ในอ้อมกอดดอยไกลสายน้ำกก (อสท.)
ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม โสกณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ
1. จู่ ๆ ความรู้สึกบางอย่างก็ก่อตัวขึ้นเงียบ ๆ ขณะยืนมองแม่น้ำกกลับหายไปกับสายน้ำโขง...มันเป็นวันที่หกของการเดินทาง ลอยล่องและเลาะเลียบแม่น้ำกกจากทิวดอยต้นน้ำ ณ พรมแคนไทย-พม่า มาถึงปลายทางที่แม่น้ำกกสลายตัวตน หลอมรวมกับสายน้ำโขงอันยิ่งใหญ่ เพื่อจะเดินทางไกลสู่อีกโค้งขอบฟ้า
ย้อนเวลากลับไป ค่ำคืนแรกในตัวเมืองเชียงราย แม่น้ำกกสีขุ่นข้นปรากฏราง ๆ ริมหน้าต่างห้องพัก เราเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ท่ามกลางข่าวน้ำเหนือไหลบ่า และภาพจริงของน้ำซึ่งเอ่อท้นเปี่ยมปริ่มสองข้างทาง ท้องนากลายเป็นทะเลสาบเวิ้งว้าง ค่ำคืนนั้นแม่น้ำกกปรากฏภาพเลือนรางเหลือเกิน ความคิดที่จะเดินทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายสายเริ่มรางเลือน ทว่าขณะยืนอยู่ริมระเบียง ทอดตามองน้ำสีชาไหลรี่ ถ้อยคำบางคำก็ผุดพราย คล้ายมืออันอบอุ่นยื่นมาปลอบโยน ปลุกเร้า ความหวังบางอย่างค่อย ๆ โชนฉาย...
เช้าวันถัดมา แม่น้ำกกปรากฏหน้าตาชัดเจนตรงระเบียงห้องพัก สายน้ำไม่ได้ขุ่นเขียวเกรี้ยวกราดดังที่คิด สองกรอบฝั่งยังเหลือที่ทางให้ได้หลากไหล เช่นกัน มันยังเหลือที่ทางให้เราได้ลอยล่องเลาะเลียบ เช้าวันนั้น จากตัวเมืองเชียงราย เราข้ามน้ำกกแล้วบ่ายหน้าขึ้นเหนือ ถึงอำเภอแม่จัน ลำน้ำกกปรากฏอีกครั้งท่ามกลางทิวดอยลดหลั่น ผืนนาขั้นบันไดเขียวชอุ่มชุ่มฝน
บ่ายคล้อยแล้วที่เรามาถึงบ้านท่าตอน เขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งลำน้ำกกทอดโค้งแรกออกจากดอยไกล บริเวณชายขอบพรมแดน ขณะขึ้นไปเยือนวัดท่าตอน เบื้องล่างปรากฏน้ำกกทอดขดคดเคี้ยวกระจ่างตา เรื่องราวต่าง ๆ ของลำน้ำสายนี้ก็ค่อย ๆ ร่ายเรียงออกมา
2. ตลอดความยาว 130 กิโลเมตร จากต้นกำเนิดบนดอยในเขตเมืองกก รัฐฉาน สหภาพพม่า กระทั่งสุดสายที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แม่น้ำกกทอดสายผ่านภูมิประเทศและผู้คนมากหลายเผ่าพันธุ์ ครั้งหนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนที่คนไทยอาลัย เชื่อว่าลุ่มน้ำกกคือศูนย์กลางหนึ่งของกลุ่มคนชนชาติไทย ยุคก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 จู่ ๆ ความรู้สึกบางอย่างก็ก่อตัวขึ้นเงียบ ๆ ขณะยืนมองแม่น้ำกกลับหายไปกับสายน้ำโขง...
ตลอดความยาว 130 กิโลเมตร จากต้นกำเนิดบนดอยในเขตเมืองกก รัฐฉาน สหภาพพม่า พวกเขายังชีพด้วยการทำนา ปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำจากท่าหรือน้ำจากฟ้า มีดินตะกอนอันอุดมหล่อเลี้ยงตลอดทั้งปียาวนานกระทั่งล่วงพุทธศตวรรษที่ 19 น่าครุ่นคิดที่ว่า ทุกวันนี้ยังปรากฏร่องรอยอารยธรรมตลอดสองฝั่งลำน้ำ ดังที่พบโบราณสถานไม่น้อยกว่า 30 แห่ง ซึ่งบอกเล่าถึงชนชาติไต-ไท ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องไม่ขาดสาย กระทั่งเมืองเชียงรายรุ่งเรือง
พญามังรายย้ายศูนย์กลางลงไปยังลุ่มน้ำปิง ทว่าเรื่องราวของสายน้ำกกนั้นไม่เคยเลือนหาย ดังที่หญิงชรานางหนึ่งเล่าให้ผมฟัง ขณะล่องแพไม้ไผ่ตามสายน้ำนี้ลงไปเชียงราย มันเป็นวันที่สองของการเดินทาง คืนนั้นเรานอนที่วัดท่าตอน เพื่อที่จะตื่นขึ้นมาพบภาพลำน้ำกกห่มปุยหมอกขาว แล้วทอดเลื่อยลับไปกับโค้งขอบฟ้า เราเริ่มบ่ายหน้าออกจากฝั่งในชุมชนท่าตอน บ้านเรือนและรีสอร์ตค่อย ๆ ลับหาย เมื่อสายน้ำกกทอดโค้งขด ดอกอ้อล้อลมก็กลายเป็นเพื่อนตา
“แต่ก่อนคนแถบนี้จะไปไหนเขาใช้แพ ใช้ช้าง จะเอาเมี่ยงเอาของป่าลงไปขายเชียงรายก็ล่องแพลงไปสองวัน” ป้าตาบทิพย์ วรรณรัตน์ คนเก่าแก่ของท่าตอนเล่าพลางยิ้ม สบายใจอย่างหญิงอารมณ์ดี อันที่จริงป้าตาบทิพย์เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด มาเที่ยวท่าตอนแล้วเกิดความรู้สึกบางอย่าง “อยากมาอยู่ที่นี่” เธอว่า
ความที่เคยทำงานกับกองทัพอเมริกา ภาษาจึงเป็นสิ่งที่ป้าตาบทิพย์ชำนาญ พ.ศ. 2518 เธอเริ่มต้นจากเกสต์เฮาส์เล็ก ๆ ริมแม่น้ำ และเมื่อชื่อปรากฏในคู่มือท่องเที่ยว “โลกเหงา” หนุ่มสาวทั่วโลกแวะเวียนมาเยือน เธอจึงคิดรื้อฟื้นการล่องแพไม้ไผ่ “ปีนั้นท่าตอนยังเป็นบ้านป่าเมืองไกล ทหารพม่ากับขุนส่ายังรบกันไม่เว้นแต่ละวัน แต่ฉันสนุกกับงานมาก แม่น้ำกกบรรยากาศดี ยังเห็นเก้งกวางลงมากินน้ำ”
ตะวันเริ่มลอยสูง สะท้อนผืนน้ำเป็นประกายวามวาว ผ่านชั่วโมงแรก เรามาถึงบ้านใหม่หมอกจ๋าม วันนี้วันพระ หญิงสาวไทยใหญ่ในชุดผ้าทอปักเลื่อมลายบ่ายหน้ามาทำบุญที่วัด แว่วเสียงหัวเราะกังวานใส ขณะรุ้งตัวหนึ่งวาดโค้งเหนืออุโบสถซึ่งงดงามด้วยเชิงชายฉลุลวดลาย
3. ดวงแดดสีเงินฉายส่อง ปุยเมฆก่อตัวเป็นรูปทรงนานาเสียงนกร้องกังวาน ขณะแพไม้ไผ่ของเราล่องลอยอยู่กลางสายน้ำ มันเป็นโมงยามที่กล่าวได้ว่าสงบงาม...ผ่านคุ้งน้ำตรงบ้านวังไผ่ สองกรอบฝั่งก็ขนาบด้วยป่าดอยลดหลั่น บ้านชาวดอยซึ่งปลูกง่าย ๆ ด้วยไม้ไผ่สับฟากปรากฏตรงโน้นตรงนี้ บางหลังมองเห็นควันไฟอ้อยอิ่งเหนือหลังคามุงแฝก ยิ่งล่องลงไป ป่าไม้ยิ่งดูร่มรื่น ไทรใหญ่แผ่กิ่งก้านราวมหาวิหาร เถาวัลย์ห้อยย้อยระโยงระยาง ราวกับหนวดเคราของชายเฒ่าผู้หันหลังให้เมืองใหญ่
“คนแต่ก่อนเขาอยู่ง่าย ไม่อยากเดินก็นั่งช้าง เรือหางยาว ยังไม่มี ล่องแพหน้าหนาวนี่หมอกขาวลงเต็มไปหมด ตกค่ำก็จอดนอนกันตามหาดทราย” ป้าตาบทิพย์ เล่าพลางเหม่อมองผิวน้ำ ปลาบางตัวผุดพรายขึ้นมาหายใจ
บ่ายคล้อย เรามาถึงบ้านผาขวาง จุดซึ่งแม่กกค่อย ๆ สอบแคบไหลรี่ในแวดล้อมทิวดอยสีคราม “น้ำกกตรงนี้ลึกสุดล่ะ” ลุงจาย นายท้ายมากประสบการณ์หันมาบอก ใบหน้ากร้านแดดของแกดูราบเรียบ ช่างต่างจากสายน้ำสีขุ่นข้น โจนทะบานไปข้างหน้า ราวกับสายน้ำมากอารมณ์ เพียงผ่านผาขวางมา แม่น้ำกกก็เริ่มขยายกว้าง กลายเป็นลำน้ำใหญ่ ค่อย ๆ เอื่อยไหลคล้ายไม่ไยดีต่อวันเวลา
ตะวันคล้อยแตะยอดดอย แพไม้ไผ่จอดเทียบตลิ่งบ้านผาใต้ แดดอุ่นฉายอาบทิวดอยและป่าไม้ เราล่ำลาป้าตาบทิพย์ ลุงจาย และน้าเสาร์ นายท้าย ขณะนั่งเรือหางยาวเข้าเขตเชียงราย ถ้อยคำบางคำของป้าตาบทิพย์ยังกังวานอยู่ในใจ “เดินทางปลอดภัย” สำหรับหญิงแกร่งอย่างป้าตาบทิพย์ ถ้อยคำสั้น ๆ นั้นช่างเปี่ยมความหมาย นึกถึงอาหารมื้อแรกที่ท่าตอน ก็ได้น้ำใจป้าตาบทิพย์และหลานสาว อีกทั้งที่หลับนอนและแพไม้ไผ่ เรื่องเล่าของป้าตาบทิพย์ยามค่ำคืนนั้นมีมากหลาย คล้ายนิยายเล่มหนาที่เขียนขึ้น ณ ชายขอบเส้นพรมแดน ริมสายน้ำที่ยังมีลมหายใจ
4. เย็นแล้วที่เรานั่งเรือมาถึงเกสต์เฮาส์ริมแม่น้ำ ที่พักของเราเป็นกระท่อมเล็ก ๆ เรียงรายใต้ร่มไม้ ในอาณาบริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงแคววัวดำ ที่ซึ่งสัญญาณโทรศัพท์ละลายหาย รุ่งเช้า...อนันต์-ชายหนุ่มเจ้าของเกสต์เฮาส์อาสาพาเราไปเยือนหมู่บ้านบนดอย น้ำใจของเขาในเวลาต่อมาทำให้ผมนับถือเป็น “พี่ชาย”
ตะวันยังไม่โผล่พ้นยอดดอย เราขับรถไปตามทางลูกรังคดเคี้ยว บางช่วงเห็นเสี้ยวใบหน้าน้ำกกลิบ ๆ บางคราวก็ชิดใกล้ มองเห็นน้ำขุ่นแดงข้นคลั่ง เอ่อท้นแนวต้นไม้ ขณะแดดอ่อนค่อย ๆ ฉาย เราก็มาถึงบ้านห้วยลุหลวง หมู่บ้านชาวลาหู่นะ-มูเซอดำ ทำเลหมู่บ้านนับว่างดงาม ตั้งอยู่บนยอดดอยลูกย่อม เบื้องหน้าคือผืนนาข้าวขั้นบันไดไล่ระดับ ขณะเบื้องหลังคือทิวดอยสูงสีคราม
เราขับรถข้ามสะพานแล้วไต่ทางชันขึ้นไปยังหมู่บ้าน ตัวเรือนส่วนมากยังสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก เด็ก ๆ วิ่งเล่นสนุกสนาน หญิงสาวนั่งทอผ้าด้วยกี่เอว ท่าทางคล่องแคล่ว ที่ชานเรือนหลังหนึ่ง มีผู้คนนั่งพูดคุยกันหนาตา หญิงนางหนึ่งยื่นแก้วชามาให้พร้อมยิ้มระบาย ชากรุ่นควัน กลิ่นหอมอ่อน ๆ ล่องลอยในแดดสาย
“ออบูอือย่า” ผมยื่นแก้วเปล่ากลับไป กล่าวขอบคุณหญิงสาว...จากบ้านห้วยลุหลวง อนันต์พาผมขึ้นไปเยือนบ้านยะฟู หมู่บ้านชาวลาหู่ยี-มูเซอแดง “ความแตกต่างง่าย ๆ ของสองสายชนเผ่าคือ ลาหู่นะจะอยู่ที่ต่ำกว่าลาหู่ยี เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสีจะฉูดฉาดน้อยกว่า”อนันต์อธิบายเมื่อผ่าน ประตูผี หมู่บ้านนี้ยังนับถือผีบรรพบุรุษดั้งเดิม
ที่บ้านหลังหนึ่ง ชายหญิงและเด็ กๆ มารวมตัวกันในบ้านไม้ไผ่ทึบทึม เส้าเตาไฟในเรือนส่งควันลอยคว้าง เด็กหนุ่มคนหนึ่งเอ่ยเชื้อเชิญ เขาว่ากำลังทำพิธีขอขมาผี “แม่ไม่สบายครับ ทำบุญเลี้ยงผีแล้วจะหายป่วย ชีวิตจะดี” เขาบอกผ่านม่านควันสีเทา ลงจากเรือนหลังนั้น เราแวะมาบ้านนาแล มิตรสนิทของอนันต์ นาแลกำลังบรรจงปักลวดลายบนผืนผ้า นี่คือการงานที่หญิงชาวลาหู่ยีชำนาญ “ถ้ามาบ้านลาหู่ยีแล้วไม่ได้กินแตงกวา หมายความว่ายังมาไม่ถึง” อนันต์ยื่นแตงกวาสุกฉ่ำมาให้ ใบหน้านาแลระบายยิ้ม
ลงจากหมู่บ้านยะฟู เราแวะไปชมน้ำตกห้วยแม่ซ้าย แล้วเลยไปเยือนบ้านอาผ่า หมู่บ้านชาวอาข่า น่าเสียดาย ที่ประเพณีโล้ชิงช้าเพิ่งผ่านไป อนันต์เล่าว่า ในวิถีชาวอาข่า ผู้หญิงเสมือนช้างเท้าหน้า ต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย ทั้งหาฟืน หุงหาอาหาร เลี้ยงดูลูก โล้ชิงช้าเสมือนของขวัญประจำปีแต่ผู้หญิง ให้พวกเธอได้ผ่อนคลาย งานจะจัดต่อเนื่อง 2 – 3 วัน คล้ายงานรื่นเริง คนต่างหมู่บ้านต่างชนเผ่าก็เข้าร่วมได้ ในระหว่างนั้นชายหนุ่มและหญิงสาวจะมีโอกาสได้พบหน้า พูดคุยสานสัมพันธ์
ในยามนั้น ขณะยืนอยู่เบื้องหน้าชิงช้า ผมนึกถึงลำนำของชาวล่าหู่นะ “ยีมาหา ออจา มะแหม่” เห็นหน้าเธอแล้วก็เก็บไปคิดถึงมามาย กินข้าวไม่อร่อยเลย...
5. ที่เกสต์เฮาส์ มิตรจากเชียงรายขับรถมารับแต่เช้าตรู่ เราล่ำลาอนันต์ ต่างอวยพรให้โชคดีในชีวิตและการเดินทาง แดดฤดูฝนฉายลงมาบาง ๆ อาบไล้ไอหมอกซึ่งคลี่คลุมผิวน้ำกก ชาวดอยทยอยออกไปไร่ เด็ก ๆ ในชุดขาวสะอาดเดินฝ่าไอหมอกไปโรงเรียน ผ่านบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ยังเช้าเกินกว่าจะมีใครมาเยือน ควาญจึงมีเวลาได้ “พูดคุย” ป้อนหญ้าป้อนน้ำ ระหว่างมุ่งสู่เมือง ผมขอให้มิตรขับรถขึ้นไปบนยอดดอยริมทาง ไม่มีอะไรอื่นเพียงอยากมองแม่น้ำกกในอ้อมกอดทิวดอยและป่าไม้ อาจเป็นภาพสุดท้ายก่อนจะทอดสายสู่ที่ราบกว้าง
คืนนั้น เราพักค้างในตัวเมืองเชียงราย ก็ได้มิตรเป็นธุระจัดแจง พูดได้ว่าเป็นที่พักชั้นดี บรรยากาศโรแมนติกริมลำน้ำกก ช่างแตกต่างจากเกสต์เฮาส์เล็ก ๆ บรรยากาศดอยไพรที่เพิ่งจากมา ดึกดื่นวันที่สี่ ขณะอาลัยอยู่ริมแม่น้ำ จู่ ๆ ผมก็อยากรู้ว่าอารมณ์ตนเองจะเป็นเช่นใด เมื่อไปยืนตรงจุดลำน้ำกกสิ้นสุดการเดินทาง...
6. เช้าตรู่ หมอกยังคลี่คลุมเหนือลำน้ำ จากตัวเมืองเชียงราย เราเดินทางไปอำเภอเชียงแสน เข้าเขตแนวกำแพงเมืองโบราณ ยังทันได้เห็นตะวันอาบไล้องค์เจดีย์และหมู่ไม้ กล่าวได้ว่า จากลุ่มน้ำกกบริเวณพรมแดนอาณาจักร ในพุทธศตวรรษที่ 19 อารยธรรมอันรุ่งเรืองของชนชาติ-ไท ได้แผ่ขยายมาถึงที่นี่ ประจักษ์พยานดังกล่าวปรากฏเป็นแนวกำแพงเมืองสูงตระหง่าน พระพุทธรูปคู่เมือง อีกทั้งองค์เจดีย์เก่าแก่เรียงราย
บ่ายวันนั้น ผมไปชมวัดพระธาตุเจดีย์หลวง เจดีย์ทรงระฆังเหลี่ยมซึ่งว่ากันว่าองค์ใหญ่สุดในเมืองเชียงแสน ใกล้ ๆ กันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ทว่าปิดปรับปรุง เพราะเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านมา นึกถึงเปลวรัศมีของพระเจ้าล้านตื้อซึ่งจัดแสดงอยู่ด้านในขนาดร่วมศอกของเปลวรัศมีนั้น ชวนให้จินตนาการว่าองค์จริงจะยิ่งใหญ่เพียงใด
ตะวันเริ่มคล้อย ผมไปเยือนวัดป่าสัก วัดโบราณที่พูดได้ว่างามที่สุดในเมืองเชียงแสน ลำแดดสีทองกำลังฉานฉาย ส่งให้องค์เจดีย์ใหญ่ทรงปราสาท 5 ยอด ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นอันอ่อนช้อย ยิ่งงามวิจิตรข้ามกาลเวลา ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพญาแสนภู เพื่อประดิษฐานพระบรมสาริริกธาตุจากเมืองปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย สร้างวัดแล้ว พญาแสนภูโปรดให้ปลูกต้นสัก 300 ต้น รอบบริเวณวัด ใต้ร่มเงาสักที่เติบใหญ่มานับร้อยปี ผมเชื่อว่าการเดินทางจากชายขอบอาณาจักรมาถึงที่นี่ มีเหตุผลมากกว่าความอุดมสมบูรณ์ ดินฟ้า หรือคุณค่าความหมายของการโยกย้าย-เดินทาง...
จากอาณาจักรโบราณ ผ่านซุ้มประตูเมืองด้านทิศใต้ ผมเลาะตามแม่น้ำโขงลงไปถึงบ้านสบกก ดวงแดดก็โรยอ่อน สะท้อนผิวน้ำเพียงลูบไล้ เริ่มจากตรงนี้ ผมค่อย ๆ เดินเลาะริมฝั่ง เรือลำน้อยจอดคอยคนหาปลา แพไม้ไผ่จอดทอดไกลออกไป ดอกอ้อเอนไหวในสายลมละมุน ก้าวอีกสองสามก้าว ผมก็มายืนอยู่ตรงปลายสาย จุดซึ่งแม่น้ำกกสลายตัวตน หลอมรวมกับสายน้ำโขงอันยิ่งใหญ่ เพื่อจะเดินทางไกลสู่อีกโค้งขอบฟ้า
ขณะยืนอยู่ริมฝั่ง จู่ ๆ ความรู้สึกบางอย่างก็ก่อตัวขึ้นเงียบ ๆ คล้ายเดินทางกับใครบางคน รอนแรมร่วมกันมาหกวันแล้วต้องจากลา...ใช่หรือไม่ นิยามของชีวิตก็คงคล้ายเช่นนี้ พบพาน ผ่านพ้น เพื่อจะเริ่มต้นเดินทางรอนแรมต่อไป
คู่มือนักเดินทาง
- ตลอดความยาว 130 กิโลเมตร ในเขตบ้านเรา สามารถไปเยือนแม่น้ำกกได้หลายวิธี ทั้งแพไม้ไผ่เรือหางยาว รถยนต์ แม้กระทั่งเดินเท้า
- น่าลองล่องแพไม้ไผ่จากบ้านท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่ เย็น ๆ แวะพักค้างริมลำน้ำกก เช้าวันรุ่งขึ้นไปเยือนหมู่บ้านชาวดอย แวะบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร แล้วนั่งเรือหางยาวหรือนั่งรถเข้าเมืองเชียงราย
- ที่ท่าตอนมีจุดน่าชมคือวัดท่าตอน บนเจดีย์แก้วสามารถมองเห็นทิวทัศน์แม่น้ำกกได้เต็มตา ค่ำ ๆ แวะกินสเต๊กที่ร้านสเต็กลาว อยู่เยื้องทางเข้าวัดท่าตอน
- ตัวเมืองเชียงรายน่าเที่ยว เย็นวันเสาร์มีกาดถนนคนม่วน วันอาทิตย์มีถนนคนเดิน ที่หอนาฬิกามีมินิไลต์แอนด์ซาวนด์ รอบ 19.00, 20.00 และ 21.00 น.
- ที่สะพานแม่ฟ้าหลวงมีเรือเมล์เชียงราย-ท่าตอน ออกเวลา 10.30 น. ถึงท่าตอน 15.30 น. ออกจากท่าตอน 12.30 น. ถึงเชียงราย 16.30 น. หรือจะเช่าเหมาะเที่ยวก็สะดวก
- เมืองโบราณเชียงแสนน่าเดินช้า ๆ ในเขตเมืองโบราณร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ เย็น ๆ ออกไปกินมื้อค่ำริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดี
- ที่ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวมีรถไฟฟ้านำชมฟรี เวลา 08.30 – 16.30 น.
การเดินทาง
บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสองชั้น กรุงเทพฯ-ท่าตอน เที่ยวเวลา 18.30 น. ถึงท่าตอน 16.00 น. ค่าโดยสาร 643 บาท กรุงเทพฯ-เชียงราย รถปรับอากาศวีไอพี 32 ที่นั่ง มีเที่ยวเวลา 20.20 น. ถึงเชียงราย 07.20 น. ค่าโดยสาร 904 บาท
บริษัทนิววิริยะยานยนต์ทัวร์ มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศวีไอพี ๓๒ ที่นั่ง กรุงเทพฯ-ท่าตอน เที่ยวเวลา 16.30 น. และ 19.45 น. ค่าโดยสาร 643 บาท รถปรับอากาศชั้น 1 มีเที่ยว เวลา 07.00 น. และ 17.45 น. ค่าโดยสาร 750 บาท
ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงราย ถนนสิงหไคล อำเภอเมืองฯ โทรศัพท์ 0 5371 7471, 0 5374 4674 – 5 หรือที่ Call Center 1672
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ปีที่ 52 ฉบับที่ 4 พฤศจิกายน 2554