
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3
คดี วังน้ำเขียว ส่อวุ่น รองผกก.สภ.โพธิ์กลาง แจ้งความดำเนินคดี จนท.ป่าไม้ กรณีให้สัมภาษณ์หมิ่นประมาท พนักงานสอบสวน ทำคดีล่าช้า และไม่ให้ความร่วมมือ
พันตำรวจโท อนันต์ พิมพ์เจริญ รองผู้กำกับการ สภ.โพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 17 พนักงานสอบสวนคดีรีสอร์ทบ้านพัก 22 แห่ง บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ได้เดินทางเข้าแจ้งความกับ พันตำรวจโท วิเชียร โพธิ์จันทร์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา เพื่อลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ขอให้ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ และเป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดเฉพาะกิจเพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ต่อเนื่อง และ นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ว่า มีการหมิ่นประมาทด้วยการให้ข่าวกับสื่อมวลชนในทำนองว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ไม่ได้รับความร่วมมือกับ พนักงานสอบสวนในท้องที่ เนื่องจาก พนักงานสอบสวนเกรงกลัวผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง จึงส่งผลให้การทำคดีล่าช้า ซึ่งพนักงานสอบสวน ไม่ได้เป็นดังที่ถูกกล่าวหา
พร้อมกับยืนยันว่า ทำคดีอย่างเต็มที่ และตรงไปตรงมาซึ่งต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานและใช้ความรอบคอบในการสรุปสำนวนคดี เพื่อส่งให้ อัยการ ดำเนินการสั่งฟ้องศาลต่อไป โดย พันตำรวจโทอนันต์ ได้นำหนังสือพิมพ์ที่มีข้อความการให้สัมภาษณ์ของบุคคลทั้งสองมาเป็นหลักฐานด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ถึงแม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะเชิญคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกัน คือ ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) มาปรับความเข้าใจกันแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่า ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวจะจบลง

[29 สิงหาคม] รีสอร์ท งัดข้อกรมป่าไม้ พังป้ายรื้อถอนรุกป่าวังน้ำเขียว
ป้ายประกาศแจ้งการดำเนินคดี 22 รีสอร์ต รุกป่าวังน้ำเขียว ถูกถอนทำลายแล้วทั้งหมด สั่งแจ้งความดำเนินคดีฐานทำลายทรัพย์สินราชการ
นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้นำป้ายประกาศแจ้งความดำเนินคดีกับรีสอร์ต บ้านพัก ทั้ง 22 แห่ง เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. 2554 และวันต่อมาได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจยังจุดที่มีการติดป้ายทั้งหมด กลับพบว่า มีการรื้อถอนป้ายออกไปแล้วทั้งหมด ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 ถือว่า ทางเจ้าของพื้นที่ได้รับทราบแล้วว่าทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ได้ให้โอกาสในการชี้แจงและนำเอกสารหลักฐานการถือครองพื้นที่มาแสดงกับทางเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นหากไม่ดำเนินการก็จะต้องบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าสงวน ตามกรอบเวลาโดยทันที
นอกจากนี้ การรื้อถอนป้ายประกาศดังกล่าว ยังถือว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ดังนั้นตนเองได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใดก็ตามที่รื้อถอนป้ายประกาศในข้อหาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว เรียบร้อยแล้ว


[24 สิงหาคม] ลุยตรวจวังน้ำเขียว ผู้ตรวจราชการป่าไม้เจอปืนขู่ไล่
ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ยอมรับ ทำงานลำบาก หลังลงพื้นที่ตรวจสอบการบุกรุกผืนป่า เจอคนยิงปืนขู่ไล่หลัง เผยมี 3 รีสอร์ทหอบเอกสารสิทธิเข้าชี้แจงแล้ว จี้รีสอร์ทที่เหลือแจงด่วน ไม่งั้นต้องติดป้ายรื้อถอน
วานนี้ (23 สิงหาคม) นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว กล่าวถึงการทำงานตรวจสอบรีสอร์ทที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวงว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว ดำเนินคดีกับเจ้าของบ้านพัก และรีสอร์ททั้ง 22 แห่ง ซึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแล้วนั้น ล่าสุด มีเจ้าของบ้านพัก และรีสอร์ท 3 แห่ง ได้นำเอกสารการครอบครองที่ดินมาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์เอกสารสิทธิ
ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ ได้ขอร้องให้เจ้าของบ้านพักและรีสอร์ทแห่งที่เหลือนำเอกสารสิทธิมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ภายในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบการให้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ หากเจ้าของรีสอร์ทไม่มาแสดงตัว เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องนำป้ายประกาศรื้อถอนตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2507 ไปติดประกาศที่รีสอร์ทแน่นอน
อย่างไรก็ตาม นายวิฑูรย์ ยังยอมรับด้วยว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ครั้งนี้มีอุปสรรคเป็นอย่างมาก อย่างเช่นตนที่ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ กลับถูกคนยิงปืนขู่ไล่หลัง ซึ่งทางระดับกระทรวงจะต้องเร่งแก้ไขปัญหา และสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าป่าไม้ต่อไป

เขาแผงม้า วังน้ำเขียว

[20 สิงหาคม] ปัญหาพิพาทรุกป่าวังน้ำเขียวไร้ข้อสรุป
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผย ยังไม่ได้ข้อสรุปรุกที่ดินวังน้ำเขียว ออกตัวต้องศึกษาข้อมูลเพิ่ม ระบุต้องชัดเจน เรื่องแนวเขตแท้ที่จริง
ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังจากได้รับฟังข้อคิดเห็นจากทั้งภาคประชาชนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และข้อมูลเบื้อต้นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของทางกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงด้านสำนักงานการปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ว่า ยังจะต้องไปศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง
โดยเฉพาะในส่วนของข้อพิพาทกรณีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากทาง นายจงกล สระเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ได้อ้างว่า มีการปักหลักแนวเขตของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบและประชาชน ที่เคยได้สำรวจทำแนวเขตนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2543 ซึ่งในส่วนนี้ตนเองยังไม่ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่กระจ่างชัด ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความชัดเจนถึงความเป็นไปเป็นมาในเรื่องนี้เสียก่อน ว่าแนวเขตแท้ที่จริงแล้วต้องยึดถือแนวเขตใด

[13 สิงหาคม] ทส.สั่งเดินหน้าตรวจรุกที่ดินวังน้ำเขียว ให้ 2 กรมรายงานด่วน!
รมว.ทส. เผย จะเดินหน้าสางคดีบุกรุกที่ดินวังน้ำเขียวต่อ โดยให้ 2 กรมที่เกี่ยวข้อง รายงานด่วน หลังแถลงนโยบายต่อสภาเสร็จสิ้น
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวหลังเข้ากระทรวง เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง และหารือกับผู้บริหารกระทรวงอย่างไม่เป็นทางการ โดยขณะนี้ประชาชนให้ความสนใจกับกรณีการทำงานของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง และอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ดังนั้น ก็จะให้อธิบดีทั้ง 2 กรม รายงานความคืบหน้าให้ทราบ พร้อมทั้งเรียกเอกสารมาดูข้อเท็จจริง ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรี ทส. คนใหม่ ก็ต้องรอให้มีการแถลงนโยบายก่อน จึงจะเดินหน้าทำงานได้เต็มที่
ส่วน นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ได้มีการประชุมผู้บริหาร ทส. เพื่อชี้แจงแนวทางการทำงาน และสิ่งที่ ทส. กำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของการดำเนินคดีกับนายทุน และผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกป่าทั้งในพื้นที่ของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ซึ่งการดำเนินงานจากนี้ ก็ต้องฟังนโยบายจาก นายปรีชา ว่าจะดำเนินการอย่างไรด้วย อีกทั้งในช่วงบ่าย ตนจะเดินทางไปกราบนมัสการเจ้าคุณธงชัย หรือ พระเทพภาวนาวิกรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตร ท่านจะมอบวัตถุมงคลเหรียญหลวงพ่อคูณวัดบ้านไร่ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่วังน้ำเขียวด้วย
[9 สิงหาคม] ประชาชน จี้ รัฐบาล ตั้งชุดเฉพาะกิจปราบรุก วังน้ำเขียว
องค์กรประชาชนจี้ "ยิ่งลักษณ์" บรรจุธนาคารที่ดิน-โฉนดชุมชน-เก็บภาษีก้าวหน้า เป็นนโยบายรัฐบาล ฮือฮา! "ปลอดประสพ" ไม้เบื่อไม้เมาเอ็นจีโอโผล่รับเรื่อง ยาหอมตอบแทนคุณที่อุ้มชูเพื่อไทยจนชนะเลือกตั้ง แต่จะคลี่คลายปัญหาได้ต้องใช้เวลา 8 ปี ด้านป่าไม้โคราชรอหมายจากศาลตรวจรีสอร์ต 22 แห่งต้องสงสัยรุกป่าสงวนฯ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เครือข่ายประชาชน 145 องค์กร จากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วเคลื่อนขบวนมายังหน้ารัฐสภาเพื่อยื่นนโยบายภาคประชาชนให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้บรรจุนโยบายเรื่องธนาคารที่ดิน, โฉนดชุมชน และการเก็บภาษีก้าวหน้า เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมลงในนโยบายของรัฐบาล
นายประยงค์ ดอกลำไย ประธานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และตัวแทนเครือข่าย 145 องค์กร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ส่งตัวแทนไปฟังนโยบายของ 145 เครือข่ายภาคประชาชน แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร และยังไม่มีเสียงตอบรับที่ชัดเจน ว่าจะนำนโยบายของประชาชนเข้าไปไว้ในนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ ดังนั้น การเดินทางมารัฐสภาก็เพื่อที่จะขอความชัดเจนจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายปลอดประสพ สุรัสวดี ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เดินทางมารับข้อเสนอของเครือข่ายประชาชน
นายปลอด ประสพ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มารับข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ เบื้องต้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แสดงความเป็นห่วงพี่น้องที่เดินทางมา และฝากความระลึกถึงมายังสมาชิกเครือข่ายฯ ด้วย
"ภายหลังจากที่พรรค เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จะหาช่องทางเพื่อหารือกับเครือข่ายฯ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับราษฎร พรรคเพื่อไทยได้ระลึกว่า เพราะทางสมาชิกเครือข่ายฯ ได้อุ้มชู จึงทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะถึง 265 เสียง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทางเครือข่ายประชาชนเสนอเฉพาะ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย คงจะทำไม่สำเร็จ ดังนั้นต้องขอความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายภายใน 4 หรือ 8 ปีนี้" นายปลอดประสพ กล่าว
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ประชาชนเสนอนั้น ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเตรียมดำเนินการ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการคุยในรายละเอียดอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนกรณีที่เครือข่ายฯ เสนอให้นำข้อเรียกร้องไปทำเป็นนโยบายรัฐบาลด้วยนั้น ยืนยันว่าจะรับไปดำเนินการอย่างแน่นอน เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้นายปลอดประสพ ซึ่งในสมัยเมื่อครั้งเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มีความขัดแย้งกับกลุ่มเครือข่ายประชาชนค่อนข้างชัดเจน
ทางด้านนายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงแผนการดำเนินการเข้าตรวจสอบรีสอร์ตจำนวน 22 แห่ง ในพื้นที่ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า ทางกรมป่าไม้มีหลักฐานเชื่อได้ว่า เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ต.วังน้ำเขียว ซึ่งขณะนี้ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ได้ให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารหลักฐาน ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2528 พร้อมแผนที่ระบุพิกัดที่ตั้งของรีสอร์ตและที่พัก ที่เชื่อได้ว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ทั้ง 22 แห่ง เข้ายื่นต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ศาลออกหมายตรวจสอบเคหสถานให้ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังรอหมายศาลอยู่ แต่เรื่องระยะเวลาต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ว่าจะอนุมัติหมายศาลได้หรือไม่
นายสุเทพ บอกว่า สำหรับเอกสารสิทธิหรือหลักฐานในการขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น จะต้องเป็นโฉนดที่ดิน หรือหนังสือแสดงสิทธิ์การครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) มาแสดงกับทางเจ้าหน้าที่เท่านั้น ส่วนเอกสารอื่นอย่างเช่น ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท.5 นั้น ไม่สามารถนำมาเป็นเอกสารแสดงสิทธิ์ได้ เนื่องจากเป็นเพียงเอกสารการเสียภาษีการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้กับท้องถิ่น เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารที่จะแสดงว่าเป็นผู้ถือครองพื้นที่ ดังนั้น ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานที่จะนำมาใช้เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ในครั้งนี้ได้
เขากล่าวด้วยว่า การเตรียมการของทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ในการเข้าไปดำเนินการตรวจสอบรีสอร์ต 22 แห่ง ที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวงนั้น ขณะนี้ทางกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ฯ เตรียมจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับปัญหานี้โดยเฉพาะขึ้น ที่สถานีวิจัยสะแกราช บนถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-นครราชสีมา โดยจะมีการดำเนินการทันทีที่ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ได้รับอนุมัติหมายศาลจากศาลจังหวัดนครราชสีมา อนุญาตให้เข้าตรวจสอบรีสอร์ตทั้ง 22 แห่งที่ระบุไว้ได้
ขณะที่การดำเนิน การของอุทยานแห่งชาติทับลาน ในการดำเนินการออกติดป้ายประกาศอุทยานฯ สั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในจุดที่ยังมีการใช้ประโยชน์ ในรีสอร์ตที่พักที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 2 จังหวัด คือ นครราชสีมาและปราจีนบุรี โดยอาศัยอำนาจในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีรีสอร์ตที่พัก ที่ทางอุทยานแห่งชาติได้ฟ้องร้องดำเนินคดีตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ที่ผ่านมา ยังคงมีการใช้ประโยชน์ในลักษณะดังกล่าวอยู่รวม 53 แห่งนั้น
นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า ล่าสุดขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้นำประกาศดังกล่าวไปติดตั้งยังรีสอร์ตที่พักดังกล่าวแล้วรวม 25 แห่ง และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมเอกสารตามประกาศอุทยานฯ เพื่อเข้าดำเนินการเพิ่มเติมจนครบ 53 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินต่อได้ภายในวันที่ 9 ส.ค.นี้ หลังจากที่ต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีการลงพื้นที่ ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และตนเองต้องไปชี้แจงข้อมูลต่างๆ จึงทำให้กระบวนการดำเนินการในส่วนนี้หยุดไปก่อน
วันเดียวกัน นายสุรเชษฎ์ เชษฐมาส นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, อธิบดีกรมป่าไม้ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีเนื้อหาสนับสนุนภารกิจการจัดระเบียบที่ดินป่าไม้ และอุทยานแห่งชาติ

วังน้ำเขียว
[7 ส.ค.] เจ้าของรีสอร์ทวังน้ำเขียว โต้ไม่รู้เป็นพื้นที่อุทยาน
เจ้าของรีสอร์ทหนึ่งใน 22 จุด วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา โต้ ไม่รู้ เป็นพื้นที่ป่าและเป็นการรุกป่าสงวนแห่งชาติเขาภูหลวง อ้าง น้ำ - ไฟเข้าถึง
ผู้สื่อข่าวประจำ จ.นครราชสีมา รายงานความคืบหน้า กรณีกรมป่าไม้ ได้ยื่นหลักฐานเพื่อขอหมายศาล จากศาลจังหวัดนครราชสีมา เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ ที่กรมป่าไม้ ระบุว่า มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รวม 22 จุด เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย
ล่าสุด หนึ่งในเจ้าของรีสอร์ท ที่ถูกกรมป่าไม้ระบุว่า บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านเขาแผงม้า หมู่ที่ 4 ต.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา (ไม่เปิดเผยชื่อ) เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ ข่าวที่ออกไปสู่สังคม เมื่อมองดูแล้วเหมือนว่า ผู้ประกอบการที่เข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เป็นกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีอิทธิพล สามารถเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีเจตนา หรือ ต้องการที่จะทำอย่างนั้น เช่น รีสอร์ทของตนเอง ในความคิดส่วนตัวก็ไม่ได้ไปบุกรุกพื้นที่ป่า เพราะตั้งอยู่นอกแนวเขตแนวกันไฟของป่าสงวนแห่งชาติค่อนข้างไกล ไม่ได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า
ทั้งนี้ หากได้เห็นภาพถ่ายทางอากาศแล้ว จะสามารถเห็นได้ว่า มีรีสอร์ทหลายแห่งของผู้ประกอบการต่างๆ เข้าไปอยู่ในเขตป่าโซนซีจำนวนมาก รวมไปถึงชาวบ้านเขาแผงม้า หมู่ 4 ด้วยเช่นเดียวกัน ที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าโซนซี มานานหลายปีแล้ว ซึ่งหากจะพูดว่า เป็นการบุกรุกก็บุกรุกเหมือนกันทั้งหมด อีกทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ในด้านสาธารณูปโภคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน เพื่ออำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว หากเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น ไม่สามารถที่จะดำเนินการในกรณีดังกล่าวได้
[6 กรกฎาคม] ชาวบ้านวังน้ำเขียวปิดถนน ยื่นข้อเสนอขอใช้พื้นที่ป่า
ชาวบ้านวังน้ำเขียวลุกฮือปิดถนน ยื่นข้อเสนอขอใช้พื้นที่ป่า พร้อมทั้งวอน กธม. แจงข้อเท็จจริงแก่สื่อมวลชนอย่างละเอียด เพราะที่ผ่านมาโดนมองว่า ชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก ด้าน ประธาน กธม. ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เตรียมเสนอแก่รัฐบาลชุดใหม่
จากกรณีหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงสำนักงานปฏิรูปที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เตรียมจะดำเนินการตรวจสอบ และเอาผิดกับผู้ที่ทำผิดหลักเกณฑ์ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวทั้งหมดกว่า 800 คน ล่าสุด อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ทางศาลจังหวัดนครราชสีมาได้อนุมัติหมายค้นบุคคลที่่บุกรุกป่าพื้นที่่ป่าแล้วกว่า 10 ราย โดยมั่นใจที่ดินกว่า 22 แปลง ไม่มีเอกสารสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (5 สิงหาคม) ชาวบ้านวังน้ำเขียวนับร้อยคน ได้รวมตัวกันปิดถนนสาย นครราชสีมา-กบินทร์บุรี เพื่อเรียกร้อง กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยส่งถึงรัฐบาลชุดใหม่ได้เร่งแก้ปัญหากรณีพิพาทดังกล่าว พร้อมทั้งให้แก้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่



ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้ และสร้างเป็นเมืองท่องเที่ยวได้ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ต่อมานายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ได้เดินทางมายังสถานที่ชุมนุมเพื่อรับฟังปัญหา โดยทางกลุ่มชาวบ้านได้ระบุว่า ต้องการให้ทางคณะกรรมาธิการ นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เปิดเผยแก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาทางชาวบ้านวังน้ำเขียวถูกสังคมมองว่าเป็นผู้บุกรุกป่า แต่แท้จริงแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น แล้วก็ได้นำเสนอข่าวอย่างครึกโครมของสื่อมวลชน ส่งผลให้เศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยวของวังน้ำเขียวซบเซา เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่กล้าที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านและเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบขายรายได้กันถ้วนหน้า จึงอยากให้ทางคณะกรรมาธิการและรัฐบาลชุดใหม่ช่วยแก้ปัญหาโดยด่วน อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านได้พบกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ได้ยื่นข้อเสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็สลายตัวกลับไป
เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นายสุรชัย กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ตนต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริง และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน อ.วังน้ำเขียว และจากการที่ตนได้รับข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตนก็พอจะมองเห็นถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แล้วว่า การบุกรุกดังกล่าวเป็นการบุกรุกโดยไม่มีเจตนา เนื่องจากยังไม่การกำหนดพื้นที่อย่างชัดเจน ดังนั้น หาทางในการแก้ปัญหาก็ควรมีกำหนดแนวเขตให้ชัดเจน และแบ่งแยกพื้นที่เป็นกรณี ๆ และตรวจสอบเป็นราย ๆ ไป ว่าใครจงใจบุกรุกหรือบุกรุกโดยไม่เจตนา และถ้าหากการกระทำนั้นทำไปโดยไม่เจตนา ทางหน่วยงานภาครัฐก็ควรที่จะต้องหาทางเยียวยาและแก้ไขปัญหากับผู้ได้รับผลกระทบ
นายสุรชัย ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แต่ละหน่วยงานก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้จะต้องทำการตรวจสอบให้ชัดเจน และจำแนกแต่ละพื้นที่แต่ละรายเป็นกรณีไป เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบขณะนี้เป็นชาวอ.วังน้ำเขียวทั้งหมด พร้อมกันนี้ ตนจะนำข้อมูลทั้งหมดไปรวบรวมและสรุปถึงสาเหตุ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและหาทางออกที่ดีที่สุด และนำเสนอต่อทางรัฐบาลชุดใหม่ให้นำไปพิจารณาต่อไป คาดว่า จะเรียบเรียงข้อมูลแล้วเสร็จภายในวันที่ 16 สิงหาคมที่จะถึงนี้

[5 สิงหาคม] ศาลโคราช อนุมัติหมายค้น ผู้บุกรุกป่าแล้ว 10 ราย
อธิบดีกรมป่าไม้ เผย ศาลจังหวัดนครราชสีมา อนุมัติหมายค้นบุคคลที่่บุกรุกป่าพื้นที่่ป่าแล้วกว่า 10 ราย มั่นใจที่ดินกว่า 22 แปลง ไม่มีเอกสารสิทธิ์
วันนี้ (5 กรกฎาคม) นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ศาลจังหวัดนครราชสีมา มีหมายค้นออกมาแล้วกว่า 10 ราย จากที่กรมป่าไม้ ได้ยื่นขออนุมัติไปทั้งสิ้น 22 ราย หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะดำเนินการนำป้ายประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปู่หลวง ไปปักไว้ เพื่อให้เจ้าของที่ดินมาแสดงตัวภายใน 45 วัน พร้อมกับแสดงเอกสารสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ หากไม่มาจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งคดีทางแพ่งและคดีอาญา แต่หากรายใดมีเอกสารมาแสดงต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาล เพื่อตรวจสอบที่มาและความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว
ขณะเดียวกันนั้นทางกรมป่าไม้ มั่นใจว่า ที่ดินทั้ง 22 แปลง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์มาก่อน ยืนยันว่าการทวงคืนป่าวังน้ำเขียวจะดำเนินการด้วยความยุติธรรมโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยในวันอังคาร ที่ 9 สิงหาคมนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะดำเนินการนำป้ายดังกล่าวไปติดประกาศไว้

จากการประชุมแก้ปัญหาพิพาทที่ดิน เขต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เวลา 10.00 น. วานนี้ (4 สิงหาคม) ทางเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ให้ลงพื้นที่มาช่วยชี้แจงแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพี่น้องประชาชน ให้เข้าใจการดำเนินการ กรณีการแก้ไขปัญหาพิพาทที่ดิน อ.วังน้ำเขียว โดยมีผู้ร่วมประชุมประกอบไปด้วย นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ นายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.นครราชสีมา และ พล.ต.ชาสร วายโสกา รองแม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมผู้เกี่ยวข้อง
จนกระทั่งเมื่อเวลา 11.30 น. นายระพี ผู้ว่าฯ นครราชสีมา พร้อมนายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ร่วมแถลงข่าวหลังการประชุม โดยได้ชี้แจงกรณีเปลี่ยนสถานที่การจัดประชุมจาก สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 เป็นห้องประชุมเล็ก ชั้นสองศาลากลางจังหวัด ฯ อย่างกระทันหันเป็นเพราะว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการเผชิญหน้าระหว่างประชาชน กับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติว่า จะทำงานร่วมกับภายใต้กฎหมายที่บังคับอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อนำมาซื้อผืนป่าทั้งหมด รวมทึ้งพื้นที่ สปก. ที่ยังไม่ได้จัดสรรการใช้ประโยชน์ และมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ อีกทั้งเรื่องพื้นที่เปลี่ยนมือ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือกรมป่าไม้ และกรมอุทยานอย่างเต็มที่

ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวว่า ถึงแม้ว่านายสุวิทย์ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมที่จะเดินทางเข้าไปชี้แจงในพื้นที่วังน้ำเขียว แต่ตนเป็นคนห้ามไม่ให้เข้าไปเอง เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุร้ายขึ้น ทั้งนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง ในพื้นที่วังน้ำเขียวมีนายทุน นักการเมือง และมีผู้อิทธิพลอยู่เบื้่องหลัง แล้วเอาชาวบ้านมาเป็นกันชน อีกอย่าง ตนอยากจะบอกว่า ตนมีข้อมูลว่าใครเป็นตัวเอ้ และใครเป็นแต่ตาสีตาสา แต่ตนไม่สามารถพูดออกมาได้ โดยได้มอบข้อมูลให้อธิบดีกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ที่เข้าร่วมหารือด้วย ซึ่งการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ทางจังหวัดขอรับรองความปลอดภัย และมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เข้าไปดูแลความสะดวกอย่างเต็มที่
นายระพี กล่าวอีกว่า ตนขอให้พี่น้อง อ.วังน้ำเขียว ทำความเข้าใจกับการทำงานของผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ด้วย ว่าที่ทำไปเพราะเป็นหน้าที่ ไม่มีใครอยากจะจับประชาชนของตัวเอง ดังนั้น อะไรที่ผิด ก็ต้องไปถามผิด ถ้าตนไม่ทำตามกฎหมาย ก็จะมีความ ผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 และถูกทั้ง ปปท.และ ปปช.
สำหรับคำถามที่ว่า หากได้พื้นที่วังน้ำเขียวกลับคืนมาแล้วจะทำอย่างไรต่อไป นายระพีกล่าวว่า ตนจะนำพื้นที่ให้กลับไปเป็นป่าตามวัตถุประสงค์เดิม ส่วนพื้นที่ไหนที่เหมาะแก่การทำการเกษตรก็ให้ทำต่อไป แต่ทั้งหมดต้องรอดำเนินงานจากทุกหน่วยงานก่อน ถ้าหากพื้นที่ใดมีความผิดแบบชัดเจนก็ต้องดำเนินตามกฎหมาย แต่ถ้าที่ใดถูกต้องทางจังหวัดก็ต้องหาทางเยียวยาต่อไป ส่วนการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวจังหวัดนั้น จะต้องดูข้อกำหนดกฎหมายเสียก่อน ว่าจะเปิดช่องให้ทำได้มากน้อยแค่ไหน

ทางด้านอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ กรมป่าไม้ไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป และถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทุกภาส่วนร่วมมือกัน ทั้งนี้ตนมั่นใจว่าอีกไม่นาน อุทยานฯดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีป่าไม้เพิ่มอีก 40 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หากกรมป่าไม้ดำเนินการแล้วมีการพิสูจน์ทราบถูกต้อง ทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามไม่เช่นนั้นก็เข้าข่ายละเว้นฯ ตามกระบวนการยุติธรรม และกฎหมายมี 2 ขั้นตอนคือ คดีอาญา และชดใช้ความเสียหายในคดีแพ่ง ตามพรบ. ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535

อธิบดีกรมป่าไม้ ยังกล่าวอีกว่า ตนได้รับข้อมูลมีที่ดิน สปก. ที่ยังไม่ได้นำไปจัดสรรอีก 8 หมื่นไร่ ซึ่งทาง สปก. ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาใด ๆ ในการคืนที่ดินให้กรมป่าไม้ นอกจากนั้นสำหรับที่ดินในส่วนอื่น ๆ ที่จะสามารถนำมาฟื้นฟูเป็นป่าได้นั้น ทางหน่วยงานก็ยินดีที่จะส่งมอบให้กับกรมป่าไม้
สำหรับข้อกล่าวหาว่า ทำไมจึงมาดำเนินการในช่วงเวลานี้ ทั้ง ๆ ที่การบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแนานแล้ว ทางอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ทางเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนการบุกรุกไม่ว่าจะเกิดขึ้นสมัยไหนก็ถือว่าเป็นการบุกรุกทั้งนั้น
นายสุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า ตนยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนากล่าวหาว่ามีคนวังน้ำเขียวบุกรุกป่า แต่หมายถึงคนที่บุกรุกจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ทั้งนี้ตนอยากให้พื้นที่วังน้ำเขียว เป็นป่าสีเขียวอย่างนี้ต่อไป ถ้าหากไม่ช่วยกันรักษาไว้ ป่าสีเขียวเช่นนี้คงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว และตอบข้อซักถาม นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.นครราชสีมา เขต อ.วังน้ำเขียว ฯ ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการเสนอข่าวว่า ชาวบ้านวังน้ำเขียวได้บุกรุกผืนป่า และสร้างสิ่งปลูกสร้างอาคารที่ใหญ่โต ตนคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด และเป็นความผิดมานานนับ 10 ปี แต่ความผิดดังกล่าวมันไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะพื้นที่นี้เพียงอย่างเดียว แต่ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นเหมือนกัน ถ้าหากจะบังคับใช้กฎหมายจริง ๆ ทางหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน โทษฐานมีความผิดฐานปล่อยปละละเลย ละเว้นการใช้กฎหมายตั้งแต่แรก จนทำให้ผู้คนทั่วไปต่างสนใจจับจองพื้นที่ เพราะคิดว่าไม่ผิดกฎหมาย แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งก็ยังเข้าใจผิด
นายชุณห์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้คนลงทุนลงแรงไปกันมากมาย เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าที่ทำมันผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐไม่มีความชัดเจนเข้ามาตั้งแต่แรก อีกทั้งยังมีการประกาศข้อมูลให้เกิดความเข้าใจผิดเชิงนโยบายด้วย ในหัวข้อ "ส่งเสริมให้เป็นการท่องเที่ยวพิเศษ" ดังนั้นถ้ามีการดำเนินทางกฎหมายจะต้องโดนด้วยกันหมด อย่างไรก็ตาม ตนต้องการเสนอทางออกของปัญหา 3 หัวข้อ คือ...



ตัวแทนวังน้ำเขียวยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะจัดเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น และเสนอแนวทางแก้ปัญหา ในช่วงเย็นของทุกวันที่ บริเวณ กม.79 ถ.ราชสีมา-กบินทร์บุรี ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว ทั้งนี้ ถ้าหากทางภาครัฐ ยังใช้มาตรการแข็งกร้าว ทางชาวบ้านก็จะมีการรวมตัวเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน

ด้านนางสุภาพร ฉิมชนะ อายุ 38 ปี เกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ที่พวกเราต้องเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะทุกวันนี้แทบสิ้นเนื้อประดาตัว ผักของตนเหี่ยวเฉาในโกดัง เพราะไม่มีใครซื้อ และไม่สามารถซื้อขายกันเองได้ เพราะต่างคนต่างเป็นเกษตรกร อีกทั้งยังไม่มีเงินทุกมากพอที่จะส่งผักไปขายต่างพื้นที่
ทั้งนี้ ตนอยากจะขอให้สื่อมวลชนเสนอข่าวอย่างเป็นธรรมอย่ากล่าวหาชาวบ้านว่าเป็นตัวบุกรุกพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐไม่เป็นคนมาสำรวจตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม ตนไม่เคยมีความคิดที่จะทำร้ายแผ่นดินบ้านเกิดของตน เพราะเราอาศัยอยู่ร่วมกับป่ามานานหลายสิบปีแล้ว

[21 กรกฎาคม] กรมป่าไม้ ทวงคืนผืนป่า จ่อฟ้องอาญา-แพ่ง รุกวังน้ำเขียว
นายทุนรุกป่าวังน้ำเขียวอ่วมแน่ กรมป่าไม้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นรีสอร์ต 22 จุด จ่อฟ้องคดีอาญาควบแพ่งหรือคดีโลกร้อน ลั่นถึงเวลาทวงคืนผืนป่า เดินหน้ารายเล็กโซนอีเพิ่ม เผยชาวบ้าน 485 รายที่เคยได้รับสิทธิ์ทำกิน ขายให้นายทุนเกลี้ยง กำนันลูกน้อง ส.ส.ภูมิใจไทยผนึกชาวบ้านปลุกม็อบต้าน จับตาเวทีชี้แจง 4 ส.ค.นี้ต้องย้ายสถานที่วุ่น
มีความคืบหน้ากรณีกรม ป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปจัดระเบียบพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หลังพบการบุกรุกสร้างบ้านพักและรีสอร์ต โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงการตรวจสอบรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศ 22 แห่ง รุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว ว่า ขณะนี้กรมป่าไม้มีความพร้อมในการเข้าทำความเข้าใจ และชี้แจงการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยคาดว่าหลังจากวันที่ 4 ส.ค.นี้ หลังจากได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนแล้ว คงจะสามารถขอหมายศาลได้ครบทุกราย เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจน และน่าจะเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ได้ก่อนวันที่ 13 ส.ค. เพราะขณะนี้มีการวางกำลังไว้ครบเรียบร้อยแล้ว
"การดำเนินคดีและการสอบ สวนขึ้นอยู่กับทางเจ้าพนักงาน ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่ขณะเดียวกันกรมป่าไม้เตรียมฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งในข้อหาที่บุกรุก พื้นที่ป่าสงวนและทำให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่า หรือที่เรียกว่าคดีโลกร้อนกับผู้บุกรุกเบื้องต้น 22 ราย ที่มีความผิดชัดเจนควบคู่กับการดำเนินคดีอาญาด้วย"
นายสุวิทย์กล่าวอีก ว่า นอกจากนี้ยังเตรียมตรวจสอบบ้านพักและรีสอร์ต ในพื้นที่ป่าสงวนโซนอี ซึ่งเป็นโซนเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยพื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งอยู่ในเขตป่าที่กรมป่าไม้เคยมอบให้สำนักงาน ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่มีการบุกรุก ทั้งนี้ อยากอธิบายต่อสังคมว่ามันถึงวาระที่ต้องจัดการ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร สิ่งที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้เป็นการต่อยอดจากงานป้องกัน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลัก แต่นับจากนี้ไปจะใช้มาตรการทวงคืนพื้นที่ป่าอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ คนใหม่เข้ามา กรมป่าไม้จะนำเสนอนโยบายนี้ทันที
อธิบดีกรมป่าไม้ยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการอนุญาตให้พื้นที่ป่าสงวน สร้างรีสอร์ต มีเพียงให้หน่วยงานราชการที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการสร้างโรงเรียน วัด ถนนเข้าหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนเอกชนที่เข้าใช้พื้นที่จะมีการทำโรงงานขนาดเล็กเท่านั้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และต้องอยู่ในพื้นที่ป่าโซนอีเท่านั้น ส่วนกรณีที่จะขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ การอนุญาตต้องผ่าน ครม.ก่อน
ต่อมาในช่วงบ่ายกรมป่าไม้ได้นำคณะสื่อมวลชน จากส่วนกลางลงพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ซึ่งมีบ้านพักและรีสอร์ตปลูกอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเบื้องต้น 22 จุด โดยนายภูษิต พรหมมานพ ผอ.ส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รีสอร์ตและบ้านพักหลายแห่งปลูกบนพื้นที่ป่าสงวนอย่างชัดเจน แต่เวลานี้ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบพิกัด รวมทั้งถ่ายภาพได้ เพราะต้องรอหมายศาล หากได้รับหมายศาลและเข้าตรวจค้นได้แล้ว ถ้าเจ้าของบ้านหรือรีสอร์ตอยู่ด้วยก็จะแสดงพิกัดให้ดูว่าบุกรุกพื้นที่ป่า สงวน และสามารถแจ้งความดำเนินคดีในวันนั้นเลย
เขากล่าวว่า บ้านพักและรีสอร์ตจำนวน 22 แห่ง ถือว่าเป็นการนำร่อง หลังจากนี้กรมป่าไม้ก็จะตรวจสอบบ้านและรีสอร์ตที่รุกที่ป่าสงวนต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบชาวบ้านที่ได้รับสิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เมื่อปี 2547-2548 มีจำนวนทั้งหมด 485 ราย แต่ล่าสุดพบว่ามีการเปลี่ยนมือไปหมดแล้ว ซึ่งก็ถือว่าหมดสิทธิ์ในที่ดินนั้นทันที การจะเยียวยาอย่างไรก็ต้องให้เป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป
ขณะที่นายสุ เทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ยื่นขอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้นรีสอร์ตและบ้านพักที่ตรวจสอบพบ ว่าบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง จำนวน 22 แห่งแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หากศาลอนุมัติวันไหนเจ้าหน้าที่ก็พร้อมลงพื้นที่เข้าตรวจค้นรีสอร์ตเป้าหมาย ดังกล่าวทันที
ด้านนายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า วันนี้ชุดของเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี ซึ่งรับผิดชอบโซนพื้นที่ป่า จ.ปราจีนบุรี ได้ลงพื้นที่ดำเนินการติดป้ายประกาศอุทยาน สั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมในเขต อ.นาดี อีก 10 แห่ง ซึ่งคาดว่าส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70 แห่ง จะเร่งดำเนินการติดป้ายประกาศอุทยานให้ครบทั้งหมดไม่เกินกลางเดือนนี้แน่นอน
"ที่มีกระแสการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และถูกปลุกระดมจากบางกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์จากการบุกรุกป่า ซึ่งทางอุทยานไม่ได้ดำเนินการกับประชาชนที่เคยถือครองพื้นที่อยู่เดิม ทุกคนยังคงใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้ตามปกติ" นายเทวินทร์กล่าว
ช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่บริเวณลานหน้าตลาดศาลเจ้าพ่อ กม.79 ต.วังน้ำเขียว กลุ่มผู้นำชุมชนนำโดยนายสมศักดิ์ โจทย์กลาง กำนันตำบลวังหมี อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นชาวบ้านในกลุ่มของนายประนอม โพธิ์คำ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีชื่อของลูกสาวเป็นเจ้าของ โกลด์เมาท์เท่น วังน้ำเขียวรีสอร์ท รีสอร์ตหรูขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 500-600 ไร่ ในเขตป่า ส.ป.ก. ได้เปิดเวทีปราศรัยต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เพื่อชี้แจงให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และเป็นการแสดงพลังต่อต้านการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่ใช้กฎหมายเข้าจัดการกับชาวบ้านและผู้ประกอบการ ที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า
นายสมศักดิ์กล่าวว่า การจัดเวทีปราศรัยดังกล่าวเพื่อต้องการแสดงพลังของชาว อ.วังน้ำเขียว ว่าไม่เห็นด้วยกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มาไล่จับชาวบ้าน และเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้ทุกคนมีความหวาดระแวงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีไล่รื้อถอน ซึ่งมีประชาชนชาว อ.วังน้ำเขียว เข้าร่วมชุมนุมกว่า 1,000 คน
"จากนี้ไปจะมีการหารือเพื่อกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อไป หากรัฐยังนิ่งเฉยไม่ลงมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันกับชาวบ้าน เราก็ต้องแสดงพลังให้ทุกฝ่ายได้รับ" นายสมศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 ส.ค.นี้ ที่กรมป่าไม้ เตรียมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง เดิมจะใช้พื้นที่ศาลากลางจังหวัด ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ที่กองกำลังสุรนารี เนื่องจากมีข่าวจากในพื้นที่ว่านักการเมืองท้องถิ่นใน อ.วังน้ำเขียว เตรียมนำมวลชนกว่า 3,000 คนมากดดัน อย่างไรก็ตาม กองทัพภาคที่ 2 ระบุว่าแม่ทัพภาคที่ 2 ไม่อยู่ จึงจะย้ายมาใช้ที่ศาลากลางเช่นเดิม แต่ผู้ว่าฯ ไม่อนุญาต อ้างว่ากลัวรับมือม็อบไม่ไหว สุดท้ายจึงย้ายไปใช้ สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 แทน
[25 กรกฎาคม] ดีเอสไอพร้อมทำคดีบุกรุกป่าทับลาน วังน้ำเขียว
ดีเอสไอพร้อมเข้าตรวจสอบคดีบุกรุกป่าทับลาน ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว หากกรมป่าไม้หรือหน่วยงานราชการได้รับความเสียหายมาร้องทุกข์
พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึง กรณีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะร้องขอเจ้าหน้าที่จากทางดีเอสไอเข้าไปช่วยทำคดีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติ ทับลาน ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ว่า ดีเอสไอมีความยินดีและพร้อมเข้าไปทำงาน ถ้าหน่วยงานราชการที่ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมป่าไม้ และ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีการร้องทุกข์เข้ามายังดีเอสไอ เนื่องจากดีเอสไอมีหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (สคส.) ทำหน้าที่ดูแลคดีในลักษณะดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ซึ่งย้ายมาจากกรมที่ดิน เป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ สามารถอ่านภาพถ่ายทางอากาศ และรู้พิกัดต่าง ๆ เคยทำคดีเหล่านี้มาพอสมควร
ซึ่งรองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ขณะ นี้ดีเอสไอได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับนายทุนบุกรุกป่าไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงพื้นที่ เพราะเกรงทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นเกิดความสับสน แต่ถ้ามีตัวแทนของหน่วยงานราชการที่ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องทุกข์ ทางดีเอสไอจะเข้าไปทำงานทันที เพราะเป็นคดีไม่ยาก ไม่มีความซับซ้อน เนื่องจากหน่วยงานผู้เสียหายสามารถชี้พื้นที่ทางกายภาพได้เลยว่า ป่าตรงนี้อยู่ในเขตอุทยานหรือไม่ ส่วนกรณีมีผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง ทางดีเอสไอจะร้องขอให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนตั้งแต่ต้น เพื่อให้สำนวนมีความรัดกุมและดิ้นไม่หลุด จึงขอแนะนำให้หน่วยงานราชการที่ได้รับความเสียหายส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร้อง ทุกข์ แล้วดีเอสไอจะเข้าไปทำงาน

วังน้ำเขียว
จากกรณีที่ นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ นำหนังสือคำสั่งของกรมป่าไม้ไปแจ้งให้รีสอร์ทต่าง ๆ ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เพื่อให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ของอุทยานฯ ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าวานนี้ (21 กรกฏาคม) นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการนำประกาศไปติดบ้านพักและรีสอร์ทมาบ้างแล้วนั้น ล่าสุด จะนำประกาศไปติดบ้านพักและรีสอร์ทที่เหลืออีก 102 แห่งให้เร็วที่สุด เพราะกรมอุทยาน ฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยขั้นตอนแรก คือ จับกุมดำเนินคดี บ้านพักรีสอร์ทบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ฯ ขั้นตอนที่สอง คือฟ้องศาล และศาลมีคำสั่งออกมาแล้วว่า บ้านพักและรีสอร์ท 102 แห่ง มีความผิดจริง และศาลได้สั่งปรับแล้ว ขณะที่ขั้นตอนที่สาม คือ การบังคับใช้อำนาจทางปกครอง พิพากษาให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมด แต่ถ้ายังไม่ออกอีก ขั้นตอนต่อไปจะต้องรื้อถอน เนื่องจากถ้าปล่อยไว้โดยไม่มีการดำเนินการใด ๆ บ้านพักและรีสอร์ทที่ผิดกฎหมาย จะยื้ออยู่ในพื้นที่ไปเรื่อย ๆ และยืนยันว่าไม่รู้สึกกลัวหากผู้ประกอบการจะรวมตัวกันฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้คุ้มครองชั่วคราว
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการขอให้กรมอุทยาน ฯ ผ่อนผัน เช่น ขอให้ทำเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หรือขอเช่า เพราะเห็นว่านำเงินลงทุนไปมากแล้วนั้น นายสุนันต์ กล่าวว่า กรมอุทยาน ฯ ทำเช่นนั้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะอุทยาน ฯ เป็นของคนทั้งประเทศและเป็นของคนทั้งโลก จะนำพื้นที่ของอุทยานฯ ไปขายต่อให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น ข้อเสนอดังกล่าว จึงถือว่าเห็นแก่ตัวเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนก็ได้ประโยชน์ไปมากแล้ว จึงถึงเวลาแล้วที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง
ด้านนายภัคพล เขียวสลับ รองประธานชมรมรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อมวังน้ำเขียว กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการรีสอร์ทกว่า 80% ต้องการให้การแก้ไขปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการรีสอร์ท เป็นไปในลักษณะที่นุ่มนวลและเข้าอกเข้าใจกัน ลดการกระทบกระทั่งด้วยวาจากัน เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน พร้อมกันนี้ อยากให้ทุกภาคส่วนนำเสนออนาคตวังน้ำเขียวว่าจะก้าวย่างไปในวันข้างหน้าอย่างไร เพราะไม่ต้องการให้ทางกรมป่าไม้เพียงหน่วยงานเดียวมากำหนดทิศทางอนาคตของ อ.วังน้ำเขียว
ทางด้าน นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวยืนยันว่า ที่ดินทั้ง 22 แปลง ที่กรมป่าไม้กำลังตรวจสอบ ล้วนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งสิ้น แต่เพื่อความเป็นธรรม จะรอดูหลักฐานว่า มีเอกสารหลักฐานการครอบครองอะไรบ้าง เช่น โฉนด แต่ถ้านำมายืนยัน ก็จะต้องตรวจสอบต่อไปว่า โฉนดเหล่านั้นได้มาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ และอาจจะถือว่าเป็นความผิดโดยไม่เจตนา อย่างไรก็ตาม หากเป็นเช่นนี้จริง ความผิดจะไปเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกโฉนดด้วย ว่า ออกโฉนดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ได้อย่างไร ส่วนกรณีที่มีหลายคนพยายามออกมาเจรจา ขอให้ผ่อนปรนพื้นที่ที่เข้าไปบุกรุกนั้น ยิ่งทำให้มั่นใจว่า คนเหล่านั้นกระทำผิดบุกรุกพื้นที่ป่าจริง ๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่ออกมาเจรจาเช่นนี้
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า ในการที่กรมอุทยาน ฯ นำประกาศไปแปะหน้าสถานที่ที่รุกพื้นที่อุทยาน ฯ นั้น เพราะมีหลักฐานและมั่นใจว่ารุกป่าแน่ ๆ จึงใช้มาตรา 22 กฎหมายอุทยาน ฯ เข้าไปดำเนินการนั้น กรมป่าไม้คงจะทำในลักษณะเดียวกัน แต่หลักฐานยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องรออีกนิด และคาดว่าในวันที่ 5 สิงหาคม นี้จะขอหมายศาลเข้าไปตรวจตรวจสอบพื้นที่ได้ทั้ง 22 แปลง เมื่อสอบถามว่า ในขณะนี้ทราบชื่อเจ้าของที่ที่เข้าไปบุกรุกป่าสงวนในทางลับ ๆ หรือไม่ว่าเป็นใคร นายสุวิทย์ กล่าวว่า มีชาวบ้านในพื้นที่พูดถึงกัน ว่าเจ้าของที่แต่ละคนไม่เบาทั้งนั้น เอ่ยชื่อออกมาใคร ๆ ก็รู้จัก แต่ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องรอหลักฐานให้แน่ชัดก่อน
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ออกมากล่าวว่า กรณีการบุกรุกที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับที่ดินส.ป.ก.อยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ส.ป.ก.ได้มอบเอกสารสิทธิ์ในที่ดินให้กับเกษตรกรไปแล้ว และอีกส่วนคือ ที่ดินส.ปก.ที่ยังไม่ได้จัดสรรให้เกษตรกร จึงต้องเข้าตรวจสอบและหากพบทำผิดระเบียบหลักเกณฑ์ปฏิบัติ จะต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง คาดว่าคงต้องใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนจึงแล้วเสร็จ
ขณะที่ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงปัญหาการบุกรุกที่ดินส.ป.ก.วังน้ำเขียวและบริเวณใกล้เคียงว่า จะต้องตรวจสอบโดยเร็วที่สุดว่า ส.ป.ก.4-01 ทั้งหมด 1.39 แสนไร่ เปลี่ยนมือไปแล้วกี่ราย เพราะถือว่าผิดวัตถุประสงค์ชัดเจน และจะต้องเพิกถอนสิทธิทั้งหมด โดยมั่นใจว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน
ขณะเดียวกัน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เลขาธิการส.ป.ก. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการรังวัด ด้านการสำรวจที่ดิน เพื่อสอบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่ส.ป.ก. มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ และทำไมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จึงไม่เห็นว่าการที่กลุ่มนายทุนทำเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งไม่ดำเนินการกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ มาก่อนหน้านี้ ทั้งยังมีการปล่อยปละละเลยให้รีสอร์ทบางแห่งสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาคำตอบให้กับสังคมให้ได้ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทั่วประเทศ
[21 กรกฎาคม] เอกชนแนะรัฐตั้ง วังน้ำเขียว เขตท่องเที่ยวพิเศษ
ผู้ประกอบการวังน้ำเขียวหวั่นการรื้อถอนส่งผลการท่องเที่ยวทั้งอำเภอซบเซา กว่า 90% กระทบกว่า 1,000 ล้านบาท แนะให้รัฐตั้งวังน้ำเขียวเป็นเขตท่องเที่ยวพิเศษ เพื่อเก็บภาษีเข้ารัฐแทนการรื้อถอน
ความคืบหน้ากรณีกรมป่าไม้สำรวจและเอาผิดกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ของ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หลังตรวจสอบพบว่ามีรีสอร์ตจำนวนมาก ก่อสร้างบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเขาแผงม้า ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
นายเสมอ จินดาพงษ์ รองประธานสมาพันธ์การท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในนามตัวแทนผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องการให้กรมป่าไม้มีการประนีประนอมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมทั้งแนะนำว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรเข้ามาจัดระเบียบพื้นที่เป็นเขตการท่องเที่ยวพิเศษ เพื่อเก็บภาษีเข้ารัฐจะดีกว่า เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบทั้งระบบ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้น
โดย นายเสมอ ระบุว่า หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับการบุกรุกใน อ.วังน้ำเขียว ทำให้การท่องเที่ยวซบเซาลดลงกว่า 90% และกระทบรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งได้มากถึงปีละ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกรงว่าหากมาเที่ยวที่ อ.วังน้ำเขียวแล้วจะไม่มีที่พัก และไม่มีสถานที่ให้ท่องเที่ยว อีกทั้งสินค้าเกษตร ผักปลอดสารพิษ ที่เก็บมาไว้เพื่อจำหน่าย และอาหารบริโภคที่ผู้ประกอบการได้เตรียมไว้รองรับนักท่องเที่ยวก็เน่าเสีย ซื้อขายไม่ได้เกิดความเสียหายตามมาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ การก่อสร้างบ้านพักรีสอร์ตได้ดำเนินการขออนุญาตการก่อสร้าง เสียภาษีเป็นรายเดือน รายปี เสียภาษีบำรุงท้องที่ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ห้ามปรามตั้งแต่แรก กลับปล่อยให้สร้าง และเพิกเฉย ดังนั้น หากปิดทั้งวังน้ำเขียวคงกระทบหลายพันล้านบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ โรงเรียน ธนาคาร ล้วนแต่เป็นพื้นที่ ๆ อยู่บนที่ดินที่ไม่ได้รับอนุญาต หากปิดก็ต้องปิดทั้งหมด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก