คู่มือท่องเที่ยวตลาดย้อนยุค (อสท)
ตลาดเก่า...นอกจากจะเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองไทย หลายแห่งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวรูปแบบเชิงวัฒนธรรม เพราะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งเราก็ได้หยิบเอา 3 ตลาดเก่าในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีเรื่องราวและยังคงรักษามนต์เสน่ห์ของวันวานไว้ได้อย่างลงตัว มาแนะนำกัน...
ตลาดสามชุก ย้อนยุคร้อยปีริมน้ำท่าจีน
ตลาดสามชุก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก เป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่ยังคงสภาพบ้านเรือน และตลาดแบบดั้งเดิม ในอดีตชาวบ้านจะนำของพื้นเมืองมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกับพ่อค้าชาวเรือ ร้านค้าหลายร้านในตลาดสามชุก ยังคงเอกลักษณ์บ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้ แม้จะเก่าแก่นับร้อยปี แต่ก็เป็นความเก่าที่ดูไม่น่าเบื่อ
ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีนั้น การค้าขายในตลาดสามชุกคึกคัก พลุกพล่านด้วยผู้คน ทั้งคนขายและคนซื้อ จนเมื่อมีการตัดถนนผ่านสามชุก ส่งผลให้ตลาดสามชุกเริ่มซบเซาลง แต่ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเวลาจะผ่านมานับร้อยปี ชาวตลาดสามชุกจึงได้ร่วมกันปรับปรุง ฟื้นฟูสถาปัตยกรรมไม้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชน
วันนี้ตลาดสามชุกจึงกลับมามีชีวิตชีวิอีกครั้ง และมีสิ่งที่น่าสนใจที่มีเสน่ห์อยู่มากมาย เช่น บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ นายภาษีอากรคนแรกและเจ้าของตลาดสามชุก ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ร้านศิลป์ธรรมชาติ เป็นร้านถ่ายรูปโบราณที่มีกล้องถ่ายภาพอายุกว่าร้อยปี นอกจากนี้ ยังมีร้านทำฟัน ร้านนาฬิกา ร้านขายทอง โรงแรมไม้ ฯลฯ ที่มีความเก่าแก่ไม่แพ้กัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ โทรศัพท์ 0 3557 1571 ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3553 5789, 0 3553 6189 หรือ www.samchuk.in.th/journey.html
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอบางบัวทอง จ.นนทบุรี ไปจนถึงตัวอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 107 กิโลเมตร จากนั้นไปตามทางหลวงหมายเลข 340 ผ่านอำเภอศรีประจันต์ไปต่อจะถึงแยกเข้าตลาดสามชุก
ตลาดศรีประจันต์ ถิ่นกำเนิดท่านเจ้าคุณฯ
ตลาดศรีประจันต์ แต่เดิมคือชุมชนริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ฝั่งตะวันออก เป็นแหล่งค้าขายสินค้าที่ผู้คนทั่วไปมักจะมาแวะซื้อข้าวของเครื่องใช้ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ผักสด ปลาเป็น หมากพลู ผลไม้ เสื้อผ้า และของใช้จำเป็นจากที่ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ จนทำให้กลายเป็นตลาดย่อม ๆ
นามว่าศรีประจันต์ แต่เดิมมีผู้เข้าใจว่าเป็นการนำชื่อตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนมาตั้ง อันที่จริงคำว่า "ศรีประจันต์" มาจากคำว่า "ศรี" แปลว่า ความดี ความสมบูรณ์ และ "ประจันต์" แปลว่า กั้น หรือ ปลายแดน เมื่อรวมจึงแปลว่า "เขตอันสมบูรณ์"
ตลาดเก่าศรีประจันต์มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นสถานที่เกิดของ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระสงฆ์ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก สาขาสันติภาพ ได้รับการยกย่องว่าเป็น "คนดีศรีประจันต์" และเป็นปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนา
บ้านท่านเจ้าคุณฯ ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสภาพเดิม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ลักษณะเป็นบ้านไม้ห้องแถว 2 ชั้น จัดแสดงภาพถ่ายในอดีตและอัตชีวประวัติของท่านเจ้าคุณฯ รวมทั้งเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน โดยมีป้ายบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ นอกจากนั้นยังเก็บรักษาหนังสือตำราต่าง ๆ ไว้อีกมากมาย
สำหรับร้านค้าต่าง ๆ นั้น เป็นอาคารห้องแถวสร้างด้วยไม้ มีอายุมากกว่า 100 ปี สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ร้านค้าและร้านอาหารส่วนใหญ่ เปิดบริการนักท่องเที่ยวในวันเสาร์-อาทิตย์ อาหารที่ขึ้นชื่อของตลาดศรีประจันต์ เช่น ก๋วยเตี๋ยวเป็ดยายเฮี๊ยะ กาแฟโบราณ ทองม้วนสูตรโบราณ ขนมเปี๊ยะแม่สายบัว ขนมหวานของฝากอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพื้นบ้าน เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงฉ่อย ให้ผู้มาเยือนได้ชมกันด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3553 5789, 0 3553 6189 หรือ www.taladsriprachan.com
การเดินทาง : จากตัวเมืองสุพรรณบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 340 ไปทางจังหวัดชัยนาท ประมาณ 16 กิโลเมตร มีแยกเข้าที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ หรือบริเวณวัดยาง ซึ่งมีบริการที่จอดรถ แล้วเดินอีกเล็กน้อยเข้าตลาดเก่าศรีประจันต์
ตลาดเก้าห้อง ร่องรอยรุ่งเรืองเรื่องการค้า
คำว่า "เก้าห้อง" นำมาจากชื่อบ้านเก้าห้อง อันเป้นบ้านของขุนกำแหงฤทธิ์ ตั้งอยู่ริมน้ำข้างวัดลานคา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตลาดเก้าห้อง มีลักษณะเป็นบ้านเรือนไทยฝาประกบ ใต้ถุนสูง ภายในบ้านแบ่งออกเป็น 9 ห้อง มีศาลปู่ศาลย่าเป็นที่เคารพบูชา
ตลาดเก้าห้อง เป็นชุมชนร้านตลาด อยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านเก้าห้อง ตลาดนี้เคยคึกคักอยู่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวบ้านในทุ่งฟากตะวันตกของบางปลาม้า ทั้งยังเป็นทางผ่านของเรือเมล์โดยสาร ระหว่างสุพรรณบุรี-งิ้วราย
ตลาดเก้าห้อง ก่อสร้างโดยชาวจีนชื่อฮ่อ ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายและรับเหมาก่อสร้างจนร่ำรวย จึงต่อแพค้าขายอย่างถาวรอยู่หน้าบ้านเก้าห้อง ต่อมานายฮงเปลี่ยนชื่อเป็น นายบุญรอด เหลียงพานิชย์ เพื่อความสะดวกในการค้าขาย ด้วยกิตติศัพท์ความร่ำรวยของนายบุญรอดล่วงรู้ไปถึงหมู่โจร จึงถูกบุกปล้นทรัพย์สินไปจำนวนหนึ่ง แต่ทางอำเภอได้ออกสกัดจับโจรได้ทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พร้อมนำทรัพย์สินมาคืน ต่อมานานบุญรอดได้สร้างตลาดเพื่อค้าขายบนบก ชาวบ้านเรียกตลาดนี้ว่า "ตลาดเก้าห้อง" ซึ่งคำว่าเก้าห้องนำมาจากชื่อบ้านเก้าห้องนั่นเอง
ตลาดเก้าห้องมีอยู่ 3 ตลาด ได้แก่...
ตลาดบน มีอายุประมาณ 74 ปี ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แบบสถาปัตยกรรมจีน ประมาณ 20 ห้อง พระชาญสุวรรณเขตเป็นผู้สร้าง
ตลาดกลาง มีอายุประมาณ 74 ปี สภาพเดิมเป็นโรงสีของนายทองดี ต่อมาสร้างเพิ่มเติม เป็นห้องแถวประมาณ 10 ห้อง มีรูปแบบตามสถาปัตยกรรมจีน
ตลาดล่าง มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณ 104 ปี ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น แบบสถาปัตยกรรมจีน ประมาณ 20 ห้อง สร้างโดยนายบุญรอด เหลียงพานิชย์
ในตลาดเก้าห้องมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นเสมือนลักษณะของตลาดนี้ คือ "หอดูโจร" ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยนายบุญรอด เหลียงพานิชย์ เป็นหอก่ออิฐถือปูน กว้าง 3x3 เมตร สูงราวตึก 4 ชั้น ชั้นบนเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้นฝาผนังจะมีรูกว้าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว อันเป็นช่องที่เจาะไว้สำหรับส่องโจร เมื่อเราขึ้นไปบนยอดสูงสุดจะเห็นวิวทัศนียภาพ ทั้งทางน้ำและทางบก ตลอดจนตลาดเก้าห้องได้หมด
สำหรับของกินและของฝากในตลาดเก้าห้องนั้นมีมากมาย เช่น ขนมจันอับ (ขนมเปี๊ยะ) กะหรี่ปั๊บ ห่านพะโล้ กาแฟ ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ขนมไทยพื้นบ้าน หัตถกรรมจักสาน เป็นต้น ทั้งนี้ ตลาดเก้าห้องเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำละคร (ดงดอกเหมย, ลอดลายมังกร,) ภาพยนตร์ (อั้งยี่, แม่เบี้ย, ซีอุย, 7 ประจัญบาน) นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำโฆษณาและมิวสิกวีดีโอมาแล้วมากมาย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ที่ทำการคณะกรรมการพัฒนาตลาดเก้าห้อง ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 โทรศัพท์ 0 3558 7044 ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3553 5789, 0 3553 6189
การเดินทาง : ตลาดเก้าห้อง อยู่ห่างจากทางหลวงหมายเลข 340 ประมาณ 6 – 7 กิโลเมตร ถ้าไปจากกรุงเทพฯ มีทางแยกซ้ายมือเข้าอำเภอบางปลาม้า เข้าไปประมาณ 100 เมตร ผ่านวัดลาดหอยและปั๊มคาลแท็กซ์ แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกที่ติดกับปั๊ม (มีป้ายบอกทาง) ผ่านวัดสวนหงส์ เลี้ยวขวาตรงเข้าไปจนถึงตลาดเก้าห้อง ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดบ้านหมี่ จอดรถที่ตลาดสดหรือสถานีดับเพลิงก็ได้
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ kunfit2526