
เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
วะวับวาวราวแก้วกระจกใส
ค่อยค่อยไหลเลื่อนไหลเหมือนไม่เลื่อน
ระเอิบอิ่มพริ้มพรายรายรายเลือน
ตะวันเชือนเมฆฉายเป็นลายน้ำ
ลำชีมูลมาประสานละหานห้วง
แล้วเลาะล่วงร่วมไหลไปเรื่อยร่ำ
ละเมาะไม้รายฝั่งดั่งเริงรำ
เมฆขาวคล้ำระส่ำส่ายกระจายฟ้า
แล้วยืนช้างย่างช้ามาช้าเฉื่อย
นกร้องเรื่อยประจำไพรที่ชายป่า
สแนงเกลกู่แว่ววะแว่วมา
ราวบอกลาป่าภูและอู่ไพร
ลำชีลาท่าตูมมาตกต้อง
ลำมูลรองรับลอยค่อยคล้อยไหล
ลาพ่อพลายแม่พังเดินทางไกล
กระชับใจกระชับชลคนกับช้าง
(อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
หมู่บ้านช้างแห่งสุรินทร์
ที่บ้านตากลาง หมู่บ้านที่ ๙ ของตำบลกระโพ อำเภอท่าตูมนั้น เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวสุรินทร์ เชื้อสายกวยกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตอันงดงาม ระหว่างคนกับช้างเช่นบรรพบุรุษ อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๑๔ (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ก่อนถึงอำเภอท่าตูม
จะมีทางแยกซ้ายตรงหลักกิโลเมตรที่ ๓๖ เข้าปากทางบ้านกระโพตรงเข้าไปตามถนนลาดยางอีกประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ขับรถเข้าไปสะดวกไม่ต้องกลัวหลงทาง เพราะมีป้ายทางเข้าหมู่บ้านช้างสุรินทร์เป็นระยะ ๆ ด้วยฝีมือการบินไทยผู้น่ารัก (เพราะช้างเปรียบเหมือนเครื่องบินจัมโบ้ของการบินไทย) หมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพนี้ มีคำขวัญเฉพาะถิ่นว่า "ตากลาง แหล่งช้างใหญ่ เผ่าไทยกวย สวยธรรมชาติ หาดทราบงาม แม่น้ำสองสาย ผ้าไหมเนื้อดี สามัคคีเป็นเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม งามล้ำงานประเพณี"เป็นคำขวัญที่ยามเฟื้อยไม่แพ้คำขวัญของจังหวัด ก็เพราะว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านช้างที่มีจำนวนช้างมากที่สุดของสุรินทร์ คือประมาณ ๒๖๐ เชือก
งานช้างสุรินทร์ 2567 เที่ยวงาน มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ วันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2567
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านตากลางเป็นที่นาป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่ง มีลำน้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล บริเวณพื้นที่แห่งนี้ในอดีตกาลจึงเหมาะสมต่อการเลี้ยงช้างเป็นอย่างดี สมัยก่อนนั้นช้างที่นี่เป็นช้างป่าที่จับมาได้ด้วยการไปเที่ยว "โพนช้าง" หรือ "คล้องช้าง" บริเวณชายแดนต่อเขตประเทศไทยและกัมพูชา