วิถีธรรมดาแห่งเมือง ลำพูน (อสท.)
โดย กุลธิดา สืบหล้า
เรียบเรียงโดย กระปุกดอทคอม
ฉันเดินทางไปลำพูนและอยู่ที่นั่นร่วม ๆ อาทิตย์ ลำพูนเป็นเมืองที่เล็กที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ คือมีอายุยืนนานมาแล้วถึง ๑,๔๐๐ ปี
ลำพูนปราศจากสิ่งปรุงแต่ มีแต่ความเป็นตัวตน บ้านไม้กับตึกแถวเก่า ๆ ยังมีให้เห็น รถสามล้อถีบกับจักรยานมีอยู่ทั่วเมือง ในตลาดเรายังได้ยินแม่ค้าเอื้อนเอ่อคำเมืองหวานหู ยามค่ำคืนไม่มีแสงสี เพราะแสงสีทองเมลืองมลังจากเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ซึ่งโดดเด่นออกมาจากเมืองมืดที่หลับแต่หัวค่ำก็ดูจะเพียงพอแล้ว ที่นี่ไม่มีโรงหนัง หรือห้างใหญ่ให้ผู้คนเข้าไปหลบร้อน มีแต่ร่มเงาของต้นก้ามปูริมแม่น้ำกวงอันฉ่ำเย็น
พูดกันตามตรงลำพูนไม่เหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่มีทุกอย่างพรั่งพร้อมรอเสนอคนไปเยือน ได้ยินบางคนเปรยว่าลำพูนเป็นอำเภอหนึ่งของเชียงใหม่ด้วยซ้ำ
กับคำถาม "แล้วลำพูนมีอะไร"
ฉันขอตอบว่าลำพูนมีสิ่งที่เป็นธรรมดาที่สุดของชีวิต
ศรัทธา
แดดยามบ่ายในเดือนเมษายนไม่ได้ลดทอนความตั้งใจของแม่อุ๊ยขันแก้ว สุปินะ ที่จะมากราบพระธาตุหริภุญชัยสักครั้งในชีวิต แม่อุ๊ยกับคนอื่น ๆ ในบ้านโท้งเหมารถสองแถวเล็กมา ๔ คันจากอำเภอคอยเต่า เมืองเชียงใหม่ มาดำหัวผู้ใหญ่ในเมืองลำพูน แล้วจึงเลยมาวัดพระธาตุหริภุญชัย แม่อุ๊ยและเพื่อนวัยเดียวกันจุดธูปเทียนบูชาองค์พระธาตุเสร็จก็เดินวนขวารอบเจดีย์
แม่อุ๊ยขันแก้วสวมเสื้อสีขาวกับผ้าซิ่นตีนจกสีเขียวอ่อนงามจับตาที่ทอเองกับมือด้วยกี่กระตุก เดินพนมมือช้า ๆ รอบเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ซึ่งสะท้อนแดดเป็นสีทองสุกปลั่งลวดลายประจำยามประดับรอบองค์ระฆังทรงเครื่องเป็นศิลปะแบบล้านนาอันงดงาม ตามตำนานกล่าวว่าเมื่อครั้งพุทธลาลพระพุทธเจ้าได้เคยเสร็จยังที่แห่งนี้ ขณะหยุดพักมีชาวลัวะคนหนึ่งนำผลสมอมาถวาย เมื่อพระพุทธองค์ฉันผลสมอก็ได้ทิ้งเมล็ดลงบนพื้นพร้อมกับตรัสว่าต่อไปที่นี่จะเป็นที่ตั้งของ"หริภุญชัยนคร" ซึ่งแปลได้ว่าที่ฉันผลสมอของพระพุทธเจ้า
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประทานเส้นพระเกศาแก่พระยาชมพูนาคราชและพระยากาเผือกจำนวนหนึ่ง ทั้งสองได้นำไปใส่ไว้ในกระบอกไม้รวก แล้วใส่เข้าโกศแก้วอีกชั้น ฝังไว้ ณ ที่นั้น ต่อมากษัตริย์ผู้ครองนครลำพูนทุกพระองค์ก็ได้บูรณะมาเรื่อย ๆ จากโกศแก้วเป็นโกศทอง เป็นมณฑป แล้วกลายเป็นเจดีย์ที่สูง ๒๕ วาครึ่งนี้ในที่สุด
ควันสีขาวจากธูปที่ปักเรียงรายอยู่หลายดอกเลื่อนไหลอยู่ในแดดยามสาย ด้านหน้าของกู่ช้าง บริเวณม้าหินและที่นั่งอื่น ๆ เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่นำของมาถวายเจ้าพ่อกู่ช้าง พวกเขานั่งรอจนธูปลดลวเหลือครึ่งหนึ่งจึงจะนำของถวายกลับไปบางคนที่ไม่มีธุระปะปังก็จะนั่งรอจนกว่าธูปจะหมดดอก
กู่ช้าง กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่ชาวลำพูนและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ ตามตำนานพงศาวดารกล่าวว่ากู่ช้างเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากของพระยาช้างคู่พระบารมีของพระเจ้ามหันตยศ พระโอรสของพระนางจามเทวี ที่มีชื่อว่าปู่ก่ำงาเขียว ช้างเชือกนี้สามารถทำให้ศัตรูอ่อนกำลังลงได้ทันที ส่วนกู่ม้าที่อยู่ใกล้ ๆ นั้นก็เชื่อกันว่าบรรจุซากม้าคู่พระบารมีพระเจ้ามหันยศเช่นกัน
บางครอบครัวนำของเซ่นไปตั้งแยกต่างหากอยู่ข้าง ๆ กู่อธิษฐานอยู่นาน ก่อนจะนั่งรอด้วยความสงบ พูดถึงบรรดาของเซ่นนั้น ฉันจำได้ว่ามีอยู่คืนหนึ่งหลังจากกินข้าวที่ตลาดโต้รุ่งหนองดอก เราเดินไปไหว้อนุสาวรีย์พระนางจามเทวีที่อยู่ใกล้ ๆ เด็กสาวคนหนึ่งถือกล่องใส่ไก่ทอดชื่อดังกับถาดพิซซาขนาดเล็กไปถวายท่านด้วย
และหากไปที่นั่น บางคนอาจได้พบยายสีดากับแมวร่วม ๓๐ ตัวที่คนนำมาปล่อย เพราะเชื่อว่าพระนางจามเทวีทรงโปรดสัตว์ชนิดนี้ ยายสีดาอาศัยอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ โดยจะปัดกวาดเช็ดถูลานจนสะอาดและเป็นความเกี่ยวข้องกับพระนางสุชาดาบางอย่าง จึงจะขอรับใช้ตลอดไป
ฉันนั่งคุยกับยายสีดาอยู่นาน รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างวันนั้นฉันได้รับรู้แง่มุมของคำว่าศรัทธา บางครั้งคนก็สะท้อนออกมาในการกระทำหลายรูปแบบ เงินเพียงสองสามบาทที่แม่อุ๊ยขันแก้วใส่ลงในกล่องทำบุญอาจมีคุณค่ามากกว่าเงินหมื่นที่หยิบยื่นโดยปราศจากศรัทธา และเช่นกัน บางทีเรื่องน่าเศร้าในชีวิตของยายสีดาก็อาจจบลงหากไม่มีสิ่งนี้
งานทำมืออันเลื่องลือเป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำพูน การทอผ้าไหมยกดอกมีจุดเริ่มต้นในคุ้มเจ้า แต่เป็นเพียงการทอยกดอกในผ้าฝ้ายลวดลายธรรมดา กระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นญาติกับเจ้าเมืองลำพูนได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าไหมยกดอกที่มีลวดลายวิจิตรงดงาม ซึ่งพระองค์เรียนรู้มาจากภาคกลางให้แก่ชาชาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย จากนั้นการทอผ้าไหมยกดอกจึงได้เผยแพร่ไปสู่ชาวลำพูนโดยทั่วกัน
ยังมีคนลำพูนอีกหลายคนที่ดำรงอยู่ด้วยอาชีพที่สืบทอดกันมาช้านาน อย่างพี่วีระ นันตากาศ แห่งหมู่บ้านแกะสลักทาทุ่งหลวง ที่แกะสลักไม้มา ๒๒ ปี พี่จันทร์แห่งหมู่บ้านทอผ้าบ้านหนองเงือก อำเภอป่าซาง หรือหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงแห่งหมู่บ้านแม่ขนาด ที่ใช้เอวแทนกี่ทอผ้า
พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีตัวตนและใช้ชีวิตแบบนี้จริง ๆ ไม่ใช้จัดฉากแสดงให้คนมาเยือนดูแต่อย่างใด
คู่มือนักเดินทาง
จังหวัดลำพูนอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๖๙๐ กิโลเมตร มีเนื้อที่ ๔,๔๘๖.๘ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น ๗ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองฯ อำเภอป่าซาง อำเภอแม่ทา อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอบ้านธิ และกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง มีแม่น้ำที่สำคัญ ๔ สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำลี้ และแม่น้ำทา เทือกเขาสำคัญคือ เทือกเขาขุนตาล พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ลำไย กระเทียม และหอม มีการทำเหมืองแร่อยู่ในอำเภอลี้และอำเภอแม่ทา เช่น ถ่านหินแมงกานิส ฟลูออกไรด์ พลวง ฯลฯ
สถานที่ที่น่าสนใจ
๑. วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพุน สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สมัยพระเจ้าอาทิตยราชสิ่งสำคัญที่สุดคือ เจดีย์พระธาตุหริภุญชัย ถือเป็นศาสนาสำคัญคู่เมืองลำพูน ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ทรงระฆังปิดทองจังโกประดับด้วยปูนปั้นลวดลายประจำยามรอบองค์
สิ่งน่าชมอื่น ๆ
*สุวรรณเจดีย์ สร้างโดยพระนางปทุมวดี พระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ในปี พ.ศ. ๑๔๔๔ มีลักษณะการก่อสร้างแบบเดียวกับสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ที่วัดจามเทวี องค์เจดีย์ก่อด้วยศิลาแลงผสมอิฐเป็นทรงสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๕ ชั้นแต่ละชั้นประดับซุ้มจระนำด้านละ ๓ ซุ้ม ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประดับปูนปั้น มีร่องรอยของการลงรักปิดทอง ส่วนบนเป็นปูนหุ้มโลหะ
*เจดีย์เชียงยัน ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นโดยศรัทธาของพวกแม่ครัวในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช
*หอไตร ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนตั้งอยุ่บนฐานขนาดใหญ่ ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ มีการแกะสลักไม้นำมาประกอบอย่างวิจิตร มีลักษณะสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับหอไตรวัดพระสิงห์ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมสร้างโดยทั่วไปในล้านนา
*ซุ้มประตูโขง มีลวดลายประดับผนังซุ้มงดงามเป็นลายบัวคอเสื้อ ลายประจำยามมอก ลายบัวเชิงล่าง ทั้งยังมีรูปปั้นสิงห์คู่อยู่ด้านหน้าด้วย
*หอระฆัง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ชั้นบนแขวนระฆัง ชั้นล่างแขวนกังสดาลใบใหญ่เก่าแก่ สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. ๑๒๒๒
๒. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
ตั้งอยู่เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัยบนถนนอินทยงยศ ด้านนอกอาคารจัดวางศิลาจารึกจากที่ต่าง ๆ ให้ชมไปเป็นจำนวนมาก ภายในอาคารมีการจัดแสดงศิลปโบราณวัตุสำคัญมากมาย เช่น เศียรพระพุทธรูปศิลปะแบบต่าง ๆ ที่โดดเท่นเห็นจะเป็นศิลปะหริภุญไชยพระพุทธรูปเก่าแก่ ภาชนะโบราณ ฯลฯ เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมคนละ ๑๐ บาท
๓. วันจามเทวี หรือวัดกู่กุด
ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี ข้างโรงพยาบาลจังหวัดลำพูน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างสมัยใด แต่จากการขุดพบศิลาจารึกทำให้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ พุทธศตวรรษที่ ๑๗
สิ่งที่น่าชม คือ
*สุวรรณจังโกฏิเจดีย์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้นแต่ละชั้นมีซุ้มจระนำด้านละ ๓ ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหุ้มศิลาแลงแบบนูนสูงทั้งหมด ๖๐ องค์ ส่วนบนสุดของเจดีย์หักหายไปจึงเป็นที่มาของชื่อพระเจดีย์กู่กุด พระเจดีย์องค์นี้ถือเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญในศิลปกรรมหริภุญไชย มีรูปแบบคล้ายสัตตมหาปราสาทที่เมืองโปลนนาลุวะ ประเทศศรีลังกา
*เจดีย์แปดเหลี่ยม ก่อด้วยอิฐ ภายนอกฉาบปูนและปั้นปูนประดับ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีแผนผังเป็นรูปแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละด้านมีซุ้มทรงสามเหลี่ยมประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิส่วนยอดหักหายไปแล้ว
๔. วัดพระยืน
วัดเก่าแก่ตั้งอยู่ที่บ้านพระยืน ตำบลเวียงยอง โบราณสถานสำคัญคือองค์เจดีย์ ซึ่งเป็นการสร้างเลียนแบบโดยย่อส่วนจากสถาปัตยกรรมพม่าแบบพุกามในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ องค์เจดีย์สร้างบนยกพื้นเป็นชั้นลดหลั่น ลานประทักษิณชั้นบนมีเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม จระนำยื่นออกทั้งสี่ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นหลักคาลาดรองรับชุดฐานซ้อนต่อยอดทรงระฆัง บัลลังก์ ปลีและปล้องไฉน นอกจากนี้ก็ไม่น่าพลาดชมพระอุโบสถเก่าแก่สวยงามของวัดด้วย
๕. กู่ช้าง กู่ม้า
ตั้งอยุ่บริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว จากถนนอินทยงยศตรงไปเรื่อย ๆ เข้าสู่ถนนเจริญราษฎร์ เลี้ยวขวาข้างโรงเรียนจักรคำคณาทร จากนั้นตรงไป (มีป้านบอก) เจดีย์กู่ช้างมีรูปทรงแบบเดี่ยวกับเจดีย์บอบอคยีของพม่า คือ เป็นรูปทรงกระบอก ตั้งอยู่บนฐานกลม ๕ ชั้น ยอดน่าจะมีรูปทรงเป็นกรวยคว่ำ แต่ก็ได้หักทลายลงแล้ว ส่วนเจดีย์กู่ม้าที่อยู่ใกล้ ๆ กันเป็นเจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆัง ก่ออิฐสอดินและมีการฉาบปูนด้านนอก ด้านบนเป็นบัลลังก์ ส่วนยอดหักหายไป ทั้งสองเจดีย์นี้ชาวลำพูนนับถือมาก
๖. วัดมหาวันวนาราม
อยู่ถนนจามเทวี ใกล้คูเมือง สิ่งที่นำชมคือพระพุทธรูปปางนาคปรกที่เชื่อกันว่าคือพระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากกรุงละโว้ ชาวเมืองเรียกว่าพระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องลือชื่อกรุหนึ่งคือพระรอดมหาวัน
๗. วัดเกาะกลาง
อยู่ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง มีเจดีย์เก่าแก่หลงเหลืออยู่ตั้งแต่ทางเข้า หน้าวัดและที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ในวัด เป็นเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐ ทรงไม่สูงโปร่ง เรือนธาตุเป็นแท่งทึบทรงสี่เหลี่ยม ประดับเสาอิงที่มุมทั้งสี่ และมีการประดับกาบบนและกาบล่างด้วยลายเครือล้านนา จัตุรมุขต่อยื่นจากด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุเพื่อเป็นจระนำประดิษบานพระพุทธรูป ซุ้มจระนำเป็นซุ้มลดลวดลายประดับมีการใช้รูปสัตว์เช่นตัวกิเลน หรือตัวมอม อันเป็นแบบอย่างจีนเข้าประกอบลวดลายที่ปลายกรอบซุ้ม คาดว่าเป็นงานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑
๘. วัดพระพุทธบาทตากผ้า
ตั้งอยู่ตำบลมะกอก อำเภอป่าซางมีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ของพระพุทธเจ้าส่วนรอยเล็กนั้นเป็นของพระอานนท์ประดิษบานอยู่ในวิหารและบนดอยเบื้องหลังเป็นที่ตั้งของพระธาตุสี่ครูบา ซึ่งสร้างตามแบบเจดีย์พระธาตุหริภุญชัย พระสถูปภายในพระธาตุสร้างตามแบบทรงพระเจดีย์พระเจ้าล้านทองซุ้มประตูสร้างตามแบบซุ้มประตูวัดพระธาตุลำปางหลวง ส่วนในพระธาตุนั้นบรรจะพระอัฐิของครูบา ๔ องค์ คือ ครูบาพ่อเป็ง โพธิโก ครูบาอินทจักรรักษา ครูบาพรหมจักรสังวร และครูบาคัมภีระ ปัจจุบันสามารถนำรถยนต์ขึ้นไปถึงทางด้านหลัง
๙. เฮือนสมุนไพร
อยู่ถนนสายลำพูน-ป่าซาง ห่างจากตัวเมือง ๑.๕ กิโลเมตร ทางเข้าอยู่ขวามือเป็นสถานพยาบาลแผนไทย รักษาโรคทั่วไปด้วยสมุนไพร นวดไทยบำบัด นวดกดจุดฝ่าเท้า อบประคบสมุนไพร จำหน่ายสมุนไพร มีคอร์สสมุนไพรเพื่อความงาม คอร์สคุณแม่หลังคลอด และคอร์สควบคุมน้ำหนัก เปิดทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา
๑๐. อุทยานธรรมะแกลเลอรี
อยู่บ้านป่าซางน้อย ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมืองฯ เป็นขอวงคุณอินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี ๒๕๔๒ ชาวลำพูน ภายในบริเวณจัดแสดงผลงานประดิมากรรมในแนวธรรมะของคุณอินสนธิ์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก