




ธเนศ งามสม...เรื่อง
ธเนศ งามสม, โสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ
ขณะค่อย ๆ กะพริบตา ผมแปลกใจที่หลงลืมว่า ตนเองอยู่ที่ไหน จนเมื่อค่อย ๆ แว่วเสียงล้อเหล็กบดราง เสียงหวูดกังวานมาจากที่ไกล 05.47 น. แสงสว่างฉายลอดเข้ามาบาง ๆ มองผ่านหน้าต่างกระจก ปรากฏทิวเขาซับซ้อน หมอกขาวลอยเรื่อยอดไม้ ความง่วงละลายหาย ลุกจากเตียงนอน ขณะเตียงข้าง ๆ หญิงสาวยังหลับสบาย เธอมาจากเยอรมนีพร้อมเป้ใบโต ร่าเริงเหมือนเด็ก ๆ ค้นพบโลกใหม่
แดดอุ่นฉายส่อง ผมเดินไปทางหัวขบวน ผู้คนส่วนใหญ่ยังหลับใหล ยามเช้าเช่นนี้ไม่มีที่ใดเหมาะเท่าตู้เสบียง "ขุนตานยังอีกนานค่ะ" เจ้าหน้าที่ประจำตู้เสบียงเอ่ย ขณะผมเลือกรายการมื้อเช้า เมื่อวานเย็นเราสนทนากันสั้น ๆ เธอพูดคุยอย่างคนมีอัธยาศัย ทุกครั้งที่โดยสารรถไฟ ผมมักแวะใช้บริการตู้เสบียง ไม่ใช่รสชาติของอาหาร แต่เป็นบรรยากาศซึ่งคละเคล้ากลมกล่อม คล้ายอาหารรสมากหลาย

"น่าจะสายเหมือนเดิม" เสียงใครบางคนเอ่ย "สวัสดีครับ" มิตรภาพง่าย ๆ เริ่มต้น เช่นเดียวกัน ผมก็พบมิตรใหม่ ชายชราที่นั่งฝั่งตรงข้ามมีเรื่องเล่าสนุก ๆ ไม่รู้เบื่อ เหตุผลหนึ่งเพราะแกเคยเป็น "คนรถไฟ"..."ผมยังทันรถจักรไอน้ำ ตอนขึ้นเขานี่ต้องเร่งเครื่อง ซุนฟืนเข้าไปควันโขมง แต่มันดูจะเร็วกว่ารถดีเซลยุคนี้นะ สมัยใช้ไอน้ำไม่เคยเลตอย่างนี้" ลุงสมศักดิ์ ปาเบ้า เล่าแล้วก็หัวเราะชอบใจ "รู้ไหม ขบวนที่เรานั่งนี่อายุกว่า 30 ปีแล้ว ทาสีใหม่มา 3 ครั้ง ครั้งแรกสีน้ำตาล แล้วเปลี่ยนเป็นสีฟ้า นี่มาทาสีชมพูใหม่" เมื่อรู้ว่าผมลง สถานีขุนตาน แกก็เล่าถึงวัยหนุ่ม สมัยที่ขุนตานเป็นปลายทางยอดนิยมของหนุ่มสาว
"โอ้... สนุก ทางดอยมันชัน พวกสาว ๆ บางคนไปไม่ไหว เธอก็ช่วยกันดันก้นขึ้นไป ไปถึงแล้วหายเหนื่อย ป่าสน ร่มรื่น อากาศเย็นชื่นใจ" ลุงสมศักดิ์ เล่าน้ำเสียงร่าเริง ดวงตาเป็นประกาย แกเล่าต่อว่า ไม่ได้ไปขุนตานหลายสิบปีแล้ว หลังเกษียณก็นั่งรถไฟเที่ยวไปเรื่อย ๆ เพราะได้สิทธิ์โดยสารฟรี ครั้งนี้ก็นั่งรถไฟจากพิษณุโลกมาเยี่ยมเพื่อน เหมือนเวลาผ่านไปรวดเร็ว เสียงหวูดส่งสัญญาณ ไม่นานขบวนก็จอดเทียบสถานีลำปาง ผู้คนทยอยลง ชายชราโบกมือลา อวยพรให้โชคดีในการเดินทาง
บนรถไฟด่วนพิเศษ กรุงเทพ-เชียงใหม่ ผมสัมผัสได้ว่าเจ้า "การเดินทาง" ช่างมีรสประหลาด มันทั้งหอมหวาน ฝาดเฝื่อน และช่างเย้ายวนใจ จากลำปาง ขบวนแวะจอดที่สถานีแม่ตานน้อย เพื่อเปลี่ยนหัวรถจักรแล้วบ่ายหน้าไต่ขึ้นดอย ทิวทัศน์ริมหน้าต่างค่อย ๆ ลอยต่ำ ไม่นานโบกี้ก็อยู่สูงระดับยอดดอยลดหลั่น เสียงแตรกังวานอีกครั้ง แล้วขบวนก็ลอดเข้าอุโมงค์ขุนตาน ช่วงที่ผ่านเข้าไปในความมืดมิด 1,352.10 เมตรนั้น ราวกับว่าโลกได้หายวับไป

อึดใจ สถานีขุนตานก็ปรากฏที่ปลายอุโมงค์ ราวกับโลกอีกใบ โลกเล็ก ๆ ในหุบดอยห่างไกล เงียบสงบ มีบ้านปลูกกระจายบาง ๆ รอบสถานี ผมบอกลาหญิงสาว เธอยิ้มรับ เอ่ยบางอย่างออกมาเบา ๆ เมื่อขบวนเปลี่ยนหัวรถจักรและแล่นจากไป ขุนตานก็ยิ่งเงียบเชียบราวกับเมืองร้าง แบกเป้ขึ้นไหล่ อดนึกถึงหนังคาวบอยเรื่องหนึ่งไม่ได้
ก่อนเดินขึ้นดอย ผมแวะที่อนุสรณ์สถานเล็ก ๆ หน้าอุโมงค์ อนุสรณ์ที่รำลึกถึง เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ (Emil Eisenhofer) วิศวกรผู้ขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์นี้นับว่ายาวที่สุดในบ้านเรา ใช้เวลาสร้างถึง 11 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 6 สิ้นค่าใช้จ่าย 1,362,050 บาท โดยฝีมือคนงานอีสาน ไทยใหญ่ซึ่งแลกค่าแรงด้วยเงินและฝิ่น ระหว่างขุดเจาะ มีไม่น้อยที่จบชีวิตลงด้วยไข้ป่า มาลาเรีย และโรคปอด จากการระเบิดหินในอุโมงค์ ซึ่งมืดมิดอับชื้นตลอดเวลา
ไม่มีดอกไม้ ทว่า ผมยืนค้อมคารวะแต่พวกเขา ผู้บุกเบิกมักเป็นเช่นนั้นเหนื่อยยาก และจากไปก่อนเวลาอันควร จากปากอุโมงค์ ผมเดินตามทางที่ทอดขึ้นไหลดอย ผ่านที่ทำการ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล แวะขอข้อมูลแล้วบ่ายหน้าไปทาง ย.1 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดอยขุนตาลนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ "ย." หมายถึงจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่ใช้สังเกตการณ์เขตจังหวัดลำพูดและลำปาง บนดอยมีถึง ย.4 ซึ่งเป็นจุดสูงสุด และเป็นฐานส่องกล้องสำคัญทางยุทธศาสตร์

ผ่านลานกางเต็นท์ของอุทยานฯ ถนนก็สอบกลายเป็นทางเดินแคบ ๆ ไร้ผู้คนสัญจร มองลงไปเห็นสถานีขุนตานลิบ ๆ ในหุบดอย ตะวันเริ่มจ้าขณะผมมาถึง ย.1 อาคารไม้สีเหลืองโดดเด่นอยู่ริมไหล่ดอย บ้านพักของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งเสด็จมาเป็นแม่งานสร้างอุโมงค์ขุนตานระหว่าง พ.ศ. 2450 – 2460
เสียงนกร้องแว่วมาจากพุ่มไม้ ระหว่างเดินขึ้น ย.2 ป่าเริ่มเขียวชอุ่มอากาศค่อย ๆ เย็นชื้น ความตั้งใจเดิมที่จะขึ้นไปถึง ย.4 ละลายหาย เมื่อมาถึงสวนของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนต นักคิด นักเขียน และศิลปินที่คนไทยศรัทธา เดิม ย.2 นี้เป็นที่พักของบริษัททำไม้ หลังสงครามไม่ได้ดำเนินการต่อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จึงขอซื้อพื้นที่ดังกล่าวเพื่อทำบ้านสวน

ปลดเป้ลงจากหลัง ผมเดินเข้าไปชมบ้านสวนเนื้อที่ 7 ไร่ รู้สึกสงบอย่างประหลาด อาจเพราะมองทิศทางใดก็ล้วนเป็นป่าดอย เสียงสนต้องลมราวกับเสียงฝนโปรยละออง คืนนั้นผมนั่งฟัง อุ๊ยจู คนสวนเก่าแก่ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เล่าเรื่องต้นไม้นานา บ้านไม้หลังเล็ก ๆ กับโต๊ะไม้ที่เจ้าของสวนใช้ขณะขึ้นมาพักผ่อนที่นี่
"ท่านไม่ต้องการอะไรมากเลย วัน ๆ ก็นั่งอ่านหนังสือ เขียนหนังสือบนโต๊ะไม้นั่นละ" อุ๊ยจู เล่า ล่วงดึกอากาศเริ่มหนาวเย็น ผมออกมานั่งข้างกองไฟ ป่าดอยมองเห็นราง ๆ ใต้แสงจันทร์นวล ดาววามวับเต็มฟ้าอยู่บนนี้ ผมรับรู้ได้ว่าชีวิตไม่ต้องการอะไรมากเลย
เช้ามืด ดาวยังสว่างพราว ผมล่ำลา อุ๊ยจู แบกเป้เดินลงดอย อากาศเย็นชื่น ป่าเงียบสงบจนได้ยินเสียงเต้าของหัวใจ ถึงสถานีขุนตาน ผมพบรถมอเตอร์ไซค์ที่นัดไว้ ชั่วโมงถัดมาผมก็ยืนอยู่หน้า "สะพานทาชมภู" สะพานรถไฟที่อยากเห็นมานาน สะพานสีขาวนั้นอายุไล่เลี่ยอุโมงค์ขุนตาน สร้างข้ามลำน้ำแม่ทา เขตจังหวัดลำพูน รูปทรงโค้งคันธนูดูลงตัว อ่อนหวาน ราวกับหญิงชรายิ้มเย็น ๆ ในม่านหมอกขาว
กลับมาที่สถานีขุนตาน ผมจองตั๋วรถเร็วเที่ยวเวลา 08.09 น. เข้าเมืองลำปาง มีผู้โดยสาร 5 – 6 คน บนชานชาลา ล่วง 9 โมง ขบวนที่รอจึงเข้าจอดเทียบ ผมยิ้มขณะแบกเป้ขึ้นไหล่ นึกถึงเรื่องเล่าของลุงสมศักดิ์และหัวรถจักรไอน้ำ บนโบกี้ชั้น 3 ที่นั่งว่างโล่ง ผมเดินข้ามฝั่งไปมาราวกับเด็ก ๆ ชะเง้อมองอุโมงค์ขุนตานค่อย ๆ ลับสายตา
ชั่วโมงต่อมาขบวนก็จอดเทียบ สถานีลำปาง ผู้คนลงรถหนาตา รถรับจ้างเร่เข้ามาหาผู้โดยสาร บรรยากาศดูสับสน เมื่อเพิ่งลงมาจากดอย ผมนั่งรถสองแถวรอบเวียงพร้อมกับคนอื่น ๆ บอกปลายทาง ซึ่งเป็นที่พักแถบวัดสวนดอก รถสองแถวสีเหลืองสด ขับวนส่งผู้โดยสาร ตัวเมืองดูคึกคักเพราะใกล้งานบุญสำคัญ คือ งานแห่สลุงหลวง งานแห่พระเจ้าแก้วในวันสงกรานต์

หลังจัดการเสื้อผ้า 2 – 3 ตัว ตกเย็นผมออกมาเดินเล่นที่หอนาฬิกา อันเปรียบเหมือนศูนย์กลางของเมือง ตรงลานน้ำพุซึ่งประดับดวงไฟหลากสี ผู้คนออกมานั่งหย่อนใจคลาคล่ำ หนุ่มสาวนัดพบปะพูดคุย ขณะวัยรุ่นใช้เป็นลานทำกิจกรรมขี่จักรยานผาดโผน ฝึกยิมนาสติก เต้นฮิปฮอป มีเด็กสาวหลายคนยืนให้กำลังใจอยู่ใกล้ ๆ บรรยากาศสนุกสนาน ผมปลดกระเป๋ากล้องลงวาง นั่งบนม้านั่ง เพิ่งรู้ตัวว่าลงจากรถไฟกรุงเทพ-เชียงใหม่มานานเพียงใดแล้ว


เช้าวันถัดมา ผมเดินไปชมย่านเก่า กาดกองต้า ซึ่งเปิดเป็นถนนคนเดินช่วงค่ำวันเสาร์และอาทิตย์ วันธรรมดาเช่นนี้ผู้คนบางตา บรรยากาศเงียบสงบ ย้อนเวลากลับไป ช่วง พ.ศ. 2363 ยุคที่ลำปางเป็นศูนย์กลางการทำไม้สักของภาคเหนือ กาดกองต้าคือศูนย์กลางการค้า จุดจอดเรือสินค้า และล่องซุงลงไปขายยังปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ในสมัยนั้นตัวตลาดขวักไขว่ไปด้วยผู้คนหลากหลาย ทั้งชาวอังกฤษที่ได้สัมปทานทำไม้ ชาวอินเดีย พม่า จีน ซึ่งเข้ามาทำไม้และค้าขาย รวมถึงคนพื้นเมืองไทยใหญ่ และขมุที่มาขายแรงงาน

ยุครุ่งเรืองล่วงผ่านเนิ่นนานแล้ว ทว่า ความรุ่มรวยยังสะท้อนอยู่ตามอาคารไม้สักอันเก่าแก่ สวยสง่า เช่น อาคารหม่องโง่ยซิ่น ของต้นตระกูลสุวรรณอัตถ์ ผู้ร่ำรวยจากการค้าไม้ อาคารทรงขนมปังขิงอันอ่อนหวานของตระกูลกาญจนวงศ์ พ่อค้าไม้ชาวพม่า ผมแวะพูดคุยกับหญิงชราครู่หนึ่ง แล้วเดินไปชม วัดเกาะวาลุการาม หนึ่งในสองวัดไทยของเมืองลำปาง ศาลาการเปรียญหลังใหญ่นั่นก็สะท้อนว่าเมืองนี้รุ่มรวยไม้สักเพียงใด
บ่ายคล้อยผมลองใช้บริการรถม้า หนึ่งในสัญลักษณ์ของลำปางที่รู้จักกันแพร่หลาย น้าตู่ กับ "จูมง" ม้าแกลบสีขาวสะอาด พาผมข้ามแม่น้ำวังไปออกประตูเมืองเก่า ไม่นานก็ถึง วัดเจดีย์ซาว ซึ่งโดดเด่นด้วยหมู่เจดีย์สีขาว ศิลปะล้านนาผสมพม่า วัดเจดีย์ชาวไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในการสร้าง ช่วงหนึ่งเคยเป็นวัดร้าง และได้รับการบูรณะใน พ.ศ. 2466 ด้วยแรงศรัทธาของคนพม่า คนเมือง และไทยใหญ่ หมู่เจดีย์ 20 องค์ จึงกลับมางดงามอีกครั้ง


ตะวันเริ่มคล้อยต่ำ จาก วัดเจดีย์ซาว จูมงวิ่งเหยาะ ๆ ไปทาง สะพานรัษฎาภิเศก-สะพานเก่าแก่ของลำปาง ผ่านกาดหัวขิวไปยังทิศตะวันตก เย็นแล้วที่ผมมาถึง วัดปงสนุก ท้องฟ้าอึมครึมเมฆฝน ทว่า องค์เจดีย์และวิหารพระเจ้าพันองค์อายุ 120 ปี ยังดูขรึมขลัง เปี่ยมศรัทธา หลายปีก่อนชาวบ้าน วัดปงสนุกเหนือ-ใต้ ร่วมกันบูรณะวิหาร อีกทั้งพระสงฆ์ นักวิชาการ นักศึกษา และช่างพื้นบ้านก็เข้าร่วมด้วยใจศรัทธา ใครมีปัจจัยก็นำมามอบให้ใครไม่มีก็ช่วยเหลือด้วยอาหาร น้ำดื่ม แรงกาย และคำแนะนำอันมีค่า
ด้วยแรงศรัทธานี้ วัดปงสนุก จึงได้รับรางวัล Asia-Pacific Heritage Awards จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2551 จากการอนุรักษ์โบราณสถานอันทรงคุณค่า
ฝนเริ่มโปรยละอองขณะผมกลับมาขึ้นรถม้า จูมงวิ่งกุบกับบ่ายหน้าไปทางแม่น้ำวัง ถึงกาดหัวขัว ผมบอกลาจูมงเดินข้ามสะพานรัษฎาฯ ไปอีกฝั่ง ยืนอยู่ริมแม่น้ำวัง ใต้แสงจันทร์นวลใย ภาพสะพานสะท้อนน้ำยามนั้นให้อารมณ์มากหลาย หนึ่งในนั้นคือความอิ่มเอม ผ่อนคลาย สงบ เย็นใจ
ผมอยู่ลำปางต่ออีก 3 วัน แต่ละวันใช้เวลาไปช้า ๆ ด้วยการเดิน นั่งรถรอบเวียง แล้วกลับมาย่านกาดกองต้า หอนาฬิกา บางวันผมเดินไปกินก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อยตรงไปรษณีย์ ข้ามถนนไปซื้อขนมไทยเจ้าเก่าแก่ แวะคุยกับมิตรช่างภาพที่ร้านกาแฟแถวหอนาฬิกา แล้วเดินกลับมาที่พัก บางวันลองแกงฮังเลในร้านอายุ 60 ปี ริมถนนอุปราช แล้วนั่งรถรอบเวียงไปวัดศรีชุม วัดพม่าใหญ่สุดในบ้านเรา

ที่ วัดศรีชุม ขณะอยู่เบื้องหน้าองค์พระปฏิมาในวิหาร ผมแปลกใจที่ตนเองออกห่างสถานที่ร่มเย็นเช่นนี้ตั้งแต่เมื่อใด เดิมบริเวณนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก่อน ทว่า มีเพียงศาลาหลังหนึ่ง บ่อน้ำกับต้นศรีมหาโพธิ์ให้ร่มเงา หม่องยี พ่อค้าไม้ชาวพม่า รวบรวมผู้ศรัทธาสร้างวัดศรีชุมขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2436 โดยทำตามศรัทธาในพุทธศาสนา และขอขมาต่อเทวาผู้รักษาต้นไม้ที่ตนตัดออกมา

ออกจากอุโบสถ ผมเดินข้ามถนนไปอีกฝั่ง แวะดูเด็ก ๆ มุสลิมเล่นฟุตบอลหน้ามัสยิดอัลฟาลาฮุ ถัดไปไม่ไกลเป็นวัดซิกข์ โดมสีทองนั้น สะท้อนแดดอุ่นตา วันนี้เป็นวันเสาร์ ตกเย็นกาดกองต้าจึงดูคึกคัก ผู้คนออกมาตั้งแผงขายของ หนุ่มสาวเดินจูงมือ ขณะพ่อแม่พาลูก ๆ มากินอาหาร มีร้านพื้นเมืองหลายร้านน่านั่ง วันอาทิตย์ กาดกองต้ายิ่งคึกคัก ผู้คนมากหลาย ทั้งหนุ่มสาวเจ้าถิ่น และผู้มาเยือนจากต่างเมือง ที่หน้าทิพย์อินน์ เกสต์เฮาส์ หนุ่มสาวชาวยุโรปออกมาเดินเล่นพร้อม ๆ หนุ่มสาวคนไทย ผิวขาวสะอาดนั้นบอกให้รู้ว่า พวกเขาเพิ่งออกจากบ้านมาไม่นาน
ในยามนั้น ผมนึกถึงมิตรบางคนที่เดินทางมาไกล บางครั้งเราพบกัน บนรถโดยสารเก่าคร่ำ บนเรือไม้ลำเล็ก ๆ ในแม่น้ำโขง และบางครั้งก็บนรถไฟ ใครคนหนึ่งเคยบอกว่า มิตรภาพนั้นไม่ใช่เชื้อชาติ รูปแบบการเดินทาง ระยะเวลา หรือภาษาสื่อสาร เพียงหนึ่งรอยยิ้ม นั่นอาจหมายถึงการเดินทางในเที่ยวถัดไป ซึ่งปลายทางอาจทอดยาว ข้ามขุนเขา ข้ามเส้นพรมแดน


คู่มือนักเดินทาง









ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 51 ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2554