เพราะเป็นบริเวณที่ช้างป่าชุกชุม เมื่อสถานการณ์ทางด้านการเมืองการปกครองเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถเข้าไปจับช้างป่าได้ดังเดิม ชาวบ้านจึงเลี้ยงช้างที่มีอยู่เป็นช้างบ้าน เป็นสัตว์เลี้ยงของครอบครัวที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาเป็นหลัก เมื่อมีงานบุญ หรือกิจกรรมอันใดก็จะนำช้างไปร่วมด้วยเหมือนบุคคลสำคัญในครอบครัว

งานประเพณีบวชนาคช้าง
งานประเพณีที่สำคัญของชาวหมู่บ้านช้างตากลางและใกล้เคียงนั้นมีอยู่ ๒ งานด้วยกัน ได้แก่ งานบวชนาคช้างในเดือน ๖ (ประมาณเดือนพฤษภาคม) และงานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ ในเดือน ๑๒ (เสาร์-อาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน) ที่ไม่ว่าชาวกวยหมู่บ้านช้างแห่งนี้จะอยู่แห่งหนตำบลใดของประเทศ ก็จะเดินทางกลับบ้านเพื่อมาร่วมงานประเพณีของตนอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
งานประเพณีบวชนาคช้าง หรืองานบวชอะจึงเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวกวยตั้งแต่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านตากลางประมาณเกือบ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ตามคตินิยมที่นับถือผีประกอบกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับช้างอย่างแนบแน่นเมื่อคนรุ่นหลังได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนชาวพุทธทั่วไปในดินแดนแถบนี้ จึงรวมความเชื่อและศรัทธาปฏิบัติเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชนของตนเองด้วยการบวชนาคช้าง นั่นหมายถึงว่าในการที่ชาวกวยจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์เช่นพุทธศาสนิกชน ต้องมีขบวนแห่แหนนาคทุกองค์ด้วยการขี่ช้าง บางที่เรียกว่าขี่ช้างแห่นาค แต่ชาวบ้านเรียกว่างานบวชนาคช้าง (ที่จริงน่าจะเรียกว่างานบวชพระ แห่นาคขบวนช้าง) ที่ชาวบ้านเอ่ยอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะมีขบวนช้างร่วมแห่นาคนับร้อยเชือก มีนาคร่วมแห่นับร้อยคน มีขบวนแห่ยาวไกลไม่น้อยกว่ากิโลเมตร
สาเหตุที่มีช้างเข้ามาเกี่ยวข้องในการบวชนอกจากเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนผูกพันกับช้างเช่น ชาวกวย สุรินทร์และชาวไทยพวน ศรีสัชนาลัยแล้ว ยังเป็นคตินิยมสอดคล้องกับมหาชาติชาดก (กัณฑ์พระเวสสันดร) ที่กล่าวถึงว่า ภายหลังจากพระเวสสันดรเสด็จออกทรงผนวก ณ ป่าหิมพานต์ แล้วชาวเมืองสีพีต่างเข้าใจและอภัยให้ (ตอนแรกชาวเมืองสีพีไม่พอใจที่พระองค์พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ซึ่งเป็นช้างสำคัญคู่เมืองแก่พราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ไป) พระเจ้ากรุงสัญชัยได้จัดขบวนช้างขบวนม้าที่ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติไปรับพระเวสสันดรเข้าเมือง
