x close

หยุดเวลาไว้ที่...ภูฏาน

 

 

หยุดเวลาไว้ที่...ภูฏาน (Lisa)

          โยนทิ้งวิถีชีวิตที่รีบเร่งไว้เพียงชั่วคราว แล้วปล่อยตัวปล่อยใจท่องเที่ยวให้ชุ่มชื่นหัวใจในดินแดนไร้กาลเวลาเพราะวิถีชีวิตคนที่นี่เรียบง่าย เชื่องช้า แต่งดงาม ไปสัมผัสดินแดนของ มังกรสายฟ้า (Druk Yul) หรือ ภูฏาน ที่คนไทยรู้จักกัน

สู่แดนมังกรสายฟ้า

          แม้จะไม่ค้นหูกับชื่อสายการบิน Druk Air สักเท่าไหร่แต่เราก็เชื่อใจว่า สายการบินแห่งชาติลำนี้จะพาเรามุ่งสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย เพราะอย่างน้อยคนท้องถิ่นย่อมคุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศของตัวเองอย่างดี ด้วยภูฏานถือเป็นประเทศที่แลนดิ้งยากแห่งหนึ่ง เพราะเต็มไปด้วยขุนเขา แต่แล้วแค่เพียง 4 ชั่วโมง ทีมนักเดินทางของเราก็มุ่งสู่เมืองพาโร (Paro) ซึ่งถือเป็นมืองเดียวในภูฏานที่มีพื้นที่ราบมากพอจะสร้างสนามบินได้

 

 

          ครั้นเมื่อถึงที่พัก ทีมนักเดินทางของเราก็ได้รับการต้อนรับจากลามะท้องถิ่น ด้วยบทสวดขอพรให้พวกเรามีความสุขและสุขภาพดี โดยพิธีจะมีตั้งแต่เทน้ำศักดิ์สิทธิ์ในกาแล้วให้พวกเราเอามือรอง ก่อนจะยกมือขึ้นมาดมและอังไว้ที่หน้าจนนำมาลูบไว้บนหัว เพื่อความสิริมงคลก่อนจบพิธี ลามะคนสุดท้ายจะเป็นคนผูกสายสิญจน์ให้แก่พวกเรา ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าลามะที่นี่สามารถถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงได้

          อย่างไรก็ดี ถ้าไล่เลียงสีของสายสิญจน์แต่ละเส้นจะเห็นว่าแต่ละคนจะได้หลากสีสันต่างกันไป ถ้าใครได้สีแดงจะเป็นตัวแทนของไฟ ส่วนสีเขียวจะมีความหมายถึงสิ่งแวดล้อม สีเหลืองคือผืนแผ่นดิน สีฟ้าคือน้ำ และสีขาวคือท้องฟ้า แค่เพียงคำนิยามของสายสิญจน์เราก็พอจะเดาได้ว่า คนภูฏานมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขามากขนาดไหน

 

 

          บ่ายคล้อย...สถานที่แห่งแรกที่เราได้ไปเยี่ยมชมคือ วัด Kyichu Temple ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 7 ภายในวัดเก่าคร่ำคร่าแถมยังมีเหล่าผุ้สูงอายุต่างมาสวดมนต์และหมุนกงล้อ Wheel of Praying เพื่อขอพรตามที่ตัวเองหวัง นอกจากนั้น เรายังเห็น Religious Cake อันทำจากข้าว แป้ง และเนย โดยมีความเชื่อว่าใครที่มีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน ขอเพียงนำเค้กอันศักดิ์สิทธิ์นี้มาถวายที่วัด เท่ากับทุกข์โศกโรคภัยออกจากบ้านแล้ว

 


ภูฏาน

 

          ย่ำค่ำ...พวกเรามีโอกาสดินเนอร์ท่ามกลางแสงเที่ยนและดวงดาวบน Victory Fortesse หรือ Drukgyel Dzong ซึ่งกว่าจะถึงพวกเราจำเป็นต้องไต่เนินเขาสูงชันพอประมาณ กว่าจะไปเยี่ยมชมป้อมแห่งชัยชนะนี้ได้ตามคำบอกเล่าของไกด์ ป้อมแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อบ่งบอกถึงชัยชนะที่มีต่อชาวทิเบตผู้รุกราน ซึ่งป้อมแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่ได้รับการบูรณะจากรัฐบาล เพราะยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน

โรแมนติกที่ Paro Fortesse

          รุ่งเช้า...สถานที่เที่ยวแห่งต่อไป หลายคนอาจคุ้นตาเพราะเป็นสถานที่เดียวกับที่ซูเปอร์สตาร์ฮ่องกง-เหลียงเฉาเว่ยและแฟนสาวเข้าสู่ประตูวิวาห์ โดยเลือก Paro Fortesse  หรือ Paro Dzong นี่แหละเป็นฉากหลังในการถ่ายรูปชุดแต่งงานท่ามกลางลามะน้อย

 


ภูฏาน

 

          จากปากคำของ Tashi ไกด์ประจำตัวของเราบอกว่าป้อมแป่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1646 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นกำแพงกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้ารุกราน ภายในป้อมจะแบ่งแยกเป็นสถานที่ราชการและวัด ซึ่งก่อนเข้าป้อมจะแห่งนี้ไกด์ของเราจำเป็นต้องคาดผ้าสีขาวเพื่อถวายความสักการะเมื่อถามไถ่ว่าผ้าคาดนี้แต่ละชนชั้นสีเดียวกันหรือไม่ Tashi บอกว่า ถ้าเป็นคนธรรมดาจะใช้ผ้าคาดสีขาว ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะใช้สีแดง เหล่ารัฐมนตรีใช้สีส้ม ส่วนกษัตริย์และผู้นำทางจิตวิญญาณจะใช้สีเหลือง ส่วนผู้หญิงสามารถเลือกใช้ผ้าหลากสีสันได้

 


ชาวภูฏาน


ภูฏาน

 

          ครั้นเมื่อเดินผ่านประตูป้อมจะมีภาพวาดฝาผนังแสดงถึงเทพเจ้าทั้ง 4 ทิศ ภาพฝาผนังอีกอันที่สำคัญคือภาพ Wheel of Life หรือกงล้อแห่งชีวิต อันประกอบด้วยสวรรค์ ครึ่งเทพ (Demi-God) โลกมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน นรกและเปรต ชาวภูฏานมีความเชื่อเหมือนคนไทยว่า ถ้าทำดีจะอยู่ในบริเวณที่เป็นสีขาว ส่วนทำชั่วจะอยู่ในบริเวณที่เป็นสีดำ

 


ภูฏาน

 

          พอผ่านพ้นบริเวณภาพวาดฝาผนังแล้ว เราจะเป็นสถานที่ราชการที่ดูเงียบสงบ และสำนักสงฆ์ที่อยู่ลึกเข้าไปข้างใน ภายในอุโบสถเป็นที่ตั้งของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันส่วนฝั่งขวาจะป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต และฝั่งซ้ายเป็นพระพุทธเจ้าในอดีตกาล

          Tashi บอกกับเราในภูฏานมีคนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานถึง 80% ที่เหลืออีก 20% นับถือศาสนาฮินดูและด้วยความที่คนภูฏานเป็นคนเคร่งศาสนามาก เหตุนี้จึงไม่มีการฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย หมู ไก่ พวกเขาจึงนิยมนำเข้าเนื้อสัตว์จากอินเดียแทน

 


ภูฏาน

 

          นอกจากนั้น ชาวภูฏานกว่า 60% ทำอาชีพกสิกรรม คือปลูกมันฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม ฯลฯ เพื่อส่งออกไปยังประเทศอินเดียและบังกลาเทศ แต่ร้ายได้หลักกลับเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่อินเดีย และรายได้ที่สองคือ การท่องเที่ยว และการทำกสิกรรม ตามลำดับ

วัดใจ...ที่วัด Taktshang

          แม้จะตื่นแต่เช้าตรู่ แต่พวกเรายังคงมีเรี่ยวแรงพอที่จะไต่เขาระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,180 เมตร (ความสูงของดอยอินทนนท์บ้านเรายังแค่ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล) ที่วัด Taktshang หรือ Tiger Nest วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 17 โดยมีตำนานเล่าว่า ผู้มีอิทธิฤทธิ์ได้ขี่หลังเสือที่บินได้ขึ้นไปสร้างวัดอันศักดิ์สิทธิ์ถึงบนยอดเขาสูงเมื่อ Tashi เล่าจบ เราก็หันไปถามว่า ตัวเขาเองเชื่อมั้ยกับตำนานอันนี้ เสียงหัวเราอย่างอารมณ์ดีคือคำตอบของเขา

 


ภูฏาน

 

          และแล้วก็ถึงเวลาวัดพลังกายพลังใจของการปีนเขาสูงที่ใช้เวลาขึ้น 2 ชั่วโมงกว่า และลงอีก 2 ชั่วโมงกว่า แม้ในทริปจะมีคนกล้าขึ้นเขาโดยไม่ใช้ลา ล่อ และม้า แต่ส่วนใหญ่เมื่อได้ลองเดินแล้วจะพบว่า ความกดอากาศต่ำยิ่งทวีความเหนื่อยล้าแถมความชันของเขายิ่งทำให้การเดินขึ้นเขายากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางไกด์จึงให้พวกเราทยอยขี่ม้า ล่อ และลาตามใจชอบ

 


ภูฏาน

 

          ส่วนเราโชคดีหน่อยที่เลือกม้าที่ถูกผึกมาอย่างดีแล้ว ฉะนั้น ไม่ว่าม้าตัวข้างหน้าจะหยุดหรืออู้งานยังไง ม้าของเราก็จะทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีที่สุด เสียอย่างเดียวมันชอบเดินบนพื้นดินนิ่ม ๆ ที่อยู่ตรงไหล่เขา มองดิ่งลงไปก็เป็นทางลาดชันทำให้เกิดอาการหวาดเสียวไปตลอดทางเพื่อนร่วมเดินทางคนหนึ่งถึงกับบ่นว่า...ไม่มีกะจิตกะใจจะดูวิวข้างทาง เพราะความสนใจอย่างเดียวคือขาม้า...ที่จะตกหล่นไหล่เขาไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้! แต่ขาลงต้องเดินลงสถานเดียว เพราะไหล่เขาที่ชันจะทำให้เป็นอันตรายทั้งม้าและผู้ขี่ได้ ฉะนั้น ผู้จะขึ้นเขานี้ควรฟิตแอนด์เฟิร์มจริงๆ

          อย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อมาถึงบนยอดเขาเราถึงรู้ว่าเหตุใดทริปครั้งนี้ถึงมีคอนเซ็ปต์ว่า Great Expectation เพราะวัดแห่งนี้จะเปิดให้ผู้คนเข้าสักการะแค่เพียงหนึ่งวันในรอบหนึ่งปี ฉะนั้น ถือเป็นความโชคดีของพวกเราที่มีโอกาสเข้าสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนภูฏานแห่งนี้

          ถ้าใครอยากจะสัมผัสวิถีชีวิตของคนภูฏาน ขอเตือนว่านอกจากจะต้องพกเงินไว้เต็มกระเป๋าแล้ว ควรพกพลังกายพลังใจให้พร้อมเพื่อประสบการณ์ Great Expectation อย่างแท้จริง

 

แนะนำการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร พร้อมคูปองส่วนลดโรงแรมเพียบ

 


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หยุดเวลาไว้ที่...ภูฏาน อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14:13:19 2,028 อ่าน
TOP