เ้รียบรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวไกลถึง "อุบลราชธานี" จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นได้ก่อนพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย เพราะตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศ และมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียมและอำเภอสิรินธร
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ หรือเดิมชื่อ อุทยานแห่งชาติดงหินกอง มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 33 ของประเทศ ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลบริเวณแก่งตะนะ
ซึ่งคำว่า "ตะนะ" จากการเล่าขานตามความเชื่อของชาวบ้านและประชาชนทั่วไป เดิมมาจากคำว่า "มรณะ" เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้ มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า "แก่งมรณะ" ตามแรงบันดาลจากสภาพของสายน้ำที่ไหลผ่านแก่งนี้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า "แก่งตะนะ" จึงตั้งเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ
ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขาเตี้ย ๆ มียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่าน ตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลาง สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง จะมีป่าดิบเฉพาะบริเวณริมห้วยใหญ่เท่านั้น สภาพพื้นที่ส่วนมากเป็นหินทรายและพื้นที่ศิลา
สถานที่ท่องเที่ยว
ดอนตะนะ เป็นดอนหรือเกาะกลางที่เกิดขวางแม่น้ำมูล มีความกว้างประมาณ 450 เมตร ยาวประมาณ 700 เมตร มีสะพานแขวนทอดข้ามทั้ง 2 ด้านของเกาะ ทางตอนเหนือของดอนตะนะมีหาดทรายเหมาะแก่การพักผ่อน บนดอนตะนะยังมีป่าอยู่ทั่วไป เป็นสภาพป่าดงดิบแล้งมีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นในช่วงเช้า และช่วงเย็นจะมีการทำประมงของชาวบ้านรอบ ๆ เกาะ
แก่งตะนะ เป็นแก่งกลางลำน้ำมูลที่ใหญ่ที่สุด กลางแก่งตะนะมีโขดหินทรายมหึมา เป็นเกาะกลางลำน้ำมูลที่เกิดจากลำน้ำมูลทั้งสองสายที่เชี่ยวกราก และจะกัดเซาะลงในแนวหินสูงประมาณ 1 เมตร ถ้าสังเกตเกาะกลางแก่งตะนะจะเห็นสิ่งก่อสร้างรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยฝรั่งเศสยังล่าอาณานิคม เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้ร่องน้ำในการเดินเรือ บริเวณแก่งตะนะมีสายน้ำที่เชี่ยวและลึก ใต้ท้องน้ำเป็นหลุมหิน โขดหิน ทั้งยังมีโพรงถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลามาอาศัยบริเวณแก่งตะนะชุกชุม ช่วงที่เหมาะในการไปเที่ยว คือ เดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน
น้ำตกตาดโตน เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง เกิดจากลำห้วยตาดโตนไหลผ่านลานหินแล้วตกลงสู่ที่ลุ่ม เกิดเป็นแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ มีน้ำเย็นใสสะอาด บริเวณโดยรอบเป็นป่าไม้และดอกไม้นานาพรรณ นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของน้ำตกได้ ในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี การเดินทาง ทางหลวงหมายเลข 2173 ซึ่งแยกจากทางหลวงหมายเลข 217 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร
ลานผาผึ้ง เป็นพลาญหินทรายและหน้าผาชัน โดยหน้าผาจะหันหน้าสู่ด้านทิศตะวันออก เหมาะแก่การชมทิวทัศน์ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น และสามารถมองเห็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ ในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะได้ชมดอกไม้ป่า เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน หยาดน้ำค้าง แววมยุรา เป็นต้น ลานผาผึ้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 1.5 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึง หรือจะเดินเท้าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เลียบฝั่งแม่น้ำมูลได้เช่นกัน
ถ้ำพระ หรือ ถ้ำภูหมาไน อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นชะง่อนผายื่นออกจากฝั่งแม่น้ำมูล กว้าง 45 เมตร ลึก 10 เมตร ภายในถ้ำพบศิลาจารึกและแท่นศึวลึงค์ (ฐานโยนี) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สมัยพระเจ้ามเหนทรวรมัน (เจ้าชายจิตรเสน) ปัจจุบันศิลาจารึกตัวจริงได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
น้ำตกรากไทร - ผารากไทร เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาตามหน้าผา ผ่านรากไทรริมฝั่งแม่น้ำมูลมองดูคล้ายม่านมู่ลี่ บริเวณแห่งนี้ประกอบด้วยเฟิร์น ตะไคร่น้ำ และมอส ทำให้มีอากาศเย็นสบายสามารถเข้าชมได้ตลอดทั้งปี ใช้เส้นทางเดี่ยวกับถ้ำพระ ห่างจากถ้ำพระ ประมาณ 30 เมตร
ผาด่าง เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของแก่งตะนะ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบค้างคืนในป่า เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นลักษณะเดี่ยวกับผาชนะได แต่จะมองเห็นสองข้างของหน้าผา ด้านขาวจะมองเห็นเขื่อนสิรินธร ด้านซ้ายจะมองแห่งผืนป่าของประเทศลาว ด้านหน้าจะมองเห็นหมู่บ้านของชาวลาว และภูเขาที่สูงตะง่านสลับซับซ้อนกัน รวมถึงมองเห็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงของลาวคือสะพานปากแซ
สะพานแขวน เป็นสะพานแขวนคนเดินข้ามที่ยาวที่สุดในประเทศ ที่เชื่อมจากฝั่งที่ทำการกับดอนตะนะทั้งสองข้าง โครงสร้างเป็นเหล็กยึดโยงด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ ยาวประมาณข้างละ 295 เมตร เป็นจุดชมวิวสองฝั่งแม่น้ำมูลเหนือแก่งตะนะ และใช้เดินข้ามเข้าไปชมธรรมชาติบนดอนตะนะได้อย่างเพลิดเพลิน
ทั้งนี้ บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทรศัพท์ 0 2562 0760 หรือ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ โทรศัพท์ 0 4540 6887-8
การเดินทาง
รถยนต์
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 90 กิโลเมตร และสามารถเดินทางมาได้ 2 เส้นทาง คือ
• จากจังหวัดอุบลราชธานีไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217 ผ่านอำเภอวารินชำราบ กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ ถึงอำเภอพิบูลมังสาหาร แยกเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2173 ผ่านอำเภอสิรินธร ถึงสามแยกตลาดนิคม 2 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2296 สุดทางจะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
• จากจังหวัดอุบลราชธานีไปตามเส้นทางเดียวกับเส้นทางแรก เมื่อถึงอำเภอพิบูลมังสาหารเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานพิบูลมังสาหาร 200 ปี เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2222 (ถนนพิบูลมังสาหาร-โขงเจียม)
1. ก่อนถึงอำเภอโขงเจียม ประมาณ 4 กม. เลี้ยวขาวผ่านสันเขื่อนปากมูล ประมาณ 1.2 กม. ถึงสามแยก เลี้ยวซ้าย ถึงด่านแก่งตะนะ
2. ผ่านเข้าตัวอำเภอโขงเจียม ข้ามสะพานโขงเจียมไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2173 ถึงบ้านหนองชาด ซึ่งห่างจากอำเภอโขงเจียม 6 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2296 สุดเส้นทางถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
ขอขอบคุณข้อมูลข้อมูลจาก
และ