ส่วนวิธีการจะขึ้นอยู่กับว่าเมืองไหนนำขบวนแห่พระเวสสันดรตามมหาชาติชาดรมาประยุกต์ได้อย่างเหมาะสมกับท้องถิ่นของตนอย่างไรเท่านั้นเอง เพราะเพียงแค่ขบวนช้างที่ศรีสัชนาลัยและสุรินทร์ก็ต่างกันแล้ว ที่จะเหมือนกันก็คือพ่อแม่ที่หวังจะได้อานิสงส์จากการบวชของลูกตนเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อครอบครัวใดมีลูกชายอายุครบบวช คือ ๒๐ ปีบริบูรณ์ พ่อแม่จะต้องจัดการบวชให้ลูกชายเสียก่อนซึ่งส่วนใหญ่จะทำการบวชก่อนเข้าพรรษาตามพุทธบัญญัติที่พระภิกษุสงฆ์ต้องจำพรรษาอยู่วัด เพื่อจะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยได้อย่างเคร่งครัด แต่การบวชของชาวกวยออกจะเป็นกลุ่มพิเศษเหมือนชาวไตที่แม่ฮ่องสอนบวชลูกแก้ว ชาวไทยพวนหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีการขี่ช้างบวชนาคเหมือนกัน คือกำหนดช่วงเวลาบวชตามประเพณีของท้องถิ่นตน ชาวไตและชาวไทยพวน ๒ กลุ่มแรกบวชในเดือนเมษายนที่กำลังมีอากาศร้อนจัดและว่างจากภารกิจหลักในรอบปี หากชาวกวยที่บ้านตากลาง กำหนดพิธีงานบวชในเทศกาลวิสาขบูชา หรือระหว่างวันเพ็ญขึ้น ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ โดยก่อนหน้าวันงาน บรรดาพ่อแม่ของชายหนุ่มที่มีอายุครบบวชจะนัดบวชพร้อมกัน เพื่อให้เป็นงานใหญ่ของหมู่บ้าน ที่สำคัญนาคจะต้องร่วมกันขี่ช้างแห่แหนกันไปทั้งหมู่บ้านถึงจะได้บุญกุศลแรง จึงเป็นงานเดียวในโลกอีกเช่นกันที่ช้างจะมาชุมนุมกันอย่างมากมายไม่แพ้งานแสดงของช้าง
แต่ทั้งสองงานนี้นับได้ว่าเป็นงานที่ชาวกวยและช้างคืนสู่ถิ่น เหมือนชาวเหนือกลับบ้านในงานสงกรานต์ และชาวใต้กลับบ้านในงานบุญเดือนสิบทีเดียว
วันโฮม ทำขวัญนาค
วันแรกของการบวชนาคช้างคือวันโฮม หรือวันรวม ก็เหมือนงานบวชทั่วไปที่จะมีพิธีทำขวัญนาค ผู้ที่บวชต้องหมั่นท่องบทสวดมนต์และขั้นตอนการปฏิบัติตนต่าง ๆ ให้แม่นยำพอสมควร พอถึงพิธีโกนผม ที่พระอุปัชฌาย์จะเริ่มตัดปอยผมแรกให้ก่อน ถึงจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อน ๆ ตามลำดับ ตกค่ำนาคที่ถูกโกนผมโกนคิ้วจนเกลี้ยงเกลาแล้วแต่งชุดขาวและเครื่องประดับบรรดามี ก็นั่งพนมมือรับฟังหมอขวัญกล่อมขวัญไป ผองเพื่อนก็เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ บางคนรับศีล ๕ ตามนาค แต่เพื่อนชายส่วนใหญ่คงจะยกเว้นศิลข้อ ๕ ที่ว่าให้ละเว้นการดื่มสุราเครื่องดองของเมา ก็เพราะเป็นประเพณีของชาวกวยอีกนั่นแหละที่มักอ้างคำขวัญประจำ (ตัว) ว่า เป็นชาวสุรินทร์ต้องดื่มสุรา มิฉะนั้นไม่ใช่ชาวสุรินทร์ แล้วสุราที่ดื่มก็ต้องแรงขนาด ๔๐ ดีกรี หรือเหล้าขาวที่ชาวบ้านนิยมมากว่าถูกคอดี แต่ชาวกรุง หรือชาวต่างถิ่นที่เข้าไปเที่ยวชมงานลองเหล้าขาวตามคนละอึกสองอึกก็หน้าเบ้ เดินเป๋กันเป็นแถว เพราะไม่คุ้นกับฤทธิ์เหล้าขาวอย่างชาวบ้านมาก่อน

วันที่สอง ไฮไลต์ขบวนแห่ขี่ช้างบวชนาค
วันนี้ทั้งหมู่บ้านคึกคักกันแต่เช้า เพราะต้องแต่งองค์ทรงเครื่องให้ทั้งคนและช้างที่เข้าพิธีบวช คนน่ะไม่เท่าไหร่เพราะพ่อแม่พี่น้องช่วยกันรุมแต่งหน้าทาแป้ง สวม "จอม" ที่เหมือนเทริดซึ่งทำด้วยกระดาษสี และการแต่งกายไม่เน้นการแต่งชุดขาวเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนที่อื่น เขาใช้เสื้อขาวอย่างเดียว นอกนั้นนุ่งผ้าพื้นบ้านที่เป็นผ้าทอมือของชาวกวย สีสันเข้มขรึมตัดกัน เป็นโสร่งเปราะฮ์ (โสร่งชาย) มีลักษณะเป็นตารางใหญ่ สีแดงสลับเขียว มีริ้วตัดตรงกลางตลอดผืน แม้แต่ร่มที่กางให้นาค หรือพระก็ใช้ผ้าทอพื้นเมืองมาตกแต่งปลิวลมไสวไปตลอดทาง
สำหรับช้างพาหนะสำคัญของนาคก็ถูกจับอาบน้ำแต่งตัวแต่เช้าเหมือนกัน ช้างอาบน้ำสมัยนี้ถ้าใครที่เลี้ยงช้างมีบ้านอยู่ใกล้ลำห้วย หนอง คลอง บึง ก็คงพาช้างไปอาบน้ำสะดวก แต่ในยุคปัจจุบันที่การประปาภูมิภาคเข้าไปถึงหมู่บ้านคนและช้างจะได้รับความสะดวกในการอาบน้ำคือต่อสายยางจากท่อประปาอาบกันตรงลานบ้านเลย ไม่มีใครกล้าหาญมารับจ้างอุ้มช้างอาบน้ำ มีแต่ช้างดูดน้ำพ่นใส่คนอย่างคึกคะนองที่ได้อาบน้ำเย็นสบาย ไม่หงุดหงิดอาละวาด แม้คนจะล้างเอาโคลนที่เกาะเลอะเทอะตามผิวหนังช้างออกไป เพราะคนอยากให้ช้างสะอาด ในขณะเดียวกันช้างคงคิดในใจว่าโคลนเหมือนแป้งที่ทาตัวแล้วสบายดีต่างหาก
เมื่ออาบน้ำให้ช้างสะอาดสะอ้านดีแล้ว ควาญช้างก็จะบรรจงแต่ตัวให้โดยใช้ปูน (กินหมาก) สีขาวทาสีเป็นลายเส้นตามหัว งวง ลำตัว ไปจนถึงหางแบบฟรีสไตล์ เขียนขอบตา แม่ไม่มีทาปาก (เพราะมองไม่เห็น) บ้างก็เขียนตัวหนังสือเป็นชื่อช้าง เป็นวลีรุ่น ๆ ให้กวนใจคนอ่านเหมือนมองท้ายรถสิบล้อ เช่นว่า "น้องจ๋ารอพี่บวชก่อน" "ลูกขอลาบวช" "พี่มารับเขาบวช" อ่านแล้วยังพอทำเนาเข้ากับบรรยากาศดี บางรายเขียนส่อพฤติกรรมเหี้ยมหาญนี่กระไร เป็นต้นว่า "ปีศาจสุรา" "ก็อดอาร์มี" "ยุวชนทหาร บวชแล้วพี่ขอรบ" ส่วนประเภทไม่เขียนตัวอักษรก็เล่นง่าย ๆ เหมือนจำมาจากภาพเขียนสี เพียงแค่เอามือจุ่มปูนขาวแล้ววางทาบแปะ ๆ ไปตามตัวช้างก็ปรากฏเป็นรูปรอยฝ่ามือมนุษย์ยุกก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม เพียงแต่ที่โน่นเป็นสีแดง ที่นี่เป็นสีขาว แต้มสีสันอื่นก็ใช้สีธรรมชาติ เช่น ขมิ้น ให้สีส้มสดใสขึ้นมาหน่อย แล้วก็ไม่กัดทำลายผิวของช้างด้วย
หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการแต่งองค์ทรงเครื่องช้าง อย่างแรกบรรจุปูเปลือกไม้ประโดนที่ตีให้แตกเป็นเยื่อไม้หนารองไว้ก่อน ตามด้วยผ้ากระสอบป่านอีกปีก หรือผ้าห่มหยาบ ๆ พื้นบ้าน ที่พิถีพิพันกว่านั้นอาจเป็นหนังบาง ๆ ปูข้างบนก่อนที่จะวางแหย่งลงไป แหย่งก็คือที่นั่งบนหลังช้างเหมือนเก้าอี้แต่มีขากางคร่อมหลังช้างแล้วผูกรัดด้วยเชือกเส้นใหญ่ แต่หุ้มอีกชั้นด้วยสายพลาสติกขนาดใหญ่เพื่อมิให้เจ็บบริเวณท้องช้าง
เสร็จเรียบร้อยแล้วถึงไปรับนาคตามจุดนัดหมายแล้วมาพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งคนและช้าง ตลอดจนเครื่องอัฐบริขารของนาคแต่ละองค์ เมื่อมาประกอบกันเป็นจำนวนมากคือช้างนับร้อยเชือก มีนาคถึง ๓๐ องค์ จึงกลางเป็นขบวนใหญ่ทีเดียว ณ ที่วัดแจ้งสว่างซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านและเป็นสถานที่เปิดงาน ในปีนี้ค่อนข้างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ (อบจ.สุรินทร์) ให้การสนับสนุนในการจัดงาน ททท. ช่วยเชิญสื่อมวลชนทั้งประเทศ และต่างประเทศมาทำข่าวประชาสัมพันธ์ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานด้วยตนเองเนื่องจากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่างานบวชนาคช้างของชาวบ้านตากลางและใกล้เคียงนี้ สมควรที่จะได้รับการอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และภูมิปัญญาของขาวท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป เป็นการส่งเสริมงานประเพณีพุทธศาสนนาให้ยั่งยืน ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้หมู่บ้านช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุรินทร์อย่างกว้างขวางด้วย
แต่ที่สำคัญที่สุด เพื่อเป็นการอนุรักษ์ช้าง หาทางช่วยเหลือช้าง ช่วยเหลือคนเลี้ยงช้างให้มีงานทำ มีรายได้ที่เหมาะสมตลอดไป
แห่นาคขบวนช้าง
หลังจากพิธีเปิดงานเป็นทางการเสร็จสิ้นลง ขบวนแห่บวชนาคช้างก็เคลื่อนออกจากวัดแจ้งสว่างเพื่อไปเซ่นไหว้ศาลปู่ตา และขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนที่วังทะลุ ซึ่งมีระยะทางห่างจากวัดประมาณ ๒ กิโลเมตร มีถนนลาดยางตัดผ่านทุ่งนาไปจนถึงวังทะลุ ตลอดเส้นทางวงดนตรีกลองยาวประชันเสียงสร้างความครึกครื้นไปตลอด ทำให้บรรดาช้างแสนรู้หลายเชือกที่ชินกับเครื่องประโคมดนตรี เดินบ้างเต้นบ้าง คนที่นั่งบนหลังช้างทั้งนาค ทั้งพระ ทั้งญาติโยม นักท่องเที่ยวและนักข่าว ต้องนั่งโยกเยกเหมือนนั่งเรือโคลงกันไปตลอดทางจนถึงวังทะลุ แต่ก่อนจะเข้าสู่พิธีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องให้ช้างลงไปแช่ในน้ำคลายร้อนก่อน ๑ รอบ
อุทกสีมา-โบสถ์น้ำ
การที่ให้ช้างลงไปแช่น้ำมิใช่ประสงค์ให้ช้างได้ผ่อนคลายจากความร้อนของธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว ลำน้ำที่ไหลผ่านวังทะลุนี้คือลำน้ำมูลก่อนที่จะไปบรรจบกับลำน้ำชีเบื้องหน้า ลำน้ำสายนี้เป็นสายสำคัญของชาวอีสานมาแต่โบราณ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาพนมดงรัก นครราชสีมา ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ไปสู่แม่น้ำโขงที่อุบลราชธานี ชุมชนโบราณแต่เดิมทียังไม่มีการสร้างโบสถ์วิหาร มีแต่สำนักสงฆ์ จึงใช้แนวลำน้ำใกล้สำนักสงฆ์เป็นเขตกั้นผู้เข้าไปรบกวนการปฏิบัติธรรม (โดยเฉพาะญาติโยมสีกา) ลำน้ำมูลบริเวณนี้จึงเปรียบดั่งอุทกสีมา หรือโบสถ์น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อช้างลงไปจุ่มลำน้ำก็เสมือนกับช้างนี้ได้บวชด้วยช้างก็คงได้บวชกันทุกปีมากกว่าคนที่บวชครั้งเดียวหนเดียวเป็นส่วนใหญ่
ที่วังทะลุนั้นถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะชาวกวยกลุ่มเลี้ยงช้างเชื่อว่าเชือกปะกำคือผีปู่ตา หรือเรียกว่าผีปะกำตั้งอยู่ทางด้านเหนือของบ้านเรือน ปกติแล้วการเซ่นผีปะกำจะมีหลายกรณี ได้แก่ การคล้องช้าง การแต่งงาน การบวช การจากไปแดนไกลเพื่อแสวงโชค ฯลฯ ดั้งนั้นในการบวชนาคช้างที่ยิ่งใหญ่ประจำปีจึงมีการเซ่นไหว้ผีปะกำประจำหมู่บ้าน ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วังทะลุเหนือฝั่งลำน้ำมูลแห่งนี้เอง
พิธีเซ่นผีปะกำ
คำว่า "ปะกำ" หมายถึงเชือกหนังที่ทำจากหนังควาย ๓ เส้น มาบิดเป็นเกลียวสำหรับคล้องขาช้าง โดยมีห่วงเหล็ก หรือหวายอยู่ที่ปลายทั้งสองข้าง ด้วยเหตุที่ว่าชาวกวยที่นี่ยกย่องช้างเสมือนสมาชิกหนึ่งของครอบครัว ดังนั้นผีปู่ตาที่เกี่ยวกับช้าง (ผีปะกำ) จึงนับเป็นผีที่ใหญ่ที่สุดรองลงไปเป็นผีบ้านผีเรือน (ยุจุ๊ ยะจั๊วะ) กล่าวกันว่าพิธีกรรมเหล่านี้เก่าแก่โบราณสมัยก่อนอาณาจักรเจนละจะรุ่งเรืองเสียอีก
เวลาที่ทำพิธีเซ่นผีปะกำจะมีครูบา หรือปะกำหลวงคือผู้เฒ่าผู้มีความรู้ความชำนาญทั้งด้านคชลักษณ์ คชกรรมและเคยเป็นหมอสะดำที่ออกจับช้างป่าได้ไม่น้อยกว่า ๒๐ ตัวขึ้นไป เป็นผู้ประกอบพิธี พร้อมเครื่องเซ่นครบครัน ได้แก่ หัวหมู ๑ ตัว พร้อมเครื่องใน ไก่ต้ม ๑ ตัว กรวยดอกไม้ ๕ กรวย เหล้าขาว ๑ ขวด เทียนขี้ผึ้ง ๑ คู่ ข้าวสวน ๑ จาน บุหรี่ ๒ มวน หมาก ๒ คำ แกง ๑ ถ้วย น้ำเปล่า ๑ ขัน ขมิ้นผง ด้ายผูกข้อมือ ฯลฯ ขณะทำพิธีขบวนแห่นาคก็จะเรียงรายโดยรอบผีปะกำอย่างสงบ ให้ครูบากล่าวเชิญเทวดาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มารับเครื่องเซ่น ทุกคนในปริมณฑลจะเรียกชื่อ "อาคง...เอย" แล้วเชิญมารับเครื่องบัตรพลีพร้อมออกปากขอพร
ในขณะที่ทำพิธีก็จะมีการเป่า "ซัง" หรือ "สแนงเกล" ทำจากเขาควายป่า มีลิ้นใช้เป่าให้เสียง ทั้งเป่าออกและสูดเข้าซึ่งเป็นเครื่องเป่าชนิดเดียวที่ใช้ในพิธีกรรมและให้สัญญาณของชาวกวย ซังนั้นเป็นภาษาถิ่นผู้เป็นเจ้าของเครื่องเป่าชนิดนี้ ส่วนสแนงเกลเป็นภาษาถิ่นเขมร ภาษาถิ่นลาวเรียก "สะไน" ใช้เป่าเป็นสัญญาณในสงคราม พิธีขอฟ้าขอฝน และเซิ้งบั้งไฟ
ดังนั้นหากไปร่วมงานของชาวกวยก็จะได้ยินได้ฟังซังหรือสแนงเกลสลับกับเสียงร้องของช้างเป็นวงดนตรีประสานเสียงอยู่เสมอ
เมื่อเสร็จพิธีเซ่นผีปะกำ ขบวนแห่บวชนาคช้างก็ย้อนกลับเส้นทางเดิมสู่หมู่บ้าน แต่ขากลับนี้เพื่อให้ทั้งชุมชนมีส่วนร่วมในอนุโมทนาถ้วนหน้า ก่อนเข้าหมู่บ้านขบวนจึงตัดออกทุ่งนาเพื่ออ้อมหมู่บ้านให้รอบก่อนเข้าวัดแจ้งสว่าง สถานที่ประกอบพิธีบวชดังเดิม แต่ก่อนนั้นยังมีมการนำขบวนแห่รอบโบสถ์ ๓ รอบตามธรรมเนียมด้วย ในขณะเดียวกันวงกลองยาวทั้งคนและช้างต่างบรรเลงและกระโดดโลดเต้นกันอย่างสนุกสนาน ไม่รู้ว่าเป็นฤทธิ์เหล้าขาวหรืออย่างใด
พิธีบวชพระ
วันที่สามของงานบวชนาคช้างตรงกับวันวิสาขะ หรือวันเพ็ญเดือน ๖ เป็นวันที่บวชนาคเป็นพระ กรรมพิธีทางพุทธอย่างเดียว โดยไม่มีช้างเข้าไปเกี่ยวข้อง เด็ก ๆ มักถามกันเสมอว่าทำไมคนที่จะบวชเป็นพระถึงเรียกว่านาค ก็มีเรื่องอรรถาธิบายว่าสมัยพุทธกาล พญานาคได้แปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อมาขอบวชเป็นภิกษุ แต่เผอิญเผลอหลับไปงีบหนึ่งอยู่ที่โคนไม้ริมหนอง ร่างกายจึงกลายสภาพเดิม จึงมีผู้นำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์ได้ตรัสแก่พญานาคตนนั้นว่า "อันสัตว์เดรัจฉาน ไม่อนุญาตให้บวชในบวรพุทธศาสนา" พญานาคตนนั้นมีความเสียใจมาก เลยทูลขอกับพระพุทธเจ้าว่านับต่อแต่นี้เป็นต้นไป ขอให้ผู้ต้องการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาผู้นั้น ใช้คำว่า "นาค" ก่อน เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงตน ซึ่งเดิมที "จอม" หรือ "เทริด" ที่ใช้สวมหัวนาคก็ทำเป็นรูปหัวนาคกันจริง ๆ แต่ตอนหลังความพิถีพิถันคงน้อยลง จึงเหมือนหมวกกันแดดเข้าไปทุกที
บวชเป็นพระแล้วก็อยู่จำพรรษาที่วัด จะบวชกันเพียงอาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือบวชไม่ยอมสึกเลยก็เป็นเรื่องความศรัทธาของแต่ละราย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก