ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2567 งานลอยโคมสว่างไสวสุดยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา

           ยี่เป็ง เชียงใหม่ 2567 งานประเพณีลอยโคมสุดยิ่งใหญ่ของเชียงใหม่ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลลอยกระทงของประเทศไทย ปีนี้จัดวันไหน ไปดูรายละเอียดกัน
           ทุก ๆ ปีในเดือนพฤศจิกายน จังหวัดเชียงใหม่จะมีประเพณียี่เป็ง หรือ บุญยี่เป็ง ซึ่งเป็นงานลอยโคมที่จัดขึ้นเป็นประจำช่วงเดือนยี่ หรือเดือน 2 ของชาวล้านนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของภาคกลาง ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลวันลอยกระทงของประเทศไทยนั่นเอง ประเพณียี่เป็งนั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างไร รวมถึงจะมีการจัดงาน ยี่เป็งเชียงใหม่ 2567 หรือไม่ เรามีข้อมูลดี ๆ มาอัปเดตกัน

ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2567
ประเพณีปล่อยโคมลอยเชียงใหม่

ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2567 จัดวันไหน

           ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ททท.สำนักงานเชียงใหม่ - TAT Chiang Mai ได้มีการประกาศกำหนดการจัดงานเดือนยี่เป็ง ประจำปี 2567 YIPENG The Lanna Light Festival 2024 ในวันที่ 14-17 พฤศจิกายน ซึ่งจัดโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ และภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ในปีนี้ยังคงมีการจัดกิจกรรมหลากหลายตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่เช่นเคย ทั้งกิจกรรมประกวดกระทงใหญ่ การประกวดโคมยี่เป็งล้านนา กิจกรรมล่องสะเปาปล่อยกระทงสาย รวมถึงการแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสม และกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งเมืองด้วยโคมไฟ ผางประทีป ให้สวยงามสว่างไสวทั่วเมือง โดยยังคงความเป็นล้านนาแบบย้อนยุคเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมสมัยก่อน
กำหนดการจัดงานยี่เป็งเชียงใหม่ 2567

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ททท.สำนักงานเชียงใหม่ - TAT Chiang Mai

กำหนดการจัดงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2567 (ภาษาไทย)

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ททท.สำนักงานเชียงใหม่ - TAT Chiang Mai

กำหนดการจัดงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2567 (ภาษาอังกฤษ)

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ททท.สำนักงานเชียงใหม่ - TAT Chiang Mai

ประเพณียี่เป็ง ประวัติความเป็นมา

          ยี่เป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ในสมัยอาณาจักรล้านนา ประชาชนและพระมหากษัตริย์ต่างพากันนมัสการบูชาพระในอารามทั้งหลาย โดยคำว่า ยี่เป็ง เป็นภาษาล้านนา แยกได้สองคำ คือ คำว่า ยี่ หมายถึงเดือน 2 หรือเดือนยี่ ตามที่คนล้านนาใช้เรียกเดือนพฤศจิกายน ส่วนคำว่า เป็ง หมายถึง พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ

          คติความเชื่อเกี่ยวกับประเพณียี่เป็งมีหลายอย่าง โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาพระแม่คงคาที่ประทานน้ำมาให้เพื่อการเพาะปลูก เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทริมฝั่งน้ำนัมมทานทีในคติทางพุทธศาสนา ซึ่งชาวบ้านมักเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ปล่อยเสนียดจัญไรต่าง ๆ

          สำหรับประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีของชาวล้านนาในไทย จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ปีที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 2 ของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย และในเทศกาลยี่เป็งจะจัดขึ้น 3 วัน ได้แก่

  • วันขึ้น 13 ค่ำ หรือ วันดา เป็นวันเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญที่วัดเชียงใหม่

  • วันขึ้น 14 ค่ำ เป็นวันที่หลายครอบครัวพากันไปทำบุญ ถือศีล ฟังธรรมกันที่วัด มีการทำกระทงใหญ่ไว้ที่ลานวัด และนำของกินมาใส่กระทงไว้เพื่อเป็นการทำทานให้แก่คนยากจน

  • วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่จะนำกระทงใหญ่ที่ลานวัดและกระทงเล็ก ๆ ส่วนตัวไปลอยในแม่น้ำ

ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

ความเชื่อในวันยี่เป็งเชียงใหม่

ประตูป่า

          ประเพณียี่เป็ง มีความเชื่อว่าเป็นฤดูกาลที่ลูกหลานจะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ ด้วยการส่งเครื่องเซ่นสังเวยตามสายน้ำ มีการเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย ตกแต่งด้วยธงสี เปลี่ยนดอกไม้บูชาพระใหม่ ที่ประตูหน้าบ้าน วัด บริษัท หรือตามสถานที่ต่าง ๆ จะจัดทำ ประตูป่า หรือซุ้มประตูที่ทำจากต้นกล้วย ต้นอ้อย ตุง ดอกไม้ และช่อประทีบ ประดับด้วยโคมไฟพื้นเมืองหรือโคมยี่เป็ง ตามความเชื่อของคนล้านนา ประตูป่า คือ เครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง เนื่องจากชาวล้านนาส่วนใหญ่นิยมฟังมหาเวสสันดรชาดก และว่ากันว่าหากใครฟังครบ 13 กัณฑ์ จะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและบ้านเมือง หากตัดเรื่องความเชื่อดังกล่าวแล้ว ประตูป่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจของคนในบ้าน บริษัท หรือชุมชน ที่มาช่วยกันทำและประดับตกแต่งซุ้มประตูให้สวยงาม ในบางพื้นที่ยังมีการประกวดประตูป่าด้วย

ประตูป่า ในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

ภาพจาก : daphnusia images / Shutterstock.com

(ปี 2565)

จุดผางประทีป
           สำหรับวัดหรือสถานที่สำคัญก็จะจัดสถานที่ให้สวยงามเป็นพิเศษ มีการจุดผางประทีปโดยรอบเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ซึ่ง ผาง เป็นภาชนะดินเผาที่มีลักษณะคล้ายถ้วยเล็ก ๆ สำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และเส้นฝ้ายสำหรับจุดไฟ ส่วน ประทีป คือ แสงสว่าง การจุดผางประทีปเกิดจากตำนานแม่กาเผือก เพื่อเป็นพุทธบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) และพระศรีอริยเมตไตรย โดยเชื่อกันว่าเป็นการจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณให้แก่ผู้มีพระคุณ ซึ่งชาวล้านนายึดถือสืบต่อกันมาว่า การจุดผางประทีปเป็นการสักการะต่อสรรพสิ่งที่เราได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประตูบ้าน กำแพง หน้าต่าง บันได อีกทั้งเชื่อว่าแสงสว่างของประทีปจะช่วยให้เกิดสติปัญญา มีแต่ความเฉลียวฉลาด มีแสงนำทางชีวิตให้มีแต่ความเจริญก้าวหน้า
การจุดผางประทีบ ในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

บอกไฟ
            ในประเพณียี่เป็งจะมีพิธีทำบุญทางศาสนา เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนยี่ มีการถวายข้าวมธุปายาส และร่วมกันฟังเทศน์เพื่อความเป็นสิริมงคล ตกกลางคืนก็จะมีงานมหรสพรื่นเริง การแสดงพื้นบ้าน รำวง และการละเล่นต่าง ๆ มากมาย ตามวัดวาอารามต่าง ๆ จะเตรียมทำดอกไม้ไฟ หรือ บอกไฟ เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จุดบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวง และให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุกสนานกัน ซึ่งดอกไม้ไฟที่นิยมเล่นกันในช่วงคืนวันเพ็ญเดือน 12 ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ไฟที่มีประกายแสงสวยงาม เช่น บอกไฟยิง บอกไฟลูกหนู บอกไฟข้าวต้ม และที่ขาดไม่ได้เลยคือ พลุโอ่ง หรือที่คนเมืองเรียกกันว่า บอกไฟน้ำต้น ด้วยความที่พลุโอ่งมีประกายไฟออกมาเป็นพุ่มสวยงามคล้ายฝนห่าแก้วที่ปรากฏในธรรมมหาชาตินครกัณฑ์ บางคนเชื่อว่าถ้าจุดในช่วงยี่เป็งจะช่วยให้ชีวิตรุ่งโรจน์โชติช่วงเหมือนกับประกายของดอกไม้ไฟ
ดอกไม้ไฟหรือ บอกไฟ ในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

โคมลอย
           ไฮไลต์สำคัญที่สุดของประเพณียี่เป็งจะอยู่ที่ การลอยโคม ด้วยความเชื่อที่ว่าการสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี (พระธาตุประจำปีเส็ด หรือปีหมา) ที่ประดิษฐานอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอย ทำให้เกิดธรรมเนียมการปล่อยโคมขึ้น ซึ่งหลายคนเชื่อว่าหากโคมลอยยิ่งลอยสูงยิ่งได้บุญมาก ต่อมายังเชื่อกันว่าการปล่อยโคมลอยเปรียบเสมือนการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก ปล่อยเรื่องที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าเปลวไฟในโคมเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ และแสงสว่างที่ได้รับจากโคมจะส่งผลให้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง การปล่อยโคมลอยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในประเพณียี่เป็ง ซึ่งเป็นที่รวมแห่งศรัทธาสามัคคีของชาวบ้านกับชาววัด นอกจากนี้การทำโคมลอยยังถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง หากทำไม่ถูกสัดส่วนจะปล่อยไม่ขึ้นด้วย
การปล่อยโคมลอยในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

ลอยกระทง
           การลอยกระทง กลายเป็นประเพณีที่คนไทยทั่วทุกภูมิภาคนิยมปฏิบัติกัน มีการสืบทอดความเชื่อบางอย่างต่อมาเรื่อย ๆ เช่น การตัดผมและเล็บใส่ในกระทง เพื่อเป็นการลอยเคราะห์โศกโชคร้ายต่าง ๆ ไปกับกระแสน้ำ บางคนก็นิยมใส่เหรียญหรือเงินลงไปในกระทง เพราะเชื่อว่าการให้ทานจะช่วยให้คำอธิษฐานสมหวัง ในขณะที่ธัมม์อานิสงส์เดือนยี่เป็งลอยประทีปโคมไฟของพระพุทธเจ้าในตอนท้ายกล่าวไว้ว่า ในเดือนยี่เป็งใครทำประทีปโคมไฟไปลอยแม่น้ำ จะได้เป็นคนใหญ่คนโต เป็นที่เกรงขาม มีผิวพรรณงดงามดั่งดวงจันทร์วันเพ็ญ มีสติปัญญาเฉียบแหลม และเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ทำให้ชาวล้านนาส่วนใหญ่นิยมไปลอยกระทงตามแม่น้ำในบริเวณชุมชนที่ตนเองอาศัยด้วย
การลอยกระทงในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

โคมลอยในวันยี่เป็ง เชียงใหม่ คืออะไร

           ในงานยี่เป็ง เอกลักษณ์สำคัญที่ทุกคนจำได้ดีคือ การปล่อยโคมลอยนับร้อยนับพันขึ้นไปส่องสว่างเคียงข้างกับแสงจันทร์ ซึ่งจริง ๆ แล้วโคมลอยที่เห็นกันเป็นปกตินั้นมีชื่อเรียกว่า ว่าวไฟ หรือโคมไฟ เป็นว่าวทรงกระบอก ทำจากกระดาษว่าวติดกาวต่อกันเป็นทรงกระบอก ตรงปากว่าวใช้ไม้ไผ่เหลา และใช้ความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับแกนกลางเพื่อพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ นิยมจุดตอนกลางคืน ทำให้ทุกคนจะได้เห็นภาพโคมลอยสวยงามตระการตาอยู่กลางท้องฟ้ายามค่ำคืนในเทศกาลยี่เป็ง
โคมลอย หรือว่าวไฟที่ลอยกันในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

การปล่อยโคมลอยในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

โคมลอยนับร้อยนับพันที่ปล่อยในประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่

           อย่างไรก็ตาม การปล่อยโคมลอยก็มีอันตรายแฝงอยู่ เพราะถ้าตกหล่นบนหลังคาหรือสิ่งที่ติดไฟได้ก็อาจนำไปสู่เหตุไฟไหม้ ด้วยเหตุนี้หน่วยงานราชการหลายแห่งจึงควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ฉะนั้นควรตรวจสอบก่อนว่าในบริเวณนั้นสามารถร่วมปล่อยโคมลอยได้หรือไม่ เพื่อให้เทศกาลรื่นเริงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะอย่างแท้จริง

          ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2567 เทศกาลที่จะแปลงโฉมเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองแห่งแสงไฟประดับประดาทั่วเมือง ใครอยากสัมผัสความงดงามตระการตาของเทศกาลนี้ต้องไม่พลาด
 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ งานวันลอยกระทง อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2567 งานลอยโคมสว่างไสวสุดยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา อัปเดตล่าสุด 28 ตุลาคม 2567 เวลา 17:41:02 8,462 อ่าน
TOP
x close