่ายส่งให้พวกเขามานั่งผิงไฟ พูดคุย ผสานลมหนาวกันเป็นกลุ่มที่ลานหน้าบ้าน
ชีวิตเป็นเรื่องหมุนเคลื่อนไปตามวันเวลา นาทีท้าย ๆ ที่ถนนนำเรามาส่งลงสู่ที่ราบสีน้ำตาลทอง เมืองเวียงแหงเงียบงันอยู่ในสายลมหนาว นาข้าวอันโอบล้อมเหลือเพียงลอมฟางก่ายกอง วัวควายไล่เล็มมันไปอย่างละเมียด ทว่าความเคลื่อนไหวล้วนเงียบงัน
เมืองไกล หุบดอย และการมาถึงของใครสักคน คล้ายการพบกันของคนแปลกหน้า ตัวอำเภอเวียงแหงเงียบเชียบตามแบบฉบับเมืองชายแดน สถานที่ราชการจัดตั้งและหยอดตัวเองอยู่สองข้างทาง มันไม่คึกคักตามจุดมุ่งหมายของนักเดินทางผู้ชอบค้นพบความหมายใหม่ หากแต่ก็ดำรงตนมาเนิ่นนาน นานพอที่ทำให้ใครหลายคนปักหลักและเรียกที่นี่ว่าบ้าน
จากกลุ่มเมืองชายขอบของรัฐล้านนาที่ตั้งประชิดชายแดนมากมาย ด้วยเส้นทางการค้าขายระหว่างเชียงใหม่กับพม่า เป็นเส้นทางเดินทัพขึ้นล่องของกองทัพอันเกรียงไกร ทั้งกรุงศรีอยุธยาและพม่า ว่ากันว่า ราวปี พ.ศ. 2417 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงนำทัพอันยิ่งใหญ่ผ่านเวียงแหงเพื่อไปรบพุ่งกับพม่าที่เข้ามายืดเมืองนาย ซึ่งเดิมเป็นเขตปกครองของล้านนา รัฐล้านนาที่มากมายเมืองเล็ก ๆ จึงกลายเป็นรัฐกันชนที่ทั้งพม่าและอยุธยาต่างหมายจะครอบครอง อย่างหนึ่งเพื่อการขยายราชอาณาจักร และที่สำคัญยิ่งคือใช้เป็นแหล่งเสบียงอาหารและฐานกำลังพลในการสู้รบ
ไม่เพียงปรากฏชื่ออยู่ในจารึกโบราณ หากแต่สิ่งตกทอดของเมืองไกลในหุบเขตชัดเจน เมื่อเราขึ้นไปยัง พระบรมธาตุแสนไห วัดไทยใหญ่แห่งนี้เงียบสงบ แนวคันคูเมืองเก่าและสิ่งก่อสร้างอย่างบ่อพักน้ำสำหรับไพร่พลในอดีต บ่งบอกถึงการตั้งทัพอยู่นานบริเวณลานหน้าพระบรมธาตุ ไม่เพียงเท่านั้น ได้มีการสันนิษฐานว่าเวียงแหงเองเป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรสิ้นพระชนม์ลง หลังจากยกทัพไปทำศึกกับพม่าและประชวรจนต้องถอยทัพกลับมาที่นี่
ขึ้นไปยืนอยู่เหนือความสูงบริเวณองค์พระบรมธาตุแสนไห สองฟากฝั่งแผ่นดินล้วนทอดยาวอยู่ในเขตภูเขา ราวเส้นทางมากมายในอดีตค่อย ๆ ลบเลือน สลายกลืน ไร้ความแตกต่าง นาข้าวอันไพศาลโอบล้อมรถคันเล็ก ๆ เมื่อเราแยกออกไป น้ำตกแม่ลาด ต้นธารห้วยแม่หาดและลำน้ำแม่แตง แหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงภูเขาและเบื้องล่างพี่น้องชาวปกากะญอปักหลักชีวิตลงยังพื้นราบที่ราบริมลำน้ำถูกใช้ไปในการเพาะปลูกอย่างคุ้มค่า เยี่ยมเยือนความฉ่ำชุ่มตลอดปีของน้ำตกอันเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำของคนบนภูเขา
นั่งมองธารน้ำโรยตัวในความเยียบเย็นสักพัก เราก็ใช้ถนนสายเดิมเพื่อมุ่งหน้าไปยังปลายทางของมัน ปลายทางที่เป็นจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง ทั้งการสิ้นสุดของถนนและการกลับบ้านของใครบางคน 10 กิโลเมตร จากเวียงแหง บ้านเปียงหลวงขนัดแน่นราวเมืองในหุบเขา บ้านไม้ ตึกแถวโอบล้อมถนนสายเล็กที่ทอดผ่าน ทว่ารอบด้านในบ่ายจัดคือความเหงาเงียบของร้านรวง สินค้าประดามีจากจีน และตัวเมืองเชียงใหม่พอจะทำให้บางคนจินตนาการถึงอดีตอันคึกคักที่ผ่านพ้น
ว่ากันว่าจริง ๆ แล้ว หากจะมีการจัดตั้งอำเภอเวียงแหง บ้านเปียงหลวงที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดน่าจะเป็นที่ที่เหมาะสม หากแต่ด้วยข้อจำกัดและหลากหลายเหตุผลในทางราชการ ผู้คนข้างบนนี้จึงผ่านพาตัวเองไปตามการเคลื่อนหมุนของคืนวันและหนทางเฉพาะของตัวเอง หนทางที่ไม่แตกต่างจากวันที่พวกเขามาถึงเมืองไกลชายแดนแห่งนี้
การมาถึงของผู้คนบนเปียงหลวง เริ่มด้วยพี่น้องชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน ซึ่งเส้นทางอันเชื่อมโยงได้นำพาการตั้งถิ่นฐานมาสู่ที่นี่นับร้อยปี ว่ากันว่า นายจองดี พ่อค้าวัวต่างถิ่น คือผู้นำชาวไทยใหญ่ให้มาถึงแผ่นดินกลางหุบเขาแห่งนี้ราวร้อยกว่าปีก่อน ที่ราบอันแสนกว้างใหญ่ตามความหมายของการเรียกขานเริ่มกลายเป็นชุมชน ไล่เลยจากบ้านหลังแต่งที่ชายแดน ต่อมาถึงบ้านเปียงหลวง บ้านจอง ลงไปถึงเวียงแหง ทุ่งนาสีเขียวชอุ่มและไร่ข้าวโพดผ่านพ้นตัวเอง รองรับความเป็นบ้านกลางหุบเขามาเนิ่นนาน
ไม่เพียงชาวไทยใหญ่ที่ปักหลักสืบสาน หากแต่เส้นทางอันเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายระหว่างเวียงแหงไปสู่รัฐฉานในพม่า ยังนำพากองกำลังทหารจีนคณะชาติกองพล 92 ที่แตกพ่ายรอนแรมและใช้ชีวิตอยู่ด้วยการสู้รบ บางส่วนของทหารและครอบครัวที่แยกย่อยออกมาจากทัพที่ 3 ของ นายพลหลี่เหวินหวน คือส่วนของนายพันหลอเจี๋ยหวา ได้เลือกเปียงหลวงเป็นบ้าน ผนวกร่วมผสมผสานไปกับผู้คนไทยใหญ่ดั้งเดิม ตั้งบ้านเรือนใช้ชีวิตอยู่ด้วยการค้าขายชายแดน รวมไปถึงทหารไทยใหญ่ ซึ่งนำโดย เจ้ากอนเจิง ชนะศึก ประธานกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ที่เลือกเปียงหลวงเป็นฐานที่มั่นในการกอบกู้เอกราชจากพม่า
ความคึกคักของการค้า เส้นทางที่ปนเปไปด้วยเรื่องการของสงครามกู้ชาติ รวมไปถึงรอยยิ้มยามใครสักคนรู้จักคุณค่าของคำว่าบ้าน เหล่านี้คือสีสันที่เคยชัดเจนบนหุบเขา
"แต่ก่อนเปียงหลวงคึกคักกว่านี้เยอะ" ไคหลี แซ่ปี่ เปรยเบา ๆ ราวความหลังผ่านพ้นไปนาน ทั้งที่มันห่างหายไปไม่ถึงยี่สิบปี ด้วยพรมแดนเปิดกว้าง ผู้คนหลากหลายทั้งไทยใหญ่ หรือคนจีนยูนนานรุ่นพ่อของเขา ที่เริ่มปักหลักและหันเข้าสู่การเกษตร รวมไปถึงเรื่องค้าขายที่เชื้อชาติของตัวเองถนัด การเงินสะพัดไปทั่วตำบล เริ่มมาตั้งแต่บ้านหลักแต่งตรงชายแดนต่อมาถึงเปียงหลวงที่ห่างออกมา 2 กิโลเมตร
"เจริญกว่าข้างล่างมาก" ไคหลี หมายถึงแค่ตัวอำเภอเวียงแหงไม่ใช่แถบฝากหรือเชียงใหม่ "คนไทยใหญ่จูงวัวควายมาทีร่วมร้อยตัว ของกินของใช้จากทางเรานั้นเป็นที่ต้องการมาก" ว่ากันว่าตลาดนัดวัวควายที่บ้านหลักแต่งนั้น แสนมีสีสัน เมื่อรวมการค้าที่เปียงหลวงเข้าไปด้วย ก็ทำให้หมู่บ้านเล็ก ๆ มากมายไปด้วย "ชีวิตที่ดี"
อย่างไรก็ตาม เปียงหลวงก็ยังเป็นดินแดนดอยไกลในอดีต หากเทียบกับโลกภายนอกที่พวกเขาเลือกออกไปติดต่อค้าขาย สินค้าของกินของใช้นั้น พ่อค้าชาวจีนยูนนานที่ลงไปหามาจากเชียงใหม่ต้องรอนแรมกันร่วมอาทิตย์
"ขี่ม้าไปจนถึงบ้านเลาวู ตรงนั้นเป็นกึ่งกลางเปียงหลวงกับเมืองงาย จากนั้นต่อรถไปเชียงใหม่เป็นวัน ๆ โอ้ย สามวันโน่น กว่าจะถึงเชียงใหม่" ไคหลีว่าคนรุ่นปู่ของเขายิ่งกว่านั้น ที่ออกขบวนเดินเท้าตัดป่าลงไปเชียงใหม่ของป่าอย่างเมี่ยงแห้ง หนังเสือ เขากวาง หนังเก้ง คือสิ่งที่พวกเขานำลงไป และเกลือรวมไปถึงปลาแห้งคือสิ่งมีค่า ว่ากันว่าขบวนการค้าของผู้ชายเปียงหลวงไปกลับเชียงใหม่ร่วม 2 เดือน ภาพเช่นนี้อยู่คู่คนเปียงหลวงและเปลี่ยนรูปไปตามการพัฒนาของหนทางสู่ภูเขาที่ดีขึ้น ชีวิตงอกงามเติบโต เฒ่าชราหลายคนยังคงผ่านพ้นภาพจำเช่นนั้นไปไม่ได้ ชีวิตดีงามกำลังก่อเกิดในหุบเขาที่ต่างคนต่างรอนแรมพลัดถิ่น
"แต่มันก็เงียบเหงาเช่นนี้แหละ" ละเอียด แซ่หลี หญิงสาวลูกหลานจีนคณะชาติว่าขึ้น หลังยุคเตี่ยอันคึกคักผ่านพ้น "จริง ๆ มันเริ่มจากปิดด่าน" เธอว่าสิ่งที่คนเปียงหลวงและพื้นที่ชายขอบได้ยินได้เห็น มันส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลง
จากปี พ.ศ. 2545 เปียงหลวงค่อย ๆ ถูกผลพวงแห่งสงครามย่อยสลายภาพแห่งความคึกคัก เมื่อพม่าสั่งปิดชายแดนที่บ้านหลักแต่ง เนื่องจากการสู้รบแสนหนักหน่วงระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ที่นำโดยเจ้ายอดศึก ผลลัพธ์ล่องลอยอยู่ในควันปืน อุดมการณ์ และความหวัง ทว่าภาพจริงแท้คือการเร่ร่อนทิ้งบ้านเกิดเรือนนอนของพี่น้องไทยใหญ่ ที่ส่วนใหญ่อีกมากมายจากเมืองปั่น ไกลออกไปในเขตพม่า พวกเขาพากันหนีแรงกดดันของสงครามเข้าสู่เปียงหลวงอีกระลอก ไม่นับพวกที่มาก่อน ได้หลักปักฐาน หลายคนกลายเป็นชีวิตไร้แผ่นดิน ต้องอยู่ตามศูนย์อพยพบนแดนดอย
"พวกนี้ไม่ใช่ไม่มีเงินนะ แต่อยู่ในนั้นไม่ไหว สงครามกวาดล้างหนักมาก บางคนเอาทองมาเป็นห่อผ้าเลย" ละเอียดว่าตอนด่านยังไม่ปิด ช่วงที่เป็นเด็กช่วยพ่อแม่ค้าขาย ไม่นับแรงกดดันจากการสู้รบ ความสุขของเด็ก ๆ เปียงหลวงในยุคนั้นหมายถึงเข้าไปเที่ยวน้ำตกในเขตรัฐไทยใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก
เราขึ้นไปจนถึงบ้านหลักแต่ง รั้วลูกกรงเหล็กถูกกั้นไว้อย่างหลวม ๆ คร่ำคร่า ทว่าหนักแน่นในความหมายว่าไม่มีการข้ามพ้นพบเจอของคนทั้งสองฟากมาเนิ่นนาน แผงค้าขายหายสูญ เหลือเพียงรอยยิ้มของพี่น้องไทยใหญ่ตามบ้านเรือน ความชัดเจนในผ้าทอปรากฏบนเสื้อผ้าลายสวยของเหล่าผู้หญิง
เหนือยอดดอยคือ "วัดฟ้าเวียงอินทร์" ที่เคยเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนทั้งสองฟากฝั่งขุนเขา หากในวันนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ในส่วนของพม่า คือพระอุโบสถและโรงเรียนปริยัติธรรม ชัดเจนด้วยค่ายทหารและความตึงเครียดทางการเมือง จะมีผ่อนคลายบ้างก็กับการโบกมือไหว ๆ ของเหล่าทหารและรอยยิ้มจากระยะไกล พอเดาได้ในความเป็นเพื่อนร่วมโลกที่ยืนอยู่คนละเส้นเขตแดน
องค์มาระชินะเจดีย์ หรือ กองมูแหลนหลิน อันหมายถึงเจดีย์แห่ง, เขตแดนในภาษาไทยใหญ่ กำลังได้รับการบูรณะ จากการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวยกทัพผ่านไปรบกับพม่า และได้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2511 โดย เจ้ากอนเจิง ชนะศึก ในห้วงเวลาที่เปียงหลวงคือฐานที่มั่นสำคัญในการทำศึกสงคราม รูปทรงอลังการอ่อนช้อยของศิลปะไทยใหญ่ ทั้งองค์เจดีย์ หอฉัน วิหารในส่วนที่ยังเหลือเป็นของเรายังคงงดงาม แม้จะปกคลุมอยู่ด้วยความเงียบงันและบรรยากาศของการแบ่งแยก
ทางเดินไต่เลาะสันดอยไล่ไปจนจุดสูงสุด ที่มีสุสานของเจ้ากอนเจิง ชนะศึก ผู้ซึ่งหลับใหลไปพร้อมกับความหวังที่เอาสงครามและอุดมการณ์การต่อสู้ เพื่อชนชาติเข้าแลกจนวันสิ้นลมหายใจ นาทีที่ยืนอยู่เหนือลมพัดทิวสนไหวเอน หลุมศพเงียบสงบไร้ความเคลื่อนไหว ไม่แตกต่างจากซากบ้านเรือนเบื้องล่างของอีกประเทศ ที่ผ่านพ้นการทำลายด้วยแรงสู้รบ วันเวลา และการย่อยสลายของความไว้วางใจ
ใช่หรือไม่ว่าภูเขาคือพื้นที่อันพิเศษสำหรับคนที่อยู่กับมัน พวกเขาไม่เคยผิดพลาดในเรื่องการก้าวย่างอยู่บนความสูงชันอันหนาวเหน็บใช้ชีวิต หรือสืบทอดอุดมการณ์ แต่ใครจะบอกได้ว่าสงครามและหนทางที่บางคนเลือก ได้นำพาอะไรมาสู่ภูเขาอันเป็นบ้านแสนงดงามแห่งนี้
จะว่าไป เปียงหลวงไม่ใช่หมู่บ้านในหุบเขาแปลกหน้ามาแล้วหลายสิบปี ทุกอย่างเดินทางมาถึงเท่าที่การเปลี่ยนแปลงทำหน้าที่ของมันอย่างเท่าเทียม ข้อคิดเขียนหรือภาพถ่ายจากนักเดินทางรุ่นเก่า หรือความเป็นเมืองที่ฉุดดึงหนุ่มสาวลูกหลานเปียงหลวง ให้ก้าวลงจากที่ราบในหุบเขายุคบุกเบิกของนายองดี เพื่อไปหางานทำในเชียงใหม่หรือเมืองกรุง เหล่านี้ล้วนมีส่วนในการเปิดเผยภาพความเป็นบ้านอันงดงามของพวกเขาเท่าที่ควร แต่บางอย่างก็เป็นตัวของตัวเองอยู่ราวกับไม่ใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลง
อากาศกดหนักเหน็บหนาวส่งผลให้หมอกขาวอ้อยอิ่งไม่ละจากขุนเขา ตลาดเช้าเคลื่อนไหวตัวเองอยู่เท่าที่มันควรจะเป็น พี่น้องคนจีนฮ่อ ไทยใหญ่ ไล่เลยไปถึงทหารที่มาประจำการ ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับชีวิตยามเช้า แทบทุกวันผมมักผ่านพ้นตัวเองไปกับน้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋ที่ปากทางเข้าตลาด ของกินแปลกใหม่แทรกซ้อนเรื่องราวของวัฒนธรรม เด็กน้อยแก้มแดงที่ต่องแต่งอยู่ในผ้าลวดลายจีนที่ผู้หญิงหลายคนใช้มัด ดอกไม้เมืองหนาวสีสันสดใสจมอยู่ในกระบุงเล็ก ๆ
แม่ค้าหาบคอนเร่ขายอย่างไม่น่าเชื่อว่ามันจะกลายเป็นสินค้า "ประจำวัน" ผสานกลืนไปกับของกินตามแบบฉบับจีนยูนนานอย่างก๋วยเตี๋ยวเต้าหู้อ่อน ที่มักจะหมดไม่เกินแปดโมงเช้า เต้าหู้ทอดทรงสามเหลี่ยมนั่นอีก เด็ก ๆ มักติดมือก่อนไปโรงเรียน ผักกาดเขียวดอง หัวไชเท้าดอง มีให้เลือกไม่ต่างจากหมั่นโถวและซาลาเปา ตลาดเช้าเผยตัวตนอันเป็นจริงของเปียงหลวงอยู่ชั่วครู่ ไม่ได้คึกคักอะไรนัก คล้าย ๆ กับชีวิตที่พ้นผ่านความรุ่งเรืองของพวกเขา ทว่าตามถนนและลัดเลาะเข้าไปตามตรอกซอย ล้วนคือภาพชัดเจนกระจ่างตาอันซุกซ่อนหลายเรื่องราวไว้อย่างเงียบเชียบ
ผ่านโรงเรียนราษฎร์รัฐพัฒนา เด็ก ๆ เจื้อยแจ้วสำเนียงฟังยาก ปะปนกับเสียงประกาศลักษณะ "ทางการ" อย่างที่มันจำเป็น หรือ "ต้องเป็น" บ้านเรือนไล่เลยไปตามระดับขึ้นลงของภูเขา อักษรจีนและคติธรรมที่เขียนตามหน้าบ้าน สีแดง น้ำเงิน บนพื้นขาว ทำให้รู้สึกว่าราวกับนี่ไม่ใช่เมืองไทย
ผมแวะทักพี่ละเอียดในทุกเช้า ชาร้อนที่เธอตระเตรียมแทบทุกครั้งที่พบหน้ากันทำเอาผมเกรงใจ คำว่ามิตรและน้ำชาสำหรับเธอคล้ายจะหลอมรวมอยู่ในควันหอม ๆ ยามเทชาลงจอก ตามบ้านเรือนระโยงรยางค์อยู่ด้วยไส้กรอกยูนนาน เนื้อหมูที่แขวนเผชิญอากาศเย็นเพื่อลดวันเน่าเสีย ข้าวโพดเต็มราวมีฉากหลังเป็นไม้สีน้ำตาลสวย พวกเขาใช้เลี้ยงไก่
"ถ้าเป็นหน้าผักกาดเขียวออกก็เต็มหมดล่ะ" หลัง ๆ ผมเรียกพี่ละเอียดว่าเจ้ ดูเธอจะชื่นชอบมากกว่า ตามตรอกย่อยเล็กน้อยยังคงปรากฏบ้านดินแบบจีนโบราณ ที่ก่อโดยใช้โครงไม้ไผ่ อายุอานามเท่า ๆ กับการมาถึงของชุมชนจากกองพล 93 แห่งนี้ และหากเดินเลาะไปเรื่อย ๆ ตามบ้านหลังใหญ่โตในเปียงหลวง
ว่ากันว่าบรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าอาจเป็นนายทหารชั้นนายพัน อย่างบ้านที่อยู่หลังโรงเรียนราษฎร์รัฐพัฒนา ที่หากมองลึกเข้าไปจะเห็นอาคารสองชั้นวางตัวรูปเกือกม้า ผนังหนา ๆ และซุ้มประตูหน้าบ้านไม่เพียงกันลมหนาว แต่ยังมีช่องเล็ก ๆ สำหรับวางปืนและป้องกันกระสุน
"ส่วนใหญ่ช่างฝีมือมาจากชิงไห่กันทังนั้น ตอนนั้นเด็ก ๆ อยู่ ตื่นเต้น ดูบ้านโน้นที บ้านนี้ที" เตี่ยของเจ้ละเอียดก็เช่นกัน มีอดีตไม่แตกต่างไปจากผู้ชายแทบทุกคนในเปียงหลวง คือเป็นทหารจีนคณะชาติที่เคยจับปืนก่อนมากำจอบเสียม ผู้หญิงและครอบครัวของหลายคนเติบโตและใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่น ในการเดินทัพร่อนเร่มาก่อนจะรู้จักกับคำว่าบ้านกลางหุบเขา
จะว่าไป ความเป็นเมืองย่อม ๆ ของเปียงหลวงก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก หากเทียบกับโลกข้างล่าง ทว่ามันอัดแน่นอยู่ด้วยเรื่องราวในแทบทุกอณู สำหรับคนต้องการทำความรู้จักและเคารพความแตกต่างหลากหลายในความคิดความเชื่อ
ชายชราที่ล้อมวงไพ่นกกระจอกตามบ้านโน้นบ้านนี้ หรือแม่เฒ่าที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้นอกจากรอยยิ้ม ชีวิตกลางหุบเขาของคนรุ่นปู่ของเจ้ละเอียดเหมือนจะไม่ง่ายนัก สำหรับหมู่บ้านทัพทหารที่กลายเป็นหมู่บ้านเกษตรกร ความเปลี่ยนแปลงผลักดันให้วิถีชีวิตต่อสู้กับผืนดินแทนสนามรบ ข้าวดอย ข้าวโพด ลิ้นจี่ มันอาลู ผักนานา ถูกเรียนรู้สำหรับผู้ที่คิดว่าแผ่นดินมีค่ามากกว่าจะจากจร
เช่นนั้นเอง ตามบ้านเรือนหรือออกไปด้านนอกของเปียงหลวงจึงเต็มไปด้วยผืนนาทั้งของชาวจีนฮ่อและไทยใหญ่ มันเขียวชุ่มในฤดูฝนและเปลี่ยนเป็นความหวังหลังเก็บเกี่ยว สวนลิ้นจี่ให้ผลหวานกรอบ และตามแต่ละเนื้อดินที่ว่างก็มากมายไปด้วยผักต่าง ๆ ที่ใช้กินมากกว่าขาย ดอกผลจากการเปลี่ยนทิศทางของพวกเขาส่งต่อมายังเด็กหนุ่มสาวที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เท่าที่ชีวิตบนแดนดอยจะดิ้นรนและพามันออก ออกมาหาความเท่าเทียม
"คนจีนเราเน้นเรื่องการศึกษาเคียงคู่คุณธรรม" ครูเฉาหยง แซ่หวาง เปรยเป็นประโยคแรก ๆ เมื่อเรามาถึงโรงเรียนภาษาจีนกวงหัว กลางหุบเขาห้อมล้อม มีบึงน้ำขนาดใหญ่เป็นฉากหน้า โรงเรียนจีนแห่งนี้โดดเด่นด้วยอาคารเรียนสีขาวสลับฟ้า มากมายอักษรและสำเนียงภาษาที่เป็นแบบเฉพาะของพวกเขา เด็ก ๆ ทยอยกันมาถึงหลังจากเรียนภาคปกติเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายบ่าย เสียงเจื้อยแจ้วและเสื้อกันหนาวหลากสีราวดอกไม้เล็ก ๆ
"เทียบกับแต่ก่อน ผมว่าแค่นี้น้อยเกินไป แต่ก่อนเช้ามืด เด็ก ๆ ตื่นตีสี่ไปเรียนภาษาอังกฤษกับคนพม่าที่รับสอนแลกค่าแรง กลางวันไปโรงเรียนหลวง เย็น ๆ มาโรงเรียนภาษาถึงสามทุ่ม" ครูเฉาหยงก็เช่นเดียวกับผู้ชายยูนนานคนอื่น ๆ ในเปียงหลวง เขาผ่านช่วงเป็นวัยรุ่นติดตามพ่อ ซึ่งเป็นนายทหารมาในกองทัพ รู้จักการศึกษาก็ต่อเมื่อได้ปักหลักฝังราก
"เดี๋ยวนี้อะไร ๆ มันง่ายขึ้น ผู้ปกครองก็ยอมจ่ายค่าเล่าเรียน" โรงเรียนจีนแห่งนี้เก็บค่าเล่าเรียนเป็นเดือน เริ่มตั้งแต่อนุบาล 150 บาท เพิ่มขึ้นทีละชั้นปีละ 10 บาท ไปจนจบมัธยมศึกษาตอนต้น สอนทั้งคำนวณ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และที่เน้นคือภาษาจีนกลางและเรื่องจริยธรรม
"คนข้างล่างขึ้นมารับราชการบนนี้ก็มาเรียนภาษาจีนนะ สื่อสารกับเรา เขาจะได้รู้เรื่อง" ประโยคท้าย ๆ ครูมาดสุขุมยิ้มเบา ๆ มองไปยังรูปปั้นเทพเจ้านาจาที่ศาลเจ้าแม่กวนอิมที่ตั้งอยู่ข้างโรงเรียน เด็ก ๆ วิ่งกันเกรียวปะปนหลากหลายกีฬาอยู่ตรงสนามด้านหน้า เพื่อนช่างภาพเลือกมุมกับความแสนชนแทบไม่ถูก นาทีนั้นหุบเขาดูอบอุ่น มีทิศทาง และมากไปด้วยความมั่นคง ความประณีตยามไม่ต้องรอนแรมสู้รบของพวกเขาไม่เพียงถ่ายทอดอยู่ในบทกวีจีน การละเลียดชา หรือหลักธรรมคำสอน บางคราวอาจหมายรวมไปถึงสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านมาจากมือ
หลังเด็ก ๆ เข้าเรียน ผมใช้เวลาท้าย ๆ วันอยู่ในบ้านของ อาฉิง แซ่หวาง บ้านของเธอถัดสูงขึ้นมาบนไหล่ดอย ลมหนาวสะบัดแนวผ้าจนลู่เอียง เตาไฟหน้าบ้านมากไปด้วยวัตถุดิบที่จะกลายเป็นมื้อเย็น เธอหยิบรองเท้าผ้าลายสวยออกมาให้เราดู หากแต่ใช่ว่าจะซื้อหากันได้ในทันที
"ต้องสั่ง มันใช้เวลาทำนาน" ภาษาไทยของเธอกระท่อนกระแท่นเทียบกับ สมชาย แซ่หลี่ คู่ชีวิตที่มาจากดอยแม่สลอง เขาดูคล่องกว่ายามคะยั้นคะยอให้เรากินแตงโมหวานฉ่ำ "ปลูกเอง ไม่ต้องเกรงใจ" เขายกความอร่อยสีแดงฉ่ำมาพร้อมกับชาร้อน ๆ ที่ยังไม่ทันจะดื่มก็คลายหนาวได้ด้วยน้ำใจ
นั่งดูรองเท้าผ้าของอาฉิง มันงดงามราวกับงานศิลปะที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น "จริง ๆ มีช่างเก่งอยู่แถวศาลเจ้า แต่เธอเลิกไปนานแล้ว" อาฉิงบอกถึงคนที่ผมมาตามหา ก่อนหยิบกาบไม้ไผ่ที่ได้ขนาดแข็งแรงทว่ายืดหยุ่น ก่อนที่จะผสานผ้าสีสันจัดจ้าสดใสลงไป เย็บทุกขั้นตอนด้วยมือ ลวดลายต่าง ๆ บอกถึงความถนัดและจนจัดของช่างทำรองเท้าแต่ละคน
"เดี๋ยวนี้เหลือน้อยแล้ว คนทำเฉ่าไห่" เธอพูดน้อย แต่มากรอยยิ้มรองเท้าที่เห็นในวันนี้มีน้อย เธอเลือกคู่สวย ๆ มาให้เราดู ก่อนบอกว่าหากอยากได้ให้รอสักนิด คำว่ารอของเธอไม่ใช่เป็นชั่วโมง หากหมายถึงให้เธอเลือกผ้า วัดขนาด และใช้มือที่มีขนาดเทียมเท่ากับหัวใจสร้างมันขึ้นมาอีกราวอาทิตย์ ไม่มีการร้องขอลูกค้า "อยากได้ก็บอก สั่งไว้ จะทำ" เธอหมายถึงเช่นนั้นจริงแท้
เราจากลาเธอลงมาพร้อมน้ำชาอุ่น ๆ ในลำคอ ความรู้สึกแบบญาติมิตรกรุ่นหอมอยู่ตรงเนินดอยแห่งนั้น ไม่มีเรื่องของการค้าหรือแง่มุมใดแทรกซ่อนยามไร้ซึ่งการสั่งจองรองเท้า และทุกเช้าหลังจากวันนั้น ทุกคำพูดของเธอดูห่วงใยในเรื่องอาหารการกินและที่หลับที่นอนของผมและเพื่อน ๆ ไม่ห่างตา ครอบครัว บ้าน ความอบอุ่น หลายคนที่นี่รู้จักมันตีและพร้อมส่งถึงคนอื่นก็ต่อเมื่อผ่านพ้นเรื่องราวอันหน่วงหนัก คืนค่ำหนาวเหน็บ และหนทางยาวไกล
เย็นวันหนึ่งผมยืนอยู่บนศาลเจ้าเงิน ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพยิ่งของคนเปียงหลวง จุดสูงสุดที่มองลงไปเห็นบ้านเรือนกระจ่างตาอยู่ในที่สูง ควันไฟจากครัวพวยพุ่งเป็นไอขาวตามหย่อมย่าน แดดอุ่นฉายจับ ไร่นากลายเป็นพรมสีน้ำตาลกลางวงล้อมของแดนดอย เมื่อบ้านไม่ได้กินความแค่พื้นที่คุ้มแดดฝน หากแต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ และขนาดของพื้นที่ที่พร้อมจะฝากฝังลมหายใจ
หนทางทอดยาวไร้การย้อนกลับก็สั้นลง และพื้นที่กว้างไกลเวิ้งว้างแห่งหนึ่งอาจหดแคบพอที่ใครสักคนพร้อมจะโอบกอดไว้ในอ้อมอก
คู่มือนักเดินทาง
เปียงหลวง คือตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มากมายไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมของคนจีนยูนนาน และชาวไทยใหญ่ รวมไปถึงบรรยากาศและความงดงามของภูเขาท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ
เมื่อมาถึงเวียงแหง แวะสักการะพระบรมธาตุแสนไห คู่บ้านคู่เมืองคนเวียงแหง เลยต่อไปเที่ยวเปียงหลวง ชายแดนที่บ้านหลักแต่ง ตั้งประชิดกับเมืองต๋น เขตรัฐฉาน สหภาพพม่า มี วัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดไทยใหญ่ที่ไทยและพม่าเป็นเจ้าของประเทศละครึ่ง ข้างบนสวยงามด้วยวิวทะเลภูเขากระจ่างตา
ตลาดเช้าเปียงหลวงมีสีสัน น่าเดินและลองชิมอาหารจีนยูนนานและไทยใหญ่ ผสมผสานไปกับภาพชีวิตละลานตา
เดินเที่ยวตามบ้านเรือนและบรรยากาศแบบจีน ไม่น่าพลาดโรงเรียนภาษาจีนกวงหัว หากมีรถขับเคลื่อนสี่ล้อ อย่าลืมขึ้นไปชมเมืองเปียงหลวงกลางม่านภูเขาบนศาลเจ้าเงิน
การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านอำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1178 ตรงไปเรื่อย ๆ ถึงสามแยกแม่จา เลี้ยงซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1322 ถึงบ้านเปียงหลวง รวมระยะทาง 168 กิโลเมตร เส้นทางคดเคียวกวนบนภูเขา แต่ลาดยางตลอด รถควรมีกำลังเครื่องดีและสภาพสมบูรณ์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 52 ฉบับที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555