สตูล ...จังหวัดเล็ก ๆ ที่รวมไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของพี่น้องชาวไทยมุสลิม มีหมู่เกาะงดงามที่โด่งดังระดับประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ ด้วยความหลากหลายเช่นนี้ สตูล จึงนับได้ว่าเป็นเพชรอีกเม็ดหนึ่งของภาคใต้ฝั่งอันดามัน อันเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวโดยไม่เคยเสื่อมคลาย เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปสัมผัสกับมนตร์เสน่ห์ของท้องทะเลสตูลกันอีกครั้ง
สถานที่ท่องเที่ยวสตูล เกาะตะรุเตา
เริ่มกันที่สถานที่ท่องเที่ยวชื่อก้องโลกอย่าง อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา 22 กิโลเมตร ซึ่งได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) โดยสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เช่น เกาะตะรุเตา เกาะใหญ่ที่สุดของอุทยาน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่มีสภาพเป็นป่าดิบชื้น ซึ่งยังมีพรรณไม้และสัตว์ป่าที่น่าสนใจจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ ยังมีอ่าวน้อยใหญ่ที่มีชายหาดสวยงามอยู่หลายแห่ง
ทั้งนี้เกาะตะรุเตายังมีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ ในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลกำหนดให้เกาะแห่งนี้เป็นสถานที่จัดตั้งนิคมฝึกอาชีพ และเป็นสถานที่กักกันนักโทษ โดยมีการจัดสร้างอาคารที่ทำการ บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนนักโทษ และโรงฝึกอาชีพขึ้น แต่ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา และหลังจากนั้นเกาะตะรุเตาก็ถูกทิ้งร้างเป็นเวลา 26 ปี จนกระทั่งวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 ได้ถูกประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาขึ้น
อ่าวพันเตมะละกา มีชายหาดยาวขาวสะอาด เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนหนึ่งจัดเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตา อีกทั้งยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม และจากอ่าวพันเตมะละกา ยังสามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวผาโต๊ะบูได้อีกด้วย, อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็ก ๆ ติดต่อกับอ่าวพันเตมะละกา บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะต่อการพักผ่อน, อ่าวเมาะและ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 4 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด และดงมะพร้าวสวยงาม เงียบสงบ มีบังกะโลเหมาะสำหรับพักผ่อน เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
อ่าวสน ห่างจากที่ทำการอุทยาน 8 กิโลเมตร เป็นอ่าวรูปโค้งที่มีหาดทรายสลับกับหาดหิน และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีน้ำตกขนาดเล็ก คือน้ำตกลูดูและน้ำตกโละโป๊ะ เหมาะสำหรับเดินป่าศึกษาธรรมชาติ, อ่าวตะโละวาว อยู่ทิศตะวันออกของเกาะ เป็นจุดที่สามารถชมดวงอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกมุมหนึ่ง เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ตต.1 (ตะโละวาว) พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษกักกันและนักโทษอุกฉกรรจ์ ปัจจุบันทางอุทยานได้จำลองอาคารสถานที่ที่เคยอยู่ในนิคมฝึกอาชีพ เช่น บ้านพักของผู้คุม เรือนนอนของนักโทษ โรงฝึกอาชีพ หลุมศพ 700 ศพ ไว้ในบริเวณดังกล่าว
อ่าวตะโละอุดัง อยู่ทางทิศใต้ของเกาะ ห่างจากเกาะลังกาวี 8 กิโลเมตร จุดเด่นคือ มีหินซีกขนาดใหญ่ตั้งเด่นเป็นสัญลักษณ์ด้านหน้าอ่าว มีสะพานสำหรับเรือจอด และเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ ตต.2 (ตะโละอุดัง) ในอดีตเคยเป็นที่กักกันนักโทษการเมือง กลุ่มนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช และกบฏนายสิบ, น้ำตกลูดู เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงาม อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งจากบริเวณอ่าวสนมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปยังน้ำตกลูดู
ถ้ำจระเข้ เป็นถ้ำที่มีความลึกประมาณ 300 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลักษณะแตกต่างกันไป การเดินทางไปถ้ำจระเข้ต้องนั่งเรือหางยาวไปตามคลองพันเตมะละกา ซึ่งอุดมไปด้วยป่าชายเลนที่มีไม้โกงกางจำนวนมากตลอดสองฝั่งคลองโดยใช้เวลาล่องเรือประมาณ 20 นาที และใช้เวลาชมถ้ำประมาณหนึ่งชั่วโมง ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยาน ผู้ที่จะเที่ยวชมภายในตัวถ้ำควรนำไฟฉายไปด้วย และจุดชมวิว "ผาโต๊ะบู" เป็นหน้าผาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 60 เมตร เส้นทางเดินขึ้นไปตามแนวป่าดิบแล้ง ใช้เวลาเดินขึ้นจุดชมวิวประมาณ 20 นาที อยู่ด้านหลังที่ทำการอุทยาน เป็นจุดชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาด
สถานที่ท่องเที่ยวสตูล เกาะไข่
จากนั้นไปเที่ยวต่อกันที่ เกาะไข่ เกาะเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางจากเกาะตะรุเตาประมาณ 40 นาที สิ่งที่มีชื่อเสียงบนเกาะไข่ ได้แก่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่าคู่รักคู่ใดได้ลอดซุ้มประตูหินนี้จะสมหวังในความรักและครองคู่กันอย่างมีความสุข มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เหมือนดังป้ายที่จารึกไว้หน้าซุ้มประตูหิน นอกจากนี้ทะเลรอบ ๆ เกาะไข่ยังมีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไปด้วย
ตามด้วย หมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 40 กิโลเมตร เป็นเกาะที่มีหาดทรายละเอียดสวยงาม รอบเกาะมีเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะ ซึ่งเป็นเกาะที่เหมาะสำหรับการดำน้ำตื้น แถมยังมีน้ำตกที่มีน้ำไหลตลอดปี คือ น้ำตกโจรสลัด พร้อมชมวิวที่ "ผาชะโด" ซึ่งในอดีตเคยเป็นจุดสังเกตการณ์ของโจรสลัดเพื่อเข้าโจมตีเรือสินค้า ปัจจุบันเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม ใช้เวลาเดินขึ้น 40 นาที บนผาชะโดเป็นลานโล่งมองลงไปจะเห็นทิวสนและแหลมทรายสีขาวของเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ และยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกอีกด้วย
เกาะราวี เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ ต.ต. 6 (หาดทรายขาว) อยู่ห่างจากเกาะอาดังเพียง 1 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 29 ตารางกิโลเมตร มีหาดทรายที่ขาว สวย สะอาด น้ำทะเลใส เงียบสงบ นักท่องเที่ยวนิยมแวะที่เกาะราวีเพื่อเล่นน้ำ ชมปะการังแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากบนเกาะยังไม่มีบริการบ้านพัก
ก่อนจะไปชมความงดงามของหินที่ เกาะหินงาม เกาะขนาดเล็กทางทิศใต้ของเกาะอาดัง ทั้งเกาะเต็มไปด้วยหินสีดำ กลมเกลี้ยง เนียนเรียบ ลวดลายสวยงาม ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป และเมื่อไหร่ก็ตามที่คลื่นซัดซาดเข้าฝั่งกระทบ ก้อนหินจะเกิดเป็นมันวาววับ สว่างไสว งดงามจับตายิ่งนัก เล่ากันว่าหินทุกก้อนมีคำสาปของเจ้าพ่อตะรุเตา หากใครนำติดตัวไปจะเกิดแต่หายนะ, เกาะยาง แหล่งดำน้ำชมปะการังและฝูงปลาที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่ง ด้านหน้าเกาะมีหาดทรายขาวนวล น้ำทะเลสีสวย
เกาะดง เป็นเกาะใหญ่และมีเกาะบริวารเล็ก ๆ ทางทิศใต้อีก 6 เกาะ ภูมิประเทศบนเกาะส่วนใหญ่เป็นโขดหินและหน้าผาสูงชัน มีป่าที่สมบูรณ์ ส่วนเกาะบริวารที่รายรอบนั้นเป็นเกาะหินขนาดเล็ก เช่น เกาะหินซ้อน ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะดงประมาณ 200 เมตร ลักษณะโดดเด่นคือ มีก้อนหินตั้งเป็นชั้น ๆ ด้านหน้าเกาะ มีแหล่งดำน้ำตื้นชมปะการังและฝูงปลาได้
รวมทั้ง เกาะรอกลอย ที่มีจุดเด่นคือมีชายหาดทรายที่ขาวสะอาด มีลักษณะเป็นแหลมสามเหลี่ยมยื่นออกไปในทะเล มีโขดหินระเกะระกะที่หัวเกาะ เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเกาะราวีที่ทอดตัวยาวอยู่ทางขวา
ความงดงามของท้องทะเลสตูลยังไม่หมดเท่านั้น เพราะยังมี เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเกาะอาดัง 2 กิโลเมตร มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 12 ตลอด 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านทีมีเชื้อสายชาวเลจะร่วมกันจัดงานรื่นเริง และที่สำคัญที่สุดคือชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการประกอบอาชีพประมง
โดยจุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะคือความเป็นธรรมชาติของปะการังรอบเกาะ มีเวิ้งอ่าวที่สวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มเหมือนแป้ง มีอ่าวที่สวยงามชื่อ "อ่าวพัทยา"และ "หาดชาวเล" มีลักษณะโค้งเว้า ทรายขาวละเอียด ซึ่งทั้งสองหาดนี้สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที และยังมีบริการบ้านพักของเอกชนคอยบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือไปยังเกาะต่าง ๆ ได้ โดยติดต่อกับทางรีสอร์ทที่มีบริการทัวร์
หมู่เกาะสาหร่าย ห่างจากท่าเรือเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง ประมาณ 12 กิโลเมตร นั่งเรือ 2 ชั่วโมง หมู่เกาะสาหร่ายนี้มี 2 เกาะใกล้กัน ชาวเมืองเรียกเกาะยะระโตดและยะระโตดนุ้ย มีชายหาดโดยรอบเกาะ ใกล้เกาะยะระโตด มีเกาะหาดหอยงาม ซึ่งคลื่นซัดเปลือกหอยไปกองไว้เป็นเกาะ คล้ายสุสานหอย
เกาะลิดี อยู่ห่างจากที่ทำการ (อ่าวนุ่น) ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 7 กิโลเมตร มีหน้าผาและถ้ำเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นเป็นจำนวนมาก เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และมีเวิ้งอ่าวยื่นเข้าไปในตัวเกาะเป็นสระน้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเล่นน้ำทะเล ปัจจุบันเกาะลิดีมีหน่วยพิทักษ์อุทยานมีบ้านพัก และบริเวณที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อเรือประมงได้จากที่ทำการอุทยาน โดยเสน่ห์ของเกาะลิดีอยู่ที่การเป็นเกาะคู่แฝดที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน และมีเกาะน้อย ๆ ประมาณ 3-4 เกาะ เรียงรายอยู่ใกล้ ๆ มีถ้ำซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของนกนางแอ่น รอบด้านคือหาดทรายขาวบริสุทธิ์และมีเวิ้งอ่าวยื่นไปในน้ำ
เกาะเขาใหญ่ อยู่ห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 3 กิโลเมตร บนเกาะมีอ่าวชื่อนะปุลา จุดเด่นของเกาะเขาใหญ่คือประติมากรรมธรรมชาติที่คล้ายกับปราสาทหิน มีสะพานธรรมชาติยื่นโค้งไปในทะเล ยามน้ำลดสามารถพายเรือลอดได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาของประมงจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ใกล้เกาะเขาใหญ่ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมแวะไปชมมากเช่นกัน
แหลมตันหยงโป และ หาดทรายยาว ตั้งอยู่ทางปากอ่าวสตูล ไปตามทางหลวงหมายเลข 4051 ( เส้นทางไปท่าเรือเจ๊ะบิลัง) ประมาณ 7 กิโลเมตร จะมีทางแยกไปยังบ้านตันหยงโปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นล้ำไปในทะเลอันดามัน เป็นพื้นที่หมู่บ้านชาวประมง ชายหาดเต็มไปด้วยต้นมะพร้าวและบ้านเรือนชาวบ้าน จะพบเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปของชาวประมงและการตากของทะเลริมหาด การเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 4051 (เส้นทางไปท่าเรือเจ๊ะบิลัง) ประมาณ 8 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายไปยังบ้านตันหยงโปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร หรือนั่งเรือจากด่านศุลกากรเกาะนกหรือท่าเรือหลังตลาดสดสตูล ประมาณ 1 ชั่วโมง
หมู่เกาะบูโหลน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ 8 เกาะ ได้แก่ เกาะบูโหลนเล เกาะบูโหลนดอน เกาะบูโหลนไม้ไผ่ เกาะตงกู เกาะลามา เกาะอายำ กาะรังนก และเกาะลูกหิน โดยคำว่า บูโหลน เพี้ยนมาจากภาษามลายู "บูโละ" แปลว่า "ไม้ไผ่" เนื่องจากบนเกาะอุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ไผ่ จึงเรียกชื่อเกาะตามพันธุ์ไม้ มีระยะห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กิโลเมตร การเดินทางไปเกาะบูโหลนจึงนิยมเดินทางจากท่าเรือปากบารา
เกาะบูโหลนดอน เป็นเกาะใหญ่ ตั้งอยู่ด้านในมีภูเขาและพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ราบมีชาวเลอาศัยอยู่ประมาณ 300 คน เป็นคนกลุ่มแรกที่เข้าไปจับจองเป็นที่อยู่ และทำมาหากินทางการประมงเป็นหลัก ทางการจัดตั้งโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลนสำหรับลูกหลานชาวเลได้เรียนหนังสือ มีชายหาดอยู่ทั้งทางด้านเหนือและด้านใต้ ด้านเหนือคือแหลมสนที่มีหมู่สนขึ้นอยู่หนาแน่น มีหาดทรายขาวสะอาดตลอดแนว เอกชนเข้าไปปลูกสร้างรีสอร์ทสำหรับนักท่องเที่ยวกันมาก่อน ที่จะประกาศจัดตั้งเป็นอุทยาน ด้านใต้คืออ่าวมะม่วงซึ่งเป็นที่หลบภัยกำบังลมได้ดี และมักมีชาวประมงเรือเล็กมาอาศัยจอดเรือหาปลาอยู่มิได้ขาด
ซึ่งสภาพธรรมชาติและทิวทัศน์ในห้วงทะเลรอบ ๆ เกาะแทบมิได้ผิดแผกไปจากเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ แต่กลับมีจุดเด่นกว่าในแง่ที่ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า สะดวกกว่า เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ทะเสสีใส หาดทรายขาวและปะการังที่สวยงาม อีกทั้งได้สัมผัสชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งวิถีชีวิตอาจจะแตกต่างจากชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะบ้างในบางแง่มุม เนื่องจากเกาะอยู่ใกล้กับแผ่นดินใหญ่มาก ชาวเลกลุ่มนี้ติดต่อกับโลกภายนอกได้สะดวกกว่า
ปิดท้ายที่ หาดราไว ตั้งอยู่ในตำบลขอนคลาน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีความยาวประมาณ 3,500 เมตร จัดเป็นหาดที่ยาวที่สุดของจังหวัดสตูล ด้านตะวันตกจะมองเห็นเกาะสุกรของอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ตลอดแนวชายหาดมีต้นสนขึ้นเรียงรายเป็นทิวแถว เหมาะสำหรับผู้รักธรรมชาติ
ทั้งนี้ฤดูกาลเที่ยวหมู่เกาะในสตูลคือช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงอับคลื่น อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบสภาพอากาศอีกครั้งก่อนเดินทาง เพราะอาจมีมรสุมนอกฤดูพัดผ่านเข้ามา
การเดินทาง
สตูลอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 973 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสตูลได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน
โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ไปสตูลโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นจึงเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านนครศรีธรรมราช พัทลุง แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ไปสงขลา จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 406 จนถึงสตูล ระยะทางประมาณ 973 กิโลเมตร
โดยรถไฟ : สตูลไม่มีสถานีรถไฟ แต่สามารถเดินทางโดยรถไฟ ขบวนกรุงเทพฯ-ยะลา หรือกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ลงที่สถานีหาดใหญ่ จากนั้นจึงต่อรถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร หรือรถโดยสารประจำทาง ไปยังจังหวัดสตูล ระยะทาง 97 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดที่สถานีขนส่งสตูล โทรศัพท์ 0 7471 1446 โดยมีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีหาดใหญ่ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 1690 หรือ www.railway.co.th
โดยรถประจำทาง : มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ไปสตูลทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 1490 หรือ www.transport.co.th
โดยเครื่องบิน : ไม่มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ต้องนั่งเครื่องบินไปลงที่หาดใหญ่ แล้วต่อรถแท็กซี่หรือรถโดยสารประจำทางเข้าสู่ตัวเมืองสตูล ระยะทาง 97 กิโลเมตร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, จังหวัดสตูล และ เฟซบุ๊ก สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล