เที่ยวครบรส สนุกครบเครื่อง กับ 3 อำเภอของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (คู่หูเดินทาง)
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราได้พาคุณผู้อ่านไปเที่ยวอำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นอำเภอยอดฮิตของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กันไปแล้ว แต่ด้วยจังหวัดนี้ไม่ได้มีดีแค่เพียงอำเภอเดียว วันนี้ทางทีมงานจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ที่จะพาคุณผู้อ่านมาเที่ยวยังจังหวัดนี้กันอีกครั้ง พบกับเสน่ห์ของ 3 อำเภอ คือ อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี ที่เรารู้ดีว่ายังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และให้อรรถรสในการท่องเที่ยวที่แตกต่างรอคุณอยู่ในบริเวณนี้อีกมาก
เมื่อขับรถมาทางถนนเพชรเกษมจากอำเภอหัวหินมุ่งหน้าสู่อำเภอปราณบุรี สถานที่แห่งแรกที่เราจะพบเห็นก็คือ ศาลเจ้าแม่ทับทิมทอง ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาริมแม่น้ำปราณบุรี ภายในศาลประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่เทียนโหวเซี้ยบ้อ หรือ เจ้าแม่ทับทิมทอง ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของชาวปากน้ำปราณอย่างมาก ถ้ามาที่นี่แล้วควรแวะกราบสักการะท่านเพื่อเป็นสิริมงคล และจุดนี้ยังถือเป็นจุดชมวิวจุดหนึ่งที่มีความสวยงาม สามารถมองเห็นแม่น้ำปราณบุรี และวิถีชุมชนของชาวปากน้ำปราณได้จากมุมสูง ทางขึ้นสะดวกสบายสามารถขับรถขึ้นไปได้
ขับตรงมาอีกหน่อยประมาณ 3 กิโลเมตรจะมีป้ายบอกให้ตรงไปยัง ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้าง แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า – คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ทั้งหมด 848 ไร่ เป็นโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในพุทธศักราช 2539 เพื่อสนองต่อพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการที่จะพัฒนาและฟื้นฟูผืนป่า ด้วยเพราะทรงห่วงใยสถานการณ์ป่าชายเลนบริเวณปากน้ำปราณบุรี ที่ถูกบุกรุกทำลายเป็นจำนวนมาก
ซึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการฯ และพัฒนามาอย่าต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานนามศูนย์แห่งนี้ว่า "สิรินาถราชินี" แปลว่า ที่พึ่งอันยิ่งใหญ่ไพศาล บริเวณด้านหน้าศูนย์เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิต รวบรวมอุปกรณ์เครื่องใช้ รวมถึงจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวบ้าน บริเวณปากน้ำปราณจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในบรรยากาศเรือนไม้สถาปัตยกรรมท้องถิ่น
ประทับใจกับการเดินชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่มีรายละเอียดให้ความรู้เพิ่มเติมตลอดเส้นทาง พร้อมชม "ต้นโกงกางประวัติศาสตร์" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกไว้ ชมภาพผืนป่าสีเขียวชอุ่มแบบ 360 องศา ณ หอชะคราม เป็นหอชมวิวที่สูงเท่ากับตึก 6 ชั้น สนุกเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศที่ร่มรื่นของแมกไม้นานาพันธุ์ และสิ่งมีชีวิตตลอดเส้นทางเดิน ประทับใจกับมหัศจรรย์ป่าคนสร้างได้ทุกวัน เวลา 8.30–16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-3263-2255
จากนั้นขับรถตรงมาตามทางเลียบ ถนนชายหาดปากน้ำปราณฯ เราจะเห็นเส้นบรรจบของแผ่นฟ้าและผืนน้ำ ที่ยาวไกลสุดลูกหูลูกตากันเลยทีเดียว บริเวณนี้จะมีบริการโรงแรม รีสอร์ท ห้องพัก ร้านอาหาร และสถานที่ชิลล์เอ้าท์เล็ก ๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่หลายแห่ง เลือกได้ตามงบประมาณในกระเป๋าของแต่ละคน ซึ่งจะทอดยาวลงไปทางใต้จนถึงชายหาดนเรศวรบริเวณเขากะโหลก
ชายหาดแถวบริเวณปราณบุรีนี้ มีความเงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างมาก กิจกรรมที่นิยมกันก็จะเป็นการขี่จักรยานเลียบถนนชายหาด เล่นน้ำทะเล ขับเจ็ตสกี หรือจะเล่นบานาน่าโบ๊ทก็มีบริการ พอตกดึกก็มีกิจกรรมพาออกเรือไปไดหมึก สัมผัสกับอาชีพการทำประมงของชาวบ้านท้องถิ่น ว่ากว่าที่จะมีอาหารทะเลสด ๆ มาให้เรารับประทานกันมันยาก และต้องใช้ความอดทนมากแค่ไหน แต่ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกและตื่นเต้นดีเหมือนกัน
เลยไปเที่ยวแถว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กันบ้าง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากอำเภอปราณบุรีมากนัก ระหว่างเส้นทางก็พบกับ "วัดตาลเจ็ดยอด" เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ไม่ควรพลาด เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐานองค์รูปเหมือน สมเด็จพระพุฒจารย์ โต พรหมรังสี ขนาดใหญ่หน้าตักกว้าง 11 เมตร สูง 18 เมตร หล่อมาจากโลหะทองเหลือง มีความโดดเด่นเป็นสง่าอย่างมาก เบื้องหน้าหันไปทางเทือกเขาสามร้อยยอด
สถานที่กว้างขวาง ร่มเย็นไปด้วยกลิ่นไอรสพระธรรมอยู่โดยรอบ ควรแวะมากราบสักการะขอพร ก่อนออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่อไป ที่ไม่ไกลจากจุดนี้มากนัก นั่นคือ "บึงบัว" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ก่อนจะเข้าไปต้องซื้อบัตรผ่านประตูก่อน ราคาท่านละ 40 บาท และ 30 บาทสำหรับยานพาหนะ ซื้อแค่ครั้งเดียวก็สามารถเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ของอุทยานฯ ได้ตลอดทั้งวัน
"บึงบัว" เป็นสถานที่เดินศึกษาธรรมชาติพรรณไม้น้ำ บนสะพานไม้ยกระดับที่ทอดยาวลงไปกลางบึง ช่วงที่เราไปไม่ค่อยมีบัวสักเท่าไหร่นัก ด้วยเจ้าหน้าที่บอกว่าอาจจะเกิดจากอากาศที่ปรวนแปรอยู่ทั่วโลก ในขณะนี้อยู่ก็เป็นได้ แต่แค่ได้มาเดินเล่น สูดอากาศบริสุทธิ์อยู่กลางบึงบัว เราก็ว่าคุ้มแล้ว มีศาลากลางน้ำให้นั่งแวะพักอยู่ 3-4 จุด พร้อมด้วยฉากหลังเป็นวิวเขาหินปูนสลับซับซ้อนของเทือกเขาสามร้อยยอด ภาพนี้ช่างเป็นความงดงามของธรรมชาติเหนือคำบรรยายจริง ๆ
เดินเล่นปลดปล่อยอารมณ์ไปกับธรรมชาติขอบึงบัวกันแล้วก็ไปต่อกันที่ "ถ้ำพระยานคร" อีกหนึ่งสถานที่อันซีนไทยแลนด์ ที่เป็นงานสร้างสรรค์ระหว่างธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ การเดินทางมีให้เลือก 2 แบบ คือ เดินเลาะริมเขาจากชายหาดบางปูไปถึงหาดแหลมศาลา แล้วเดินต่อขึ้นเขาที่แหลมศาลาไปอีก 430 เมตร แบบนี้ต้องใช้ความอึดเป็นตัวช่วยอย่างมาก อีกแบบเป็นการโดยสารทางเรือไปครึ่งทาง แล้วค่อยไปขึ้นฝั่งที่ชายหาดบางปูเดินขึ้นเขาต่อไปอีก 430 เมตรเช่นกัน ควรพกยากันยุ่งแบบทาไปด้วยเพราะบริเวณตีนเขามียุ่งป่าค่อนข้างชุม ที่สำคัญ "น้ำเปล่า" ก็ขาดไม่ได้ เพราะกว่าจะเดินถึงก็หอบแฮ๊ก ๆ พักอยู่หลายยกกันทีเดียว
มีบริการมักคุเทศตัวน้อยคอยนำทางและให้ข้อมูล เมื่อเดินเข้ามาถึงบริเวณในตัวถ้ำก็จะพบกับหินงอกหินย้อย จุดเด่นของถ้ำนี้อยู่ที่มีพลับพลาแบบจัตุรมุขประดิษฐานอยู่ มีชื่อว่า "พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้น ในช่วงเช้าประมาณ 10 – 11 โมง เป็นเวลาที่ดีที่สุดในการมาเที่ยวที่นี่ เพราะเราจะได้เห็นลำแสงของพระอาทิตย์ ส่องลงมาจากปล่องปากถ้ำด้านบนส่งตรงมายังพระที่นั่งฯ แห่งนี้ ดุจดั่งสปอตไลท์ที่เพิ่มเสน่ห์และความงดงามได้เป็นอย่างดี
ปิดท้ายทริปด้วยการไปชมช้างป่าและกระทิง ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ป่าซาฟารีเมืองไทย" ด้วยเพราะผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช้างป่าที่อยู่กันอย่างชุกชุม และเหล่าฝูงวัวกระทิง ที่จะออกมาหาอาหารกินในช่วงเย็น ช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็ประมาณ 15.00 – 18.00 น. และต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ในการนำทาง หากไม่ได้ขับรถกระบะมา ก็มีบริการพาเที่ยวด้วยรถยนต์ของชาวบ้านผู้ชำนาญพื้นที่ ครั้งละประมาณ 700 บาท
ห่างจากจุดนี้ไปอีกประมาณ 3 กิโลฯ จะเป็นจุดชมฝูงวัวกระทิง โดยมีกล้องส่องทางไกลเป็นอุปกรณ์เสริม เพื่อเราจะได้มองเห็นกระทิงได้ชัดเจนขึ้น เพราะมันอยู่ไกลมากๆ เรียกว่าเขาคนละลูกเลยก็ว่าได้ ดูกระทิงกันจนเต็มอิ่มแล้วก็ถือว่าจบทริป กลับไปเอารถที่จอดไว้ยังหน่วยอุทยานฯ ด้านหน้า ซึ่งการเดินทางมาที่นี่หาไม่ยาก โดยใช้ถนนเพชรเกษมขับมุ่งหน้าลงใต้มายังอำเภอกุยบุรี ก่อนทางเข้าจะมีช้างปูนโขลงใหญ่ยืนเกาะกลุ่มเชิญชวนให้ไปเที่ยวกัน ก็เลี้ยวขวาเข้าไป ขับไปตามป้าย ชมช้างป่ากุยบุรี/บ้านรวมไทย มีป้ายบอกตลอดเส้นทางประมาณ 15 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-3264-6292
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว : ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม จากนั้นเลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าสู่ถนนเพชรเกษม ของทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดเพชรบุรี เข้าสู่เขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านอำเภอหัวหินมุ่งหน้าตรงมาที่อำเภอปราณบุรี
รถโดยสารประจำทาง : สามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าลงสู่ภาคใต้ได้ทุกสาย ที่สถานีขนส่งสายใต้ ได้เป็นประจำทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ Call Center โทรศัพท์ 1490 เรียก บขส. หรือที่ www.transport.co.th
แนะนำที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรม เพียบ
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก